ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 153อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 159อ่านอรรถกถา 12 / 194อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สีหนาทวรรค
มหาสีหนาทสูตร ว่าด้วยเหตุแห่งการบันลือสีหนาท

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               คำว่า โยนิ ในบทนี้ว่า จตสฺโส โข อิมา สารีปุตฺต โยนิโย เป็นชื่อของส่วนขันธ์บ้าง ของการณ์บ้าง ของทางปัสสาวะบ้าง.
               ส่วนของขันธ์ชื่อว่า โยนิ ในบทนี้ว่า ขันธ์ของนาค ๔ ขันธ์ของครุฑ ๔. การณ์ชื่อว่าโยนิ ในบทนี้ว่า ก็การณ์นั้นเป็นภูมิแห่งการบรรลุพืชผล. ทางปัสสาวะชื่อว่าโยนิ ในบทนี้ว่า ก็เราไม่เรียกเปตติสมภพทางปัสสาวะ ว่าเป็นพราหมณ์.
               ก็ในที่นี้ส่วนของขันธ์ ท่านประสงค์เอาว่า โยนิ.
               ในกำเนิดเหล่านั้น สัตว์ที่เกิดในไข่ ชื่อว่าอัณฑชะ. สัตว์ที่เกิดในครรภ์ชื่อว่าชลาพุชะ. สัตว์ที่เกิดในเหงื่อไคล ชื่อสังเสทชะ. สัตว์ที่เกิดขึ้นเฉพาะเว้นเหตุเหล่านั้น ดุจผุดขึ้นเกิด ชื่อว่าอุปปาติกะ.
               บทว่า อภินิพฺภชฺช ชายนฺติ คือ ย่อมเกิดด้วยอำนาจแห่งการทำลายแล้วออกมา. ท่านแสดงฐานะอันไม่น่าปรารถนาทั้งหลายด้วยบทเป็นต้นว่า ปูติกุณเป. สัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดในฐานะที่น่าปรารถนามีเนยใส น้ำตาล น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้นเหมือนกัน. เทพชั้นสูงตั้งแต่จาตุมมหาราชิก ในบทเป็นต้นว่า เทวา จัดเป็นอุปปาติกะเหมือนกัน. ส่วนภุมมเทวดาทั้งหลาย มีกำเนิด ๔.
               บทว่า เอกจฺเจ จ มนุสฺสา ความว่า ในมนุษย์ทั้งหลาย มนุษย์บางพวกเป็นอุปปาติกะเหมือนเทวดา. แต่มนุษย์เหล่านั้นโดยมากเกิดจากครรภ์. ในที่นี้ แม้ที่เกิดจากไข่ ก็เหมือนภาติยเถระ ๒ รูปผู้เป็นบุตรของโกนตะ. แม้ที่เกิดจากเหงื่อไคลก็มีโปกขรสาติพราหมณ์และพระนางปทุมวดีเทวีที่เกิดในกลีบประทุมเป็นต้น. ในวินิปาติกะทั้งหลาย. นิชฌามเปรตและตัณหิกเปรต เป็นอุปปาติกเหมือนกัน ดุจสัตว์นรกทั้งหลาย. ที่เหลือมีกำเนิด ๔. ยักษ์ทั้งหลายก็ดี สัตว์ทั้งหลายมีสัตว์ ๔ เท้า นกและงูทั้งปวงเป็นต้นก็ดี ทั้งหมดมีกำเนิด ๔ เหมือนวินิปาติกะเหล่านั้น.
               คติทั้งหลายแม้พึงไปด้วยสามารถแห่งกรรมที่ทำไว้ดีและทำไว้ชั่ว ในบทนี้ว่า ดูก่อนสารีบุตร คติ ๔ อย่างนี้แล.
               อีกประการหนึ่ง ชื่อว่าคติ มีหลายอย่างคือ คติคติ นิพพัตติคติ อัชฌายคติ วิภวคติและนิปผัตติคติ.
               ในคติเหล่านั้น คตินี้ว่า เราละไปสู่คติอะไร และว่า เทวดาคนธรรพ์และมนุษย์ ย่อมไม่รู้คติของผู้ใด ดังนี้ ชื่อว่าคติคติ. คตินี้ว่าเราไม่รู้คติหรืออคติของภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเหล่านี้ ดังนี้ ชื่อว่านิพพัตติคติ. คตินี้ว่า ดูก่อนพรหม เรารู้ชัดคติ และรู้ชัดจุติของท่านอย่างนี้แล ชื่อว่าอัชฌาสยคติ. คตินี้ว่า วิภวะเป็นคติธรรมทั้งหลาย นิพพานเป็นคติของพระอรหันต์ ชื่อว่าวิภวคติ. คตินี้ว่า คติมี ๒ อย่างเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น ชื่อว่านิปผัตติคติ.
               ในคติเหล่านั้น ท่านประสงค์เอา คติคติ ในที่นี้.
               ชื่อว่านิรยะ ด้วยอรรถว่าปราศจากความยินดี ด้วยอรรถว่าไม่มีความสบายใจ ในบทเป็นต้นว่า นิรโย. ชื่อว่าดิรัจฉาน เพราะอรรถว่าเดินขวาง. กำเนิดของดิรัจฉานเหล่านั้น ชื่อว่าดิรัจฉานโยนิ. ชื่อว่าเปรตวิสัย เพราะอรรถว่าเป็นวิสัยแห่งสัตว์ทั้งหลายที่ถึงความละไปแล้ว. ชื่อว่ามนุษย์ เพราะความเป็นผู้มีใจสูงแล้ว. ชื่อว่าเทพ เพราะวิเคราะห์ว่า เล่นกับกามคุณ ๕ และอานุภาพของตนๆ.
               ขันธ์ทั้งหลายพร้อมกับโอกาส ชื่อว่านิรยะ ในบทเป็นต้นว่า นิรยํ จาหํ สารีปุตฺ.
               ในบทว่า ติรจฺฉานโยนึ จ แม้เป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน. ทรงแสดงกรรมอันเป็นไปสู่คติเท่านั้นที่ตรัสไว้ด้วยบทแม้ทั้งสองว่า มคฺคํ ปฏิปทํ.
               บทว่า ยถา จ ปฏิปนฺโน ความว่า ดำเนินไปโดยทางใด โดยปฏิปทาใด เพราะฉะนั้น แม้ทั้ง ๒ บทรวมเข้ากัน ย่อมปรากฏ ชื่อว่าอบาย เพราะความเป็นที่ปราศจากความงอกงาม กล่าวคือความเจริญ หรือความสุขในบทเป็นต้นว่า อปายํ ดังนี้. ชื่อว่าทุคคติ เพราะอรรถว่าเป็นคติ คือเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์. ชื่อว่าวินิบาต เพราะเป็นที่ตกไปแห่งสัตว์ทั้งหลายที่ทำความชั่ว.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบทนี้ว่า นิพฺพานญฺจาหํ เพื่อทรงแสดงว่า เราย่อมรู้คติคติอย่างเดียวก็หามิได้ เราย่อมรู้แม้นิพพานอันเป็นเครื่องสลัดออกจากคติด้วย. ท่านกล่าวอริยมรรคด้วยบทแม้ทั้งสอง คือมรรค และปฏิปทาในที่นี้. บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงอาการที่เป็นไปแล้วแก่ญาณของพระองค์ในฐานะทั้งหลายตามที่กล่าวแล้ว จึงตรัสว่า อิธาหํ สารีปุตฺต เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า เอกนฺตทุกฺขา คือ มีทุกข์เป็นนิจ ได้แก่มีทุกข์ชั่วนิรันดร์.
               บทว่า ติปฺปา คือ มาก. บทว่า กฏุกา ได้แก่กล้าแข็ง. บทว่า เสยฺยถาปิ เป็นต้น ตรัสแล้ว เพื่อทรงแสดงข้อเปรียบเทียบ. หลุมก็ดี กองก็ดี เรียกว่า กาสุ ในบทนั้น. ก็หลุมชื่อว่า กาสุ ในคาถานี้ว่า
                         ดูก่อนสารถี ท่านเดือดร้อนอะไรหนอจึงขุดหลุม
                         ดูก่อนเพื่อน ท่านผู้อันเราถามแล้วจงบอก จักทำ
                         อะไรในหลุม.
               กองชื่อว่า กาสุ ในคาถานี้ว่า
                         คนทั้งหลายอื่นร้องไห้อยู่ มีตัวร้อนรุมขุดหลุมถ่านอยู่.
               แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาหลุม. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สาธิกโปริสํ ลึกยิ่งกว่าชั่วบุรุษ. ในบทนั้น หลุมนั้น ลึกยิ่งกว่าชั่วบุรุษเป็นประมาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าลึกยิ่งกว่าชั่วบุรุษ. อธิบายว่า ลึกเกินกว่าห้าศอก.
               บทว่า ปราศจากเปลว ปราศจากควัน นั้น ตรัสเพื่อทรงแสดงความที่ความเร่าร้อนเป็นธรรมชาติมีกำลัง. ครั้นเมื่อเปลวมีอยู่ หรือควันมีอยู่ ลมย่อมตั้งขึ้น เพราะเหตุนั้น ความเร่าร้อนจึงไม่มีกำลัง.
               บทว่า ฆมฺมปเรโต ได้แก่ ถึงความร้อนแผดเผา. บทว่า ตสิโต ความว่า เกิดความทะยานอยาก. บทว่า ปิปาสิโต ได้แก่ ประสงค์จะดื่มน้ำ. บทว่า เอกายเนน มคฺเคน ความว่า โดยทางสายเดียวซึ่งมีหนาม ต้นไม้รกชัฏชั่วนิรันดร์ในข้างทั้งสองที่จะพึงเดินตาม. บทว่า ปณิธาย ความว่า ชื่อว่าความปรารถนาในหลุมถ่านเพลิงไม่มี ทรงปรารภถึงหลุมถ่านเพลิง จึงตรัสอย่างนั้นเพราะความที่อิริยาบถตั้งแล้ว.
               การแสดงข้ออุปมาในบทว่า เอวเมว โข นั้นมีดังนี้.
               ก็พึงเห็นนรกเหมือนหลุมถ่านเพลิง. พึงเห็นกรรมอันเป็นเหตุเข้าถึงนรก เหมือนทางไปสู่หลุมถ่านเพลิง. พึงเห็นบุคคลผู้สะพรั่งด้วยกรรมเหมือนคนขึ้นสู่หนทาง. พึงเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีทิพยจักษุ เหมือนบุรุษมีจักษุ. บุรุษนั้นเห็นบุคคลผู้ขึ้นสู่หนทางเทียว ย่อมรู้ว่า บุคคลนี้ไปโดยทางนี้จักตกในหลุมถ่านเพลิงฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้กรรมอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งฆ่าอายุในการฆ่าสัตว์เป็นต้นอย่างนี้ว่า บุคคลนี้ทำกรรมนี้แล้ว จักตกนรกฉันนั้นเหมือนกัน. ในกาลส่วนอื่น บุรุษนั้นเห็นบุคคลนั้นตกลงในหลุมถ่านเพลิงฉันใด
               ในกาลส่วนอื่น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังแสงสว่างให้เจริญแล้วว่า บุรุษนั้นทำกรรมนั้นแล้ว เกิดแล้วในที่ไหนทรงแลดูด้วยทิพยจักษุ ย่อมเห็นบุรุษผู้เกิดแล้วในนรก ซึ่งเสวยมหาทุกข์มีการจองจำ ๕ ประการเป็นต้นฉันนั้นเหมือนกัน. เมื่อทรงแลดูว่า ในนรกนั้น สัตว์นั้นมีวรรณะอย่างอื่น ในเวลาสั่งสมกรรม สัตว์ที่เกิดในนรกมีวรรณะเป็นอย่างอื่น แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น สัตว์นั้นทำกรรมนั้นแล้ว เกิดแล้วในนรกนั้น สัตว์นี้แม้ดำรงอยู่ในท่ามกลางสัตว์หลายแสน เพราะฉะนั้น สัตว์นั้นเทียวย่อมมาสู่ทาง เพราะเหตุนั้น อาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า นั้นชื่อว่ากำลังแห่งทิพยจักษุ.
               พึงทราบอธิบายในอุปมาข้อที่ ๒
               เพราะความเร่าร้อนในหลุมคูถ เหมือนในหลุมถ่านเพลิงไม่มี เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ตรัสว่า เอกนฺตทุกฺขา ตรัสคำว่า ทุกฺขา เป็นต้น. พึงทราบการเปรียบเทียบอุปมาโดยนัยก่อนนั้นเที่ยวแม้ในบทนั้น.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นบุคคลแม้นี้เกิดในกำเนิดใดกำเนิดหนึ่ง ในบรรดากำเนิดทั้งหลายมีกำเนิดช้างเป็นต้น เสวยทุกข์มากด้วยการฆ่า การจองจำ การคร่ามาและการคร่าไปเป็นต้น.
               พึงทราบอธิบายในอุปมาข้อที่ ๓
               ก็บทว่า ตนุปตฺตปลาโส ได้แก่ ใบอ่อน ไม่เหมือนแผ่นหมอกเมฆ แต่บทนี้ ตรัสหมายถึงมีใบบางเบา. บทว่า กพรจฺฉาโย ได้แก่ มีเงาห่าง. บทว่า ทุกฺขพหุลํ ความว่า ก็ทุกข์ในเปรตวิสัยมีมาก แต่พึงเสวยสุขนิดหน่อยในบางเวลา เพราะฉะนั้น จึงตรัสอย่างนี้. พึงทราบการเปรียบเทียบข้ออุปมาโดยนัยก่อนในที่นี้นั่นเทียว.
               พึงทราบอธิบายในอุปมาข้อที่ ๔
               บทว่า พหลปตฺตปลาโส ได้แก่ มีใบเนืองนิจ คือปกปิดด้วยใบ. บทว่า สณฺฑจฺฉาโย ความว่า มีเงาหนาดุจร่มหีน. บทว่า สุขพหุลา เวทนา ความว่า เวทนาในตระกูลทั้งหลายมีขัตติยตระกูลเป็นต้นในมนุษย์โลกเป็นอันพึงทราบว่า เวทนามากด้วยความสุข ทรงแสดงว่า เราเห็นบุคคลนอนหรือนั่งเสวยเวทนานั้น. พึงทราบข้อเปรียบเทียบอุปมาแม้นี้โดยนัยก่อนนั้นเทียว.
               พึงทราบอธิบายในอุปมาข้อที่ ๕
               บทว่า ปาสาโท ได้แก่ ปราสาทยาว.
               บทว่า อุลฺลิตฺตาวลิตฺตํ ความว่า ฉาบทาข้างในและฉาบทาข้างนอก.
               บทว่า ผุสิตคฺคฬํ ได้แก่ บานประตูหน้าต่าง ปิดสนิทดีพร้อมกับรอบวงกบ.
               บทว่า โคนกตฺถโต ความว่า ลาดด้วยผ้าโกเชาว์สีดำ ขนยาวเกินกว่าสี่นิ้ว.
               บทว่า ปฏิกตฺถโต ได้แก่ ลาดด้วยเครื่องลาดสีขาวอันสำเร็จแต่ขน.
               บทว่า ปฏลิกตฺถโต คือ ลาดด้วยเครื่องลาดอันสำเร็จด้วยขนมีพื้นหนา.
               บทว่า กทฺทลิมิคปวรปจฺจตฺถรโณ ความว่า ลาดด้วยเครื่องปูลาดชั้นสูง อันสำเร็จด้วยหนังชะมด.
               ได้ยินว่า ชนทั้งหลายลาดหนังชะมดเบื้องบนผ้าขาวแล้วเย็บทำเครื่องปูลาดนั้น.
               บทว่า สอุตฺตรจฺฉโท ความว่า มีเพดานกั้นในเบื้องบน คือมีเพดานสีแดงกั้นไว้เบื้องบน.
               บทว่า อุภโต โลหิตกูปธาโน ได้แก่ มีหมอนแดงวาง ณ ข้างทั้งสองของบัลลังก์ คือ หมอนหนุนศีรษะ และหมอนวางเท้า. พึงทราบการเปรียบเทียบข้ออุปมา โดยนัยก่อนแม้ในที่นี้.
               ก็โยชนาส่วนอื่นในบทนี้มีดังนี้.
               บุรุษนั้นย่อมรู้บุคคลที่ขึ้นสู่ทางนั้นเทียวว่า บุคคลนี้ไปโดยทางนั้น ขึ้นสู่ประสาท เข้าไปยังกุฏาคาร จักนั่งหรือจักนอนบนบัลลังก์ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นบุคคลผู้สั่งสมกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาบุญกิริยาวัตถุมีทานเป็นต้น ย่อมทรงรู้ว่า บุคคลนี้ทำกรรมนี้แล้ว จักเกิดในเทวโลกฉันนั้นเหมือนกัน. ในกาลส่วนอื่น บุรุษนั้นย่อมเห็นบุคคลนั้นขึ้นสู่ปราสาทนั้นแล้ว เข้าไปสู่กุฏาคาร นั่งหรือนอนบนบัลลังก์เสวยเวทนามีความสุขโดยส่วนเดียวฉันใด ในกาลส่วนอื่น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเจริญอาโลกสัญญาว่าบุคคลนั้นทำกรรมดีนั้นแล้ว เกิดในที่ไหน เมื่อทรงแลดูด้วยทิพยจักษุ ย่อมทรงเห็นบุคคลนั้นเกิดในเทวโลก อันหมู่นางฟ้าแวดล้อมในสวนทั้งหลายมีนันทนวันเป็นต้น เสวยทิพย์สมบัติอยู่ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
               พึงทราบวินิจฉัยในอาสวักขยวาร
               หากจะมีคำถามว่า ข้อนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสว่า ด้วยทิพยจักษุ แต่ตรัสว่า เราเห็นบุคคลนั้นนั่น เพราะเหตุไร. เพราะไม่มีการกำหนด. เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงเห็นบุคคลนี้ด้วยทิพยจักษุบ้าง จักทรงรู้ด้วยเจโตปริยญาณบ้าง จักทรงรู้ด้วยสัพพัญญุตญาณบ้าง.
               คำว่า เอกนฺตสุขา เวทนา นี้ โดยพยัญชนะเป็นสุขอันเดียวกันกับสุขในเทวโลกแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น โดยอรรถเป็นสุขต่างกัน เพราะสุขในเทวโลก ไม่เป็นเอกันตสุขโดยส่วนเดียว เพราะยังมีความเร่าร้อน มีความเร่าร้อนเพราะราคะเป็นต้น.
               แต่สุขในนิพพาน เป็นเอกันตสุขโดยอาการทั้งปวง เพราะเข้าไปสงบความเร่าร้อนทั้งหมด. สุขใดที่กล่าวแม้ในข้ออุปมาว่า สุขโดยส่วนเดียวในปราสาท ก็สุขนั้น ชื่อว่าสุขโดยส่วนเดียวเหมือนกัน เพราะความที่ความเร่าร้อนในทาง ยังไม่สงบ เพราะยังมีความหิวแผดเผา เพราะยังมีความกระหายครอบงำ. แต่ในราวป่าก็ชื่อว่าเป็นสุขโดยส่วนเดียวโดยอาการทั้งปวง เพราะความที่มลทินคือธุลีอันบุคคลนั้นลงสู่สระโบกขรณี ลอยหมดแล้ว เพราะความที่ความเหน็ดเหนื่อยในทางสงบระงับแล้ว เพราะความที่หิวกระหายทั้งหลายถูกกำจัดแล้วด้วยการกินเหง้าบัว และด้วยการดื่มน้ำอร่อย และเพราะความที่เขาผลัดผ้าอาบน้ำแล้ว นุ่งผ้าเนื้อละเอียดนอนหนุนถุงข้าวสาร บีบผ้าอาบน้ำวางไว้ที่หฤทัย ถูกลมอ่อนๆ พัดนอนหลับ.
               ในบทนี้ว่า เอวเมว โข มีการเปรียบเทียบข้ออุปมาดังนี้.
               พึงเห็นอริยมรรคเหมือนสระโบกขรณี. พึงเห็นการปฏิบัติในส่วนเบื้องต้นเหมือนทางไปสระโบกขรณี. พึงเห็นบุคคลพร้อมพรั่งด้วยการปฏิบัติเหมือนบุคคลขึ้นสู่ทาง พึงเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีทิพยจักษุเหมือนบุรุษผู้มีจักษุ พึงเห็นนิพพานเหมือนราวป่า.
               บุรุษนั้นเห็นบุคคลผู้ขึ้นสู่ทางเทียวย่อมรู้ว่าบุคคลนี้ไปโดยทางนี้ อาบน้ำในสระโบกขรณีแล้ว จักนั่งหรือจักนอนที่โคนต้นไม้ในราวป่าอันน่ารื่นรมย์ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงรู้บุคคลผู้บำเพ็ญปฏิปทา กำหนดนามรูป กระทำการกำหนดปัจจัย กระทำการงานด้วยวิปัสสนาอันมีลักษณะเป็นอารมณ์ว่า บุคคลนี้บำเพ็ญปฏิปทานี้แล้ว ยังอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไป เข้าถึงผลสมาบัติที่กล่าวแล้วอย่างนี้ว่า เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้อยู่.
               ในกาลส่วนอื่น บุรุษนั้นเห็นบุคคลนั้นอาบน้ำในสระโบกขรณีนั้นแล้ว เข้าไปสู่ราวป่าแล้วนั่งหรือนอน เสวยเวทนาอันมีความสุขโดยส่วนเดียวฉันใด ในกาลส่วนอื่น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นบุคคลนั้นบำเพ็ญปฏิปทา เจริญมรรค กระทำให้แจ้งซึ่งผล บรรลุผลสมาบัติซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์ อันถึงการนอนที่ประเสริฐคือนิโรธ เสวยเวทนาอันมีสุขโดยส่วนเดียวฉันนั้นเหมือนกัน.
               บทนี้ว่า ดูกรสารีบุตร อนึ่ง เราย่อมเข้าใจประพฤติพรหมจรรย์ประกอบด้วยองค์ ๔ ดังนี้ ทรงปรารภเพราะเหตุไร. ทรงปรารภด้วยอำนาจการต่อเนื่องเป็นขั้นตอน.
               ได้ยินว่า สุนักขัตตะนี้มีลัทธิอย่างนี้ว่า ความหมดจดย่อมมีด้วยการบำเพ็ญทุกกรกิริยา. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภเทศนานี้เพื่อทรงแสดงแก่สุนักขัตตะนั้นว่า เราดำรงในอัตภาพหนึ่งได้กระทำทุกกรกิริยาอันประกอบด้วยองค์สี่แล้ว บุคคลที่ชื่อว่าทำทุกกรกิริยาเช่นกับเราไม่มี เมื่อความหมดจดมีด้วยการทำทุกกรกิริยา เราเองพึงเป็นพระพุทธเจ้าดังนี้.
               อนึ่ง สุนักขัตตะนี้เลื่อมใสในการทำทุกกรกิริยา ความที่เขาเป็นผู้เลื่อมใสแม้นั้น พึงทราบโดยนัยอันมาแล้วในปาฏิกสูตร มีอาทิอย่างนี้ว่า สุนักขัตตลิจฉวีบุตรได้เห็นชีเปลือยชื่อโกรกขัตติกะ ประพฤติวัตรคลานเคี้ยว กินภักษาที่เขาเทลงในแผ่นดินด้วยปาก เขาครั้นเห็นแล้ว ได้มีความคิดนี้ว่า สมณะผู้คลาน เคี้ยว กินภักษาที่เทลงในแผ่นดินด้วยปากนั้นเทียวนี้ดีหนอ.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงว่า สุนักขัตตะเลื่อมใสในทุกกรกิริยา ก็เราดำรงในอัตภาพหนึ่งได้กระทำทุกกรกิริยาอันประกอบด้วยองค์สี่แล้ว สุนักขัตตะนี้แม้เมื่อจะเลื่อมใสในการทำทุกกรกิริยา ก็ควรเลื่อมใสในเรา เขาหามีความเลื่อมใสในเรานั้นไม่ดังนี้ ได้ทรงปรารภเทศนานี้.
               ทานก็ดี ไวยาวัจจ์ก็ดี สิกขาบทก็ดี พรหมวิหารก็ดี ธรรมเทศนาก็ดี เมถุนวิรัติก็ดี สทารสันโดษก็ดี วิริยก็ดี อุโบสถก็ดี อริยมรรคก็ดี ศาสนาทั้งสิ้นก็ดี อัชฌาสัยก็ดี เรียกว่าพรหมจรรย์ ในที่นี้.
               ก็ทานเรียกว่าพรหมจรรย์ ในปุณณกชาดกนี้ว่า
                                   อะไรเป็นวัตรของท่าน ก็อะไรเป็นพรหมจรรย์
                         ความสำเร็จ ความรุ่งเรือง พละ ความเพียร และอุบัตินี้
                         เป็นวิบากของผู้ประพฤติดีอะไร ข้าแต่ท่านผู้ประเสริฐ
                         ขอท่านจงบอกมหาวิมานแก่ข้าพเจ้าเถิด
                                   ข้าพเจ้าและภริยาทั้งสอง เป็นผู้มีศรัทธาเป็น
                         ทานบดีในมนุษยโลก ในกาลนั้น เรือนของข้าพเจ้า
                         เป็นโรงทาน และสมณพราหมณ์ทั้งหลาย อันเราได้
                         เลี้ยงดูให้อิ่มหนำสำราญแล้ว นั้นเป็นวัตรของข้าพเจ้า
                                   ก็นั้นเป็นพรหมจรรย์ ความสำเร็จ ความรุ่งเรือง
                         พละ ความเพียรและอุบัตินี้เป็นวิบากของผู้ประพฤติดี
                         นั้น ท่านธีระก็นี้เป็นมหาวิมานของข้าพเจ้า.
               ไวยาวัจจ์เรียกว่าพรหมจรรย์ ในอังกุรเปตวัตถุนี้ว่า
                                   ฝ่ามือของท่านให้สิ่งที่น่าปรารถนา เป็นที่ไหล
                         ออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย ผลบุญย่อมสำเร็จที่ฝ่ามือของ
                         ท่าน เพราะพรหมจรรย์อะไร
                                   ฝ่ามือของเราให้สิ่งที่น่าปรารถนา เป็นที่ไหล
                         ออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย ผลบุญย่อมสำเร็จที่ฝ่ามือของ
                         เรา เพราะพรหมจรรย์นั้น.
               สิกขาบทห้าเรียกว่าพรหมจรรย์ ในติตติรชาดกนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่า ติตติริวัตร์นี้แล เป็นพรหมจรรย์ ดังนี้.
               พรหมวิหารเรียกว่าพรหมจรรย์ ในมหาโควินทสูตรนี้ว่า ดูก่อนปัญจสิกขะ ก็พรหมจรรย์นั้นแล ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ย่อมไม่เป็นไปเพื่อคลายความกำหนด ย่อมเป็นไปเพียงเพื่อความอุบัติในพรหมโลกเท่านั้น.
               ธรรมเทศนาเรียกว่าพรหมจรรย์ ในบทนี้ว่า ในพรหมจรรย์หนึ่ง มีผู้ละมัจจุได้พันคน.
               เมถุนวิรัติเรียกว่าพรหมจรรย์ ในสัลเลขสูตรว่า พวกอื่นจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ พวกเราจักประพฤติพรหมจรรย์ ในที่นี้.
               สทารสันโดษเรียกว่าพรหมจรรย์ ในมหาธัมมปาลชาดกว่า
                         เราไม่นอกใจภริยา และภริยาก็ไม่ล่วงเกินเรา
                         เราประพฤติพรหมจรรย์ เว้นภริยาเหล่านั้น
                         เพราะฉะนั้นแล เด็กๆ ของเรา จึงไม่พึงตาย.
               อุโบสถอันประกอบด้วยองค์แปดที่รักษาแล้วด้วยอำนาจในการฝึกตน เรียกว่าพรหมจรรย์ ในนิมิชาดก อย่างนี้ว่า
                         บุคคลย่อมเกิดในขัตติยะ ด้วยพรหมจรรย์ที่เลว
                         และย่อมเกิดในเทพทั้งหลายด้วยพรหมจรรย์
                         ปานกลาง ย่อมหมดจดด้วยพรหมจรรย์ชั้นสูง.
               อริยมรรคเรียกว่าพรหมจรรย์ ในมหาโควินทสูตรนั้นเทียวว่า
               ดูก่อนปัญจสิกขะ ก็พรหมจรรย์นี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อความคลายกำหนัด ฯลฯ คือ มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐนี้นั้นเทียว.
               ศาสนาทั้งสิ้นอันสงเคราะห์เข้ากับสิกขา ๓ อย่าง เรียกว่าพรหมจรรย์ ในปาสาทิกสูตรว่า พรหมจรรย์นี้นั้นกว้างขวางและแพร่หลายอันพิสดาร ชนรู้มาก เป็นปึกแผ่นจนมนุษย์ทั้งหลายประกาศดีแล้วนั้นเทียว.
               อัธยาศัยเรียกว่าพรหมจรรย์ ในบทนี้ว่า
                         อนึ่ง ความหวังในผลเทียว ย่อมสำเร็จแก่คน
                         ผู้ไม่รีบร้อน เราเป็นผู้มีพรหมจรรย์ สุกแล้ว
                         ดูก่อนคามิณี ท่านจงรู้อย่างนี้.
               ก็ความเพียร ท่านประสงค์ว่าพรหมจรรย์ในสูตรนี้.
               ก็สูตรนี้นั้นเทียวเป็นสูตรแห่งพรหมจรรย์ คือความเพียร ความเพียรนี้นั้น ท่านกล่าวว่า ประกอบด้วยองค์สี่ เพราะความที่ทุกกรกิริยา ๔ อย่างอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบำเพ็ญแล้วในอัตตภาพหนึ่ง.
               คำว่า สุทํ ในบทว่า ตปสฺสี สุทํ โหมิ เป็นเพียงนิบาต. อธิบายว่า เราเป็นผู้อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส.
               บทว่า ปรมตปสฺสี ความว่า มีความเพียรเครื่องเผากิเลสยอดเยี่ยม คือสูงสุดของบุคคลทั้งหลายผู้อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส. บทว่า ลูโข สุทํ โหมิ ความว่า เราเป็นผู้เศร้าหมอง.
               บทว่า เชคุจฺฉิ ได้แก่ ผู้เกลียดชังบาป. บทว่า ปวิวิตฺโต สุทํ โหมิ ความว่า เราเป็นผู้สงัด.
               บทว่า ตตฺรสฺส เม อิทํ สารีปุตฺต ความว่า ในพรหมจรรย์มีองค์ ๔ นั้น พรหมจรรย์นี้เป็นวัตรในความที่มีความเพียรเครื่องเผากิเลสของเรา ทรงแสดงว่า พรหมจรรย์นี้เป็นอันเรากระทำแล้วในความที่มีความเพียรเผากิเลสมีของชีเปลือยเป็นต้น ในความที่พระองค์ทรงอาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อเจลโก ได้แก่ ผู้ปราศจากผ้า คือคนเปลือย.
               บทว่า มุตฺตาจาโร ได้แก่ เรามีมรรยาทสละแล้ว คือเว้นจากมรรยาทของกุลบุตรชาวโลกในกรรมทั้งหลายมีการถ่ายอุจจาระเป็นต้น เป็นผู้ยืนถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ เคี้ยว บริโภค.
               บทว่า หตฺถาวเลขโน ความว่า ทรงแสดงว่า ครั้นเมื่อก้อนข้าวอยู่ในมือ เราก็ใช้ลิ้นเลียมือ ครั้นถ่ายอุจจาระ เราก็เป็นผู้มีความสำคัญในมือนั้นเทียวว่า เป็นท่อนไม้ใช้มือเช็ด ดังนี้.
               ได้ยินว่า พวกเขาบัญญัติท่อนไม้ว่า เป็นสัตว์ เพราะฉะนั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญปฏิปทาของพวกเขา จึงทรงกระทำอย่างนั้น. ทรงแสดงว่า ผู้อันเขากล่าวเพื่อให้รับภิกษาว่า มาเถิด ท่านก็ไม่มา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เขาเชิญให้มารับภิกษาก็ไม่มา. แม้ผู้อันเขากล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น จงหยุดๆ เถิดท่าน ก็ไม่หยุด เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เขาเชิญให้หยุดก็ไม่หยุด.
               ก็เดียรถีย์ทั้งหลายย่อมไม่กระทำการแม้ทั้ง ๒ อย่างนั้น ด้วยเข้าใจว่า คำของเขาจักกระทำแล้ว แม้เราก็ได้กระทำอย่างนี้.
               บทว่า อภิหตํ ได้แก่ ภิกษาที่เขาแบ่งไว้ก่อนแล้วนำมาให้. บทว่า อุทฺทิสฺส กตํ คือ ภิกษาที่เขาบอกอย่างนี้ว่า ได้ทำเจาะจงท่านนี้. บทว่า นิมนฺตนํ ความว่า เราไม่ยินดี ไม่ถือ แม้ภิกษาที่เขานิมนต์อย่างนี้ว่า ท่านพึงเข้าไปสู่ตระกูล ถนนหรือบ้านชื่อโน้น. บทว่า น กุมฺภิมุขา คือ เราไม่รับภิกษาอันเขาตักจากหม้อให้.
               บทว่า น กโฬปิมุขา ความว่า หม้อข้าวหรือปัจฉิ ชื่อว่า กโฬปิ เราไม่รับภิกษาจากหม้อข้าวนั้น เพราะเหตุไร เพราะว่า เจ้าของหม้อข้าว อาศัยเรา จะได้การประหารด้วยทัพพี.
               บทว่า น เอฬกมนฺตรํ ความว่า เราไม่รับภิกษาที่เขายืนคร่อมธรณีประตูให้ เพราะเหตุไร เพราะว่า บุคคลนี้อาศัยเราแล้ว ย่อมได้กระทำในระหว่าง.
               แม้ในท่อนไม้และสากทั้งหลาย ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า น ทฺวินฺนํ ความว่า ครั้นเมื่อคนสองคนกำลังบริโภค คนหนึ่งลุกขึ้นให้ เราก็ไม่รับ เพราะเหตุไร เพราะว่า จะมีอันตรายจากการทะเลาะ.
               ก็ในบททั้งหลายมีบทว่า น คพฺภินิยา เป็นต้น ทารกในท้องของหญิงมีครรภ์ จะลำบาก เมื่อหญิงให้ดื่มน้ำนมอยู่ ทารกก็จะมีอันตรายแต่น้ำนม.
               บทว่า ปุริสนฺตรคตาย ความว่า เราไม่รับด้วยคิดว่าจะมีอันตรายแต่ความยินดี.
               บทว่า น สํกิตฺตีสุ ความว่า ไม่รับภิกษาที่นัดแนะกันทำไว้.
               ได้ยินว่า ในเวลาข้าวยากหมากแพง สาวกของอเจลกทั้งหลายก็จะชักชวนกันรวบรวมข้าวสารเป็นต้นจากที่นั้นๆ หุงภัตเพื่อประโยชน์แก่อเจลกทั้งหลาย อเจลกผู้เคร่งครัดไปแล้วไม่รับ.
               บทว่า น ยตฺถ สา ความว่า ในที่ใด สุนัขได้รับการเลี้ยงดูว่า เราจักได้ก้อนข้าว เราไม่รับภิกษาที่เขาไม่ให้แก่สุนัขในที่นั้นแล้วนำมา เพราะเหตุไร เพราะว่า สุนัขนั้นจะมีอันตรายจากก้อนข้าว.
               บทว่า สณฺฑสณฺฑจารินี ความว่า มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่มๆ ก็ถ้ามนุษย์ทั้งหลายเห็นอเจลกแล้ว คิดว่า เราจักให้ภิกษาแก่อเจลกนี้ เข้าไปสู่โรงครัว ก็ครั้นพวกเขาเข้าโรงครัว แมลงวันทั้งหลายที่จับอยู่ที่ปากหม้อข้าวเป็นต้น ก็จะบินไต่ตอมเป็นกลุ่มๆ เราไม่รับภิกษาที่เขานำมาจากหม้อข้าวนั้น เพราะเหตุไร เพราะว่า แมลงวันทั้งหลายจะมีอันตรายจากอาหาร เพราะอาศัยเรา แม้เราก็ได้ทำอย่างนั้นแล้ว.
               บทว่า น ถุโสทกํ ความว่า น้ำที่หมักเกลือที่เขาทำด้วยข้าวหมักทั้งหมด ก็ในที่นี้ การดื่มสุรานั้นเทียวมีโทษ ก็คนนี้มีความสำคัญว่ามีโทษ.
               ผู้ได้ภิกษาในเรือนเดียวเท่านั้นแล้วกลับ ชื่อว่า เอกาคาริกะ. ผู้เลี้ยงชีพด้วยภิกษาคำเดียวเท่านั้น ชื่อว่า เอกาโลปิกะ. แม้ในบททั้งหลายมี ทฺวาคาริกา เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า เอกิสฺสาปิ ทตฺติยา ความว่า ด้วยถาดใบน้อยหนึ่ง ถาดเล็กๆ ใบหนึ่ง ซึ่งเขาใส่ภิกษาอย่างเลิศไว้ ชื่อว่า ทัตติ.
               บทว่า เอกาหิกํ ได้แก่ ภิกษาที่เก็บค้างในระหว่างหนึ่งวัน.
               บทว่า อฑฺฒมาสิกํ ได้แก่ ภิกษาที่เก็บค้างในระหว่างกึ่งเดือน.
               บทว่า ปริยายภตฺตโภชนํ ความว่า บริโภคภัตตวาระ คือบริโภคภัตที่เวียนมาตามวาระแห่งวันอย่างนี้ คือวาระหนึ่งวัน วาระสองวัน วาระเจ็ดวัน วาระกึ่งเดือน.
               บทว่า สากภกฺโข ได้แก่ มีผักดองสดเป็นภักษา. บทว่า สามากภกฺโข ได้แก่ มีข้าวสารแห่งข้าวฟ่างเป็นภักษา. ข้าวเหนียวที่เกิดเองในป่า ชื่อว่าลูกเดือย ในบททั้งหลายมีนีวาราเป็นต้น.
               บทว่า ททฺทุลํ ได้แก่ กากข้าวซึ่งเขาขัดเอาเปลือกออกหมดแล้วทิ้ง. เปลือกไม้ก็ดี สาหร่ายก็ดี ยางไม้มีกรรณิกาเป็นต้นก็ดี เรียกว่า หฏะ.
               บทว่า กณํ ได้แก่ รำข้าว. บทว่า อาจาโม ได้แก่ ข้าวที่ไหม้เกรียมติดหม้อข้าว ถือเอาข้าวตังนั้นในที่ซึ่งเขาทิ้งแล้วเคี้ยวกิน. อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า น้ำข้าวดังนี้บ้าง. วัตถุทั้งหลายมีแป้งเป็นต้น ปรากฏแล้ว.
               บทว่า ปวตฺตผลโภชี ได้แก่ บริโภคผลไม้ที่หล่นแล้ว. บทว่า สาณานิ ได้แก่ ผ้าเปลือกป่าน. บทว่า มสาณานิ คือ ผ้าแกมกัน. บทว่า ฉวทุสฺสานิ ได้แก่ ผ้าที่เขาทิ้งจากศพ. หรือผ้าที่เขาถักวัตถุมีหญ้าตะไคร้น้ำเป็นต้นทำเป็นผ้านุ่ง. บทว่า ปํสุกูลานิ ได้แก่ ผ้าเปื้อนที่เขาทอดทิ้งในแผ่นดิน. บทว่า ติริฎานิ ได้แก่ ผ้าเปลือกไม้. บทว่า อชินํ คือ หนังเสือ. บทว่า อชินกฺขิปํ คือ หนังเสือนั้นเอง มีทาฬิกะในท่ามกลาง บางท่านกล่าวว่า มีเล็บ ดังนี้บ้าง. บทว่า กุสจีรํ คือ ผ้าที่เขาถักหญ้าคาทำเป็นผ้า. แม้ในผ้าเปลือกปอ และผ้าที่ทำจากผลไม้ทั้งหลาย ก็มีนัยเช่นเดียวกัน.
               บทว่า เกสกมฺพลํ ได้แก่ ผ้ากัมพลที่ทำด้วยผมมนุษย์ทั้งหลาย. ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผ้าบางอย่างที่เขาทอแล้ว ผ้ากัมพลที่ทำด้วยผมมนุษย์ เลวกว่าผ้าเหล่านั้น ในเวลาหนาวก็จะเย็น ในเวลาร้อนก็จะร้อน มีราคาน้อย มีสัมผัสหยาบและระเหยกลิ่นเหม็น.
               บทว่า วาลกมฺพลํ คือ ผ้ากัมพลที่ทำด้วยขนม้าเป็นต้น.
               บทว่า อุลูกปกฺขํ ได้แก่ ผ้าที่เขาถักขนปีกนกเค้าทำเป็นผ้านุ่ง.
               บทว่า อุพฺภฎฺฐโก ได้แก่ เป็นผู้ยืนขึ้น.
               บทว่า อุกฺกุฎิกปฺปธานมนุยุตฺโต คือ ผู้ตามประกอบความเพียรนั่งกระโหย่ง แม้เมื่อจะเดินก็เป็นผู้กระโหยง เหยียบพื้นไม่เต็มเท้าเดินไป. บทว่า กณฺฏกาปสฺสยิโก ความว่า ทรงแสดงว่า เราตอกหนามเหล็ก หรือหนามปกติในแผ่นดินแล้ว ลาดหนังบนหนามนั้นแล้วทำกิจมีการยืนและการจงกรมเป็นต้น.
               บทว่า เสยฺยํ ความว่า เราแม้เมื่อจะนอน ก็สำเร็จการนอนบนหนามนั้นนั่นเทียว.
               บทว่า สายตติยกํ คือ วันละสามครั้ง ทรงแสดงว่า เราขวนขวายการประกอบเนืองๆ ซึ่งการลงน้ำอยู่ว่า เราจักลอยบาปวันละสามครั้ง คือเวลาเช้า เวลาเที่ยง เวลาเย็น. บทว่า เนกวสฺสคณิกํ ได้แก่ สั่งสมในการนับด้วยปีมิใช่น้อย. บทว่า รโชชลฺลํ ได้แก่ มลทินคือธุลี พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงกาลแห่งสมาทานรโชชัลลกวัตรของพระองค์ จึงตรัสถึงมลทินคือ ธุลีนี้. บทว่า เชคุจฺฉิสฺมึ คือ ในภาวะทรงเกลียดบาป.
               บทว่า ยาว อุทกพินฺทุมฺหิปิ ความว่า เราได้ตั้งความเอ็นดูแม้ในหยดน้ำ ก็จะกล่าวไปใยในก้อนกรวด ก้อนดิน ท่อนไม้และทรายเป็นต้นเหล่าอื่นเล่า.
               ได้ยินว่า เขาเหล่านั้นบัญญัติหยดน้ำ และวัตถุทั้งหลายมีก้อนกรวดและก้อนดินเป็นต้นเหล่านั้นว่าเป็นสัตว์เล็กๆ. ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า เราได้ตั้งความเอ็นดูเพียงในหยดน้ำ ดังนี้. เราไม่ฆ่าไม่ล้างผลาญแม้หยดน้ำ เพราะเหตุไร. เพราะเราอย่าได้ล้างผลาญสัตว์เล็กๆ ที่อยู่ในที่อันไม่สม่ำเสมอเลย เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่ล้างผลาญ คือฆ่าสัตว์เล็กๆ กล่าวคือ หยดน้ำที่อยู่ในที่เสมอดุจในเนิน บนบก ปลายหญ้าและกิ่งไม้เป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงเนื้อความนั่นว่า เรามีสติก้าวไปข้างหน้า ดังนี้.
               นัยว่า ในอเจลกทั้งหลาย อเจลกชื่อว่าเป็นผู้มีศีล จำเดิมแต่กาลแห่งตนเหยียบแผ่นดินไม่มี อเจลกทั้งหลายถึงไปสู่ภิกษาจารก็เป็นผู้ทุศีลไป ถึงบริโภคในเรือนอุปัฏฐากทั้งหลาย ก็เป็นผู้ทุศีลบริโภค แม้กลับมาก็เป็นผู้ทุศีลกลับมา. แต่ในเวลาอเจลกทั้งหลายเข้าสู่กระดานโดยแววหางนกยูง อธิษฐานศีลนั่งอยู่ ในเวลานั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้มีศีล.
               บทว่า วนกมฺมิกํ ได้แก่ ผู้เที่ยวไปในป่า เพื่อประโยชน์แก่เหง้ารากและผลไม้เป็นต้น. บทว่า วเนน วนํ คือ จากป่าสู่ป่า. ในบททั้งปวงก็มีนัยนี้. บทว่า ปปตามิ คือ เราไป.
               บทว่า อารญฺญโก คือ เนื้ออยู่ประจำในป่า ทรงหมายถึงกาลแห่งอาชีวกของพระองค์ จึงตรัสคำนี้.
               นัยว่า พระโพธิสัตว์บวชเป็นอาชีวกนั้น เพื่อประโยชน์แก่ทรงยึดการอยู่ป่าเป็นวัตร แม้ทรงรู้ถึงความบรรพชานั้นไม่มีประโยชน์แต่ก็ไม่ได้สึก เพราะพระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมไม่เวียนกลับจากฐานะที่เข้าถึงเป็นธรรมดา แต่ครั้นบวชแล้ว ก็ทรงคิดว่า ใครๆ อย่าได้เห็นเรา แต่นั้นเทียวจึงเสด็จเข้าป่า เพราะเหตุนั้นแลจึงตรัสว่า ชนเหล่านั้นอย่าได้เห็นเรา และเราก็อย่าได้เห็นชนเหล่านั้น ดังนี้.
               บทว่า โคฏฺฐา ได้แก่ คอกโค. บทว่า ปติฏฺฐิตคาโว คือ เหล่าโคออกไปแล้ว.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า จตุกุณฺฑิโก ความว่า เที่ยวไป ยืนมองเห็นคนเลี้ยงโค ออกไปพร้อมกับโคทั้งหลายแล้ว วางมือทั้งสองข้าง และเข่าทั้งสองลงบนแผ่นดินคลานเข้าไปอย่างนี้.
               บทว่า ตานิ สุทํ อาหาเรมิ ความว่า กากโคมัยของลูกโคแก่ย่อมไม่มีโอชารส เพราะฉะนั้น เว้นกากโคมัยเหล่านั้น จึงกินโคมัยที่มีรสโอชะของลูกโคอ่อนซึ่งยังดื่มนํ้านมเต็มท้องแล้ว เข้าสู่ราวป่าอีกนั้นเทียว. ทรงหมายถึงคำนี้ จึงตรัสว่า นัยว่า เรากินโคมัยเหล่านั้น ดังนี้.
               บทว่า ยาว กีวญฺจ เม ความว่า มูตรและกรีสของตนของเรา ยังไม่สิ้นไปตลอดกาลใด รอยเท้าที่ประตูของเรายังเป็นไปเพียงใด เราก็กินมูตรและกรีสนั้นเทียวตลอดกาลเพียงนั้น. ก็ครั้นเมื่อกาลล่วงไปๆ เนื้อและโลหิตสิ้นไป รอยเท้าในประตูหมดไป เราก็กินโคมัยของลูกโคอ่อน.
               บทว่า มหาวิกฏโภชนสฺมึ ได้แก่ ในโภชนะชนิดใหญ่. อธิบายว่า ในโภชนะผิดปกติ.
               คำว่า ตตฺร ในบทว่า ตตฺร สุทํ สารีปุตฺต ภึสนกสฺส วนสณฺ ฑสฺส ภีสนกสฺมึ โหติ เป็นคำบ่งถึงคำต้น. ศัพท์ว่า สุทํ เป็นนิบาตในคำสักว่าทำบทให้เต็ม. บทว่า สารีปุตฺต เป็นคำร้องเรียก.
               ก็อรรถโยชนาในบทนั้นมีดังนี้.
               บทว่า ตตฺร ความว่า เป็นความน่ากลัวแห่งราวป่าที่น่ากลัวที่ตรัสไว้ในบทว่า ในราวป่าอันน่ากลัว แห่งใดแห่งหนึ่ง. อธิบายว่า เป็นการกระทำที่น่ากลัว.
               เป็นอย่างไร เป็นอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งยังไม่ปราศจากราคะเข้าไปสู่ป่านั้น โดยมากขนพอง ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ตตฺร เป็นสัตตมีวิภัติลงในอรรถฉัฏฐีวิภัตติ.
               คำว่า สุ เป็นนิบาต เหมือนในคำเป็นต้นว่า กึสุ นาม โภนฺโต สมณพฺราหฺมณา. บทว่า อิทํ เป็นคำแสดงทำเนื้อความที่ประสงค์แล้วดุจให้ประจักษ์. บทว่า สุอิทํ เป็น สุทํ พึงทราบการลบอิอักษร ด้วยอำนาจสนธิ ดุจในคำเป็นต้นว่า จกฺขุนฺทฺริยํ อิตฺถินฺทฺริยํ อนญฺญตญฺญสฺสามีตินฺทฺริยํ กึสูธ วิตฺตํ ดังนี้.
               ก็โยชนา ในบทนั้นดังนี้.
               ดูก่อนสารีบุตร นี้แลเป็นความน่ากลัวแห่งแนวป่าอันน่ากลัวนั้น.
               บทว่า ภึสนกตสฺมึ ความว่า ในภาวะอันน่ากลัว. พึงเห็นการลบ อักษรตัวหนึ่ง. บาลีว่า ภึสนกตสฺมึเยว ดังนี้ก็มี.
               อีกอย่างหนึ่ง ครั้นเมื่อกล่าวว่า ภึสนกตาย เป็นอันกระทำความคลาดเคลื่อนทางลิงค์. ก็ในบทนี้ เป็นสัตตมีวิภัตติ ลงในอรรถว่าเครื่องหมาย. เพราะฉะนั้น พึงทราบความสัมพันธ์อย่างนี้.
               นี้แลเป็นความน่ากลัว คือมีความน่ากลัวเป็นนิมิต มีความน่ากลัวเป็นเหตุ มีความน่ากลัวเป็นปัจจัย บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งยังไม่ปราศจากราคะเข้าไปสู่ป่านั้นโดยมากขนพอง คือขนมากกว่าย่อมพอง มีปลายตั้งขึ้นเป็นเช่นกับเข็ม และเป็นเช่นกับหนามตั้งอยู่ ที่ไม่พองมีน้อย หรือขนของสัตว์ทั้งหลายมากกว่าย่อมพอง ขนของบุรุษผู้กล้าหาญมาก มีน้อย ย่อมไม่พองดังนี้.
               บทว่า อนฺตรฏฺฐกา ความว่า แปดราตรีในระหว่างสองเดือนอย่างนี้ คือในสุดท้ายเดือนสาม สี่ราตรี ในต้นเดือนสี่ สี่ราตรี.
               บทว่า อพฺโภกาเส ความว่า พระมหาสัตว์ประทับอยู่ในกลางแจ้ง ตลอดราตรีในสมัยหิมะตก. ลำดับนั้น หยดหิมะทั้งหลายปกคลุมขุมพระโลมาทุกขุมขนของพระมหาสัตว์นั้น ดุจแก้วมุกดา สรีระทั้งหมดเป็นเหมือนคลุมด้วยผ้าหยาบสีขาวฉะนั้น.
               บทว่า ทิวา วนสณฺเฑ ความว่า ครั้นเมื่อหยดหิมะทั้งหลายไปปราศแล้ว เพราะสัมผัสแสงพระอาทิตย์ในกลางวัน แม้พระอัสสาสะพึงมี แต่พระมหาสัตว์นี้ ครั้นพระอาทิตย์ขึ้นอยู่ก็เสด็จเข้าไปสู่ราวป่า. แม้ในราวป่านั้น หิมะละลาย เพราะแสงพระอาทิตย์ก็ตกลงในพระสรีระของพระโพธิสัตว์นั้นเทียว.
               บทว่า ทิวา อพฺโภกาเส วิหรามิ รตฺตึ วนสณฺเฑ ความว่า
               ได้ยินว่า พระโพธิสัตว์นั้นประทับในกลางแจ้งตลอดวันในคิมหกาล. ด้วยเหตุนั้น สายพระเสโทจึงไหลออกจากพระกัจฉะทั้งสองข้างของพระโพธิสัตว์นั้น พึงมีพระอัสสาสะตลอดคืน ก็พระโพธิสัตว์นี้ ครั้นพระอาทิตย์อัศดงคต ก็เสด็จเข้าไปสู่ราวป่า. ลำดับนั้น ในราวป่าที่มีไอร้อนระอุในกลางวัน อัตตภาพของพระองค์ก็เร่าร้อนเหมือนถูกใส่ในหลุมถ่านเพลิงฉะนั้น.
               บทว่า อนจฺฉริยา ได้แก่ อัศจรรย์น้อย.
               บทว่า ปฏิภาสิ ได้แก่ ปรากฏแล้ว.
               บทว่า โส ตตฺโต ความว่า ร้อนแผดเผาด้วยแสงแดดในกลางวัน ด้วยไอร้อนระอุในป่าใหญ่ในกลางคืน.
               บทว่า โส สิโน ความว่า เปียกชุ่มด้วยดีด้วยหิมะในกลางคืน ด้วยน้ำหิมะในกลางวัน.
               บทว่า ภิสนเก ได้แก่ อันให้เกิดความกลัว.
               บทว่า นคฺโค ได้แก่ ปราศจากผ้า ท่านแสดงว่า ก็ครั้นเมื่อมีผ้านุ่งและผ้าห่ม หนาวหรือร้อนไม่พึงเบียดเบียนยิ่ง ผ้านุ่งและผ้าห่ม แม้นั้นของเราก็ไม่มี.
               บทว่า น จคฺคิมาสิโน คือ ไม่ได้ผิงแม้ไฟ.
               บทว่า เอสนาปสุโต ได้แก่ ขวนขวาย คือประกอบเพื่อประโยชน์แก่การแสวงหาความหมดจด.
               บทว่า มุนี ความว่า ในกาลนั้น พระองค์ทรงทำพระองค์เป็นมุนีแล้วตรัส.
               บทว่า ฉวฏฺฐิกานิ ได้แก่ กระดูกทั้งหลายที่ทอดทิ้งเรี่ยราด.
               บทว่า อปณิธาย คือ ทรงแสดงว่า หมอนหนุนศีรษะและหมอนหนุนเท้าย่อมปรากฏฉันใด พระองค์ทรงลาดแล้วสำเร็จการบรรทมบนกองกระดูกนั้นฉันนั้น.
               บทว่า โคมณฺฑลา ได้แก่ พวกเด็กเลี้ยงโค.
               ได้ยินว่า เด็กเหล่านั้นไปสู่สำนักของพระโพธิสัตว์แล้วกล่าวว่า ข้าแต่สุเมธะ ท่านนั่งกล่าวอยู่ในที่นี้ เพราะเหตุไร. พระโพธิสัตว์ทรงนั่งก้มพระพักตร์ ไม่ตรัส.
               ลำดับนั้น เด็กเลี้ยงโคเหล่านั้นล้อมพระโพธิสัตว์นั้นแล้วร้องตะโกนว่า พวกเราจักไม่ให้เพื่อให้ตรัส จึงถ่มน้ำลายรดพระสรีระ. พระโพธิสัตว์ก็ไม่ตรัสแม้อย่างนั้น.
               ลำดับนั้น พวกเด็กเลี้ยงโคโกรธพระโพธิสัตว์ว่า ท่านไม่ยอมกล่าว จึงถ่ายปัสสาวะรดเบื้องบนพระโพธิสัตว์นั้น. แม้อย่างนั้น พระโพธิสัตว์ก็ไม่ตรัสเลย. แต่นั้นจึงโปรยฝุ่นรดพระโพธิสัตว์นั้นว่า ท่านจงพูด ท่านจงกล่าว ดังนี้. แม้อย่างนี้ พระโพธิสัตว์ก็ไม่ตรัสนั้นเทียว.
               ลำดับนั้น จึงกล่าวว่า ท่านไม่พูด แล้วเอาดิ้วไม้ยอนที่ช่องพระกรรณทั้งสองข้างของพระโพธิสัตว์นั้น. พระโพธิสัตว์ทรงอดกลั้นทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อน ย่อมปรารถนาเหมือนคนตายว่า เราจักไม่กล่าวคำอะไรแก่ใครเลย.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า ดูก่อนสารีบุตร ก็เราไม่รู้สึกว่า ยังจิตอันลามกให้เกิดขึ้นในพวกเด็กเหล่านั้นเลย ดังนี้. อธิบายว่า แม้จิตชั่วอันเราไม่ให้เกิดแล้วในพวกเด็กเหล่านั้น.
               บทว่า อุเปกฺขาวิหารสฺมึ โหติ คือ เป็นผู้อยู่ด้วยอุเบกขา.
               ก็วิหารเทียว เรียกว่า วิหารสฺมึ ก็ด้วยบทนั้นเทียว พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า อยํสุ เม แม้ในบทนี้ว่า อิทํสุ เม ในที่นี้. พึงทราบแม้บทเห็นปานนี้แม้เหล่าอื่นโดยนัยนี้. ทรงแสดงอุเบกขาวิหารที่ทรงบำเพ็ญแล้วตลอด ๙๑ กัปแต่นี้ ด้วยบทนี้.
               ทรงหมายถึงอุเบกขาวิหาร จึงตรัสว่า
                         เมื่อประสบสุข เราก็ไม่ยินดี เมื่อประสบทุกข์
                         เราก็ไม่เสียใจ เราไม่ติดในสุขและทุกข์ทั้งปวง
                         นั่นเป็นอุเบกขาบารมีของเรา.
               บทว่า อาหาเรน สุทฺธิ คือ เป็นผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายอาจเพื่อหมดจดด้วยอาหารนิดหน่อยบางอย่าง เช่นพุทราเป็นต้น.
               บทว่า เอวมาหํสุ ได้แก่ พูดอย่างนี้.
               บทว่า โกเลหิ ได้แก่ พุทราทั้งหลาย. บทว่า โกโลทกํ คือ น้ำดื่มที่เขาขยำผลพุทราทั้งหลายแล้วทำ. บทว่า โกลวิกตึ ได้แก่ ชนิดแห่งพุทรา เช่นสลัดพุทรา ขนมพุทราและก้อนพุทราเป็นต้น.
               บทว่า เอตปรโม ความว่า นั่นเป็นประมาณอย่างยิ่งของพุทรานั้น เพราะฉะนั้น พุทรานั้นจึงชื่อว่า เอตปรโม มีผลใหญ่. อธิบายว่า ก็ในกาลนั้นในที่สุด ๙๑ กัป พุทราไม่ใหญ่เท่าผลมะตูมสุกและผลตาลสุก คงใหญ่เท่าพุทราในบัดนี้เท่านั้น.
               บทว่า อธิมตฺตกสีมานํ ความว่า ทรงผอมอย่างยิ่ง.
               บทว่า อสีติกปพฺพานิ วา กาฬปพฺพานิ วา คือ ทรงแสดงว่า เถาวัลย์ที่มีข้อมาก หรือเถาวัลย์มีข้อดำ ที่เหี่ยวแห้งในที่ต่อ ย่อมนูนขึ้นและแฟบลงในท่ามกลางฉันใด อวัยวะน้อยใหญ่ของเราก็เป็นฉันนั้น.
               บทว่า โอฏฺฐปทํ ความว่า เท้าอูฐเป็นธรรมชาติลึกในท่ามกลางฉันใด ครั้นเมื่อเนื้อและเลือดเหือดแห้ง ตะโพกของพระโพธิสัตว์ก็ลึกในท่ามกลาง เพราะความที่วัจจทวาร เข้าไปในภายในฉันนั้นเหมือนกัน. ที่นั้น สถานที่นั่งในแผ่นดินของพระโพธิสัตว์นั้น ก็จะนูนขึ้นในท่ามกลาง เหมือนประทับด้วยกระบอกลูกศร.
               บทว่า วฏฺฏนาวลี ความว่า เถาสะบ้าที่เขาฟั่นทำเป็นเชือกก็จะแฟบในระหว่างๆ แห่งเถาสะบ้าจะนูนขึ้นในที่เป็นเกลียวฉันใด กระดูกสันหลังนูนขึ้นเป็นปุ่มๆ ฉันนั้น.
               บทว่า ชรสาลาย โคปานสิโย ได้แก่ กลอนแห่งศาลาเก่า.
               กลอนเหล่านั้นหลุดจากโครงแล้วตั้งอยู่ในบริเวณ กลอนที่อยู่ในบริเวณก็จะหลุดอยู่ในที่พื้นดิน เพราะฉะนั้น ก็จะเหลื่อมขึ้นและเหลื่อมลง คือตัวหนึ่งอยู่บน ตัวหนึ่งอยู่ข้างล่าง. ก็กระดูกซี่โครงของพระโพธิสัตว์ไม่เป็นอย่างนั้น. เพราะครั้นพระโลหิตขาด พระมังสะเหี่ยวแห้ง พระโพธิสัตว์นั้นก็มีพระจัมมะโดยระหว่างกระดูกซี่โครง เหลื่อมลง ทรงหมายถึงกระดูกซี่โครงนั้น จึงตรัสบทนี้.
               บทว่า โอกฺขายิกา ได้แก่ ลึกเข้าไปในเบื้องล่าง.
               นัยว่า ครั้นเมื่อพระโลหิตขาด พระมังสะเหี่ยวแห้ง เบ้าตาของพระโพธิสัตว์นั้น ก็ลึกจดมันสมอง เพราะเหตุนั้น ดวงตาของพระโพธิสัตว์นั้นจึงเป็นอย่างนั้น.
               บทว่า อามกจฺฉินฺโน ได้แก่ ตัดแล้วในเวลายังอ่อน. ก็น้ำเต้าขมนั้นสัมผัสกับลมและแดดย่อมเหี่ยวแห้ง.
               บทว่า ยาวสฺสุ เม สารีปุตฺต ความว่า ดูก่อนสารีบุตร ผิวหนังท้องของเราเหี่ยวติดกระดูกสันหลัง.
               อีกประการหนึ่ง พึงทราบความสัมพันธ์ในบทนั้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนสารีบุตร การบำเพ็ญทุกกรกิริยาของเรายังเป็นภาระหนักเพียงใด ผิวหนังท้องของเราก็เหี่ยวติดกระดูกสันหลังเพียงนั้น.
               บทว่า ปิฏฺฐิกณฺฏกญฺเญว ปริคฺคณฺหามิ ความว่า เราคิดว่าจะจับผิวหนังท้อง ลูบคลำผิวหนังท้องอย่างเดียว ก็คลำถูกกระดูกสันหลังทีเดียว.
               บทว่า อวกุชฺโช ปปตามิ ความว่า เมื่อพระองค์นั้นนั่งเพื่อประโยชน์แก่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ปัสสาวะไม่ออกเลย แต่วัจจะมีเพียงเม็ดตุมกา ๑-๒ ก้อน ก็ยังทุกข์อันมีกำลังให้เกิดขึ้น เหงื่อทั้งหลายก็ไหลออกจากสรีระ. พระองค์ก็ซวนล้มลงในพื้นดินในที่นั้นเอง. ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า เราซวนล้ม ดังนี้.
               บทว่า ตเมว กายํ ได้แก่ กายที่สุดใน ๙๑ กัป. ก็ทรงหมายถึงกายในภพสุดท้ายในมหาสัจจกสูตร จึงตรัสว่า อิมเมว กายํ ดังนี้.
               บทว่า ปูติมูลานิ ความว่า เมื่อพระมังสะหรือพระโลหิตยังมีอยู่ พระโลมาทั้งหลายก็ตั้งอยู่ได้ แต่ในเพราะไม่มีพระมังสะพระโลหิตนั้น พระโลมาทั้งหลายดุจติดอยู่ในแผ่นหนัง ก็หลุดติดพระหัตถ์ด้วย ทรงหมายถึงอาการนั้น จึงตรัสว่า ขนทั้งหลายมีรากอันเน่าก็หลุดจากกายดังนี้.
               บทว่า อลมริยญาณทสฺสนวิเสสํ ได้แก่ โลกุตตรมรรคอันสามารถเพื่อกระทำความเป็นอริยะได้.
               บทว่า อิมิสสฺสาเยว อริยาย ปญฺญาย ความว่า เพราะไม่บรรลุวิปัสสนาปัญญา.
               บทว่า ยายํ อริยา ได้แก่ บรรลุมรรคปัญญานี้ใด.
               ท่านกล่าวไว้ดังนี้ว่า ชื่อว่าบรรลุมรรคปัญญา เพราะความที่วิปัสสนาปัญญาได้บรรลุแล้วในบัดนี้ฉันใด เราไม่บรรลุโลกุตตรมรรคปัญญา เพราะความที่วิปัสสนาปัญญาไม่ได้บรรลุแล้วในที่สุด ๙๑ กัปฉันนั้น.
               ส่วนมัชฌิมภาณกเถระกล่าวว่า ปัญญาที่กล่าวว่า อิมิสฺสาเยว ก็ดี ปัญญาที่กล่าวว่า ยายํ อริยา ก็ดี คือมรรคปัญญานั้นเทียว.
               ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวกะมัชฌิมภาณกเถระนั้นว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น คำว่า เราไม่ได้บรรลุมรรคเพราะความที่มรรคได้บรรลุแล้วนี้ ท่านได้กล่าวแล้ว.
               พระเถระตอบว่า ดูก่อนอาวุโส เราไม่อาจเพื่อแสดงก็จริง แต่ปัญญาแม้สองอย่างนั้น คือมรรคปัญญานั้นเทียว.
               ก็คำนั้นเทียวสมควรแล้วในที่นี้. ก็โดยประการนี้ นิทเทสว่า ยา อยํ ก็ไม่สมควร.
               บทว่า สํสาเรน สุทฺธิ คือ กล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายท่องเที่ยวมากย่อมหมดจด.
               บทว่า อุปปตฺติยา สุทฺธิ ได้แก่ กล่าวว่า เกิดขึ้นมาก ย่อมหมดจด.
               บทว่า อาวาเสน สุทฺธิ คือ กล่าวว่าอยู่ในที่ทั้งหลายมาก ย่อมหมดจด. ท่านกล่าวถึงขันธ์ทั้งหลายนั้นเทียวในฐานะแม้สามว่า สังสารด้วยสามารถผู้ท่องเที่ยว อุบัติด้วยสามารถผู้เกิด อาวาสด้วยสามารถผู้อยู่.
               บทว่า ยญฺเญน ได้แก่ กล่าวว่า บูชายัญมากย่อมหมดจด.
               บทว่า มุทฺธาวสิตฺเตน ความว่า อภิเษกเป็นกษัตริย์ ด้วยสังข์สาม. บทว่า อคฺคิปาริจริยาย ได้แก่ กล่าวว่า ย่อมหมดจดด้วยการบำเรอไฟมาก. บทว่า ทหโร คือ หนุ่ม. บทว่า ยุวา ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยความเป็นหนุ่ม. บทว่า สุสุกาฬเกโส คือ มีผมดำสนิท. บทว่า ปญฺญาเวยฺยตฺติเยน ได้แก่ ความเป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลม.
               บทว่า ชิณฺโณ คือ ผู้อันชราครอบงำ. บทว่า วุฑฺโฒ ได้แก่ มีอวัยวะน้อยใหญ่เจริญเต็มที่แล้ว. บทว่า มหลฺลโก คือ ผู้ใหญ่โดยชาติ. บทว่า อทฺธคโต ได้แก่ ถึงกาลมาก คือผ่านกาลนาน. บทว่า วโย อนุปฺปตฺโต ความว่า ผ่านปัจฉิมวัยอันเป็นส่วนที่สามแห่งร้อยปี.
               บทว่า อสีติโก เม วโย วตฺตติ ความว่า นัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระสูตรนี้ในปีแห่งปรินิพพาน เพราะฉะนั้น จึงตรัสอย่างนี้.
               บทว่า ปรมาย คือ อุดม. ย่อมกล่าวถึงร้อยบทบ้าง พันบทบ้าง ในบทว่า สติยา เป็นต้น ความเป็นผู้สามารถเรียน ชื่อว่าสติ. ความเป็นผู้สามารถทรงไว้และผูกไว้ ชื่อว่าคติ. ความเพียรที่สามารถเพื่อทำการสาธยายที่เรียนแล้ว ทรงจำแล้วอย่างนี้ ชื่อว่าธิติ. ความเป็นผู้สามารถเห็นเนื้อความและการณ์แห่งธิตินั้น ชื่อว่าปัญญาเวยยัตติยะ.
               บทว่า ทฬฺหธมฺโม ธนุคฺคโห ความว่า นักธนูยืนจับธนู มั่นคง. กำลังสองพันเรียกชื่อว่าทัฬหธนู ธนูใดที่ยกขึ้นแล้ว มีสายผูก มีความหนักเท่าท่อนเหล็กเป็นต้น จับคันยกขึ้นพ้นจากดิน ประมาณคอ ธนูนั้น ชื่อว่ามีกำลังสองพัน.
               บทว่า สิกฺขิโต ความว่า มีศิลปะที่เรียนแล้วในตระกูลอาจารย์ถึงสิบสองปี.
               บทว่า กตหตฺโถ ความว่า บางคนเรียนเพียงศิลปะเท่านั้น ไม่ได้รับการฝึกหัด แต่นายธนูนี้ได้รับการฝึกหัดแล้วชำช่อง ชำนิชำนาญ เคยแสดงฝีมือมาแล้ว คือมีศิลปะที่ได้แสดงแล้วในที่ทั้งหลายมีราชตระกูลเป็นต้น.
               บทว่า ลหุเกน อสเนน ความว่า ด้วยลูกศรขนาดเบา ซึ่งบริกรรมด้วยครั่งที่ทำร่องไว้ภายในทำให้เต็มสายเป็นต้น ก็ลูกศรที่ทำอย่างนี้ ผ่านโคอสุภหนึ่งตัว ทะลุโคอสุภสองตัวได้ ศรที่ผ่านโคอสุภแปดตัวทะลุโคอสุภสิบหกตัวได้.
               บทว่า อปฺปกสิเรน ได้แก่ โดยไม่ยาก.
               บทว่า อติปาเตยฺย คือ พึงให้ทะลุ.
               บทว่า เอวํ อธิมตฺตสติมนฺโต ความว่า นักธนูนั้นย่อมยิงเงาหนึ่งคืบสี่นิ้ว ได้รวดเร็วฉันใด สามารถเพื่อเรียน เพื่อทรงจำ เพื่อสาธยาย ร้อยบทบ้าง พันบทบ้าง และเพื่อใคร่ครวญเนื้อความและเหตุทั้งหลายได้ฉันนั้น.
               บทว่า อญฺญตฺร อสิตปีตขายิตสายิตา ความว่า ก็กิจทั้งหลายมีการกินและการดื่มเป็นต้น เป็นกิจอันพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ดี ภิกษุทั้งหลายก็ดี พึงทำ เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงว่า เว้นเวลาสักว่าทำกิจทั้งหลายมีการกินและการดื่มเป็นต้นนั้น.
               บทว่า อปริยาทินฺนาเยว ความว่า อันไม่รู้จักจบสิ้น.
               ก็ถ้าภิกษุรูปหนึ่งถามกายานุปัสสนา อีกรูปถามเวทนานุปัสสนา อีกรูปถามจิตตานุปัสสนา อีกรูปถามธัมมานุปัสสนา ภิกษุแต่ละรูปย่อมไม่มองดูกันว่า เราถูกภิกษุนี้ถามแล้วก็จักถาม.
               แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น วาระของภิกษุเหล่านั้นย่อมปรากฏ. แต่วาระของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏอย่างนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกายานุปัสสนาโดยสิบสี่วิธี เวทนานุปัสสนาโดยเก้าวิธี จิตตานุปัสสนาโดยสิบหกวิธี ธัมมานุปัสสนาโดยห้าวิธี ก่อนกว่าการยิงเงาหนึ่งคืบสี่นิ้วอย่างรวดเร็วเสียอีก.
               สติปัฏฐาน ๔ นั้น จงยกไว้ก่อน.
               ก็ถ้าภิกษุสี่รูปอื่นพึงถามปัญหาในสัมมัปปธานทั้งหลาย อีกพวกหนึ่งถามปัญหาในอิทธิบาท อีกพวกหนึ่งพึงถามปัญหาในอินทรีย์ห้า อีกพวกหนึ่งพึงถามปัญหาในพละห้า อีกพวกหนึ่งพึงถามปัญหาในโพชฌงค์เจ็ด อีกพวกหนึ่งพึงถามปัญหาในองค์มรรคแปดไซร้
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงตรัสปัญหาแม้นั้นได้.
               อนึ่ง องค์มรรคแปดนั่นจงยกไว้. ถ้าชน ๓๗ คนอื่นพึงถามปัญหาในโพธิปักขิยธรรมทั้งหลายไซร้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงตรัสปัญหาแม้นั้นได้ก่อนทีเดียว. เพราะเหตุไร. เพราะมหาชนชาวโลกย่อมกล่าวได้บทหนึ่งโดยประมาณเท่าใด พระอานนทเถระย่อมกล่าวได้แปดบทโดยประมาณเท่านั้น. ก็ครั้นเมื่อพระอานนทเถระกล่าวได้บทเดียวเท่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสได้สิบหกบท.
               เพราะเหตุไร. เพราะพระชิวหาของพระผู้มีพระภาสเจ้าอ่อน ไรพระทนต์เรียบสนิท พระวจนะไม่ติดขัด ภวังคปริวาสเบา. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนสารีบุตร ธรรมเทศนาของตถาคตนั้น จึงไม่รู้จักจบสิ้น ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺมเทสนา ได้แก่ วางระเบียบแบบแผน.
               บทว่า ธมฺมปทพฺยญฺชนํ ความว่า บทพยัญชนะแห่งบาลี คืออักษรอันเป็นตัวพยัญชนะแห่งอรรถนั้นๆ.
               บทว่า ปญฺหปฏิภานํ ได้แก่ ปัญหาพยากรณ์.
               ทรงแสดงอะไรด้วยบทนี้.
               ทรงแสดงอย่างนี้ว่า ในกาลก่อนเวลายังหนุ่ม ตถาคตย่อมอาจเพื่อประมวลอักษรทั้งหลายกล่าวเป็นบทได้ ย่อมอาจเพื่อประมวลบททั้งหลายกล่าวเป็นคาถาได้ ย่อมอาจเพื่อกล่าวอรรถะ ด้วยคาถาอันประกอบด้วยบท มีสี่อักษรบ้าง มีสิบหกอักษรบ้าง แต่ในเวลาแก่ ณ บัดนี้ ไม่อาจเพื่อประมวลอักษรทั้งหลายกล่าวเป็นบท หรือประมวลบททั้งหลาย กล่าวเป็นคาถา หรือกล่าวอรรถะด้วยคาถาได้ ดังกล่าวมานี้ย่อมไม่มี ในเวลาหนุ่มและในเวลาแก่ ธรรมเทศนาเป็นต้นทั้งหมดนั้นของตถาคตไม่รู้จักจบสิ้น.
               บทว่า มญฺจเกน เจ มํ ความว่า ทรงกำหนดบทนี้แล้วตรัส เพื่อทรงแสดงกำลังของพระพุทธเจ้านั้นเอง. ก็ชื่อว่ากาลในการยกพระทศพลขึ้นสู่เตียงน้อยแล้ว บริหารทั่วคาม นิคมและราชธานี ไม่มี. ก็พระตถาคตทั้งหลายผู้อันลักษณะมีฟันหลุดเป็นต้น ไม่ครอบงำแล้วในส่วนแห่งอายุที่ห้า เมื่อความเปลี่ยนแปลงทางวรรณะของสรีระอันมีวรรณะดุจทองไม่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมปรินิพพานในกาลเป็นที่รักเป็นที่ชอบของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนั้นเทียว.
               บทว่า นาคสมาโล เป็นชื่อของพระเถระนั้น.
               ก็ในปฐมโพธิกาลระหว่างภายใน ๒๐ ปี พระนาคสมาละแม้นี้เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนพระอุปวานเถระ พระนาคิตเถระและพระเมฆิยเถระ.
               บทว่า วีชยมาโน คือ ยังความสุขในฤดูให้ตั้งขึ้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยลมจากพัดใบตาลอันอ่อน.
               บทว่า เอตทโวจ ความว่า พระเถระฟังพระสูตรทั้งสิ้นจบแล้ว อาศัยการบำเพ็ญทุกกรกิริยาซึ่งเคยบำเพ็ญแล้วในกาลก่อนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเลื่อมใสแล้ว จึงกราบทูลคำเป็นอาทิว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนั้นอัศจรรย์ ดังนี้.
               ในบทนั้น ชื่อว่า อัจฉริยะ เพราะควรแล้วเพื่อปรบมือ.
               ชื่อว่า อภูตะ เพราะไม่เคยมีกลับมีแล้ว.
               พระเถระแสดงความแปลกประหลาดของตนเทียว ด้วยบทแม้ทั้งสอง. กราบทูลคำนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมปริยายนี้ชื่ออะไร ด้วยความประสงค์ว่า ธรรมปริยายนี้ดีหนอ เอาเถิด เราจักทูลขอพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงระบุชื่อธรรมปริยายนี้.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงระบุชื่อธรรมปริยายนั้น จึงตรัสว่า ตสฺมา ติห ตฺวํ เป็นต้น. เนื้อความแห่งธรรมปริยายนั้นว่า ขนทั้งหลายของเธอพองขึ้น เพราะฟังพระสูตรนี้ เพราะเหตุนั้นแล นาคสมาละ เธอจงทรงจำธรรมปริยายนี้ว่า โลมหังสนปริยาย ดังนี้แล.


               จบอรรถกถามหาสีหนาทสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สีหนาทวรรค มหาสีหนาทสูตร ว่าด้วยเหตุแห่งการบันลือสีหนาท จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 153อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 159อ่านอรรถกถา 12 / 194อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=2296&Z=2783
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=8663
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=8663
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :