ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 514อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 520อ่านอรรถกถา 12 / 535อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค
มหาธรรมสมาทานสูตร ว่าด้วยธรรมสมาทาน ๔

               อรรถกถามหาธรรมสมาทานสูตร               
               มหาธรรมสมาทานสูตร ขึ้นต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า "มีความอยากอย่างนี้" คือ มีความต้องการอย่างนี้.
               บทว่า "มีความพอใจอย่างนี้" คือ มีความโน้มเอียงไปอย่างนี้.
               บทว่า "มีความประสงค์อย่างนี้" คือ มีลัทธิอย่างนี้.
               บทว่า "ใน...นั้น" คือ ในความเจริญแห่งอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ และในความเสื่อมไปแห่งอารมณ์ที่น่าพอใจนั้น.
               คำว่า "มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเค้ามูล" คือ ชื่อว่ามีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นรากเหง้า เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นเค้ามูลแห่งสิ่งเหล่านี้.
               มีคำที่กล่าวไว้ว่า "พระพุทธเจ้าข้า! สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ของพวกข้าพระพุทธเจ้าครั้งแรก พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงให้เกิดขึ้น เมื่อพระองค์ท่านปรินิพพานแล้ว ไม่ได้มีสมณะหรือพราหมณ์ที่ขึ้นชื่อว่าผู้สามารถให้ธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นอีกเลย สิ้นพุทธันดรหนึ่ง แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงให้ธรรมเหล่านี้ของพวกข้าพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้ว พวกข้าพระพุทธเจ้าได้อาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยแท้ จึงเข้าใจทั่วถึง คือรู้เฉพาะธรรมเหล่านี้ได้ พระพุทธเจ้าข้า! เพราะเหตุนี้ ธรรมของพวกข้าพระพุทธเจ้าจึงชื่อว่ามีพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นเค้ามูลด้วยประการฉะนี้.
               คำว่า "มีพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้นำ" คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้แนะ ผู้นำผู้คอยชักจูงเกี่ยวกับเรื่องของธรรมโดยแท้. ธรรมทั้งหลายที่พระองค์ทรงตั้งชื่อเป็นหมวดๆ ตามที่เป็นจริง จึงย่อมชื่อว่ามีพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้ชักนำ.
               คำว่า "มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่งอาศัย" ได้แก่ ธรรมทั้ง ๔ ชั้นมาสู่คลองพระสัพพัญญุตญาณ ย่อมจับกลุ่มรวมประชุมลงอย่างพร้อมเพรียงในพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่อตอนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งที่ควงมหาโพธิ์ เมื่อจะทรงถือเอาชื่อเป็นหมวดๆ ตามความเป็นจริงของธรรมทั้ง ๔ ชั้นอย่างนี้ คือ ผัสสะมาด้วยอำนาจปฏิเวธ (ก็ทรงคิดว่า) "ฉันเป็นผู้จำแนกธรรม แกชื่อไร" (แล้วทรงตั้งชื่อว่า) "แกชื่อผัสสะ เพราะอรรถว่าถูกต้อง." เวทนา (สัญญา) สังขาร วิญญาณมา (ก็ทรงคิดว่า) "ฉันเป็นผู้จำแนกธรรม แกล่ะ ชื่อไร" (แล้วก็ทรงตั้งชื่อว่า)" แกชื่อเวทนา (สัญญา) สังขาร เพราะอรรถว่ารู้สึกอารมณ์...(รู้จำอารมณ์)...ปรุงแต่งอารมณ์. แกชื่อวิญญาณ เพราะอรรถว่ารู้แจ้ง"
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเอาธรรมมาจัดรวมเป็นกลุ่ม เพราะฉะนั้น ธรรมเหล่านั้น จึงชื่อว่ามีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่งอาศัย (คือรวมเป็นหมวดเป็นหมู่ได้ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า).
               คำว่า "จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้นเถิด" ได้แก่ ขอให้ใจความของภาษิตบทนี้จงปรากฏแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้นเถิด คือ ขอให้พระองค์นั่นแหละโปรดทรงแสดงประทานให้แก่พวกข้าพระองค์ด้วยเถิด.
               คำว่า "พึงเสพ" คือ พึงอาศัย.
               คำว่า "พึงคบ" คือ พึงเข้าใกล้.
               คำว่า "เหมือนผู้ไม่รู้แจ้ง" คือ เหมือนปุถุชนที่บอดโง่.
               คำว่า "เหมือนผู้รู้แจ้ง" คือ เหมือนบัณฑิตที่รู้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวางแม่บทตามแบบที่ค่อยขยับสูงขึ้นตามลำดับในสูตรก่อนว่า "ภิกษุทั้งหลาย มีการยึดถือธรรม" แต่ในพระสูตรนี้ พระศาสดาทรงตั้งแม่บทตามรสแห่งธรรมเท่านั้น.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า "การยึดถือธรรม" ได้แก่ การถือธรรมมีการฆ่าสัตว์เป็นต้น.
               คำว่า "ผู้อยู่ในความไม่รู้" ได้แก่ ผู้ประกอบพร้อมด้วยความไม่รู้.
               คำว่า "ผู้อยู่ในความรู้" ได้แก่ ผู้ประกอบพร้อมด้วยความรู้ คือผู้มีปัญญา.
               สิ่งทั้งสามนี้ก่อน คือ มิจฉาจาร อภิชฌา มิจฺฉาทิฏฐิ ในคำเหล่านี้คือ "พร้อมด้วยทุกข์บ้าง" เป็นทุกขเวทนาด้วยอำนาจเจตนาทั้งสองคือ บุพเจตนาและอปรเจตนา. ส่วนเจตนาที่ให้สำเร็จเรียบร้อย เป็นเจตนาที่ประกอบด้วยสุข หรือประกอบด้วยอุเบกขา. ส่วนเจตนาที่เหลือมีการฆ่าสัตว์เป็นต้นอีก ๗ ข้อ เป็นทุกขเวทนาด้วยอำนาจเวทนาครบทั้งสาม.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาความข้อนี้ จึงตรัสว่า "พร้อมกับทุกข์บ้าง พร้อมกับโทมนัสบ้าง" ดังนี้. ก็แหละโทมนัสในพระพุทธดำรัสนี้ พึงเข้าใจว่าเป็นทุกข์.
               เมื่อคนมาถึงการแสวงหา แม้ทุกข์ในทางกาย ก็ย่อมถูกทั้งในส่วนเบื้องต้นและเบื้องปลายโดยแท้. สิ่งสามอย่างนี้ก่อนคือ การฆ่าสัตว์ การพูดคำหยาบ พยาบาท ในบทนี้คือ "พร้อมกับแม้สุขบ้าง" เป็นสุขเวทนาด้วยอำนาจเจตนาสองอย่าง คือบุพเจตนาและอปรเจตนา. ส่วนเจตนาที่ให้สำเร็จเรียบร้อยเป็นเจตนาที่ประกอบด้วยทุกข์ ที่เหลืออีก ๗ อย่าง ย่อมเป็นสุขเวทนาด้วยอำนาจเจตนาครบทั้ง ๓. ก็แล โสมนัสนั่นแลก็พึงเข้าใจว่าสุขในที่นี้.
               หรือสำหรับผู้ที่พรั่งพร้อมด้วยโผฏฐัพพารมณ์ที่น่าพอใจ แม้สุขในทางกาย ก็ย่อมถูกในส่วนเบื้องต้นและส่วนเบื้องปลายโดยแท้.
               ในการยึดถือธรรมข้อที่สามนี่แหละ บางคนในโลกนี้เป็นคนตกปลา (ชาวประมง) หรือเป็นคนล่าเนื้อ อาศัยการฆ่าสัตว์เท่านั้นเลี้ยงชีวิต.
               ภิกษุผู้อยู่ในตำแหน่งเป็นที่เคารพของเขาแสดงโทษการฆ่าสัตว์ และอานิสงส์การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์แล้วให้สิกขาบทแก่เขาผู้ไม่ต้องการเลย เมื่อเขาจะรับก็ย่อมรับทั้งๆ ที่เป็นทุกข์โทมนัสทีเดียว. ภายหลังเมื่อล่วงมาสองสามวัน เมื่อเขาไม่สามารถรักษาได้ก็เกิดเป็นทุกข์อีก บุพเจตนาและอปรเจตนาของเขาย่อมควบคู่กันไปกับทุกข์ทีเดียว. ส่วนเจตนาที่ให้สำเร็จเรียบร้อยไปด้วยกันกับสุขบ้าง ไปด้วยกันกับอุเบกขาบ้าง.
               ในที่ทุกแห่งพึงเข้าใจใจความอย่างนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาเจตนาทั้งที่เป็นส่วนเบื้องต้นและส่วนเบื้องปลายนี่แหละด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงตรัสว่า "พร้อมกับทุกข์บ้าง พร้อมกับโทมนัสบ้าง ดังนี้. แหละก็พึงทราบว่าโทมนัสนั่นเองเป็นทุกข์.
               ในการยึดถือธรรมข้อที่สี่ เจตนาที่เป็นส่วนเบื้องต้น ส่วนเบื้องปลายและเจตนาที่ให้สำเร็จเรียบร้อยครบทั้งสาม ในบทครบทั้งสิบย่อมประกอบด้วยสุขโดยแท้. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาความข้อนั้น จึงได้ตรัสว่า "พร้อมด้วยสุขบ้าง พร้อมด้วยโสมนัสบ้าง" แหละก็โสมนัสนั่นเอง ก็พึงทราบว่าสุขในที่นี้.
               คำว่า "ติตฺตกาลาพุ" แปลว่า น้ำเต้าขม.
               คำว่า "เจือด้วยยาพิษ" ได้แก่ ระคนปน เคล้ากับยาพิษชนิดร้ายแรง.
               คำว่า "ไม่ชอบใจ" คือ จะไม่ชอบใจ จะไม่ทำความยินดี.
               คำว่า "จะถึง" คือ จะบรรลุ.
               คำว่า "ไม่พิจารณาแล้วพึงดื่ม" คือ พึงดื่มอย่างไม่พิจารณา.
               คำว่า "ภาชนะน้ำดื่ม" คือ ภาชนะเต็มปริ่มไปด้วยเครื่องดื่มอร่อยน่าดื่ม.
               คำว่า "สมบูรณ์ด้วยสี" คือ เป็นภาชนะประกอบด้วยสีแห่งเครื่องดื่มเป็นต้นที่คนพูดอย่างนี้ว่า "ภาชนะที่สมบูรณ์ด้วยเครื่องประสมที่ใส่ไว้แล้ว".
               คำว่า "จะชอบใจ" ได้แก่ ก็แลยาพิษร้ายแรงนั้น ย่อมเป็นอันใส่ไว้แล้วในเครื่องดื่มใดๆ ย่อมให้รสของเครื่องดื่มนั้นๆ แล เพราะเหตุนั้นจึงกล่าวว่าจะชอบใจ.
               คำว่า "น้ำมูตรเน่า" ก็คือ น้ำมูตรนั่นแหละ. เหมือนอย่างว่า ร่างกายของคนเราต่อให้เป็นสีทอง ก็ยังถูกเรียกว่าตายเน่าอยู่นั่นแหละ และเถาอ่อนที่แม้แต่เพิ่งเกิดในวันนั้น ก็ย่อมถูกเรียกว่าเถาอ่อนอยู่นั่นแหละฉันใด น้ำมูตรอ่อนๆ ที่รองเอาไว้ในทันทีทันใด ก็เป็นน้ำมูตรเน่าอยู่นั่นเองฉันนั้น.
               คำว่า "ด้วยตัวยาต่างๆ" คือ ด้วยตัวยานานาชนิดมีสมอและมะขามป้อมเป็นต้น.
               คำว่า "จงเป็นสุข" คือจงเป็นผู้มีสุขไร้โรค มีสีเหมือนทอง.
               คำว่า "นมส้ม น้ำผึ้ง" คือ นมส้มที่แสนบริสุทธิ์ และน้ำผึ้งที่อร่อยหวาน.
               คำว่า "เจือเคล้าเข้าด้วยกัน" ได้แก่ ปนระคนเข้าเป็นอันเดียวกัน.
               คำว่า "นั้นแก่เขา" คือ พึงชอบใจแก่เขา ผู้ดื่มเภสัชที่มีรสหวานสี่อย่าง ก็แล อันใดที่เจือด้วยโรคบาทโรค อันนี้ พึง (ทำให้) ลงแดง ยาของเขาทำให้อาหารแข็งกระด้าง ถ่ายไม่ออก. (ฤทธิ์ยาทำให้ท้องผูก ถ่ายไม่ออก) ส่วนเลือดที่ประสมกับดี ยาของเขานี้นั้น ลงท้ายก็ทำให้ร่างกายเย็นยะเยือก.
               คำว่า "ลอยไป" คือ ลอยสูงขึ้น คือไม่มีเมฆ. หมายความว่า เมฆอยู่ไกล.
               คำว่า "ปราศจากวลาหก" คือ เมฆหลีกไปแล้ว.
               คำว่า "เมื่อเทพ" ได้แก่ เมื่ออากาศ.
               คำว่า "ความมืดอยู่ในอากาศ" คือ ความมืดในอากาศ.
               คำว่า "ปรับปวาทของสมณพราหมณ์ส่วนมาก" ได้แก่ วาทะของคนเหล่าอื่น อันได้แก่สมณพราหมณ์ส่วนใหญ่.
               คำว่า "เบียดเบียนยิ่ง" ได้แก่ เข่นฆ่า.
               คำว่า "ส่อง ส่งแสง และรุ่งเรือง" ได้แก่ ตอนกลางวันในฤดูสารท พระอาทิตย์ย่อมเปล่งแสง คือส่งแสงร้อนจ้า สว่างไสว.
               ก็แล สูตรนี้ พวกเทวดารักใคร่ชอบใจเหลือเกิน.
               ดังมีเรื่องต่อไปนี้ :-
               เขาเล่ากันมาว่า ทางทิศใต้ ในจังหวัดหัสดิโภค มีวัดบังกูรอยู่ ที่ประตูโรงอาหารของวัดนั้น มีเทวดาสิงอยู่ที่ต้นบังกูร ตอนกลางคืนได้ฟังภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งกำลังสรุปพระสูตรนี้ด้วยทำนองสวดบท จึงให้สาธุการ.
               ภิกษุหนุ่ม : "นั่นใคร"
               เทวดา : "ข้าพเจ้าเป็นเทพสิงอยู่ที่ต้นไม้นี้ ครับท่าน"
               ภิกษุหนุ่ม : "เทพ ท่านเลื่อมใสในอะไร คือในเสียงหรือในสูตร?"
               เทวดา : "ท่านผู้เจริญ ใครๆ ก็มีเสียงทั้งนั้นแหละ ข้าพเจ้าเลื่อมใสในสูตร, ในวันที่พระศาสดาทรงนั่งกลางในพระเชตวัน และในวันนี้ไม่มีความแตกต่างแม้แต่พยัญชนะตัวเดียว"
               ภิกษุหนุ่ม : "เทพ ในวันที่พระศาสดาตรัสท่านได้ยินหรือ"
               เทวดา : "ครับท่าน"
               ภิกษุหนุ่ม : "ท่านยืนฟังที่ไหน"
               เทวดา : "ท่านครับ ข้าพเจ้าไปพระเชตวัน แต่เมื่อเหล่าเทพผู้บุญหนักศักดิ์ใหญ่พากันมา, ข้าพเจ้าเลยหมดโอกาสจึงยืนฟังในที่นี้แหละ"
               ภิกษุหนุ่ม : "ยืนอยู่ที่นี้ แล้วจะได้ยินเสียงพระศาสดาหรือ"
               เทวดา : "แล้วท่านล่ะ ได้ยินเสียงข้าพเจ้าไหม"
               ภิกษุหนุ่ม : "ได้ยินจ้ะ เทพ"
               เทวดา : "เป็นเหมือนกับเวลานั่งพูดข้างหูขวา ครับท่าน"
               ภิกษุหนุ่ม : "เทพ! แล้วท่านเห็นพระรูปพระศาสดาไหม"
               เทวดา : "ข้าพเจ้าเข้าใจว่า พระศาสดาทอดพระเนตรดูแต่ข้าพเจ้าเท่านั้นแหละ เลยตั้งตัวไม่ติด ครับท่าน "
               ภิกษุหนุ่ม : "แล้วท่านมีคุณพิเศษเกิดขึ้นบ้างไหม เทวดา"
               เทวดาหายไปในที่นั้นนั่นแหละ ว่ากันว่า วันนั้น เทพองค์นี้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.
               เทวดาทั้งหลายต่างรักใคร่ชอบใจ พระสูตรนี้ดังที่ว่ามานี้.
               คำที่เหลือในที่ทั้งหมด ง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถามหาธัมมสมาทานสูตรที่ ๖               
               ---------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค มหาธรรมสมาทานสูตร ว่าด้วยธรรมสมาทาน ๔ จบ.
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 514อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 520อ่านอรรถกถา 12 / 535อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=9701&Z=9903
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=7229
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=7229
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :