ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 505อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 514อ่านอรรถกถา 12 / 520อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค
จูฬธรรมสมาทานสูตร ว่าด้วยธรรมสมาทาน ๔

               อรรถกถาจูฬธัมมสมาทานสูตร               
               จูฬธัมมสมาทานสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ :-
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า "สมาทานธรรม" ได้แก่ การถือที่ท่านถือเอาด้วยบทว่าธรรมดังนี้.
               บทว่า "ความสุขที่เกิดในปัจจุบัน" ได้แก่ ความสุขในปัจจุบัน. ความสุขในการประมวลมาทำได้ง่าย คืออาจให้เต็มได้โดยง่าย.
               บทว่า "ผลที่เป็นทุกข์ข้างหน้า" ได้แก่ ผลที่เป็นทุกข์ ในกาลให้ผลในอนาคต.
               พึงทราบอธิบายในบททั้งปวงโดยอุบายนี้.
               บทว่า "ไม่มีโทษในกามทั้งหลาย" ความว่า ไม่มีโทษในวัตถุกามบ้าง กิเลสกามบ้าง.
               บทว่า "ถึงความเป็นเป็นผู้ดื่มด่ำ" ความว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นถึงความดื่มด่ำ คือความเป็นสิ่งที่ตนพึงดื่ม ได้แก่ความเป็นสิ่งที่ตนพึงบริโภคตามชอบใจด้วยกิเลสกามในวัตถุกาม.
               บทว่า "ผูกให้เป็นจุก" ได้แก่ พวกดาบสและปริพาชกผู้เกล้าผมทำให้เป็นจุก.
               บทว่า "กล่าวอย่างนี้" คือ ย่อมกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า "ย่อมบัญญัติการกำหนดรู้" ได้แก่ ย่อมบัญญัติการละคือการก้าวล่วง.
               บทว่า "ฝักเถายางทราย" ได้แก่ ฝักเถายางทรายที่สุกแล้ว จะมีสัณฐานยาว.
               บทว่า "พึงแตก" ความว่า แห้งด้วยแดดแล้วแตก.
               บทว่า "โคนต้นรัง" ได้แก่ ใกล้ต้นรัง.
               บทว่า "พึงถึงความสะดุ้ง" ความว่า ย่อมถึง (ความสะดุ้ง).
               เพราะเหตุไร?
               เพราะกลัวความพินาศไปแห่งที่อยู่ เพราะว่าเถายางทรายที่ตกไปที่ต้นไม้ เกิดขึ้นแล้วจากพืช ย่อมเลื้อยขึ้นต้นไม้. เถายางทรายนั้นมีใบใหญ่และหนาประกอบด้วยใบเช่นกับใบทองหลาง. ลำดับนั้น เถายางทราย เมื่อกำจัดต้นไม้นั้นตั้งแต่โคนไปทะลุค่าคบทั้งปวง ให้เกิดน้ำหนักอย่างมากตั้งอยู่เถายางทรายนั้น เมื่อลมพัดมาหรือเมื่อฝนตก สร้างความทึบ หักกิ่งน้อยใหญ่ทั้งปวงของต้นไม้นั้นให้ตกไปบนพื้นดิน. แต่นั้น เมื่อต้นไม้นั้นล้มไป วิมานย่อมแตกพินาศไป เทวดานั้นย่อมถึงความสะดุ้ง เพราะกลัวความพินาศไปแห่งวิมานด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า "เทวดาผู้สิงอยู่ในสวน" ความว่า เทวดาผู้สิงอยู่ตามสวนดอกไม้และสวนผลไม้นั้นๆ.
               บทว่า "เทวดาผู้สิงอยู่ในป่า" ได้แก่ เทวดาผู้สิงอยู่ในป่าอันธวันและสุภควันเป็นต้น.
               บทว่า "รุกขเทวดา" ได้แก่ เทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นสะเดาเป็นต้นที่หวงแหนไว้.
               บทว่า "ต้นสมุนไพร หญ้าและไม้เจ้าป่าเป็นต้น" ความว่า เทวดาได้สิงแล้วที่ต้นสมุนไพรมีต้นสมอและมะขามป้อมเป็นต้น ที่ต้นหญ้ามีตาลและมะพร้าวเป็นต้น และไม้เจ้าป่าอันเป็นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในป่า.
               บทว่า "คนทำงานในป่า" ความว่า พวกมนุษย์ที่เที่ยวทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาคนงานมีการไถ เกี่ยว ขนไม้และเฝ้าโคเป็นต้นในป่า.
               บทว่า "พึงลุกขึ้น" ได้แก่ พึงเคี้ยวกิน.
               บทว่า "เป็นระย้า" ได้แก่ ห้อยย้อย ดุจล้อเล่นในที่ที่ถูกลมพัด.
               บทว่า "เถายางทรายนี้มีสัมผัสเป็นสุข" ความว่า เถายางทรายอย่างนี้ แม้ถูกต้องก็เป็นสุข ถึงมองดูก็ให้เกิดความสุข ย่อมให้เกิดความพอใจ แม้ในเพราะการดูและการถูกต้องเถาว่า พวกเด็กๆ ของเราจักมีโรงดื่ม จักมีที่เล่น เราได้วิมานที่สองแล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วอย่างนี้.
               บทว่า "ทำให้เป็นคบ" ความว่า พึงตั้งอยู่ด้วยอาการคล้ายฉัตรข้างบนกิ่งทั้งหลาย.
               บทว่า "สร้างความทึบ" ความว่า ให้เกิดความทึบข้างล่าง. เถายางทรายนั้น เมื่อเลื้อยขึ้นข้างบน ก็ม้วนต้นไม้ทั้งสิ้นไว้ข้างล่างอีก.
               บทว่า "ทำลาย" ความว่า เพราะทำให้ทึบอย่างนี้ แต่นั้น เถายางทรายนี้ก็จะเลื้อยไต่ขึ้นไปตั้งแต่โคนตามกิ่งที่งอกขึ้นไปแล้ว ม้วนกิ่งทุกกิ่งไว้ ครั้นถึงยอดแล้วก็จะห้อยลงโดยทำนองนั้นนั่นแหละอีก และเลื้อยขึ้นไปรวบต้นไม้ทั้งหมดไว้ให้กิ่งทั้งหมดอยู่ข้างล่าง ตนเองอยู่ข้างบน ครั้นเมื่อลมพัดหรือฝนตก ก็จะทำลายกระจัดกระจายไป วิมานนั้นพึงตั้งอยู่เพียงเข่าเท่านั้นที่โคนต้นไม้นั้น ย่อมมีวิมานซึ่งอยู่บนกิ่งไม้ ครั้นเมื่อกิ่งหักอยู่ได้ทำลายที่กิ่งนั้นๆ เมื่อทุกกิ่งหักหมด วิมานทั้งปวงก็ย่อมพังพินาศ ก็วิมานที่ตั้งอยู่บนต้นไม้ก็จะตั้งอยู่เพียงโคนต้นไม้ ตราบเท่าที่ยังไม่พินาศนี้เป็นวิมานที่อยู่บนกิ่งไม้. เพราะฉะนั้น เมื่อทุกกิ่งหักหมดแล้ว เทวดาได้อุ้มลูกน้อยยืนที่ตอไม้แล้วเริ่มคร่ำครวญ.
               บทว่า "ผู้มีชาติราคะกล้า" ได้แก่ ผู้มีราคะหนาเป็นสภาวะ.
               บทว่า "เสวยทุกข์และโทมนัสที่เกิดจากราคะ" ความว่า เพราะความเป็นผู้มีชาติราคะกล้า ย่อมถือเอานิมิตในอารมณ์ที่เห็นแล้วๆ.
               ครั้งนั้น พวกอาจารย์และอุปัชฌาย์ของเธอ สั่งลงทัณฑกรรมภิกษุนั้น เมื่อทำทัณฑกรรมอยู่เนืองๆ ย่อมเสวยทุกขโทมนัส จึงไม่ทำการก้าวล่วงอีกนั่นเทียว.
               สำหรับผู้มีชาติโทสะกล้าย่อมกำเริบ ก็ด้วยเหตุเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเขาเมื่อจับมือเป็นต้น คุยกับภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลาย ก็ย่อมเสวยทุกขโทมนัส เพราะทัณฑกรรมเป็นปัจจัย.
               ส่วนบุคคลผู้มีชาติโมหะไม่กำหนดกิจที่ทำแล้วโดยที่ทำแล้ว หรือกิจที่ยังไม่ได้ทำโดยกิจที่ยังไม่ได้ทำ ในศาสนานี้ ย่อมให้หน้าที่คลาดเคลื่อน ถึงเขาก็ย่อมเสวยทุกขโทมนัส เพราะทัณฑกรรมเป็นปัจจัย.
               คำว่า "ผู้มีชาติราคะไม่กล้าเป็นต้น" พึงทราบตามนัยตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ในโลกนี้ บางคนจึงเป็นผู้มีราคะเป็นต้นค่อนข้างกล้า บางคนจึงไม่ใช่เป็นผู้มีราคะเป็นต้นค่อนข้างกล้า?
               ตอบว่า เพราะว่า ในขณะสั่งสมกรรม ตามกฏของกรรม ความโลภของผู้ใดมีกำลัง ความไม่โลภอ่อนกำลัง ความไม่ประทุษร้ายและความไม่หลงมีกำลัง ความประทุษร้ายและความหลงอ่อนกำลัง ความไม่โลภของผู้นั้นอ่อนกำลัง ไม่สามารถจะครอบงำความโลภได้.
               ส่วนความไม่ประทุษร้ายและความไม่หลงมีกำลัง สามารถครอบงำความประทุษร้ายและความหลงได้. เพราะฉะนั้น เขาเกิดแล้วด้วยอำนาจปฏิสนธิที่กรรมนั้นให้ผลแล้วย่อมเป็นคนโลภ มีปกติเป็นสุข ไม่โกรธ มีปัญญา มีความรู้เปรียบด้วยเพชร.
               ก็ในขณะสั่งสมกรรม ความโลภและความประทุษร้ายของผู้ใดมีกำลัง ความไม่โลภและความไม่ประทุษร้ายอ่อนกำลัง ความไม่หลงมีกำลัง ความหลงอ่อนกำลัง เขาย่อมเป็นคนโลภและเป็นผู้ประทุษร้าย ตามนัยก่อนนั่นแหละ เป็นผู้มีปัญญามีความรู้ดุจเพชร ดุจพระทันตาภยเถระ.
               ส่วนขณะสั่งสมกรรม ความโลภความหลงของผู้ใดมีกำลัง นอกนี้อ่อนกำลัง เขาย่อมเป็นคนโลภและโง่เขลาตามนัยก่อนนั่นเอง เป็นผู้มีปกติเป็นสุข ไม่โกรธ.
               ก็อย่างนั้น ในขณะสั่งสมกรรม ความโลภ ความโกรธและความหลงทั้ง ๓ ของผู้ใดมีกำลัง ความไม่โลภเป็นต้นอ่อนกำลัง เขาย่อมโลภ ประทุษร้ายและหลงตามนัยก่อนนั่นเทียว
               แต่ว่า ในขณะสั่งสมกรรม ความไม่โลภ ความประทุษร้ายและความหลงของผู้ใดมีกำลัง นอกนี้อ่อนกำลัง เขาย่อมเป็นผู้มีกิเลสน้อย ครั้นเห็นอารมณ์อย่างทิพย์ ก็ไม่หวั่นไหวตามนัยก่อนนั่นแหละ แต่เป็นผู้ประทุษร้าย และมีปัญญาโง่เขลา.
               ในขณะสั่งสมกรรม ความไม่โลภ ไม่ประทุษร้ายและหลงของผู้ใดมีกำลัง นอกนี้อ่อนกำลัง เขาย่อมเป็นคนไม่โลภ มีปกติเป็นสุข ไม่โกรธ แต่เป็นคนโง่เขลาตามนัยก่อนนั่นเทียว. อย่างนั้น ในขณะสั่งสมกรรม ความไม่โลภ ประทุษร้ายและไม่หลงของผู้ใดมีกำลัง นอกนี้อ่อนกำลัง เขาย่อมเป็นคนไม่โลภ มีปัญญา แต่เป็นผู้ประทุษร้ายและมักโกรธ ตามนัยก่อนนั่นแหละ.
               แต่ว่า ในขณะสั่งสมกรรม ทั้ง ๓ มีความไม่โลภเป็นต้นของผู้ใดมีกำลัง ความโลภเป็นต้นอ่อนกำลัง เขาย่อมเป็นผู้ไม่โลภ ไม่ประทุษร้ายและมีปัญญา ดุจพระมหาสังฆรักขิตเถระ.
               เนื้อความในทุกบทแห่งบททั้งปวงตื้นนั่นเทียวแล.

               จบอรรถกถาจูฬธัมมสมาทานสูตรที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค จูฬธรรมสมาทานสูตร ว่าด้วยธรรมสมาทาน ๔ จบ.
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 505อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 514อ่านอรรถกถา 12 / 520อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=9602&Z=9700
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=7143
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=7143
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :