ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 27อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 53อ่านอรรถกถา 12 / 73อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
อนังคณสูตร ว่าด้วยผู้ไม่มีกิเลส

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               พระโกรธ               
               [๖๑] บทว่า ปุรกฺขตฺวา ปุรกฺขตฺวา (ทำไว้ข้างหน้า ทำไว้ข้างหน้า) คือทำไว้ (ให้อยู่) ข้างหน้า. มีคำอธิบายว่า ห้อมล้อม (ทั้งข้างหน้าและข้างหลัง).
               แม้ภิกษุรูปนี้ก็เป็นผู้อยากได้ลาภเหมือนกัน. เพราะว่า ภิกษุรูปนี้เห็นภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูตเข้าบ้านพร้อมกับภิกษุผู้เป็นบริวาร กำลังไหว้เจดีย์ และเห็นอุบาสกทั้งหลายผู้เลื่อมใส (ภิกษุเหล่านั้น) เพราะเห็นคุณธรรมข้อนั้นของท่านเหล่านั้น แสดง (ทำ) อาการของผู้เลื่อมใสอยู่ เพราะฉะนั้น เธอจึงต้องการอย่างนี้.
               บทว่า กุปิโต (โกรธเคืองแล้ว) หมายความว่า ภิกษุแม้รูปนี้โกรธเคืองในเพราะเหตุ ๒ สถาน คือโกรธเคืองต่อภิกษุทั้งหลายและพระเถระ.
               โกรธเคืองภิกษุทั้งหลายอย่างไร?
               โกรธเคืองภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า ภิกษุเหล่านี้ถือเอาเฉพาะจีวรหรือบิณฑบาตที่เกิดขึ้นแก่เรานั้นบริโภคอยู่ แต่ผู้จะมาข้างหลังรับบาตรจีวรของเราก็ไม่มี.
               โกรธเคืองพระเถระอย่างไร?
               โกรธเคืองพระเถระว่า พระเถระแก่รูปนี้ (ไป) ปรากฏตัวในที่นั้นๆ เมื่อไรหนอ พระธรรมกัมมิกะจักจับเขาออกไป เมื่อไม่มีพระแก่รูปนี้ ภิกษุทั้งหลายก็จักห้อมล้อมเราคนเดียวเป็นแน่.
               [๖๒] บทว่า ภตฺตตฺเค (โรงฉัน) คือ สถานที่สำหรับฉัน (หอฉัน).
               บทว่า อคฺคาสนํ (ที่นั่งชั้นยอด) คือที่นั่งสำหรับพระสังฆเถระ.
               บทว่า อคฺโคทกํ (น้ำที่เลิศ) คือทักษิโณทก (น้ำที่ถวายด้วยความเคารพ).
               บทว่า อคฺคปิณฺฑํ (บิณฑบาตที่เลิศ) คือบิณฑบาตสำหรับพระสังฆเถระ.
               อีกอย่างหนึ่ง ในที่ทุกแห่ง คำว่า เลิศ นี้เป็นคำใช้เรียกสิ่งของที่ประณีต.
               บรรดาความปรารถนาทั้ง ๒ อย่างนี้ ความปรารถนาว่า เราคนเดียวควรได้ ดังนี้ ไม่มีโทษหนักมากเท่าไร. แต่ความปรารถนาว่า ภิกษุอื่นไม่ควรได้ ดังนี้ มีโทษหนักมาก.
               ภิกษุผู้มีความต้องการลาภรูปนี้เป็นผู้ที่น่าเลื่อมใสโดยการครองจีวรเป็นต้น บางครั้งก็บวช บางครั้งก็สึก เพราะเหตุนั้น เธอเมื่อภายหลังไม่ได้ที่นั่งเป็นต้นที่ตนเคยได้นั่งมาแล้วในตอนก่อน จึงคิดอย่างนี้ว่า ภิกษุนั้นไม่ควรจะได้. ภิกษุรูปนั้นเมื่อที่นั่งชั้นยอดเป็นต้นถึงแก่พระเถระทั้งหลาย (พระเถระนั่งแล้ว) สำหรับพระรุ่นกลางและพระรุ่นใหม่เหล่าอื่น ก็ทำนองเดียวกันนั้น บางครั้งก็ได้ที่นั่งธรรมดาสามัญหรือที่นั่งที่ต่ำกว่าที่นั่งทั้งหมด หรือไม่ได้เลย.
               บทว่า กุปิโต (โกรธเคืองแล้ว) คือ ภิกษุรูปนี้เองโกรธเคืองในเพราะเหตุ ๒ สถาน คือ (โกรธเคือง) คนทั้งหลายและพระเถระทั้งหลาย.
               โกรธเคืองคนทั้งหลายอย่างไร?
               (โกรธเคือง) คนทั้งหลายอย่างนี้ว่า คนเหล่านี้อาศัยเรา จึงได้ภิกษุทั้งหลาย (มา) ในงานมงคลเป็นต้น (เมื่อก่อน) เขาพากันพูดว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้าได้กรุณาพาภิกษุจำนวนเท่านี้ (ไป) ทำความอนุเคราะห์แก่กระผมทั้งหลายเถิด แต่เดี๋ยวนี้เขาได้พาเอาพระเถระแก่ผู้เพียงแต่ได้เห็นชั่วประเดี๋ยวเดียวไป เรื่องนี้ช่างเถิด ต่อไปนี้เมื่อกิจของเขาเหล่านี้เกิดขึ้น เราจักรู้ (แก้มือ).
               โกรธเคืองพระเถระอย่างไร?
               โกรธเคืองพระเถระอย่างนี้ว่า ถ้าธรรมดาไม่มีพระเถระเหล่านี้ไซร้ คนทั้งหลายต้องนิมนต์เฉพาะเราเท่านั้น.
               [๖๓] บทว่า อนุโมเทยฺยํ (ควรอนุโมทนา) คือ ควรทำอนุโมทนา. แม้ภิกษุรูปนี้เป็นผู้มีความต้องการลาภ รู้การอนุโมทนาเป็นตอนๆ แบบธรรมดาๆ. เธอคิดปรารถนาอย่างนี้ว่า ณ สถานที่อนุโมทนา แม่บ้านจะพากันมามาก พวกเขาจำเราได้แล้ว ต่อไปจักถวายภักษาหารเป็นถาดๆ.
               บทว่า ฐานํ (เหตุที่ตั้ง) ความว่า การอนุโมทนาเป็นภาระ๑- หน้าที่ของภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูต เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวอธิบายไว้ว่า ภิกษุผู้เป็นพหูสูตควรอนุโมทนา.
____________________________
๑- ปาฐะเป็น อนุโมทนาภาโว แต่ฉบับที่พม่าเป็น อนุโมทนา ภาโร จึงแปลตามฉบับพม่า ความดีกว่า.

               บทว่า กุปิโต (โกรธเคืองแล้ว) หมายความว่า ภิกษุรูปนี้เองจะโกรธเคืองในเพราะเหตุ ๓ สถาน คือ โกรธเคืองคนทั้งหลาย ๑ โกรธเคืองพระเถระ ๑ โกรธเคืองพระธรรมกถึก ๑.
               โกรธเคืองคนทั้งหลายอย่างไร?
               โกรธเคืองคนทั้งหลายอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนคนเหล่านี้เข้ามาหาเราคนเดียว แล้วขอร้องว่า ขอนิมนต์ท่านนาคเถระของเราทั้งหลายจงอนุโมทนา ขอนิมนต์ท่านสุมนเถระของเราทั้งหลายจงอนุโมทนา แต่วันนี้ไม่พูด (ไม่นิมนต์).
               โกรธเคืองพระเถระอย่างไร?
               โกรธเคืองพระเถระอย่างนี้ว่า พระสังฆเถระรูปนี้ไม่กล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงพากันเข้าไปหาพระนาคเถระ พระสุมนเถระผู้เป็นพระประจำตระกูลของท่านทั้งหลาย ท่านผู้นี้จักอนุโมทนา.
               โกรธเคืองพระธรรมกถึกอย่างไร?
               โกรธเคืองพระธรรมกถึกอย่างนี้ว่า พอท่านพระเถระพูดจบเท่านั้น เห็น (ท่านพระธรรมกถึก) รนราน เหมือนไก่ถูกตี ผู้จะฉุดคร่าพระรูปนี้ออกไปก็ไม่มี เพราะว่า เมื่อไม่มีพระรูปนี้ เราคนเดียวต้องอนุโมทนา.
               [๖๔] บทว่า อารามคตานํ (ผู้มาสู่อาราม) คือ ผู้ประชุมกันอยู่ในวิหาร.
               แม้ภิกษุรูปนี้ผู้มีความต้องการลาภ รู้ธรรมกถาเป็นตอนๆ แบบธรรมดาๆ เธอเห็นภิกษุทั้งหลายผู้นั่งประชุมกันฟังธรรมเนืองนิตย์ ตลอดทั้งคืนตั้ง ๒-๓ ร้อยโยชน์ในที่เช่นนั้น พากันพอใจทีเดียว หรือเห็นภิกษุหนุ่มหรือสามเณรกำลังให้สาธุการด้วยเสียงดังว่า สาธุ สาธุ อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายพากันถามภิกษุทั้งหลายที่ไปในบ้านในวันที่ ๒ ต่อจากนั้นว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระพวกไหนแสดงธรรม ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า รูปโน้น รูปโน้น คนทั้งหลายได้ยินดังนั้นแล้ว เลื่อมใสจะพากันทำสักการะแก่พระธรรมกถึกมาก. ภิกษุรูปนั้นเมื่อปรารถนาลาภนั้นย่อมคิดอย่างนี้.
               [๖๕] บทว่า ฐานํ (เหตุที่ตั้ง) ความว่า การแสดงธรรมเทศนาเป็นภาระของ (ภิกษุทั้งหลาย) ผู้เป็นพหูสูต ผู้ฉลาดในการวินิจฉัย เพราะเหตุนั้น จึงมีคำอธิบายไว้ว่า ภิกษุผู้เป็นพหูสูตควรแสดงธรรม.
               บทว่า กุปิโต (โกรธเคืองแล้ว) ความว่า เมื่อไม่ได้โอกาสกล่าวเพียงคาถาที่ประกอบด้วยบท ๔ บท ก็จะโกรธเคืองตัวเองที่เป็นคนโง่ว่า เพราะเราเขลาเบาปัญญา ที่ไหนจักได้แสดงธรรม.
               บทว่า ภิกฺขุนีนํ (ภิกษุณีทั้งหลาย) ความว่า แก่ภิกษุณีทั้งหลายผู้มาสู่อารามแล้วประชุมกันเพื่อรับโอวาท เพื่ออุทเทศ เพื่อการทดสอบหรือเพื่อทำการบูชา.
               แม้ภิกษุรูปนี้ผู้มีความต้องการลาภ เธอจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ภิกษุณีเหล่านี้บวชจากตระกูลใหญ่ เมื่อพวกเธอเข้าไปนั่งในตระกูลทั้งหลาย คนทั้งหลายจักพากันถามว่า ท่านทั้งหลายพากันรับโอวาทหรืออุทเทศหรือทดสอบในสำนักของใคร จากการถามนั้น ภิกษุณีทั้งหลายจักบอกว่า พระคุณเจ้าชื่อโน้นผู้เป็นพหูสูต ท่านทั้งหลายจงถวาย (ของ) กระทำ (สักการะ) แก่ท่าน เพราะเหตุนั้น ความต้องการอย่างนี้จึงเกิดขึ้นแก่เธอ.
               บทว่า ฐานํ (เหตุที่ตั้ง) ความว่า เป็นธรรมดากิจวัตรมีการโอวาทเป็นต้น เป็นภาระของภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูต เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวอธิบายไว้ว่า ภิกษุผู้เป็นพหูสูตควรแสดง.
               บทว่า กุปิโต (โกรธเคืองแล้ว) มีอรรถาธิบายว่า
               ภิกษุนี้โกรธเคืองในเพราะเหตุ ๒ สถานคือ โกรธเคืองภิกษุณีเหล่านั้นว่า ภิกษุณีเหล่านี้ เมื่อก่อนอาศัยเรา จึงได้อุโบสถและปวารณาเป็นต้น แต่บัดนี้ภิกษุณีเหล่านั้นได้ไปสู่สำนักของพระเถระแก่ผู้เพียงแต่ได้เห็นชั่วคราว และโกรธเคืองพระธรรมกถึกว่า พระธรรมกถึกรูปนั้นได้ให้โอวาทแก่ภิกษุณีเหล่านั้น เร็วไวเหมือนกัน.
               บทว่า อุปาสกานํ (แก่อุบาสกทั้งหลาย) มีอรรถาธิบายว่า
               ธรรมดาอุบาสกทั้งหลายผู้ไปวัด เป็นอุบาสกผู้ใหญ่ สละการงานกันแล้ว เขาเหล่านั้นมอบงานให้ลูกน้องแล้วเที่ยวหาฟังธรรมกัน. ภิกษุรูปนี้ต้องการแสดงธรรมแก่อุบาสกเหล่านั้น. เพราะเหตุไร? เพราะคนเหล่านี้เลื่อมใสภิกษุเหล่านี้แล้ว จักบอกให้อุบาสิกาทั้งหลายทราบบ้าง ต่อไปก็จักพร้อมด้วยอุบาสิกาทั้งหลายพากันนำลาภและสักการะมาถวายเราคนเดียว เพราะฉะนั้น ควรประกอบเหตุที่ตั้ง เข้ากับผู้อื่นเป็นพหูสูตด้วย.
               บทว่า กุปิโต (โกรธเคืองแล้ว) มีเนื้อความว่า
               ภิกษุรูปนี้จะโกรธเคืองในเพราะเหตุ ๒ สถาน คือ โกรธเคืองอุบาสกทั้งหลายว่า อุบาสกเหล่านั้นฟัง (ธรรม) ที่อื่นไม่มาวัดเรา ด้วยความตั้งใจว่า พวกเราจะฟัง (ธรรม) ในสำนักของภิกษุประจำตระกูลของพวกเรา ข้อนั้นช่างเถอะต่อไปนี้ เราจักรู้ไว้ในเมื่อพวกเขามีกิจเกิดขึ้น และโกรธเคืองพระธรรมกถึกว่า ท่านรูปนี้แสดงธรรมให้คนเหล่านี้ฟัง.
               บทว่า อุปาสิกานํ (แก่อุบาสิกาทั้งหลาย) ความว่า ธรรมดาอุบาสิกาทั้งหลายผู้มาวัดได้ประชุมกันเพื่อปูอาสนะและทำการบูชาเป็นต้นหรือเพื่อฟังธรรมในวันอุโบสถ.
               คำที่เหลือจากที่ได้อธิบายแล้ว มีนัยเหมือนที่ได้กล่าวแล้วในตอนว่าด้วยอุบาสก.
               [๖๖-๖๗] บทว่า สกฺกเรยฺยํ คือ ควรทำโดยเคารพด้วยทำให้ดีด้วย. ด้วยคำว่า ควรสักการะ นี้ เธอปรารถนาการที่ทำในตนโดยเคารพและด้วยดี.
               บทว่า ครุกเรยฺยุํ (ควรตระหนัก) คือ ควรทำให้หนัก. ด้วยคำว่า ควรตระหนัก นี้ เธอปรารถนาจะให้ภิกษุทั้งหลายตั้งตัวเธอไว้ในฐานะเป็นครู.
               บทว่า มาเนยฺยํ (ควรนับถือ) คือ ควรรักใคร่.
               บทว่า ปูเชยฺยุํ (ควรบูชา) ความว่า เธอปรารถนาการบูชาด้วยปัจจัยว่า คนทั้งหลายเมื่อสักการะเคารพนับถือเรา ก็ต้องบูชาเราด้วยปัจจัยทั้งหลายอย่างนี้.
               บทว่า ฐานํ (เหตุที่ตั้ง) ความว่า ภิกษุผู้เป็นพหูสูตและเป็นผู้มีศีลมีประการดังที่กล่าวแล้วว่า เป็นที่รัก เป็นที่เคารพ เป็นที่นับถือ สมควรกะวิธีนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงอธิบายไว้ว่า ภิกษุทั้งหลายควรทำแบบนี้ คืออย่างนี้.
               บทว่า กุปิโต (โกรธเคืองแล้ว) ความว่า แม้ภิกษุรูปนี้จะโกรธเคืองในเพราะเหตุ ๒ สถาน คือ โกรธเคืองภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุเหล่านี้สักการะภิกษุนั้น และโกรธเคืองพระเถระว่า เมื่อไม่มีพระเถระรูปนี้ ภิกษุทั้งหลายต้องสักการะเราคนเดียวเท่านั้น.
               ในวาระ (ตอน) อื่น อีก ๓ วาระต่อจากนี้ก็มีนัยนี้.
               [๖๘] บทว่า ปณีตานํ จีวรานํ (จีวรประณีต) ได้แก่ ผ้าจีวรที่มีราคาแพง เนื้อละเอียด มีสัมผัสอ่อนนิ่ม (ห่มสบาย) มีผ้าธรรมดา ผ้าเปลือกไม้ ผ้าไหมที่ฟอกแล้วและผ้าไหมธรรมดาเป็นต้น.
               ความปรารถนาว่า เราเท่านั้นควรมีลาภ ไม่ชื่อว่ามีโทษมากมาย ในที่นี้เลย. แต่มีโทษมากมายคือความต้องการว่า ขออย่าให้คนอื่นมีลาภ.
               [๖๙] บทว่า ปณีตานํ ปิณฺฑปาตานํ (บิณฑบาตประณีต) คือบิณฑบาตที่ดีที่สุด เพียบพร้อมไปด้วยรสเนยใส รสน้ำมันและรสเนื้อเป็นต้น.๑-
____________________________
๑- ฉบับพม่าเป็น สปฺปิเตลมธุสกฺกราทิปูริตานํ เพียบพร้อมไปด้วยเนยใส, น้ำมัน, น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวดเป็นต้น.

               บทว่า ปณีตานํ เสนาสนานํ (เสนาสนะประณีต) คือ ที่นั่งที่นอนมีเตียงและตั่งเป็นต้น ที่มีค่าหลายแสน.
               บทว่า ปณีตานํ คิลานปจฺจยเภสชฺชปริกฺขารานํ (บริขารคือยาที่เป็นปัจจัยแก่ผู้ป่วย) คือยาชั้นสูงมีเนยใส น้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้น.
               แม้ทุกวาระควรประกอบเหตุเป็นที่ตั้งเข้ากับด้วยผู้เป็นพหูสูตและผู้มีบุญทั้งหลาย.
               บทว่า กุปิโต (ขุ่นเคืองแล้ว) ได้แก่ ขุ่นเคืองในเพราะเหตุ ๒ สถาน คือขุ่นเคืองคนทั้งหลายว่า ขึ้นชื่อว่าคนเหล่านี้ไม่มีการอบรมสั่งสม (บุพพบารมี) เลย เราอยู่ร่วมกันมาตลอดกาลยาวนาน ถึงจะเดินไปตามลำดับเรือนเพื่อต้องการผ้าบังสุกุล หรือว่าเพื่อต้องการบิณฑบาต หรือเพราะเหตุแห่งเนยใสและน้ำมันเป็นต้น คนเหล่านี้ก็ไม่ถวายปัจจัย ๔ ที่ประณีตอะไรแม้แต่วันเดียว แต่พอเห็นหลวงตาผู้เป็นแขกมาเท่านั้น ก็พากันถวายสิ่งที่ท่านต้องการ และขุ่นเคืองพระเถระอย่างนี้ว่า หลวงตารูปนี้เที่ยวแสดงตนให้คนเหล่านั้นเห็น เมื่อไรภิกษุผู้เป็นธรรมกัมมิกะจะฉุดคร่าแกออกไป เมื่อไม่มีหลวงตารูปนี้ เราคนเดียวต้องมีลาภ.
               บทว่า อิเมสํ โข อาวุโส (เหล่านี้แล) หมายความว่า (อกุศลธรรมทั้งหลาย) เหล่านี้ที่เป็นแดนของอิจฉาที่ได้กล่าวแต่หนหลัง โดยวาระ ๑๙ วาระ.
               [๗๐] บทว่า ทิสฺสนฺติ เจว สุยฺยนฺติ จ (ยังเห็นอยู่และได้ยินอยู่) หมายความว่า
               บาปอกุศลที่เป็นอิจฉาวจร (เป็นแดนอิจฉา) ไม่ใช่เห็นได้ด้วยจักษุ ไม่ใช่ได้ยินด้วยโสต. แต่ครั้นได้เห็นกายกรรมของบุคคลผู้ละบาปอกุศลที่เป็นอิจฉาวจรยังไม่ได้ ที่เป็นไปแล้วด้วยอำนาจของอกุศลที่เป็นอิจฉาวจร ก็เป็นเหมือนกับได้เห็นแล้ว และครั้นได้ยินวจีกรรมของบุคคลผู้ละบาปอกุศลที่เป็นอิจฉาวจรยังไม่ได้ ที่เป็นไปด้วยอำนาจกุศลที่เป็นอิจฉาวจร ก็เป็นเหมือนกับได้ยินแล้ว เพราะเป็นอารมณ์ของมโนวิญญาณ. เพราะฉะนั้น ท่านพระสารีบุตรเถระจึงได้กล่าวไว้ว่า ยังเห็นอยู่และได้ยินอยู่.
               อธิบายว่า เห็นอยู่ตลอดกาลที่ยังประจักษ์อยู่ (ส่วน) ได้ยินในเวลาที่ผ่านมาแล้วว่า ได้ทราบว่า ภิกษุรูปโน้นก็เช่นรูปนี้.
               บทว่า กิญฺจาปิ (ถึงแม้ว่า) เป็นต้น เป็นการกล่าวยกย่องและการตำหนิ. ด้วยคำนั้นท่านยกย่องการอยู่ป่าเป็นวัตร (และ) ตำหนิการละบาปอกุศลที่เป็นอิจฉาวจรยังไม่ได้.
               ในข้อนั้นมีการประกอบความดังนี้ว่า
               ภิกษุนั้นถึงแม้ว่า จะห้ามเสนาสนะท้ายบ้านอยู่ป่าประจำ อยู่ในเสนาสนะอันสงบที่ชายแดนก็จริง แต่ว่าบาปอกุศลที่เป็นอิจฉาวจรเหล่านี้ คือประมาณเท่านี้ เธอยังละไม่ได้ ถึงเธอจะปฏิเสธลาภฟุ่มเฟือยถือบิณฑบาตเป็นประจำบ้าง จะเว้นการไปบิณฑบาตไม่เป็นที่เป็นทางไปตามลำดับตรอกเป็นปกติบ้าง จะปฏิเสธจีวรที่ชาวบ้านถวายใช้สอยแต่ผ้าบังสุกุลเป็นประจำบ้าง ก็จริง (แต่เธอก็ยังละบาปอกุศลที่เป็นอิจฉาวจรเหล่านี้ยังไม่ได้).
               ส่วนคำว่า เศร้าหมอง ในคำว่า ลูขจีวรธโร (ครองจีวรเศร้าหมอง) นี้ พึงทราบว่า เศร้าหมองเพราะเหตุ ๓ ประการ คือ เศร้าหมองเพราะศัสตรา ๑ เศร้าหมองเพราะด้าย ๑ เศร้าหมองเพราะสีย้อม ๑.
               ในจำนวน ๓ อย่างนี้ ผ้าตัดให้ขาดเป็นท่อนเล็กท่อนน้อยด้วยศัสตรา ชื่อว่าเศร้าหมองเพราะศัสตรา ผ้านั้นจะเสื่อมราคา.
               ผ้าที่ทอด้วยด้ายหยาบและยาว ชื่อว่าเศร้าหมองเพราะด้าย ผ้านั้นไม่น่าสัมผัส สัมผัสกระด้าง (ห่มสาก).
               ผ้าที่ย้อมด้วยสีย้อมผ้า (น้ำฝาด) ชื่อว่าเศร้าหมองเพราะสีย้อม ผ้านั้นจะเสียสี มีสีไม่สวย.
               ถึงภิกษุนั้นจะครองจีวรเศร้าหมองเพราะศัสตรา เศร้าหมองเพราะด้าย หรือเศร้าหมองเพราะสีย้อม ก็จริง. แต่ว่าอกุศลที่เป็นอิจฉาวจรเหล่านี้ เธอยังละไม่ได้ คนยังเห็นอยู่และได้ยินอยู่ โดยที่แท้แล้ว ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกันที่เป็นปัญญาชน (วิญญู) จะไม่สักการบูชาเธอเลย.
               คำว่า ตํ ในคำว่า ตํ กิสฺส เหตุ นี้เป็นเพียงนิบาต.
               คำว่า กิสฺส เหตุ คือ กึการณา แปลว่า เพราะเหตุอะไร?
               มีคำอธิบายไว้ว่า เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นของเธอ ยังเห็นและได้ยินด้วยอยู่ คือเพราะอกุศลธรรมที่ลามกเหล่านั้นของเธอยังเห็นกันอยู่และได้ยินกันอยู่. เพราะอกุศลธรรมเหล่านี้ที่เป็นอิจฉาวจร เธอยังละไม่ได้. ที่ว่ามานี้เป็นคำอธิบายว่า เพราะเหตุอะไร นี้.
               ต่อไปนี้ท่านพระสารีบุตร เมื่อจะอธิบายเนื้อความนั้นให้ปรากฏ (ให้ชัด) ด้วยข้ออุปมา จึงได้กล่าวคำมีอาทิว่า เสยฺยถาปิ (แม้ฉันใด).
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุณปํ (ซากศพ) ได้แก่ ซากของสัตว์ที่ตายแล้ว ซากของงูชื่อว่าซากศพงู (ซากศพของสุนัขและของมนุษย์) นอกจากนี้ก็เหมือนกัน. และซากศพทั้ง ๓ นี้นั้นแหละพึงทราบว่า ท่านพระสารีบุตรกล่าวไว้แล้วในคำอุปมานี้ เพราะความเป็นของปฏิกูลและน่าเกลียดเหลือเกิน.
               ความจริงซากศพของสัตว์เหล่าอื่นมีสัตว์เลี้ยงและสุกรเป็นต้น คนทั้งหลายปรุงกับเครื่องเผ็ดร้อนเป็นต้น (เครื่องแกง) รับประทานก็มี. แต่ซากศพของสุนัขและมนุษย์เหล่านี้ ถึงจะยังใหม่ คนทั้งหลายก็ยังรังเกียจอยู่ จะกล่าวไปไยถึงซากศพที่ล่วงเลยเวลาไปแล้ว ที่เน่าแล้ว ไม่ต้องพูดถึง.
               บทว่า รจยิตฺวา (วางไว้) คือ เพิ่มเข้าไป. หมายความว่า บรรจุให้เต็ม.
               มีคำอธิบายไว้ว่า เอาซากศพนั้นบรรจุไว้ในถาดทองสัมฤทธิ์.
               บทว่า อญฺญิสฺสา แปลว่า (ด้วยถาดสัมฤทธิ์) ใบอื่น.
               บทว่า ปฏิกุชฺชิตฺวา (ครอบ) คือ ปิด.
               บทว่า อนฺตราปณํ (ระหว่างตลาด) คือ ปากซอยที่มีมหาชนหนาแน่นในท้องตลาด.
               บทว่า ปฏิปชฺเชยฺยุํ (พึงดำเนินไป) คือ พึงเดินไป.
               บทว่า ชญฺญชญฺญํ วิย (เหมือนจะน่ารู้ น่าสนใจ) ความว่า เหมือนจะเลอเลิศ คือเหมือนจะน่าพออกพอใจ.
               อีกอย่างหนึ่ง มีคำอธิบายว่า เหมือนหญิงสาวนำเครื่องบรรณาการมา.
               ความจริงหญิงสาว เขาเรียกว่าแม่หญิง. บรรณาการที่หญิงสาวนั้นกำลังนำมาเป็นสิ่งที่น่ารู้ ท่านจึงได้กล่าวย้ำไว้ในคำทั้งคู่ด้วยอำนาจแห่งความเอื้อเฟื้อบ้าง ด้วยอำนาจแห่งการสรรเสริญบ้าง.
               ปาฐะว่า ชญฺญํ ชญฺญํ วิย ดังนี้ก็มี.
               บทว่า อปาปุริตฺวา (ไม่ปิด) คือ เปิด.
               ข้อว่า ตสฺส สห ทสฺสเนน อมนาปตา จ สณฺฐเหยฺย (ความที่เขาไม่พอใจพร้อมกับการได้เห็น พึงดำรงอยู่) ความว่า ความที่คนนั้นไม่พอใจพร้อมกับการได้เห็นซากศพนั้นนั่นเอง พึงดำรงอยู่.
               ก็คำว่า อมนาปตา ความเป็นของไม่น่าพอใจนี้ เป็นชื่อของจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นแล้วว่า นี้เป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ.
               ในความปฏิกูลและน่าเกลียด ก็มีนัยนี้.
               คำว่า ชิฆจฺฉิตานมฺปิ (แม้ผู้หิวแล้ว) คือ แม้ผู้หิวโหยแล้ว.
               ข้อว่า น โภตฺตุกมฺยตา อสฺส (ความต้องการจะบริโภค คงไม่มี) ความว่า ความประสงค์จะบริโภค คงไม่มี.
               ในคำว่า ปเคว สุหิตานํ (จะป่วยกล่าวไปไยถึงผู้อิ่มแล้ว).
               มีคำอธิบายไว้ว่า แต่สำหรับคนที่หิว ก็คงไม่มีความอยากกินก่อนทีเดียว.
               ในเรื่องนั้นมีการเปรียบเทียบข้ออุปมาดังต่อไปนี้ (คือ)
               เพศบรรพชาของคนคนนี้ เช่นกับถาดทองสัมฤทธิ์ที่สะอาด การละอิจฉาวจรยังไม่ได้ เหมือนกับการวางซากศพไว้, การกลบเกลื่อนอิจฉาวจรไว้ด้วยการอยู่ป่าเป็นประจำเป็นต้น เหมือนกับการเอาถาดทองสัมฤทธิ์ใบอื่นครอบไว้, การไม่ทำสักการะเป็นต้นของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย เพราะเห็นอิจฉาวจร (ของเธอ) โดยไม่เอื้อเฟื้อถึงธุดงค์มีอารัญญิกังคธุดงค์เป็นต้น เหมือนกับความไม่พอใจของคนเพราะเปิดถาดทองสัมฤทธิ์แล้วเห็นซากศพ.
               ส่วนในธรรมฝ่ายขาวพึงทราบอรรถาธิบายดังต่อไปนี้.
               คำว่า กิญฺจาปิ เป็นต้นเป็นทั้งคำส่งเสริมเป็นทั้งคำยกย่อง. ด้วยคำว่า กิญฺจาปิ นั้น ท่านพระสารีบุตรส่งเสริมการอยู่ป่าเป็นประจำ ยกย่องการละอิจฉาวจร.
               [๗๑] บทว่า เนมนฺตนิโก (ผู้รับนิมนต์) คือ ปฏิคาหกผู้รับนิมนต์.
               บทว่า วิจิตกาฬกํ (ขาวสะอาด) คือ ปราศจากดำเจือปน.
               ในคำว่า กับข้าวหลายอย่าง แกงมากอย่าง นี้ สิ่งที่นำไปได้ด้วยมือเรียกว่า "สูปะ" (กับข้าว) คำว่า แกง คือแกงอ่อม. ด้วยคำทั้ง ๒ นั้น ท่านได้กล่าวคำอธิบายไว้ว่า กับข้าวหลายอย่างมีกับข้าวคือปลา เนื้อและถั่วเขียวเป็นต้น แกงหลายชนิดมีแกงเนื้อนานาชนิดเป็นต้น.
               คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วนั้นเทอญ.
               และควรทราบอรรถาธิบาย ในการเปรียบเทียบคำอุปไมยกับคำอุปมา (ต่อไป)
               การละอิจฉาวจรได้ เหมือนการจัดแจงข้าวสุกข้าวสาลีลงในถาดทองสัมฤทธิ์, การปิดคือการละอิจฉาวจรด้วยการอยู่วัดท้ายบ้านเป็นต้นที่เป็นสมุฏฐานแห่งความปรารถนาน้อย เหมือนการครอบด้วยถาดสัมฤทธิ์ใบอื่น, ควรทราบการทำสักการะเป็นต้นของเพื่อนพรหมจารี เพราะไม่ยินดีการอยู่วัดภายในหมู่บ้านเป็นต้นแล้วละอิจฉาวจรได้ เหมือนความพอใจของคน เพราะได้เปิดถาดทองสัมฤทธิ์เห็นข้าวสาลีหุงชั้นดี.
               [๗๒] ข้อว่า อุปมา มํ อาวุโส สารีปุตฺต ปฏิภาติ (ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร อุปมาแจ่มแจ้งแก่ผม) ความว่า ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร อุปมาปรากฏแก่กระผม. มีอธิบายว่า กระผมประสงค์จะกล่าวอุปมาข้อหนึ่ง (ถวาย).
               บทว่า ปฏิภาตุ ตํ (จงแจ่มแจ้งแก่ท่านเถิด) คือจงแจ่มแจ้ง ได้แก่ปรากฏแก่ท่านเถิด. อธิบายว่า นิมนต์กล่าวเถิด.
               คำว่า อิท ในคำว่า เอกมิทาหํ เป็นเพียงนิบาต. มีคำอธิบายไว้ว่า สมัยหนึ่ง กระผม.
               คำว่า เอกํ นี้เป็นทุติยาวิภัตติ ใช้ในความหมายของสัตตมีวิภัตติ.
               บทว่า ราชคฤห์ ในคำว่า ราชคเห วิหรามิ คิริพฺพเช นี้เป็นชื่อของนครนั้น.
               นครราชคฤห์ คนเรียกว่า คิริพชะ เพราะตั้งอยู่เหมือนคอกโดยมีภูเขาล้อมรอบ. ท่านพระโมคคัลลานะกล่าวไว้ว่า กระผมอยู่ที่นครนั้น คืออาศัยนครนั้นอยู่.
               บทว่า อถขฺวาหํ ตัดบทเป็น อถโข อหํ (แปลว่า ครั้งนั้นแล กระผม). และคำว่า อถ ในคำว่า อถขฺวาหํ นี้ เป็นนิบาต ใช้ในคำเริ่มต้นที่พูดเรื่องอื่น. ศัพท์ว่า โข ก็เป็นนิบาต ใช้ในความหมายเพียงยังบทให้เต็ม.
               บทว่า ปุพฺพณฺหสมยํ (ในเวลาเช้า) มีอธิบายว่า เวลาส่วนต้นของวัน คือในช่วงเช้า.
               อีกอย่างหนึ่ง ตอนต้นของวันชื่อว่า ปุพพัณหสมัย มีคำอธิบายว่า ชั่วขณะหนึ่งในตอนเช้า. โดยอาการอย่างนี้จะได้ทุติยาวิภัตติในอัจจันตสังโยค.
               บทว่า นิวาเสตฺวา (นุ่งแล้ว) คือครองผ้าแล้ว.
               คำว่า นุ่งแล้วนั้น พึงทราบด้วยสามารถแห่งการผลัดเปลี่ยนผ้านุ่งในวัดนั้นเอง.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบด้วยสามารถแห่งการยืนนุ่ง เพื่อต้องการจะเข้าบ้าน มิใช่ว่าก่อนหน้านี้ท่านไม่ได้นุ่งเลย.
               บทว่า ปตฺตจีวรมาทาย (ถือเอาบาตรและจีวร) หมายความว่า มือถือบาตร ร่างกายครองจีวร.
               บทว่า ปิณฺฑาย (เพื่อบิณฑบาต) ความว่า เพื่อต้องการบิณฑบาต.
               บทว่า สมิติ เป็นชื่อบุตรของช่างยานคนหนึ่ง.
               บทว่า ยานการปุตฺโต (บุตรของช่างยาน) คือ ลูกของช่างรถ.
               บทว่า ปณฺฑุปุตฺโต (ปัณฑุบุตร) ได้แก่ ลูกของนักบวชโล้น.
               บทว่า อาชีวโก ได้แก่ ชีเปลือย.
               บทว่า ปุราณยานการปุตฺโต (บุตรของช่างยานเก่า) ได้แก่ ลูกของตระกูลช่างยานเก่า.
               บทว่า ปจฺจุปฏฺฐิโต (ปรากฏตัว) คือ เข้าไปยืน (ให้เห็น). โก่งข้างหนึ่งชื่อว่างอ. คดเช่นกับทางงูเลื้อย (คลองงู).
               บทว่า โทสํ (โทษ) ได้แก่ กระพี้และปมที่ขรุขระเป็นต้น.
               บทว่า ยถา ยถา เป็นนิบาตใช้ในความหมายถึงกาลเวลา.
               มีคำอธิบายว่า เมื่อใดๆ คือในกาลใดๆ.
               บทว่า ตถา ตถา นี้ ก็มีเนื้อความบ่งถึงกาลเหมือนกัน.
               มีคำอธิบายไว้ว่า ในกาลนั้นๆ.
               อาชีวกนั้นคิดโดยอนุโลมตามที่ได้ศึกษามา แต่อีกคนหนึ่ง (นายสมิติ) ถากตรงที่อาชีวกคิดนั่นแหละ ในขณะที่เขาคิด.
               บทว่า อตฺตมโน (ชอบใจ) คือ ถูกใจตน ได้แก่ดีใจ. หมายความว่า มีปีติและโสมนัสจับใจ.
               บทว่า อตฺตมนวาจํ นิจฺฉาเรสิ (เปล่งวาจาแสดงความชอบใจ) คือเปล่ง ได้แก่กล่าว. อธิบายว่า เผยวาจาด้วยความดีใจ หรือวาจาที่ควรแก่ความดีใจ.
               ข้อว่า หทยา หทยํ มญฺเญ อญฺญาย (เหมือนรู้ใจ ด้วยใจ) ความว่า เหมือนกับรู้ใจ (เรา) ด้วยใจ (เขา).
               บทว่า อสทฺธา (ไม่มีความเชื่อ) คือ ปราศจากความเชื่อในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์.
               บทว่า ชีวิกตฺถา (เป็นผู้ต้องการเลี้ยงชีพ) คือ ถูกภัยมีหนี้เป็นต้นบีบคั้นไม่สามารถดำรงชีพภายนอกได้ จึงต้องการเลี้ยงชีพในศาสนานี้.
               บทว่า น สทฺธา (ไม่มีศรัทธา) คือ ไม่ได้บวชด้วยศรัทธา.
               บทว่า สฐา มายาวิโน (เป็นคนโอ้อวดมีมารยา) คือ ประกอบด้วยมารยาสาไถย (เจ้าเล่ห์โอ้อวด).
               บทว่า เกฏุภิโน (ผู้หลอกลวง) คือ ผู้ได้ศึกษากลโกงมาแล้ว. มีคำอธิบายว่า ผู้สำเร็จการโอ้อวดตามกำลัง.
               อธิบายว่า การโอ้อวด เขาเรียกว่า เกราฏิยะ (กลโกง) เพราะทำพร้อมกันไปกับการแสดงคุณค่าของสิ่งไม่จริง โดยการแสดงคุณวิเศษที่ไม่มีจริง.
               บทว่า อุนฺนฬา (ถือตัว) คือ ยกตนขึ้นไป. มีคำอธิบายว่า ยกมานะเปล่าขึ้น.
               บทว่า จปลา (วุ่นวาย) คือ ประกอบด้วยความวุ่นวายมีการตกแต่งบาตรและจีวรเป็นต้น.
               บทว่า มุขรา (ปากกล้า) คือ ปากแข็ง. มีอธิบายว่า มีคำพูดกร้าว.
               บทว่า วิกิณฺณวาจา (มีวาจาเลอะเทอะ) คือ มีถ้อยคำไม่สำรวม ได้แก่การพูดกันทั้งวันก็มีแต่คำไร้ประโยชน์.
               บทว่า อินฺทฺริเยสุ อคุตฺตทฺวารา (มีทวารไม่ได้ควบคุมในอินทรีย์ทั้งหลาย) คือ มีทวารสำหรับทำกรรมไม่ได้ระมัดระวังแล้วในอินทรีย์ทั้ง ๖.
               บทว่า โภชเน อมตฺตญฺญุโน (ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค) คือไม่รู้จักประมาณในการบริโภค ที่พอให้ร่างกายอยู่ไปได้ คือความเป็นผู้มีความพอเหมาะในการแสวงหาการรับและการบริโภคที่ควรรู้.
               บทว่า ชาคริยํ อนนุยุตฺตา (ไม่ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่) คือ ไม่ประกอบความเพียรที่ทำให้ตื่นตัว.
               บทว่า สามญฺเญ อนเปกฺขวนฺโต (ไม่มุ่งสมณภาวะ) มีอรรถาธิบายว่า ไม่มุ่งสมณธรรม คือเว้นจากการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม.
               บทว่า สิกฺขาย น ติพฺพคารวา (ไม่เคารพอย่างแรงกล้าในสิกขา) คือ ไม่มีความเคารพมากในสิกขาบททั้งหลาย ได้แก่มากไปด้วยการต้องอาบัติ.
               บทว่า พาหุลฺลิกา (หมกมุ่นอยู่กับปัจจัยมาก) เป็นต้น ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วใน (อรรถกถา) ธรรมทายาทสูตร.
               บทว่า กุสีตา (ผู้เกียจคร้าน) เป็นต้น ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วใน (อรรถกถา) ภยเภรวสูตร.
               บทว่า ธมฺมปริยาเยน (ด้วยธรรมปริยาย) คือด้วยธรรมเทศนา.
               บทว่า สทฺธา อคารสฺมา (มีศรัทธา ออกบวชจากเรือน) เป็นต้น มีเนื้อความว่า ตามปกติแล้ว ผู้บวชด้วยศรัทธา ชื่อว่าเป็นผู้มีศรัทธาออกจากเรือนบวช เป็นอนาคาริยบุคคล (ผู้ไม่มีเหย้าเรือน).
               ข้อว่า ปิวนฺติ มญฺเญ ฆสนฺติ มญฺเญ (คงจะดื่ม คงจะกิน) หมายความว่า เหมือนกับจะดื่มเหมือนกับจะกลืนกิน คือเมื่อเปล่งวาจาด้วยความพอใจ ก็เหมือนกับดื่มด่ำด้วยวาจา เมื่ออนุโมทนายิ่งขึ้น ก็เหมือนกับกินด้วยใจ.
               บทว่า สาธุ วต (สาธุขอรับ) คือ ดีแล้วขอรับ.
               บทว่า สพฺรหฺมจารี เป็นรัสสะก็ได้ เป็นทีฆะก็ได้.
               เมื่อเป็นรัสสะ ข้างหน้าจะมี สารีปุตฺต อยู่ เมื่อเป็นทีฆะ ข้างหน้าจะมี สพฺรหฺมจารี
               เมื่อใดข้างหน้ามี สารีปุตฺต เมื่อนั้นจะมีเนื้อความว่า ดูก่อนเพื่อนพรหมจารี ท่านพระสารีบุตรให้เราทั้งหลายออกจากอกุศลแล้ว.
               เมื่อใดมี สพฺรหฺมจารี อยู่ข้างหน้า เมื่อนั้นจะมีเนื้อความว่า ท่านพระสารีบุตรให้เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายออกจากอกุศลแล้ว (ดำรงอยู่ในธรรม).
               บทว่า ทหโร คือ ยังรุ่น.
               บทว่า ยุวา คือ อยู่ในวัยหนุ่มสาว.
               บทว่า มณฺฑนกชาติโก (ชอบแต่งตัว) หมายความว่า มีสภาพชอบเครื่องแต่งตัว (ปกติชอบแต่งตัว).
               บรรดาทั้ง ๒ ประเภทนั้น บางคนถึงจะรุ่น แต่ก็ยังไม่เป็นหนุ่มเป็นสาวเหมือนคนหนุ่มสาว. แต่บางคนถึงจะเป็นหนุ่มเป็นสาว ก็ไม่ชอบแต่งตัวเหมือนผู้ที่มีความสงบเป็นสภาพ หรือถูกความเกียจคร้าน หรือความเสื่อมครอบงำ ส่วนในที่นี้ประสงค์เอาคนทั้งยังรุ่นทั้งเป็นหนุ่มเป็นสาวและชอบแต่งตัว. เพราะฉะนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงกล่าวไว้อย่างนี้.
               คำว่า ถือตัว เป็นต้น ท่านกล่าวไว้ เพราะเป็นสมมติของโลก.
               บทว่า อิติห เต เท่ากับ เอวํ เต (แปลว่าด้วยประการดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ท่านทั้ง ๒ นั้น).
               บทว่า อุโภ มหานาคา (ท่านมหานาคทั้งคู่) หมายถึง ผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง ๒ องค์. เพราะว่าท่านอัครสาวกทั้ง ๒ องค์นี้ พุทธบริษัททั้งหลายเรียกว่า มหานาค.
               ในคำว่า มหานาค นั้นมีอรรถพจน์ดังต่อไปนี้
               ผู้ไม่ลำเอียงด้วยอคติทั้งหลายมีฉันทาคติเป็นต้น ชื่อนาคะ.
               ผู้ไม่กลับมาสู่กิเลสที่ละได้ด้วยมรรคนั้นๆ แล้ว ชื่อว่านาคะ.
               ผู้ไม่ทำบาป (ความชั่วที่เป็นเหตุให้กลับมา) มีประการต่างๆ ชื่อว่านาคะ.
               นี้เป็นเนื้อความสังเขปในคำว่า นาคะ. ส่วนความพิสดารพึงทราบตามนัยที่ได้กล่าวไว้ในมหานิเทสนั้นเทอญ.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบเนื้อความในกถานี้อย่างนี้ว่า
               ผู้ไม่ทำบาปอะไรไว้เลยในโลก สลัดกิเลสเครื่องประกอบสัตว์
               ไว้ในภพทุกอย่าง และเครื่องผูกทั้งหลายได้ ไม่ข้องอยู่ในภพ
               ทั้งมวล เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว ผู้คงที่ ท่านเรียกว่า นาคะ เพราะ
               ความเป็นอย่างนั้น.

               นาคใหญ่ ชื่อมหานาคะ. อธิบายว่า มหานาคนั้น ควรบูชากว่าและควรสรรเสริญกว่านาคผู้ขีณาสพเหล่าอื่น.
               บทว่า อญฺญมญฺญสฺส (ของกันและกัน) ความว่า องค์หนึ่งชมเชยอีกองค์หนึ่ง.
               บทว่า สมนุโมทึสุ (อนุโมทนาพร้อม) ตัดบทเป็น สมํ อนุโมทึสุ แปลว่า อนุโมทนาเท่าๆ กัน.
               ในคำอนุโมทนานั้น พระธรรมเสนาบดีกล่าวว่า พระมหาโมคคัลลานะ อนุโมทนาด้วยอุปมานี้ว่า ท่านครับ ข้อนั้นจงแจ่มแจ้ง. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระเถระทั้ง ๒ อนุโมทนาคำสุภาษิตของกันและกัน.

               จบอรรถกถาอนังคณสูตร               
               จบพระสูตรที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค อนังคณสูตร ว่าด้วยผู้ไม่มีกิเลส จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 27อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 53อ่านอรรถกถา 12 / 73อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=752&Z=1023&bgc=lavender
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=3790
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=3790
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :