ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 329อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 340อ่านอรรถกถา 12 / 347อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค
มหาหัตถิปโทปมสูตร อุปมาอริยสัจกับรอยเท้าช้าง

               อรรถกถามหาหัตถิปโทปมสูตร               
               มหาหัตถิปโทปมสูตร เริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้:-
               พึงทราบวินิจฉัยในมหาหัตถิปโทปมสูตรนั้น
               บทว่า ชงฺคลานํ แปลว่า ผู้สัญจรไปบนแผ่นดิน. บทว่า ปาณานํ ได้แก่ สัตว์มีเท้าและสัตว์ไม่มีเท้า. บทว่า ปทชาตานิ แปลว่า รอยเท้าทั้งหลาย. บทว่า สโมธานํ คจฺฉนฺติ ได้แก่ ถึงการรวมลงคือใส่ลง. บทว่า อคฺคมกฺขายติ แปลว่า ท่านกล่าวว่า ประเสริฐ. บทว่า ยทิทํ มหนฺตตฺเตน ความว่า ท่านกล่าวว่าเลิศเพราะเป็นรอยเท้าใหญ่. อธิบายว่า ไม่ใช่ใหญ่โดยคุณ. บทว่า เย เกจิ กุสลา ธมฺมา ได้แก่ กุศลธรรมไม่ว่าโลกิยะหรือโลกุตตระเหล่าใดเหล่าหนึ่ง.
               สังคหะในคำว่า สงฺคหํ คจฺฉนฺติ นี้ มี ๔ อย่าง คือ สชาติสังคหะ ๑ สัญชาติสังคหะ ๑ กริยาสังคหะ ๑ คณนสังคหะ ๑.
               บรรดาสังคหะ ๔ อย่างนั้น การรวบรวมตามชาติของตนอย่างนี้ว่า ขอกษัตริย์ทั้งปวงจงมา ขอพราหมณ์ทั้งปวงจงมาดังนี้ ชื่อว่า สชาติสังคหะ. การรวบรวมตามถิ่นแห่งคนชาติเดียวกันอย่างนี้ว่า คนชาวโกศลทั้งหมด ชาวมคธทั้งหมด ชื่อว่าสัญชาติสังคหะ. การรวบรวมโดยกิริยาอย่างที่ว่า พลรถทั้งหมด พลถือธนูทั้งหมด ชื่อว่ากิริยาสังคหะ. การรวบรวมอย่างนี้ว่า จักขายตนะ รวมเข้าในขันธ์ไหน จักขายตนะรวมเข้าในรูปขันธ์ จักขายตนะถึงการรวมเข้าในรูปขันธ์ไหน เมื่อถูกว่ากล่าวด้วยข้อนั้น จักขายตนะท่านก็รวมเข้ากับรูปขันธ์ ชื่อว่าคณนสังคหะ.
               แม้ในที่นี้ ท่านก็ประสงค์คณนสังคหะนี้นี่แล.
               ถามว่า ก็ในการแก้ปัญหาว่า บรรดาอริยสัจจ์ ๔ อย่างไหนเป็นกุศล อย่างไหนเป็นอกุศล อย่างไหนเป็นอัพยากฤต ดังนี้ พระมหาเถระจำแนกกุศลจิตแม้ที่เป็นไปในภูมิ ๔ ว่าเป็นสัจจะครึ่งหนึ่งเท่านั้น เพราะมาในพระบาลีว่า สมุทัยสัจจ์จัดเป็นอกุศล มัคคสัจจ์จัดเป็นกุศล นิโรธสัจจ์จัดเป็นอัพยากฤต ทุกขสัจจ์บางคราวเป็นกุศล บางคราวเป็นอกุศล บางคราวเป็นอัพยากฤต มิใช่หรือ เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไร พระมหาเถระจึงกล่าวว่ากุศลธรรมเหล่านี้รวมลงในอริยสัจจ ๔ เล่า.
               แก้ว่า เพราะกุศลธรรมเหล่านั้นรวมอยู่ในสัจจะทั้งหลาย.
               จริงอยู่ สิกขาบท ๑๕๐ สิกขาบทที่ให้สำเร็จประโยชน์ย่อมเป็นอธิสีลสิกขาอย่างหนึ่ง ภิกษุแม้ศึกษาอธิสีลสิกขานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ชื่อว่าศึกษาสิกขา ๓ ดังในพระบาลีนี้ว่า
               ยถา หิ สาธิกมิทํ ภิกฺขเว ทิยฑฺฒสิกฺขาปทสตํ อนฺวฑฺฒมาสํ
               อุทฺเทสํ อาคจฺฉติ ยตฺถ อตฺถกามา กุลปุตฺตา สิกฺขนฺติ
               ติสฺโส อิมา ภิกฺขเว สิกฺขา อธิสีลสิกฺขา อธิจิตฺตสิกฺขา
               อธิปญฺญาสิกฺขาติ ...

               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิกขาบท ๑๕๐ สิกขาบทที่สำเร็จประโยชน์นี้ ย่อมสวดกันทุกกึ่งเดือนที่เหล่ากุลบุตรผู้หวังประโยชน์ ศึกษากันอยู่. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิกขา ๓ เหล่านี้คืออธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา เพราะสิกขาบท ๑๕๐ สิกขาบทนั้นรวมอยู่ในสิกขาทั้งหลาย. เปรียบเหมือนรอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายมีสุนัขจิ้งจอก กระต่ายและเนื้อเป็นต้นย่อมลงในส่วน ๑ ก็ดี ย่อมลงในส่วน ๒-๓-๔ ก็ดี ชื่อว่าใน ๔ ส่วนแห่งรอยเท้าช้างเชือกหนึ่ง ย่อมรวมลงในรอยเท้าช้างทั้งนั้น ไม่พ้นจากรอยเท้าช้าง เพราะรวมอยู่ในรอยเท้าช้างนั้นเท่านั้นฉันใด
               ธรรมทั้งหลายที่นับลงในสัจจ์ ๑ ก็ดี ๒ ก็ดี ๓ ก็ดี ๔ ก็ดีก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมนับรวมในสัจจะ ๔ ทั้งนั้น เพราะธรรมทั้งหลายรวมอยู่ในสัจจะทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวถึงกุศลธรรมแม้ที่รวมเข้าในสัจจะครึ่งว่า ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดย่อมรวมลงในอริยสัจจะ ๔.
               คำที่ควรกล่าวในบทอุทเทสว่า ทุกฺเข อริยสจฺเจ เป็นต้นและในบทนิทเทสว่า ชาติปิ ทุกฺขา เป็นต้นทั้งหมดได้กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               แต่ในที่นี้ พึงทราบเฉพาะลำดับเทศนาอย่างเดียว.
               เหมือนอย่างว่า ช่างสานผู้ฉลาดได้ไม้ไผ่ที่ดีมาลำ ๑ ตัดเป็น ๔ ท่อน จาก ๔ ท่อนนั้นเว้นไว้ ๓ ท่อนถือเอาแต่ท่อนเดียวจึงตัดเป็น ๕ ซีก จาก ๕ ซีกนั้นเว้นไว้ ๔ ซีกถือเอาซีกเดียวแล้วผ่าเป็น ๕ เสี้ยวจาก ๕ เสี้ยวนั้นเว้นไว้ ๔ เสี้ยวถือเอาเสี้ยวเดียว เกรียกเป็น ๒ คือ ส่วนท้อง ส่วนหลัง เว้นส่วนหลังไว้ถือเอาแต่ส่วนท้อง
               จากนั้น กระทำให้เป็นเครื่องสานไม้ไผ่หลากชนิดมีหีบพัดวีชนีและพัดใบตาลเป็นต้น ช่างสานนั้นไม่ถูกใครกล่าวว่าไม่ใช้งานส่วนหลังอีก ๔ ชิ้น อีก ๔ ส่วนและอีก ๓ ส่วน แต่เขาไม่อาจใช้งานในคราวเดียวกันได้ แต่จักใช้งานตามลำดับฉันใด
               ฝ่ายพระมหาเถระนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เริ่มตั้งสุตตันตะใหญ่นี้แล้ว ตั้งมาติกาโดยอริยสัจจะ ๔ เหมือนช่างสานได้ไม้ไผ่ที่ดีแล้วแบ่ง ๔ ส่วนฉะนั้น. พระเถระเว้นอริยสัจจะ ๓ แล้วถือเอาทุกขสัจจะอย่างเดียวจำแนก ทำให้เป็นขันธ์ ๕ ส่วน เหมือนช่างสานเว้น ๓ ส่วนถือเอาส่วนหนึ่งแล้วทำส่วนหนึ่งนั้นให้เป็น ๕ ส่วน.
               แต่นั้นพระเถระเว้นอรูปขันธ์ ๔ แล้วจำแนกรูปขันธ์และทำมหาภูตรูป ๔ ให้เป็น ๕ ส่วน คือมหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป ๑ เปรียบเหมือนช่างสานนั้นเว้น ๔ ส่วนถือเอาส่วนหนึ่งแล้วผ่าเป็น ๕ เสี้ยวฉะนั้น.
               แต่นั้น เมื่อพระเถระเว้นอุปทายรูปและธาตุ ๓ แล้วจำแนกปฐวีธาตุอย่างเดียว แสดงเป็น ๒ ส่วน คือ อัชฌัตติกรูป รูปภายใน พาหิรรูป รูปภายนอก เปรียบเหมือนช่างสานนั้นเว้น ๔ ส่วนถือเอาส่วนหนึ่งแล้วผ่าเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนท้อง ๑ ส่วนหลัง ๑.
               เพื่อจะเว้นปฐวีธาตุภายนอก แล้วแสดงจำแนกปฐวีธาตุภายในโดยอาการ ๒๐ พระเถระจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า กตมา จ อาวุโส อชฺฌตฺติกา ปฐวีธาตุ เปรียบเหมือนช่างสานเว้นส่วนหลังถือเอาส่วนท้อง จึงกระทำให้เป็นเครื่องสานชนิดต่างๆ ฉะนั้น.
               อนึ่ง เปรียบเหมือนช่างสานใช้งานส่วนหลังอีก ๔ ชิ้น อีก ๔ ส่วนและอีก ๓ ส่วนโดยลำดับ แต่ไม่อาจใช้งานในคราวเดียวกันได้โดยประการฉะนี้ฉันใด แม้พระเถระก็ฉันนั้น จำแนกปฐวีธาตุภายนอกและอีกธาตุ ๔ อุปาทายรูป อรูปขันธ์ ๔ อริยสัจจ์ ๓ แล้วแสดงตามลำดับ แต่ไม่อาจแสดงโดยคราวเดียวกันได้.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงบรรยายลำดับแม้นี้ด้วยข้ออุปมาด้วยราชบุตร ให้แจ่มแจ้งดังต่อไปนี้.
               เล่ากันมาว่า มหาราชองค์หนึ่งมีพระราชโอรสมากกว่า ๑,๐๐๐ องค์. พระองค์ทรงเก็บเครื่องประดับของพระโอรสเหล่านั้นไว้ในหีบใหญ่ ๔ ใบ ทรงมอบไว้แก่เชษฐโอรส ด้วยตรัสสั่งว่า ลูกเอ๋ย เครื่องประดับนี้เป็นของพวกน้องของเจ้า เมื่อคราวมีมหรสพ เจ้าจงให้เครื่องประดับนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อน้องๆ ขอจึงค่อยให้.
               เชษฐราชโอรสนั้นทูลรับว่า พระเจ้าข้า จึงเก็บไว้ในห้องเก็บราชสมบัติ.
               ในวันมหรสพเช่นนั้น เหล่าพระราชโอรสพากันไปเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า ข้าแต่เสด็จพ่อ ขอได้โปรดพระราชทานเครื่องประดับแก่พวกหม่อมฉันเถิด พวกหม่อมฉันจะเล่นนักษัตร.
               พระราชาตรัสว่า ลูกเอ๋ย พ่อได้มอบเครื่องประดับไว้ในมือพี่ชายของพวกเจ้าแล้ว พวกเจ้าจงนำเครื่องประดับนั้นไปประดับเถิด. พระราชโอรสเหล่านั้นรับพระดำรัส แล้วพากันไปหาพระเชษฐโอรสนั้นแล้วทูลขอเครื่องประดับจากเชษฐโอรส.
               เชษฐโอรสได้เข้าไปในห้องหมายจะนำหีบใหญ่ ๔ ใบออกเว้นไว้ ๓ ใบเปิดใบหนึ่ง นำหีบเล็ก ๕ ใบออกจากหีบใหญ่นั้น เว้นไว้ ๔ ใบเปิดใบเดียว เมื่อนำผอบ ๕ ใบออกจากหีบเล็ก เว้นไว้ ๔ ใบเปิดใบเดียว วางฝาไว้ข้างหนึ่ง แต่นั้นจึงนำเครื่องประดับมือเครื่องประดับเท้าต่างๆ มอบให้. เชษฐโอรสมิได้แบ่งให้จาก ๔ ผอบ หีบเล็ก ๔ ใบ หีบใหญ่ ๔ ใบ ก่อนก็จริง ถึงกระนั้น ก็ให้ตามลำดับ เพราะฉะนั้น จึงไม่อาจมอบให้คราวเดียวกันได้.
               ในข้ออุปมานั้น พึงเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเหมือนมหาราช.
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชาอันยอดเยี่ยม ตรัสว่า ดูก่อนเสลพราหมณ์ เราก็เป็นพระราชา. พึงเห็นพระสารีบุตรเหมือนเชษฐโอรส.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะเรียกโดยชอบ พึงเรียกภิกษุรูปนั้นได้ว่า สารีบุตรว่า บุตร โอรสเกิดแต่โอษฐ์ เกิดแต่ธรรม อันธรรมนิรมิต ธรรมทายาท แต่มิใช่อามิสทายาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า บุคคลเมื่อเรียกโดยชอบ พึงเรียกภิกษุนี้นั่นแลว่า บุตร ฯลฯ มิใช่เป็นอามิสทายาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พึงเห็นภิกษุสงฆ์เหมือนราชโอรสมากกว่า ๑,๐๐๐ องค์.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                         ภิกษุมากกว่า ๑,๐๐๐ รูป เข้าไปเฝ้าพระสุคต
                         ผู้แสดงธรรมปราศจากธุลี ผู้ไม่มีตัณหาชื่อว่า
                         วานะ ผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ.
               เวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศสัจจะ ๔ วางไว้ในมือของพระธรรมเสนาบดี เปรียบเหมือนเวลาที่พระราชาทรงเก็บเครื่องประดับของพระราชโอรสเหล่านั้นไว้ในหีบใหญ่ ๔ ใบ แล้ววางไว้ในมือของเชษฐโอรสฉะนั้น.
               ด้วยเหตุนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรสมควรบอกบัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้นซึ่งอริยสัจจ์ ๔ โดยพิสดาร.
               เวลาที่ภิกษุสงฆ์มาในสมัยจวนเข้าพรรษา แล้วอาราธนาให้แสดงธรรม เปรียบเหมือนเวลาที่พระราชโอรสเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระราชาทูลขอเครื่องประดับในวันมหรสพเช่นนั้น ได้ยินว่า ในวันจวนเข้าพรรษา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้.
               เวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงส่งภิกษุทั้งหลายไปยังสำนักของพระธรรมเสนาบดี ด้วยพระดำรัสอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเสพ จงคบสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นบัณฑิต อนุเคราะห์เพื่อนสพรหมจารี เปรียบเวลาที่พระราชาตรัสว่า ลูกเอ๋ย พ่อได้มอบเครื่องประดับไว้ในมือพี่ชายพวกเจ้าแล้วจงนำมาประดับเถิด.
               เวลาที่ภิกษุทั้งหลายฟังพระดำรัสของพระศาสดาแล้วเข้าไปหาพระธรรมเสนาบดีแล้วอาราธนาให้แสดงธรรม เปรียบเหมือนเวลาที่เหล่าพระราชโอรสฟังพระดำรัสของพระราชาแล้วไปยังสำนักของเชษฐโอรส แล้วขอเครื่องประดับ ฉะนั้น.
               เวลาที่พระธรรมเสนาบดีเริ่มพระสุตตันตะนี้ แล้ววางมาติกาโดยอริยสัจจ์ ๔ เปรียบเหมือนเวลาที่พระเชษฐโอรสเปิดห้องแล้วนำหีบ ๔ ใบวางไว้ฉะนั้น. การเว้นอริยสัจจ์ ๓ แล้วจำแนกทุกขอริยสัจจ์ แสดงปัญจขันธ์ เปรียบเหมือนการเว้นหีบ ๓ ใบแล้ว เปิดใบเดียวนำหีบเล็ก แสดงจำแนกรูปขันธ์เดียวแสดง ๕ ส่วนโดยมหาภูตรูป ๔ และอุปายรูป ๑ เปรียบเหมือนเว้นหีบเล็ก ๔ ใบ เปิดใบเดียว แล้วนำผอบ ๕ ผอบจากหีบเล็กใบเดียวนั้น ฉะนั้น.
               การที่พระเถระเว้นมหาภูตรูป ๓ และอุปาทายรูปแล้ว จำแนกปฐวีธาตุอย่างเดียวเว้นปฐวีธาตุภายนอกเสียเหมือนปิดไว้ เพื่อจะแสดงปฐวีธาตุภายในที่มีอาการ ๒๐ โดยสภาวะต่างๆ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า กตมา จาวุโส อชฺฌตฺติกา ปฐวีธาตุ. เปรียบเหมือนเว้นหีบ ๔ ใบ เปิดใบเดียว เว้นหีบที่ปิดไว้ข้างหนึ่งแล้ว ให้เครื่องประดับมือและเครื่องประดับเท้าเป็นต้น.
               พึงทราบว่า แม้พระเถระจำแนกมหาภูตรูป ๓ อุปาทายรูป อรูปขันธ์ ๔ อริยสัจจ์ ๓ แล้ว แสดงตามลำดับในภายหลังเหมือนราชโอรสนั้นนำผอบ ๔ ใบ หีบเล็ก ๔ ใบ และหีบ ๓ ใบเหล่านั้นแล้วประทานเครื่องประดับตามลำดับในภายหลัง.
               ก็คำนั้นใดท่านกล่าวไว้ว่า กตมา จาวุโส อชฺฌตฺติกา ปฐวีธาตุ เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยในคำนั้น แม้บททั้ง ๒ ว่า อชฺฌตฺตํ ปจฺจตฺตํ นี้เป็นชื่อของธรรมชาติที่มีในตน.
               บทว่า กกฺขลํ แปลว่า กระด้าง.
               บทว่า ขริคตํ แปลว่า หยาบ.
               บทว่า อุปาทินฺนํ ได้แก่ ไม่ใช่มีกรรมเป็นสมุฏฐานเท่านั้น.
               แต่เมื่อว่าโดยไม่แปลกกัน คำว่า อุปาทินฺนํ นี้เป็นชื่อของรูปที่ตั้งอยู่ในสรีระ.
               จริงอยู่ รูปที่ตั้งอยู่ในสรีระ ไม่ว่าเป็นอุปาทินนรูป หรืออนุปาทินนรูป ชื่อว่าเป็นอุปาทินนรูปทั้งหมดทีเดียว โดยที่ยึดถือจับต้องลูบคลำได้ คือ ผม ขน ฯลฯ อาหารใหม่ อาหารเก่า.
               คำนี้ท่านกำหนดจำแนกไว้ โดยเป็นปฐวีธาตุที่เป็นภายในสำหรับกุลบุตรผู้บำเพ็ญธาตุกัมมัฏฐาน. แต่ในที่นี้คำที่ผู้ใคร่จะเริ่มมนสิการเจริญวิปัสสนายึดเอาพระอรหัตต์ควรกระทำทั้งหมดได้กล่าวไว้พิสดารแล้วในวิสุทธิมรรคนั่นแล.
               แต่คำว่ามันสมองไม่ได้ขึ้นสู่บาลีในที่นี้. แต่มันสมองแม้นั้นนำมากำหนดโดยวรรณะและสัณฐานเป็นต้น โดยนัยที่กล่าวแล้วในวิสุทธิมรรค จึงมนสิการว่า แม้ธาตุนี้ก็ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า เป็นของแข้น จัดเป็นปฐวีธาตุเหมือนกัน.
               บทว่า ยํ วา ปนญฺญมฺปิ นี้ ท่านกล่าวเพื่อกำหนดถือเอาปฐวีธาตุที่อยู่ในส่วน ๓ นอกนี้.
               บทว่า ยา เจว โข ปน อชฺฌตฺติกา ปฐวีธาตุ ความว่า ปฐวีธาตุมีประการตามที่กล่าวแล้วนี้ จัดเป็นปฐวีธาตุภายใน.
               บทว่า ยา จ พาหิรา ความว่า ปฐวีธาตุที่มาแล้วในวิภังค์โดยนัยว่า เหล็ก โลหะ ดีบุก ตะกั่วเป็นต้น จัดเป็นปฐวีธาตุภายนอก.
               ด้วยอันดับคำเพียงเท่านี้ พระเถระแสดงปฐวีธาตุอันเป็นภายในโดยอาการ ๒๐ โดยสภาวะต่างๆ อย่างพิสดาร แสดงธาตุภายนอกไว้โดยสังเขป.
               เพราะเหตุไร? เพราะในที่ใดสัตว์ทั้งหลายมีความอาลัย ใคร่ปรารถนา กลุ้มรุม ยึดมั่น ถือมั่น รุนแรง ในที่นั้นพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หรือเหล่าพระพุทธสาวกจะกล่าวเรื่องอย่างพิสดาร เพื่อถอนอาลัยเป็นต้นของสัตว์เหล่านั้น.
               อนึ่ง ในที่ใดความอาลัยเป็นต้นของเหล่าสัตว์ไม่มีกำลัง ในที่นั้นท่านจะกล่าวโดยสังเขป เพราะไม่มีกิจที่จะต้องทำ. เหมือนอย่างว่า ชาวนาเมื่อไถนาก็หยุดโคไว้ในที่ๆ ไถติด เพราะรากไม้และตอไม้แน่นหนา คุ้ยดินขึ้นตัดรากไม้และตอไม้ยกขึ้น ต้องกระทำความพยายามมาก ในที่ใดไม่มีรากไม้และตอ ก็ไม่ต้องพยายามมาก ในที่นั้นคงตีหลังโคไถต่อไปฉันใด คำอุปไมยนี้ก็พึงทราบฉันนั้น.
               บทว่า ปฐวีธาตุเรเวสา ความว่า ก็ธาตุทั้ง ๒ อย่างนี้ มีลักษณะอย่างเดียวกัน ด้วยอรรถว่าแข็ง กระด้าง และหยาบ แม้นี้ก็จัดเป็นปฐวีธาตุ. ท่านแสดงประกอบไว้ภายในและภายนอก.
               ก็เพราะเหตุที่ปฐวีธาตุภายนอกปรากฏว่าไม่มีเจตนา ปฐวีธาตุภายในหาปรากฏเช่นนั้นไม่ เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรกำหนดว่า ปฐวีธาตุภายในนั้นเป็นเช่นเดียวกันกับปฐวีธาตุภายนอก ไม่มีเจตนาเหมือนกัน จึงกำหนดได้สะดวก. เปรียบเหมือนอะไร? เปรียบเหมือนโคที่ไม่ได้ฝึกเทียมกับโคที่ฝึกแล้ว ย่อมตะเกียกตะกายดิ้นรน ๒-๓ วันเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่นานนักก็ฝึกหัดได้ ฉันใด พระโยคาวจรกำหนดว่า แม้ปฐวีธาตุภายในก็เช่นเดียวกันกับปฐวีธาตุภายนอก ปฐวีธาตุก็จะปรากฏไม่มีเจตนาได้ใน ๒-๓ วันเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่นานนัก ปฐวีธาตุภายในนั้นก็ปรากฏว่าไม่มีเจตนาฉันนั้น.
               บทว่า ตํ เนตํ มม ความว่า ธาตุทั้ง ๒ อันบัณฑิตพึงเห็นด้วยปัญญาอันถูกต้องตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่เป็นนั้น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา.
               บทว่า ยถาภูตํ แปลว่า ตามสภาพเป็นจริง. อธิบายว่า จริงอยู่ ธาตุทั้ง ๒ นั้นมีสภาวะไม่เที่ยงเป็นต้น เพราะฉะนั้น พึงเห็นอย่างนี้ว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา.
               บทว่า โหติ โข โส อาวุโส ความว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงปรารภไว้.
               เพราะเพื่อจะแสดงความพินาศแห่งปฐวีธาตุภายนอกโดยอำนาจอาโปธาตุภายนอก แล้วแสดงความพินาศแห่งปฐวีธาตุ ที่ตั้งอยู่ในร่างกาย ซึ่งเป็นอุปาทินนรูปพิเศษกว่านั้น.
               บทว่า ปกุปฺปติ ความว่า กำเริบเสิบสานด้วยอำนาจความย่อยยับด้วยน้ำ.
               บทว่า อนฺตรหิตา ตสฺมึ สมเย พาหิรา ปฐวีธาตุ โหติ ความว่า สมัยนั้นปฐวีธาตุละลายด้วยน้ำด่างในแสนโกฏิจักรวาล ไหลตามน้ำไปตั้งแต่ภูเขาเป็นต้นทั้งหมดก็อันตรธานไป ละลายเป็นน้ำอย่างเดียว.
               บทว่า ตาว มหลฺลิกาย แปลว่า ใหญ่เพียงนั้น.
               ที่ชื่อว่าใหญ่ เพราะมีความหนาอย่างนี้ คือ
                         เทฺว จ สตสหสฺสานิ จตฺตาริ นหุตานิ จ
                         เอตฺตกํ พหลตฺเตน สงฺขาตายํ วสุนฺธรา

                         แผ่นดินใหญ่นี้ว่าโดยส่วนหนา
                         ประมาณถึงสองแสนสี่หมื่นโยชน์

               แต่เมื่อว่าโดยส่วนกว้างมีประมาณแสนโกฏิจักรวาล ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อนิจฺจตา แปลว่า มีแล้วก็ไม่มี.
               บทว่า ขยธมฺมตา แปลว่า มีความสิ้นไปเป็นสภาวะ.
               บทว่า วยธมฺมตา แปลว่า มีความเสื่อมไปเป็นสภาวะ.
               บทว่า วิปริณามธมฺมตา แปลว่า มีการละปกติเป็นสภาวะ.
               ท่านกล่าวถึงอนิจจลักษณะอย่างเดียว ไว้ทุกบทด้วยประการฉะนี้. ก็ลักษณะทั้ง ๓ ย่อมมาตามพระบาลีว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา.
               บทว่า มตฺตฏฺฐกสฺส แปลว่า ตั้งอยู่ชั่วระยะกาลนิดหน่อย. ในบทนั้น พึงทราบว่า กายนี้ดำรงอยู่ชั่วระยะกาลเล็กน้อย โดยอาการ ๒ คือตั้งอยู่นิดหน่อยและมีกิจนิดหน่อย.
               จริงอยู่ กายนี้ท่านกล่าวว่า ในขณะจิตที่เป็นอดีตเป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่กำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่จักเป็นอยู่ ในขณะจิตที่เป็นอนาคตจักเป็นอยู่ ไม่ใช่กำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่เป็นอยู่แล้ว ในขณะจิตที่เป็นปัจจุบันกำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่เป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่จักเป็นอยู่.
               เพื่อแสดงว่า กายนี้นี่แลตั้งอยู่นิดหน่อย ท่านจึงกล่าวคำนี้ว่า
                         ชีวิตํ อตฺตภาโว จ สุขทุกฺขา จ เกวลา
                         เอกจิตฺตสมายุตฺตา ลหุโส วตฺตเต ขโณ

                         ชีวิต อัตตภาพและสุขทุกข์ทั้งมวล
                         ล้วนประกอบด้วยจิตดวงเดียว ขณะ
                         ย่อมเป็นไปฉับพลัน.

               พึงทราบว่า กายนี้ตั้งอยู่ชั่วระยะกาลเล็กน้อย เพราะตั้งอยู่ชั่วระยะกาลนิดหน่อยอย่างนี้. อนึ่ง พึงทราบว่า กายนั้นมีกิจนิดหน่อย เพราะเนื่องด้วยลมอัสสาสปัสสาสะเป็นต้น.
               จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายมีชีวิต เนื่องด้วยลมอัสสาสะ เนื่องด้วยลมปัสสาวะ เนื่องด้วยลมทั้งอัสสาสะทั้งปัสสาสะ เนื่องด้วยมหาภูตรูป เนื่องด้วยกวฬิงการาหาร เนื่องด้วยวิญญาณ ทั้งนี้กล่าวไว้พิสดารแล้วในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า เอตํ ตณฺหูปาทินฺนสฺส แปลว่า ถูกตัณหายึดถือลูบคลำ.
               บทว่า อหนฺติ วา มมนฺติ วา อสฺมีติ วา อถขฺวสฺส โนเตเวตฺถ โหติ ความว่า ครั้งนั้นแล ภิกษุนั้นยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์พิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่มีคาหะ คือตัณหามานะและทิฏฐิ ๓ อย่าง ในปฐวีธาตุภายในนี้ว่า นี่เป็นเราเป็นต้น. อธิบายว่า ไม่มีเลย.
               ปฐวีธาตุภายนอกย่อมอันตรธานไปด้วยอำนาจเตโชธาตุ วาโยธาตุ. เหมือนอันตรธานไปด้วยอำนาจอาโปธาตุ ฉะนั้น. แต่ในที่นี้ มาอย่างเดียวเท่านั้น. แม้นอกนี้ก็พึงทราบโดยความหมายเหมือนกัน.
               ในคำว่า ตญฺเจ อาวุโส นี้ พระเถระเมื่อเริ่มทำการกำหนดอารมณ์ในโสตทวารของภิกษุผู้บำเพ็ญธาตุกัมมัฏฐานนั้น จึงแสดงกำลัง.
               บทว่า อกฺโกสนฺติ ได้แก่ ด่าด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐. บทว่า ปริภาสนฺติ ได้แก่ ข่มด้วยวาจาว่า ท่านทำเช่นนี้ๆ เราจะลงโทษท่านอย่างนี้ๆ. บทว่า โรเสนฺติ แปลว่า ย่อมเสียดสี. บทว่า วิเหเสนฺติ แปลว่า ย่อมทำให้ลำบาก.
               ท่านกล่าวเฉพาะการเสียดสีด้วยวาจาไว้ทั้งหมด.
               บทว่า โส เอวํ ความว่า ภิกษุผู้บำเพ็ญธาตุกัมมัฏฐานนั้น ย่อมรู้อย่างนี้.
               บทว่า อุปฺปนฺนา โข เม อยํ ความว่า เกิดขึ้นเพราะธาตุ ๔ ที่เกิดเป็นไปในปัจจุบันและ เกิดขึ้นเพราะความกำเริบสืบสาน.
               บทว่า โสตสมฺผสฺสชา ความว่า เวทนาที่แล่นไปทางโสตทวารเกิดจากโสตสัมผัส ด้วยอำนาจอุปนิสัย. ด้วยบทว่า ผสฺโส อนิจฺโจ ท่านแสดงว่า โสตสัมผัสชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะอรรถว่ามีแล้วก็ไม่มี. แม้เวทนาเป็นต้นพึงเข้าใจว่า สัมปยุตด้วยโสตสัมผัสอย่างเดียว.
               บทว่า ธาตารมฺมณเมว ได้แก่ อารมณ์ กล่าวคือธาตุนั่นเอง. บทว่า ปกฺขนฺทติ ได้แก่ หยั่งลง. บทว่า ปสีทติ ได้แก่ ผ่องใสในอารมณ์. อีกอย่างหนึ่ง คำนั่นเป็นสัตตมีวิภัติอย่างเดียว. เมื่อว่าด้วยอำนาจพยัญชนสนธิ ท่านกล่าวว่า ธาตารมฺมณเมว ในคำนี้มีเนื้อความดังนี้ว่า ธาตารมฺมเณเยว ในอารมณ์ คือธาตุ.
               เมื่อว่าด้วยอำนาจธาตุ คำว่า วิมุจฺจติ นี้ย่อมได้แก่ อธิโมกข์ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย.
               ความจริง ภิกษุผู้บำเพ็ญธาตุกัมมัฏฐานนี้ เมื่ออารมณ์มาปรากฏในโสตทวาร ย่อมกำหนดว่า เป็นมูล เป็นอารมณ์ที่ควรกำหนดรู้ เป็นอารมณ์ที่จรมา เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นชั่วขณะ.
               เรื่องพิสดารของอารมณ์นั้นกล่าวไว้แล้วในสติสัมปชัญญบรรพ ในสติปัฏฐานสูตร. แต่เวทนานั้นกล่าวไว้แล้วในสติปัฏฐานสูตรนั้นด้วยอำนาจจักขุทวาร. ในที่นี้พึงทราบด้วยอำนาจโสตทวาร.
               จริงอยู่ ภิกษุบำเพ็ญธาตุกัมมัฏฐานผู้ทำการกำหนดอย่างนี้แล้ว เจริญวิปัสสนาอย่างแรง แม้เมื่ออารมณ์มาปรากฏในจักขุทวารเป็นต้น ย่อมเกิดอาวัชชนจิต โวฏฐัพพนจิตโดยอุบายไม่แยบคาย ถึงโวฏฐัพพนจิตแล้วได้อาเสวนจิต ครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง จิตก็หยั่งลงสู่ภวังค์เหมือนเดิม ก็ไม่เกิดด้วยอำนาจราคะเป็นต้น ภิกษุนี้ ชื่อว่าถึงที่สุดวิปัสสนากล้าแข็ง.
               ภิกษุรูปหนึ่งเกิดชวนจิตครั้งเดียวด้วยอำนาจราคะเป็นต้น แต่ในที่สุดชวนจิต เธอนึกด้วยอำนาจราคะเป็นต้นว่า ชวนจิตเกิดแก่เรา ชื่อว่ากำหนดอารมณ์ได้แล้ว ไม่เกิดเช่นนั้นอีกครั้ง.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งนึกถึงครั้งเดียวก็เกิดชวนจิตด้วยอำนาจราคะเป็นต้นเป็นครั้งที่ ๒ อีก และเมื่อจบครั้งที่ ๒ เมื่อนึกว่าชวนจิตเกิดแก่เราแล้วอย่างนี้เป็นอันกำหนดอารมณ์เหมือนกัน. ในครั้งที่ ๓ ก็ไม่เกิดอย่างนั้น.
               ก็บรรดาภิกษุ ๓ รูปนั้น รูปที่ ๑ กล้าแข็ง รูปที่ ๓ อ่อนแอ. แต่ว่าด้วยอำนาจรูปที่ ๒ พึงทราบเนื้อความนี้ในพระสูตรนี้ มีนกไส้เป็นเครื่องเปรียบโดยภาวะเป็นอินทรีย์นั้นเอง.
               พระเถระครั้นแสดงกำลังของภิกษุผู้บำเพ็ญธาตุกัมมัฏฐานด้วยอำนาจกำหนดในโสตทวารอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะแสดงในกายทวาร จึงกล่าวคำว่า ตญฺเจ อาวุโส เป็นต้น.
               จริงอยู่ ภิกษุผู้ถึงอนิฏฐารมณ์ย่อมลำบากในทวารทั้ง ๒ คือ โสตทวารและกายทวาร เพราะฉะนั้น พระมหาเถระคิดว่า ในอนาคตกาล กุลบุตรผู้ต้องการศึกษาบำเพ็ญเพียร ถึงความสำรวมในทวารทั้ง ๒ เหล่านี้ จักทำที่สุดแห่งชาติชรามรณะได้ฉับพลันทีเดียว เปรียบเหมือนบุรุษเจ้าของนา ถือจอบเที่ยวเดินสำรวจนาไม่เสริมก้อนดินในที่ใดที่หนึ่ง เอาจอบฟันดินเฉพาะในที่บกพร่อง เพิ่มดินในที่มีหญ้า ฉะนั้น เมื่อจะแสดงการสำรวมในทวารทั้ง ๒ เหล่านี้แลให้มั่นคง จึงเริ่มเทศนานี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมุทาจรนฺติ ได้แก่ พยายาม.
               บทว่า ปาณิสมฺผสฺเสน ได้แก่ ประหารด้วยฝ่ามือ. แม้ในคำนอกนี้ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ตถาภูโต แปลว่า มีสภาวะอย่างนั้น.
               บทว่า ยถาภูตสฺมิ แปลว่า ตามสภาวะ.
               บทว่า กมนฺติ แปลว่า เป็นไป.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า เอวํ พุทฺธํ อนุสฺสรโต เป็นต้น
               ภิกษุผู้บำเพ็ญจตุธาตุกัมกัฏฐานเมื่อนึกถึงอยู่โดยนัยเป็นต้นว่า อิติปิ โส ภควา ชื่อว่าระลึกถึงพระพุทธเจ้า คือเมื่อระลึกว่า คำนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วเหมือนกัน ก็ชื่อว่าระลึกเหมือนกัน. แม้เมื่อระลึกอยู่โดยนัยมีอาทิว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ชื่อว่าระลึกถึงพระธรรม แม้ระลึกถึงกกจูปโมวาทสูตร ก็ชื่อว่าระลึกถึงเหมือนกัน. แม้ระลึกถึงโดยนัยเป็นต้นว่า สุปฏิปนฺโน ชื่อว่าระลึกถึงพระสงฆ์ แม้ระลึกถึงคุณของภิกษุผู้อดกลั้นการตัดด้วยเลื่อย ก็ชื่อว่าระลึกถึงเหมือนกัน.
               ในคำว่า อุเปกฺขา กุสลนิสฺสิตา สณฺฐาติ นี้ ท่านประสงค์เอาวิปัสสนุเบกขา.
               ในคำว่า อุเปกฺขา กุสลนิสฺสิตา สณฺฐาติ นี้ ท่านประสงค์ฉฬังคุเบกขา อุเบกขามีองค์ ๖.
               ก็ฉฬังคุเบกขานี้นั้นเป็นไปด้วยอำนาจความไม่ยินดีเป็นต้นในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ของพระขีณาสพก็จริง ถึงอย่างนั้น ภิกษุนี้ตั้งวิปัสสนาของตนด้วยความสำเร็จแห่งภาวนาตามกำลังความเพียรในฐานของฉฬังคุเบกขาของพระขีณาสพ เพราะฉะนั้น วิปัสสนาแลจึงชื่อว่าฉฬังคุเบกขา.
               พึงทราบวินิจฉัยในอาโปธาตุนิเทศ ดังต่อไปนี้
               บทว่า อาโปคตํ ได้แก่ สิ่งที่อุปาทินนรูปซึมซาบอยู่ในอาโปธาตุทั้งหมด มีลักษณะเป็นน้ำเยื่อสด. ก็คำที่พึงกล่าว ในคำว่า ปิตฺตํ เสมฺหํ เป็นต้นทั้งหมดพร้อมทั้งนัยแห่งภาวนาได้กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค. บทว่า ปกุปฺปติ ได้แก่ ไหลไปโดยเป็นโอฆะหรือล้นจากสมุทรไหลไปๆ. มันมีความกำเริบเป็นปกติดังนี้. ก็เมื่อเวลาที่โลกประลัยไปด้วยอาโปธาตุ แสนโกฏิจักรวาลเต็มไปด้วยน้ำทีเดียว. บทว่า โอคฺคจฺฉนฺติ ความว่า ไหลไปภายใต้ ถึงความสิ้นพินาศไป เหมือนน้ำที่ยกขึ้นบนเตาไฟ ฉะนั้น. คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยก่อนนั่นแล.
               พึงทราบวินิจฉัยในเตโชธาตุนิทเทส ดังต่อไปนี้
               บทว่า เตโชคตํ ได้แก่ สิ่งที่เป็นอุปาทินนรูปทั้งหมดที่อยู่ในเตโชธาตุทั้งหมด มีลักษณะร้อน. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า เตโชคตํ เพราะอยู่ในภาวะที่ร้อนคือ เตโชธาตุ.
               ในอาโปธาตุเบื้องต้นก็ดี ในวาโยธาตุเบื้องหลังก็ดี ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า เยน จ ได้แก่ ด้วยเตโชธาตุอันใด เมื่อมันกำเริบ กายนี้ก็ร้อนเกิดไออุ่นโดยภาวะที่คร่ำคร่าไปชั่ววันหนึ่งเป็นต้น.
               บทว่า เยน จ ชิริยติ ได้แก่ กายนี้ย่อมทรุดโทรมด้วยเตโชธาตุใด บุคคลก็มีอินทรีย์บกพร่อง หมดกำลัง หนังเหี่ยว ผมหงอกเป็นต้น ด้วยเตโชธาตุนั้น.
               บทว่า เยน จ ปริฑยฺหติ ความว่า กายนี้ย่อมร้อนด้วยเตโชธาตุใดอันกำเริบแล้ว บุคคลนั้นร้องบ่นว่าร้อนร้อน ย่อมหวังการลูบไล้ด้วยเนยใสจันทน์เทศและจันทร์แดงผสมเนยใสร้อยครั้ง และลมเกิดจากพัดใบตาล.
               บทว่า เยน จ อสิตํ ปีตํ ขายิตํ สายิตํ สมฺมาปริณามํ คจฺฉติ ความว่า ข้าวเป็นต้นที่กินก็ดี น้ำดื่มเป็นต้นที่ดื่มแล้วก็ดี แป้งและของเคี้ยวเป็นต้นที่เคี้ยวแล้วก็ดี มะม่วงสุกน้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้น ที่ลิ้มแล้วก็ดี ย่อมสุกโดยชอบคือย่อมเปลี่ยนเป็นรสเป็นต้นนั้นเอง.
               ในข้อนี้มีความสังเขปดังนี้. แต่คำที่จะพึงกล่าวโดยพิสดาร ทั้งหมดพร้อมด้วยภาวนานัยได้กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า หริตนฺตํ ได้แก่ ของเขียวสดนั้นเอง. อธิบายว่า เตโชธาตุอาศัยหญ้าสดเป็นต้นก็ดับ. บทว่า ปนฺถนฺตํ ได้แก่ ทางใหญ่นั้นเอง. บทว่า เสลนฺตํ ได้แก่ ภูเขา. บทว่า อุทกนฺตํ ได้แก่ น้ำ. บทว่า รมณียํ วา ภูมิภาคํ ได้แก่ ภูมิภาคปราศหญ้าและพุ่มไม้เป็นต้น. ที่ว่าง ได้แก่ภูมิภาคที่โล่ง. บทว่า อนาหารา ได้แก่ ไม่มีอาหารคือไม่มีเชื้อ. ท่านกล่าวความวิการแห่งเตโชธาตุตามปกติไว้ดังนี้. ก็เมื่อเวลาที่โลกพินาศด้วยเตโชธาตุ เตโชธาตุก็ไหม้แสนโกฏิจักรวาล แม้เพียงขี้เถ้าก็ไม่เหลืออยู่. บทว่า นหารุททฺทลฺเลน ได้แก่ ด้วยเศษของหนัง. บทว่า อคฺคึ คเวสนฺติ ความว่า คนทั้งหลายถือเอาเชื้อละเอียดเห็นปานนี้แสวงหาไฟมันได้ไออุ่นเพียงเล็กน้อยก็โพลงขึ้น.
               คำที่เหลือแม้ในที่นี้ พึงทราบโดยนัยก่อนแล.
               พึงทราบวินิจฉัยในวาโยธาตุนิทเทสดังต่อไปนี้
               บทว่า อุทฺธงฺคมา วาตา ได้แก่ ลมที่พัดขึ้นเบื้องบนอันเป็นไปโดยอาการมีการเรอและสะอึกเป็นต้น. บทว่า อโธคมา วาตา ได้แก่ ลมพัดลงเบื้องต่ำมีการขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะเป็นต้น. บทว่า กุจฺฉิยา วาตา ได้แก่ ลมที่พัดออกนอกลำไส้ใหญ่เป็นต้น. บทว่า โกฏฺฐาสยา วาตา ได้แก่ ลมภายในลำไส้ใหญ่. บทว่า องฺคมงฺคานุสาริโน ได้แก่ ลมที่เกิดจากการคู้เข้าเหยียดออกเป็นต้นที่ซ่านไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ในร่างกายทั้งสิ้นตามแนวเส้นเอ็น. บทว่า อสฺสาโส ได้แก่ ลมหายใจเข้า. บทว่า ปสฺสาโส ได้แก่ ลมหายใจออก.
               ในข้อนี้มีความย่อเท่านี้. แต่เมื่อว่าโดยพิสดาร คำที่จะพึงกล่าวนั้นทั้งหมดพร้อมทั้งภาวนานัยได้กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า คามมฺปิ วหติ ได้แก่ พัดพาบ้านทั้งสิ้นให้แหลกละเอียดไป.
               แม้ในนิคมเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. เมื่อคราวโลกย่อยยับด้วยลมนี้ ท่านแสดงการเปลี่ยนแปลงแห่งวาโยธาตุด้วยอำนาจการกำจัดแสนโกฏิจักรวาล.
               บทว่า วิธูปเนน ได้แก่ พัดพาไฟไป. บทว่า โอสฺสวเน ได้แก่ ชายคา ก็น้ำไหลลงตามชายคานั้น เพราะฉะนั้น ท่านเรียกชายคานั้นว่า โอสสวนะ.
               คำที่เหลือแม้ในที่นี้ พึงประกอบโดยนัยก่อนนั่นแล.
               ในคำว่า เสยฺยถาปิ อาวุโส นี้ท่านแสดงถึงอะไร. ท่านแสดงถึงมหาภูตรูปที่กล่าวไว้แล้วแต่หนหลังว่ามิใช่สัตว์.
               บทว่า กฏฺฐํ ได้แก่ ทัพพสัมภาระ. บทว่า วลฺลึ ได้แก่ เถาวัลย์สำหรับผูก.
               บทว่า ติณํ ได้แก่ หญ้าสำหรับมุง. บทว่า มตฺติกํ ได้แก่ ดินสำหรับฉาบทา.
               บทว่า อากาโส ปริวาริโต ความว่า โอกาสช่องว่างที่อยู่ล้อมไม้เป็นต้นเหล่านั้นภายในภายนอก. บทว่า อคารํ ในคำว่า อคารํเตฺวว สงฺขํ คจฺฉติ เป็นเพียงบัญญัติ.
               แต่เมื่อไม้เป็นต้นแยกออกเป็นกองๆ กองไม้ท่านเรียกว่า กฏฺฐราสิ วลฺลิราสิ ทั้งนั้น.
               บทว่า เอวเมวโข ความว่า โอกาสที่อยู่ล้อมกระดูกเป็นต้นทั้งภายในภายนอก อาศัยกระดูกเป็นต้นเหล่านั้นจึงนับว่า รูปทั้งนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน.
               เรือนที่อาศัยไม้เป็นต้น ชื่อว่าเคหะ ท่านเรียกว่า ขัตติยเคหะ พราหมณเคหะฉันใด แม้รูปก็ฉันนั้นเหมือนกัน ท่านเรียกว่าขัตติยสรีระ พราหมณสรีระ. แท้จริงในที่นี้ สภาวะไรๆ ที่ชื่อว่าสัตว์หรือชีวะ หามีไม่.
               ถามว่า คำว่า อชฺฌตฺติกญฺเจ อาวุโส จกฺขุ นี้ ท่านเริ่มไว้เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า อุปาทายรูป อรูปขันธ์ ๔ และอริยสัจจ์ ๓ ท่านมิได้กล่าวไว้ข้างต้น
               บัดนี้ เพื่อจะกล่าวอุปาทายรูปเป็นต้นเหล่านั้น ท่านจึงเริ่มเทศนานี้ไว้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จกฺขุ อปริภินฺนํ ได้แก่ เมื่อจักขุประสาทดับไปก็ดี ถูกอารมณ์ภายนอกมาขัดขวางก็ดี ถูกดีเสลดและเลือดพัวพันก็ดี จักขุประสาทไม่อาจเป็นปัจจัยแก่จักขุวิญญาณได้ เป็นเพียงชื่อว่า แตกไปเท่านั้น แต่สามารถเป็นปัจจัยแก่จักขุวิญญาณ ชื่อว่าอปริภินนะ คือไม่แตกไป.
               บทว่า พาหิรา จ รูปา ได้แก่ รูปที่มีสมุฏฐาน ๔ ภายนอก.
               บทว่า ตชฺโช สมนฺนาหาโร ได้แก่ อาศัยจักขุนั้นและรูป คำนึงถึงภวังค์แล้วเกิดมนสิการ. อธิบายว่า กิริยมโนธาตุจิตในจักขุทวารสามารถคำนึงถึงภวังค์ กิริยมโนธาตุ จิตนั้นไม่มีแม้แก่ผู้ที่ส่งใจไปในที่อื่น เพราะรูปารมณ์ไม่ปรากฏ.
               บทว่า ตชฺชสฺส ได้แก่ สมควรแก่จิตนั้น.
               บทว่า วิญฺญาณภาคสฺส ได้แก่ ส่วนแห่งวิญญาณ.
               ท่านแสดงสัจจะ ๔ โดยอาการ ๑๒ ในคำว่า ยถาภูตสฺส เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตถาภูตสฺส ความว่า เกิดพร้อมด้วยจักขุวิญญาณ คือพรั่งพร้อมด้วยจักขุวิญญาณ.
               บทว่า รูปํ ความว่า รูปที่มีสมุฏฐาน ๓ ย่อมได้ในขณะจักขุวิญญาณ เพราะจักขุวิญญาณเป็นตัวทำให้รูปเกิด แม้รูปที่มีสมุฏฐาน ๔ ย่อมได้ในขณะจิตต่อจากนั้น.
               บทว่า สงฺคหํ คจฺฉติ แปลว่า ถึงการนับ. เจตสิกธรรมมีเวทนาเป็นต้น ก็สัมปยุตด้วยจักขุวิญญาณเหมือนกัน. วิญญาณ ก็คือจักขุวิญญาณนั่นเอง. ท่านกล่าวเจตนาว่า สังขาร ไว้ในคำนี้.
               บทว่า สงฺคโห แปลว่า รวมกัน. บทว่า สนฺนิปาโต แปลว่า มาพร้อมกัน. บทว่า สมวาโย ได้แก่ กอง.
               บทว่า โย ปฏิจฺจสมุปฺปาทํ ปสฺสติ ได้แก่ ผู้ใดเห็นปัจจัยทั้งหลาย.
               บทว่า โส ธมฺมํ ปสฺสติ ได้แก่ ผู้นั้น ชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปปันนธรรม.
               คำทั้งปวงมีฉันทะเป็นต้น เป็นไวพจน์ของตัณหานั่นเอง.
               จริงอยู่ ตัณหาท่านเรียกว่าฉันทะ เพราะทำความพอใจ. เรียกว่าอาลัย เพราะทำความเยื่อใย. เรียกว่าอนุนยะ เพราะทำความยินดี. เรียกว่าอัชโฌสานะ เพราะใส่ลงกลืนเก็บไว้.
               คำว่า ฉนฺทราควินโย ฉนฺทราคปฺปหานํ เป็นชื่อของพระนิพพานทั้งนั้น.
               ในพระบาลีมา ๓ สัจจะเท่านั้น ควรนำมรรคสัจจ์มารวมไว้ด้วย ด้วยประการฉะนี้.
               ในฐานะ ๓ เหล่านี้ ทิฏฐิ สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ วายามะ สติ สมาธิ ภาวนาปฏิเวธ นี้ชื่อว่ามรรค.
               บทว่า พหุกตํ โหติ ความว่า ด้วยแม้อธิบายเพียงเท่านี้ ก็เป็นอันทำตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอันมาก.
               แม้ในวาระมีอาทิว่า อชฺฌตฺติกํ เจ อาวุโส โสตํ ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ส่วนในมโนทวาร ภวังคจิต ชื่อว่าใจภายใน ภวังค์จิตนั้นแม้ดับไปแล้ว ไม่สามารถเป็นปัจจัยของอาวัชชนจิตได้ ภวังค์จิตที่มีกำลังอ่อนแม้เป็นไปอยู่ ก็ชื่อว่าแตกแล้ว ที่สามารถเป็นปัจจัยของอาวัชชนจิต ชื่อว่าไม่แตก.
               คำว่า พาหิรา จ ธมฺมา ฯเปฯ เนว ตาว ตชฺชสฺส นี้ ท่านกล่าวไว้โดยสมัยภวังค์จิตเท่านั้น. ในวาระที่ ๒ ท่านกล่าวหมายเอาภิกษุผู้ส่งใจไปในที่อื่น โดยพิจารณาฌานที่ช่ำช่อง ใส่ใจกัมมัฏฐานที่คล่องแคล่ว หรือท่องบ่นพุทธพจน์ที่ชำนาญเป็นต้น.
               รูปแม้มีสมุฏฐาน ๔ ก็ได้ชื่อว่า รูป ในวาระนี้. เพราะมโนวิญญาณย่อมให้รูปเกิดขึ้น. เจตสิกธรรมมีเวทนาเป็นต้นก็สัมปยุตด้วยมโนวิญญาณ. วิญญาณก็คือมโนวิญญาณนั่นเอง. แต่ในที่นี้ สังขารทั้งหลายท่านถือด้วยผัสสเจตนาเหมือนกัน.
               คำที่เหลือพึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล.
               ดังนั้น พระมหาเถระเมื่อพิจารณาเฉพาะเอกเทศในหนหลัง จึงเอามาตั้งไว้ในที่นี้ แล้วแยกแสดงเทศนาที่ไม่สมบูรณ์ทั้งหมดในหนหลังไว้ด้วยอำนาจทวาร จบพระสูตรลงตามลำดับอนุสนธิแล.

               จบอรรถกถามหาหัตถิปโทปมสูตรที่ ๘               
               ---------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค มหาหัตถิปโทปมสูตร อุปมาอริยสัจกับรอยเท้าช้าง จบ.
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 329อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 340อ่านอรรถกถา 12 / 347อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=6042&Z=6308
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=3212
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=3212
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :