ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 10อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 20อ่านอรรถกถา 12 / 27อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
ธรรมทายาทสูตร ว่าด้วยทายาทแห่งธรรม

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.

               ความหมายของมรรค               
               มรรคนี้นั้นชื่อว่าอริยะ เพราะทำกิเลสให้อยู่ห่างไกลบ้าง เพราะเป็นไปพร้อมเพื่อละข้าศึก (กิเลส) บ้าง เพราะเป็นมรรคที่พระอริยะแสดงไว้บ้าง เพราะเป็นไปพร้อมเพื่อให้ได้ความเป็นพระอริยะบ้าง.
               (มรรค) ชื่อว่ามีองค์ ๘ เพราะประกอบด้วยองค์ ๘ และจะพ้นไปจากองค์หาได้ไม่ เปรียบเหมือนเครื่องดนตรีประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นต้นฉะนั้น.
               ที่ชื่อว่ามรรค เพราะหมายความว่า ฆ่ากิเลสทั้งหลายไปบ้าง ดำเนินไปสู่นิพพานบ้าง อันบุคคลผู้ต้องการนิพพานแสวงหาบ้าง อันบุคคลผู้ต้องการนิพพานเหล่านั้นดำเนินไป คือปฏิบัติบ้าง.
               บทว่า เสยฺยถีทํ เป็นนิบาต. นิบาตว่า เสยฺยถีทํ นั้น มีความหมายเท่ากับ กตโม โส (แปลว่า มรรคนั้นคืออะไรบ้าง) หรือมีความหมายเท่ากับ กตมานิ ตานิ อฏฺฐงฺคานิ (แปลว่า องค์ ๘ นั้นคืออะไรบ้าง).
               ความจริงแล้ว องค์แต่ละองค์ก็คือมรรคนั่นเอง. สมด้วยคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า สัมมาทิฏฐิเป็นมรรคด้วย เป็นเหตุด้วย. แม้โบราณาจารย์ทั้งหลายก็กล่าวไว้ว่า สัมมาทิฏฐิเป็นทางเป็นเหตุให้เห็น สัมมาสังกัปปะเป็นทางเป็นเหตุให้ฝังใจ (ในอารมณ์) ฯลฯ สัมมาสมาธิเป็นทางเป็นเหตุไม่ให้ฟุ้งซ่าน.
               อนึ่ง ในบรรดาองค์มรรค๑- ทั้งหลายมีสัมมาทิฏฐิเป็นต้นเหล่านี้ สัมมาทิฏฐิมีความเห็นชอบเป็นลักษณะ สัมมาสังกัปปะมีความฝังใจโดยชอบเป็นลักษณะ สัมมาวาจามีการหวงแหนโดยชอบเป็นลักษณะ สัมมากัมมันตะมีการตั้งขึ้นพร้อมโดยธรรมเป็นลักษณะ สัมมาอาชีวะมีความผ่องแผ้วโดยชอบเป็นลักษณะ สัมมาวายามะมีการประคอง (จิต) โดยชอบเป็นลักษณะ สัมมาสติมีความปรากฏโดยชอบเป็นลักษณะ สัมมาสมาธิมีความตั้งมั่นแห่งจิตโดยชอบเป็นลักษณะ.
               แม้วิเคราะห์มรรคเหล่านั้นก็พึงทราบโดยนัยนั้นนั่นเหมือนกันว่า ที่ชื่อว่าสัมมาทิฎฐิ เพราะเห็นโดยชอบ.
____________________________
๑- ปาฐะว่า สมฺมาทฏฺฐีสุ ฉบับพม่าเป็น สมฺมาทิฏฺฐาทีสุ แปลตามฉบับพม่า.

               ในจํานวนมรรคเหล่านั้น
               (๑) สัมมาทิฏฐิ เมื่อเกิดขึ้นย่อมละมิจฉาทิฏฐิ กิเลสที่เป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐินั้นและอวิชชาได้ กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ เห็นสัมปยุตธรรมทั้งหลาย และเห็นสัมปยุตธรรมเหล่านั้นโดยความไม่งมงาย ไม่ใช่เห็นโดยความเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ.
               (๒) สัมมาสังกัปปะ (เมื่อเกิดขึ้น) ย่อมละมิจฉาสังกัปปะและกิเลสที่เป็นข้าศึกต่อสัมมาสังกัปปะนั้นได้ กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์และปลูกฝังสัมปยุตธรรมทั้งหลายไว้ในใจโดยชอบ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสัมมาสังกัปปะ.
               (๓) สัมมาวาจา (เมื่อเกิดขึ้น) ย่อมละมิจฉาวาจาและกิเลสที่เป็นข้าศึกต่อสัมมาวาจานั้นได้ กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ หวงแหนสัมปยุตธรรมทั้งหลายโดยชอบ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสัมมาวาจา.
               (๔) สัมมากัมมันตะ (เมื่อเกิดขึ้น) ย่อมละมิจฉากัมมันตะและกิเลสที่เป็นข้าศึกต่อสัมมากัมมันตะนั้นได้ กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์และย่อมยังสัมปยุตธรรมทั้งหลายให้ตั้งขึ้นโดยชอบ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสัมมากัมมันตะ.
               (๕) สัมมาอาชีวะ (เมื่อเกิดขึ้น) ย่อมละมิจฉาอาชีวะและกิเลสที่เป็นข้าศึกต่อสัมมาอาชีวะนั้นได้ กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์และย่อมยังสัมปยุตธรรมทั้งหลายให้ผ่องแผ้วโดยชอบ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสัมมาอาชีวะ.
               (๖) สัมมาวายามะ (เมื่อเกิดขึ้น) ย่อมละมิจฉาวายามะ ธรรมที่เป็นข้าศึกต่อสัมมาวายามะนั้นและความเกียจคร้านได้ กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ และย่อมรับไว้โดยชอบ ซึ่งสัมปยุตธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสัมมาวายามะ.
               (๗) สัมมาสติ (เมื่อเกิดขึ้น) ย่อมละมิจฉาสติและกิเลสที่เป็นข้าศึกต่อสัมมาสตินั้นได้ ย่อมกระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ และย่อมยังสัมปยุตธรรมทั้งหลายให้ปรากฏโดยชอบ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสัมมาสติ.
               (๘) สัมมาสมาธิ (เมื่อเกิดขึ้น) ย่อมละมิจฉาสมาธิ กิเลสที่เป็นข้าศึกต่อสัมมาสมาธิและความฟุ้งซ่านนั้นได้ กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ และย่อมตั้งมั่นสัมปยุตธรรมทั้งหลายไว้โดยชอบ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสัมมาสมาธิ.
               บัดนี้ พระเถระเมื่อจะกล่าวยํ้าปฏิปทานั้นนั่นแลจึงกล่าวว่า อยํ โข สา อาวุโส ดังนี้เป็นต้น คำที่กล่าวนั้นมีอธิบายว่า มรรคมีองค์ ๘ นี้ใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรวมโลกุตตรมรรคทั้ง ๔ เข้าด้วยกันว่า ดูก่อนอาวุโส มรรคมีองค์ ๘ นี้แล คือมัชฌิมาปฏิปทานั้น ย่อมเป็นไปพร้อม ฯลฯ เพื่อนิพพาน.

               ธรรมที่ต้องละเหล่าอื่นอีก               
               ครั้นแสดงโลภะโทสะ และอุบายเป็นเครื่องละโลภะและโทสะนั้น ในจํานวนธรรมทั้งหลายที่ต้องละอย่างนี้แล้ว บัดนี้ พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงธรรมที่ต้องละเหล่าอื่นอีกและอุบายเป็นเครื่องละธรรมเหล่านั้น จึงกล่าวคำว่า ตตฺราวุโส โกโธ จ ดังนี้เป็นต้น
               บรรดาธรรมที่ต้องละเหล่านั้น.
               (๑) โกธะ มีลักษณะ (เฉพาะ) คือความเดือดดาลหรือความดุร้าย มีหน้าที่คือผูกอาฆาต (และ) ผลที่ปรากฏออกมาคือความประทุษร้าย.
               (๒) อุปนาหะ มีลักษณะ (เฉพาะ) คือความผูกโกรธ มีหน้าที่คือไม่ยอมสลัดทิ้งการจองเวร (และ) ผลที่ปรากฏออกมาคือโกรธติดต่อเรื่อยไป.
               สมด้วยคำที่พระโบราณาจารย์กล่าวไว้อย่างนี้ว่า โกธะเกิดก่อน อุปนาหะจึงเกิดภายหลัง เป็นต้น.
               (๓) มักขะ มีลักษณะ (เฉพาะ) คือลบหลู่คนอื่น มีหน้าที่คือทำคุณของคนอื่นนั้นให้พินาศ (และ) ผลที่ปรากฏออกมาคือการปกปิดคุณของคนอื่นนั้น.
               (๔) ปฬาสะ มีลักษณะ (เฉพาะ) คือการถือเป็นคู่แข่ง (ตีเสมอ) มีหน้าที่คือการทำคุณของตนให้เสมอกับคุณของคนอื่น (และ) ผลที่ปรากฏออกมาคือความปรากฏโดยการชอบประมาณ (ตีค่า) เทียบคุณของคนอื่น.
               (๕) อิสสา มีลักษณะ (เฉพาะ) คือความริษยาต่อสมบัติของคนอื่น หรือไม่ก็ทนไม่ได้ต่อสมบัติของคนอื่นนั้น มีหน้าที่คือความไม่ยินดียิ่ง ในสมบัติของคนอื่นนั้น (และ) ผลที่ปรากฏออกมาคือความเบือนหน้าหนีจากสมบัติของคนอื่นนั้น.
               (๖) มัจเฉระ มีลักษณะ (เฉพาะ) คือการซ่อนเร้นสมบัติของตน มีหน้าที่คือความไม่สบายใจ เมื่อสมบัติของตนมีคนอื่นร่วมใช้สอยด้วย (และ) ผลที่ปรากฏออกมาคือความเคืองแค้น.
               (๗) มายา มีลักษณะ (เฉพาะ) คือปกปิดบาปที่ตนเองกระทำแล้ว มีหน้าที่คือซ่อนเร้นบาปที่ตนเองกระทำแล้วนั้น (และ) ผลที่ปรากฏออกมาคือการปิดกั้นบาปที่ตนเองกระทำแล้วนั้น
               (๘) สาเถยยะ มีลักษณะ (เฉพาะ) คือการชอบเปิดเผยคุณที่ตนเองไม่มี มีหน้าที่คือการประมวลมาซึ่งคุณที่ตนเองไม่มีเหล่านั้น (และ) ผลที่ปรากฏออกมาคือการทำคุณที่ตนเองไม่มีเหล่านั้นให้ปรากฏออกมาแม้โดยอาการทางร่างกาย.
               (๙) ถัมภะ มีลักษณะ (เฉพาะ) คือความที่จิตผยอง มีหน้าที่คือพฤติการที่ไม่ยําเกรง (และ) ผลที่ปรากฏออกมาคือความไม่อ่อนโยน.
               (๑๐) สารัมภะ มีลักษณะ (เฉพาะ) คือการทำความดีให้เหนือไว้ มีหน้าที่คือแสดงตนเป็นข้าศึกต่อคนอื่น (และ) ผลที่ปรากฏออกมาคือความไม่เคารพ.
               (๑๑) มานะ มีลักษณะ (เฉพาะ) คือความเย่อหยิ่ง มีหน้าที่คือความถือตัวว่า เป็นเรา (และ) ผลที่ปรากฏออกมาคือความจองหอง.
               (๑๒) อติมานะ มีลักษณะ (เฉพาะ) คือความเย่อหยิ่ง มีหน้าที่คือความถือตัวว่า เป็นเราจัด (และ) ผลที่ปรากฏออกมาคือความหยิ่งจองหอง.
               (๑๓) มทะ มีลักษณะ (เฉพาะ) คือความมัวเมา มีหน้าที่คือความยึดถือด้วยการมัวเมา (และ) ผลที่ปรากฏออกมาคือความคลั่งไคล้.
               (๑๔) ปมาทะ มีลักษณะ (เฉพาะ) คือการปล่อยจิตไปในเบญจกามคุณ มีหน้าที่คือการกระตุ้นให้ปล่อยจิตมากขึ้น (และ) ผลที่ปรากฏออกมาคือความขาดสติ.
               นักศึกษาพึงทราบถึงลักษณะเป็นต้นของธรรมเหล่านี้ดังกล่าวมานี้เถิด ที่กล่าวมานี้เป็นความย่อในข้อนี้ ส่วนความพิสดารนักศึกษาพึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในคัมภีร์วิภังค์นั่นเองว่า ตตฺถ กตโม โกโธ ดังนี้เป็นต้น.

               ตัวอย่างพฤติกรรมที่เกิดจากบาปธรรมเหล่านั้น               
               อนึ่ง ในธรรมที่ต้องละเหล่านี้พึงทราบความโดยพิเศษขึ้นไปอีกดังต่อไปนี้ :-
               ภิกษุผู้เป็นอามิสทายาท ย่อมโกรธคนอื่นที่ได้ลาภ เพราะตนเองไม่ได้.๑- ความโกรธที่เกิดขึ้นครั้งเดียวของภิกษุผู้เป็นอามิสทายาทนั้น ชื่อว่าโกธะอย่างเดียว โกธะที่เกิดขึ้นมากกว่าครั้งเดียวขึ้นไป ชื่อว่าอุปนาหะ.
____________________________
๑- (ปาฐะเป็น อลภนฺโต เป็นปฐมาวิภัตติ เข้าใจว่าจะเป็น อลภนโต คือโตปัจจัยที่ใช้แทนปัญจมีวิภัตติได้ จึงได้แปลตามที่เข้าใจ).

               ภิกษุผู้เป็นอามิสทายาทนั้นนั่นแล เมื่อโกรธแล้วด้วยและผูกโกรธด้วย ย่อมหลู่คุณของคนอื่นที่มีลาภและถือเป็นคู่แข่ง และว่าแม้เราก็ต้องเป็นเช่นนั้นให้ได้. อันนี้เป็นมักขะ (ความลบหลู่) และปฬาสะ (ตีเสมอ) ของภิกษุผู้เป็นอามิสทายาทนั้น.
               ภิกษุผู้เป็นอามิสทายาทนั้นมีปกติลบหลู่ มีปกติตีเสมอดังกล่าวมาแล้วนี้ ย่อมริษยา ย่อมประทุษร้ายในลาภและสักการะเป็นต้นของผู้มีลาภนั้นว่า ภิกษุนี้จะมีประโยชน์อะไรด้วยสิ่งนี้. อันนี้เป็นอิสสา (ความริษยา).
               ก็ถ้าว่าเธอมีสมบัติบางอย่าง ย่อมทนไม่ได้ที่สมบัตินั้นมีคนอื่นนั้นร่วมใช้. อันนี้เป็นมัจเฉระ (ความตระหนี่) ของภิกษุผู้เป็นอามิสทายาทนั้น.
               ก็เพราะลาภเป็นเหตุแท้ๆ เธอย่อมปกปิดโทษของตนที่มีอยู่เสีย อันนี้เป็นมายาของภิกษุผู้เป็นอามิสทายาทนั้น.
               เธอย่อมอวดคุณที่ไม่มีอยู่จริง อันนี้เป็นสาเถยยะ (ความโอ้อวด) ของภิกษุผู้เป็นอามิสทายาทนั้น.
               เธอปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ถ้าได้ลาภตามที่ประสงค์ย่อมเป็นผู้แข็งกระด้าง มีจิตใจไม่อ่อนโยนเพราะลาภนั้น เป็นผู้ที่ใครๆ ไม่สามารถจะว่ากล่าวได้ว่า ท่านไม่ควรทำกรรมนี้อย่างนี้. อันนี้เป็นถัมภะ (ความหัวดื้อ) ของเธอ.
               แต่ถ้าจะมีใครว่ากล่าวอะไรเธอว่า ท่านไม่ควรทำกรรมนี้อย่างนี้ เธอเป็นผู้มีจิตใจปรารภคำกล่าวนั้น ทำหน้านิ่วคิ้วขมวด พูดข่มขู่ว่า ท่านเป็นอะไรกับผม. อันนี้เป็นสารัมภะ (ความแข่งดี) ของภิกษุผู้เป็นอามิสทายาทนั้น.
               ต่อจากนั้นไป เพราะถัมภะ (ความดื้อรั้น) เธอจะสำคัญตัวอยู่ว่า เรานี้แหละดีกว่าคนอื่น เป็นผู้ถือตัวเพราะสารัมภะ (ความแข่งดี) เธอกลับดูถูกคนอื่นว่าพวกนี้เป็นใครกัน เป็นผู้ถือตัว. อันนี้เป็นมานะ(ความถือตัว) และอติมานะ (ดูหมิ่นท่าน) ของภิกษุผู้เป็นอามิสทายาทนั้น.
               เพราะมานะและอติมานะเหล่านี้ เธอย่อมเกิดความเมาหลายแบบมีความเมาในชาติ (กำเนิดตระกูล) เป็นต้น เธอเมาแล้วย่อมประมาท (เผลอสติ) ในวัตถุทั้งหลายแยกประเภทออกไปมีกามคุณเป็นต้น. อันนี้เป็นมทะ (ความเมา) และปมาทะ (ความเผลอสติ) ของภิกษุผู้เป็นอามิสทายาทนั้น.
               รวมความว่า ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ เธอย่อมไม่พ้นจากความเป็นอามิสทายาทไปได้.
               นักศึกษาพึงทราบธรรมที่ต้องละในการเป็นอามิสทายาทโดยธรรมที่เป็นบาปเหล่านี้ และโดยธรรมเหล่าอื่นแบบนี้อย่างนี้ก่อน.
               ส่วนอุบายเป็นเหตุละ ว่าโดยบาลีและเนื้อหาสาระแล้วก็ไม่มีพิเศษอะไรเลยในธรรมทุกข้อ.

               ความแตกต่าง ลําดับและวิธีแห่งการเจริญ               
               แต่เพื่อความแจ่มชัดแห่งการประมวลความรู้ ผู้ศึกษาควรทราบความแตกต่าง ลําดับและวิธีแห่งการเจริญในอุบายเป็นเครื่องละดังต่อไปนี้ :-
               บรรดาความแตกแต่ง ลําดับและวิธีแห่งการเจริญเหล่านั้น จะอธิบายถึงความแตกต่างก่อน ก็มัชฌิมาปฏิปทานี้ได้แก่มรรค ซึ่งบางครั้งก็มีองค์ ๘ บางคราวก็มีองค์ ๗ เพราะว่ามรรคนี้เมื่อเกิดขึ้นด้วยอํานาจปฐมฌานที่เป็นโลกุตตระย่อมมีองค์ ๘ ที่เกิดขึ้นด้วยอํานาจฌานที่เหลือ ย่อมมีองค์ ๗ แต่ในที่นี้เป็นการอธิบายความขั้นสูงสุด ท่านจึงกล่าวว่า มรรคมีองค์ ๘. ก็องค์มรรคที่เกินจากนั้นไปไม่มี นักศึกษาพึงทราบความแตกต่างกันในที่นี้เท่านี้ก่อน.
               ก็เพราะเหตุที่สัมมาทิฏฐิประเสริฐที่สุดในบรรดากุศลธรรมทั้งปวง ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวว่า ปัญญาแลประเสริฐที่สุด.
               และสัมมาทิฏฐินั้นก็เป็นประธาน (ตัวนำ) ในวาระแห่งการทำกุศล ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฏฐิเป็นประธานอย่างไร? คือ (เป็นประธานเพราะ) รู้ชัดเจนซึ่งสัมมาทิฏฐิว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ซึ่งมิจฉาทิฏฐิว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ดังนี้
               และว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล วิชชาเป็นประธานแห่งกุศลธรรมทั้งหลายในสมาบัติ ดังนี้.
               อนึ่ง องค์ (มรรค) ที่เหลือทั้งหลายก็เกิดขึ้นเพราะมีสัมมาทิฏฐินั้นเกิดก่อน ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า คนที่มีสัมมาทิฏฐิย่อมมีสัมมาสังกัปปะ ฯลฯ และคนที่มีสัมมาสติ ย่อมมีสัมมาสมาธิ. ฉะนั้น องค์ทั้งหลายเหล่านี้ท่านจึงกล่าวไว้แล้วโดยลําดับนี้ นักศึกษาพึงทราบลําดับ (แห่งองค์มรรค) ในอุบายเป็นเครื่องละนี้อย่างนี้แล.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า วิธีแห่งการเจริญ (สมถะและวิปัสสนา) ต่อไป.
               พระโยคาวจรบางท่านเจริญวิปัสสนามีสมถะนำหน้า บางท่านเจริญสมถะมีวิปัสสนานำหน้า เจริญอย่างไร?
               (เจริญอย่างนี้คือ) พระโยคาวจรบางรูปในพระศาสนานี้ทำสมถะอุปจารสมาธิ หรืออัปนาสมาธิให้เกิดขึ้น นี้เป็นสมถะ (ต่อมา) พระโยคาวจรนั้นพิจารณาเห็นซึ่งสมาธินั้นและธรรมที่สัมปยุตด้วยสมาธินั้นโดยภาวะทั้งหลายมีความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น นี้เป็นวิปัสสนา. อย่างนี้สมถะเกิดก่อน วิปัสสนาเกิดทีหลัง เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เจริญวิปัสสนามีสมถะนำหน้า.
               เมื่อเธอเจริญวิปัสสนามีสมถะนำหน้าอยู่ มรรคย่อมเกิด เธอซ่องเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยทั้งหลายย่อมหมดสิ้นไป อย่างนี้พระโยคาวจร ชื่อว่าเจริญวิปัสสนาแบบมีสมถะนำหน้า.
               แต่ว่า พระโยคาวจรบางรูปในพระศาสนานี้ไม่ยังสมถะมีประการดังกล่าวแล้วให้เกิดขึ้น พิจารณาเห็นอุปาทานขันธ์ ๕ โดยสภาวะมีความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น นี้เป็นวิปัสสนา. เอกัคตาแห่งจิตจะเกิดขึ้นจากอารมณ์ คือการสลัดธรรมที่เกิดขึ้นในวิปัสสนานั้น เพราะความบริบูรณ์แห่งวิปัสสนาของเธอ นี้เป็นสมถะ. อย่างนี้วิปัสสนาเกิดก่อน สมถะเกิดทีหลัง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เจริญสมถะมีวิปัสสนานำหน้า.
               เมื่อเธอเจริญสมถะมีวิปัสสนานำหน้าอยู่ มรรคย่อมเกิด เธอซ่องเสพ เจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอซ่องเสพมรรคนั้นอยู่ ฯลฯ อนุสัยทั้งหลายย่อมหมดสิ้นไป อย่างนี้แหละพระโยคาวจร ชื่อว่าเจริญสมถะมีวิปัสสนานำหน้า.
               เจริญวิปัสสนาแบบมีสมถะนำหน้า ก็เมื่อเธอเจริญวิปัสสนาแบบมีสมถะนำหน้าอยู่ก็ดี เจริญสมถะแบบมีวิปัสสนานำหน้าอยู่ก็ดี ในขณะแห่งโลกุตตรมรรคแล้ว สมถะและวิปัสสนาย่อมอยู่เป็นคู่กัน (อย่างแยกไม่ออก). นักศึกษาพึงทราบนัยแห่งการเจริญ (สมถะและวิปัสสนา) ในที่นี้อย่างนี้แล.

               จบอรรถกถาแห่งธรรมทายาทสูตร.               
               จบพระสูตรที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค ธรรมทายาทสูตร ว่าด้วยทายาทแห่งธรรม จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 10อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 20อ่านอรรถกถา 12 / 27อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=385&Z=516
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=2422
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=2422
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :