ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 13 / 18อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหบดีวรรค
กันทรกสูตร เรื่องประทานพระโอวาทแก่กันทรกปริพาชก

               ปปัญจสูทนี               
               อรรถกถามัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์               
               อรรถกถาคหปติวรรค               
               ๑. อรรถกถากันทรกสูตร               
               กันทรกสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า จมฺปายํ คือ ในนครมีชื่ออย่างนั้น เพราะนครนั้นได้มีต้นจำปาขึ้นหนาแน่นในที่นั้นๆ มีสวนและสระโบกขรณีเป็นต้น ฉะนั้น จึงได้ชื่อว่านครจัมปา.
               บทว่า คคฺคราย โปกฺขรณิยา ตีเร ณ ฝั่งสระโบกขรณี ชื่อว่าคัคครา คือ ณ ที่ไม่ไกลนครจัมปานั้นมีสระโบกขรณี ชื่อว่าคัคครา เพราะพระราชมเหสีพระนามว่า คัคครา ทรงขุดไว้. ณ ฝั่งสระโบกขรณีนั้นมีสวนจำปาขนาดใหญ่ประดับด้วยดอกมี ๕ สีมีสีเขียวเป็นต้นโดยรอบ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ สวนจำปาอันมีกลิ่นดอกไม้หอมนั้น. พระอานนทเถระหมายถึงสวนจำปานั้นจึงกล่าวว่า คคฺคราย โปกฺขรณิยา ตีเร ดังนี้.
               บทว่า มหตา ภิกฺขุสงฺเฆน สทฺธึ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ คือพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่มิได้กำหนดจำนวนไว้.
               บทว่า เปสฺโส เป็นชื่อของบุตรนายหัตถาจารย์นั้น.
               บทว่า หตฺถาโรหปุตฺโต คือ บุตรของนายหัตถาจารย์ (ควาญช้าง).
               บทว่า กนฺทรโก ปริพฺพาชโก คือ ปริพาชกผู้นุ่งผ้าจึงมีชื่ออย่างนี้ว่า กันทรกะ.
               บทว่า อภิวาเทตฺวา คือ เป็นผู้เสมือนเข้าไปในระหว่างพระพุทธรัศมีหนาทึบประกอบด้วยวรรณะ ๖ ประการ แล้วดำลงในน้ำครั่งใสสะอาด หรือเสมือนคลี่ผ้าซึ่งมีสีดังสีทองคลุมลงบนศีรษะ หรือสวมศีรษะด้วยเครื่องประดับทำด้วยดอกจำปาซึ่งถึงพร้อมด้วยสีและกลิ่น หรือว่าเสมือนพระจันทร์วันเพ็ญซึ่งโคจรเข้าไปยังเชิงภูเขาสิเนรุ ฉะนั้น แล้วถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าอันประกอบด้วยพระสิริ ดังดอกจำปาสีสดกำลังบาน อันประดับด้วยจักรลักษณะ.
               บทว่า เอกมนฺตํ นิสีทิ คือ นั่งในโอกาสหนึ่งอันเว้นโทษของการนั่ง ๖ ประการ.
               บทว่า ตุณฺหีภูตํ ตุณฺหีภูตํ คือ เหลียวดูภิกษุสงฆ์นั่งนิ่งเงียบ. เพราะ ณ ที่นั้นภิกษุแม้รูปหนึ่งก็มิได้มีความรำคาญด้วยมือและเท้า. ภิกษุทุกรูปมิได้คุยกัน ด้วยความเคารพแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า และเพราะตนได้รับการศึกษาแล้วเป็นอย่างดี โดยที่สุดไม่ทำแม้เสียงไอ แม้กายก็ไม่ไหว แม้ใจก็ไม่ฟุ้งซ่าน ดุจเสาเขื่อนที่ฝั่งไว้อย่างดี ดุจน้ำในมหาสมุทรสงบเงียบในที่ที่ไม่มีลม นั่งล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าดุจรัตตวลาหกล้อมยอดภูเขาสิเนรุฉะนั้น.
               ปีติและโสมนัสอันยิ่งใหญ่ได้เกิดแก่ปริพาชกเพราะเห็นบริษัทสงบเงียบอย่างนั้น. ก็แลปริพาชกไม่อาจสงบปีติโสมนัสอันเกิดแล้วในภายในหทัยให้เงียบอยู่ได้ จึงเปล่งวาจาอันน่ารัก กล่าวคำมีอาทิว่า อจฺฉริยํ โภ โคตม น่าอัศจรรย์ พระโคดมผู้เจริญ.
               ชื่อว่าอัจฉริยะ น่าอัศจรรย์ เพราะย่อมไม่มีเป็นนิจดุจคนตาบอดขึ้นภูเขาได้ฉะนั้น. พึงทราบว่า นี้เป็นตันตินัย (แบบแผน, ประเพณี) ไว้ก่อน.
               ส่วนอรรถกถานัยพึงทราบดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่า อจฺฉริยํ เพราะประกอบแก่นิ้วมือ. อธิบายว่า ควรประกอบการดีดนิ้วมือ.
               ชื่อว่า อพฺภูตํ เพราะไม่เคยมีมาก่อน. แม้ทั้งสองบทก็อย่างเดียวกัน.
               บทว่า อพฺภูตํ นี้เป็นชื่อของการนำมาซึ่งความพิศวง.
               ส่วนบทว่า อจฺฉริยํ นี้นั้นมี ๒ อย่างคือ ครหอัจฉริยะ (อัศจรรย์ในการติเตียน) ๑ ปสังสาอัจฉริยะ (อัศจรรย์ในการสรรเสริญ) ๑.
               ในอัจฉริยะทั้งสองนั้น พระพุทธดำรัสว่า๑- ดูก่อนโมคคัลลานะ น่าอัศจรรย์ ดูก่อนโมคคัลลานะ ไม่เคยมี โมฆบุรุษนั้นจักมาหา ก็ต่อเมื่อจับแขนมา.
               นี้ชื่อว่าครหอัจฉริยะ.
               ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า๒- ดูก่อนนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูก่อนนันทมารดา ไม่เคยมี แม้จิตตุปบาทก็ชำระให้บริสุทธิ์ได้.
               นี้ชื่อว่าปสังสาอัจฉริยะ.
               ในที่นี้ท่านประสงค์เอาปสังสาอัจฉริยะนี้แหละ. เพราะปริพาชกนี้เมื่อสรรเสริญจึงกล่าวอย่างนี้.
____________________________
๑- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๔๔๘   องฺ. อฏฺฐก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๑๑๐
๒- องฺ. สตฺตก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๕๐

               บทว่า อิทํ ในบทว่า ยาวญฺจิทํ นี้เป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า ยาว กำหนดประมาณ คือ ทรงให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบเป็นอย่างยิ่ง.
               ท่านอธิบายว่า ไม่สามารถจะพรรณนาถึงประมาณที่ให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบ นี้จึงน่าอัศจรรย์ นี้จึงไม่เคยมีโดยแท้แล.
               บทว่า เอตปรมํเยว ชื่อว่า เอตปรโม เพราะให้ภิกษุสงฆ์นั้นปฏิบัติชอบอย่างนั้น เป็นอย่างยิ่งของภิกษุแม้นั้น. ชื่อว่าปฏิบัติชอบเป็นอย่างยิ่งเพียงเท่านี้.
               อธิบายว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเคยให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติฉันใด ก็ทำให้ภิกษุสงฆ์นี้ปฏิบัติเหมือนกันฉันนั้นไม่ยิ่งไปกว่านี้.
               ในนัยที่ ๒ พึงประกอบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจักให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติอย่างนี้ไม่ให้ยิ่งไปกว่านี้.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า ปฏิปาทิโต ให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติคือให้ประกอบในข้อปฏิบัติอันไม่เป็นข้าศึกโดยชอบ เพราะทำอภิสมาจาริกวัตรให้เป็นเบื้องต้น.
               ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ปริพาชกนี้จึงอ้างถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตและอนาคตเล่า. ปริพาชกนั้นมีญาณกำหนดรู้กาลทั้ง ๓ หรือ.
               ตอบว่า ไม่มีแม้ในการถือเอานัย.
               บทว่า นิปกา มีปัญญาเฉลียวฉลาด คือ ภิกษุทั้งหลายมีปัญญาประกอบด้วยความเฉลียวฉลาด มีปัญญา เลี้ยงชีพด้วยปัญญา สำเร็จการเลี้ยงชีวิต เพราะตั้งอยู่ในปัญญา เหมือนอย่างภิกษุบางรูปแม้บวชในศาสนา เที่ยวไปในอโคจร ๖ เพราะเหตุแห่งชีวิต เที่ยวไปหาหญิงแพศยา เที่ยวไปหาหญิงหม้าย หญิงสาวเทื้อ บัณเฑาะก์ โรงสุราและภิกษุณี คลุกคลีกับพระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ คลุกคลีกับคฤหัสถ์อันไม่สมควร๓- สำเร็จการเลี้ยงชีวิตด้วยการแสวงหาอันไม่สมควร ๒๑ อย่าง คือทำเวชกรรม ทำทูตกรรม ทำการส่งข่าว ผ่าฝี ให้ยาพอกฝี ให้ยาระบายอย่างแรง ให้ยาระบายอย่างอ่อน หุงน้ำมันสำหรับนัตถุ์ หุงน้ำมันสำหรับดื่ม ให้ไม้ไผ่ ให้ใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้ น้ำอาบ ไม้สีฟัน น้ำบ้วนปาก ให้ดินผงขัดตัว พูดให้เขารัก พูดทีเล่นทีจริง ช่วยเลี้ยงดูเด็ก ช่วยส่งข่าวสาร ชื่อว่าไม่เลี้ยงชีพด้วยปัญญาเฉลียวฉลาด คือสำเร็จการเลี้ยงชีวิตเพราะไม่ตั้งอยู่ด้วยปัญญา.
____________________________
๓- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๐๔

               จากนั้นครั้นทำกาลกิริยาแล้วก็จะเป็นสมณยักษ์ เสวยทุกข์ใหญ่โดยนัยดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า แม้สังฆาฏิของภิกษุนั้นก็รุ่มร้อนเร้ารุม.
               ภิกษุไม่เป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงสิกขาบทแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ดำรงอยู่ในจตุปาริสุทธิศีล เล่าเรียนพระพุทธพจน์ตามกำลัง บำเพ็ญอริยปฏิปทาเหล่านี้ คือ รถวินีตปฏิปทา มหาโคสิงคปฏิทา มหาสุญญตาปฏิปทา อนังคณปฏิปทา ธรรมทายาทปฏิปทา นาลกปฏิปทา ตุวัฏฏกปฏิปทา จันโทปมปฏิปทา เป็นกายสักขี ในอริยวังสปฏิปทา คือมีความสันโดษด้วยปัจจัย ๔ และมีความยินดีตามความมีอยู่ของตน เป็นผู้อยู่โดดเดี่ยวในการเที่ยวไปเป็นต้น ดุจช้างพ้นจากข้าศึก ดุจสีหะสละจากฝูง และดุจมหานาวา ไม่มีเรือติดตามไปข้างหลัง เริ่มบำเพ็ญวิปัสสนาตั้งความอุตสาหะอยู่ว่า เราจักบรรลุพระอรหัตในวันนี้ให้จงได้.
               บทว่า สุปติฏฺฐิตจิตฺตา มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว คือเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยดีในสติปัฏฐาน ๔. สติปัฏฐานกถาที่เหลือกล่าวไว้พิสดารแล้วในหนหลัง ส่วนในที่นี้ท่านกล่าวถึงสติปัฏฐานเจือกันทั้งโลกิยะและโลกุตตระ. ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นอันท่านกล่าวถึงเหตุที่ภิกษุสงฆ์เข้าไปสงบแล้ว.
               บทว่า ยาว สุปญฺญตฺตา คือ สติปัฏฐาน ๔ พระองค์ทรงตั้งไว้ด้วยดีแล้ว คือทรงแสดงดีแล้ว.
               ด้วยบทว่า มยํปิ หิ ภนฺเต นี้ เปสสะบุตรควาญช้างนั้นแสดงถึงความที่ตนเป็นผู้ทำการงาน และยกภิกษุสงฆ์ขึ้น.
               ในข้อนี้มีอธิบายดังต่อไปนี้.
               ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่จริงแม้พวกข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์นุ่งผ้าขาว ฯลฯ เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นดีแล้วอยู่. การไถ พืช แอก คันไถและผาลไถนานี้มิได้มีแก่ภิกษุสงฆ์ เพราะฉะนั้น ภิกษุสงฆ์จึงมุ่งต่อสติปัฏฐานตลอดกาล. ส่วนพวกข้าพระองค์ได้โอกาสตามกาลสมควรแล้วจึงทำมนสิการนี้. แม้พวกข้าพระองค์จะเป็นผู้ทำการงาน ก็ไม่สละกรรมฐานด้วยประการทั้งปวง.
               บทว่า มนุสฺสคหเน มนุษย์รกชัฏ คือ เพราะถือเอาความรกชัฏของอัธยาศัยแห่งมนุษย์ทั้งหลาย. พึงทราบว่าความที่ถือเอาแม้อัธยาศัยของมนุษย์เหล่านั้นด้วยความรกชัฏด้วยกิเลส. แม้ในอัธยาศัยเดนกากและอัธยาศัยโอ้อวดก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ในอัธยาศัยเหล่านั้น พึงทราบความที่อัธยาศัยชื่อว่าเดนกาก เพราะอรรถว่าไม่บริสุทธิ์. อัธยาศัยชื่อว่าโอ้อวด เพราะอรรถว่าหลอกลวง.
               บทว่า สตฺตานํ หิตาหิตํ ชานาติ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงรู้ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย คือพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของมนุษย์ทั้งหลายด้วยดี เหมือนอย่างทรงทราบรกชัฏ เดนกากและความหลอกลวงของมนุษย์ฉะนั้น.
               ในบทว่า ยทิทํ ปสโว นี้ท่านประสงค์เอาสัตว์ ๒ เท้าแม้ทั้งหมด.
               บทว่า ปโหมิ คือ สามารถ.
               บทว่า ยาวตฺตเกน อนฺตเรน โดยระหว่างประมาณเท่าใด คือโดยขณะเท่าไร.
               บทว่า จมฺปํ คตาคตํ กริสฺสติ จักทำนครจัมปาให้เป็นที่ไปมาคือจักทำการไปและการมาตั้งแต่โรงม้าจนถึงประตูนครเมืองจัมปา.
               บทว่า สาเฐยฺยานิ คือ ความเป็นผู้โอ้อวด.
               บทว่า กูเฏยฺยานิ คือ ความเป็นผู้โกง.
               บทว่า วงฺเกยฺยานิ คือ ความเป็นผู้คด.
               บทว่า ชิมฺเหยฺยานิ คือ ความเป็นผู้งอ.
               บทว่า ปาตุกริสฺสติ จักทำให้ปรากฏ คือจักประกาศ จักแสดง. เพราะไม่สามารถเพื่อจะแสดงความโอ้อวดเป็นต้นเหล่านั้น โดยระหว่างประมาณเท่านี้ได้.
               พึงทราบวินิจฉัยในความโอ้อวดเป็นต้นดังต่อไปนี้
               เมื่อภิกษุสงฆ์จะยืนอยู่ในที่ไหนๆ ทั้งๆ เป็นที่ไม่มีภัยเฉพาะหน้าของมนุษย์ คิดว่าเราจักไปข้างหน้าแล้วยืนลวง จึงไปยืนทำเป็นไม่เคลื่อนไหว เหมือนเสาที่ฝังไว้ในที่ที่ประสงค์จะตั้งไว้ ภิกษุนี้ชื่อว่าโอ้อวด.
               เมื่อภิกษุประสงค์จะกั้นในที่ไหนๆ แล้วก้มลำตัวขวางไว้ทั้งๆ ที่เป็นที่ไม่มีภัยเฉพาะหน้าของมนุษย์ทั้งหลาย คิดว่าเราจักไปข้างหน้าแล้วก้มลวง จึงก้มตัวลวงในที่นั้น ภิกษุนี้ชื่อว่าโกง.
               เมื่อภิกษุประสงค์จะหลีกจากทางในที่ไหนๆ แล้วกลับเดินสวนทางทั้งๆ เป็นที่ไม่มีภัยเฉพาะหน้าของมนุษย์ทั้งหลาย คิดว่าเราจักไปข้างหน้าแล้วลวงทำอย่างนี้ จึงหลีกจากทางในที่นั้นแล้วกลับเดินสวนทาง ภิกษุนี้ชื่อว่าคด.
               เมื่อภิกษุประสงค์จะไปตามทางตรงตามเวลา จากซ้ายตามเวลา จากขวาตามเวลา ทั้งๆ เป็นที่ไม่มีภัยเฉพาะหน้าของมนุษย์ทั้งหลาย คิดว่าเราจักไปข้างหน้าแล้วลวงทำอย่างนี้ จึงไปทางตรงตามเวลา จากซ้ายตามเวลา จากขวาตามเวลาในที่นั้น.
               อนึ่ง ที่นี้เขากวาดไว้เตียน จอแจด้วยมนุษย์ น่ารื่นรมย์ไม่ควรทำกรรมเห็นปานนี้ในที่นี้ ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้ประสงค์จะถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ด้วยคิดว่าเราจักไปข้างหน้าแล้วทำในที่ที่ปกปิด จึงทำในที่นั้น ภิกษุนี้ชื่อว่างอ.
               ท่านกล่าวไว้ดังนี้ หมายถึงกิริยาแม้ ๔ อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ช้างนั้นจักทำความโอ้อวด ความโกง ความคด ความงอเหล่านั้นทั้งหมดให้ปรากฏได้. สัณฐานเป็นต้นเหล่านั้นแม้ทำอยู่อย่างนี้ ก็ชื่อว่าย่อมทำความโอ้อวดเป็นต้นเหล่านั้นให้ปรากฏ.
               ครั้งนายเปสสะบุตรควาญช้างแสดงความที่สัตว์ทั้งหลายเป็นสิ่งที่ตื้น บัดนี้ เมื่อจะแสดงความที่มนุษย์ทั้งหลายเป็นสิ่งที่รกชัฏจึงกราบทูลบทมีอาทิว่า อมฺหากํ ปน ภนฺเต.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ทาสา ได้แก่ ทาสเกิดภายใน ทาสไถ่มาด้วยทรัพย์ ทาสเป็นเชลยหรือถึงความเป็นทาสรับใช้.
               บทว่า เปสฺสา คือ คนรับใช้.
               บทว่า กมฺมกรา คือ คนเลี้ยงชีวิตด้วยอาหารและค่าจ้าง.
               บทว่า อญฺญตา จ กาเยน ด้วยกายเป็นอย่างหนึ่ง.
               ท่านแสดงว่า ทาสเป็นต้นย่อมประพฤติด้วยกายโดยอาการอย่างหนึ่ง ด้วยวาจาโดยอาการอย่างหนึ่ง และจิตของทาสเป็นต้นเหล่านั้นย่อมตั้งอยู่โดยอาการอย่างหนึ่ง.
               ในทาสเหล่านั้น ทาสใดเห็นนายเฉพาะหน้าแล้วลุกขึ้นต้อนรับ รับของจากมือ ปล่อยสิ่งนี้ถือเอาสิ่งนี้ ทำกิจทั้งหมดแม้ที่เหลือมีปูที่นั่ง พัดและล้างเท้าเป็นต้น แต่พอลับหลัง แม้น้ำมันไหลก็ไม่เหลียวแล การงานแม้ขาดทุนตั้งร้อยตั้งพันเสียหายไป ก็ไม่ปรารถนาจะกลับมาเหลียวแล ทาสเหล่านี้ชื่อว่าประพฤติด้วยกายอย่างอื่น.
               อนึ่ง ทาสเหล่าใดต่อหน้าพูดสรรเสริญเป็นต้นว่าเขาเป็นเจ้านายของฉัน พอลับหลัง คำที่พูดไม่ได้ไม่มีเลย ย่อมพูดคำที่ต้องการพูด ทาสเหล่านี้ชื่อว่าประพฤติด้วยวาจาอย่างหนึ่ง.
               บทว่า จตฺตาโรเม เปสฺส ปุคฺคลา ดูก่อนเปสสะ บุคคล ๔ จำพวกเหล่านี้มีอยู่ แม้บุคคลนี้ก็เป็นการสืบต่อเฉพาะตัว.
               เปสสะนี้กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์รกชัฏเป็นไปอยู่อย่างนี้ ในเมื่อมนุษย์เดนกากเป็นไปอยู่อย่างนี้ ในเมื่อมนุษย์โอ้อวดเป็นไปอยู่อย่างนี้.
               บุคคล ๓ จำพวกก่อนเป็นผู้ปฏิบัติปฏิปทาไม่เป็นประโยชน์ บุคคลจำพวกที่ ๔ เป็นผู้ปฏิบัติเป็นประโยชน์ พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทรงแสดงว่า เรารู้ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลายอย่างนี้ จึงทรงปรารภเทศนานี้.
               แม้การประกอบกับถ้อยคำของกันทรกปริพาชกในหนหลังก็ควร.
               ด้วยเหตุนี้ กันทรกปริพาชกจึงกล่าวว่า ท่านพระโคดมผู้เจริญ เพียงเท่านี้ ท่านพระโคดม ชื่อว่าทรงให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบแล้วดังนี้.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เมื่อทรงแสดงแก่นายเปสสะนั้นว่า เราเว้นบุคคล ๓ จำพวกก่อนแล้วให้บุคคลจำพวกที่ ๔ เบื้องบนปฏิบัติในปฏิปทาเป็นประโยชน์นั่นแหละ จึงทรงปรารภเทศนานี้.
               บทว่า สนฺโต นี้เป็นไวพจน์ของบทว่า สํวิชฺชมานา มีอยู่.
               จริงอยู่ ความดับสนิทในบทนี้ว่า สนฺตา โหนฺติ สมิตา วูปสนฺตา๔- ท่านกล่าวว่า สนฺตา สงบแล้ว.
               ท่านกล่าวว่า นิพฺพุตา ดับแล้วในบทนี้ว่า สนฺตา เอเต วิหารา อริยสฺส วินเย วุจฺจนฺติ ท่านกล่าววิหารเหล่านี้สงบในวินัยของพระอริยะ.๕-
               ท่านกล่าวว่า บัณฑิต ในบทนี้ว่า สนฺโต หเว สพฺภิ ปเวทยนฺติ๖- สัตบุรุษทั้งหลายย่อมประกาศด้วยความเป็นสัตบุรุษ บัณฑิตทั้งหลายมีอยู่ในโลกนี้. อธิบายว่า พอหาได้.
____________________________
๔- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๔๔๐   ๕- ม.ม. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๐๓   ๖- ขุ.ชา. เล่ม ๒๘/ข้อ ๓๔๒

               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า
               ทำตนให้เดือดร้อนชื่อว่า อตฺตนฺตโป เพราะทำตนให้เดือดร้อน ให้ถึงทุกข์. ประกอบการขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน ชื่อว่า อตฺตปริตาปนานุโยคํ.
               ชื่อว่า ปรนฺตโป เพราะทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ให้ถึงทุกข์. ประกอบการขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ชื่อว่า ปรปริตาปนานุโยคํ.
               บทว่า ทิฏฺเฐว ธมฺเม คือ ในอัตภาพนี้แหละ.
               บทว่า นิจฺฉาโต ไม่มีความหิว ตัณหาท่านเรียกว่า ฉาต.
               ชื่อว่า นิจฺฉาโต เพราะไม่มีความอยาก.
               ชื่อว่า นิพฺพุโต เพราะดับกิเลสได้ทั้งหมด.
               ชื่อว่า สีติภูโต เพราะเป็นผู้เย็นเพราะไม่มีกิเลสอันทำให้เดือดร้อนในภายใน.
               ชื่อว่า สุขปฏิสํเวที เพราะเสวยสุขเกิดแต่ฌาน มรรคผลและนิพพาน.
               บทว่า พฺรหฺมภูเตน อตฺตนา มีตนเป็นดังพรหม คือมีตนประเสริฐ.
               บทว่า จิตฺตํ อาราเธติ ยังจิตให้ยินดี คือยังจิตให้ถึงพร้อม ให้บริบูรณ์. อธิบายว่า ให้เลื่อมใส.
               บทว่า ทุกฺขปฏิกฺกูลํ เกลียดทุกข์ คือทุกข์เป็นสิ่งน่าเกลียดตั้งอยู่ในความเป็นข้าศึก. อธิบายว่า ไม่ปรารถนาทุกข์.
               ในบทว่า ปณฺฑิโต นี้ ไม่ควรกล่าวว่าเป็นบัณฑิตด้วยเหตุ ๔ ประการ. แต่ควรกล่าวว่าเป็นบัณฑิตเพราะทำกรรมในสติปัฏฐาน แม้บทนี้ว่า มหาปญฺโญ ก็ไม่ควรกล่าวด้วยลักษณะของมหาปัญญาด้วยบทมีอาทิว่า มหนฺเต อตฺเถ ปริคณฺหติ ถือเอาประโยชน์ใหญ่. แต่ควรกล่าวว่าเป็นผู้มีปัญญามากเพราะประกอบด้วยปัญญากำหนดถือเอาสติปัฏฐาน.
               บทว่า มหตา อตฺเถน สํยุตฺโต อภวิสฺส เขาจักเป็นผู้ประกอบด้วยประโยชน์ใหญ่ คือพึงเป็นผู้ประกอบ เป็นผู้ถึงด้วยประโยชน์ใหญ่. ความว่า พึงบรรลุโสดาปัตติผล.
               ถามว่า ก็แม้เมื่อตั้งอยู่เฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะมีอันตรายแก่มรรคผลหรือ.
               ตอบว่า มีซิ. แต่มิได้มีเพราะอาศัยพระพุทธเจ้าทั้งหลาย. โดยที่แท้ย่อมมีได้ เพราะความเสื่อมของกิริยาหรือเพราะปาปมิตร.
               ในอันตรายทั้งสองนั้น ชื่อว่าย่อมมีเพราะความเสื่อมของกิริยาดังต่อไปนี้.
               หากว่า พระธรรมเสนาบดีรู้อัธยาศัยของธนัญชานิยพราหมณ์แล้ว ได้แสดงธรรม พราหมณ์นั้นจักได้เป็นพระโสดาบัน. อย่างนี้ชื่อว่าย่อมมี เพราะความเสื่อมแห่งกิริยา.
               ชื่อว่าย่อมมี เพราะปาปมิตร มีอธิบายดังนี้.
               หากว่าพระเจ้าอชาตศัตรูเชื่อคำของเทวทัตแล้วไม่ทำปิตุฆาต. พระเจ้าอชาตศัตรูจักได้เป็นโสดาบันในวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสามัญญผลสูตรนั่นเอง. แต่เพราะพระเจ้าอชาตศัตรูเชื่อคำของเทวทัตนั้นแล้วทำปิตุฆาต จึงไม่ได้เป็นโสดาบัน. อย่างนี้ชื่อว่าอันตรายย่อมมีเพราะปาปมิตร.
               ความเสื่อมแห่งกิริยาเกิดแก่อุบาสกแม้นี้ เมื่อเทศนายังไม่จบพราหมณ์ลุกหลีกไปเสีย.
               บทว่า อปิจ ภิกฺขเว เอตฺตาวตาปิ เปสฺโส หตฺถาโรหปุตฺโต มหตา อตฺเถน สํยุตฺโต อนึ่ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ด้วยการฟังโดยสังเขปเพียงเท่านี้ นายเปสสะควาญช้างยังประกอบด้วยประโยชน์ใหญ่.
               ถามว่า ด้วยประโยชน์ใหญ่เป็นไฉน.
               ตอบว่า คือด้วยอานิสงส์ ๒ ประการ.
               นัยว่า อุบาสกเลื่อมใสในพระสงฆ์ และนัยใหม่ยิ่งเกิดแก่อุบาสกนั้นเพื่อกำหนดถือเอาสติปัฏฐาน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มหตา อตฺเถน สํยุตฺโต เป็นผู้ประกอบด้วยประโยชน์ใหญ่.
               กันทรกปริพาชกได้ความเลื่อมใสในพระสงฆ์เท่านั้น.
               บทว่า เอตสฺส ภควา กาโล ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า นี้เป็นกาลแห่งการแสดงธรรมนั้น. ความว่า นี้เป็นกาลแห่งการกล่าวธรรม หรือว่าแห่งการจำแนกบุคคล ๔ จำพวก.
               พึงทราบความในบทมีอาทิ โอรพฺภิโก ฆ่าแพะเลี้ยงชีวิตดังต่อไปนี้
               แพะท่านเรียกว่า อุรพฺภะ ชื่อว่า โอรพฺภิโก เพราะฆ่าแพะ.
               แม้ในบทมีอาทิว่า สูกริโก ฆ่าสุกรเลี้ยงชีวิตก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ลุทฺโท คือ เหี้ยมโหดหยาบคาย.
               บทว่า มจฺฉฆาฏโก คือ พรานเบ็ดผู้ผูกปลา.
               บทว่า พนฺธนาคาริโก คือ คนปกครองเรือนจำ.
               บทว่า กุรูรกมฺมนฺตา คือ ทำการงานทารุณ.
               บทว่า มุทฺธาวสิตฺโต คือ พระราชาได้รับมุรธาภิเษกด้วยการอภิเษกเป็นกษัตริย์.
               บทว่า ปุรตฺถิเมน นครสฺส คือ ทางทิศบูรพาจากพระนคร.
               บทว่า สนฺถาคารํ คือ โรงบูชายัญ.
               บทว่า ขราชินํ นิวาเสตฺวา คือ ทรงนุ่งหนังเสือทั้งเล็บ.
               บทว่า สปฺปิเตเลน ด้วยเนยใสและน้ำมัน. น้ำมันอย่างใดอย่างหนึ่งที่เหลือเว้นเนยใส ท่านเรียกว่า เตลํ น้ำมัน.
               บทว่า กณฺฑวมาโน ทรงเกา คือทรงเกาด้วยเขาในเวลาที่ต้องเกาเพราะเล็บกุด.
               บทว่า อนนฺตรหิตาย คือ มิได้ลาดด้วยเครื่องลาด.
               บทว่า สรูปวจฺฉาย แห่งโคผู้มีรูปเช่นเดียวกับแม่โค คือถ้าแม่โคขาว ลูกโคก็ขาวด้วย ถ้าแม่โคด่างหรือแดง ลูกโคก็เป็นเช่นนั้นด้วย เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า สรูปวจฺฉา ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า โส เอวมาห พระราชานั้นตรัสอย่างนี้.
               บทว่า วจฺฉตรา ลูกโคมีกำลังผู้ถึงความมีกำลังเกินความเป็นลูกโคหนุ่ม.
               แม้ในบทว่า วจฺฉตรี ลูกโคเมียก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ปริสณฺฐาย เพื่อลาดพื้นคือเพื่อต้องการทำเครื่องล้อม และเพื่อต้องการลาดบนพื้นบูชายัญ.
               บทที่เหลือง่ายทั้งนั้น เพราะกล่าวไว้พิสดารแล้วในบทนั้นๆ ในหนหลัง.

               จบอรรถกถากันทรกสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหบดีวรรค กันทรกสูตร เรื่องประทานพระโอวาทแก่กันทรกปริพาชก จบ.
อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 13 / 18อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=1&Z=302
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :