ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 10อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 20อ่านอรรถกถา 12 / 27อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
ธรรมทายาทสูตร ว่าด้วยทายาทแห่งธรรม

หน้าต่างที่ ๒ / ๓.

               คุณ ๕ ประการ               
               คุณ ๕ นี้ (ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลากิเลส ความเป็นผู้เลี้ยงง่าย และการปรารภความเพียร) ของภิกษุนั้นบริบูรณ์อย่างนี้แล้ว ก็จักช่วยให้กถาวัตถุ ๑๐ บริบูรณ์อย่างไร?
               อธิบายว่า ในจํานวนคุณธรรมทั้ง ๕ นั้น กถาวัตถุ ๓ ประการ คือความเป็นผู้มักน้อย ความสันโดษ และการปรารภความเพียรที่มาในพระบาลีนี้นั้นแล รวมกันเข้าได้กับสัลเลขธรรม. เพราะว่าสัลเลขธรรมนี้เป็นชื่อของกถาวัตถุเหมือนกันทุกข้อ.
               สมด้วยพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑-
               ดูก่อนอานนท์ ก็แลกถานี้นั้นเป็นเครื่องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง สะดวกแก่การเปิดเผยจิต (ออกจากกิเลส) เป็นไปพร้อมเพื่อนิพพิทาโดยส่วนเดียว เพื่อวิราคะ (การสำรอกกิเลส) เพื่อนิโรธะ (การดับกิเลส) เพื่ออุปสมะ (การสงบระงับกิเลส) เพื่ออภิญญา (ปัญญาอันยิ่ง) เพื่อสัมโพธะ (การตรัสรู้) เพื่อพระนิพพาน ความดับสนิทแห่งกิเลส.
____________________________
๑- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๓๔๘/หน้า ๒๓๙.

               กถานี้นั้นคืออะไร?
               ได้แก่ อัปปิจฉกถา (กถาว่าด้วยความมักน้อย).
               ความพิสดารเป็นดังว่ามานี้ คุณ ๕ ประการบริบูรณ์ก็จักช่วยให้กถาวัตถุ ๑๐ บริบูรณ์ได้อย่างนี้.
               กถาวัตถุ ๑๐ บริบูรณ์ก็จักช่วยให้สิกขา ๓ บริบูรณ์.
               อย่างไร?
               อธิบายว่า ในกถาวัตถุทั้ง ๑๐ นั้น
               กถา ๔ นี้คือ
                         อัปปิจฉกถา (กถาว่าด้วยความมักน้อย)
                         สันโตสกถา (กถาว่าด้วยความสันโดษ)
                         อสังสัคคกถา (กถาว่าด้วยความไม่ระคนด้วยหมู่คณะ)
                         สีลกถา (กถาว่าด้วยเรื่องศีล)
               สงเคราะห์เข้าในอธิสีลสิกขาเท่านั้น
               กถา ๓ นี้
                         ปวิเวกกถา (กถาว่าด้วยความสงัด)
                         วิริยารัมภกถา (กถาว่าด้วยการปรารภความเพียร)
                         สมาธิกถา (กถาว่าด้วยเรื่องสมาธิ)
               สงเคราะห์เข้าในอธิจิตตสิกขา
               กถา ๓ นี้คือ
                         ปัญญากถา (กถาว่าด้วยเรื่องปัญญา)
                         วิมุตติกถา (กถาว่าด้วยเรื่องวิมุติ)
                         วิมุตติญาณทัสสนกถา (กถาว่าด้วยเรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ)
               สงเคราะห์เข้าในอธิปัญญาสิกขา.
               กถาวัตถุ ๑๐ บริบูรณ์จักช่วยให้สิกขา ๓ บริบูรณ์อย่างนี้. สิกขา ๓ บริบูรณ์จักช่วยให้กองแห่งอเสกขธรรม ๕ อย่างบริบูรณ์.
               อย่างไร ?
               อธิบายว่า อธิสีลสิกขาบริบูรณ์ก็จะเป็นหมวดศีลที่เป็นอเสกขะทีเดียว อธิจิตสิกขาบริบูรณ์ก็จะเป็นหมวดสมาธิที่เป็นอเสกขะ อธิปัญญาสิกขาบริบูรณ์ก็จะเป็นหมวดแห่งปัญญา วิมุตติและวิมุตติญาณทัสสนะที่เป็นอเสกขะทีเดียว รวมความว่า สิกขา ๓ บริบูรณ์จักช่วยให้หมวดแห่งอเสกขธรรม ๕ บริบูรณ์อย่างนี้.
               (และ) หมวดแห่งอเสกขธรรม ๕ บริบูรณ์ก็จักช่วยให้อมตนิพพานบริบูรณ์.
               เปรียบเหมือนเมฆก้อนมหึมากลั่นตัวเป็นนํ้าฝนตกกระหนํ่าลงบนยอดเขาไหลลงมาเต็มซอกเขาลําธารละหาน. ซอกเขา ลําธาร ละหานเหล่านั้นเต็มแล้ว ก็ไหลบ่าออกมาเต็มหนอง หนองเต็มแล้วก็ไหลบ่าออกมาเต็มบึง บึงเต็มแล้วก็ไหลบ่าออกมาเต็มแม่นํ้าน้อย (แคว) แม่นํ้าน้อย (แคว) เต็มแล้วก็ไหลบ่าออกมาเต็มแม่นํ้าใหญ่ แม่นํ้าใหญ่เต็มแล้วก็ไหลบ่าออกมาเต็มสมุทรสาครฉันใด
               คุณ ๕ ข้อนี้ของภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือบริบูรณ์แล้วก็จักช่วยให้คุณธรรมเริ่มตั้งแต่กถาวัตถุ ๑๐ จนกระทั่งถึงอมตนิพพานให้บริบูรณ์ ภิกษุนี้ปฏิบัติปฏิปทาแห่งธรรมทายาทแล้วจักได้เป็นธรรมทายาทอย่างยอดเยี่ยม ด้วยประการดังกล่าวมานี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นประโยชน์อย่างนี้แลจึงได้ตรัสไว้ว่า ตํ กิสฺส เหตุ ตญฺหิ ตสฺส ภิกฺขเว ภิกฺขุโน ดังนี้เป็นต้น (แปลว่า ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? เพราะข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อ... สําหรับภิกษุนั้น ภิกษุทั้งหลาย).
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงยกเหตุที่ทำให้ภิกษุนั้นเป็นผู้น่าบูชาและน่าสรรเสริญกว่าขึ้นมาอธิบายประกอบอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงสําทับภิกษุเหล่านั้นเพื่อให้เป็นอย่างนั้น จึงตรัสว่า ตสฺมาติห เม ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น.
               ตรัสไว้ว่า อย่างไร?
               ตรัสไว้ว่า เพราะเหตุที่ภิกษุผู้ฉันบิณฑบาตนั้นแล้วบําเพ็ญสมณธรรม เป็นผู้เหินห่างจากคุณธรรมที่เป็นรากเหง้า ๕ ประการเหล่านี้ ส่วนภิกษุผู้ไม่ฉันแล้วบําเพ็ญ จะเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณธรรมเหล่านี้ ฉะนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็น ฯลฯ ของเรา อย่าเป็นอามิสทายาท.
               บทว่า อิทมโวจ ภควา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัส คำนี้คือ อุปเทศแห่งพระสูตรว่า ตั้งแต่ท้ายนิทาน๒- จนกระทั่งถึงอย่าเป็นอามิสทายาท.
____________________________
๒- ปาฐะเป็น นิพฺพานปริโยสานโต ฉบับพม่าเป็น นิทานปริโยสานโต แปลตามฉบับพม่า.

               บทว่า อิทํ วตฺวาน สุคโต ความว่า และครั้นตรัสอุปเทศแห่งพระสูตรนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้รับการถวายพระนามว่าพระสูตรนั้นแหละ เพราะทรงดำเนินไปด้วยปฏิปทาอันงาม.
               บทว่า อุฏฺฐายาสนา วิหารํ ปาวิสิ ความว่า เสด็จลุกขึ้นจากบวรพุทธอาสน์ที่มีผู้ปูลาดถวายไว้แล้วก็เสด็จเข้าไปสู่วิหาร คือมหาคันธกุฎีของพระองค์.

               เหตุที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับก่อน               
               ถามว่า ในเมื่อบริษัทยังไม่แยกย้ายกันกลับเลย เพราะเหตุไร (พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเสด็จลุกขึ้นจากพุทธอาสน์เข้าไปสู่วิหารเล่า) ?
               ตอบว่า เพื่อจะทรงยกย่องพระธรรม.
               ได้สดับมาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายเมื่อจะเสด็จเข้าไปสู่วิหารในเมื่อเทศนายังไม่ทันจบ ก็จะเสด็จเข้าไปด้วยเหตุ ๒ ประการ คือเพื่อจะทรงยกย่องบุคคล ๑ เพื่อจะทรงยกย่องพระธรรม ๑.
               เมื่อเสด็จเข้าไปเพื่อทรงยกย่องบุคคล จะทรงดำริอย่างนี้ว่า เหล่าภิกษุผู้รับเอาธรรมเรียนเอาอุทเทศนี้ ที่เราตถาคตแสดงโดยย่อแล้ว แต่ยังไม่ได้จําแนกให้พิสดาร จักพากันเข้าไปเรียนถามพระอานนท์หรือไม่ก็พระมหากัจจายนะ เธอทั้งสองนั้นก็จักอธิบายสอดคล้องกับญาณของเราตถาคต จากนั้นเหล่าภิกษุผู้รับเอาธรรม จักกลับมาถามเราตถาคตอีก เราตถาคตก็จักชมเธอทั้งสองนั้นแก่เหล่าภิกษุผู้รับเอาธรรมนั้นอย่างนี้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานนท์อธิบายดีแล้ว กัจจายนะ๑-ก็อธิบายดีแล้ว ความข้อนี้แม้พวกเธอทั้งหลายจะพึงมาถามเราตถาคตไซร้ เราตถาคตก็จักอธิบายความข้อนั้นแบบเดียวกันนั้นแหละ.
               จากนั้นภิกษุทั้งหลายก็จักเกิดความเคารพในเธอทั้งสองแล้วพากันเข้าไปหา. แม้เธอทั้งสองก็จักแนะนำภิกษุทั้งหลายไว้ในอรรถและธรรม ภิกษุเหล่านั้นอันเธอทั้งสองนั้นแนะนำแล้วก็จักพากันบําเพ็ญสิกขา ๓ กระทำที่สุดทุกข์ได้.
____________________________
๑- ปาฐะเป็น กจฺฉาเนน เห็นว่าควรจะเป็น กจฺจายเนน จึงได้แปลอย่างนั้น.

               เมื่อจะเสด็จเข้าไปเพื่อยกย่องพระธรรม จะทรงพระดำริเหมือนที่ได้ทรงพระดำริในที่นั้นนั่นเองว่า เมื่อเราตถาคตเข้าไปสู่วิหารแล้ว พระสารีบุตรนั่งอยู่ในท่ามกลางบริษัทนี้นั่นแล จักแสดงธรรมตําหนิอามิสทายาท และยกย่องธรรมทายาทนั้นเหมือนกัน เทศนานี้ที่เราทั้งสองแสดงแล้วอย่างนี้ตามมติที่เป็นไปในแนวเดียวกัน จักเป็นเทศนาที่เลิศและหนัก (มีความสําคัญ) เฉกเช่นฉัตรหิน จักเป็นเหมือนเรือที่จอดอยู่ที่ท่าแล้ว เพราะหมายความว่าข้ามโอฆะ ๔ ได้ และจักเป็นเหมือนรถเทียมด้วยม้าอาชาไนย ๔ ตัว เพราะหมายความว่าเป็นเหตุให้ไปสู่สวรรค์.
               อนึ่ง เปรียบเหมือนเมื่อพระราชาทรงออกพระราชบัญญัติในที่ประชุมว่า คนที่ทำความผิดอย่างนี้ต้องถูกปรับสินไหมเท่านี้ แล้วเสด็จลุกจากพระราชอาสน์ขึ้นสู่ปราสาท เสนาบดีที่นั่งอยู่ในที่นั้นนั่นแลจะรักษาการณ์ให้เป็นไปตามพระบัญญัตินั้นฉันใด เทศนาที่เราแสดงแล้วก็ฉันนั้นเหมือนกัน สารีบุตรนั่งอยู่ในที่ประชุมนี้นั้นแหละจักแสดงยกย่อง. เทศนาที่ตถาคตกับสารีบุตรแสดงแล้วตามมติของเราทั้งสองจักรุ่งเรืองมีกำลัง ดุจพระอาทิตย์ยามเที่ยงวันฉะนั้น.
               เพื่อทรงยกย่องธรรมในที่นี้อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเสด็จลุกขึ้นจากพุทธอาสน์เข้าไปสู่วิหาร.
               อนึ่ง ในฐานะเช่นนี้พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหายพระองค์ไปบนพุทธอาสน์ที่ประทับนั่งนั่นเอง เสด็จเข้าไปสู่วิหารด้วยการเสด็จไปด้วยอํานาจจิต เพราะถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะพึงเสด็จไปด้วยการไปด้วยพระกายไซร้ บริษัททั้งหมด (ที่ประชุมอยู่ในที่นั้น) ก็คงจะพากันแวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าไว้. บริษัท (ที่ประชุมกันอยู่) นั้นแตกกลุ่มกันชั่วคราวแล้วก็ยากที่จะมาชุมนุมกันได้อีก (เพราะฉะนั้น) พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเสด็จเข้าไปด้วยการเสด็จไปด้วยอํานาจจิตนั่นเอง (หายตัวไป).

               พระสารีบุตรเถระแสดงธรรม               
               [๒๓] ก็แลครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไป (สู่วิหาร) ด้วยอาการอย่างนั้นแล้ว ท่านพระสารีบุตร (นั่ง) อยู่ ณ ที่นั้นแลประสงค์จะยกย่องธรรมนั้นให้สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้กล่าวคำนี้ไว้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อายสฺมา เป็นคำเรียกคนที่รัก.
               คำว่า สาริปุตฺโต เป็นนามของพระเถระนั้น ก็แลนามนั้นได้มาจากข้างฝ่ายมารดา มิใช่ได้มาจากข้างฝ่ายบิดา เพราะพระเถระนั้นเป็นบุตรของพราหมณีชื่อรูปสารี ฉะนั้นจึงชื่อว่า สารีบุตร.
               คำว่า อจิรปกฺกนฺตสฺส แปลว่า เพิ่งหลีกไปได้ไม่นาน.
               ก็ในคำว่า อาวุโส ภิกฺขเว นี้ มีวินิจฉัยดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายเมื่อจะทรงเรียกสาวก (ของพระองค์) ก็จะทรงเรียกว่า ภิกฺขเว (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย) ฝ่ายสาวกทั้งหลายคิดว่า เราทั้งหลายจงอย่าเสมอกับพระพุทธเจ้าทั้งหลายเลย ดังนี้แล้ว (เมื่อจะร้องทักกัน) ก็กล่าวว่า อาวุโส (แปลว่า ดูก่อนผู้มีอายุ) ก่อนแล้ว จึงกล่าวว่า ภิกฺขเว (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย) ทีหลัง.
               อนึ่ง ภิกษุสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกแล้วก็จะทูลรับว่า ภทนฺเต (พระเจ้าข้า) สงฆ์ที่พระสาวกทั้งหลายเรียกจะตอบรับว่า อาวุโส (ดูก่อนผู้มีอายุ).
               คำว่า กิตฺตาวตา ในบทว่า กิตฺตาวตา นุ โข อาวุโส นี้ เป็นคำแสดงความกำหนด แปลว่า ด้วยเหตุเท่าไร? นุ อักษรใช้ในอรรถแห่งคำถาม. โข อักษรเป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า สตฺถุ ปวิวิตฺตสฺส วิหรโต ความว่า เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ด้วยวิเวก ๓ คือ กายวิเวก จิตตวิเวกและอุปธิวิเวก.
               บทว่า วิเวกนฺนานุสิกฺขนฺติ ความว่า ไม่ศึกษาตามซึ่งวิเวกทั้ง ๓ แม้แต่วิเวกข้อใดข้อหนึ่ง.
               บทว่า อามิสทายาทาว โหนฺติ ความว่า ท่านพระสารีบุตรถามเนื้อความนี้กะภิกษุทั้งหลาย. แม้ในสุกกปักษ์ (ฝ่ายที่ดี) ก็นัยนี้. เมื่อพระเถระกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุทั้งหลายประสงค์จะสดับเนื้อความนั้น จึงได้กล่าวว่า ทูรโตปิ โข ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทูรโตปิ ความว่า จากภายนอกแว่นแคว้นบ้าง จากภายนอกชนบทบ้าง. อธิบายว่า จากที่ไกลนับได้หลายร้อยโยชน์บ้าง.
               บทว่า สนฺติเก แปลว่า ในที่ใกล้.
               บทว่า อญฺญาตุํ แปลว่า เพื่อรู้ คือเพื่อเข้าใจ.
               บทว่า อายสฺมนฺตํเยว สาริปุตฺตํ ปฏิภาตุ ความว่า จงเป็นหน้าที่ส่วนของท่านพระสารีบุตรเถิด. อธิบายว่า ขอให้ท่านพระสารีบุตรช่วยแจกแจง (ขยายความ) ให้เป็นส่วนของตนด้วยเถิด.
               ในข้อนี้มีอธิบายดังต่อไปนี้ว่า
               การขยายความเป็นหน้าที่ของท่านพระสารีบุตร ส่วนการฟังเป็นหน้าที่ของพวกกระผม คำอธิบายอย่างนี้ สมกับลักษณะของศัพท์. ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวว่า บทว่า ปฏิภาตุ คือ ทิสฺสตุ (จงแสดง). อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า อุปฏฺฐาตุ (จงปรากฏ).
               บทว่า ธาเรสฺสนฺติ (จักทรงจําไว้) ได้แก่จักเรียน.
               ลําดับนั้น พระเถระประสงค์จะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น จึงกล่าวคำว่า เตนหิ ดังนี้เป็นต้น.
               ในคำว่า เตนหิ นั้นมีอธิบายว่า บทว่า เตน เป็นตติยาวิภัตติ. หิ อักษรเป็นนิบาต. มีคำอธิบายว่า เพราะเหตุที่ท่านทั้งหลายประสงค์จะฟังและบอกกล่าวให้เป็นภาระของผม ฉะนั้น ขอท่านทั้งหลายจงฟังเถิด. เหล่าภิกษุรับรองคำพูดของพระเถระแล้ว. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เอวมาวุโส ฯเปฯ ปจฺจสฺโสสุํ ดังนี้.
               [๒๔] ลําดับนั้น ท่านพระสารีบุตร เมื่อจะแสดงเนื้อความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงตําหนิความเป็นอามิสทายาท ตรัสไว้แล้วโดยอาการอย่างเดียวกันนั้นเองว่า แม้เธอทั้งหลายก็จะพึงถูกตําหนิ โดยความเป็นอามิสทายาทนั้น ดังนี้ โดยอาการ ๓ อย่างแก่ภิกษุเหล่านั้น จึงได้กล่าวคำนี้ว่า อิธาวุโส ฯเปฯ สาวกา วิเวกํ นานุสิกฺขนฺติ.
               ด้วยคำเพียงเท่านี้พระเถระได้กล่าวไว้แล้วว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงตําหนิปฏิทาของผู้เป็นอามิสทายาทอันใด แม้ท่านทั้งหลายก็จะพึงถูกตําหนิด้วยปฏิทาของผู้เป็นอามิสทายาทนั้น. และพระเถระได้ถามคำถามใดด้วยตนเองว่า กิตฺตาวตา นุโข ฯปฯ นานุสิกฺขนฺติ.
               ความหมายแห่งคำถามนั้นแบบพิสดารเป็นอันพระเถระได้แจกแจงไว้ดีแล้ว.
               ก็แต่ว่า ความหมายนั้นมิได้พาดพิงถึงว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะต้องถูกตําหนิด้วยเลย. เพราะพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้แล้วว่า อหมฺปิ เตน อาทิสฺโส ภวิสฺสามิ (แม้เราตถาคตก็จักถูกตําหนิด้วยความเป็นอามิสทายาทนั้นด้วย) เป็นพระดำรัสที่ถูกต้องแล้วของพระผู้มีพระภาคเจ้าเอง ซึ่งทรงประสงค์จะสงเคราะห์สาวก ไม่ใช่เป็นถ้อยคำของพระสาวก.
               แม้ในฝ่ายที่ดี (สุกกปักษ์) ก็นัยนี้.
               ในตอนนี้มีโยชนา (การประกอบความ) ลําดับแห่งอนุสนธิเท่านี้ก่อน.
               ส่วนการขยายความในเรื่องนี้ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อิธ แปลว่า ในศาสนานี้.
               บทว่า สตฺถุ ปวิวิตฺตสฺส ความว่า เมื่อพระศาสดาผู้ทรงสงัดแล้วอย่างแท้จริงด้วยวิเวก ๓.
               บทว่า วิเวกํ นานุสิกฺขนฺติ ความว่า ไม่ตามศึกษา คือไม่บําเพ็ญให้บริบูรณ์ซึ่งกายวิเวก.
               ก็ถ้าว่าพระเถระจะพึงกล่าวหมายถึงวิเวกทั้ง ๓ ไซร้ คำถามก็คงไม่มีเป็นพิเศษ เพราะว่าวิเวกในคำว่า วิเวกํ นานุสิกฺขนฺติ นี้เป็นฝ่ายแห่งคำพยากรณ์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ท่านจึงแสดงกายวิเวกด้วยบทนี้ว่า (วิเวกํ นานุสิกฺขนฺติ) แสดงจิตตวิเวกด้วยบทว่า เยสญฺจ ธมฺมานํ และแสดงอุปธิวิเวกด้วยบทว่า พาหุลฺลิกา ดังนี้เป็นต้น.
               ในตอนนี้พึงทราบความโดยย่อดังพรรณนามาฉะนี้.
               ด้วยบทว่า เยสญฺจ ธมฺมานํ พระเถระกล่าวหมายเอาอกุศลธรรมมีโลภะเป็นต้น ซึ่งจะกล่าวถึงข้างหน้าโดยนัยเป็นต้นว่า ดูก่อนอาวุโส บรรดาอกุศลธรรมเหล่านั้น โลภะเป็นบาป.
               บทว่า นปฺปชหนฺติ ได้แก่ ไม่ละทิ้ง. อธิบายว่า ไม่บําเพ็ญให้บริบูรณ์ซึ่งจิตตวิเวก.
               บทว่า พาหุลฺลิกา แปลว่า ปฏิบัติเพื่อความเป็นผู้หมกมุ่นด้วยปัจจัยมีจีวรเป็นต้น. ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่า สาถลิกา เพราะนับถือศาสนาแบบย่อหย่อน.
               ในบทว่า โอกฺกมเน ปุพฺพงฺคมา นี้มีอธิบายว่า นิวรณ์ ๕ เรียกว่า โอกกมนะ เพราะเป็นเหตุให้ตกตํ่า ภิกษุเหล่านั้นนับว่าเป็นแนวหน้า (นำ) ด้วยการทำนิวรณ์ ๕ ให้บริบูรณ์นั้น.
               บทว่า ปวิเวเก คือ ในอุปธิวิเวก ได้แก่ในนิพพาน.
               บทว่า นิกฺขิตฺตธุรา ความว่า มีธุระอันปลงลงแล้ว คือไม่ทำการเริ่มความเพียรเพื่อบรรลุนิพพานนั้น. ด้วยคำเพียงเท่านี้เป็นอันท่านกล่าวไว้แล้วว่า ไม่บําเพ็ญอุปธิวิเวกให้บริบูรณ์.
               พระสารีบุตรเถระ ครั้นกล่าวโดยไม่จํากัดแน่นอนด้วยคำมีประมาณเท่านี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะจํากัดเทศนาให้แน่นอน จึงกล่าวคำว่า ตตฺราวุโส ดังนี้เป็นต้น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร? เมื่อพระเถระกล่าวไม่จํากัดแน่นอนลงไปอย่างนี้ว่า สาวกทั้งหลาย (ย่อมถูกตําหนิ) โดยเหตุ ๓ สถาน ภิกษุเหล่านั้นย่อมพากันบ่นว่า เรื่องนั้นพระเถระพูดว่าคนอื่น ไม่ได้ว่าพวกเรา แต่เมื่อพระเถระกล่าวกำหนดแน่นอนลงไปอย่างนี้ว่า เถรา (สาวกที่เป็นพระเถระ) นวา (สาวกที่เป็นนวกะ) มชฺฌิมา (สาวกที่มีพรรษาปานกลาง) ภิกษุเหล่านั้นพากันทำความเอื้อเฟื้อว่า เรื่องนี้ พระเถระว่าพวกเรา.
               ตอบว่า อุปมาเหมือนเมื่อเหล่าราชอํามาตย์แม้จะบอกว่าประชาชนต้องช่วยกันทำความสะอาดถนนในเมือง ต่างพากันสงสัยอยู่ว่า ใครกันนะต้องทำความสะอาด แล้วไม่ (มีใคร) ลงมือทำความสะอาด ต่อเมื่อตีกลองป่าวประกาศว่า ประชาชนต้องทำความสะอาดประตูเรือนของตนๆ ชาวเมืองทั้งหมดต่างก็จะช่วยทำความสะอาด และประดับประดาให้สวยงาม โดยใช้เวลาเพียงชั่วครู่ฉันใด อุปไมยก็พึงทราบฉันนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตตฺร ได้แก่ เตสุ โยค สาวเกสุ (บรรดาสาวกเหล่านั้น).
               ภิกษุทั้งหลายที่ถูกเรียกว่าเป็นพระเถระ เพราะหมายเอาผู้มีพรรษา ๑๐ ขึ้นไป.

               ฐานศัพท์ใช้ในความหมายต่างๆ               
               บทว่า ตีหิ ฐาเนหิ ได้แก่ โดยเหตุ ๓ อย่าง.
               ก็ฐานศัพท์นี้ ใช้ในอรรถว่า ตําแหน่ง (อิสฺสริย) เป้าหมาย=ที่ตั้งอยู่, ที่ดำรงอยู่, (ฐิติ) ขณะ และเหตุ (การณ์) (มีตัวอย่างดังต่อไปนี้) :-
               ฐานศัพท์ ใช้ในอรรถว่า ตําแหน่ง (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า ก็ท้าวสักกะจอมเทพนี้ทำกรรมอะไรไว้จึงได้รับตําแหน่งนี้.
               ฐานศัพท์ ใช้ในอรรถว่า เป้าหมาย (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า เป็นผู้ฉลาดในเป้าหมาย เป็นผู้ยิงทันสายฟ้า (ยิงไม่ขาดระยะ).
               ฐานศัพท์ ใช้ในอรรถว่า ขณะ (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า ก็คำนี้แจ่มแจ้งเฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยขณะ (โดยฉับพลัน).
               ฐานศัพท์ ใช้ในอรรถว่า เหตุ (เช่น) ในประโยคเป็นต้นว่า รู้จักเหตุที่เป็นไปได้โดยความเป็นไปได้.
               แต่ในที่นี้ใช้ในอรรถว่า เหตุ เท่านั้น.
               อธิบายว่า เหตุเรียกว่าฐานะ เพราะเป็นที่ตั้งอยู่แห่งผล โดยมีความเป็นไปเกี่ยวเนื่องกันกับผลนั้น ด้วยเหตุข้อที่ ๑ นี้ พระเถระย่อมแสดงว่า บทว่า คารยฺหา ในคำว่า เถรา ภิกฺขู คารยฺหา นี้ แปลว่า พึงถูกตําหนิ. พระเถระทั้งหลายจะต้องถูกนินทาอย่างนี้ว่า ชื่อว่าเป็นพระเถระแล้ว ยังไม่เข้าไปสู่เสนาสนะ อันเป็นแนวไพร คืออันสงัดในป่า ไม่ยอมละทิ้งเสนาสนะใกล้บ้าน เที่ยวคลุกคลีด้วยหมู่คณะอยู่ ไม่บําเพ็ญกายวิเวกเลย, ในเวลาที่เป็นภิกษุนวกะและมัชฌิมะ ท่านเหล่านี้ (ประพฤติ) เป็นเช่นไรมาแล้ว? คือพระเถระทั้งหลายย่อมได้รับคำนินทานี้ ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย.
               แม้ในบทว่า ทุติเยน (ด้วยเหตุข้อที่ ๒) นี้ พระเถระทั้งหลายจะต้องถูกนินทาอย่างนี้ว่า ภิกษุเหล่านี้ถึงจะเป็นพระเถระ แต่ก็ไม่ยอมละธรรมมีความโลภเป็นต้นที่พระศาสดาตรัสให้ละ นั่งในที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ก็ไม่ได้ความแน่วแน่สงบนิ่งแห่งจิตแม้เพียงชั่วลัดนิ้วมือ ในเวลาที่เป็นภิกษุนวกะและมัชฌิมะ ท่านเหล่านี้ (ประพฤติ) เป็นเช่นไรมาแล้ว? คือพระเถระทั้งหลายย่อมได้รับคำนินทานี้ ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย.
               ควรทำการประกอบความดังพรรณนามาอย่างนี้.
               แม้ในบทว่า ตติเยน (ด้วยเหตุข้อที่ ๓) นี้ พระเถระย่อมแสดงว่า อาวุโส พระเถระทั้งหลายจะต้องถูกนินทาอย่างนี้ว่า ภิกษุเหล่านี้ถึงจะเป็นพระเถระ แต่ก็ไม่ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ยังมัวประดับประดาตกแต่งจีวร บาตร เสนาสนะและร่างกายที่เปื่อยเน่าอยู่ ไม่ยอมบำเพ็ญอุปธิวิเวก ในเวลาที่เป็นภิกษุนวกะและมัชฌิมะ ท่านเหล่านี้เป็นเช่นไรมาแล้ว? คือพระเถระทั้งหลายย่อมได้รับคำนินทานี้ ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย.
               นักศึกษาพึงทราบการประกอบความดังพรรณนามานี้.
               ในวาระเป็นมัชฌิมภิกษุและนวกภิกษุก็นัยนี้.
               ส่วนความแปลกกันมีดังต่อไปนี้ :-
               ภิกษุทั้งหลายที่ชื่อว่ามัชฌิมะ พระเถระกล่าวหมายเอาภิกษุที่มีพรรษา ๕ พรรษาจนกระทั่งถึงภิกษุมีพรรษาครบ ๙ พรรษา ดังนี้. ภิกษุทั้งหลายที่ชื่อว่านวะ พระเถระกล่าวว่าได้แก่ภิกษุที่มีพรรษา ๕ ลงมาดังนี้.
               เหมือนอย่างว่า เวลาเป็นพระเถระนั้น ท่านกล่าวว่าภิกษุทั้งหลายที่เป็นเถระ ในเวลาที่เป็นนวกภิกษุและมัชฌิมภิกษุได้เป็นเช่นไรมาแล้วฉันใด ในเวลานี้ก็ฉันนั้น คือภิกษุผู้ปานกลางและผู้ใหม่ พึงประกอบอธิบายว่า ในกาลเป็นภิกษุใหม่ได้เป็นเช่นไรมาแล้ว ในกาลเป็นพระเถระจักเป็นเช่นไร ในกาลเป็นมัชฌิมภิกษุและเป็นพระเถระจักเป็นเช่นไร.
               และความหมายในสุกกปักษ์ (ฝ่ายดี) ก็พึงทราบตามนัยอันตรงข้ามจากที่กล่าวมาแล้วในกัณหปักษ์ (ฝ่ายไม่ดี) นี้.
               ส่วนในที่นี้มีความย่อดังต่อไปนี้ :-
               [๒๕] อีกอย่างหนึ่ง พระเถระทั้งหลายย่อมเป็นผู้ควรสรรเสริญ คือย่อมได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุสถานที่ ๑ นี้ว่า ภิกษุเหล่านี้แม้จะเป็นพระเถระ แต่ก็ยังอยู่ในเสนาสนะที่เป็นแนวไพรในป่าที่อยู่ห่างไกลกันเป็นโยชน์ แม้ถึงเวลาที่ควรจะเข้าไปใกล้เสนาสนะใกล้บ้านก็ไม่เข้าไป ถึงจะมีร่างกายชราอย่างนี้ ก็ยังสู้ปรารภความเพียร ทำให้ผู้ถวายปัจจัยเกิดความเลื่อมใส ในกาลที่เป็นนวกภิกษุและมัชฌิมภิกษุได้เป็นเช่นไรมาแล้ว ดังนี้. ท่านเหล่านั้นย่อมละอกุศลธรรมมีโลภะเป็นต้น บําเพ็ญจิตตวิเวกอยู่ให้บริบูรณ์.
               ด้วยเหตุสถานที่ ๒ นี้ ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระเถระย่อมเป็นผู้ควรสรรเสริญ คือย่อมได้รับการสรรเสริญว่า ภิกษุนี้ถึงจะเป็นพระเถระผู้ใหญ่วัยเช่นนี้ เป็นเวลาควรจะนั่งให้สัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกห้อมล้อมได้แล้ว ฉันเสร็จแล้วก็ยังเข้า (ห้องบําเพ็ญธรรม) ตอนเย็นจึงค่อยออกมา เข้าไปตอนเย็นแล้วตอนเช้าจึงค่อยออกมา กระทำบริกรรมกสิณให้สมาบัติ เกิดบรรลุมรรคผล บําเพ็ญจิตตวิเวกให้บริบูรณ์โดยประการทั้งปวง.
               ด้วยเหตุสถานที่ ๓ นี้ พระเถระย่อมเป็นผู้ควรสรรเสริญ คือย่อมได้รับการสรรเสริญว่า ในกาลที่พระเถระควร (ใช้) จีวรเบาซึ่งมีสัมผัสสบาย เช่นผ้าธรรมดาผ้าทำด้วยเปลือกไม้และผ้าแพรเป็นต้น พระมหาเถระนี้ก็ยังนุ่งห่มผ้าบังสกุล. ท่านนับถือศาสนาอย่างเคร่งครัด ปราศจากนิวรณ์ เข้าผลสมาบัติ บําเพ็ญอุปธิวิเวกให้บริบูรณ์อยู่ (ในบัดนี้ยังปฏิบัติได้ถึงขนาดนี้) ในกาลที่เป็นนวกภิกษุและมัชฌิมภิกษุได้เป็น (ปฏิบัติ) เช่นไรมาแล้ว.
               ในวาระที่เป็นมัชฌิมภิกษุก็มีนัยนี้.
               [๒๖] ถามว่า ในบทว่า ตตฺราวุโส มีอนุสนธิ (การสืบต่อของเรื่อง) เป็นอย่างไร?
               ตอบว่า พระสารีบุตรเถระเมื่อตําหนิปฏิปทาของผู้เป็นอามิสทายาทด้วยอาการ ๙ อย่าง (และ) ยกย่องปฏิปทาของผู้เป็นธรรมทายาทด้วยอาการ ๙ อย่าง ยังเทศนาให้จบลงด้วยอาการ ๑๘ อย่างนี้แล้ว เพื่อจะแสดงถึงธรรมที่ควรละที่ท่านได้กล่าวไว้อย่างนี้ว่า พระศาสดาตรัสการละธรรมเหล่าใดไว้ ธรรมเหล่านั้นภิกษุยังละไม่ได้ แก่ภิกษุเหล่านั้น โดยสรุปว่าได้แก่ธรรมเหล่านี้นั้น จึงได้กล่าวคำนี้ไว้ว่า ตตฺราวุโส โลโภ จ ดังนี้เป็นต้น นี้คืออนุสนธิ (ในสองบทนั้น).
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรมทั้งหลาย ท่านได้กล่าวไว้โดยอ้อมแล้วในตอนต้นนั่นแล. ส่วนอามิสก็ได้กล่าวไว้แล้วทั้งโดยอ้อมทั้งโดยตรง.
               บัดนี้ เพื่อจะกล่าวธรรมโดยตรง คือโลกุตตรมรรค พระเถระจึงได้กล่าวคำนี้ไว้ และในคำนี้ก็มีอนุสนธิดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ตตฺร เป็นบทแสดงถึงเทศนาที่ผ่านมาแล้ว.
               มีคำอธิบายว่า ในเทศนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยนัยเป็นต้นว่า เมื่อพระศาสดาทรงอยู่อย่างสงัด เหล่าพระสาวกกลับไม่ศึกษาตาม ซึ่งวิเวก (การอยู่อย่างสงัด).
               ด้วยคำว่า โลภะเป็นบาปธรรมและโทสะก็เป็นบาปธรรม พระเถระย่อมแสดงว่า ธรรมทั้ง ๒ ประการนี้เป็นบาป คือตํ่าช้า ฉะนั้น ธรรมเหล่านี้จึงต้องละเสีย.
               ในบรรดาโลภะและโทสะทั้ง ๒ นั้น โลภะมีลักษณะอยากได้ โทสะมีลักษณะประทุษร้ายใจ.
               ในจํานวนโลภะและโทสะนั้น โลภะมีแก่ภิกษุผู้เป็นอามิสทายาท ในเพราะการได้ปัจจัยทั้งหลาย. ส่วนโทสะมีเพราะอลาภะ คือต้องการสิ่งที่ยังไม่ได้ (ไม่ต้องการสิ่งที่ได้อยู่แล้ว) หรือมีเพราะโทสะ (โดยตรง) คือเมื่อไม่ได้ก็นำความคับแค้นใจมาให้.
               โลภะมีในเพราะไทยธรรม (ของทำบุญ). ส่วนโทสะมีในเพราะบุคคลที่ไม่ถวายหรือในบุคคลที่ถวายของที่ไม่ถูกใจ. เพราะโลภะจึงทำให้ (อกุศล) ธรรมซึ่งมีตัณหา ๙ อย่างเป็นมูลบริบูรณ์ เพราะโทสะจึงทำให้มัจฉริยะ ๕ อย่างบริบูรณ์.
               บัดนี้ เมื่อจะแสดงอุบายเป็นเครื่องละโลภะและโทสะเหล่านั้น พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า โลภสฺส จ โทสสฺส จ ปหานาย ดังนี้เป็นต้น.
               คำของพระเถระนั้นมีอธิบายความว่า ก็ข้อปฏิบัติสายกลางเพื่อละโลภะและโทสะอันเป็นบาปนั้นมีอยู่. คำนี้พระเถระกล่าวหมายถึงมรรค.
               เพราะว่ามรรคจะไม่เข้าใกล้ คือไม่เข้าไปใกล้ที่สุดทั้ง ๒ นี้ คือโลภะก็เป็นที่สุดอันหนึ่ง โทสะก็เป็นที่สุดอันหนึ่ง พ้นแล้วอย่างสิ้นเชิงจากที่สุดทั้ง ๒ นี้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา (ข้อปฏิบัติสายกลาง). ที่ชื่อว่ามัชฌิมา เพราะอยู่ในระหว่างกลางที่สุดทั้ง ๒ นั้น ที่ชื่อว่าปฏิปทา เพราะอันบุคคลผู้ต้องการนิพพานพึงปฏิบัติ.
               อนึ่ง กามสุขัลลิกานุโยคก็เป็นที่สุดอันหนึ่ง อัตตกิลมถานุโยคก็เป็นที่สุดอันหนึ่ง สัสสตทิฏฐิก็เป็นที่สุดอันหนึ่ง อุจเฉททิฏฐิก็เป็นที่สุดอันหนึ่ง เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงให้พิสดารโดยนัยแรกนั่นเถิด.

               ผลของมัชฌิมาปฏิปทา               
               ก็พระสารีบุตรเถระย่อมยกย่องปฏิปทานั้นนั่นเอง ด้วยคำว่า จกฺขุกรณี เป็นต้น เพราะว่า ปฏิปทานั้นย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อการเห็นสัจจะทั้งหลาย โดยหมายความว่าเป็นตัวนำในการเห็น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า จักขุกรณี. ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อรู้ซึ่งสัจจะทั้งหลาย โดยหมายความว่า เป็นเหตุทำให้รู้แจ้ง เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ญาณกรณี.
               อนึ่ง ชื่อว่าย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความสงบ เพราะทำให้กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้นสงบ ชื่อว่าย่อมเป็นไปพร้อมเพื่ออภิญญา (ความรู้ยิ่ง) เพราะเป็นเหตุเห็นว่าสัจจะทั้ง ๔ เป็นธรรมที่ควรรู้ยิ่ง.
               มรรค ชื่อว่าสัมโพธะ (การตรัสรู้) มัชฌิมาปฏิปทาย่อมเป็นไปเพื่อสัมโพธะ เพราะเป็นไปพร้อมเพื่อประโยชน์แก่มรรคนั้น. แท้จริงมรรคนั่นเอง ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อประโยชน์แก่มรรค.
               ธรรมชาติ ชื่อว่าพระนิพพาน เพราะทำกิจที่มรรคต้องทำ แต่ปฏิปทา ท่านกล่าวว่า ชื่อว่าเป็นไปพร้อมเพื่อพระนิพพาน เพราะเป็นไปพร้อมเพื่อกระทำให้แจ้ง คือทำให้ประจักษ์ชัดซึ่งนิพพานนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เป็นไปพร้อมเพื่อนิพพาน.
               ใจความสําคัญในเรื่องนี้มีเท่านี้. การพรรณนาอย่างอื่นนอกไปจากนี้จะทำให้เนิ่นช้าไป.
               บัดนี้ พระเถระประสงค์จะแสดงมัชฌิมาปฏิปทานั้นโดยสรุปจึงถามว่า กตมาวุโส ดังนี้แล้ว วิสัชนาโดยนัยเป็นต้นว่า อยเมว.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อยเมว (แปลว่า นี้เท่านั้น) เป็นคำอวธารณะ (ห้ามคำอื่น). พระเถระกล่าวคำนี้ไว้เพื่อเป็นการปฏิเสธมรรค (ทางไปสู่นิพพาน) สายอื่น เพื่อจะได้แสดงว่ามรรคนั้นเป็นของมีทั่วไปแก่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกของพระพุทธเจ้า.
               ข้อนี้สมด้วยพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ว่า
                         มรรค (ทาง) สายนี้เท่านั้น ไม่มีมรรคอื่น
                         เพื่อความบริสุทธิ์แห่งทัสสนะ.

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค ธรรมทายาทสูตร ว่าด้วยทายาทแห่งธรรม
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 10อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 20อ่านอรรถกถา 12 / 27อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=385&Z=516
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=2422
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=2422
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :