ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 301อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 312อ่านอรรถกถา 12 / 329อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค
ปาสราสิสูตร อุปมากองบ่วงดักสัตว์

               อรรถกถาปาสราสิสูตร               
               ปาสราสิสูตรเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ :-
               พึงทราบวินิจฉัยในปาสราสิสูตรนั้น
               บทว่า สาธุ มยํ อาวุโส ได้แก่ กล่าวขอร้อง.
               เล่ากันมาว่า ภิกษุชาวชนบทประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น คิดจะเฝ้าพระทศพล จึงไปถึงเมืองสาวัตถี. ก็ภิกษุเหล่านั้นได้เฝ้าพระศาสดาแล้ว ยังมิได้ฟังธรรมีกถาก่อน. ด้วยความเคารพในพระศาสดา ภิกษุเหล่านั้นจึงไม่สามารถจะกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ขอพระองค์โปรดแสดงธรรมีกถาแก่พวกข้าพระองค์เถิด. เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นครู ยากที่จะเข้าพบ เหมือนพญาราชสีห์ตัวเที่ยวไปตามลำพัง เหมือนกุญชรที่ตกมัน เหมือนอสรพิษที่แผ่พังพาน เหมือนกองไฟใหญ่.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                         พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เข้าถึงได้ยาก เหมือนงูพิษ
                         เหมือนไกรสรราชสีห์ เหมือนพญาช้าง.
               ภิกษุเหล่านั้นไม่อาจจะวิงวอนพระศาสดาผู้ที่เข้าพบได้ยาก อย่างนี้ด้วยตนเอง จึงขอร้องท่านพระอานนท์ว่า สาธุ มยํ อาวุโส ดังนี้.
               บทว่า อปฺเปว นาม ได้แก่ ไฉนหนอ พวกเราจะพึงได้.
               ก็เพราะเหตุไร พระเถระจึงกล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า พวกเธอพึงเข้าไปยังอาศรมของรัมมกพราหมณ์. เพราะมีกิริยาปรากฏ. เพราะกิริยาของพระทศพลย่อมปรากฏแก่พระเถระ. พระเถระทราบว่า วันนี้พระศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวัน ทรงพักผ่อนกลางวันในปุพพาราม วันนี้เสด็จเข้าบิณฑบาตลำพังพระองค์ วันนี้แวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์ เวลานี้เสด็จจาริกไปในชนบท.
               ถามว่า ก็เจโตปริยญาณย่อมมีเพื่อให้ท่านรู้อย่างนี้ได้อย่างไร.
               ตอบว่า ไม่มี. ท่านรู้โดยถือนัยตามกิริยาที่ทำไว้โดยรู้ตามคาดคะเน.
               จริงอยู่ วันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน มีพระพุทธประสงค์จะทรงพักผ่อนกลางวันในปุพพารามในเวลาใด ในเวลานั้น ทรงแสดงอาการ คือการเก็บงำเสนาสนะและเครื่องบริขาร. พระเถระเก็บงำไม้กวาดและสักการะที่เขาทิ้งไว้เป็นต้น.
               แม้ในเวลาที่ประทับอยู่ในปุพพารามแล้วเสด็จมาพระเชตวัน พักกลางวันก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ก็คราวใดมีพระพุทธประสงค์จะเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาตตามลำพัง คราวนั้นก็จะทรงปฏิบัติสรีรกิจแต่เช้า เข้าพระคันธกุฎี ปิดพระทวารเข้าผลสมาบัติ. พระเถระทราบด้วยสัญญานั้นว่า วันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งตรวจเหล่าสัตว์ที่ควรตรัสรู้ แล้วจึงให้สัญญาแก่ภิกษุทั้งหลายว่า อาวุโสทั้งหลาย วันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประสงค์จะเข้าไปตามลำพัง พวกท่านจงเตรียมภิกษาจาร.
               ก็คราวใดมีพระประสงค์จะมีภิกษุเป็นบริวารเสด็จเข้าไป คราวนั้นจะทรงแง้มทวารพระคันธกุฎี ประทับนั่งเข้าผลสมาบัติ. พระเถระทราบด้วยสัญญานั้น จึงให้สัญญาแก่ภิกษุทั้งหลายเพื่อรับบาตรจีวร. แต่คราวใดมีพระพุทธประสงค์จะเสด็จจาริกไปในชนบท คราวนั้นจะเสวยเกินคำสองคำ และเสด็จจงกรมไปๆ มาๆ ทุกเวลา. พระเถระทราบด้วยสัญญานั้น จึงให้สัญญาแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระพุทธประสงค์จะเสด็จจาริกไปในชนบท พวกท่านจงทำกิจที่ควรทำของท่านเสีย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าในปฐมโพธิกาลประทับอยู่ไม่ประจำ ๒๐ พรรษา ภายหลังประทับประจำกรุงสาวัตถี ๒๕ พรรษาเลียด วันหนึ่งๆ ทรงใช้สองสถาน. กลางคืนประทับอยู่ในพระเชตวัน รุ่งขึ้นแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าบิณฑบาตกรุงสาวัตถีทางประตูทิศใต้ เสด็จออกทางประตูทิศตะวันออก ทรงพักผ่อนกลางวันในปุพพาราม. กลางคืนประทับอยู่ในปุพพาราม รุ่งขึ้นเสด็จเที่ยวบิณฑบาตยังเมืองสาวัตถี ทางประตูด้านทิศตะวันออก แล้วเสด็จออกทางประตูด้านทิศใต้ ทรงพักผ่อนกลางวันในพระเชตวัน.
               เพราะเหตุไร. เพราะจะทรงอนุเคราะห์แก่ ๒ ตระกูล.
               จริงอยู่ ธรรมดาว่า คนใดคนหนึ่งผู้ตั้งอยู่ในความเป็นมนุษย์ เหมือนท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีและหญิงคนอื่นผู้ตั้งอยู่ในความเป็นมาตุคาม เหมือนนางวิสาขามหาอุบาสิกาที่จะทำบริจาคทรัพย์อุทิศพระตถาคตย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงใช้ฐานะ ๒ เหล่านี้ในวันเดียวกัน เพราะอนุเคราะห์แก่ตระกูลนั้น.
               ก็ในวันนั้น พระองค์ประทับอยู่ในพระเชตวัน. เพราะฉะนั้น เถระจึงคิดว่า วันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี ในเวลาเย็น จักเสด็จไปยังซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก เพื่อจะทรงสรงสนานพระองค์ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงทูลวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประทับยืนสรงสนานพระองค์แล้วไปยึดอาศรมของรัมมกพราหมณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุเหล่านี้จึงจักได้ฟังธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้แล้ว จึงได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้.
               บทว่า มิคารมาตุปาสาโท ได้แก่ ปราสาทของนางวิสาขาอุบาสิกา. จริงอยู่ นางวิสาขานั้น ท่านเรียกว่ามิคารมาตา เพราะมิคารเศรษฐีสถาปนาไว้ในฐานเป็นมารดา.
               บทว่า ปฏิสลฺลานา วุฏฺฐิโต ความว่า เขาว่า ในปราสาทนั้น ได้มีห้องอันทรงศิริสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรงกลางห้องอันทรงศิริสำหรับพระมหาสาวกทั้ง ๒. พระเถระเปิดทวาร กวาดภายในห้อง นำซากมาลาออก จัดเตียงและตั่งแล้วได้ถวายสัญญาแด่พระศาสดา. พระศาสดาเสด็จเข้าสู่ห้องอันทรงศิริ มีสติสัมปชัญญะทรงบรรทมสีหไสยาสน์โดยพระปรัศว์เบื้องขวา ทรงระงับความกระวนกระวาย ลุกขึ้นประทับ นั่งเข้าผลสมาบัติ ออกจากผลสมาบัติในเวลาเย็น. ท่านหมายเอาคำนั้นจึงกล่าวว่า ปฏิสลฺลานา วุฏฺฐิโต.
               บทว่า ปริสิญฺจิตุํ ความว่า ก็ผู้ใดขัดสีตัวด้วยผงดินเป็นต้น หรือขัดสีด้วยหินขัดเป็นต้น จึงอาบ ผู้นั้น ท่านเรียกว่า ย่อมอาบ. ผู้ใดไม่กระทำอย่างนั้น อาบตามปกตินั่นเอง ผู้นั้นท่านเรียกว่า ย่อมรด. ขึ้นชื่อว่าน้ำอันเจือด้วยธุลีที่จะพึงนำไปเช่นนั้น ไม่ติดอยู่ในพระสรีระแม้ของพระตถาคต แต่เพื่อจะถือตามฤดูกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมลงสรงน้ำอย่างเดียว. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า คตฺตานิ ปริสิญฺจิตุํ ทรงรดพระกาย.
               บทว่า ปุพฺพโกฏฺฐโก แปลว่า ซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก.
               เล่าว่า ในกรุงสาวัตถี บางคราววิหารก็ใหญ่ บางคราวก็เล็ก. ครั้งนั้นแล วิหารนั้น ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี มีขนาดโยชน์ ๑. ครั้งพระสิขีพุทธเจ้า ขนาด ๓ คาวุต ครั้งพระเวสสภูพุทธเจ้า ขนาดกึ่งโยชน์ ครั้งพระกกุสันธพุทธเจ้า ขนาด ๑ คาวุต ครั้งพระโกนาคมพุทธเจ้า ขนาดครึ่งคาวุต ครั้งพระกัสสปพุทธเจ้า ขนาด ๒๐ อุสภะ. ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย มีขนาด ๘ กรีส. แม้นครนั้น บางครั้งก็อยู่ทิศตะวันออกของวิหารนั้น บางครั้งก็ทิศใต้ บางครั้งก็ทิศตะวันตก บางครั้งก็ทิศเหนือ. ก็ในพระคันธกุฎีเชตวันวิหาร สถานที่ประดิษฐ์เท้าพระแท่นสี่เท้าแน่นสนิท.
               จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่าเจตียสถานอันติดแน่น ๔ แห่ง คือ สถานที่ตั้งมหาโพธิบัลลังก์ ๑ สถานที่ประกาศพระธรรมจักรในป่าอิสิปตนะ ๑ สถานที่เป็นที่ประดิษฐานบันได ครั้งเสด็จลงจากเทวโลก ณ สังกัสสนคร ๑ สถานที่ตั้งพระแท่น (ปรินิพพาน) ๑.
               ก็ซุ้มประตูด้านหน้านี้เป็นซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก ครั้งพระวิหาร ๒๐ อสุภของพระกัสสปทศพล. แม้บัดนี้วิหารนั้นก็ยังปรากฏว่า ซุ้มประตูด้านหน้าอยู่นั้นเอง. ครั้งพระกัสสปทศพล แม่น้ำอจีรวดีไหลล้อมนคร ถึงซุ้มประตูด้านหน้า ถูกน้ำเซาะทำให้เกิดสระน้ำใหญ่มีท่าเรียบลึกไปตามลำดับ.
               ณ ที่นั้นมีท่าน้ำน่ารื่นรมย์ มีทรายเสมือนแผ่นเงินหล่นเกลื่อนแยกกันเป็นส่วนๆ อย่างนี้คือ ท่าน้ำสำหรับพระราชาท่า ๑ สำหรับชาวพระนครท่า ๑ สำหรับภิกษุสงฆ์ท่า ๑ สำหรับพระพุทธเจ้าทั้งหลายท่า ๑. ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ากับท่านพระอานนท์ จึงเสด็จเข้าไปยังที่ซุ้มประตูด้านหน้าอันนี้ตั้งอยู่ เพื่อสรงสนานพระองค์.
               ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์น้อมผ้าสรงน้ำเข้าไปถวาย. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปลื้องผ้าแดง ๒ ชั้น ทรงนุ่งผ้าอาบน้ำ. พระเถระรับจีวรผืนใหญ่กับผ้า ๒ ชั้นไว้ในมือของตน. พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลงสรงน้ำ. ฝูงปลาและเต่าในน้ำก็มีสีเหมือนทองไปหมด พร้อมกับที่พระองค์เสด็จลงสรงน้ำ. กาลนั้นได้เป็นเหมือนเวลาเอาทะนานยนต์รดสายน้ำทอง และเหมือนเวลาแผ่แผ่นทอง. ครั้งเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมเนียมการสรงน้ำ ทรงสรงน้ำเสด็จขึ้นแล้ว พระเถระก็น้อมผ้าผืนแดง ๒ ชั้นถวาย. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งผ้านั้น ทรงคาดประคดเอวเสมือนสายฟ้า ทรงจับจีวรผืนใหญ่ที่ชายทั้งสองรวบชายน้อมเข้ามา ทำให้เป็นเหมือนกลีบปทุมประทับยืนอยู่.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรงพระองค์ที่ซุ้มประตูด้านหน้า เสด็จขึ้นประทับยืนมีจีวรผืนเดียว. ก็พระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประทับยืนอย่างนี้ รุ่งโรจน์เหมือนสระที่เต็มไปด้วยดอกบัวและอุบลกำลังแย้ม เหมือนต้นปาริฉัตตกะที่มีดอกบานสะพรั่ง และเหมือนท้องฟ้าที่ระยิบระยับไปด้วยดาวและพยับแดด เหมือนจะเรียกร้องเอามิ่งขวัญ แลกลุ่มลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ของพระองค์ซึ่งงดงามแวดล้อมด้วยพระรัศมีวาหนึ่ง ไพโรจน์อย่างยิ่งเหมือนดวงจันทร์ ๓๒ ดวง ดวงอาทิตย์ ๓๒ ดวงที่ร้อยวางไว้ เหมือนพระเจ้าจักพรรดิ ๓๒ องค์ เทวราช ๓๒ องค์และมหาพรหม ๓๒ องค์ที่สถิตอยู่ตามลำดับ.
               นี้ชื่อว่าวรรณภูมิ พึงทราบกำลังของพระธรรมกถึกในฐานะเห็นปานนี้ว่า พระธรรมกถึกผู้สามารถควรจะนำเนื้อความอุปมาและเหตุมากล่าวสรรเสริญพระสรีระและพระคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในฐานะเห็นปานนี้ ด้วยจุณณิยบท หรือคาถาทั้งหลายให้บริบูรณ์.
               บทว่า คตฺตานิ ปุพฺพาปยมาโน ความว่า รอความเป็นปกติ กระทำให้พระกายหมดน้ำ. อธิบายว่า ทำให้แห้ง.
               จริงอยู่ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระวรกายชุ่มด้วยน้ำ ทรงห่มจีวรก็เกิดเป็นดอก. เครื่องบริขารก็เสีย. แต่น้ำที่เจือธุลีย่อมไม่ติดในพระสรีระของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย น้ำก็กลิ้งกลับไปเหมือนหยาดน้ำที่ใส่บนใบบัว. แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะความเคารพในสิกขา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงจับจีวรผืนใหญ่ทั้งสองมุม ด้วยทรงพระดำริว่า นี่ ชื่อว่าธรรมเนียมของบรรพชิตประทับยืนปิดพระกายเบื้องหน้า.
               ขณะนั้น พระเถระคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห่มจีวรใหญ่ จักกลับพระองค์ลำบาก ตั้งแต่เริ่มเสด็จสู่มิคารมาตุปราสาท ชื่อว่าเปลี่ยนพุทธประสงค์ย่อมหนัก เหมือนเหยียดมือจับราชสีห์ที่เที่ยวตัวเดียว เหมือนจับงวงช้างตกมันและเหมือนจับคออสรพิษที่กำลังแผ่แม่เบี้ย จึงพรรณนาคุณอาศรมของรัมมกพราหมณ์ ทูลวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อเสด็จไป ณ ที่นั้น.
               พระเถระได้กระทำอย่างนั้น. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถโข อายสฺมา อานนฺโท ฯเปฯ อนุกมฺปํ อุปาทาย ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุกมฺปํ อุปาทาย ได้แก่ อาศัยความอนุเคราะห์ภิกษุ ๕๐๐ รูปผู้ไปสู่อาศรมนั้นด้วยตั้งใจ จักฟังธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า. อธิบายว่า กระทำความกรุณาในภิกษุทั้งหลาย.
               บทว่า ธมฺมิยา กถาย ความว่า นั่งประชุมกันชมพระบารมี ๑๐ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง และมหาภิเนษกรมณ์.
               บทว่า อาคยมาโน ได้แก่ ชะเง้อดู. อธิบายว่า ไม่ผลุนผลันเสด็จเข้าไปด้วยถือพระองค์ว่า เราเป็นพระพุทธเจ้า ประทับยืนอยู่จนกว่าเขาจะพูดกันจบ.
               บทว่า อคฺคฬํ อาโกเฏสิ ได้แก่ เคาะประตู.
               บทว่า วิวรึสุ ความว่า ทันใดนั้นนั่นเอง ภิกษุทั้งหลายก็มาเปิดประตู เพราะนั่งคอยเงี่ยหูฟังอยู่แล้ว.
               บทว่า ปญฺญตฺเต อาสเน ความว่า ได้ยินว่า ครั้งพุทธกาล ภิกษุถึงอยู่รูปเดียวในที่ใดๆ ก็จัดพุทธอาสน์ไว้ในที่นั้นๆ ทั้งนั้น
               เพราะเหตุใด. เขาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงใส่พระทัยถึงภิกษุที่เรียนกรรมฐานในสำนักของพระองค์แล้วอยู่ในที่ผาสุกว่า ภิกษุรูปโน้นรับกรรมฐานในสำนักของเราไปแล้ว สามารถทำคุณวิเศษให้บังเกิดขึ้นหรือไม่หนอ.
               ลำดับนั้น ทรงเห็นภิกษุนั้นละเลยกรรมฐาน กำลังตรึกอกุศลวิตก แต่นั้นก็ทรงพระดำริว่า อย่างไรเล่า อกุศลวิตกทั้งหลายจึงครอบงำกุลบุตรผู้นี้ซึ่งเรียนกรรมฐานในสำนักของศาสดาเช่นเรา ให้จมลงในวัฏฏทุกข์ ซึ่งติดตามไปรู้ไม่ได้ จึงทรงแสดงพระองค์ในที่นั้นนั่นแหละ เพื่ออนุเคราะห์กุลบุตรนั้น ทรงโอวาทกุลบุตรนั้นแล้ว เสด็จเหาะกลับไปที่ประทับของพระองค์.
               ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายได้รับโอวาทอย่างนั้น จึงคิดว่า พระศาสดาทรงทราบใจของพวกเรา จึงเสด็จมาแสดงพระองค์ประทับยืนอยู่ใกล้ๆ พวกเรา ในขณะนั้น ชื่อว่าการแสวงหาอาสนะเป็นภาระด้วยกราบทูลว่า พระเจ้าข้า โปรดประทับนั่งในที่นี้ โปรดประทับนั่งที่นี้ จึงจัดอาสนะไว้อยู่. ภิกษุใดมีตั่ง ภิกษุนั้นก็จัดตั่ง ภิกษุใดไม่มี ภิกษุนั้นก็จัดเตียง หรือแผ่นกระดาน ไม้หินหรือกองทราย. เมื่อไม่ได้ก็ดึงเอาใบไม้เก่าๆ มาลาดตั้งเป็นกองไว้ในที่นั้น. แต่ในเรื่องนี้มีอาสนะที่จัดไว้ตามปกติทั้งนั้น. ท่านหมายเอาอาสนะนั้น จึงกล่าวว่า ปญฺญตฺเต อาสเน นิสีทิ ดังนี้.
               บทว่า กายนุตฺถ ความว่า ท่านทั้งหลายนั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไรหนอ. บาลีว่า กายเนตฺถ ดังนี้ ก็มี. แม้บาลีนั้นก็มีเนื้อความว่า พวกเธอนั่งประชุมกันในที่นี้ด้วยเรื่องอะไรหนอ. บาลีว่า กายโนตฺถ ได้แก่ เรื่องอื่นอย่างหนึ่ง เนื้อความอย่างข้อต้นเหมือนกัน.
               บทว่า อนฺตรากถา ได้แก่ เรื่องอื่นอย่างหนึ่งระหว่างการใส่ใจการเรียน การสอบถามกรรมฐานเป็นต้น.
               บทว่า วิปฺปกตา ได้แก่ ยังไม่จบ คือยังไม่ถึงที่สุดเพราะการมาของเราเป็นปัจจัย.
               บทว่า อถ ภควา อนุปฺปตฺโต ความว่า ครั้งนั้น คือกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา.
               บทว่า ธมฺมี กถา วา ได้แก่ หรือธรรมีกถาที่อิงกถาวัตถุ ๑๐.
               ก็ในคำว่า อริโย วา ตุณฺหีภาโว นี้ ทั้งทุติยฌาน ทั้งมูลกรรมฐาน พึงทราบว่า อริยดุษณีภาพ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั่งเข้าฌานนั้นก็ดี นั่งกำหนดมูลกรรมฐานเป็นอารมณ์ก็ดี พึงทราบว่านั่งโดยอริยดุษณีภาพ.
               คำว่า เทฺวมา ภิกฺขเว ปริเยสนา มีอนุสนธิเป็นอันเดียวกัน.
               ภิกษุเหล่านั้นได้กระทำให้เป็นภาระของพระเถระด้วยตั้งใจจักฟังธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์. พระเถระได้กระทำที่ไปอาศรมของภิกษุเหล่านั้น. ภิกษุเหล่านั้นนั่งในที่นั้น มิใช่สนทนากันด้วยเรื่องติรัจฉานกถา หากนั่งสนทนากันด้วยเรื่องธรรมะ. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มเทศนานี้ เพื่อแสดงว่า การแสวงหาของพวกเธอนี้ ชื่อว่าอริยปริเยสนา.
               บรรดาบทเหล่านั้น ในบทว่า กตมา จ ภิกฺขเว อนริยปริเยสนา นี้ ความว่า บุรุษผู้ฉลาดในหนทาง เมื่อแสดงทางอุบายที่ควรเว้นก่อน จึงกล่าวว่า จงละทางซ้าย ถือเอาทางขวา ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น เพราะความที่ทรงเป็นผู้ฉลาดเทศนา จึงทรงบอกการแสวงหาอันมิใช่อริยะที่พึงละเว้นเสียก่อน ตอนหลังจึงทรงแยกลำดับอุทเทสก่อนว่า เราจักบอกการแสวงหานอกนี้ ดังนี้แล้วจึงตรัสอย่างนี้.
               บทว่า ชาติธมฺโม แปลว่า มีการเกิดเป็นสภาวะ.
               บทว่า ชราธมฺโม แปลว่า มีความแก่เป็นสภาวะ.
               บทว่า พฺยาธิธมฺโม แปลว่า มีความเจ็บไข้เป็นสภาวะ.
               บทว่า มรณธมฺโม แปลว่า มีความตายเป็นสภาวะ.
               บทว่า โสกธมฺโม แปลว่า มีความโศกเป็นสภาวะ.
               บทว่า สงฺกิเลสธมฺโม แปลว่า มีความเศร้าหมองเป็นสภาวะ.
               บทว่า ปุตฺตภริยํ ได้แก่ บุตรและภรรยา.
               ในบททั้งปวงก็นัยนี้.
               ก็ในคำว่า ชาตรูปรชฏํ นี้ ชาตรูปํ ได้แก่ ทอง. รชฏํ ได้แก่ มาสกโลหะเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขาสมมติกัน.
               ด้วยบทว่า ชาติธมฺมา เหเต ภิกฺขเว อุปธโย ทรงแสดงว่า กามคุณ ๕ เหล่านั้น ชื่ออุปธิ อุปธิทั้งหมดนั้นมีความเกิดเป็นธรรม. ทองและเงินท่านไม่ถือเอาใน พฺยาธิธมฺมวาร เป็นต้น เพราะทองและเงินนั้นไม่มีพยาธิมีโรคศีรษะเป็นต้น ไม่มีมรณะกล่าวคือจุติเหมือนสัตว์ทั้งหลาย ไม่เกิดความโศก แต่ย่อมเศร้าหมองด้วยสังกิเลสมีชราเป็นต้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงถือเอาในสังกิเลสสิกธรรมวาระ ทั้งถือเอาในชาติธรรมวาระด้วย เพราะมีฤดูเป็นสมุฏฐาน ทั้งถือเอาในชราธรรมวาระด้วย เพราะสนิมจับจึงคร่ำคร่า.
               บทว่า อยํ ภิกฺขเว อริยปริเยสนา ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การแสวงหานี้ พึงทราบว่า การแสวงหาของพระอริยะ เพราะไม่มีโทษในตัวเองบ้าง เพราะพระอริยะพึงแสวงหาบ้าง.
               ถามว่า เพราะเหตุไร จึงเริ่มคำว่า อหํปิ สุทํ ภิกขเว.
               แก้ว่า เพื่อแสดงการเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ตั้งแต่เดิม.
               ได้ยินว่า พระองค์มีพระดำริอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็เสาะแสวงสิ่งที่ไม่ใช่อริยะมาแต่ก่อน เรานั้นละการแสวงหาอันไม่ใช่อริยะนั้นแล้วแสวงหาสิ่งที่เป็นอริยะ จึงบรรลุสัพพัญญุตญาณ แม้พระปัญจวัคคีย์ก็แสวงหาสิ่งที่ไม่ใช่อริยะ พวกเธอก็ละสิ่งที่ไม่ใช่อริยะนั้น แสวงหาสิ่งที่เป็นอริยะ บรรลุขีณาภูมิ แม้พวกท่าน ก็ดำเนินตามทางเราและของพระปัญจวัคคีย์ การแสวงหาอันเป็นอริยะจึงจัดเป็นการแสวงหาของพวกท่าน.
               เพราะฉะนั้น เพื่อจะทรงแสดงการออกมหาภิเนษกรมณ์ของพระองค์ตั้งแต่เดิมมา.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทหโรว สมาโน แปลว่า กำลังรุ่นหนุ่ม.
               บทว่า สุสุกาฬเกโส ได้แก่ ผมดำสนิท. อธิบายว่า มีผมสีดังดอกอัญชัน.
               บทว่า ภทฺเรน แปลว่างาม.
               บทว่า ปฐเมน วยสา ได้แก่ ตั้งอยู่โดยปฐมวัย บรรดาวัยทั้ง ๓.
               บทว่า อกามกานํ ได้แก่ เมื่อไม่ปรารถนา.
               บทว่า อกามกานํ นี้เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ลงในอรรถแห่งอนาทร.
               ชื่อว่า อัสสุมุขา เพราะมีน้ำเนตรนองพระพักตร์แห่งพระมารดาและบิดา ผู้มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร. อธิบายว่า ผู้มีพระพักตร์ชุ่มด้วยน้ำพระเนตร.
               บทว่า รุทนฺตานํ ได้แก่ ร้องไห้คร่ำครวญอยู่. บทว่า กึกุสลํ คเวสี ได้แก่ แสวงหากุศลอะไร. บทว่า อนุตฺตรํ สนฺติวรปทํ ความว่า แสวงหาบทอันประเสริฐ กล่าวคือความสงบอันสูงสุด ได้แก่พระนิพพาน.
               บทว่า อาฬาโร ในคำว่า เยน อาฬาโร นี้เป็นชื่อของดาบสนั้น. ได้ยินว่า ดาบสนั้นชื่อว่าทีฆปิงคละ. ด้วยเหตุนั้น เขาจึงมีนามว่า อาฬาระ.
               บทว่า กาลาโม เป็นโคตร. บทว่า วิหารตายสฺมา แปลว่า ขอท่านผู้มีอายุเชิญอยู่ก่อน. บทว่า ยตฺถ วิญฺญูปุริโส ได้แก่ บุรุษผู้เป็นบัณฑิตในธรรมใด. บทว่า สกํ อาจริยกํ ได้แก่ ลัทธิอาจารย์ของตน. บทว่า อุปสมฺปชฺช วิหเรยฺย ได้แก่ พึงเข้าถึงอยู่ ด้วยเหตุเท่านี้เป็นอันเขาได้ทำโอกาสแล้ว. บทว่า ตํ ธมฺมํ ได้แก่ แบบแผนลัทธิของเขาเหล่านั้น. บทว่า ปริยาปุณึ ได้แก่ พอได้ฟังเรียนเอา. บทว่า โอฏฺฐปหตมตฺเตน ความว่า ด้วยเหตุเพียงหุบปาก เพื่อรับคำที่เขากล่าว. อธิบายว่า เพียงเจรจาปราศรัยกลับไปกลับมา.
               บทว่า ลปิตลาปนมตฺเตน ได้แก่ ด้วยเหตุเพียงถือเอาถ้อยคำที่เขาบ่นเพ้อ. บทว่า ญาณวาทํ ได้แก่ วาทะว่าเราจะรู้ชัด. บทว่า เถรวาทํ ได้แก่ วาทะว่ามั่นคง. คำนี้หมายความว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้มั่นคงในข้อนี้.
               บทว่า อหญฺเจว อญฺเญ จ ความว่า ไม่ใช่แต่เราจะกล่าวเพียงคนเดียวเท่านั้น แม้คนอื่นเป็นอันมากก็กล่าวอย่างนี้.
               บทว่า เกวลํ สทฺธามตฺตเกน ความว่า ด้วยเหตุเพียงศรัทธาอันบริสุทธิ์เท่านั้น มิใช่กระทำให้แจ้งด้วยปัญญา. ได้ยินว่า พระโพธิสัตว์เรียนธรรมด้วยวาจาเท่านั้นได้รู้ว่า ท่านกาลามะได้เพียงปริยัติ ด้วยวาจาเพียงอย่างเดียวในธรรมนี้ก็หาไม่ ท่านยังได้สมาบัติ ๗ อย่างแน่นอน ด้วยเหตุนั้นท่านจึงมีความคิดอย่างนี้.
               บทว่า อากิญฺจญญายตนํ ปเวเทสิ ความว่า ได้ให้เรารู้สมาบัติ ๗ อันมีอากิญจัญญายตนสมาบัติเป็นที่สุด. บทว่า สทฺธา ได้แก่ ศรัทธาเพื่อให้เกิดสมาบัติ ๗ เหล่านี้. แม้ในความเพียรเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน. บทว่า ปทเหยฺยํ ได้แก่ พึงกระทำความพยายาม.
               บทว่า น จิรสฺเสว ตํ ธมฺมํ สยํ อภิญฺญา สจฺฉิกตฺวา อุปสมฺปชฺช วิหาสึ ได้แก่ นัยว่าพระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญความเพียรทำสมาบัติ ๗ ให้เกิดขึ้นเพียงเวลา ๒-๓ วันเท่านั้น เหมือนคลี่ม่านทอง ๗ ชั้น เพราะฉะนั้น จึงกล่าวอย่างนั้น.
               บทว่า ลาภา โน อาวุโส ความว่า ได้ยินว่า ท่านกาลามะนี้เป็นคนไม่ริษยา เพราะฉะนั้น ท่านคิดว่าผู้นี้เพิ่งมาทำอะไรทำธรรมนี้ให้บังเกิดได้ดังนี้แล้ว ก็ไม่ริษยา กลับเลื่อมใส เมื่อจะประกาศความเลื่อมใสจึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า อุโภ วสนฺตา อิมํ คณํ ปริหราม ความว่า ท่านกล่าวว่า คณะนี้เป็นคณะใหญ่ เราสองคนมาช่วยกันบริหารเถิด แล้วได้ให้สัญญาแก่คณะ. ท่านกล่าวว่า แม้เราก็ได้สมาบัติ ๗ พระมหาบุรุษก็ได้สมาบัติ ๗ เหมือนกัน คนจำนวนเท่านี้เรียนบริกรรมในสำนักของพระมหาบุรุษ จำนวนเท่านี้เรียนในสำนักของเรา ดังนี้แล้วได้แบ่งให้ครึ่งหนึ่ง.
               บทว่า อุฬาราย แปลว่า สูงสุด.
               บทว่า ปูชาย ได้แก่ เขาว่า ทั้งหญิงทั้งชายที่เป็นอุปัฏฐากของท่านกาลามะ ถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นมา. ท่านกาลามะบอกว่า ท่านทั้งหลายจงไปบูชาพระมหาบุรุษเถิด. คนเหล่านั้นบูชาพระมหาบุรุษแล้วบูชาท่านกาลามะด้วยของที่เหลือ. คนทั้งหลายนำเตียงตั่งเป็นต้นที่มีค่ามากมาให้แม้ของเหล่านั้นแก่พระมหาบุรุษ ถ้ามีเหลือ ตนเองจึงรับ. ในที่ที่ไปด้วยกัน ท่านกาลามะสั่งให้จัดเสนาสนะอย่างดีแก่พระโพธิสัตว์ ตนเองรับส่วนที่เหลือ.
               ในคำว่า นายํ ธมฺโมนิพฺพิทาย เป็นต้น ความว่า ธรรมคือสมาบัติ ๗ นี้ ไม่เป็นไปเพื่อเบื่อหน่ายในวัฏฏะ ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับราคะเป็นต้น ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้สัจจะ ๔ ไม่เป็นไปเพื่อทำให้แจ้งพระนิพพาน.
               บทว่า ยาวเทว อากิญฺจญฺญายตนูปปตฺติยา ความว่า เป็นไปเพียงเกิดในอากิญจัญญายตนภพ ซึ่งมีอายุประมาณ ๖๐,๐๐๐ กัปป์ไม่สูงไปกว่านั้น ธรรมนี้เป็นธรรมเวียนมาอีก ทั้งให้ถึงฐานะอันใด ฐานะอันนั้นก็ไม่พ้นจากชาติชรามรณะไปได้เลย ถูกล้อมไว้ด้วยบ่วงมฤตยูทั้งนั้น.
               ก็แลบุรุษผู้หิวโหยได้โภชนะที่น่าพอใจ บริโภคอิ่มหนำสำราญแล้วทิ้งด้วยอำนาจน้ำดีบ้าง เสลดบ้าง โดยหลงลืมเสียบ้าง ไม่เกิดความรู้ว่า เราจักบริโภคข้าวก้อนเดียวกันอีก เปรียบฉันใด ตั้งแต่นั้นมา พระมหาสัตว์ก็เปรียบฉันนั้นเหมือนกัน แม้ทำสมาบัติ ๗ ให้บังเกิดด้วยอุตสาหะอย่างมาก เห็นโทษต่างโดยการเวียนมาอีกเป็นต้นนี้ในสมาบัติเหล่านั้น มิได้เกิดจิตคิดว่า เราจักคำนึง หรือจักเข้า จักตั้ง จักออก หรือจักพิจารณาธรรมนี้อีก.
               บทว่า อนลงฺกริตฺวา ได้แก่ ไม่พึงพอใจบ่อยๆ ว่า จะพออะไรด้วยสิ่งนี้ จะพอใจอะไรด้วยสิ่งนี้. บทว่า นิพฺพิชฺช แปลว่า ระอา. บทว่า อปกฺกมึ แปลว่า ได้ไปแล้ว.
               บทว่า น โข ราโม อิมํ ธมฺมํ ความว่า พระโพธิสัตว์เรียนธรรมแม้ในที่นี้ รู้ทั่วแล้วว่า ธรรมคือสมาบัติ ๘ นี้เป็นธรรมอันอุททกดาบสรามบุตรตั้งไว้เพียงเรียนด้วยวาจาเท่านั้น แต่ที่แท้ อุททกดาบสรามบุตรผู้นี้เป็นผู้ได้สมาบัติ ๘ ด้วยเหตุนั้น พระโพธิสัตว์จึงคิดอย่างนี้ว่า น โข ราโม ฯเปฯ ชานํ ปสฺสํ วิหาสิ.
               คำที่เหลือในข้อนี้พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในวาระต้นนั่นแล.
               เขตใหญ่ อธิบายว่า กองทรายใหญ่ ชื่อว่า อุรุเวลา ในคำว่า เยน อุรุเวลา เสนานิคโม นี้. อีกนัยหนึ่ง ทรายท่านเรียกว่าอุรุ เขตแดนเรียกว่าเวลา. พึงทราบในคำนี้อย่างนี้ว่า ทรายที่เขานำมา เหตุล่วงขอบเขตชื่อว่า อุรุเวลา.
               ดังได้สดับมา ในอดีตกาล ครั้งพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติ กุลบุตรประมาณ ๑๐,๐๐๐ บวชเป็นดาบสอยู่ในประเทศนั้น วันหนึ่งประชุมกันตั้งกติกากันไว้ว่า ขึ้นชื่อว่ากายกรรมและวจีกรรมปรากฏแก่ชนทั้งหลายเหล่าอื่น ส่วนมโนกรรมไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ผู้ใดตรึกกามวิตก พยาบาทวิตกหรือวิหิงสาวิตก คนอื่นที่จะเตือนผู้นั้นไม่มี ผู้นั้นจงเตือนตนด้วยตนเอง จงเอาภาชนะใส่ทรายให้เต็มมาเกลี่ยไว้ในที่นี้ อันนี้เป็นการลงโทษผู้นั้น.
               ตั้งแต่นั้นมา ผู้ใดตรึกวิตกเช่นนั้น ผู้นั้นก็ต้องเอาภาชนะใส่ทรายมาเกลี่ยลงในที่นั้น กองทรายใหญ่เกิดขึ้นโดยลำดับในที่นั้นด้วยประการฉะนี้ ต่อแต่นั้นคนที่เกิดมาในภายหลัง จึงล้อมกองทรายใหญ่นั้นไว้ทำเป็นเจดียสถาน ท่านหมายเอากองทรายใหญ่นั้น จึงกล่าวว่า อุรุเวลาติ ฯเปฯ อตฺโถ ทฏฺฐพฺโพ.
               บทว่า เสนานิคโม แปลว่า นิคมของเสนา. เล่าว่า เหล่าชนครั้งปฐมกัปได้มีการพักกองทัพ อยู่ในที่นั้น เพราะฉะนั้น ที่นั้นเขาจึงเรียกว่า เสนานิคม ก็มี. ปาฐะว่า เสนานิคาโม ก็มี อธิบายว่า บิดาของนางสุชาดา ชื่อว่าเสนานิ บ้านของนายเสนานีนั้น.
               บทว่า ตทวสรึ แปลว่า รวมลงในที่นั้น. บทว่า รมฺมณียํ ภูมิภาคํ ได้แก่ ภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ ที่งดงามด้วยดอกไม้น้ำและบกมีประการต่างๆ ที่บานสะพรั่ง. บทว่า ปาสาทิกํ วนสณฺฑํ ความว่า ได้เห็นไพรสณฑ์ที่ให้เกิดความเลื่อมใสเช่นกับกำหางนกยูง. บทว่า นทิญฺจ สนฺทนฺตึ ความว่า ได้เห็นแม่น้ำเนรัญชรามีน้ำใสสีเขียวเย็น เช่นกับกองแก้วมณีกำลังไหลเอื่อย. บทว่า เสตกํ ได้แก่ สะอาดปราศจากเปือกตม. บทว่า สุปติตฺถํ ได้แก่ ประกอบด้วยท่าอันดีที่ลุ่มลึกโดยลำดับ. บทว่า รมฺมณียํ ได้แก่ มีทิวทัศน์น่ารื่นรมย์ มีทรายที่เกลี่ยไว้เสมือนแผ่นเงิน มีปลาและเต่ามาก. บทว่า สมนฺตา จ โคจรคามํ ความว่า ได้เห็นโคจรคามที่หาภิกษาได้ง่าย สำหรับบรรพชิตผู้มาถึงแล้วสมบูรณ์ไปด้วยคมนาคมในที่ไม่ไกลโดยรอบประเทศนั้น. บทว่า อลํ วต แปลว่า สามารถหนอ.
               บทว่า ตตฺเถว นิสีทึ ท่านกล่าวหมายเอาประทับนั่ง ณ โพธิบัลลังก์. จริงอยู่ บทว่า ตตฺเถว ในพระสูตรก่อนท่านประสงค์เอาสถานที่ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา ส่วนในพระสูตรนี้ ท่านประสงค์เอาโพธิบัลลังก์ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ตตฺเถว นิสีทึ ดังนี้.
               บทว่า อลมิทํ ปธานาย ความว่า ประทับนั่ง ทรงดำริอย่างนี้ว่า ที่นี้สามารถทำความเพียรได้. บทว่า อชฺฌคมึ ได้แก่ บรรลุคือได้เฉพาะแล้ว. บทว่า ญาณญฺจ ปน เม ทสฺสนํ ความว่า ก็แลพระสัพพัญญุตญาณที่สามารถเห็นธรรมทั้งปวง เกิดขึ้นแก่เรา.
               บทว่า อกุปฺปา เม วิมุตฺติ ความว่า วิมุตติอันประกอบด้วยพระอรหัตตผลของเรา ชื่อว่าอกุปปะ เพราะไม่กำเริบและเพราะมีอกุปปธรรมเป็นอารมณ์ วิมุตตินั้นไม่กำเริบด้วยราคะเป็นต้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอกุปปะ แม้เพราะไม่กำเริบ เป็นอกุปปธรรมที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอกุปปะ แม้เพราะมีอกุปปธรรมเป็นอารมณ์.
               บทว่า อยมนฺติมา ชาติ แปลว่า นี้เป็นชาติสุดท้ายทั้งหมด.
               ด้วยบทว่า นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว ท่านแสดงว่า แม้ปัจจเวกขณญาณก็เกิดขึ้นแก่เราอย่างนี้ว่า บัดนี้ เราไม่มีปฏิสนธิอีก.
               บทว่า อธิคโต แปลว่า แทงตลอดแล้ว. บทว่า ธมฺโม ได้แก่ ธรรมคือสัจจะ ๔.
               คำว่า คมฺภีโร นี้ เป็นคำปฏิเสธความตื้น.
               บทว่า ทุทฺทโส ได้แก่ ชื่อว่าเห็นยาก พึงเห็นได้โดยลำบาก ไม่อาจเห็นได้โดยง่าย เพราะเป็นธรรมอันลึก ชื่อว่ารู้ตามได้ยาก รู้ได้โดยลำบาก ไม่อาจรู้ได้โดยง่าย เพราะเป็นธรรมที่เห็นได้ยาก.
               บทว่า สนฺโต ได้แก่ ดับ.
               บทว่า ปณีโต ได้แก่ ไม่เร่าร้อน.
               คำทั้งสองนี้ ท่านกล่าวหมายเอาโลกุตตรธรรมเท่านั้น.
               บทว่า อตกฺกาวจโร ได้แก่ เป็นธรรมที่ไม่พึงสอดส่องหยั่งลงด้วยความตรึก คือพิจารณาด้วยญาณเท่านั้น.
               บทว่า นิปุโณ แปลว่า ละเอียด.
               บทว่า ปณฺฑิตเวทนีโย ได้แก่ อันเหล่าบัณฑิตผู้ปฏิบัติสัมมาปฏิบัติพึงรู้.
               บทว่า อาลยรามา ความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมข้องกามคุณ ๕ เพราะฉะนั้น กามคุณ ๕ นั้นเรียกว่าอาลัย. สัตว์ทั้งหลายย่อมข้องตัณหาวิปริต ๑๐๘ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าอาลัย. สัตว์ทั้งหลายชื่อว่า อาลยรามา เพราะยินดีด้วยกามคุณอันเป็นที่อาลัยนั้น. ชื่อว่า อาลยรตา เพราะยินดีในกามคุณอันเป็นที่อาลัย. ชื่อว่า อาลยสมฺมุทิตา เพราะยินดีด้วยดีในกามคุณอันเป็นที่อาลัย.
               เหมือนอย่างว่า พระราชาเสด็จเข้าไปยังพระราชอุทยานที่สมบูรณ์ด้วยต้นไม้อันเต็มไปด้วยดอกและผลเป็นต้นที่ตกแต่งไว้เป็นอย่างดี ทรงยินดีด้วยสมบัตินั้นๆ ย่อมทรงบันเทิงรื่นเริงเบิกบานไม่เบื่อ แม้เย็นแล้วก็ไม่ปรารถนาจะออกไปฉันใด สัตว์ทั้งหลายย่อมยินดีด้วยอาลัยคือกามและอาลัยคือตัณหาเหล่านี้ก็ฉันนั้น ย่อมเบิกบานไม่เบื่ออยู่ในสังสารวัฏ.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงอาลัย ๒ อย่างแก่สัตว์เหล่านั้นให้เหมือนอุทยานภูมิ จึงตรัสคำมีอาทิว่า อาลยรามา ดังนี้.
               บทว่า ยทิทํ เป็นนิบาต. หมายเอาฐานะแห่งอาลัยนั้น พึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า ยํ อิทํ หมายเอาปฏิจจสมุปบาท พึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า โย อยํ ดังนี้.
               บทว่า อิทปฺปจฺจยตาปฏิจฺจสมุปฺปาโท ความว่า ปัจจัยแห่งธรรมเหล่านี้ชื่อว่า อิทปฺปจฺจยา. อิทปฺปจฺจยา นั่นแลชื่อว่า อิทปฺปจฺจยตา อิทปฺปจฺจยตา นั้นด้วย ปฏิจจสมุปบาทด้วย เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท.
               คำว่า อิทปฺปจฺจยตาปฏิจฺจสมุปปาโท นี้เป็นชื่อของปัจจัยมีสังขารเป็นต้น.
               บทว่า สพฺพสงฺขารสมโถ เป็นต้นทุกบทเป็นไวพจน์ของพระนิพพานทั้งนั้น. ก็เพราะเหตุที่ความดิ้นรนแห่งสังขารทั้งหมด อาศัยพระนิพพานนั้น ย่อมสงบระงับ ฉะนั้น นิพพานนั้นท่านจึงเรียกว่า สพฺพสงฺขารสมโถ เป็นที่สงบสังขารทั้งปวง.
               อนึ่ง เพราะอุปธิทั้งหมดอาศัยพระนิพพานนั้น ย่อมสละคืน ตัณหาทั้งปวงย่อมสิ้นไป ราคะคือกิเลสทั้งปวงย่อมคลายไป ทุกข์ทั้งปวงย่อมดับไป.
               ฉะนั้น นิพพานนั้นท่านจึงเรียกว่า สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺโค สละคืนอุปธิทั้งปวง ตณฺหกฺขโย เป็นที่สิ้นตัณหา วิราโค ธรรมเป็นที่สำรอกกิเลส. นิโรโธ ความดับ. ก็ตัณหาท่านเรียกวานะเพราะร้อยรัดเย็บภพกับภพ หรือกรรมกับผล. ชื่อว่านิพพาน เพราะออกจากตัณหา คือวานะนั้น.
               บทว่า โสมมสฺส กิลมโถ ความว่า ชื่อว่าการแสดงธรรมแก่ผู้ไม่รู้เป็นความลำบากแก่เรา ความลำบากอันใดพึงมีแก่เรา ความลำบากอันนั้นพึงเป็นความเบียดเบียนแก่เรา. ท่านอธิบายว่า พึงเป็นความลำบากกายและเป็นการเบียดเบียนกาย ดังนี้. แต่ทั้ง ๒ อย่างนั้นไม่มีในจิตของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               บทว่า อปิสฺสุ เป็นนิบาตลงในอรรถว่าเพิ่มพูน. พระเถระนั้นย่อมแสดงว่า มิได้มีคำนั้นเท่านั้น แม้คาถาเหล่านั้น ก็ปรากฏแล้ว.
               บทว่า มํ แปลว่า แก่เรา.
               บทว่า อนจฺฉริยา เป็น อนุอจฺฉริยา เป็นอัศจรรย์เล็กน้อย.
               บทว่า ปฏิภํสุ ได้แก่ เป็นทางเดินของญาณกล่าวคือปฏิภาณ คือถึงความเป็นข้อที่จะพึงปริวิตก.
               บทว่า กิจฺเฉน ได้แก่ ไม่ใช่เป็นทุกขาปฏิทา.
               จริงอยู่ มรรค ๔ ย่อมเป็นสุขาปฏิปทาสำหรับพระพุทธเจ้าทั้งหลายเทียว.
               คำนี้ท่านกล่าวหมายเอาอาคมนียปฏิปทาแห่งพระองค์ผู้ยังมีราคะยังมีโทสะและยังมีโมหะอยู่ทีเดียว ในกาลทรงบำเพ็ญพระบารมี ทรงตัดศีรษะอันประดับแล้วตกแต่งแล้ว นำเลือดในลำพระศอออกควักนัยน์ตาอันหยอดยาตาดีแล้ว ให้ทานวัตถุอย่างอื่นมีอย่างนี้เป็นต้น คือบุตรผู้เป็นประทีปแห่งตระกูลวงศ์ ภริยาผู้มีจรรยาน่าพอใจแก่ยาจกผู้มาแล้วมาเล่า และถึงความตัดถูกทำลายเป็นต้นในอัตตภาพทั้งหลายเช่นกับขันติวาทีดาบส.
                อักษรในคำว่า หลํ นี้เป็นเพียงนิบาต ความว่า อย่าเลย.
               บทว่า ปกาสิตุํ แปลว่า เพื่อแสดง คือ อย่าจำแนก อย่าแสดงสอนธรรมที่เราบรรลุแล้วโดยยากอย่างนี้เลย. อธิบายว่า ธรรมที่เราแสดงแล้วจะมีประโยชน์อะไร.
               บทว่า ราคโทสปเรเตหิ ได้แก่ ผู้อันราคะและโทสะถูกต้องแล้ว หรืออันราคะและโทสะครอบงำแล้ว.
               บทว่า ปฏิโสตคามึ ได้แก่สัจจธรรม ๔ ที่ไปแล้วอย่างนี้ว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อสุภํ (ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่งาม) อันทวนกระแสแห่งธรรมมีความเที่ยงเป็นต้น.
               บทว่า ราครตา ได้แก่ ผู้ยินดีแล้วด้วยกามราคะ ภวราคะและทิฏฐิราคะ.
               บทว่า น ทกฺขนฺติ ความว่า ย่อมไม่เห็นโดยสภาวะนี้ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่งาม ดังนี้. ใครแลจักอาจเพื่อทำบุคคลผู้ไม่เห็นเหล่านั้นให้ถือเอาอย่างนี้ได้.
               บทว่า ตโมกฺขนฺเธน อาวุตา ความว่า ผู้อันกองอวิชชาท่วมทับแล้ว.
               บทว่า อปฺโปสฺสุกฺก ตาย ได้แก่ เพื่อไม่มีความขวนขวาย. อธิบายว่า เพื่อไม่ประสงค์จะเทศนา.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร จิตของพระองค์จึงน้อมไปอย่างนี้ว่า เรานี้พ้นแล้วจักทำผู้อื่นให้พ้น ข้ามแล้วก็จักทำผู้อื่นให้ข้ามมิใช่หรือ
               พระองค์ตั้งความปรารถนาไว้ว่า
                         เราผู้มีเพศที่ไม่มีใครรู้จัก กระทำให้แจ้งธรรมในโลกนี้
                         ยังจะต้องการอะไร เราบรรลุสัพพัญญุตญาณแล้ว จักทำ
                         โลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ข้าม
               ดังนี้แล้วบำเพ็ญบารมีทั้งหลาย ก็บรรลุสัพพัญญุตญาณ.
               ตอบว่า ข้อนี้เป็นความจริง จิตของพระองค์น้อมไปอย่างนี้ด้วยอานุภาพแห่งปัจจเวกญาณ ก็พระองค์บรรลุสัพพัญญุตญาณ พิจารณาถึงความที่สัตว์ยังยึดกิเลส และความที่ธรรมเป็นสภาพลึกซึ้ง จึงปรากฏว่าสัตว์ยังยึดกิเลสและธรรมเป็นสภาพลึกซึ้งโดยอาการทั้งปวง เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็ทรงพระดำริว่า สัตว์เหล่านี้เพียบไปด้วยกิเลสเศร้าหมองเหลือเกิน กำหนัดเพราะราคะ โกรธเพราะโทสะ หลงเพราะโมหะ เหมือนน้ำเต้าเต็มด้วยน้ำข้าว เหมือนตุ่มเต็มด้วยเปรียง เหมือนผ้าเก่าชุ่มด้วยมันข้น และเหมือนมือเปื้อนยาหยอดตา สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นจักตรัสรู้ได้อย่างไรเล่า จึงทรงน้อมจิตไปอย่างนั้น
               แม้ด้วยอานุภาพแห่งการพิจารณาถึงการยึดกิเลส ก็ธรรมนี้ พึงทราบว่าลึกเหมือนลำน้ำที่รองแผ่นดิน เห็นได้ยาก เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่เอาภูเขามาวางปิด รู้ตามได้แสนยากเหมือนปลายแห่งขนทรายที่แบ่งออกเป็น ๗ ส่วน ชื่อว่าทานที่เราพยายามเพื่อแทงตลอดธรรมนี้ไม่ให้แล้วไม่มี ชื่อว่าศีลที่เราไม่ได้รักษาแล้วก็ไม่มี. ชื่อว่าบารมีไรๆ ที่เรามิได้บำเพ็ญก็ไม่มี เมื่อเรานั้นกำจัดกำลังของมารที่เหมือนไร้อุตสาหะ แผ่นดินก็ไม่ไหว เมื่อระลึกถึงปุพเพนิวาสญาณในปฐมยามก็ไม่ไหว เมื่อชำระทิพจักษุในมัชฌิมยามก็ไม่ไหว แต่เมื่อแทงตลอดปฏิจจสมุปบาทในปัจฉิมยาม หมื่นโลกธาตุจึงไหว ดังนั้น ผู้ที่มีญาณกล้าแม้เช่นเรายังแทงตลอดธรรมนี้ได้โดยยากทีเดียว โลกิยมหาชนจักแทงตลอดธรรมนั้นได้อย่างไร พึงทราบว่า ทรงน้อมจิตไปอย่างนี้ แม้ด้วยอานุภาพแห่งการพิจารณาความลึกซึ้งแห่งพระธรรมด้วยประการดังนี้.
               อนึ่ง เมื่อสหัมบดีพรหมทูลอาราธนา พระองค์ก็ทรงน้อมจิตไปอย่างนี้ เพราะมีพุทธประสงค์จะทรงแสดงธรรม.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า เมื่อเราน้อมจิตไปเพื่อความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ท้าวมหาพรหมก็จักอาราธนาเราแสดงธรรม. ด้วยว่า สัตว์เหล่านี้เคารพพรหม สัตว์เหล่านั้นสำคัญอยู่ว่า พระศาสดาไม่ประสงค์จะทรงแสดงธรรม แต่ท้าวมหาพรหมอาราธนาให้เราแสดงธรรม ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ธรรมนี้สงบประณีตหนอ จักตั้งใจฟังด้วยดี อาศัยเหตุนี้พึงทราบว่า พระองค์น้อมจิตไปเพื่อความเป็นผู้ขวนขวายน้อยมิได้น้อมไปเพื่อแสดงธรรม.
               บทว่า สหมฺปติสฺส ความว่า ได้ยินว่า ท้าวสหัมบดีพรหมนั้นครั้งศาสนาพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสป เป็นพระเถระชื่อสหกะ ทำปฐมฌานให้บังเกิดแล้วไปเกิดเป็นพรหมอายุกัปหนึ่งในภูมิแห่งปฐมฌาน. ชนทั้งหลายย่อมหมายถึงท้าวมหาพรหมนั้นว่า สหัมบดีพรหมในคำนั้น. ท่านหมายเอาสหัมบดีพรหมนั้น จึงกล่าวว่า พฺรหฺมุโน สหมฺปติสฺส.
               บทว่า นสฺสติ วต โภ ความว่า ได้ยินว่า สหัมบดีพรหมนั้นเปล่งเสียงนี้ออกโดยที่พรหมในหมื่นโลกธาตุได้ยินแล้วประชุมกันทั้งหมด.
               บทว่า ยตฺร หิ นาม แปลว่า ในโลกใด.
               บทว่า ปุรโต ปาตุรโหสิ ปรากฏพร้อมกับพรหมพันหนึ่งนั้น.
               บทว่า อปฺปรชกฺขชาติกา ได้แก่ ธุลีคือราคะโทสะและโมหะในนัยน์ตาอันสำเร็จด้วยปัญญามีประมาณเล็กน้อยของสัตว์เหล่านี้ มีสภาวะอย่างนี้ เพราะฉะนั้น สัตว์เหล่านี้จึงชื่อว่า อปฺปรชกฺชาติกา มีธุลี คือกิเลสในนัยน์ตาน้อย.
               บทว่า อสฺสวนตา แปลว่า เพราะไม่ได้สดับ.
               ด้วยบทว่า ภวิสฺสนฺติ ท่านแสดงว่า สัตว์ทั้งหลายผู้กระทำบุญโดยบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ หวังการแสดงธรรมประหนึ่งดอกปทุมที่แก่ต้องแสงอาทิตย์ ควรจะหยั่งลงในอริยภูมิเมื่อจบคาถา ๔ บท ไม่ใช่คนเดียว ไม่ใช่สองคน แต่หลายแสนที่จักตรัสรู้ธรรม.
               บทว่า ปาตุรโหสิ แปลว่า ปรากฏ.
               บทว่า สมเลหิ จินฺติโต ได้แก่ ที่พวกศาสดาทั้ง ๖ ผู้มีมลทินคิด.
               จริงอยู่ ศาสดาเหล่านั้นเกิดขึ้นก่อนพากันแสดงธรรมคือมิจฉาทิฏฐิที่มีมลทิน เหมือนลาดหนามไว้ และเหมือนราดยาพิษไว้ทั่วชมพูทวีป.
               บทว่า อปาปุเรตํ ได้แก่ เปิดประตูอมตะนั้น.
               บทว่า อมตสฺส ทฺวารํ ได้แก่ อริยมรรคอันเป็นประตูอมตนิพพาน.
               บทว่า สุณนฺตุ ธมฺมํ วิมเลนานุพุทฺธํ ความว่า ทูลวอนว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ก่อนอื่นขอสัตว์เหล่านี้จงสดับธรรมคืออริยสัจจ์ ๔ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีมลทิน เพราะไม่มีมลทินมีราคะเป็นต้น ตรัสรู้แล้ว.
               บทว่า เสเล ยถา ปพฺพตมุทฺธนิฏฺฐิโต ความว่า อุปมาเหมือนบุคคลผู้ยืนอยู่บนภูเขาอันเป็นแท่งทึบล้วนศิลา ไม่จำเป็นที่จะต้องชูเหยียดคอ เพื่อจะดูคนที่ยืนอยู่บนยอดภูเขา ที่เป็นแท่งทึบล้วนศิลา.
               บทว่า ตถูปมํ เทียบอย่างนั้น หรืออุปมาด้วยภูเขาหิน.
               ก็ความย่อในข้อนี้มีดังนี้
               บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนยอดเขาหินพึงเห็นหมู่ชนได้โดยรอบฉันใด ดูก่อนสุเมธผู้มีปัญญาดี พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีสมันตจักษุด้วยสัพพัญญุตญาณ แม้พระองค์โปรดขึ้นปราสาทธรรมคือปัญญาไม่เศร้าโศกด้วยพระองค์เอง โปรดใคร่ครวญพิจารณาตรวจตราหมู่ชนผู้ระงมด้วยความโศกและถูกชาติชราครอบงำ ก็ฉันนั้น.
               ในข้อนี้มีอธิบายว่า
               เหมือนอย่างว่า ชนทั้งหลายทำนามากรอบเชิงเขา ปลูกกระท่อมไว้ที่เขตคันนา ในที่นั้น กลางคืนตามไฟไว้ ก็ความมืดมิดที่ประกอบด้วยองค์ ๔ พึงมี เมื่อเป็นดังนั้น บุรุษผู้มีจักษุยืนบนยอดเขานั้นมองดูพื้นดิน ไร่นาก็ไม่ปรากฏ เขตคันนาก็ไม่ปรากฏ กระท่อมก็ไม่ปรากฏ ผู้คนที่นอนอยู่ในที่นั้นก็ไม่ปรากฏ ปรากฏก็แต่เพียงแสงไฟที่กระท่อมเท่านั้นฉันใด
               เมื่อพระตถาคตขึ้นธรรมปราสาทตรวจดูหมู่สัตว์ หมู่สัตว์ผู้ไม่ได้ทำกรรมดีแม้จะนั่งอยู่ใกล้ พระชาณุเบื้องขวาในวิหารเดียวกัน ก็ไม่ปรากฏแก่พระพุทธจักษุ เหมือนยิงธนูในเวลากลางคืน ส่วนเวไนยบุคคลผู้กระทำกรรมดีแม้จะอยู่ในที่ไกล ก็มาปรากฏแก่พระองค์เปรียบเหมือนไฟ และเหมือนหิมวันตบรรพตฉันนั้น.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                                   ทูเร สนฺโต ปกาเสนฺติ หิมวนฺโตว ปพฺพโต
                                   อสนฺเตตฺถ น ทิสฺสนฺติ รตฺตึ ขิตฺตา ยถา สรา.

                         สัตบุรุษย่อมปรากฏในที่ไกล เหมือนหิมวันตบรรพต
                         อสัตบุรุษอยู่ในที่นั้นเองก็ไม่ปรากฏ เหมือนลูกธนูที่
                         ยิงไปในเวลากลางคืนฉะนั้น.

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค ปาสราสิสูตร อุปมากองบ่วงดักสัตว์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 301อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 312อ่านอรรถกถา 12 / 329อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=5384&Z=5762
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=1831
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=1831
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :