ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 347อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 353อ่านอรรถกถา 12 / 361อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค
จูฬสาโรปมสูตร อุปมานักบวชกับผู้แสวงหาแก่นไม้

               อรรถกถาจุลลสาโรปมสูตร               
               จุลลสาโรปมสูตร เริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
               พึงทราบวินิจฉัยในจุลลสาโรปมสูตรนั้นดังต่อไปนี้.
               บทว่า ปิงฺคลโกจฺโฉ ได้แก่ พราหมณ์ผู้มีธาตุเหลือง.
               ก็คำว่า โกจฺโฉ นี้เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น เพราะฉะนั้น พราหมณ์นั้นท่านจึงเรียกว่า ปิงคลโกจฉะ.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า สํฆิโน เป็นต้น
               สมณะพราหมณ์ชื่อว่า สังฆิโน เพราะมีหมู่ กล่าวคือประชุมแห่งนักบวช. ชื่อว่า คณิโน เพราะมีคณะนั้นแล. ชื่อว่า คณาจริยา เพราะเป็นอาจารย์แห่งคณะด้วยอำนาจอาจารสิกขาบท.
               บทว่า ญาตา ได้แก่ ผู้ที่รู้จักกันทั่วไป คือผู้ปรากฏ ได้แก่ที่เขายกย่องโดยนัยมีอาทิว่า เป็นผู้มักน้อย สันโดษ ไม่นุ่งห่มแม้กระทั่งผ้า เพราะเป็นผู้มักน้อย.
               ชื่อว่า ยสสฺสิโน เพราะเป็นผู้มียศ.
               บทว่า ติตฺถกรา แปลว่า เจ้าลัทธิ.
               บทว่า สาธุสมฺมตา ได้แก่ ที่เขาสมมติอย่างนี้ว่า คนเหล่านี้เป็นคนมีประโยชน์ เป็นคนดี เป็นสัตบุรุษ.
               บทว่า พหุชนสฺส ได้แก่ ผู้ไม่ได้สดับ ผู้เป็นปุถุชนคนอันธพาล.
               บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงคนเหล่านั้น จึงตรัสว่า เสยฺยถีทํ ปูรโณ ดังนี้ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปูรโณ เป็นชื่อของเจ้าลัทธินั้นผู้ปฏิญญาตนว่าเป็นศาสดา.
               คำว่า กสฺสโป เป็นโคตร.
               ได้ยินว่า เจ้าลัทธิชื่อปูรณะนั้นเป็นคนครบร้อยพอดีของตระกูลหนึ่งซึ่งมีทาส ๙๙ คน. ด้วยเหตุนั้น คนทั้งหลายจึงตั้งชื่อเขาว่า ปูรโณ. ก็เพราะเขาเป็นทาสมงคล จึงไม่มีผู้กล่าวว่าเขาทำกิจที่ทำได้ยาก หรือไม่ทำกิจที่ใครเขาไม่ทำ. เขาคิดว่า เราจะอยู่ในที่นี้ไปทำไม แล้วก็หนีไป.
               ลำดับนั้น พวกโจรได้ชิงเอาผ้าของเขาไป. เขาไม่รู้จักการปกปิดด้วยใบไม้หรือหญ้า ก็เข้าไปยังบ้านตำบลหนึ่งทั้งๆ ที่เปลือยกายนั่นเอง. พวกมนุษย์เห็นเขาแล้วคิดว่า สมณะนี้เป็นพระอรหันต์ ผู้มักน้อย ผู้ที่จะเสมอเหมือนกับสมณะนี้ไม่มี จึงถือเอาของหวานและของคาวเป็นต้นเข้าไปหา.
               เขาคิดว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะเราไม่นุ่งผ้า ตั้งแต่นั้นมาถึงได้ผ้าก็ไม่นุ่ง เขาได้ถือเอาการไม่นุ่งผ้านั้นนั่นแหละเป็นบรรพชา. แม้ผู้คนอื่นๆ รวม ๕๐๐ คน ก็บวชในสำนักของเขา ท่านหมายเอาเจ้าลัทธิผู้นั้นจึงกล่าวว่า ปูรณกัสสปะ.
               คำว่า มกฺขลิ เป็นชื่อของเจ้าลัทธินั้น.
               คำว่า โคสาโล เป็นชื่อที่ ๒ เพราะเกิดในโรงโค.
               ได้ยินว่า เขาถือหม้อนํ้ามันกำลังเดินไปบนพื้นดินที่มีโคลน นายบอกว่า อย่าลื่นนะพ่อ. เขาลื่นล้มลงด้วยความเผอเรอ เริ่มจะหนีไปเพราะกลัวนาย. นายวิ่งไปจับชายผ้าไว้ทัน. เขาทิ้งผ้า ไม่มีผ้าติดตัวหนีไป.
               คำที่เหลือเหมือนกับเจ้าลัทธิปูรณะนั้นแล.
               คำว่า อชิตะ เป็นชื่อของเจ้าลัทธินั้น. เขาชื่อว่าเกสกัมพล เพราะครองผ้าผมคน. เหตุนั้น เขาจึงรวมชื่อทั้งสองเรียกว่า อชิตะ เกสกัมพล.
               ในคำนั้น ผ้ากัมพลที่เขาทำด้วยผมมนุษย์ ชื่อว่าเกสกัมพล ขึ้นชื่อว่าผ้าที่เลวกว่าผ้าเกสกัมพลนั้นไม่มี. เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า ผ้าที่ร้อยด้วยด้ายชนิดใดชนิดหนึ่ง ผ้ากัมพลท่านกล่าวว่า เลวกว่าผ้าเหล่านั้น ภิกษุทั้งหลาย ผ้าเกสกัมพลเมื่อเย็นก็เย็น เมื่อร้อนก็ร้อน มีสีทราม มีกลิ่นเหม็น และมีสัมผัสไม่สบาย.
               คำว่า ปกุโธ เป็นชื่อของเจ้าลัทธินั้น. คำว่า กจฺจายโน เป็นโคตร. ท่านรวมทั้งนามและโคตร เรียกว่า ปกุธ กัจจายนะ.
               เจ้าลัทธินั้นเป็นผู้ห้ามนํ้าเย็น แม้จะถ่ายอุจจาระก็ไม่ใช้นํ้า. ได้นํ้าร้อนหรือนํ้าข้าวจึงใช้. เขาเดินผ่านแม่นํ้าหรือนํ้าในทางก็คิดว่า เราศีลขาดแล้ว ก่อทรายทำเป็นสถูป อธิษฐานศีลเดินต่อไป ปกุธกัจจายนะผู้นี้เป็นเจ้าลัทธิที่ไม่มีศักดิ์ศรีเห็นปานนี้.
               คำว่า สญฺชโย เป็นชื่อของเจ้าลัทธินั้น. ชื่อว่าเวลัฏฐบุตร เพราะเป็นบุตรของเวลัฏฐ.
               เจ้าลัทธิชื่อว่า นิคันถะ โดยได้นามเพราะพูดอย่างนี้ว่า พวกเราไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด ไม่มีกิเลสเครื่องพัวพัน ว่าพวกเราเว้นจากเครื่องร้อยรัดคือกิเลส. ชื่อว่านาฏบุตร เพราะเป็นบุตรของนาฏกะนักรำ.
               บทว่า อพฺภญฺญึสุ ความว่า สมณพราหมณ์รู้ไม่รู้ก็โดยที่พวกเขาปฏิญญาไว้.
               ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ว่า ถ้าปฏิญญานั้นของพวกเขาเป็นนิยานิกะไซร้ เขาทั้งหมดก็รู้ ถ้าไม่เป็นนิยานิกะไซร้ พวกเขาก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ความของปัญหานั้นจึงมีดังนี้ว่า ปฏิญญาของพวกเขาเป็นนิยานิกะหรือเป็นอนิยานิกะ.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธว่า พอละ เพราะไม่มีประโยชน์ด้วยการกล่าวถึงปฏิญญาที่เป็นอนิยานิกะของเจ้าลัทธิเหล่านั้น เมื่อจะประกาศบทที่มีประโยชน์ด้วยอุปมา เพื่อจะทรงแสดงเฉพาะธรรม จึงตรัสคำว่า พราหมณ์ เราจะแสดงธรรมแก่ท่าน ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สจฺฉิกิริยาย แปลว่า เพื่อกระทำให้แจ้ง.
               บทว่า น ฉนฺทํ ชเนติ ความว่า ไม่ให้เกิดความพอใจใคร่จะทำ.
               บทว่า น วายมติ ได้แก่ ไม่กระทำความพยายาม ความบากบั่น.
               บทว่า โอลีนวุตฺติโก จ โหติ ได้แก่ เป็นผู้มีอัธยาศัยเหยาะแหยะ.
               บทว่า สาถิลิโก ได้แก่ ผู้ถือย่อหย่อน คือถือศาสนาย่อหย่อน ไม่ถือให้หนักแน่น.
               บทว่า อิธ พฺรหฺมณ ภิกฺขุ วิวิจฺเจว กาเมหิ
               ถามว่า ธรรมมีปฐมฌานเป็นต้นเหล่านี้ จะยิ่งกว่าญาณทัสสนะได้อย่างไร.
               แก้ว่า จริงอยู่ ธรรมทั้งหลายมีปฐมฌานเป็นต้น เป็นบาทของวิปัสสนา ชื่อว่าต่ำกว่า
เพราะทำให้เป็นบาทแห่งนิโรธ ธรรมเหล่านี้จึงชื่อว่าเป็นบาทแห่งนิโรธ เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ญาณทัสนะนั้น ยิ่งยวดกว่า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบพระสูตรแม้นี้ ตามอนุสนธิด้วยประการฉะนี้.
               ในเวลาจบเทศนาพราหมณ์ก็ตั้งในสรณะแล.

               จบอรรถกถาจุลลสาโรปมสูตรที่ ๑๐               
               จบโอปัมมวัคควัณณนาที่ ๓               
               -----------------------------------------               

               รวมพระสูตรในวรรคนี้ คือ
                         ๑. กกจูปมสูตร
                         ๒. อลคัททูปมสูตร
                         ๓. วัมมิกสูตร
                         ๔. รถวินีตสูตร
                         ๕. นิวาปสูตร
                         ๖. ปาสราสิสูตร
                         ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร
                         ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร
                         ๙. มหาสาโรปมสูตร
                         ๑๐. จูฬสาโรปมสูตร.
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค จูฬสาโรปมสูตร อุปมานักบวชกับผู้แสวงหาแก่นไม้ จบ.
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 347อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 353อ่านอรรถกถา 12 / 361อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=6505&Z=6695
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=3583
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=3583
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :