ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 340อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 347อ่านอรรถกถา 12 / 353อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค
มหาสาโรปมสูตร อุปมาพรหมจรรย์กับแก่นไม้

               อรรถกถามหาสาโรปมสูตร               
               มหาสาโรปมสูตร เริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
               พึงทราบวินิจฉัยในมหาสาโรปมสูตรนั้นดังต่อไปนี้.
               บทว่า อจิรปกฺกนฺเต ความว่า เมื่อพระเทวทัตต์ทำลายสงฆ์ ทำโลหิตุปบาทกรรม ทำพระโลหิตให้ห้อ หลีกไปไม่นาน พาพรรคพวกแยกไปโดยเพศเดิมของตน.
               ในคำว่า อิธ ภิกฺขเว เอกจฺโจ กุลปุตฺโต ท่านมิได้กำหนดว่ากุลบุตรชื่อโน้นก็จริง ถึงอย่างนั้น คำนี้พึงทราบว่า ท่านกล่าวหมายเฉพาะพระเทวทัตต์เท่านั้น.
               จริงอยู่ พระเทวทัตต์ ชื่อว่าเป็นกุลบุตรโดยชาติ เพราะเกิดในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช ตามเชื้อสายมหาสมบัติราชที่ไม่ระคนวงศ์อื่น.
               บทว่า โอติญฺโณ ได้แก่ ชาติของผู้ใดอยู่ภายใน ผู้นั้นชื่อว่าผู้ถูกชาติครอบงำแล้ว.
               แม้ในชราเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ปัจจัย ๔ ชื่อว่าลาภ ในคำว่า ลาภและสักการะเป็นต้น.
               บทว่า สกฺกาโร ได้แก่ ปัจจัย ๔ เหล่านั้นที่เขาจัดไว้ดีแล้ว.
               บทว่า สิโลโก ได้แก่ การพูดสรรเสริญ.
               บทว่า อภินิพฺพตฺเตติ ได้แก่ ให้เกิด.
               บทว่า อปญฺญาตา ความว่า ไม่ปรากฏในสถานที่ชนทั้ง ๒ ดำรงอยู่ ย่อมไม่ได้แม้เพียงอาหารและเครื่องนุ่งห่ม.
               บทว่า อปฺเปสกฺขา ได้แก่ พวกที่ไม่มีบริวาร ไม่ได้คนแวดล้อมไปข้างหน้าหรือข้างหลัง.
               บทว่า สาเรน สารกรณียํ ได้แก่ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีเพลา ล้อ แอกและไถเป็นต้นที่จะพึงทำด้วยไม้แก่น.
               บทว่า สาขาปลาสํ อคฺคเหสิ พฺรหฺมจริยสฺส ความว่า ปัจจัย ๔ ชื่อว่ากิ่งไม้ใบสด ของศาสนพรหมจรรย์อันมีมรรคผลเป็นสาระ ได้ถือเอาแต่กิ่งไม้ใบสดนั้น.
               บทว่า เตน จ โวสานํ อาปาทิ ความว่า ก็ด้วยเหตุนั้นแล พระเทวทัตนั้นจึงหยุดด้วยเข้าใจว่า พอแค่นี้ เราพบสาระแล้ว.
               บทว่า ญาณทสฺสนํ อภินิพฺพตฺเตติ ความว่า พระเทวทัตต์ได้อภิญญา ๕ ก็ทิพยจักษุอยู่สุดท้ายของอภิญญา ๕ ทิพยจักษุนั้น ท่านกล่าวว่า ญาณทัสสนะในพระสูตรนี้.
               บทว่า อชานํ อปสฺสํ วิหรนฺติ ความว่า ภิกษุทั้งหลายไม่รู้สุขุมรูปไรๆ โดยที่สุดแม้ปีศาจคลุกฝุ่นก็ไม่เห็นอยู่.
               บทว่า อสมยวิโมกฺขํ อาราเธติ ความว่า กุลบุตรย่อมยินดี ย่อมให้ถึงพร้อมย่อมได้โลกุตตรธรรม ๙ ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ อสมยวิโมกข์ เป็นไฉน คือ อริยมรรค ๔ สามัญญผล ๔ นิพพาน ๑ นี้ ชื่อว่าอสมยวิโมกข์.
               จริงอยู่ สมาบัติที่เป็นโลกิยะ ย่อมพ้นจากธรรมที่เป็นข้าศึกในขณะที่ถึงอัปปนานั้นเอง เพราะฉะนั้น โลกิยสมาบัตินั้น ท่านจึงกล่าวว่าเป็นสมยวิโมกข์ อย่างนี้ว่า สมยวิโมกข์เป็นไฉน คือ รูปาวจรสมาบัติ ๔ อรูปาวจรสมาบัติ ๔ นี้เรียกว่าสมยวิโมกข์ ส่วนโลกุตตรธรรมย่อมพ้นได้ทุกกาล.
               จริงอยู่ มรรคจิตและผลจิตที่พ้นคราวเดียว ก็เป็นอันพ้นไปเลย นิพพานก็พ้นแล้วเด็ดขาดจริงจากสรรพกิเลสส่วนเดียว เพราะฉะนั้น ธรรม ๙ เหล่านี้ ท่านจึงกล่าวว่า อสมยวิโมกข์.
               บทว่า อกุปฺปา เจโตวิมุตฺติ ได้แก่ วิมุตติสัมปยุตด้วยอรหัตตผล.
               ประโยชน์นี้ของพรหมจรรย์นั้นมีอยู่ เพราะเหตุนั้น พรหมจรรย์นั้นจึงชื่อว่าเอตทัตถะ คือพรหมจรรย์นี้มีพระอรหัตตผลนั้นเป็นประโยชน์. ท่านอธิบายว่า นี้เป็นประโยชน์ของพรหมจรรย์นั้น.
               บทว่า เอตํ สารํ ความว่า อรหัตตมรรคและอรหัตตผลนี้เป็นสาระแห่งพรหมจรรย์.
               บทว่า เอตํ ปริโยสานํ ความว่า อรหัตตผลนี้เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ นี้เป็นสุดท้าย ไม่มีผลที่จะพึงบรรลุยิ่งขึ้นไปกว่านี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงจบเทศนาตามอนุสนธิดังนี้แล.

               จบ อรรถกถามหาสาโรปมสูตรที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค มหาสาโรปมสูตร อุปมาพรหมจรรย์กับแก่นไม้ จบ.
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 340อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 347อ่านอรรถกถา 12 / 353อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=6309&Z=6504
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=3545
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=3545
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :