ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 488อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 493อ่านอรรถกถา 12 / 505อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค
มหาเวทัลลสูตร การสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปีติ

               อรรถกถามหาเวทัลลสูตร               
               มหาเวทัลลสูตรขึ้นต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า "ผู้มีอายุ" นี้เป็นคำแสดงความเคารพและความยำเกรง.
               คำว่า "มหาโกฏฐิกะ" เป็นชื่อของพระเถระนั้น.
               คำว่า "ออกจากที่เร้น" คือออกจากผลสมาบัติ.
               ในคำว่า "มีปัญญาทราม" นี้ คือ ขึ้นชื่อว่าปัญญาที่ชั่วทราม ไม่หมายความว่า ไม่มีปัญญา คือไร้ปัญญา.
               คำว่า "ด้วยเหตุมีประมาณเพียงไรหนอแล" คือคำถามกำหนดเหตุ. หมายความว่า ที่เรียกอย่างนั้น ด้วยเหตุเท่าไรหนอแล.
               ก็แลชื่อว่าการถามนี้มี ๕ อย่าง คือ
                         ๑. ถามเพื่อส่องสิ่งที่ยังไม่เห็น
                         ๒. ถามเพื่อเทียบเคียงสิ่งที่เห็นแล้ว.
                         ๓. ถามเพื่อตัดความสงสัย.
                         ๔. ถามเพื่อซ้อมความเข้าใจ (ให้ยอมรับรู้, ให้อนุมัติ).
                         ๕. ถามเพื่อต้องการแสดงเสียเอง (ถามเอง ตอบเอง).
               ต่อไปนี้เป็นเหตุที่ทำให้การถามเหล่านั้นแตกต่างกันออกไป.
               การถามเพื่อส่องสิ่งที่ยังไม่เห็นเป็นไฉน
               โดยปกติ ผู้ที่ยังไม่เข้าใจ ยังไม่เห็น ยังไม่ชั่ง ยังไม่ไตร่ตรอง ยังไม่แจ่มแจ้ง ยังไม่อบรมลักษณะ ก็ถามปัญหาเพื่อเข้าใจ เพื่อเห็น เพื่อชั่ง (เทียบ) เพื่อไตร่ตรอง เพื่อแจ่มแจ้ง เพื่ออบรมลักษณะนั้น นี้คือการถามเพื่อส่องถึงสิ่งที่ยังไม่เห็น.
               การถามเพื่อเทียบเคียงสิ่งที่เห็นแล้วเป็นไฉน
               โดยปกติ ผู้ที่เข้าใจได้เห็น ได้ชั่ง ได้ไตร่ตรอง ได้ทราบ ได้แจ่มแจ้ง ได้อบรมลักษณะไว้แล้ว ก็ยังถามปัญหาเพื่อต้องการเทียบเคียงกับหมู่ปราชญ์พวกอื่น นี้คือการถามเพื่อเทียบเคียง.
               การถามเพื่อตัดความสงสัย เป็นไฉน
               โดยปกติ ผู้ที่แล่นไปในความสงสัย แล่นไปในความเคลือบแคลง เกิดความคิดสองจิตสองใจว่า "เป็นอย่างนี้หรือไม่หนอ เป็นอะไร อย่างไรหนอ" ก็ถามปัญหาเพื่อต้องการตัดความสงสัย นี้คือการถามเพื่อตัดความสงสัย.
               ส่วนการถือเอาความยอมรับรู้แล้วถามในเวลาแสดงธรรมอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า. ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่าการถามเพื่อซ้อมความเข้าใจ.
               การถามของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ทรงถามภิกษุสงฆ์ด้วยพระองค์เองแท้ๆ แล้วทรงต้องการตอบเสียด้วยพระองค์เอง แบบนี้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย หลักตั้งมั่นของความระลึกเหล่านี้มีสี่อย่าง สี่อย่างเป็นไฉน" ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่าการถามเพื่อต้องการจะตอบ.
               ในการถามห้าอย่างนั้น ในที่นี้ประสงค์เอาการถามเพื่อเทียบเคียงสิ่งที่เห็นแล้ว.
               จริงอยู่ พระเถระนั่งในที่พักกลางวันของตนแล้วตั้งปัญหาขึ้นเอง เมื่อจะตัดสินเสียเอง ก็ทำพระสูตรนี้ตั้งแต่เริ่มต้นให้จบได้.
               ก็แหละบางคนอาจตั้งปัญหาขึ้นได้ แต่ตัดสินไม่ได้ บางคนตัดสินได้ แต่ตั้งขึ้นไม่ได้ บางคนไม่ได้ทั้งสองอย่าง บางคนก็ได้ทั้งสองอย่าง.
               ในคนเหล่านั้น พระเถระเป็นได้ทั้งสองอย่างทีเดียว เพราะเหตุไร เพราะมีปัญญามาก ก็เพราะอาศัยปัญญามาก จึงได้พระเถระหลายรูปที่บรรลุฐานะพิเศษในศาสนานี้ คือพระสารีบุตรเถระ พระมหากัจจายนะเถระ พระปุณณเถระ พระกุมารกัสสปเถระ พระอานนท์เถระและพระคุณท่านรูปนี้แหละ.
               จริงอยู่ ภิกษุที่มีปัญญาน้อยจะสามารถถึงที่สุดสาวกบารมีญาณไม่ได้ แต่ผู้มีปัญญามากจะสามารถถึงได้ เพราะความมีปัญญามากดังที่ว่ามานี้ พระสารีบุตรเถระจึงได้บรรลุตำแหน่งนั้น. ผู้มีปัญญาเหมือนพระเถระไม่มีเลย เพราะเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเลิศว่า ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุผู้มีปัญญามากซึ่งเป็นสาวกของเรานั้น คือสารีบุตร.
               ภิกษุที่มีปัญญาน้อยแค่ขนาดนิดหน่อยก็แบบนั้น จะสามารถรวบรวมเอามาเทียบเคียงกับพระสัพพัญญุตญาณ แล้วจำแนกเนื้อความของพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างย่อๆ โดยพิสดารไม่ได้ แต่ผู้มีปัญญามากอาจทำได้. เพราะความเป็นผู้มีปัญญามากดังที่ว่ามานี้ พระมหากัจจายนะเถระจึงเป็นผู้มีความสามารถในเรื่องนั้น. เพราะเหตุนั้นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเลิศว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุผู้จำแนกเนื้อความ ของคำที่เรากล่าวไว้อย่างย่อๆ โดยพิสดารได้ซึ่งเป็นสาวกของเรานั้น คือมหากัจจายนะ.
               ภิกษุที่มีปัญญาน้อยก็แบบนั้น จะกล่าวธรรมกถาปรารภเรื่องที่พึงกล่าว ๑๐ ประการแล้วแจกแจงวิสุทธิ ๗ ประการ จะไม่สามารถกล่าวธรรมกถาได้ แต่ผู้มีปัญญามากทำได้ เพราะความเป็นผู้มีปัญญามากดังว่ามานี้ พระปุณณเถระจึงแสดงลีลาเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ นั่งจับพัดที่วิจิตรบนที่นั่งแสดงธรรมที่ตกแต่งแล้วกล่าวธรรมกถากลางบริษัทสี่ เพราะเหตุนั้นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเลิศว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุผู้แสดงธรรม ซึ่งเป็นสาวกของเรานั้น คือ ปุณณะ ลูกชายนางมันตานีพราหมณี.
               ภิกษุที่มีปัญญาน้อยก็แบบนั้น เมื่อจะกล่าวธรรมกถาก็ดำเนินไปอย่างสะเปะสะปะ เหมือนคนตาบอดถือไม้เท้าเดินสะเปะสะปะ และเหมือนคนไต่สะพานไม้ที่เดินไปได้เพียงคนเดียว. แต่ผู้มีปัญญามากยกเอาคาถาแค่สี่บทมาตั้ง แล้วชักเอาข้อเปรียบเทียบและเหตุผลมารวมทำให้พระไตรปิฎกซึ่งเป็นพระพุทธดำรัส ซึ่งมีทั้งแบบต่ำและแบบสูงแสดงอยู่. ก็เพราะความเป็นผู้มีปัญญามาก พระกุมารกัสสปเถระจึงยกเอาคาถาแค่สี่บทมาตั้ง แล้วนำเอาข้อเปรียบเทียบและเหตุผลมาประกอบเข้ากับบทเหล่านั้น ทำให้พระไตรปิฎกซึ่งเป็นพระพุทธดำรัส มีทั้งแบบต่ำและแบบสูงแสดงอยู่ เหมือนทำให้ดอกไม้ห้าสีบานอยู่ในสระธรรมชาติ หรือเหมือนจุดตะเกียงน้ำมันพันไส้ให้โพลงอยู่บนยอดเขาสิเนรุ ฉะนั้น เพราะเหตุนั้นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเลิศว่า ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุผู้กล่าวอย่างวิจิตรซึ่งเป็นสาวกของเรานั้น คือกุมารกัสสปะ.
               ภิกษุที่มีปัญญาน้อยก็แบบนั้น ถึงใช้เวลาตั้งสี่เดือนก็ไม่สามารถเรียนคาถาเพียงสี่บทได้. ส่วนผู้มีปัญญามากยืนอยู่บนก้าวเดียวก็เรียนได้ตั้งร้อยตั้งพันบท ก็พระอานนท์เถระท่านยืนบนก้าวที่กำลังยกก้าวเดียวได้ ฟังครั้งเดียวเท่านั้นไม่ถามซ้ำอีก ก็รับเอาได้ตั้งหกหมื่นบท ตั้งหนึ่งหมื่นห้าพันคาถา ในขณะเดียวกันนั่นเอง เหมือนเอาเถาวัลย์ดึงเอาดอกไม้มาถือไว้ และที่ท่านได้เล่าเรียนมาแล้ว ก็ตั้งอยู่โดยอาการที่ได้รับไว้ เหมือนรอยขีดบนแผ่นหิน และเหมือนมันเหลวราชสีห์ที่ใส่ในหม้อทอง เพราะเหตุที่ท่านมีปัญญามาก. เหตุนั้นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเลิศว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุผู้มีคติ ซึ่งเป็นสาวกของเรานั้น คืออานนท์ ผู้มีสติ, ผู้มีธิติ (ปัญญาเครื่องทรงจำ), ผู้ได้ฟังมาก, ผู้อุปัฏฐาก (รับใช้) นั่นคืออานนท์.
               อันภิกษุที่มีปัญญาน้อยไม่สามารถที่จะถึงยอดประเภทปัญญาที่แตกฉานทั้งสี่อย่างได้เลย ต่อเป็นผู้มีปัญญามากจึงจะสามารถ. เพราะความเป็นผู้มีปัญญามากดังที่ว่ามานี้ พระมหาโกฎฐิกเถระจึงถึงปัญญาที่แตกฉานทั้งสี่ประเภทที่แน่นหนาไปด้วยนัยไม่มีที่สุด ด้วยอำนาจการประกอบไว้ในเบื้องต้นด้วยการบรรลุ การสอบถามและการฟัง. เหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเลิศว่า ภิกษุทั้งหลาย ตำแหน่งอันเลิศแห่งเหล่าภิกษุผู้บรรลุปัญญาที่แตกฉานซึ่งเป็นสาวกของเรานั้น คือมหาโกฏฐิกะ ดังนี้.
               ด้วยความเป็นผู้มีปัญญามากดังกล่าวมานี้ พระเถระจึงตั้งปัญหาขึ้นก็ได้ ชี้ขาดก็ได้ ทั้งสองอย่างก็ได้. ขณะที่ท่านนั่งในที่พักกลางวัน ท่านเองได้ตั้งปัญหาทุกข้อขึ้นมาแล้ว ท่านเองจะวินิจฉัยพระสูตรนี้ตั้งแต่ต้นจนถึงจบ (ก็ได้แต่) คิดว่า "ธรรมเทศนานี้งามเหลือเกิน จำเราจะเทียบเคียงกับท่านแม่ทัพธรรมผู้พี่ชายใหญ่ ต่อจากนั้น พระธรรมเทศนาที่เราสองคนใช้มติอย่างเดียวกัน ใช้อัธยาศัยอย่างเดียวกันตั้งไว้นี้ จะกลายเป็นธรรมเทศนาที่หนักแน่นปานร่มหิน และจะกลายเป็นธรรมเทศนาที่มีอุปการะมาก เหมือนเรือที่จอดไว้ที่ท่า สำหรับผู้ต้องการข้ามห้วงน้ำทั้งสี่แห่ง (มหาสมุทรทั้งสี่) และเหมือนรถเทียมม้าอาชาไนยพันตัวสำหรับผู้ต้องการไปสวรรค์." ดังนี้แล้ว จึงถามปัญหาเพื่อเทียบเคียงสิ่งที่เห็นแล้ว.
               เหตุนั้นจึงว่า ในบรรดาการถามเหล่านั้น ในที่นี้มุ่งเอาการถาม เพื่อเทียบเคียงสิ่งที่เห็นแล้ว.
               ในบทว่า "ไม่เข้าใจแจ่มแจ้งนี้" มีใจความว่า ผู้ที่ถูกเรียกว่า "ไม่มีปัญญา" ก็เพราะไม่เข้าใจแจ่มแจ้ง. ทุกแห่งมีนัยเหมือนกันนี้.
               คำว่า "ไม่เข้าใจชัดเจนว่า นี้เป็นทุกข์" คือ ไม่เข้าใจชัดเจนซึ่งความจริงเกี่ยวกับทุกข์ว่า นี้เป็นทุกข์ ทุกข์มีเพียงเท่านี้ ไม่มีทุกข์ที่นอกเหนือไปจากนี้ โดยลักษณะพร้อมกับหน้าที่ตามความเป็นจริง.
               คำว่า "นี้เหตุให้ทุกข์เกิดขึ้น" คือ ไม่เข้าใจชัดเจนโดยลักษณะพร้อมทั้งหน้าที่ตามความเป็นจริงว่า ความทะยานอยากที่เป็นตัวการให้เกิดมีทุกข์อันเป็นไปว่า "ทุกข์ย่อมโผล่มาจากความทะยานอยากนี้" เป็นความจริงเกี่ยวกับเหตุเกิดขึ้น.
               คำว่า "นี้เป็นความดับทุกข์ได้โดยไม่เหลือ" คือ ไม่รู้แจ่มแจ้งโดยลักษณะพร้อมทั้งหน้าที่ตามความเป็นจริงว่า ความจริงเกี่ยวกับความดับโดยไม่เหลือ คือความดับที่ทุกข์และเหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ทั้งสองเลิกเป็นไปว่า "นี้ทุกข์ และนี้คือตัวการที่ทำให้ทุกข์เกิดขึ้น" เมื่อถึงตำแหน่งนี้แล้วย่อมดับไปโดยไม่เหลือ".
               คำว่า "นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ได้โดยไม่เหลือ" คือ ไม่เข้าใจชัดเจนความจริงที่เกี่ยวกับทางว่า "ข้อปฏิบัตินี้ ย่อมไปถึงความดับทุกข์โดยไม่เหลือได้ โดยลักษณะพร้อมกับหน้าที่ตามความเป็นจริง."
               แม้ในอนันตรวาระ (วาระแห่งอนันตรปัจจัย) ก็พึงทราบใจความโดยนัยนี้.
               สำหรับในที่นี้พึงทราบว่า ท่านกล่าวถึงบุคคลผู้ทำกัมมัฏฐาน ที่ยึดเอาความจริงสี่อย่างมาเป็นอารมณ์อย่างย่อ.
               จริงอยู่ บุคคลนี้เรียนความจริงสี่ประการในสำนักอาจารย์ด้วยการฟัง เมื่อเรียนเสร็จแล้ว ก็ยึดมั่นอย่างนี้ว่า ยกเว้นความทะยานอยากเสียแล้ว สิ่งที่เกี่ยวกับภูมิสามชื่อว่าเป็นความจริงเกี่ยวกับทุกข์, ที่ชื่อว่าความจริงเกี่ยวกับเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นคือความทะยานอยาก, ความดับคือความไม่เป็นไปแห่งทุกข์และเหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ชื่อว่าความจริงเกี่ยวกับความดับทุกข์ได้โดยไม่เหลือ, เมื่อกำหนดรู้ความจริงเกี่ยวทุกข์และความจริงเกี่ยวกับเหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ก็จัดเป็นทางที่ความดับโดยไม่เหลือแห่งทุกข์ให้บรรลุ ก็ชื่อว่าเป็นความจริง คือทาง (ให้ถึงความดับทุกข์ได้โดยไม่เหลือ).
               ในความจริงทั้งสี่ประการนั้น ความจริงสองประการแรกเป็นวัฏฏะ สองประการหลังเป็นวิวัฏฏะ ความยึดมั่นในวัฏฏะก็มี ไม่ใช่ความยึดมั่นในวิวัฏฏะ. ฉะนั้น เมื่อยึดมั่น ก็ชื่อว่ายึดมั่นในความจริงเกี่ยวกับทุกข์ด้วยประการฉะนี้.
               ที่ชื่อว่าความจริงเกี่ยวกับทุกข์ ก็คือขันธ์ทั้งห้ามีรูปเป็นต้น. เพื่อจะกำหนดขันธ์ห้านั้น ก็หยั่งลงด้วยอำนาจกัมมัฏฐานที่มีธาตุสี่เป็นอารมณ์ แล้วจึงกำหนดมหาภูตสี่อย่างและรูปที่อาศัยมหาภูตทั้งสี่ว่ารูป.
               เมื่อกำหนดอย่างนี้ว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่มีธาตุสี่นั้นเป็นอารมณ์ เป็นนาม จึงชื่อว่ากำหนดว่า สองสิ่งนี้แหละคือนามรูป เหมือนตัดต้นตาลคู่.
               เมื่อได้กำหนดปัจจัยและสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยว่า "ก็สิ่งนี้ไม่ใช่ไม่มีเหตุ มันมีเหตุมีปัจจัย, ก็อะไรเล่าที่เป็นปัจจัย สิ่งทั้งหลายมีความไม่รู้เป็นต้น (เป็นปัจจัย)" อย่างนี้แล้ว ก็ยกขึ้นสู่ลักษณะที่ไม่เที่ยงว่า สิ่งทั้งหมดนี้เป็นของไม่เที่ยง เพราะอรรถว่าไม่มี.
               ต่อจากนั้นก็ยกขึ้นสู่ลักษณะ ๓ อย่างว่า เป็นทุกข์เพราะอาการเกิดขึ้น เสื่อมไปและบีบคั้น, ว่าเป็นของไม่มีตัวตน เพราะอาการไม่เป็นไปในอำนาจ, แล้วพิจารณาอยู่ตามลำดับวิปัสสนา ก็ย่อมบรรลุทางที่อยู่เหนือโลกได้ [โลกุตตรมรรค] ในขณะแห่งทาง (มรรคขณะ) ก็ย่อมแทงตลอดความจริงทั้งสี่ประการด้วยการแทงตลอดเพียงครั้งเดียว. ย่อมตรัสรู้ด้วยความตรัสรู้เพียงครั้งเดียว ย่อมแทงตลอดทุกข์ด้วยการแทงตลอดด้วยอำนาจการกำหนดรู้, ย่อมแทงตลอดเหตุเกิดขึ้นด้วยการแทงตลอดคือการละ ย่อมแทงตลอดความดับโดยไม่เหลือให้แจ่งแจ้ง, ย่อมแทงตลอดทางด้วยการแทงตลอดการอบรม. ย่อมตรัสรู้ทุกข์ด้วยความตรัสรู้การกำหนดรรู้. ย่อมตรัสรู้เหตุให้ทุกข์เกิดด้วยความตรัสรู้การละ, ย่อมตรัสรู้ความดับโดยไม่เหลือด้วยความตรัสรู้ทำให้แจ้ง, ย่อมตรัสรู้หนทางด้วยความตรัสรู้การอบรม.
               เขาแทงตลอดความจริงทั้งสามอย่างโดยหน้าที่ แทงตลอดความดับโดยไม่เหลือโดยอารมณ์. ส่วนในขณะแห่งผลของเขานั้น ไม่ต้องมีความผูกใจ ความรวบรวมใจ ความเอาใจใส่ และการพิจารณาว่า "เรากำหนดรู้ทุกข์ กำลังละเหตุให้เกิดทุกข์ กำลังทำให้แจ้งความดับโดยไม่เหลือ กำลังอบรมหนทาง. แต่สำหรับผู้ที่กำลังกำหนดถืออยู่นั้น หนทางของผู้ที่กำลังกำหนดถืออยู่นั้นแล ทำหน้าที่มีการกำหนดรู้เป็นต้นในความจริงสามประการให้สำเร็จอยู่ทีเดียว แทงตลอดความดับโดยไม่เหลือโดยอารมณ์.
               ในคำว่า "เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าผู้มีปัญญา" นี้ โดยต่ำที่สุดพระโสดาบัน, สูงที่สุดพระขีณาสพ ท่านแสดงว่าเป็นผู้มีปัญญา ส่วนผู้ที่เล่าเรียนพระพุทธพจน์ (จบ) สามปิฎก โดยบาลีบ้าง โดยอรรถกถาบ้าง โดยอนุสนธิบ้าง โดยก่อนหลังบ้าง แล้วเที่ยวทำให้เป็นชั้นต่ำและชั้นสูง แต่ไม่มีแม้แต่การกำหนดเอาด้วยอำนาจแห่งความไม่เที่ยง เป็นทุกข์และความไม่มีตัวตนเลยนี้ หาได้ชื่อว่าผู้มีปัญญาไม่ ยังชื่อว่าผู้ไม่มีปัญญา (อยู่ตามเดิม) อย่าไปเรียกผู้ที่เที่ยวเอาแต่ความรู้แจ้ง (วิญญาณจริต) นั้นว่าเป็นผู้มีปัญญา.
               คราวนี้ ผู้ที่ได้ยกขึ้นสู่ลักษณะสามอย่างแล้วพิจารณาตามลำดับวิปัสสนาอยู่ เที่ยวคิดว่า วันนี้ วันนี้แหละ อรหัตนี้ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญา ไม่ใช่ไม่มีปัญญา.
               ผู้มีปัญญา เมื่อใครยอมให้พบด้วยก็พบ (แต่) ฝ่าย (ที่มีปัญญาด้วยกัน).
               ส่วนในพระสูตร ท่านกล่าวแต่ความแทงตลอดเท่านั้น ในคำว่า "ความรู้แจ้ง" นี้ พระมหาโกฏฐิกเถระย่อมถามถึงอะไร ผู้ที่เอาความรู้แจ้งอันใดมาพิจารณาสังขารนั้น ก็เป็นผู้มีปัญญา ท่านพระมหาโกฏฐิกเถระจึงถามว่า "ข้าพเจ้าขอถามวิปัสสนาที่ต้องมา ความรู้แจ้ง และจิตผู้ทำงานของการพิจารณาสังขารนั้นกับท่าน.
               คำว่า "ย่อมรู้แจ้ง สุขบ้าง" คือ ย่อมรู้แจ้งความรู้สึกเป็นสุขบ้าง. แม้ในสองบทข้างบน ก็ทำนองเดียวกันนั่นแล. ด้วยบทว่า "ย่อมรู้แจ้งสุขบ้างนี้" แสดงถึงกัมมัฏฐานที่ไม่ได้ใช้รูปเป็นอารมณ์ด้วยอำนาจความรู้สึกที่มาโดยนัยเป็นต้นว่า "เมื่อเราเสวยความรู้สึกที่เป็นสุขอยู่ ก็รู้แจ้งว่าเราเสวยความรู้สึกที่เป็นสุขอยู่" ควรทราบใจความของบทนั้นตามนัยที่กล่าวไว้ในสูตรที่ว่าด้วยหลักตั้งสติ (สติปัฏฐานสูตร) นั่นแล.
               คำว่า "คละกัน" คือพระเถระย่อมถามว่า ที่ชื่อคละกัน เพราะอรรถว่าประกอบพร้อมด้วยลักษณะมีการเกิดขึ้นพร้อมกันเป็นต้น หรือแยกออกจากกัน สำหรับข้อนี้ไม่พึงเข้าใจไปว่า พระเถระเอาสิ่งที่เป็นของโลกและที่อยู่เหนือโลกทั้งสองสิ่ง คือปัญญาในมรรคและความรู้แจ้งแห่งวิปัสสนาเหล่านี้มาระคนปนเปกัน แล้วทำลายเสียระหว่างชั้น แล้วถามอย่างผู้ไม่รู้จักสมัย แต่พึงทราบว่า ท่านถามถึงความคละกัน พร้อมกับความรู้แจ้งหนทาง ในความรู้ชัดหนทางและกับความรู้แจ้งวิปัสสนา ในความรู้ชัดวิปัสสนาเท่านั้น ถึงพระเถระเมื่อจะตอบใจความนั้นแลแก่พระมหาโกฏฐิกะนั้น ก็กล่าวคำเป็นต้นว่า "สิ่งเหล่านี้คละกัน"
               คำว่า "และในกรณีนั้นบุคคลไม่พึงได้แห่งสิ่งเหล่านี้" คือ แห่งสิ่งสองอย่างที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ทั้งในขณะโลกิยมรรค ทั้งในขณะโลกุตรมรรคเหล่านี้.
               คำว่า "จำแนกแยกแยะ" หมายความว่า ไม่มีใครสามารถเพื่อจะแยกเป็นแผนกและพลิกแพลงแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างกันโดยอารมณ์ โดยที่ตั้ง โดยการเกิดขึ้น หรือโดยการดับไปได้.
               ก็ธรรมดาว่าอารมณ์ของสิ่งนั้นๆ มีอยู่.
               จริงอยู่ เมื่อบรรลุสิ่งที่เป็นของแบบโลกๆ จิตย่อมเป็นใหญ่เป็นหัวหน้า เมื่อบรรลุสิ่งที่อยู่เหนือโลก [โลกุตตร] ความรู้ชัดย่อมเป็นใหญ่เป็นหัวหน้า.
               จริงอย่างนั้น แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อตรัสถามถึงสิ่งที่เป็นของแบบโลกๆ ก็ไม่ตรัสถามอย่างนี้ว่า "ภิกษุ เธอบรรลุความรู้ชัดชนิดไหน เป็นความรู้ชัดในทางชั้นต้น หรือเป็นความรู้ชัดในทางชั้นที่สอง ที่สามและที่สี่" แต่จะตรัสถามด้วยอำนาจจิตว่า "ภิกษุ เธอมีจิตอย่างไร" และไม่ตรัสถามว่า "ภิกษุเธอมีผัสสะอย่างไร? มีเวทนาอย่างไร มีสัญญาอย่างไร มีเจตนาอย่างไร"
               แม้เมื่อจะทรงบัญญัติกุศลและอกุศล ก็ทรงบัญญัติด้วยอำนาจจิตอย่างนี้ว่า "สิ่งทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด สำเร็จด้วยใจ" และว่า "สิ่งที่เป็นกุศลเป็นไฉน ในสมัยใด จิตเป็นกุศลที่ท่องเที่ยวอยู่ในชั้นกาม ย่อมเป็นของเกิดขึ้นแล้ว" แต่เมื่อจะทรงถามถึงสิ่งที่อยู่เหนือโลก จะไม่ทรงถามว่า "ภิกษุ เธอมีสิ่งที่ทำหน้าที่กระทบอย่างไร มีความรู้สึกอย่างไร มีความรู้จำอย่างไร มีความจงใจอย่างไร" จะทรงถามด้วยอำนาจความรู้ชัดอย่างนี้ว่า "ภิกษุ ความรู้ชัดที่เธอบรรลุแล้วเป็นไฉน เป็นความรู้ชัดในหนทางชั้นต้น หรือเป็นความรู้ชัดในหนทางชั้นที่สอง ชั้นที่สามและชั้นที่สี่"
               แม้ในอินทรีย์สังยุต ก็ตรัสแต่สิ่งแบบโลกๆ และที่อยู่เหนือโลก [โลกุตตร] ในอารมณ์เท่านั้นอย่างนี้ว่า
               "ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ห้าเหล่านี้. ห้าอะไรบ้าง? คือ อินทรีย์คือความเชื่อถือ, อินทรีย์คือความเพียร, อินทรีย์คือความระลึก, อินทรีย์คือความตั้งใจมั่น, อินทรีย์คือความรู้ชัดเจน.
               ภิกษุทั้งหลาย ก็อินทรีย์คือความเชื่อถือ อันบุคคลพึงเห็นได้ที่ไหน พึงเห็นอินทรีย์คือความเชื่อถือในส่วนประกอบสำหรับการถึงกระแสสี่อย่างนี้. ก็ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์คือความเพียร อันบุคคลพึงได้ที่ไหน พึงเห็นอินทรีย์คือความเพียรในความเพียรชอบสี่อย่างนี้. ก็แลภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์คือความระลึก อันบุคคลพึงเห็นที่ไหน พึงเห็นอินทรีย์คือความรู้ชัดเจนได้ที่ความจริงอันประเสริฐ ๔ นี้" ดังนี้.
                         อินฺทฺริยสํยุตฺเตปิ ปญฺจิมานิ ภิกฺขเว อินฺทฺริยานิ กตมานิ
               ปญฺจ สทฺธินฺทฺริยํ วิริยินฺทฺริยํ สตินฺทฺริยํ สมาธินฺทฺริยํ
               ปญฺญินฺทฺริยํ กตฺถ จ ภิกฺขเว สทฺธินฺทฺริยํ ทฏฺฐพฺพํ จตูสุ
               โสตาปตฺติยงฺเคสุ เอตฺถ สทฺธินฺทฺริยํ ทฏฺฐพฺพํ กตฺถ จ
               ภิกฺขเว วิริยินฺทฺริยํ ทฏฺฐพฺพํ จตูสุ สมฺมปฺปธาเนสุ เอตฺถ
               วิริยินฺทฺริย ทฏฺฐพฺพํ กตฺถ จ ภิกฺขเว สตินฺทฺริยํ ทฏฺฐพฺพํ
               จตูสุ สติปฏฺฐาเนสุ เอตฺถ สตินฺทฺริยํ ทฏฺฐพฺพํ กตฺถ จ
               ภิกฺขเว สมาธินฺทฺริยํ ทฏฺฐพฺพํ จตูสุ ฌาเนสุ เอตฺถ
               สมาธินฺทฺริยํ ทฏฺฐพฺพํ กตฺถ จ ภิกฺขเว ปญฺญินฺทฺริยํ ทฏฺฐพฺพํ
               จตูสุ อริยสจฺเจสุ เอตฺถ ปญฺญินฺทฺริยํ ทฏฺฐพฺพนฺติ๑- เอวํ
               สวิสยสฺมึเยว โลกิยโลกุตฺตรา ธมฺมา กถิตา ฯ

____________________________
๑- สํ. มหา. ๑๙/๘๕๒-๗/๒๕๙-๖๐ ฯ

               เหมือนอย่างว่า เมื่อพวกเพื่อนซึ่งมีพระราชาเป็นที่ห้า คือลูกชายเศรษฐี ๔ คน พระราชา ๑ คิดว่า พวกเราจะเล่นนักขัตฤกษ์แล้วพากันเดินไปตามถนน เมื่อถึงเรือนลูกชายเศรษฐีคนหนึ่ง อีก ๔ คนก็พากันนั่งนิ่ง ผู้ที่เป็นเจ้าของเรือนเท่านั้นที่เที่ยวสั่งว่า "พวกเธอจงให้ของเคี้ยวของกินแก่พวกนี้ จงให้ของหอม พวงมาลัยและเครื่องสำอางเป็นต้นแก่พวกนี้.
               เมื่อไปถึงเรือนของคนที่สอง...ที่สาม...ที่สี่ อีกสี่คนก็พากันนั่งนิ่งผู้เป็นเจ้าของเรือนเท่านั้นที่เที่ยวได้สั่งว่า "พวกเธอจงให้ของเคี้ยวของกินแก่พวกนี้ จงให้ของหอมพวงมาลัยและเครื่องสำอางเป็นต้นแก่พวกนี้."
               คราวนี้หลังเขาหมด เมื่อไปถึงพระราชวัง พระราชาเท่านั้นถึงจะทรงเป็นใหญ่ในที่ทั้งปวงก็จริง ถึงอย่างนั้นในเวลาแห่งพระราชานี้ ก็จะทรงเที่ยวได้สั่งว่า "พวกเธอจงให้ของเคี้ยวของกินแก่คนพวกนี้ จงให้ของหอมและพวงมาลัยและเครื่องสำอาง เป็นต้นแก่พวกนี้." ในพระราชวังของพระองค์นั่นเองฉันใด.
               ฉันนั้นนั่นแล เมื่ออินทรีย์อันมีความเชื่อถือเป็นที่ห้า แม้กำลังเกิดขึ้นอยู่ในอารมณ์เดียวกัน เหมือนเมื่อเพื่อนเหล่านั้นหยั่งลงสู่ถนนสายเดียวกัน ในเรือนแรก อีก ๔ คนพากันนั่งนิ่ง ผู้ที่เป็นเจ้าของเรือนเท่านั้นเที่ยวได้สั่งงานฉันใด, ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อส่วนประกอบสำหรับถึงกระแส อินทรีย์คือความเชื่อถือที่มีลักษณะตัดสินอารมณ์ได้เด็ดขาดเท่านั้น ย่อมเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า, อินทรีย์ที่เหลือกลายเป็นคล้อยไปตามอินทรีย์คือความเชื่อถือนั้น.
               เมื่อถึงสัมมัปปธาน อินทรีย์คือความเพียร อันมีความประคับประคองเป็นลักษณะเท่านั้นที่กลายเป็นใหญ่เป็นหัวหน้าไป ที่เหลือก็พลอยคล้อยตามอินทรีย์คือความเพียรนั้น, เหมือนในเรือนของคนที่ ๒ อีก ๔ คนนอกนี้ก็นั่งนิ่งปล่อยให้เจ้าของเรือนเท่านั้นเที่ยวได้สั่งงานฉะนั้น.
               เมื่อถึงหลักตั้งความระลึก อินทรีย์คือความระลึกที่มีความปรากฏเป็นลักษณะเท่านั้นที่กลายเป็นใหญ่เป็นหัวหน้าไป ที่เหลือก็พลอยคล้อยไปตามอินทรีย์คือความระลึกนั้น เหมือนในเรือนของคนที่ ๓ อีก ๔ คนนั่งนิ่ง ปล่อยให้เจ้าของเรือนเท่านั้นเป็นธุระเที่ยวได้สั่งงานฉะนั้น.
               เมื่อถึงความหลุดพ้นเพราะอำนาจฌาน อินทรีย์คือความตั้งใจมั่นอันมีความไม่ซัดส่ายเป็นลักษณะเท่านั้น ที่กลายเป็นใหญ่เป็นหัวหน้าไป ที่เหลือก็พลอยคล้อยไปตามอินทรีย์คือความตั้งใจมั่นนั้น, เหมือนในเรือนของคนที่ ๔ อีก ๔ คนนั่งนิ่ง ปล่อยให้เจ้าของเรือนเท่านั้นเป็นธุระเที่ยวได้จัดการ ฉะนั้น.
               เมื่อมาถึงความจริงอันประเสริฐ อินทรีย์คือความรู้ชัดเจนที่มีความรู้ชัดเจนเป็นลักษณะเท่านั้น ที่กลายเป็นใหญ่เป็นหัวหน้าไป ที่เหลือก็พลอยคล้อยไปตามอินทรีย์ คือความรู้ชัดเจนเท่านั้น, เหมือนเมื่อถึงพระราชวังในตอนท้ายเขาหมด อีก ๔ คนก็นั่งนิ่ง พระราชาเท่านั้นที่ทรงเที่ยวสั่งงานในพระราชวัง ฉะนั้น.
               พระมหาโกฏฐิกเถระผู้ที่ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งเลิศแห่งภิกษุสาวกถึงความแตกฉาน เมื่อจะถามเรื่องแบบโลกๆ ก็ทำจิตให้เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้าแล้วจึงถาม เมื่อจะถามถึงเรื่องที่อยู่เหนือโลก [โลกุตร] ก็ยกเอาความรู้ชัดเจนมาให้เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้าแล้วจึงถาม.
               ฝ่ายพระสารีบุตรเถระผู้เป็นแม่ทัพธรรม ก็แก้อย่างนั้นเหมือนกันด้วยประการฉะนี้แล.
               คำว่า "ย่อมรู้ชัดเจนอันใด ท่านผู้มีอายุ?" คือ ความรู้หนทางชัดเจน ย่อมรู้ชัดเจนซึ่งสิ่งที่เป็นความจริงสี่ประการอันใด โดยทำนองเป็นต้นว่า นี้ทุกข์.
               คำว่า "ย่อมรู้แจ้ง อันนั้น" คือ แม้ความรู้แจ้งในหนทาง ก็ย่อมรู้แจ้งอันนั้น อย่างนั้นเหมือนกัน.
               คำว่า "ย่อมรู้แจ้งอันใด" คือ ความรู้แจ้งในวิปัสสนาโดยทำนองเป็นต้นว่า "สิ่งใดที่เป็นผู้ปรุง ผู้ถูกปรุง (สิ่งนั้น) ไม่เที่ยง".
               คำว่า "ย่อมรู้ชัดสิ่งนั้น" คือ แม้ความรู้ชัดด้วยวิปัสสนา ก็ย่อมรู้ชัดสิ่งนั้นเหมือนอย่างนั้นเหมือนกัน.
               คำว่า "เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้" คือ เพราะเหตุนั้นสิ่งเหล่านี้.
               คำว่า "คละกัน" คือ เจือกันเพราะความที่เกิดพร้อมกัน มีที่ตั้งอย่างเดียวกัน และมีอารมณ์อย่างเดียวกัน.
               คำว่า "พึงอบรมความรู้ชัด" นี้ ท่านกล่าวประสงค์เอาความรู้ชัดในหนทาง ส่วนความรู้แจ้งที่ประกอบพร้อมกับความรู้ชัดนั้น ก็ต้องอบรมให้พร้อมกันกับความรู้ชัดนั้นด้วย.
               คำว่า "ความรู้แจ้ง เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้" นี้ ท่านกล่าวหมายเอาความรู้แจ้งในวิปัสสนา ส่วนความรู้ชัดที่ประกอบกับความรู้แจ้งในวิปัสสนา ก็พึงกำหนดไปพร้อมๆ กับความรู้แจ้งนั้นด้วย. ทำไมท่านจึงถามคำว่า "ความรู้สึก ความรู้สึก?" แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ต้องกำหนดว่าท่านหมายเอาแต่ความรู้สึกที่สำหรับใช้พิจารณาไตร่ตรองซึ่งเป็นไปในภูมิสามเท่านั้น.
               คำว่า "ย่อมเสวยสุขบ้าง" คือย่อมเสวยคือตามเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข. ทำนองอย่างเดียวกันนี้แหละ ย่อมใช้ได้แม้ในสองบทหน้าด้วย.
               จริงอยู่ ท่านกล่าวถึงอารมณ์ที่เป็นสุข ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข ในที่นี้ ตามมหาลิสูตรนี้ว่า "มหาลิ ก็แลถ้ารูปนี้จะได้เป็นทุกข์โดยส่วนเดียว เป็นทุกข์ ถูกทุกข์ตกต้อง ถูกทุกข์เหยียบย่ำ สุขกล้ำกรายเข้ามาไม่ได้ ถ้าเป็นเสียแบบนี้ หมู่สัตว์ก็ไม่พึงกำหนัดหนักในรูป. มหาลิ ก็เพราะเหตุที่รูปแล เป็นสุข ถูกสุขตกต้อง ถูกสุขเหยียบย่างเข้ามา ทุกข์กล้ำกรายเข้ามาไม่ได้ ฉะนั้น หมู่สัตว์จึงกำหนัดหนักในรูป เพราะกำหนัดหนัก จึงประกอบจนติด, เพราะประกอบจนติดจึงแปดเปื้อน. ก็แล ถ้าเวทนานี้ ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขารทั้งหลาย ฯลฯ มหาลิ ก็แล ถ้าวิญญาณนี้จะได้เป็นทุกข์โดยส่วนเดียว ฯลฯ จึงแปดเปื้อน." ด้วยประการฉะนี้.
               และก็อีกอย่างหนึ่ง ควรทราบใจความในเรื่องความรู้สึกนี้อย่างนี้ว่า "ความรู้สึกที่เป็นสุขอีกอันหนึ่ง ก็ย่อมจะทำความรู้สึกที่เป็นสุขอันก่อนให้เป็นอารมณ์แล้วจึงเสวย. ความรู้สึกเป็นทุกข์อันหลัง ก็ย่อมจะทำความรู้สึกที่เป็นทุกข์อันก่อนให้เป็นอารมณ์แล้วจึงเสวย. ความรู้สึกที่ไม่ใช่ทุกข์ที่ไม่ใช่สุขอันหลัง ก็ย่อมจะกระทำความรู้สึกที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขอันก่อนให้เป็นอารมณ์แล้วจึงเสวย. มีคำที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า "ก็ความรู้สึกนั่นแล ย่อมเสวยไม่มีใครอื่นที่ชื่อว่าเป็นผู้เสวย."
               พระมหาโกฏฐิกเถระถามถึงอะไรในบทนี้ว่า "ความจำได้หมายรู้ ความจำได้หมายรู้" คำว่า ลักษณะแห่งความจำได้หมายรู้ก็ดี ว่าลักษณะแห่งความจำได้หมายรู้ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อก็ดีแห่งปัญหาว่า อะไรเป็นลักษณะแห่งความจำได้หมายรู้ อะไรเป็นลักษณะแห่งความจำได้หมายรู้ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ นี้เป็นอย่างเดียวกันนั่นเอง.
               ถึงแม้จะเป็นเช่นนี้ ก็พึงกำหนดไว้ว่า ท่านหมายเอาแต่ความจำได้หมายรู้ที่เกิดพร้อมกับความพิจารณาไตร่ตรองที่เป็นไปในภูมิทั้งสามเท่านั้น.
               คำว่า "ย่อมจำสีเขียวบ้าง" คือ เมื่อทำบริกรรมในดอกไม้สีเขียว หรือในผ้าแล้วให้ถึงอุปจาระหรืออัปปนา ชื่อว่าย่อมรู้จำ ก็ในอรรถนี้ ใช้ได้ทั้งความรู้จำในบริกรรม (ตระเตรียม) ทั้งความรู้จำในอุปจาระ (ฌานที่เฉียดๆ เข้าไป) ทั้งความรู้จำในอัปปนา (ฌานที่แนบแน่น) ถึงความรู้จำที่เกิดขึ้นในสีเขียวว่า "สีเขียว" ก็ใช้ได้เหมือนกัน.
               ในสีเหลืองเป็นต้น ก็ทำนองนี้แหละ.
               ทำไม ท่านจึงไม่ถือเอาความรู้ชัดที่ถือเอาสิ่งทั้งสามนี้ คือ ความรู้สึก ความรู้จำ ความรู้แจ้ง ในบทเหล่านี้ว่า "ผู้มีอายุ ก็แลความรู้สึก" ความรู้จำ ความรู้แจ้งอันใดด้วยเล่า "เพราะไม่ใช่เป็นการรวบรวมเอามาทั้งหมด."
               จริงอยู่ เมื่อถือเอาด้วยความรู้ชัด ความรู้สึกเป็นต้นที่ประกอบด้วยความรู้ชัด [ปญฺญาสมฺปยุตฺตเวทนาทโย] จึงจะได้ ที่ไม่ประกอบ [วิปฺปยุตฺตา] หาได้ไม่. แต่เมื่อไม่ถือเอาความรู้ชัดนั้น, เมื่อสิ่งเหล่านั้นได้รับการถือเอาแล้ว. ความรู้สึกเป็นต้นทั้งที่ประกอบด้วยความรู้ชัดทั้งที่ไม่ประกอบ ชั้นที่สุดแม้แต่สิ่งที่ทำหน้าที่รู้แจ้งทั้ง ๑๐ ดวง [เทฺว ปญฺจวิญฺญาณธมฺมา] ก็เป็นอันได้ด้วย.
               เหมือนอย่างว่า ชายสามคนพึงกล่าวว่า "ด้าย ด้าย" คนที่สี่ว่า "ด้ายร้อยแก้ว" ในคนเหล่านั้น สามคนแรกย่อมได้การเดาบ้าง การคิดคาดคะเนเป็นต้นบ้าง และด้ายจำนวนมากอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยที่สุดเมื่อแสวงหาแม้แต่ใยแมงมุมหรือด้ายร้อยแก้ว ก็ย่อมได้นิดหน่อยฉันใด พึงทราบข้อเปรียบเทียบฉันนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง บางท่านก็กล่าวว่า "ท่านแก้ไว้แล้ว เพราะได้การประกอบไปพร้อมๆ กันกับความรู้ชัดและความรู้แจ้งมาแต่เบื้องล่างแล้ว และเพราะฉะนั้น จึงไม่จัดเข้าในที่นี้ เพราะความที่ท่านได้แก้ไว้แล้ว.
               คำว่า "ผู้มีอายุก็แล ย่อมเสวยความรู้สึกใด" คือ ความรู้สึกย่อมเสวยอารมณ์ใด แม้ความรู้สึกก็ย่อมจำอารมณ์นั้นเหมือนกัน. คำว่า "ย่อมรู้จำอารมณ์ใด" หมายความว่า ความรู้จำ ย่อมรู้จำอารมณ์ใด แม้ความรู้แจ้ง ก็ย่อมรู้แจ้งอารมณ์นั้นเหมือนกัน.
               คราวนี้ พึงทราบความแตกต่างและความไม่แตกต่างในคำเหล่านี้ คือ "ย่อมรู้จำ ย่อมรู้แจ้ง ย่อมรู้ชัด" ในคำทั้ง ๓ นั้น ต่างกันแต่เพียงคำนำหน้า (อุปสรรค) เท่านั้น.
               ส่วนบทว่า "ย่อมรู้" ไม่มีความแตกต่างกัน. แม้ในอรรถว่ารู้ของบทนั้นก็พึงทราบความแตกต่างกัน.
               จริงอยู่ ความรู้จำสักแต่ว่ารู้จำอารมณ์ด้วยอำนาจสีเขียวเป็นต้นเท่านั้น ไม่อาจให้ถึงการแทงทะลุลักษณะทั้งสาม คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนได้.
               ความรู้แจ้งย่อมรู้แจ้งอารมณ์ด้วยอำนาจสีเขียวเป็นต้นและให้ถึงการแทงทะลุลักษณะมีไม่เที่ยงเป็นต้นก็ได้ แต่จะให้ขวนขวายแล้วถึงความปรากฏของมรรคไม่ได้.
               ความรู้ชัดย่อมรู้จำอารมณ์ด้วยอำนาจสีเขียวเป็นต้นก็ได้ ให้ถึงการแทงทะลุลักษณะด้วยอำนาจความไม่เที่ยงเป็นต้นก็ได้ และขวนขวายแล้วสามารถให้บรรลุความปรากฏของมรรคได้ด้วย.
               เหมือนอย่างว่า เราเอากหาปณะมากองไว้บนแผ่นกระดานของเหรัญญิก (เจ้าหน้าที่การเงิน) เมื่อคนสามคน คือ เด็กที่ยังไม่มีความรู้, ชายชาวบ้าน และเหรัญญิกใหญ่มายืนดู เด็กที่ยังไม่มีความรู้ย่อมรู้ได้แต่เพียงความวิจิตรงดงามและชนิดสี่เหลี่ยมหรือกลมของกหาปณะเท่านั้น ไม่รู้ว่า นี้เขายอมรับรู้กันทั่วว่าเป็นแก้วเครื่องอุปโภคบริโภคของคนทั้งหลาย.
               ชายชาวบ้านย่อมรู้ถึงความวิจิตรเป็นต้นด้วย รู้ถึงความที่เขายอมรับรู้ทั่วกันว่าเป็นแก้วสำหรับใช้เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคของคนทั้งหลายด้วย แต่ไม่รู้ว่า "ก็กหาปณะนี้ปลอม นี้ไม่ปลอม นี้หยาบ นี้ละเอียด"
               เหรัญญิกใหญ่ย่อมรู้ถึงความวิจิตรเป็นต้นด้วย รู้ถึงความที่เขายอมรับรู้กันว่าเป็นแก้วด้วย รู้ถึงความเก๊เป็นต้นด้วย. และก็เมื่อรู้อยู่ ก็ดูรูปนั้นบ้าง ฟังเสียงบ้าง ดมกลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง เอามือหยิบสำรวจดูความหนักและเบาบ้าง แล้วก็รู้ว่าผลิตที่หมู่บ้านโน้นบ้าง รู้ว่าผลิตในจังหวัดโน้น ในเมืองโน้น ใกล้สระธรรมชาติโน้น ใต้เงาภูเขาโน้น ที่ฝั่งแม่น้ำโน้น ผลิตโดยอาจารย์คนโน้นบ้างฉันใด,
               ความรู้จำก็เหมือนเด็กที่ยังไม่มีความรู้ดูกหาปณะ ย่อมรู้จำแต่อารมณ์ด้วยอำนาจสีเขียวเป็นต้นเท่านั้น. ความรู้แจ้งก็เหมือนชายชาวบ้านดูกหาปณะ ย่อมรู้จำอารมณ์ด้วยอำนาจสีเขียวเป็นต้นด้วย ให้ถึงความแทงทะลุลักษณะด้วยสามารถไม่เที่ยงเป็นต้นด้วย. ความรู้ชัดก็เหมือนเหรัญญิกใหญ่ดูกหาปณะ ย่อมรู้อารมณ์ด้วยอำนาจสีเขียวเป็นต้นด้วย ให้ถึงการแทงทะลุลักษณะด้วยอำนาจไม่เที่ยงเป็นต้นด้วย ให้ขวนขวายแล้วถึงความปรากฏแห่งหนทาง (มรรค) ด้วย ฉันนั้นนั่นแล.
               ส่วนความแตกต่างแห่งสิ่งเหล่านั้นนั้น เจาะทะลุได้ยาก.
               เพราะเหตุนั้น ท่านพระนาคเสนจึงกล่าวว่า "มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำสิ่งที่ทำได้ยากแล้ว" ท่านนาคเสนผู้เจริญ สิ่งที่ทำได้ยากอะไรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกระทำแล้ว.
               มหาบพิตร สิ่งที่ทำได้ยากที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกระทำแล้ว คือข้อที่ทรงบอกการกำหนดสิ่งที่เป็นจิตและสิ่งที่เกิดกับจิตซึ่งไม่มีรูปร่างเป็นไปในอารมณ์อย่างเดียวกันว่า ‘นี้คือสิ่งที่ทำหน้าที่กระทบ นี้คือสิ่งที่ทำหน้าที่รู้สึก นี้คือสิ่งที่ทำหน้าที่รู้จำ นี้คือสิ่งที่ทำหน้าที่จงใจ นี้คือสิ่งที่ทำหน้าที่คิด’. ขนาดคนที่เอาน้ำมัน ๕ ชนิด นี้คือ น้ำมันงา น้ำมันผักกาด น้ำมันมะซาง น้ำมันละหุ่ง น้ำมันเหลวมาใส่รวมในภาชนะเดียวกัน แล้วเอาไม้คนคู่มาคนทั้งวัน แล้วก็ตักแยกจากกันแต่ละอย่างๆ ว่า นี้น้ำมันงา นี้น้ำมันผักกาด นี้ก็นับว่าทำได้ยากอยู่แล้ว นี้ยิ่งทำให้ยากยิ่งกว่านั้นเสียอีก เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นพระธรรมราชา พระธรรมเมศวร เพราะความที่ทรงแทงทะลุพระสัพพัญญุตญาณอย่างดี แล้วตรัสบอกการกำหนดสิ่งที่หารูปร่างไม่ได้ที่กำลังเป็นไปในอารมณ์อย่างเดียวกันเหล่านี้.
               พึงทราบความข้อนี้ว่า เหมือนกับตักน้ำมาแยกเป็นส่วนๆ อย่างนี้ว่า นี้เป็นน้ำของแม่น้ำคงคา นี้ของแม่น้ำยมุนา ในที่ที่แม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ สายไหลเข้าสู่ทะเลแล้วฉะนั้น.
               คำว่า "ที่สละออกแล้ว" คือสลัดออกไปแล้ว หรือที่ถูกทิ้งไปแล้ว. เมื่อในคำว่า "ที่สละออกแล้ว นั้นทั้งห้า" เมื่อมีความหมายว่า "ที่ถูกทิ้งไปแล้ว" ก็พึงทราบว่าเป็นตติยาวิภัติ.
               มีคำที่ท่านอธิบายไว้ว่า อันความรู้แจ้งที่สลัดออกไปจากอินทรีย์ทั้ง ๕ แล้วเป็นไปในประตูใจ หรือที่ถูกอินทรีย์ทั้ง ๕ ทอดทิ้งไปแล้ว เพราะความที่ความรู้แจ้งนั้นไม่เข้าถึงความเป็นที่ตั้งได้.
               คำว่า "หมดจด" คือ ไม่มีอะไรเข้าไปทำให้แปดเปื้อน.
               คำว่า "ด้วยความรู้แจ้งทางใจ" คือ ด้วยจิตที่มีฌานที่สี่ชนิดที่ยังท่องเที่ยวไปในรูปเป็นอารมณ์.
               คำว่า "พึงแนะนำอะไร" คือ พึงรู้อะไร เพราะสิ่งที่พึงรู้ในคำเป็นต้นว่า "ธรรมดาสิ่งที่พึงแนะนำบางสิ่งบางอย่างยังมีอยู่...ธรรม" ท่านเรียกว่า "เนยฺย = พึงแนะนำ, พึงรู้".
               พึงรู้อากาสานัญจายตนะอย่างไร
               อรูปาวาจรสมาบัติอันบุคคลพึงรู้ได้ด้วยจิตที่มีฌานที่สี่ชนิดที่ยังท่องเที่ยวไปในรูปเป็นอารมณ์; เพราะฉะนั้น ผู้ที่อยู่ในฌานที่สี่ที่ท่องเที่ยวไปในรูป ย่อมสามารถทำให้อรูปาวจรสมาบัติ (การเข้าถึงฌานที่ไม่ท่องเที่ยวไปในรูป หรือท่องเที่ยวไปในสิ่งที่ไม่ใช่รูป) เกิดขึ้นได้. เพราะอรูปาวจรสมาบัติย่อมสำเร็จแก่ผู้ที่อยู่ในฌานที่สี่ที่ท่องเที่ยวไปในรูปได้. ฉะนั้น พระสารีบุตรเถระจึงตอบว่า "พึงรู้ (หรือแนะนำ) อากาสานัญจายตนะ" ดังนี้.
               เมื่อเป็นอย่างนั้น ทำไมจึงไม่กล่าวถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะด้วยเล่า เพราะไม่มีการยึดไว้เป็นอีกแผนกหนึ่งต่างหาก ในเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น บุคคลจะพิจารณาโดยเป็นหมวดๆ (และ) โดยเป็นนัยๆ ก็ได้.
               การยึดเป็นแผนกๆ ย่อมไม่เกิดแก่ภิกษุ แม้ขนาดพระธรรมเสนาบดีก็ตามที. เพราะฉะนั้น แม้พระเถระก็พิจารณาโดยเป็นหมวดๆ (และ) โดยเป็นนัยๆแล้วก็แก้ว่า "ได้ยินเขาว่ามาว่า สิ่งเหล่านี้ไม่มีแล้วย่อมมีพร้อม ที่มีแล้วย่อมเสื่อมไปอย่างนี้" ด้วยประการฉะนี้.
               ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะความที่พระสัพพัญญุตญาณอยู่ในกำพระหัตถ์ ทรงยกสิ่งมากกว่าห้าสิบอย่าง แม้ในเนวสัญญานาสัญญายตนะ ด้วยการยกขึ้นเป็นองค์จัดไว้เป็นแผนกๆ แล้วตรัสว่า "การแทงทะลุอรหัตตผลมีประมาณเท่ากับการเข้าถึงความรู้จำ (สัญญาสมาบัติ)" ดังนี้.

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค มหาเวทัลลสูตร การสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปีติ
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 488อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 493อ่านอรรถกถา 12 / 505อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=9220&Z=9419
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=6197
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=6197
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :