ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 292อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 301อ่านอรรถกถา 12 / 312อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค
นิวาปสูตร อุปมาพรานปลูกหญ้าล่อเนื้อ

               อรรถกถานิวาปสูตร               
               นิวาปสูตรเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ :-
               พึงทราบวินิจฉัยในนิวาปสูตรนั้น ดังต่อไปนี้
               ผู้ใดย่อมปลูกพืชคือหญ้าไว้ในป่าเพื่อต้องการจะจับเนื้อด้วยตั้งใจว่า เราจะจับพวกเนื้อที่มากินหญ้านี้ได้สะดวก ผู้นั้นชื่อว่า เนวาปิกะ.
               บทว่า นิวาปํ ได้แก่ พืชที่พึงปลูก.
               บทว่า นิวุตฺตํ ได้แก่ ปลูก.
               บทว่า มิคชาตา ได้แก่ ชุมเนื้อ.
               บทว่า อนุปขชฺช แปลว่า ไม่เข้าไปเบียดเบียน.
               บทว่า มุจฺฉิตา ได้แก่ สยบด้วยอำนาจตัณหา. อธิบายว่า หยั่งเข้าไปสู่หทัยด้วยตัณหาแล้วให้ถึงอาการสยบ.
               บทว่า มทํ อาปชฺชิสฺสนฺติ ได้แก่ จักถึงความมัวเมาด้วยอำนาจมานะ.
               บทว่า ปมาทํ ได้แก่ ภาวะคือความเป็นผู้มีสติหลงลืม.
               บทว่า ยถากามกรณียา ภวิสฺสนฺติ ความว่า เราปรารถนาโดยประการใด จักต้องกระทำโดยประการนั้น.
               บทว่า อิมสฺมึ นิวาเป ได้แก่ ในที่เป็นที่เพาะปลูกนี้.
               ได้ยินว่า ขึ้นชื่อว่าหญ้าที่เพาะปลูกไว้นี้ มีความงอกงามในฤดูแล้งก็มี. ฤดูแล้งย่อมมีโดยประการใดๆ หญ้านั้นย่อมเป็นกลุ่มทึบอันเดียวกันเหมือนหญ้าละมาน และเหมือนกลุ่มเมฆโดยประการนั้นๆ.
               พวกพรานไถในที่สำราญด้วยน้ำแห่งหนึ่ง แล้วปลูกหญ้านั้น กั้นรั้วประกอบประตูรักษาไว้. ครั้นเมื่อใดในเวลาแล้งจัด หญ้าทุกชนิดย่อมขาว น้ำเพียงชุ่มลิ้นก็หาได้ยาก ในเวลานั้นเนื้อทั้งหลายพากันกินหญ้าขาวและใบไม้เก่าๆ เที่ยวไปอย่างหวาดกลัวอยู่ ดมกลิ่นหญ้าที่เพาะปลูกไว้ ไม่คำนึงถึงการฆ่าและการจับเป็นต้น ข้ามรั้วเข้าไป.
               จริงอยู่ หญ้าที่เพาะปลูกไว้ย่อมเป็นที่รัก ที่ชอบใจอย่างยิ่งของพวกเนื้อเหล่านั้น. เจ้าของหญ้าเห็นพวกเนื้อเหล่านั้น ทำเป็นเหมือนเผลอไป ๒-๓ วัน เปิดประตูไว้ในภายในที่เพาะปลูก แม้บ่อน้ำก็มีในที่นั้นๆ พวกเนื้อเข้าไปทางประตูที่เปิดไว้กินและดื่มเท่านั้นก็หลีกไป.
               ในวันรุ่งขึ้นก็ไม่มีใครทำอะไรๆ เพราะฉะนั้นจึงกระดิกหูกินดื่มแล้วไม่รีบไป.
               วันรุ่งขึ้นไม่มีใครทำอะไร กินดื่มตามพอใจ เข้าไปนอนยังสุมทุมพุ่มไม้. พวกพรานรู้ว่าเนื้อเผลอ ก็ปิดประตูล้อมไว้ทุบตีตั้งแต่ชายป่าไป. เนื้อเหล่านั้นถูกเจ้าของหญ้ากระทำได้ตามชอบใจในป่าหญ้านั้นด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ตตฺร ภิกฺขเว ได้แก่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในหมู่เนื้อเหล่านั้น.
               บทว่า ปฐมา มิคชาตา ได้แก่ ขึ้นชื่อว่าหมู่เนื้อที่หนึ่งและที่สอง ย่อมไม่มี. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำหนดตามลำดับหมู่เนื้อที่มาถึง แสดงระบุชื่อว่า เนื้อที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่.
               บทว่า อิทฺธานุภาวา ได้แก่ เพราะจะต้องกระทำตามประสงค์. จริงอยู่ ความเป็นผู้เชี่ยวชาญนั่นแล ท่านประสงค์เอาว่าฤทธิ์ และว่าอำนาจในที่นี้.
               บทว่า ภยโภคา ได้แก่ จากการบริโภคด้วยความกลัว.
               บทว่า พลวิริยํ ได้แก่ วาโยธาตุที่พัดไปมา. อธิบายว่า วาโยธาตุนั้นหายไป.
               บทว่า อุปนิสฺสาย อาสยํ กปฺเปยฺยาม ความว่า เมื่อพวกเนื้อนอนกินในภายในก็ดี มาแต่ภายนอกเคี้ยวกินก็ดี ย่อมมีแต่ความกลัวเท่านั้น เนื้อเหล่านั้นคิดว่า ก็พวกเราอาศัยที่เพาะปลูกโน้น จึงอยู่อาศัย ณ ที่แห่งหนึ่ง.
               บทว่า อุปนิสฺสาย อาสยํ กปฺปยึสุ ความว่า ขึ้นชื่อว่าพวกพรานย่อมไม่มีความพลั้งเผลอทุกๆ เวลา พวกเนื้ออาศัยที่เพาะปลูก (ไร่ผักหญ้า) ด้วยตั้งใจว่า พวกเรานอนในสุมทุมพุ่มไม้ และเชิงรั้วในที่นั้นๆ เมื่อพรานเหล่านั้นหลีกไปล้างหน้า หรือไปกินอาหาร จึงเข้าไปสู่ที่เพาะปลูก พอกิน ดื่มเสร็จแล้วก็เข้าไปสู่ที่อยู่ของตน แล้วอาศัยอยู่ในที่รกชัฏมีพุ่มไม้และเชิงรั้วเป็นต้น.
               บทว่า ภุญฺชึสุ ได้แก่ รู้เวลาที่พวกพรานพลั้งเผลอโดยนัยดังกล่าวแล้ว ตะลีตะลานเข้าไปกิน.
               บทว่า เกฏุภิโน ได้แก่ เกราฏิกศาสตร์ที่ศึกษามา.
               บทว่า อิทฺธิมนฺตา แปลว่า เหมือนผู้มีฤทธิ์.
               บทว่า ปรชนา ได้แก่ ยักษ์ ยักษ์เหล่านี้ไม่ใช่เนื้อ.
               บทว่า อาคตึ วา คตึ วา ได้แก่ พวกเราไม่รู้ความคิดของพรานเหล่านั้นดังนี้ว่า พวกเนื้อเหล่านี้ย่อมมาทางที่ชื่อนี้ ไปในที่โน้น.
               บทว่า ทณฺฑวาคุราหิ ได้แก่ ข่ายคือท่อนไม้และไม้ค้อน.
               บทว่า สมนฺตาสปฺปเทสมนุปริวาเรสุํ ความว่า คนปลูกฝักมีมายามาก คิดว่า เนื้อเหล่านี้จักไม่ไปไกล จักนอนอยู่ในที่ใกล้นี่แหละ จึงล้อมถิ่นที่ของตนคือโอกาสที่ใหญ่รอบไร่ผัก.
               บทว่า อทฺทสาสุํ ความว่า ล้อมอย่างนี้แล้วก็เขย่าข่ายโดยรอบจ้องดู.
               บทว่า ยตฺถ เต ได้แก่ พวกพรานเหล่านั้นได้ไปจับในที่ใด ได้เห็นที่นั้น.
               บทว่า ยนฺนูน มยํ ยตฺถ อคติ ความว่า ได้ยินว่า พรานเหล่านั้นคิดอย่างนี้ว่า พวกเนื้อที่นอนกินอยู่ภายในก็ดี มาจากภายนอกกินอยู่ก็ดี อยู่ในที่ใกล้กินอยู่ก็ดี ย่อมมีความกลัวทั้งนั้น.
               จริงอยู่ แม้เนื้อเหล่านั้นถูกล้อมจับด้วยข่าย เพราะฉะนั้น เนื้อเหล่านั้นจึงคิดดังนี้ว่า ถ้ากระไร เราจะพึงนอนในที่ที่พวกทำไร่และคนของพวกทำไร่ไม่ไปไม่อยู่.
               บทว่า อญฺเญ ฆฏฺเฏสฺสนฺติ ได้แก่ เบียดเนื้ออื่นๆ ที่อยู่ไกลแต่ที่นั้นๆ.
               บทว่า เต ฆฏฺฏิตา อญฺเญ ได้แก่ เนื้อที่ถูกเบียดเหล่านั้นก็จะถูกเบียดตัวอื่นๆ ที่อยู่ไกลกว่านั้น.
               บทว่า เอวํ อิมํ นิวาปํ นิวุตฺตํ สพฺพโส มิคชาตา ริญฺจิสฺสนฺติ ได้แก่ ชุมเนื้อหมู่เนื้อทั้งหมดจักละทิ้งไร่ผักที่พวกเราปลูกไว้.
               บทว่า อชฺฌุเปกฺเขยฺยาม ได้แก่ พึงขวนขวายจับเนื้อเหล่านั้น. ก็เมื่อเนื้อทั้งหลายพากันมาด้วยอาการอย่างไรก็ตาม พวกเราก็จะได้ลูกเนื้อบ้าง เนื้อแก่บ้าง เนื้อกำลังน้อยบ้าง เนื้อพลัดฝูงบ้าง เมื่อไม่มาย่อมไม่ได้อะไรๆ.
               บทว่า อชฺฌุเปกฺขึสุ โข ภิกฺขเว ได้แก่ คิดอย่างนี้แล้วจึงได้ขวนขวาย.
               ในคำว่า อมุํ นิวาปํ นิวุตฺตํ มารสฺส อมูนิ จ โลกามิสานิ นี้ คำว่า นิวาปะก็ดี คำว่า โลกามิสานิก็ดี เป็นชื่อของกามคุณ ๕ ที่เป็นหยื่อของวัฏฏะ. ก็มารมิได้เที่ยวหว่านกามคุณเหมือนพืช แต่แผ่อำนาจคลุมผู้ที่ยินดีในกามคุณ. ฉะนั้น กามคุณจึงชื่อว่า เป็นเหยื่อล่อของมาร. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อมุํ นิวาปํ นิวุตฺตํ มารสฺส ดังนี้.
               บทว่า น ปริมุจฺจึสุ มารสฺส อิทฺธานุภาวา ได้แก่ เป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจของมาร ถูกมารกระทำได้ตามชอบใจ.
               นี้เป็นการเปรียบเทียบด้วยการบรรพชาพร้อมด้วยบุตรและภรรยา.
               ชื่อว่า เจโตวิมุตติ ในคำว่า เจโตวิมุตติ ปริหายิ นั้นได้แก่ อัธยาศัยที่เกิดขึ้นว่า พวกเราจักอยู่ในป่า. อธิบายว่า อัธยาศัยนั้นเสื่อมแล้ว.
               ข้อว่า ตถูปเม อหํ ภิกฺขเว อิเม ทุติเย นี้เป็นการเปรียบเทียบด้วยการบรรพชาประกอบด้วยธรรมของพราหมณ์.
               จริงอยู่ พราหมณ์ทั้งหลายประพฤติโกมารพรหมจรรย์ ๔๘ ปี คิดว่าจักสืบประเพณี เพราะกลัววัฏฏะขาด แสวงหาทรัพย์ ได้ภรรยา ครองเรือน เมื่อเกิดบุตรคนหนึ่ง คิดว่า เรามีบุตรแล้ว วัฏฏะไม่ขาดแล้ว สืบประเพณีแล้ว จึงออกบวชอีกหรือมีเมียตามเดิม.
               บทว่า เอวํ หิ เต ภิกฺขเว ตติยา สมณพฺรหฺมณา น ปริมุจฺจึสุ ความว่า สมณพราหมณ์แม้เหล่านั้นไม่พ้นจากฤทธิ์ และอำนาจของมารเหมือนก่อน ได้เป็นผู้ถูกมารกระทำตามชอบใจ.
               ถามว่า ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นทำอย่างไร.
               ตอบว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นไปยังบ้านนิคมและราชธานี ให้สร้างอาศรมอยู่ในอารามและสวนนั้นๆ ให้เด็กในตระกูลทั้งหลายศึกษาศิลปะมีประการต่างๆ เช่น ศิลปะช้าง ม้า และรถเป็นต้น. ดังนั้น สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกข่ายคือทิฏฐิของมารผู้มีบาปรวบรัด ถูกมารกระทำได้ตามชอบใจ เหมือนฝูงเนื้อที่สามที่ถูกล้อมด้วยตาข่าย.
               ข้อว่า ตถูปเม อหํ ภิกฺขเว อิเม จตุตฺเถ นี้ เป็นเครื่องนำมาเปรียบเทียบศาสนานี้.
               บทว่า อนฺธมกาสิ มารํ ความว่า ไม่ทำลายนัยน์ตาของมาร แต่จิตของภิกษุผู้เข้าฌานซึ่งเป็นบาทของวิปัสสนา ย่อมอาศัยอารมณ์นี้เป็นไป ฉะนั้น มารจึงไม่สามารถจะเห็นได้. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อนฺธมกาสิ มารํ ดังนี้.
               บทว่า อปทํ วธิตฺวา มารจกฺขุํ ความว่า โดยปริยายนี้เอง เธอจึงฆ่าโดยประการที่จักษุของมารไม่มีทาง หมดหนทาง ไม่มีที่พึ่ง ปราศจากอารมณ์.
               บทว่า อทสฺสนํ ตโต ปาปิมโต ได้แก่ โดยปริยายนั้นเอง มารผู้มีบาปจึงมองไม่เห็น.
               จริงอยู่ มารนั้นไม่สามารถจะมองเห็นร่าง คือญาณของภิกษุผู้เข้าฌานซึ่งเป็นบาทของวิปัสสนานั้น ด้วยมังสจักษุของตนได้.
               บทว่า ปญฺญาย จสฺส ทิสฺวา อาสวา ปริกฺขีณา โหนฺติ ความว่า เพราะเห็นอริยสัจ ๔ ด้วยมรรคปัญญา อาสวะ ๔ จึงสิ้นไป.
               บทว่า ติณฺโณ โลเก วิสตฺติกํ ได้แก่ ถึงการนับอย่างนี้ว่า วิสตฺติกา เพราะข้องอยู่และซ่านไปในโลก.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า วิสตฺติกา ความว่า ที่ชื่อว่า วิสตฺติกา เพราะอรรถว่าอะไร ชื่อว่า วิสตฺติกา เพราะอรรถว่าซ่านไป แผ่ไป ขยายไปไพบูลย์ กว้างขวาง ปราศจากความสามารถ นำสิ่งที่เป็นพิษมา มีวาทะเป็นพิษ มีรากเป็นพิษ มีผลเป็นพิษ มีเครื่องบริโภคเป็นพิษ ก็หรือว่าตัณหานั้นกว้างขวางในรูป เสียง กลิ่น รสและโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า วิสตฺติกา.
               ผู้ข้าม ข้ามออก ข้ามขึ้นซึ่งตัณหาซึ่งนับว่า วิสตฺติกา ด้วยประการฉะนี้. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ติณฺโณ โลเก วิสตฺติกํ ดังนี้.

               จบอรรถานิวาปสูตรที่ ๕               
               ----------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค นิวาปสูตร อุปมาพรานปลูกหญ้าล่อเนื้อ จบ.
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 292อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 301อ่านอรรถกถา 12 / 312อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=5109&Z=5383
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=1728
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=1728
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :