ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 1อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 10อ่านอรรถกถา 12 / 20อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
สัพพาสวสังวรสูตร ว่าด้วยการสังวรในอาสวะทั้งปวง

               อรรถกถาสัพพาสวสังวรสูตร               
               [๑๐] สัพพาสวสูตรเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ ฯลฯ กรุงสาวัตถี.
               ในสัพพาสวสังวรสูตรนั้นมีอรรถกถาแก้ตามลำดับบท ดังต่อไปนี้.

               อธิบายที่มาของคำว่า สาวัตถี               
               นักอักษรศาสตร์วิจารณ์กันไว้อย่างนี้ก่อนว่า คำว่า สาวตฺถี คือพระนครอันเป็นสถานที่อยู่ของฤาษี ชื่อ สวัตถะ เหมือนคำว่า กากนฺที มากนฺที ฉะนั้น.
               ส่วนพระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า วัตถุเครื่องอุปโภคและบริโภคของมนุษย์ทุกอย่างมีอยู่ในเมืองนี้ ฉะนั้น เมืองนี้จึงชื่อว่าสาวัตถี.
               ในเมื่อเอาคำว่า "สตฺถ" มารวมไว้ด้วย จึงชื่อว่า สาวัตถี เพราะอาศัยเหตุที่ว่า เมื่อถูกเขาถามว่า มีของอะไรอยู่บ้าง ก็ตอบว่ามีครบทุกอย่าง.
                         เครื่องอุปโภคบริโภคทุกอย่างมารวมกันอยู่ในเมืองสาวัตถี
               ตลอดเวลา ฉะนั้น ท่านมุ่งเอาความสมบูรณ์ด้วยเครื่องอุปโภค
               บริโภคทุกอย่างจึงเรียก (เมืองนั้น) ว่า สาวัตถี. นี้เป็นเมืองของ
               ชาวโกศล น่าชื่นชมน่ารื่นรมย์ น่าเพลิดเพลินเจริญใจ อึกทึกไป
               ด้วยเสียง ๑๐ ประการ เป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ. เป็นเมืองถึงความ
               เจริญไพบูลย์ มั่งคั่ง กว้างขวาง น่าชื่นชมและอุดมสมบูรณ์
               เหมือนเทพบุรีชื่อ อาลกมันทา. ในเมืองสาวัตถีนั้น.

               ในบทว่า เชตวเน อธิบายว่า พระราชกุมารทรงพระนามว่า "เชตะ" เพราะทรงรบชนะข้าศึกของพระองค์ หรือเพราะประสูติในเวลาที่พระชนกทรงมีชัยต่อข้าศึกของพระองค์.
               อีกอย่างหนึ่ง ทรงพระนามว่า "เชตะ" เพราะพระนามอย่างนี้ พระชนกชนนีทรงตั้งให้เพื่อความเป็นสิริมงคล. พระอุทยานของพระราชกุมารพระนามว่า เชตะ ชื่อว่า เชตวัน. เพราะพระอุทยานเชตวันนั้นอันพระราชกุมารทรงพระนามว่า "เชตะ" นั้นทรงปลูกสร้างทะนุบำรุงให้เจริญงอกงาม ทั้งพระองค์ก็ทรงเป็นเจ้าของพระอุทยานนั้นด้วย ฉะนั้นจึงเรียกว่า เชตวัน. ในพระวิหารเชตวันนั้น.
               ในบทว่า อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม นี้มีอธิบายว่า
               คฤหบดีนั้นชื่อว่าสุทัตตะ โดยเป็นชื่อที่บิดามารดาตั้งให้ แต่มาได้ชื่อว่า อนาถปิณฑิกะ โดยเหตุที่ได้ให้อาหารแก่คนอนาถาทั้งหลายเป็นประจำ เพราะเป็นผู้มั่งคั่งด้วยสมบัติทุกอย่าง และเพราะปราศจากความตระหนี่ ทั้งเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมมีความกรุณาเป็นต้น.
               สัตว์ทั้งหลาย โดยเฉพาะบรรพชิตย่อมยินดีในสวนนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อาราม.
               อธิบายว่า สัตว์ทั้งหลายมาแต่ที่ต่างๆ กัน ย่อมยินดี เพลิดเพลิน อยู่อย่างสบาย เพราะสวนนั้นงามไปด้วยไม้ดอกไม้ผลเป็นต้น สมบูรณ์ไปด้วยองค์ประกอบแห่งเสนาสนะ ๕ ประการมีไม่ไกลไม่ใกล้ (โคจรคาม) เกินไปนัก.
               อีกประการหนึ่ง ชื่อว่าอาราม เพราะดึงดูดสัตว์ผู้ไปถึงสถานที่นั้นไว้ภายในบริเวณของตนนั้นเอง แล้วให้เพลิดเพลินไปด้วยสมบัติมีประการดังกล่าวแล้ว.
               ความจริง อารามนั้น อนาถปิณฑิกคฤหบดีได้มอบถวายสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยการบริจาคทรัพย์ถึง ๕๔ โกฏิ คือบริจาคซื้อที่ดินจากพระหัตถ์ของพระราชกุมารทรงพระนามว่า "เชตะ" ด้วยการเอาเงิน ๑๘ โกฏิ ปู (เต็มบริเวณพื้นที่) บริจาคเป็นค่าก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ ๑๘ โกฏิ บริจาคเป็นค่าทำการฉลองพระวิหารอีก ๑๘ โกฏิ ฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า อารามของอนาถปิณฑิกะ. ในอารามของอนาถปิณฑิกคฤหบดีนั้น.
               คำว่า เชตวเน ในคำว่า เชตวเน อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม นั้น เป็นคำระบุถึงเจ้าของคนแรก.
               คำว่า อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม เป็นคำระบุถึงเจ้าของคนหลัง.
               ถามว่า จะมีประโยชน์อะไรในการระบุถึงเจ้าของทั้ง ๒ นั้น.
               ตอบว่า มีประโยชน์คือจะทำให้เป็นเยี่ยงอย่างของผู้ต้องการบุญ.
               จริงอยู่ ในข้อนั้น ท่านพระอานนท์เมื่อจะแสดงว่า ผู้ต้องการบุญทั้งหลายย่อมทำบุญเพราะกิตติศัพท์ของท่านทั้ง ๒ นั้นว่า พระราชกุมารพระนามว่าเชตะนั้นทรงบริจาคทรัพย์ ๑๘ โกฏิที่พระองค์ได้มาด้วยการขายสถานที่ในการสร้างซุ้มประตูและปราสาท และทรงบริจาคต้นไม้ซึ่งมีค่าหลายโกฏิ. (ส่วน) อนาถปิณฑิกคฤหบดีได้บริจาคทรัพย์ ๕๔ โกฏิดังนี้แล้ว ชักชวนชนผู้ต้องการบุญเหล่าอื่นให้ถือชนทั้ง ๒ นั้นเป็นแบบอย่าง.

               อธิบายคำว่า อาสวะ               
               ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสพระสูตรนี้ว่า สพฺพาสวสํวรปริยายํ โว ภิกฺเว ดังนี้ ?
               ตอบว่า เพื่อทรงแสดงถึงข้อปฏิบัติเพื่อความสิ้นอาสวะ เริ่มต้นตั้งแต่การชำระอุปกิเลสแก่ภิกษุเหล่านั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพาสวสํวรปริยายํ ความว่า เป็นเหตุสำรวม คือว่าเป็นเหตุให้ระมัดระวังอาสวะทุกอย่าง.
               อธิบายว่า เป็นเหตุให้อาสวะเหล่านี้ที่ภิกษุระวังปกปิดแล้ว ย่อมถึงความสิ้นไป กล่าวคือความดับไปโดยไม่เกิดขึ้น (อีก) คืออันภิกษุย่อมละได้ ได้แก่ย่อมไม่เป็นไป.
               ในบทว่า อาสวานํ นั้น ที่ชื่อว่าอาสวะ เพราะอรรถว่าไหลไป. ท่านอธิบายว่า อาสวะเหล่านั้นย่อมไหลไป คือไหลออกทางจักษุบ้าง ฯลฯ ทางใจบ้าง ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง อาสวะเหล่านั้น เมื่อว่าโดยธรรมย่อมไหลไปจนถึงโคตรภู เมื่อว่าโดยโอกาสโลก ย่อมไหลไปจนถึงภวัคคพรหม. เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอาสวะ. อธิบายว่า อาสวะเหล่านั้นทำธรรมเหล่านั้นและโอกาสนั้นไว้ภายใน (อำนาจ) แล้วเป็นไป.
               จริงอยู่ อา อักษรนี้มีความหมายว่าทำไว้ในภายใน. ที่ชื่อว่าอาสวะ เพราะเป็นเหมือนของหมักดองมีน้ำเมาเป็นต้น โดยความหมายว่าหมักอยู่นานดังนี้บ้าง. ความจริงในทางโลก น้ำเมาที่หมักไว้นาน เขาก็เรียกว่าอาสวะ ดังนี้. ก็ถ้าน้ำเมาเป็นต้นเรียกว่าอาสวะได้ เพราะความหมายว่าหมักไว้นานไซร้ กิเลสเหล่านี้ก็ควรจะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า
               ภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นของอวิชชาไม่ปรากฏ (คือไม่ปรากฏว่า) ในกาลก่อนแต่นี้ มิได้มีอวิชชา ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่าอาสวะ เพราะอรรถว่าไหลไป คือไหลออกไปสู่สังสารทุกข์ต่อไปดังนี้บ้าง. ก็คำอธิบาย คำแรกๆ ในรูปวิเคราะห์เหล่านี้ ย่อมใช้ในที่ที่กิเลสทั้งหลายมาโดยชื่อว่าอาสวะ. (ส่วน) คำอธิบายคำหลังใช้ในกรรมก็ได้. ก็ไม่ใช่เพียงแต่กรรมกิเลสอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นอาสวะ โดยที่แท้แล แม้อุปัทวะนานัปการ ก็ชื่อว่าอาสวะได้ (เหมือนกัน).
               ความจริง ในพระสูตรทั้งหลาย กิเลสทั้งหลายซึ่งเป็นมูลเหตุให้ก่อการทะเลาะวิวาทก็มาโดยชื่อว่าอาสวะ ในคำนี้ว่า จุนทะ เราไม่แสดงธรรมเพื่อการสังวรระวังเหล่าอาสวะอันเป็นไปในทิฏฐธรรมเท่านั้น ดังนี้.
               กรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ และเหล่าอกุศลธรรมที่เหลือทั้งหลาย ก็ชื่อว่าอาสวะในคำนี้ว่า
                                  อาสวะทั้งหลายของเราที่เป็นเหตุให้เข้าถึงความเป็น
                         เทพหรือคนธรรพ์ที่เหาะเหินได้ และเป็นเหตุให้เราพึงไปสู่
                         ความเป็นยักษ์ ความเป็นมนุษย์ และพึงไปสู่อัณฑชกำเนิด
                         สิ้นไปแล้ว อันเราขจัดแล้ว ทำให้พินาศแล้ว ดังนี้.
               การเข้าไปว่าร้ายผู้อื่น ความเดือดร้อน การฆ่าและการจองจำเป็นต้น และอุปัทวะนานัปการที่เป็นเหตุให้สัตว์เสวยทุกข์ในอบาย ก็ชื่อว่าอาสวะ. (เช่น) ในประโยคนี้ว่า (เราตถาคตจะแสดงธรรม) เพื่อระมัดระวังอาสวะอันเป็นไปในทิฏฐธรรม (และ) เพื่อบำบัดอาสวะอันเป็นไปในสัมปรายภพ ดังนี้.
               ก็ในที่ใดอาสวะเหล่านี้นั้นมาโดยประการใด ในที่นั้นก็พึงทราบโดยประการนั้น.
               ก็ในพระวินัย อาสวะทั้งหลายเหล่านี้มีมาแล้ว ๒ อย่าง เช่นในประโยคว่า (เราตถาคตจะแสดงธรรม) เพื่อป้องกันอาสวะอันเป็นไปในทิฏฐธรรม เพื่อบำบัดอาสวะอันเป็นไปในสัมปรายภพ ดังนี้ก่อน.
               ในสฬายตนวรรค มีมาแล้ว ๓ อย่าง (เช่นในประโยค) ว่า ผู้มีอายุ อาสวะเหล่านี้มี ๓ อย่าง คือกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ดังนี้.
               ในสุตตันตปิฎกแห่งอื่น และพระอภิธรรมปิฎก อาสวะ ๓ เหล่านั้นนั่นแล รวมกับทิฏฐาสวะเข้าด้วยมีมาแล้วเป็น ๔ อย่าง ว่าโดยบรรยายที่จำแนกอาสวะทั้งหลายมีมา ๕ อย่าง คือ ภิกษุทั้งหลาย อาสวะซึ่งเป็นเหตุยังสัตว์ให้เข้าถึงนรกก็มีอยู่ อาสวะซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ไปสู่กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็มีอยู่ อาสวะซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ไปสู่วิสัยแห่งเปรตก็มีอยู่ อาสวะซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ไปสู่มนุษย์โลกก็มีอยู่ และอาสวะอันเป็นเหตุยังสัตว์ให้ไปสู่เทวโลกก็มี.
               ในฉักกนิบาต อาสวะมีมา ๖ อย่างโดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุทั้งหลาย อาสวะที่ต้องละด้วยสังวรมีอยู่.
               ส่วนในสูตรนี้ อาสวะ ๖ เหล่านั้นนั่นแล พร้อมด้วยอาสวะที่ต้องละด้วยทัสสนะ มีมา (รวม) เป็น ๗ อรรถพจน์ และประเภท (แห่งอาสวะ) ในบทว่า อาสวะ มีเพียงเท่านี้ก่อน.

               อธิบายสังวร               
               ส่วนในบทว่า สังวร มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ที่ชื่อว่าสังวร เพราะอรรถว่าสังวร. อธิบายว่า ปิด คือห้าม ได้แก่ไม่ให้เป็นไป.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตอนุญาตให้ภิกษุผู้ต้องการพักผ่อนในกลางวัน ต้องปิดประตูเสียก่อนแล้ว จึงพักผ่อนดังนี้.
               พระอาจารย์กล่าว สังวร ด้วยอรรถว่า ปิดในคำเป็นต้นว่า
                                  ตถาคต เรากล่าวสติว่าเป็นเครื่องห้ามกระแส
                         กระแสเหล่านั้นบุคคลย่อมปิดกั้นได้ด้วยปัญญา ดังนี้.
               สังวรนั้นมี ๕ อย่างคือ สีลสังวร สติสังวร ญาณสังวร ขันติสังวร วิริยสังวร.
               บรรดาสังวรเหล่านั้น สังวรที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุประกอบด้วยปาฏิโมกขสังวรนี้ นี้ชื่อว่าสีลสังวร. ความจริงปาฏิโมกขศีล ท่านกล่าวว่าสังวร ในที่นี้. สังวรในคำเป็นต้นว่า ภิกษุย่อมถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ชื่อว่าสติสังวร. ก็สติ ท่านกล่าวว่า สังวร ในที่นี้.
               สังวรที่ตรัสไว้ว่า เราตถาคตกล่าวญาณว่าเป็นเครื่องกั้นกระแส กระแสเหล่านั้นบุคคลย่อมปิดกั้นได้ด้วยปัญญา นี้ชื่อว่าญาณสังวร. ก็ในที่นี้ ท่านกล่าวญาณว่าสังวร ด้วยอรรถว่าปิดไว้ได้ ด้วยบทว่า ปิถียเร. ขันติสังวรและวิริยสังวรมาในสูตรนี้โดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อความหนาว ฯลฯ ไม่ยอมให้วิตกซึ่งเกิดขึ้นครอบงำได้ ดังนี้. ก็พึงทราบความที่ขันติและวิริยะ ชื่อว่าสังวร เพราะท่านสงเคราะห์ด้วยอุเทศนี้ว่า สพฺพาสวสํวรปริยายํ นี้.
               อีกอย่างหนึ่ง สังวรแม้ทั้ง ๕ อย่างนี้ ก็มาในสูตรนี้เหมือนกัน. บรรดาสังวรทั้ง ๕ อย่างนั้น ขันติสังวรและวิริยสังวรท่านกล่าวไว้ก่อนแล้วทีเดียว. ก็สังวรที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุนั้นพิจารณาที่อันมิใช่อาสนะนั้นและอโคจรนั้นโดยแยบคายแล้ว นี้ชื่อว่าสีลสังวรในที่นี้. สังวรที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว สำรวมระวังจักขุนทรีย์ดังนี้ นี้ชื่อว่าสติสังวร. การพิจารณาด้วยญาณในธรรมทั้งปวง ชื่อว่าญาณสังวร. ส่วนการเห็น การซ่องเสพ การเจริญ ก็ชื่อว่าญาณสังวร ด้วยศัพท์ที่ท่านมิได้ถือเอา. ที่ชื่อว่าปริยาย เพราะเป็นเหตุเครื่องกำหนดแห่งธรรมทั้งหลาย. อธิบายว่า ธรรมทั้งหลายย่อมถึงการเกิดขึ้นหรือดับไป. คำใดที่ควรกล่าว ในคำนี้ว่า สพฺพาสวสํวรปริยายํ คำนั้นท่านกล่าวอธิบายไว้ด้วยคำมีประมาณเพียงเท่านี้.

               อธิบายญาณทัสสนะ               
               [๑๑] บัดนี้พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ชานโต อหํ เป็นต้นดังต่อไปนี้.
               บทว่า ชานโต คือ รู้อยู่. บทว่า ปสฺสโต คือ เห็นอยู่.
               บทแม้ทั้งสองมีเนื้อความอย่างเดียวกัน พยัญชนะเท่านั้นที่ต่างกัน. เมื่อเป็นเช่นนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงถึงบุคคล โดยมุ่งถึงลักษณะของญาณด้วยบทว่า ชานโต. ความจริง ญาณมีความรู้เป็นลักษณะ. ทรงแสดงบุคคลโดยมุ่งถึงอำนาจของญาณด้วยบทว่า ปสฺสโต. ความจริง ญาณมีอำนาจในการเห็น. บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยญาณ ย่อมเห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงเปิดเผยไว้ด้วยญาณนั้นแล เปรียบเหมือนคนตาดีมองเห็นรูปด้วยจักษุฉะนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง เพื่อให้โยนิโสมนสิการเกิดขึ้น อโยนิโสมนสิการจะไม่เกิดขึ้นแก่ผู้เห็นอยู่ เหมือนจะไม่เกิดขึ้นแก่ผู้รู้อยู่ฉะนั้น สารสำคัญในคำทั้ง ๒ นี้มีเพียงเท่านี้. ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวเยิ่นเย้อไว้มาก. ข้อความเหล่านั้นไม่เหมาะในอรรถนี้.
               บทว่า อาสวานํ ขยํ ความว่า การละอาสวะ คือการเกิดความสิ้นไปโดยไม่มีเหลือ ได้แก่อาการคือการสิ้นไป หมายความว่า ภาวะคือการไม่มีแห่งอาสวะทั้งหลาย. ขยะ ศัพท์นี้แล มีความหมายว่าสิ้นอาสวะทั้งในสูตรนี้ และทั้งในประโยคเป็นต้นว่า อาสวานํ ขยา อนาสวญฺเจโตวิมุตฺตึ. ส่วนในสูตรอื่น แม้มรรค-ผล-นิพพาน ท่านเรียกว่าธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะ.
               จริงอย่างนั้น มรรคท่านเรียกว่า ธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า
                         ในเพราะการสิ้นไปแห่งอาสวะของพระเสขบุคคล
                         ผู้กำลังศึกษา ผู้ดำเนินตามทางสายตรง (คือมรรค
                         มีองค์ ๘) ญาณ (สัมมาทิฏฐิ) ย่อมเกิดก่อน ต่อแต่
                         นั้น อรหัตตผลจึงมีในลำดับต่อไป ดังนี้.
               ผล ท่านกล่าวว่าธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า บุคคลเป็นสมณะได้เพราะการสิ้นไปแห่งอาสวะ.
               นิพพาน ท่านกล่าวว่าธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะ (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า
                         อาสวะทั้งหลาย ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้ตามเห็นโทษ
                         ของผู้อื่น ผู้มีปกติเพ่งโทษเป็นนิจนั้น เขาย่อมอยู่
                         ห่างไกลจากธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะ ดังนี้.
               บทว่า โน อชานโต น อปสฺสโต ความว่า ก็ผู้ใดไม่รู้อยู่ไม่เห็นอยู่ เราตถาคตไม่กล่าวการสิ้นไปแห่งอาสวะของบุคคลนั้น. ชนเหล่าใดกล่าวถึงความบริสุทธิ์ด้วยสังวรเป็นต้น แม้ของบุคคลผู้ไม่รู้ไม่เห็น ชนเหล่านั้นเป็นอันท่านคัดค้านด้วยบทว่า โน ชานโต โน ปสฺสโต นี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ด้วย ๒ บทแรก (ชานโต ปสฺสโต) เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสอุบายไว้แล้ว, ด้วย ๒ บทหลังนี้ (โน อชานโต อปสฺสโต) เป็นอันพระองค์ได้ตรัสการปฏิเสธอุบายไว้แล้ว เพราะฉะนั้น ในที่นี้ ญาณเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่าเป็นธรรมเครื่องปิดกั้นอาสวะทั้งหลายโดยสังเขป.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระประสงค์จะทรงแสดงธรรมที่เมื่อภิกษุรู้อยู่ จึงมีความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย จึงทรงเริ่มปุจฉาว่า กิญฺจิ ภิกฺขเว ชานโต ดังนี้.
               ในบทว่า กิญฺจิ ภิกฺขเว ชานโต นั้น ความรู้มีหลายอย่าง ความจริง ภิกษุลางรูปผู้มีชาติฉลาดย่อมรู้วิธีทำกลด ลางรูปย่อมรู้วิธีทำจีวรเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อภิกษุนั้นดำรงอยู่ในข้อวัตรกระทำกรรมเช่นนี้อยู่ ความรู้เช่นนั้นไม่ควรจะกล่าวว่า ไม่เป็นปทัฏฐานของมรรคและผล. ส่วนภิกษุใดบวชในศาสนาแล้วรู้วิธีทำเวชกรรมเป็นต้น เมื่อภิกษุนั้นรู้อย่างนี้ อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญขึ้นทีเดียว. เพราะฉะนั้น เมื่อภิกษุรู้เห็นธรรมใด ความสิ้นอาสวะจึงเกิดมีได้ เมื่อจะทรงแสดงธรรมนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า โยนิโส จ มนสิการํ อโยนิโส จ มนสิการํ ดังนี้.
               โยนิโสมนสิการกับอโยนิโสมนสิการทั้ง ๒ อย่างนั้น ที่ชื่อว่าโยนิโสมนสิการ ได้แก่การทำไว้ในใจโดยถูกอุบาย=การทำไว้ในใจโดยถูกทาง=การนึก=การน้อมนึก=การผูกใจ=การใฝ่ใจ=การทำไว้ในใจ ซึ่งจิตในอนิจจลักษณะเป็นต้น โดยนัยเป็นต้นว่า ไม่เที่ยง หรือโดยสัจจานุโลมิกญาณ นี้เรียกว่าโยนิโสมนสิการ.
               ที่ชื่อว่าอโยนิโสมนสิการ ได้แก่ การทำไว้ในใจโดยไม่ถูกอุบาย ได้แก่การทำไว้ในใจโดยไม่ถูกทาง คือการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย=การทำไว้ในใจโดยผิดทาง ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสิ่งที่ไม่ใช่อัตตาว่าเป็นอัตตา หรือคือการนึก=การน้อมนึก=การผูกใจ=การใฝ่ใจ=การทำไว้ในใจซึ่งจิตโดยการกลับกันกับสัจจะ นี้เรียกว่าอโยนิโสมนสิการ.
               ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีแก่ภิกษุผู้รู้อยู่ เพื่อยังโยนิโสมนสิการให้เกิดขึ้น และแก่ภิกษุผู้เห็นอยู่โดยประการที่อโยนิโสมนสิการจะไม่เกิดขึ้น ดังที่พรรณนามานี้.
               บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงข้อยุติแห่งเนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อโยนิโส ภิกฺขเว ฯเปฯ ปหียฺยนฺติ.
               ถามว่า ด้วยคำว่า อโยนิโส ภิกฺขเว ฯเปฯ ปหียนฺติ นั้น ท่านกล่าวอธิบายไว้อย่างไร?
               ตอบว่า ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า เพราะอาสวะทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ใส่ใจโดยไม่แยบคาย เมื่อภิกษุใส่ใจโดยแยบคาย เธอย่อมละอาสวะทั้งหลายได้ เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงเข้าใจว่า ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายย่อมมีแก่ภิกษุผู้รู้อยู่ เพื่อยังโยนิโสมนสิการให้เกิดขึ้น และแก่ภิกษุผู้เห็นอยู่โดยประการที่อโยนิโสมนสิการจะไม่เกิดขึ้น ดังที่พรรณนามานี้. ในข้อนี้มีการพิจารณาโดยสังเขปเพียงเท่านี้ก่อน.
               ส่วนความพิสดารมีดังต่อไปนี้.
               พระสูตรทั้งสิ้นข้างหน้ามีความเกี่ยวเนื่องกันกับด้วย ๒ บทนี้ คือ โยนิโส อโยนิโส ก่อน. ความจริง พระสูตรทั้งหมดข้างหน้า ท่านกล่าวไว้ด้วยอำนาจวัฏฏะและวิวัฏฏะ.
               ก็วัฏฏะมีการไม่ใส่ใจโดยแยบคายเป็นมูลราก วิวัฏฏะมีการใส่ใจโดยแยบคายเป็นมูลราก คืออย่างไร?
               อธิบายว่า การใส่ใจโดยไม่แยบคายเมื่อเจริญขึ้นย่อมให้ธรรม ๒ อย่าง คืออวิชชาและภวตัณหาบริบูรณ์. ก็เมื่อมีอวิชชา สังขารทั้งหลายจึงเกิดมีขึ้นเพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย ฯลฯ กองทุกข์จึงมีการเกิดขึ้น. เมื่อมีตัณหา อุปาทานก็เกิดมี เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย ฯลฯ กองทุกข์จึงมีการเกิดขึ้น. ฉะนั้น บุคคลผู้มากด้วยการไม่ใส่ใจโดยแยบคายอย่างนี้ ย่อมเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพกำเนิด คติ ฐิติและสัตตาวาสอยู่รํ่าไป เปรียบเหมือนเรือซึ่งถูกแรงลมพัดทำให้โคลง และเปรียบเหมือนฝูงโคซึ่งตกลงไปในแม่นํ้าไหลวน และเหมือนโคพลิพัทที่เขาเทียมรถไว้ฉะนั้น. วัฏฏะมีการไม่ใส่ใจโดยแยบคายเป็นมูลรากดังว่ามานี้ก่อน.
               ส่วนการใส่ใจโดยแยบคาย เมื่อเจริญขึ้นย่อมทำมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นข้อแรกให้บริบูรณ์ เพราะพระบาลีว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยการใส่ใจโดยแยบคาย พึงหวังข้อนี้ได้ คือเธอก็จักเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘.
               ด้วยบทว่า ยา จ สมฺมาทิฏฺฐิ สา วิชฺชา นี้ บัณฑิตพึงทราบวิวัฏฏะซึ่งมีการใส่ใจโดยแยบคายเป็นมูลรากอย่างนี้ว่า เพราะวิชชาเกิดขึ้น และอวิชชาดับไป ความดับแห่งสังขารจึงเกิดมีแก่ภิกษุนั้น ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้.
               พระสูตรทั้งหมดข้างหน้ามีความเกี่ยวเนื่องกันด้วยบททั้ง ๒ นี้ดังกล่าวมานี้. ก็ในสูตรนี้ที่เกี่ยวเนื่องกันอย่างนี้ เพราะเหตุที่แสดงการละอาสวะไว้ก่อนแล้ว จะกล่าวการเกิดขึ้นทีหลังไม่เหมาะ เนื่องจากว่าอาสวะที่ละได้แล้วย่อมไม่เกิดขึ้นอีก แต่ที่ถูก (คือกล่าว) การละอาสวะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว (ต่างหาก) ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อโยนิโส ภิกฺขเว มนสิกโรโต เป็นต้น แม้โดยย้อนอุทเทศ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อโยนิโส มนสิกโรโต ความว่า ผู้ยังการใส่ใจโดยไม่แยบคายมีประการดังกล่าวแล้วให้เกิดขึ้น.
               ในบทว่า อุปฺปนฺนา เจว อาสวา อุปฺปชฺชนฺติ นี้ ความว่า เมื่อภิกษุได้ปัจจัยมีจีวรเป็นต้นซึ่งตนไม่เคยได้มาก่อน หรือได้วัตถุอันน่าพอใจอย่างใดอย่างหนึ่งของอุปัฏฐาก สัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกแล้ว ไม่ใส่ใจโดยแยบคายซึ่งปัจจัยหรือวัตถุนั้นว่างาม เป็นสุข. ก็หรือเมื่อภิกษุไม่ใส่ใจโดยแยบคายซึ่งอารมณ์อย่างอื่นๆ ซึ่งตนไม่เคยได้เสวยมาก่อนโดยประการใดประการหนึ่ง อาสวะเหล่าใดย่อมเกิดขึ้น. อาสวะเหล่านั้นซึ่งยังไม่เกิดขึ้น พึงทราบว่าย่อมเกิดขึ้น ดังนี้.
               ความจริง อาสวะทั้งหลายที่ชื่อว่าไม่เกิดขึ้นในสังสารวัฏซึ่งมีที่สุดแห่งเบื้องต้นที่ใครตามไปไม่รู้แล้วโดยประการอื่น ย่อมไม่มี. อาสวะทั้งหลายของภิกษุใดในกาลก่อนไม่เกิดขึ้นในวัตถุหรือในอารมณ์ที่ตนไม่เคยได้เสวยมาก่อนโดยความบริสุทธิ์ ตามปกติหรือด้วยอำนาจการอุทเทศ ปริปุจฉา ปริยัติ นวกรรม และโยนิโสมนสิการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมเกิดขึ้นโดยฉับพลันด้วยปัจจัยเช่นนั้น ในภายหลัง อาสวะทั้งหลายของภิกษุนั้นพึงทราบว่า ยังไม่ (เคย) เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเกิดขึ้นดังนี้. ส่วนอาสวะทั้งหลายซึ่งกำลังเกิดขึ้นบ่อยๆ ในวัตถุและในอารมณ์เหล่านั้นนั่นแล ท่านเรียกว่าเกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ. ขึ้นชื่อว่าความเจริญแห่งอาสวะทั้งหลายซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกโดยประการอื่นจากนี้ หามีไม่เลย.
               ในบทว่า โยนิโส จ โข ภิกฺขเว นี้ ความว่า อาสวะทั้งหลายของภิกษุใดย่อมไม่เกิดขึ้นโดยความบริสุทธิ์ตามปกติ หรือโดยเหตุมีอุทเทศและปริปุจฉาเป็นต้น เหมือนไม่เกิดขึ้นแก่ท่านมหากัสสปะและนางภัททกาปิลานี ภิกษุนั้นย่อมรู้แจ้งชัดว่า อาสวะทั้งหลายของเรายังไม่ถึงการเพิกถอนด้วยมรรคหรือหนอ อย่ากระนั้นเลย เราจะปฏิบัติเพื่อเพิกถอนอาสวะเหล่านั้น.
               ต่อแต่นั้น เธอย่อมเพิกถอนอาสวะทั้งหมดนั้นด้วยมรรคภาวนา อาสวะทั้งหลายเหล่านั้นของเธอ ท่านกล่าวว่าที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น. ส่วนภิกษุใดมีสติอยู่ห่างไกล อาสวะทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นโดยเร็วพลัน เพราะความหลงลืมแห่งสติ ต่อแต่นั้น เธอนั้นก็ถึงความสังเวช เริ่มตั้งความเพียรโดยแยบคาย ย่อมเพิกถอนอาสวะเหล่านั้นได้ อาสวะซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นเรียกว่าอันเธอย่อมละได้ เหมือนพระมหาติสสคุตตเถระผู้อยู่ในมัณฑลาราม.
               ได้ยินว่า ท่านเรียนอุทเทศในวิหารนั้นนั่นเอง ครั้งนั้น กิเลสก็เกิดขึ้นแก่ท่านผู้เที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้านเพราะอารมณ์อันเป็นวิสภาคกัน. ท่านข่มอารมณ์นั้นด้วยวิปัสสนาแล้วกลับไปวิหาร. อารมณ์นั้นได้ปรากฏแก่ท่านแม้ในความฝัน. ท่านเกิดความสังเวชขึ้นว่า กิเลสนี้เจริญขึ้นแล้วย่อมเป็นเครื่องทำเราให้ตกไปในอบายดังนี้ แล้วอำลาอาจารย์แล้วออกจากวิหารไปเรียนอสุภกัมมัฏฐานซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อราคะในสำนักของพระมหาสังฆรักขิตเถระ เข้าไปสู่ระหว่างพุ่มไม้ ลาดผ้าบังสุกุลรองนั่งตัดเสียซึ่งราคะอันประกอบด้วยกามคุณ ๕ ด้วยอนาคามิมรรค ลุกขึ้นแล้วไหว้อาจารย์ ในวันรุ่งขึ้นได้บรรลุอุทเทสมรรค. ก็อาสวะทั้งหลายเหล่าใดกำลังเป็นไป ยังไม่เกิดขึ้น ขึ้นชื่อว่าการละอาสวะทั้งหลายเหล่านั้นด้วยข้อปฏิบัติย่อมไม่มี.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาบทนี้ว่า อุปฺปนฺนา จ อาสวา ปหิยฺยนฺติ ดังนี้แล้วทรงขยายเทศนาให้พิสดารเพื่อจะทรงชี้แจงเหตุแห่งการละซึ่งอาสวะที่ละได้ แม้อย่างอื่นโดยประการต่างๆ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ภิกษุทั้งหลาย อาสวะที่พึงละด้วยทัสสนะมีอยู่ ดังนี้ สมกับที่พระองค์เป็นพระธรรมราชาผู้ฉลาดในประเภทแห่งเทศนา.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทสฺสนา ปหาตพฺพา ความว่า พึงละด้วยทัสสนะ.
               ในทุกบทก็นัยนี้.

               พรรณนาอาสวธรรมที่พึงละด้วยทัสสนะ               
               [๑๒] บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะทรงกระทำให้แจ้งซึ่งบทเหล่านั้นโดยลำดับ จึงทรงตั้งปัญหาว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหนที่ควรละด้วยทัสสนะ ดังนี้แล้ว ทรงเริ่มเทศนาอันเป็นปุคคลาธิฏฐานว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับในธรรมวินัยนี้ โดยนัยดังกล่าวแล้วในอรรถกถามูลปริยายสูตร.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มนสิกรณีเย ธมฺเม นปฺปชานาติ ความว่า ย่อมไม่รู้จักธรรมที่ควรน้อมนึก คือที่ควรนำมาพิจารณา.
               บทว่า อมนสิกรณีเย ความว่า ย่อมไม่รู้จักธรรมที่ตรงกันข้าม.
               ในบทที่เหลือก็นัยนี้.
               ก็เพราะการกำหนดโดยธรรมว่า ธรรมเหล่านี้ควรใส่ใจ ธรรมเหล่านี้ไม่ควรใส่ใจดังนี้ ไม่มี แต่การกำหนดโดยอาการมีอยู่ คือธรรมทั้งหลายที่ภิกษุใส่ใจอยู่โดยอาการใด จึงเป็นปทัฏฐานแห่งการบังเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรม ภิกษุไม่ควรทำการใส่ใจธรรมเหล่านั้นโดยอาการนั้น ธรรมทั้งหลายที่ภิกษุใส่ใจโดยอาการใด จึงเป็นปทัฏฐานแห่งการบังเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรม ธรรมเหล่านี้ ภิกษุควรใส่ใจโดยอาการนั้น ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำเป็นต้นว่า ยสฺส ภิกฺขเว ธมฺเม มนสิกโรโต อนุปฺปนฺโน วา กามาสโว ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺส ความว่า อาสวะเหล่าใดของปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วนั้น. บทว่า มนสิกโรโต ความว่า ผู้ระลึก คือนำมาพิจารณา.
               วา ศัพท์ ในบทว่า อุปฺปนฺโน วา กามสโว นี้มีสมุจจยะเป็นอรรถ หาได้มีวิกัปเป็นอรรถไม่. ฉะนั้น พึงเห็นเนื้อความในที่นี้ว่า กามาสวะที่ยังไม่เกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้น กามาวะที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ เหมือนเมื่อพระองค์ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายไม่มีเท้าก็ตาม มี ๒ เท้าก็ตาม มีประมาณเท่าใด ฯลฯ ตถาคตกล่าวรอยเท้าช้างว่าเป็นยอดแห่งสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ดังนี้ย่อมได้ความว่า สัตว์ไม่มีเท้าและสัตว์ ๒ เท้า. และเหมือนเมื่อพระองค์ตรัสว่า เพื่อความดำรงอยู่แห่งสัตว์ทั้งหลายผู้เกิดมาแล้วบ้าง เพื่ออนุเคราะห์สัตว์ผู้เป็นสัมภเวสีบ้าง ย่อมได้ความว่า ภูตและสัมภเวสี. และเหมือนเมื่อพระองค์ตรัสว่า จากไฟบ้าง จากน้ำบ้าง จากการขาดความสามัคคีบ้าง ย่อมได้ความว่า จากไฟ จากน้ำและจากการขาดความสามัคคี ดังนี้.
               แม้ในบทนี้ว่า ยสฺส ภิกฺขเว ธมฺเม มนสิกโรโต อนุปฺปนฺโน วา กามาสโว ก็พึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า อนุปฺปนฺโน จ กามาสโว อุปฺปชฺชติ อุปฺปนฺโน จ กามาสโว ปวทฺฒติ (กามาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้นและกามาสวะที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ).
               ในบทที่เหลือก็อย่างนี้เหมือนกัน.
               บรรดาอาสวะเหล่านั้น ความกำหนัดอันประกอบด้วยกามคุณ ๕ ชื่อว่ากามาสวะ. ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในรูปภพ และความพอใจในฌานซึ่งประกอบด้วยสัสสตทิฏฐิแลอุจเฉททิฏฐิ ชื่อว่าภวาสวะ. แม้ทิฏฐาสวะย่อมรวมลงในภวาสวะเหมือนกันด้วยอาการอย่างนี้. ความไม่รู้ในสัจจะทั้ง ๔ ชื่ออวิชชาสวะ.
               บรรดาอาสวะเหล่านั้น กามาสวะซึ่งยังไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญแก่ผู้ที่ยินดีคือใส่ใจในกามคุณ. ภวาสวะที่ยังไม่เกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญแก่ผู้ที่ยินดีชอบใจคือใส่ใจในมหัคคตธรรม. อวิชชาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิด ที่เกิดแล้วก็ย่อมเจริญแก่ผู้ใส่ใจในธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ โดยธรรมเป็นปทัฏฐานแห่งวิปัลลาส ๔ พึงทราบเนื้อความดังกล่าวมาอย่างนี้.
               ธรรมฝ่ายขาวควรให้พิสดารโดยความเป็นข้าศึกกับธรรมตามนัยที่กล่าวแล้ว.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอาสวะไว้ ๓ เท่านั้น?
               ตอบว่า เพราะเป็นข้าศึกต่อวิโมกข์.
               ความจริง กามาสวะเป็นปฏิปักษ์ต่ออัปปณิหิตวิโมกข์. ภวาสวะและอวิชชาสวะนอกนี้ เป็นปฏิปักษ์ต่ออนิมิตตวิโมกข์และสุญญตวิโมกข์ ฉะนั้น พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงเนื้อความนี้ว่า เหล่าชนผู้ให้อาสวะทั้ง ๓ เหล่านี้เกิดขึ้น ย่อมเป็นผู้ไม่มีส่วนแห่งวิโมกข์ทั้ง ๓ เหล่านั้น ชนที่ไม่ให้อาสวะเหล่านี้เกิดขึ้น ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งวิโมกข์ทั้ง ๓ ดังนี้ จึงตรัสวิโมกข์ไว้ ๓ เท่านั้น. คำนี้ว่า อีกอย่างหนึ่ง แม้ทิฏฐาสวะก็เป็นอันพระองค์ตรัสไว้แล้วในอาสวกถานี้เหมือนกัน ดังนี้ เป็นอันพรรณนาไว้แล้ว.
               บทว่า ตสฺส อมนสิกรณียานํ ธมฺมานํ มนสิการา ความว่า เพราะเหตุแห่งการใส่ใจ. อธิบายว่า เพราะเหตุที่ใส่ใจซึ่งธรรมเหล่านั้น. แม้ในบทที่ ๒ ก็นัยนี้.
               คำว่า อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ ดังนี้ นี้เป็นคำกล่าวย้ำโดยไม่แตกต่างกันแห่งอาสวะทั้งหลายที่กล่าวแล้วในหนหลัง.
               ปุถุชนนี้ใดผู้มิได้สดับอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว เพื่อทรงชี้แจงอาสวะที่พึงละด้วยเทศนาอันเป็นปุคคลาธิฏฐาน เพราะเหตุที่ปุถุชนนั้นเป็นที่ตั้งแม้แห่งอาสวะทั้งหลายมีกามาสวะเป็นต้น ที่มีการใส่ใจโดยอุบายไม่แยบคายเป็นปัจจัยซึ่งตรัสไว้โดยเป็นสามัญธรรมดาอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุใส่ใจโดยอุบายไม่แยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ฉะนั้น.
               ครั้นทรงแสดงอาสวะแม้เหล่านั้นโดยบุคคลนั้นนั่นแล ด้วยคำเพียงเท่านี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงอาสวะที่พึงละด้วยทัสสนะ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า โส เอวํ อโยนิโส มนสิกโรติ อโหสึ นุ โข อหํ ดังนี้.
               ก็ในสูตรนี้ เมื่อจะทรงแสดงแม้ทิฏฐาสวะด้วยยกวิจิกิจฉาขึ้นเป็นประธาน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มเทศนานี้.
               เนื้อความแห่งคำนั้นว่า อาสวะโดยนัยที่ตรัสแล้วอย่างนี้ ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ใด ผู้นั้นชื่อว่าเป็นปุถุชน ก็ปุถุชนนี้ใด พระองค์ตรัสไว้โดยนัยเป็นต้นว่า อสฺสุตฺวา ดังนี้ ปุถุชนนั้นย่อมใส่ใจโดยไม่แยบคาย คือโดยไม่ถูกอุบาย ได้แก่ไม่ถูกทาง.
               ถามว่า ใส่ใจอย่างไร
               ตอบว่า คือย่อมใส่ใจว่า เราได้มีแล้วหรือหนอ ฯลฯ สัตว์จักไปไหนดังนี้.
               ถามว่า ท่านอธิบายไว้อย่างไร?
               ตอบว่า ท่านอธิบายไว้ว่า บุคคลนั้นย่อมใส่ใจโดยไม่แยบคายโดยประการที่เขามีวิจิกิจฉาทั้ง ๑๖ อย่าง ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยนัยว่า อหํ อโหสึ นุ โข ดังนี้ เกิดขึ้น.
               บรรดาข้อกังขาเหล่านั้น ข้อกังขาว่า อโหสึ นุโข น นุโข (เราได้มีแล้วหรือหนอหรือไม่ได้มีแล้ว) ความว่า ปุถุชนสงสัยความมีและความไม่มีแห่งอัตตาในอดีตเพราะอาศัยอาการคือสัสสตทิฏฐิและอาการที่เกิดขึ้นลอยๆ.
               คำว่า กึ การณํ (เหตุไร?) ไม่จำเป็นต้องกล่าว (เพราะ) พาลปุถุชนมีพฤติกรรมคุ้มดีคุ้มร้ายเหมือนคนบ้า.
               อีกอย่างหนึ่ง อโยนิโสมนสิการนั้นเองเป็นเหตุในเรื่องนี้.
               ถามว่า อะไรเป็นเหตุแห่งอโยนิโสมนสิการอย่างนี้.
               ตอบว่า ความเป็นปุถุชนนั้นเองหรือกิจอันมีการไม่เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลายเป็นต้นเป็นเหตุ.
               ถามว่า ก็แม้ปุถุชนย่อมใส่ใจโดยแยบคาย (มีโยนิโสมนสิการเหมือนกัน) มิใช่หรือ หรือใครเล่ากล่าวอย่างนี้ว่า ปุถุชนไม่ทำไว้ในใจโดยแยบคาย (ไม่มีโยนิโสมนสิการ).๑-
____________________________
๑- ปาฐะ เป็น โกว เอวมาห มนสิกโรตีติ แต่ฉบับพม่าเป็น โก วา เอวมาห น มนสิกโรตีติ เห็นว่าจะถูกต้องดีกว่าจึงได้แปลตามฉบับพม่า.

               ความเป็นปุถุชนไม่เป็นเหตุสำคัญในข้อนั้น กรรมคือการฟังธรรมและความมีกัลยาณมิตรเป็นต้น (ต่างหาก) เป็นเหตุสำคัญในข้อนี้. ความจริง ตามปกติของตน สัตว์มีปลาและเนื้อเป็นต้นไม่ได้มีกลิ่นหอม แต่กลายเป็นสัตว์มีกลิ่นหอมได้ เพราะมีเครื่องปรุงแต่งเป็นปัจจัย.
               บทว่า กึ นุ โข อโหสึ ความว่า ปุถุชนอาศัยชาติ (กำเนิด) เพศและการอุบัติจึงสงสัยว่า เราได้เป็นกษัตริย์แล้วหรือหนอแล ได้เป็นบรรดาพราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา มนุษย์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วหรือหนอแล.
               บทว่า กถํ นุโข ความว่า ปุถุชนได้อาศัยอาการแห่งทรวดทรง จึงสงสัยว่า เราได้เป็นคนสูงแล้วหรือหนอ ได้เป็นคนเตี้ย คนขาว คนดำ คนมีขนาดพอดี คนที่ไม่ได้ขนาดแล้วหรือหนอแล.
               ส่วนอาจารย์บางพวกย่อมกล่าวว่า ปุถุชนอาศัยเหตุการเนรมิตของพระอิศวรเป็นต้น แล้วสงสัยโดยเหตุว่า เราได้มีแล้วเพราะเหตุอะไรหนอแล.
               บทว่า กึ หุตฺวา กึ อโหสึ ความว่า ปุถุชนอาศัยชาติ (กำเนิด) เป็นต้น ย่อมสงสัยความสืบต่อของตนว่า เราเป็นกษัตริย์แล้วจึงได้มาเป็นพราหมณ์หรือหนอแล ฯลฯ เป็นเทวดาแล้วจึงได้มาเป็นมนุษย์หรือหนอแล.
               คำว่า อทฺธานํ ในทุกๆ บท เป็นคำที่ระบุถึงกาลเวลา.
               บทว่า ภวิสฺสามิ นุโข น นุโข ความว่า ย่อมสงสัยความที่ตนจะมีหรือจะไม่มีในอนาคต เพราะอาศัยอาการแห่งสัสสตทิฏฐิ และอาการอุจเฉททิฏฐิ.
               คำที่เหลือในสูตรนี้มีนัยดังกล่าวแล้วเหมือนกัน.
               บทว่า เอตรหิ วา ปจฺจุปฺปนฺนํ อทฺธานํ ความว่า หรือยึดปัจจุบันกาล แม้ทั้งหมดมีปฏิสนธิเป็นต้น มีจุติเป็นที่สุดในปัจจุบัน.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ กถํกถี โหติ ความว่า ปุถุชนย่อมเป็นผู้มีความสงสัยในขันธ์ทั้งหลายของตน.
               สงสัยอย่างไร?๒-
               สงสัยความที่ตนมีอยู่ว่าเรามีอยู่หรือหนอแล.
____________________________
๒- ฉ กินฺติ สทฺโท นตฺถิ.

               ถามว่า ก็ข้อนี้ถูกแล้วหรือ?
               ตอบว่า ในคำว่า ถูกหรือไม่ถูก นี้จะมีความคิด (กังขา) ไปทำไม เออก็ในเรื่องนี้มีเรื่องดังต่อไปนี้เป็นอุทาหรณ์.
               ได้ยินว่า ลูกของแม่เล็กโกนหัว (ส่วน) ลูกของแม่ใหญ่ไม่ได้โกนหัว พอลูกของแม่ใหญ่นั้นหลับ ญาติทั้งหลายจึงช่วยกันโกนหัว. ลูกแม่ใหญ่นั้นพอตื่นขึ้น ก็คิดว่า เราเป็นลูกของแม่เล็กหรือหนอ. ความสงสัยที่ว่า เรามีอยู่หรือหนอแล ก็เป็นอย่างนี้แหละ.
               บทว่า โน นุ โขสฺมิ ได้แก่ปุถุชนย่อมสงสัยความที่ตนไม่มี. แม้ในข้อนั้น มีเรื่องดังต่อไปนี้เป็นอุทาหรณ์. ได้ยินว่า คนจับปลาคนหนึ่งคิดเห็นขาของตนซึ่งเย็นเพราะแช่อยู่ในน้ำนานว่าเป็นปลา จึงได้ตี อีกคนหนึ่งเฝ้านาอยู่ใกล้ป่าช้ารู้สึกกลัวจึงนอนขดตัว. เขาตื่นขึ้นมาคิดว่าเข่าของตนเป็นยักษ์ ๒ ตน จึงได้ตี. เขาย่อมมีความสงสัยว่า หรือว่าเราไม่มี (ไม่ใช่ตัวเรา) ดังนี้.
               บทว่า กึ นุโข ได้แก่เขาเป็นกษัตริย์ (แต่) สงสัยความเป็นกษัตริย์ของตน.
               ในบทที่เหลือก็นัยนี้.
               ส่วนผู้เกิดเป็นเทวดา ชื่อว่าไม่รู้ความเป็นเทพ ย่อมไม่มี แม้เทวดานั้นก็ย่อมมีความสงสัยความเป็นเทวดานั้น โดยนัยเป็นต้นว่า เรามีรูปหรือไม่มีรูปหนอ.
               หากมีคำถามว่า กษัตริย์เป็นต้นไม่รู้ความเป็นกษัตริย์เป็นต้น เพราะเหตุอะไร?
               พึงตอบว่า ความอุบัติในตระกูลนั้นๆ ของกษัตริย์เป็นต้นเหล่านั้นไม่ประจักษ์. แม้คฤหัสถ์ทั้งหลายมีพราหมณ์โปฏฐลิตะเป็นต้น ก็มีความสำคัญตัวเองว่า เป็นบรรพชิต แม้บรรพชิตก็มีความสำคัญตัวเองว่าเป็นคฤหัสถ์ โดยนัยเป็นต้นว่า กรรมของเรากำเริบแล้วหนอ. อนึ่ง แม้มนุษย์ทั้งหลายย่อมมีความสำคัญในตนว่าเป็นสมมติเทพ เหมือนพระราชา.
               คำว่า กถํ นุ โขสฺมิ นี้ มีนัยดังกล่าวแล้วนั้นแล.
               ก็ในบทว่า กถํ นุ โขสฺมิ นี้มีอธิบายว่า ปุถุชนเมื่อยึดถือว่า ในภายในมีแต่ชีวะล้วนๆ ดังนี้ แล้วอาศัยอาการแห่งทรวดทรงของชีวะนั้น สงสัยอยู่ว่า เราเป็นคนสูงหรือหนอแล หรือว่าเรามีรูปร่างเตี้ย ๔ ส่วน ๖ ส่วน ๘ ส่วน ๑๖ ส่วนเป็นต้นประการใดประการหนึ่งดังนี้ พึงทราบว่า สงสัยว่าเราเป็นอย่างไรหนอแล. ขึ้นชื่อว่าบุคคลผู้ไม่รู้สรีรสัณฐานอันเป็นปัจจุบันไม่มีเลย.
               บทว่า กุโต อาคโต โส กุหึ คามี ภวิสฺสติ ได้แก่ สงสัยที่มาและที่ไปของอัตภาพ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงวิจิกิจฉา ๑๖ อย่างดังพรรณนามาฉะนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงทิฏฐาสวะใด โดยหัวข้อคือวิจิกิจฉานี้ พระองค์ได้ทรงเริ่มเทศนานี้ เมื่อจะทรงแสดงทิฏฐาสวะนั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ตสฺส เอวํ อโยนิโส มนสิกโรโต ฉนฺนํ ทิฏฐีนํ ดังนี้.
               มีคำอธิบายไว้ว่า วิจิกิจฉานี้ย่อมบังเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นโดยประการใด บรรดาทิฏฐิ ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมบังเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นนั่นเอง ผู้ไม่ใส่ใจโดยแยบคายมีความลังเลสงสัยโดยประการนั้น เพราะอโยนิโสมนสิการถึงความเป็นสภาพมีกำลัง.
               วาศัพท์ ในทุกๆ บทนั้นเป็นวิกัปปัตถะ.
               อธิบายว่า ทิฏฐิย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้บ้าง อย่างนี้บ้าง.
               ก็สัสสตทิฏฐิในบทว่า อัตตาของเรามีอยู่นี้ ย่อมยึดถือว่าอัตตาของตนมีอยู่ในกาลทุกเมื่อ.
               บทว่า สจฺจโต เถตโต ความว่า โดยจริงและโดยแท้.
               อธิบายว่า โดยการยึดถืออย่างมั่นด้วยดีว่า อย่างนี้เท่านั้นจริง.
               ส่วนทิฏฐินี้ว่า อัตตาของเราไม่มี ชื่อว่าอุจเฉททิฏฐิ เพราะถือว่าสัตว์ที่มีอยู่ขาดสูญในภพนั้นๆ.
               อีกอย่างหนึ่ง ทิฏฐิแม้ข้อแรกชื่อว่า สัสสตทิฏฐิ เพราะยึดถือว่ามีอยู่ในกาลทั้ง ๓ ทิฏฐิที่ยึดถืออยู่ว่า สิ่งที่เป็นปัจจุบันเท่านั้นมีอยู่ ชื่อว่าอุจเฉททิฏฐิ.
               อนึ่ง ทิฏฐิข้อหลังชื่อว่า อุจเฉททิฏฐิ เพราะยึดถือในอดีตและอนาคตว่าไม่มี เหมือนทิฏฐิของบุคคลผู้ยึดถือทิฏฐิว่า การบูชาทั้งหลายมีเถ้าเป็นที่สุด ฉะนั้น (ส่วน) ทิฏฐิที่ยึดถือในอดีตเท่านั้นว่าไม่มี ชื่อว่าสัสสตทิฏฐิ ดุจทิฏฐิของสัตว์ผู้เกิดขึ้นลอยๆ เท่านั้น.
               บทว่า อตฺตนา ว อตฺตานํ สญฺชานามิ ความว่า เมื่อปุถุชนยึดถือขันธ์ทั้งหลายโดยมีสัญญาขันธ์เป็นประธานว่านั่นอัตตา แล้วหมายรู้ขันธ์ที่เหลือด้วยสัญญา ย่อมมีความเข้าใจว่า เราย่อมหมายรู้อัตตานี้ด้วยอัตตานี้.
               บทว่า อตฺตนาว อตฺตานํ ความว่า เมื่อปุถุชนยึดถือสัญญาขันธ์นั้นแลว่าเป็นอัตตา และยึดถือขันธ์ ๔ นอกนี้ว่าเป็นอนัตตา แล้วหมายรู้ขันธ์ ๔ เหล่านั้นด้วยสัญญา ย่อมมีความเข้าใจอย่างนี้ว่า (เราหมายรู้อนัตตาด้วยอัตตา).
               บทว่า อนตฺตนาว อตฺตานํ ความว่า เมื่อปุถุชนยึดถือสัญญาขันธ์ว่า อนัตตา และยึดถือขันธ์ ๔ นอกนี้ว่าอัตตา แล้วหมายรู้ขันธ์ ๔ เหล่านั้นด้วยสัญญา ย่อมมีความเข้าใจอย่างนี้ว่า (เราหมายรู้อัตตาด้วยอนัตตา).
               ทิฏฐิทุกอย่าง (ดังกล่าวมา) จัดเป็นสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิทั้งนั้น.
               อาการทั้งหลายมีอาทิว่า วโท วเทยฺโย เป็นอาการของการยึดมั่นด้วยสัสสตทิฏฐินั้นเอง.
               ใน ๒ คำนั้นพึงทราบวินิจฉัยดังนี้.
               ที่ชื่อว่า วโท เพราะอรรถว่าผู้บงการ. อธิบายว่า ผู้ทำวจีกรรม.
               ที่ชื่อว่า เวเทยฺโย เพราะอรรถว่ารู้. อธิบายว่า ทั้งรู้ทั้งเสวย.
               ถามว่า เสวยซึ่งอะไร?
               ตอบว่า เสวยผลของกรรมดีและกรรมชั่วในภพนั้นๆ.
               บทว่า ตตฺร ตตฺร ความว่า ในกำเนิด คติ ฐิติ นิวาสและนิกาย หรือในอารมณ์นั้นๆ.
               บทว่า นิจฺโจ คือ เว้นจากการบังเกิดขึ้นและการเสื่อมไป.
               บทว่า ธุโว คือ มั่นคง ได้แก่เป็นสาระ.
               บทว่า สสฺสโต คือ มีอยู่ตลอดกาลทั้งปวง.
               บทว่า อวิปริณามธมฺโม ความว่า มีการไม่ละความเป็นปกติของตนเป็นธรรมดา คือย่อมไม่ถึงความเป็นประการต่างๆ เหมือนกิ้งก่าฉะนั้น.
               บทว่า สสฺสติสมํ ความว่า พระจันทร์ พระอาทิตย์ สมุทร มหาปฐพีและภูเขา ท่านเรียกว่าสัสสติ (สิ่งที่เที่ยง) ตามโวหารของชาวโลก. เสมอด้วยสิ่งที่เที่ยงทั้งหลาย ชื่อว่าสัสสติสมะ. ทิฏฐิอย่างนี้ย่อมมีแก่บุคคลผู้ยึดถือว่า สิ่งที่เที่ยงทั้งหลายย่อมตั้งอยู่ตราบใด อัตตานี้ก็จักตั้งอยู่เหมือนอย่างนั้นตราบนั้น.
               บทว่า อิทํ ในคำว่า อิทํ วุจฺจติ ภิกฺขเว ทิฏฺฐิคตํ ดังนี้เป็นต้นเป็นคำชี้แจงคำที่จะพึงกล่าวในบัดนี้อย่างชัดเจน.
               ก็บทว่า อิทํ นี้ ท่านกล่าวไว้โดยความเกี่ยวเนื่องกับทิฏฐิคตะ หากล่าวไว้โดยความเกี่ยวเนื่องกับทิฏฐิไม่. ก็ในที่นี้ทิฏฐินั้นเอง ชื่อทิฏฐิคตะเหมือนคูถคตะ.
               อีกอย่างหนึ่ง การดำเนินไปในทิฏฐิ ชื่อทิฏฐิคตะ. ทัสสนะนี้เพราะเหตุที่หยั่งลงในภายในแห่งทิฏฐิ ๖๒ ฉะนั้น จึงชื่อว่า ทิฏฐิคตะ.
               อีกอย่างหนึ่ง การดำเนินไปของทิฏฐิก็ชื่อว่า ทิฏฐิคตะ.
               คำว่า อตฺถิเม อตฺตา เป็นต้นนี้ สักว่าเป็นเครื่องดำเนินไปแห่งทิฏฐิ. อธิบายว่า อัตตา หรือใครๆ ที่เที่ยงไม่มีในที่นี้.
               อนึ่ง ทิฏฐินี้นั้นชื่อว่ารกชัฏ เพราะอรรถว่าปราบได้ยาก ชื่อว่ากันดาร เพราะอรรถว่าข้ามได้ยาก และเพราะอรรถว่ามีภัยเฉพาะหน้า เหมือนความกันดารเพราะทุพภิกขภัย และเพราะสัตว์ร้ายเป็นต้นฉะนั้น.
               ทิฏฐินั้นชื่อว่าเป็นข้าศึก เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องเสียดแทง หรือเพราะอรรถว่าเป็นเครื่องขัดสัมมาทิฏฐิ. ชื่อว่าดิ้นรนไปต่างๆ เพราะอรรถว่าดิ้นรนผิดรูป เพราะบางคราวยึดถือสัสสตทิฏฐิ บางคราวยึดถืออุจเฉททิฏฐิ. ชื่อว่าสังโยชน์ เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องผูก.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทิฏฺฐิคหนํ ฯเปฯ ทิฏฺฐิสํโยชนํ ดังนี้.
               บัดนี้ เมื่อจะแสดงอรรถคือการผูกนั้นนั่นแลของสังโยชน์ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำเป็นต้นว่า ทิฏฐิสํโยชนสํยุตฺโต ดังนี้ ข้อนั้นมีเนื้อความสังเขปต่อไปนี้ว่า ปุถุชนผู้ประกอบด้วยทิฏฐิสังโยชน์นี้ ย่อมไม่พ้นจากชาติเป็นต้นเหล่านี้. อีกอย่างหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องพูดมาก (คือกล่าวว่า) เขาย่อมไม่พ้นไปจากวัฏฏทุกข์ทั้งหมดก็ได้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงทิฏฐาสวะซึ่งมี ๖ ประเภทดังพรรณนามาฉะนี้แล้ว เพราะเหตุที่สีลัพพตปรามาส พระองค์ทรงแสดงไว้ด้วยสามารถกามาสวะเป็นต้นนั้นนั่นแหละ. ความจริง สมณพราหมณ์ทั้งหลายภายนอกจากพระพุทธศาสนานี้ ถูกอวิชชาครอบงำย่อมพากันยึดถือศีลและพรต เพื่อความสุขในกามและเพื่อความสุขในภพ และความบริสุทธิ์ในภพ ฉะนั้น ครั้นไม่ทรงแสดงสีลัพพตปรามาสนั้น (ซ้ำอีก) หรือไม่ทรงแสดงสีลัพพตปปรามาสนั้น (อีก) เพราะสีลัพพตปรามาสนั้น พระองค์ทรงถือเอาด้วยศัพท์ว่าทิฏฐิแล้ว.
               บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงบุคคลผู้ละอาสวะอันจะพึงละด้วยทัสสนะนั้น แล้วแสดงวิธีการละอาสวะเหล่านั้น หรือเพื่อทรงแสดงการบังเกิดขึ้นแห่งอาสวะเหล่านั้นของปุถุชนผู้ไม่ได้ใส่ใจโดยแยบคายแล้ว จึงทรงแสดงวิธีการละของบุคคลผู้ผิดตรงกันข้ามนั้น ในบัดนี้จึงตรัสคำว่า สุตวา จ โข ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น.
               เนื้อความของคำนั้น บัณฑิตพึงทราบโดยนัยแห่งคำที่ทรงแสดงไว้แล้วในหนหลัง จนถึงบาลีประเทศว่า โส อิทํ ทุกขํ ดังนี้ และโดยบุคคลที่ตรงกันข้ามจากบุคคลที่กล่าวมาแล้ว.
               ก็บุคคลนี้พึงทราบว่า เป็นอริยสาวกผู้ได้สดับ เป็นผู้ฉลาดในอริยธรรมและถูกแนะนำด้วยดีในอริยธรรมโดยปัจนีกนัย คือโดยความเป็นข้าศึกต่อบุคคลผู้ไม่รู้และไม่ได้ถูกแนะนำในอริยธรรมโดยอาการทั้งปวง.
               อีกอย่างหนึ่งแล บุคคลนี้พึงทราบว่า เป็นอริยสาวกด้วยอรรถอันสมควรแก่เหตุนั้น ตั้งแต่วิปัสสนาที่ถึงยอดจนถึงโคตรภู.
               ก็ในข้อว่า โส อิทํ ทุกฺขนฺติ โยนิโส มนสิกโรติ ดังนี้เป็นต้นนี้มีการบรรยายความให้ชัดเจนดังต่อไปนี้.
               อริยสาวกผู้เจริญกัมมัฏฐานในสัจจะ ๔ นั้นในชั้นแรกทีเดียว ต้องเรียนกัมมัฏฐานประกอบด้วยสัจจะ ๔ ในสำนักของอาจารย์อย่างนี้ว่า ขันธ์ที่เป็นไปในภูมิ ๓ ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะโทษคือตัณหา ตัณหาชื่อว่าเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ ความไม่เป็นไปแห่งทุกข์และทุกขสมุทัยทั้ง ๒ ชื่อว่านิโรธ ทางให้ถึงความดับชื่อว่ามรรคดังนี้แล้ว.
               โดยสมัยต่อมา เธอก้าวขึ้นสู่ทางแห่งวิปัสสนา ย่อมใส่ใจถึงขันธ์อันเป็นไปในภูมิ ๓ เหล่านั้นโดยแยบคายว่า สิ่งนี้เป็นทุกข์ คือย่อมรำพึง และพิจารณาเห็นแจ้งโดยอุบาย คือโดยถูกทาง.
               ก็ในที่นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสวิปัสสนาโดยยกมนสิการเป็นสำคัญทีเดียวจนถึงโสดาปัตติมรรค.
               พระโยคาวจรย่อมใส่ใจโดยแยบคายว่า ก็ตัณหานี้ใดเป็นสมุฏฐาน คือเป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้นแหละ ตัณหานี้นั้นชื่อว่าสมุทัย. พระโยคาวจรย่อมใส่ใจโดยแยบคายว่า ก็เพราะทุกข์นี้ด้วยทั้งสมุทัยนี้ด้วย ครั้นมาถึงฐานะนี้แล้วย่อมดับไปคือไม่เป็นไป ฉะนั้น ฐานะนี้จึงชื่อว่านิพพาน นี้แลชื่อทุกขนิโรธ. พระโยคาวจรย่อมใส่ใจโดยแยบคายถึงมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นเหตุให้ถึงนิโรธว่า นี้คือปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ คือย่อมพิจารณาและย่อมเห็นแจ้งโดยอุบาย คือโดยถูกทาง.
               ในข้อนั้นมีอุบาย (กำหนด) ดังนี้ :-
               ชื่อว่าความยึดมั่นย่อมมีในวัฏฏะ หามีในวิวัฏฏะไม่ ฉะนั้น พระโยคาวจรกำหนดภูตรูป ๔ ในสันตติของตนโดยนัยเป็นต้นว่า ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ นี้มีอยู่ในกายนี้ ดังนี้ และกำหนดอุปาทายรูปตามทำนองแห่งภูตรูปนั้นแล้วกำหนดว่า นี้เป็นรูปขันธ์ดังนี้ เมื่อกำหนดรูปขันธ์นั้น ก็ย่อมกำหนดธรรมคือจิตและเจตสิกอันมีรูปขันธ์นั้นเป็นอารมณ์เกิดขึ้นแล้วว่า ธรรม ๔ ประการนี้เป็นอรูปขันธ์ ต่อแต่นั้นย่อมกำหนดว่าขันธ์ ๔. เบญจขันธ์เหล่านี้เป็นทุกข์ ก็เบญจขันธ์เหล่านั้นโดยสังเขปมี ๒ ส่วนเท่านั้น คือนามและรูป และนามรูปนี้มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น.
               พระโยคาวจรย่อมกำหนดเหตุและปัจจัยของนามรูปนั้นมีอวิชชา ภพ ตัณหา กรรมและอาหารเป็นต้นว่านี้เป็นปัจจัย. ต่อแต่นั้น พระโยคาวจรกำหนดกิจและลักษณะของตนตามความเป็นจริงของปัจจัย และธรรมซึ่งอาศัยปัจจัยเกิดขึ้นเหล่านั้นแล้วยกขึ้นสู่อนิจจลักษณะว่า ธรรมเหล่านี้ไม่มีแล้วเกิดมีขึ้น. ยกขึ้นสู่ทุกขลักษณะว่า ธรรมเหล่านี้เป็นทุกข์ เพราะความที่ถูกความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปบีบคั้น. ยกขึ้นสู่อนัตตลักษณะว่า ธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นอนัตตา เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ.
               พระโยคาวจร ครั้นยกธรรมเหล่านี้ขึ้นสู่ไตรลักษณ์อย่างนี้แล้วให้วิปัสสนาเป็นไปโดยลำดับ ย่อมบรรลุโสดาปัตติมรรคได้. ในขณะนั้น เธอย่อมแทงตลอดสัจจะทั้ง ๔ ด้วยการแทงตลอดด้วยญาณดวงเดียวเท่านั้น ย่อมตรัสรู้ด้วยอาการตรัสรู้ด้วยญาณดวงเดียว ย่อมแทงตลอดทุกข์ด้วยการแทงตลอดโดยการกำหนดรู้ ย่อมแทงตลอดสมุทัยด้วยการแทงตลอดโดยการละ ย่อมแทงตลอดนิโรธด้วยการแทงตลอดโดยการทำให้แจ้ง ย่อมแทงตลอดมรรคด้วยการแทงตลอดโดยการเจริญ.
               อนึ่ง เธอย่อมตรัสรู้ทุกข์ด้วยการตรัสรู้โดยการกำหนดรู้ ฯลฯ ย่อมตรัสรู้มรรคด้วยการตรัสรู้โดยการเจริญ หาใช่ตรัสรู้สัจจะ อีกข้อหนึ่งด้วยญาณอีกญาณหนึ่งไม่.
               ความจริง พระโยคาวจรนี้ย่อมแทงตลอดและย่อมตรัสรู้นิโรธสัจจะโดยความเป็นอารมณ์ และสัจจะที่เหลือโดยความเป็นกิจด้วยญาณดวงเดียวเท่านั้น.
               ก็ในสมัยนั้น เธอย่อมไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า เราย่อมกำหนดรู้ทุกข์ดังนี้หรือ ฯลฯ หรือว่า เราย่อมยังมรรคให้เจริญ ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่งแล เมื่อเธอทำให้แจ้งซึ่งนิโรธด้วยสามารถแห่งปฏิเวธ โดยทำให้เป็นอารมณ์อยู่นั่นแหละ ญาณนั้นชื่อว่าย่อมทำหน้าที่กำหนดรู้ทุกข์บ้าง ทำหน้าที่ละสมุทัยบ้าง และทำหน้าที่เจริญมรรคบ้าง. เมื่อเธอใส่ใจโดยแยบคายโดยอุบายอย่างนี้ เธอย่อมละสังโยชน์ได้ ๓ อย่าง คือ สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ วิจิกิจฉามีวัตถุ ๘ สีลัพพตปรามาส เพราะลูบคลําศีลและพรตว่าความบริสุทธิ์มีได้เพราะศีล ความบริสุทธิ์มีได้เพราะพรต.
               บรรดาอาสวะทั้ง ๔ เหล่านั้น สักกายทิฏฐิ สีลัพพตปรามาส ท่านสงเคราะห์ด้วยทิฏฐาสวะ คือเป็นทั้งอาสวะเป็นทั้งสังโยชน์ วิจิกิจฉาเป็นสังโยชน์อย่างเดียวไม่เป็นอาสวะ แต่ชื่อว่าเป็นอาสวะเพราะนับเนื่องในบาลีนี้ว่า ทสฺสนา ปหาตพฺพา อาสวา ดังนี้ เหตุนั้น ธรรมเหล่านี้จึงเรียกว่าปหาตัพพธรรม.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงสักกายทิฏฐิเป็นต้นเหล่านี้ว่า เป็นอาสวะที่ชื่อว่าทัสสนปหาตัพพธรรม จึงได้ตรัสไว้.
               อีกอย่างหนึ่ง สักกายทิฏฐินี้ใดที่ท่านจำแนกไว้โดยสรูปนั้นแลอย่างนี้ว่า บรรดาทิฏฐิ ๖ อย่าง ทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาสักกายทิฏฐินั้น จึงตรัสว่า อิเม วุจฺจนฺติ ภิกฺขเว ดังนี้.
               ก็เพราะสักกายทิฏฐินั้น พระโยคาวจรย่อมละได้พร้อมกับวิจิกิจฉาและสีลัพพตปรามาสที่เกิดร่วมกันและมีความหมายอย่างเดียวกันด้วยการละ. ความจริง เมื่อพระโยคาวจรละทิฏฐาสวะได้แล้ว กามาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ในจิตที่เป็นทิฏฐิสัมปยุต ๔ ดวง ซึ่งเกิดร่วมกับทิฏฐาสวะนั้น พระโยคาวจรย่อมละได้เช่นเดียวกัน.
               ส่วนภวาสวะซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยสามารถแห่งความสำเร็จความปรารถนาของนาคและครุฑเป็นต้น ในจิตซึ่งเป็นทิฏฐิวิปปยุต ๔ ดวงชื่อว่าธรรมที่มีความหมายอย่างเดียวกันด้วยการละ.
               อาสวะทั้ง ๓ ที่เหลืออย่างนี้ คืออวิชชาสวะที่สัมปยุตด้วยภวาสวะนี้ก็ดี อวิชชาสวะอันเป็นตัวทำให้บังเกิดอกุศลกรรมมีปาณาติบาตเป็นต้นในโทมนัสจิต ๒ ดวงก็ดี อวิชชาสวะซึ่งสัมปยุตด้วยวิจิกิจฉาจิตเช่นเดียวกันก็ดี พระโยคาวจรย่อมละได้โดยประการทั้งปวง.
               เพราะฉะนั้น ท่านจึงทำนิทเทศเป็นพหุวจนะไว้ฉะนี้แล. ในที่นี้เนื้อความพึงทราบดังว่ามานี้. คำอธิบายของท่านพระโบราณาจารย์ก็เช่นนี้.
               บทว่า ทสฺสนา ปหาตพฺพา ความว่า โสดาปัตติมรรค ชื่อว่าทัสสนะ. อธิบายว่า อาสวะเหล่านั้นอันทัสสะนั้นพึงละ.
               ถามว่า เพราะเหตุไร โสดาปัตติมรรคจึงชื่อว่า ทัสสนะ?
               ตอบว่า เพราะเห็นพระนิพพานครั้งแรก.
               ถามว่า โคตรภูญาณย่อมเห็นก่อนกว่ามิใช่หรือ?
               ตอบว่า โคตรภูญาณย่อมไม่เห็นเลยก็ไม่ใช่. แต่ว่า โคตรภูญาณนั้น ครั้นเห็นแล้วจะทำกิจที่ควรกระทำไม่ได้ เพราะละสังโยชน์ไม่ได้ ฉะนั้น จึงไม่ควรกล่าวว่าย่อมเห็น ดังนี้.
               ก็ในเรื่องนี้มีบุรุษชาวบ้านแม้ได้เห็นพระราชาในที่บางแห่งแล้วถวายเครื่องบรรณาการกล่าวอยู่ว่า แม้ในวันนี้ เราก็ไม่ได้พบพระราชา เพราะความสำเร็จกิจตนมองไม่เห็นเป็นตัวอย่าง.

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค สัพพาสวสังวรสูตร ว่าด้วยการสังวรในอาสวะทั้งปวง
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 1อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 10อ่านอรรถกถา 12 / 20อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=238&Z=384
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=1647
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=1647
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :