ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 479อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 483อ่านอรรถกถา 12 / 488อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค
สาเลยยกสูตร ทรงโปรดชาวบ้านสาละ

               พรรณนาความในจุลลยมกวรรค๑-               
               อรรถกถาสาเลยยกสูตร               
๑- บาลีใช้ จูฬยมกวรรค

               สาเลยยกสูตรมีคำขึ้นต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า "ในแคว้นโกศล" ความว่า ในแคว้นของชาวโกศลทั้งหลาย คือพวกชาวจังหวัด หรือพวกราชกุมารชื่อโกศล. จังหวัดที่เป็นถิ่นอาศัยของคนเหล่านั้น แม้เพียงจังหวัดเดียว ก็เรียกด้วยเสียงคล่องปากว่า "โกศลทั้งหลาย" ได้. ในจังหวัดของพวกชาวโกศลนั้น.
               ฝ่ายพวกคนรุ่นเก่าท่านว่า เพราะแต่ก่อนพระราชาได้ทรงฟังว่า มหาปนาทราชกุมารทอดพระเนตรท่าตลกต่างๆ แม้แต่ยิ้มก็ไม่ทรงทำ จึงตรัสว่า ใครทำให้ลูกฉันหัวเราะได้ ฉันจะเอาเครื่องสำอางทุกอย่างมาแต่งให้คนนั้น. เมื่อกลุ่มมหาชนทิ้งแม้แต่ไถมาประชุมกัน พวกคนก็พากันแสดงการละเล่นต่างๆ ตั้งเจ็ดปีกว่า ก็ยังไม่อาจทำให้พระราชกุมารนั้นทรงพระสรวลได้.
               ลำดับนั้น พระอินทร์ทรงส่งตัวตลกเทวดาไป เทพองค์นั้นแสดงท่าตลกแบบทิพย์จนทำให้ทรงพระสรวลได้. ลำดับนั้น คนเหล่านั้นก็พากันบ่ายหน้าหลีกไปยังถิ่นของตนๆ เมื่อพบเพื่อนฝูงที่สวนทางมา พวกนั้นก็ทักทายปราศรัยกันว่า "ดีไหม?" ฉะนั้น เพราะอาศัยคำว่า "ดีๆ" นั้น ประเทศนั้นจึงเรียกว่า "โกศล"
               คำว่า "เสด็จเที่ยวจาริก" คือ กำลังเสด็จเที่ยวจาริกแบบไม่รีบร้อน.
               คำว่า "กับหมู่ภิกษุจำนวนมาก" คือ กับหมู่ภิกษุจำนวนมากที่ไม่ได้กำหนดชัดลงไปอย่างนี้ว่า ร้อย พันหรือแสน.
               คำว่า "หมู่บ้านของพราหมณ์" ได้แก่ หมู่บ้านชุมชนพวกพราหมณ์ เรียกว่าหมู่บ้านของพราหมณ์. แม้หมู่บ้านโภคของพวกพราหมณ์ก็เป็นหมู่บ้านชุมชนในที่นี้ ไม่ใช่ประสงค์เอาบ้านอยู่ของพวกพราหมณ์.
               คำว่า "ระลึกลงที่นั้น" คือระลึกลงไปในที่นั้น หมายถึงความพร้อมแล้ว. ส่วนวิหารไม่ได้จำกัดให้แน่ลงไปในที่นี้. ฉะนั้น จึงคงจะเป็นป่าชัฏแห่งหนึ่งที่เหมาะแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับหมู่บ้านของพวกพราหมณ์นั้น.
               พึงทราบว่า พระศาสดาได้เสด็จพระพุทธดำเนินไปถึงไพรดงนั้น.
               คำว่า "ได้ยินแล้ว" แปลว่า ฟังแล้ว คือเข้าไปได้ ได้แก่ทราบโดยทำนองเสียงก้องแห่งคำที่ถึงโสตทวาร.
               "โข" เป็นนิบาตลงในอรรถอวธารณะ คือเป็นเพียงทำบทให้เต็ม. พึงทราบอธิบายในข้อนี้อย่างนี้ว่า ได้ฟังแล้วด้วยอวธารณะ อรรถในที่นี้เท่านั้น อันตรายแห่งการฟังไรๆ ไม่ได้มีแก่พวกเขา. ด้วยการทำให้บทเต็มก็เพียงให้พยัญชนะมีความสละสลวยเท่านั้น.
               บัดนี้ เมื่อจะประกาศข้อความที่ได้ฟังนั้น. ท่านจึงได้กล่าวว่า "เออนี่ แน่ะ เขาว่าพระสมณโคดม" ดังนี้เป็นต้น. พึงทราบว่า ชื่อว่าสมณะ เพราะระงับบาป.
               ในบทเหล่านั้น "ขลุ" เป็นนิบาตลงในอรรถว่าฟังตาม. "โภ" เป็นคำร้องเรียกกันและกันของพวกนั้น. "โคดม" เป็นคำแสดงด้วยพระโคตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า ฉะนั้น ในคำเหล่านี้ว่า "นี่แน่ะ เขาว่าพระสมณโคดม" จึงพึงเห็นความหมายอย่างนี้ว่า "นี่แน่ะท่าน เขาเล่ากันว่า พระสมณะผู้เป็นโคตมโคตร"
               ส่วนคำว่า "โอรสศากยะ" นี้เป็นคำแสดงตระกูลอันสูงของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               คำว่า "บวชจากตระกูลศากยะ" เป็นคำแสดงความเป็นผู้บวชด้วยศรัทธา. มีคำที่กล่าวไว้ว่า ผู้ที่ไม่ถูกความฉิบหายอย่างใดอย่างหนึ่งครอบงำ มาละตระกูลที่ยังไม่สูญสิ้น (อะไรๆ ไปเลย) ชื่อว่าบวชด้วยศรัทธา. คำต่อจากนั้นไปก็มีใจความที่ได้กล่าวไว้แล้วทีเดียว.
               คำว่า "ก็นั่นแล" เป็นทุติยาวิภัติลงในอรรถ บอกอิตถัมภูตะ ใจความก็คือ "ของพระโคดมผู้เจริญแล."
               คำว่า "อันงาม" ได้แก่ผู้ประกอบด้วยพระคุณอันงดงาม มีอธิบายว่าผู้ประเสริฐสุด. เกียรตินั่นแหละ หรือเสียงชมเชยชื่อว่า "เกียรติศัพท์".
               คำว่า "ฟุ้งขึ้น" คือขจรขึ้นทับโลกรวมทั้ง (โลกของพวก) เทวดา.
               ว่าอย่างไร?
               ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ฯลฯ ทรงเป็นผู้ตื่น (ผู้ปลุก ผู้เบิกบานด้วยพระคุณ) ทรงเป็นผู้มีโชคดี (ทรงมีส่วนแห่งการจำแนกธรรม, ทรงจำแนกแจกธรรม).
               ต่อไปนี้พึงทราบความเกี่ยวข้องแห่งบทในคำเหล่านั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นอรหันต์ แม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แม้เพราะเหตุนี้ ฯลฯ ทรงเป็นผู้มีโชคดี แม้เพราะเหตุนี้.
               มีคำอธิบายว่า เพราะเหตุนี้และนี้.
               บททั้งหมดนี้เองที่ท่านยกขึ้นเป็นแม่บทโดยทำนองเป็นต้นว่า พึงเข้าใจว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงเป็นพระอรหันต์ด้วยเหตุเหล่านี้ก่อน คือทรงไกลจากข้าศึก เพราะทรงหักกำ (แห่งล้อภพ) เพราะควรแก่ปัจจัยเป็นต้น เพราะไม่มีความลับในการทำชั่ว" ได้ให้พิสดารแล้วแล ในพุทธานุสสตินิเทศ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.
               พึงถือเอาความพิสดารแห่งบทเหล่านั้นจากที่นั้นเถิด.
               คำว่า "ก็แลเป็นการดีโข" คือ ก็เป็นความงามโข. มีคำอธิบายว่า เป็นการนำเอาประโยชน์มาให้ เป็นการนำเอาความสุขมาให้.
               คำว่า "เหล่าพระอรหันต์เห็นปานนั้น." คือ พระอรหันต์ทั้งหลายผู้ได้ความเชื่อถือว่า ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ทั้งหลายในโลก ก็เพราะการบรรลุคุณพิเศษตามที่เป็นจริงของเหล่าพระอรหันต์ ซึ่งเห็นได้ยากด้วยแสนโกฏิกัป แม้ไม่ใช่น้อย มีร่างกายเป็นที่รื่นรมย์ซึ่งเกลื่อนกล่นด้วยรัศมีแห่งมหาปุริสลักษณะสามสิบสองประการ ประดับด้วยแก้ว คืออนุพยัญชนะแปดสิบอย่าง แวดล้อมด้วยรัศมีวาหนึ่ง มีการเห็นที่ไม่เร่าร้อน มีเสียงแห่งธรรมที่ไพเราะยิ่ง เหมือนอย่างที่พระโคดมผู้เจริญนั้นท่านเป็น.
               คำว่า "ย่อมเป็นการเห็น" คือ กระทำอัธยาศัยอย่างนี้ว่า การลืมตาที่มีประสาทหยาดเยิ้มขึ้นแล้วดูก็เป็นการดี (ยังประโยชน์ให้สำเร็จ) และถ้าเมื่อท่านกำลังแสดงธรรมด้วยเสียงดุจเสียงพรหมที่ประกอบพร้อมไปด้วยองค์แปด ได้ฟังแม้บทเดียวก็จะเป็นการดีกว่า.
               คำว่า "เข้าไปเฝ้าถึงที่ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ" ได้แก่ เลิกกิจทุกอย่าง มีใจยินดีมาแล้ว.
               คำว่า "ได้กล่าวคำนี้" ได้แก่ ก็การถามมีสองอย่างคือ การถามแบบชาวบ้าน ๑ การถามแบบนักบวช ๑
               ในการถามทั้งสองอย่างนั้น การถามแบบชาวบ้าน มาแล้วโดยแบบนี้ว่า "พระคุณเจ้า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล" การถามแบบนักบวชมาแล้วอย่างนี้ว่า "ท่านผู้เจริญ เหล่านี้หรือหนอ เป็นอุปาทานขันธ์ ๕"
               ส่วนพราหมณ์และคฤหบดีเหล่านี้ เมื่อจะทูลถามแบบการถามของชาวบ้านที่เหมาะแก่ตน จึงได้กล่าวคำเป็นต้นว่า "พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย?" กะพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแก้ปัญหาโดยย่อจริงๆ ก่อน แก่พวกเขาชนิดที่พวกเขายังไม่สามารถกำหนดได้ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า "พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย เพราะความประพฤติที่ไม่ถูกต้องและความประพฤติ ที่ไม่สมควรเป็นเหตุ"
               ถามว่า "ทำไมเล่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแก้อย่างที่คนพวกนั้นยังไม่ทันกำหนด"
               ตอบว่า "มีผู้กล่าวว่า เพราะคนเหล่านั้นถือตัวว่าเป็นบัณฑิต ย่อมตั้งแม่บทแล้วกำหนดไว้แต่ต้นทีเดียวโดยประการใด เมื่อพระองค์ทรงขยายความให้พิสดารโดยประการนั้น ก็พากันสำคัญเทศนาว่า ตื้นๆ จะพากันดูถูกว่า "แม้เมื่อพวกเราจะกล่าว ก็พึงกล่าวอย่างนี้เหมือนกัน" เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแก้ปัญหาอย่างย่อๆ ก่อนชนิดที่พวกนั้นไม่สามารถจะกำหนดได้. ต่อจากนั้น เมื่อทรงถูกพวกที่ไม่อาจจะกำหนดได้นั้นคะยั้นคะยอขอให้แสดงพิสดาร เมื่อทรงแสดงโดยพิสดารจึงตรัสคำเป็นต้นว่า "ถ้าอย่างนั้น พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย"
               ในคำเหล่านั้น คำว่า "ถ้าอย่างนั้น" เป็นนิบาตลงในเหตุ หมายความว่า เพราะเหตุที่พวกท่านขอร้องเรา. คำว่า "สามอย่าง" คือ สามส่วน. คำว่า "ด้วยกาย" คือด้วยกายทวาร. คำว่า "ความประพฤติไม่ถูกต้องและความประพฤติไม่สมควร" คือความประพฤติไม่สมควรอันได้แก่ความประพฤติที่ไม่ถูกต้อง. และต่อไปนี้เป็นความหมายของบทในคำเหล่านี้.
               "ความประพฤติอธรรม ชื่อว่า อธรรมจริยา" หมายความว่า การกระทำที่ไม่เป็นธรรมที่ชื่อว่า วิสมจริยา เพราะประพฤติขรุขระ หรือประพฤติลุ่มๆ ดอนๆ ความประพฤติไม่เป็นธรรม และความประพฤติที่ขรุขระนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าความประพฤติไม่เป็นธรรมและความประพฤติที่ไม่สม่ำเสมอ พึงทราบความหมายในบทฝ่ายดำและฝ่ายขาวทุกบทโดยอุบายนี้.
               คำว่า "โหดร้าย" ได้แก่ หยาบคาย เหี้ยมโหด หุนหัน พลันแล่น.
               คำว่า "มีมือเปื้อนเลือด" ได้แก่ เปื้อนด้วยเลือดที่มือของผู้ที่กำลังปลงสัตว์อื่นจากชีวิต ถึงแม้จะไม่เปื้อนคนแบบนั้น ท่านก็ยังเรียกว่า "มีมือเปื้อนเลือด" อยู่นั่นเอง.
               คำว่า "ตั้งมั่นอยู่ในการฆ่าการประหาร" ได้แก่ ตั้งมั่นในการฆ่า การให้ประหารสัตว์อื่น และในการเข่นฆ่า คือการทำให้สัตว์อื่นตาย.
               คำว่า "ไม่ประกอบด้วยความสงสาร" คือมาถึงความเป็นผู้ไม่มีความสงสาร.
               คำว่า "ของคนอื่นนั้นใด" คือ สิ่งที่มีอยู่ของคนอื่นนั้นใด.
               คำว่า "อุปกรณ์เครื่องปลื้มใจ" ได้แก่ อุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของคนอื่นนั่นเอง คือเครื่องบริขารที่ก่อให้เกิดความยินดีแก่คนอื่นนั้น.
               คำว่า "หรืออยู่ในหมู่บ้าน" คือหรือที่ตั้งไว้ภายในหมู่บ้าน.
               คำว่า "หรืออยู่ในป่า" คือ ตั้งไว้ในป่า หรือบนยอดไม้ยอดภูเขาเป็นต้น.
               คำว่า "ที่ไม่ให้" คือ พวกเขาไม่ได้ให้ด้วยกายหรือด้วยวาจา. ผู้ลักชื่อว่า "ขโมย" ในที่นี้. ภาวะแห่งขโมย ชื่อว่าความเป็นขโมย. คำนี้เป็นชื่อแห่งจิตคิดจะขโมย.
               คำว่า "ส่วน" นี้ เป็นชื่อของส่วนหนึ่งโดยใจความเหมือนในคำเป็นต้นว่า "ก็ส่วนแห่งธรรมเครื่องเนิ่นช้าอันมีสัญญาเป็นเค้ามูล" ส่วนนั้นด้วย ความเป็นขโมยด้วย เหตุนั้น ชื่อว่าส่วนแห่งความเป็นขโมย หมายความว่า ส่วนแห่งจิตหนึ่งกล่าวคือจิตคิดจะขโมย. และคำว่าส่วนแห่งความเป็นขโมยนี้ เป็นปฐมาวิภัติลงในอรรถตติยาวิภัติ ฉะนั้น จึงควรเห็นโดยความว่า "ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย" ดังนี้.
               ในคำว่า "อันแม่ปกครอง" เป็นต้น มีอธิบายว่า เมื่อพ่อหายหรือตายไปแล้ว แม่ดูแลด้วยอาหารและเครื่องนุ่งห่มเป็นต้น คิดว่าจะให้มีครอบครัวเมื่อเติบโตแล้ว แล้วย่อมปกครองลูกหญิงคนใดไว้ คนนี้ชื่อว่าอันแม่ปกครอง.
               แม้ที่พ่อปกครองเป็นต้น ก็พึงทราบโดยอุบายนี้.
               ส่วนตระกูลที่ชอบพอกัน ทำข้อตกลงกันตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้องว่า "ถ้าฝ่ายฉันเป็นลูกชาย ฝ่ายแกเป็นลูกหญิง ไปที่อื่นไม่ได้ ต้องเป็นของลูกชายฉันเท่านั้น" หญิงที่จับจองตั้งแต่อยู่ในท้องทำนองนี้ ชื่อว่ามีผัว.
               ส่วนหญิงที่เขาเจาะจงหมู่บ้าน เรือน หรือถนนแล้ววางโทษอย่างนี้ว่า "ใครไปหาหญิงชื่อนี้ จะถูกปรับโทษเท่านี้" ชื่อว่ามีทัณฑ์โดยรอบ.
               คำว่า "โดยที่สุดแม้แต่หญิงที่ซัดพวงมาลัยไป" คือ โดยกำหนดอย่างต่ำสุดกว่าเขาหมด หญิงที่ชายคนใดคนหนึ่งกำลังเหวี่ยงพวงมาลัยไปบนนางด้วยสำคัญว่า "นางนี้จะเป็นภริยาของเรา" แล้วก็ถูกเอาเพียงพวงมาลัยเท่านั้นซัดไป.
               คำว่า "ย่อมเป็นผู้ละเมิดจารีต ในพวกหญิงเห็นปานนั้น" ได้แก่ ย่อมเป็นผู้กระทำความก้าวล่วงในเพราะหญิงเห็นปานนั้น ด้วยอำนาจลักษณะความประพฤติผิดอันกล่าวแล้วในสัมมาทิฏฐิสูตร.
               คำว่า "อยู่ในที่ประชุม" คือ ยืนอยู่ในสภา.
               คำว่า "อยู่ในบริษัท" คือ ยืนอยู่ในบริษัท.
               คำว่า "อยู่กลางญาติ" คือ อยู่ท่ามกลางพวกทายาท.
               คำว่า "อยู่ท่ามกลางพรรคพวก" คือ อยู่ท่ามกลางกองทหาร.
               คำว่า "อยู่กลางราชตระกูล" คือ อยู่ในท้องพระโรงใหญ่กลางราชตระกูล.
               คำว่า "ถูกนำพาไป" คือ ถูกนำไปเพื่อต้องการซัก.
               คำว่า "ถูกซักพยาน" คือ ถูกทำเป็นพยานแล้วซัก.
               คำว่า "มานี่แน่ะ นาย" นี้เป็นคำสำหรับร้องเรียก.
               คำว่า "เพราะตนเป็นเหตุหรือเพราะคนอื่นเป็นเหตุ" คือเพราะเหตุแห่งมือและเท้าเป็นต้นของตนหรือของคนอื่น หรือเพราะเหตุแห่งทรัพย์.
               คำว่า "ลาภ" ท่านประสงค์ว่า อามิส ในบทว่า "หรือเพราะเห็นแก่อามิสเล็กน้อยเป็นเหตุ" นี้ เพราะฉะนั้น คำว่า "เล็กๆ น้อยๆ" จึงหมายความถึงของไม่สำคัญ คือเล็กๆ น้อยๆ. อธิบายว่า โดยที่สุดเพราะเหตุแห่งสินบนซึ่งมี แค่นกกระทา นกคุ่ม ก้อนเนยใสและก้อนเนยแข็งเป็นต้น.
               คำว่า "ย่อมเป็นผู้พูดเท็จทั้งที่รู้อยู่" คือ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แท้ๆ ก็ยังเป็นผู้กระทำให้เป็นคำเท็จ.
               คำว่า "เพื่อทำลายพวกนี้" คือได้ยินในสำนักของคนเหล่าใดที่ท่านเรียกว่า "จากนี้" เพื่อทำลายพวกนั้น.
               คำว่า "เพื่อทำลายพวกโน้น" คือได้ฟังคำของพวกใดที่ท่านว่า "โน้น" เพื่อทำลายพวกนั้น.
               คำว่า "หรือเป็นผู้ทำลายคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วอย่างนี้" ได้แก่ หรือเป็นผู้ทำให้สหายสองฝ่ายที่สมัครสมานกันอย่างนี้แตกกัน.
               คำว่า "หรือส่งเสริมคนที่แตกกันแล้ว" คือเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนเพื่อให้ผู้ที่แตกกันแล้วสมานกันอีกไม่ได้อย่างนี้ว่า "คุณทำดีแล้วที่สละมันได้ อีกสองสามวันเท่านั้นมันจะทำให้คุณฉิบหายใหญ่". อธิบายว่า เป็นผู้ชี้เหตุให้.
               "พวกเป็นที่มายินดี" คือเป็นที่ตั้งแห่งความยินดียิ่งของเขา เหตุนั้นเขาจึงชื่อว่ามีพวกเป็นที่มายินดี.
               คำว่า "ผู้ยินดีแล้วในพวก" คือยินดีแล้วในพวกทั้งหลาย. ชื่อว่าบันเทิงในพวกเพราะเห็นหรือได้ยินว่าพวกก็ย่อมบันเทิง.
               คำว่า "วาจาทำให้เป็นพวก" คือ วาจาใดทำสัตว์ให้เป็นพวก คือทำลายสัตว์ แม้ที่พร้อมเพรียงกันแล้ว เป็นผู้พูดวาจาที่ก่อการทะเลาะนั้น.
               คำว่า "เป็นปม" คือชื่อว่าตะปุ่มตะป่ำ ด้วยคำขู่และคำข่มเป็นต้น เพราะเป็นวาจาที่มีโทษ เหมือนปมที่ตั้งขึ้นที่ต้นไม้มีโทษ (เสีย) ฉะนั้น.
               คำว่า "หยาบ" คือเสีย เป็นวาจาที่หยาบคาย เหมือนต้นไม้ที่เสีย เป็นต้นไม้ที่ขรุขระมีขุยไหลออกฉะนั้น. วาจานั้นย่อมเหมือนกับครูดหูเข้าไปฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า หยาบคาย.
               คำว่า "เผ็ดร้อนแก่คนอื่น" คือเป็นวาจาที่เผ็ดร้อน ไม่น่าชื่นใจของคนเหล่าอื่น คือเป็นวาจาที่ก่อโทษ.
               คำว่า "ทิ่มแทงผู้อื่น" คือได้แก่วาจาที่แทงไปในของรักเหมือนกิ่งไม้คดมีหนามกระทบกระแทกคนเหล่าอื่น ทำให้เกิดความติดขัด เพราะไม่ให้เพื่ออันไปแม้แก่ผู้ที่อยากไป.
               คำว่า "ใกล้ต่อความโกรธ" คือใกล้ชิดต่อความโกรธ.
               คำว่า "ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ" คือเป็นวาจาที่ไม่เป็นไปเพื่ออัปปนาสมาธิ หรืออุปจารสมาธิ. อย่างที่ว่ามาทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นคำใช้แทนวาจาที่มีโทษทั้งนั้นแล.
               คำว่า "มีปกติพูดไม่เป็นเวลา" คือเป็นผู้พูดโดยไม่ใช่เวลา.
               คำว่า "มีปกติพูดไม่จริง" คือเป็นผู้พูดสิ่งที่ไม่มี.
               คำว่า "มีปกติพูดไม่เป็นผลประโยชน์" คือเป็นผู้พูดถ้อยคำไม่อาศัยเหตุ.
               คำว่า "มีปกติพูดไม่เป็นธรรม" คือเป็นผู้พูดไม่เป็นสภาวะ. (ไม่มีผล?)
               คำว่า "มีปกติพูดไม่เป็นวินัย" คือเป็นผู้พูดคำที่ไม่ประกอบด้วยสังวรวินัยเป็นต้น.
               คำว่า "ไม่มีหลักฐาน" คือย่อมเป็นผู้พูดวาจาที่ไม่สมควรจะเก็บไว้ในตู้คือหัวใจ.
               คำว่า "โดยไม่เลือกเวลา" คือย่อมเป็นผู้พูดในเวลาที่สมควรก่อนหรือหลังเวลาที่ต้องพูด.
               คำว่า "ไม่มีที่อ้าง" คือเว้นจากที่อ้างอิงคือสูตร.
               คำว่า "ไม่มีที่จบ" คือยกเอาพระสูตรหรือชาดกที่ไม่มีขั้นตอนมาแล้วชักเอาเรื่องที่พอจะเข้ากับพระสูตรหรือชาดกนั้น ได้ข้อเปรียบหรือวัตถุมาแล้วกลับไปกล่าวถ้อยคำที่นอกเรื่องไปเสียหมด. คำที่ยกมาแล้วก็สักแต่ว่ายกขึ้นมาเท่านั้นเอง.
               เขาย่อมถึงความเป็นผู้อันผู้อื่นพึงต่อว่าว่า "เขาย่อมกล่าวสูตรหรือหนอ? หรือชาดก. พวกเราไม่เห็นการจบหรือที่สุดของสูตรหรือชาดกนั้น" แม้ผู้นี้ก็ย่อมชื่อว่าเป็นธรรมกถึกย่านไทร ย่อมทำบทที่ยกขึ้นมาตั้งให้สักแต่ว่ายกมาตั้งไว้ เท่านั้นแล้วก็ว่าไปเรื่อยเปื่อยแบบข้างๆ คูๆ อย่างนั้นแหละ เหมือนอย่างรากย้อยของกิ่งต้นไทร ย้อยลงไปในที่ๆ มันไปแล้วๆ ถึงที่ซึ่งมันหย่อนลงแล้วๆ แล้วก็ย่อมเจริญอีกนั่นเทียวมันไปได้แบบนี้นั่นแหละ ตั้งกึ่งโยชน์บ้าง หนึ่งโยชน์บ้าง ตั้งอยู่เป็นแนวทีเดียว ฉันใดก็ฉันนั้น.
               ส่วนผู้ใด แม้จะพูดมากก็ยังสามารถเพื่อให้ชักเอามาๆ แล้วรู้ได้ว่า "ท่านพูดคำนี้เพื่อสิ่งนี้" ผู้นั้นจะกล่าวก็ควร.
               คำว่า "ไม่ประกอบด้วยประโยชน์" คือหาประกอบด้วยประโยชน์ไม่.
               คำว่า "ย่อมเป็นผู้เพ่งเล็ง" ได้แก่ ย่อมเป็นผู้แลดูด้วยความเพ่งเล็ง.
               คำว่า "โอ้หนอ" เป็นนิบาตลงในอรรถว่าปรารถนา.
               ก็ในข้อนี้ ด้วยอาการเพียงแต่แลดูด้วยความเพ่งเล็งเท่านั้น การแตกกรรมบถยังไม่มี ต่อเมื่อน้อมมาเป็นของตนว่า "ทำอย่างไรหนอ ของสิ่งนี้จะพึงเป็นของของฉัน ฉันพึงวางอำนาจให้เป็นไปในของสิ่งนี้" ดังนี้ กรรมบถจึงแตก. ท่านหมายการเพ่งเล็งแบบนี้ในที่นี้.
               คำว่า "มีจิตพยาบาท" คือมีจิตเสีย ได้แก่มีจิตบูดเน่า. คำว่า "มีความดำริด้วยใจร้าย" ได้แก่มีความดำริด้วยจิตที่ถูกโทสะประทุษร้าย. คำว่า "จงถูกฆ่า" คือจงถูกทำให้ตาย. คำว่า "จงถูกทำให้ตาย" คือจงถึงการฆ่า.
               คำว่า "หรืออย่าได้มีแล้ว" คือแม้แต่อะไรๆ ก็อย่าได้มีแล้ว.
               แม้ในข้อนี้ ด้วยเหตุเพียงความกำเริบ (โกรธ) กรรมบถก็ไม่มีแตก. จะมีแตกก็เพราะคิดเป็นต้นว่า "จงถูกฆ่า" ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนั้น.
               คำว่า "ผู้มีความเห็นผิด" คือ ผู้มีความเห็นเป็นอกุศล.
               คำว่า "มีความเห็นวิปริต" คือมีความเห็นในใจคลาดเคลื่อนไป.
               คำว่า "ทานที่ให้แล้วไม่มีผล" คือพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาความไม่มีผลของทานที่ให้แล้ว. การบูชาใหญ่ท่านเรียกว่า "ยิฏฐะการบูชา" สักการะที่เพียงพอทรงประสงค์ว่า "หุตะ=การเซ่นสรวง" เขาหมายเอาความไม่มีผลเท่านั้นจึงห้ามสิ่งทั้งสองแม้นั้น.
               คำว่า "แห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่ว" หมายความว่าแห่งกุศลและอกุศลที่ทำดีและทำไม่ดี.
               คำที่ว่า "ผลวิบาก" นั้นจะเรียกว่าผลหรือเรียกว่าวิบากก็ได้. เขาพูดว่า ผล (หรือวิบาก) นั้นไม่มี.
               คำว่า "โลกนี้ไม่มี" คือไม่มีโลกนี้สำหรับผู้ตั้งอยู่ในโลกอื่น.
               คำว่า "โลกอื่นไม่มี" คือไม่มีโลกอื่นแม้สำหรับผู้ตั้งอยู่ในโลกนี้. เขาชี้แจงว่า ทั้งหมดย่อมขาดสูญในที่นั้นนั่นแหละ.
               คำว่า "ไม่มีแม่ ไม่มีพ่อ" หมายถึงว่า เขาย่อมพูดด้วยอำนาจความไม่มีผลแห่งการปฏิบัติชอบและปฏิบัติผิดในท่านเหล่านั้น.
               คำว่า "ไม่มีสัตว์ที่ลอยเกิด" นั้นคือ เขาพูดว่า ขึ้นชื่อว่าสัตว์ที่เคลื่อนแล้วเกิดไม่มี.
               คำว่า "ทำให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่งเองแล้วประกาศ" คือเขาแสดงถึงความไม่มีแห่งหมู่พระสัพพัญญูพุทธเจ้าว่า ผู้ที่ทำให้แจ่มแจ้งเองด้วยปัญญาอันพิเศษยิ่งแล้วประกาศโลกนี้และโลกหน้านั้นไม่มี. ดังนี้.
               ด้วยคำมีประมาณเพียงเท่านี้ ความเห็นผิดซึ่งมีตั้ง ๑๐ อย่างเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้แล้ว. กรรมบถ ๗ ข้อเป็นต้นว่า "ละการฆ่าสัตว์" ได้ขยายให้พิสดารในจุลลหัตถิปทสูตรแล้ว. ความไม่เพ่งเล็งเป็นต้นก็มีใจความที่ง่ายแล้วแล.
               คำว่า "ขอให้เราเข้าถึงความเป็นอันเดียวกัน" คือ ขอให้เราเข้าถึงสหภาพ (ความเป็นพวก เป็นเพื่อน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน).
               คำว่า "แห่งหมู่เทพที่เป็นพวกพรหม" ได้แก่ แห่งหมู่เทพชั้นปฐมฌาน.
               คำว่า "แห่งหมู่เทพชั้นอาภา" คือชื่ออาภา ที่เป็นแผนกหนึ่งต่างหากไม่มี. คำนี้เป็นชื่อแห่งหมู่เทพชั้นปริตตาภา อัปปมาณาภาและอาภัสสรา. แต่คำ "ปริตตาภา" เป็นต้น เป็นการไม่ถือเอารวมกัน แต่ถือด้วยการแยกหมู่เทพเหล่านั้นนั่นเอง.
               แม้ในบทเป็นต้นว่า "ชั้นสุภา ชั้นปริตตสุภา" ก็ทำนองเดียวกันนี้แหละ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความสิ้นอาสวะด้วยประการฉะนี้แล้ว ก็ทรงจบเทศนาลงด้วยยอดคือพระอรหัตตผล.
               สำหรับในที่นี้ ควรรวมเอาเทวโลกมาตั้งไว้ด้วย คือ
               ก. พรหมโลก ๑๘ ชั้น คือ
               พรหมโลกด้วยอำนาจฌานภูมิ ๓ ชั้นแรก (ชั้นละ ๓)   รวมเป็น ๙
               สุทธาวาส ๕ รวมกับอรูปภูมิอีก ๔   รวมเป็น ๙
                         (รวมทั้งหมดเป็น ๑๘)
               ข. พรหมโลก ๒๐ ชั้น คือ
               เอาพรหมโลกในข้อ ก.    ๑๘
               พร้อมกับชั้นเวหัปผลาอีก ๑+๑๘    = ๑๙
               ใส่อสัญญีภพเข้ามาใน ๑๙ นั้นอีก ๑+๑๙    = ๒๐
                         (รวมทั้งหมดเป็น ๒๐)
               ค. เทวโลก ๒๖ ชั้น คือ
               เอาพรหมโลกในข้อ ก. และ ข.    ๒๐
               กับกามาวจรอีก ๖     
                         (เทวโลกทั้งหมดเป็น ๒๖ ชั้น)

               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงการเกิดของพวกเทพแม้ทั้งหมดนั้นด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ. ใน ๒๖ ชั้น การเกิดในกามาวจร ๖ ชั้นย่อมมีได้ด้วยวิบากแห่งสุจริตทั้งสามอย่างนั่นเอง. ส่วนกรรมบถเหล่านี้ ตรัสด้วยอำนาจเป็นอุปนิสัยแห่งเทวโลกชั้นบน.
               จริงอยู่ กุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ข้อ ก็คือศีล, การบริกรรมกสิณย่อมสำเร็จแก่ผู้มีศีลเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อตั้งอยู่ในศีล แล้วก็ทำการบริกรรมกสิณ เมื่อยังปฐมฌานให้เกิดแล้วก็ย่อมเกิดในปฐมฌานภูมิ. อบรมทุติยฌานเป็นต้นแล้วก็ย่อมเกิดในทุติยฌานภูมิเป็นต้น ครั้นทำรูปาวจรฌานให้เป็นบาทแล้วเจริญวิปัสสนา ดำรงอยู่ในอนาคามิผลแล้ว ก็ย่อมเกิดในสุทธาวาสทั้ง ๕ ชั้น เมื่อได้ทำรูปาวจรฌานให้เป็นบาทแล้ว ยังอรูปาวจรสมาบัติให้เกิดขึ้นก็ย่อมเกิดในอรูปภพ ๔ ชั้น ครั้นทำรูปฌานและอรูปฌานให้เป็นบาทแล้วเจริญวิปัสนา ย่อมบรรลุอรหัตตผล.
               ส่วนอสัญญภพ พวกดาบสและปริพาชกภายนอกสะสมกัน ฉะนั้น จึงไม่ทรงแสดงในที่นี้.
               ที่เหลือในที่ทุกแห่งตื้นแล้วแล.

               จบอรรถกถาสาเลยยกสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค สาเลยยกสูตร ทรงโปรดชาวบ้านสาละ จบ.
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 479อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 483อ่านอรรถกถา 12 / 488อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=8867&Z=9055
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=6003
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=6003
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :