ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 186อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 195อ่านอรรถกถา 13 / 203อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภิกขุวรรค
นฬกปานสูตร เรื่องกุลบุตรผู้มีชื่อเสียงบวช

               ๘. อรรถกถานฬกปานสูตร               
               นฬกปานสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.
               ในบรรดาบทเหล่านั้นบทว่า นฬกปาเน คือ ใกล้บ้านมีชื่ออย่างนี้.
               มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งก่อนพระโพธิสัตว์อุบัติในกำเนิดวานรมีร่างกายใหญ่ เป็นพญาวานร มีวานรหลายพันเป็นบริวารเที่ยวไปที่เชิงภูเขา. พญาวานรมีบุญและมีปัญญามากสั่งสอนบริวารว่า นี่แน่เจ้าทั้งหลาย ที่เชิงภูเขานี้มีผลไม้เป็นพิษ. ชื่อว่าสระโบกขรณีก็มีอมนุษย์หวงแหน. พวกเจ้าจงกินผลไม้เฉพาะที่เคยกินเท่านั้น. ดื่มน้ำเฉพาะที่เคยดื่ม. ในข้อนี้ไม่มีกิจที่พวกเจ้าจะต้องถามเรา. อนึ่ง พวกเจ้ายังไม่ถามถึงผลไม้ที่ไม่เคยกิน น้ำที่ไม่เคยดื่มกะเราแล้วจงอย่ากิน อย่าดื่ม.
               วันหนึ่งวานรเหล่านั้นเที่ยวหาอาหารไปถึงเชิงภูเขาแห่งหนึ่งตรวจดูน้ำดื่ม เห็นสระโบกขรณีมีอมนุษย์หวงแหนสระหนึ่ง จึงไม่รีบดื่ม นั่งล้อมอยู่โดยรอบรอคอยมหาสัตว์มา.
               มหาสัตว์มาแล้วถามว่า ทำไมพวกเจ้าไม่ดื่มน้ำกันเล่า. พวกวานรตอบว่า รอคอยท่านมาก่อน. พญาวานรกล่าวว่าดีแล้ว เจ้าทั้งหลาย แล้วสำรวจดูรอยเท้า ได้เห็นแต่รอยเท้าลงเท่านั้นไม่เห็นรอยเท้าขึ้นเลย จึงได้รู้ว่ามีอันตราย.
               ทันใดนั้นเอง อมนุษย์ที่เกิด ณ สระนั้น ได้ยืนแยกน้ำออกเป็นสองข้าง. รากษสน้ำมีหน้าแดงท้องเขียว มือเท้าแดง เขี้ยวใหญ่ เท้าคด รูปร่างน่าเกลียด กล่าวว่า เพราะเหตุไรพวกเจ้าจึงไม่ดื่มน้ำเล่า น้ำอร่อยจงดื่มซิ พวกเจ้าเชื่อคำของพญาวานรนั้นหรือ.
               มหาสัตว์ถามว่า เจ้าเป็นอมนุษย์สิงอยู่ในสระนี้หรือ. ยักษ์บอกว่า ถูกแล้วเราสิงอยู่ในสระนี้. มหาสัตว์ถามว่า ท่านจับผู้ที่ลงในสระนี้หรือ. ยักษ์ตอบว่า ถูกแล้วเราจักกินท่านทั้งหมด. มหาสัตว์พูดว่า ดูก่อนยักษ์ ท่านไม่อาจกินพวกเราได้ดอก. ยักษ์ถามว่า ก็พวกท่านจักดื่มน้ำหรือ. มหาสัตว์ตอบว่า ถูกแล้วเราจักดื่ม. ยักษ์กล่าวว่า เมื่อเป็นอย่างนั้นแม้ตัวเดียวก็จักไม่พ้นเราไปได้.
               พญาวานรกล่าวว่า เราจักดื่มน้ำและจักไม่ไปสู่อำนาจของท่านดังนี้แล้วจึงให้วานรนำไม้อ้อลำหนึ่งมา จับที่ปลายแล้วเป่าไป. ไม้อ้อได้เป็นช่องเดียวตลอด. พญาวานรนั่งบนฝั่งดื่มน้ำ. พญาวานรได้ให้วานรที่เหลือนำไม้อ้อมาเฉพาะตัว เป่าแล้วส่งให้.
               เมื่อยักษ์แลดูอยู่นั่นเอง วานรทุกตัวก็ได้ดื่มน้ำ ดังที่พญาวานรกล่าวไว้ว่า
                         เราไม่เห็นรอยเท้าขึ้น เห็นแต่รอยเท้าลง
                         เราจักดื่มน้ำด้วยไม้อ้อ ท่านจักฆ่าเราไม่ได้.
               ตั้งแต่นั้นมา ไม้อ้อทั้งหลายในที่นั้นก็มีช่องเดียวจนกระทั่งทุกวันนี้.
               ในกัปนี้พร้อมกับไม้อ้อนี้จักมีชื่อว่าสิ่งที่ตั้งอยู่ตลอด ปาฏิหาริยกัปมี ๔ อย่างคือ
                         ภาพกระต่ายบนดวงจันทร์ ๑
                         การที่ไฟดับในที่ทำสัจกิริยาในวัฏฏกชาดก
                         การที่ฝนไม่ตกในที่อยู่ของมารดาบิดาของช่างหม้อชื่อว่า ฆฏิการะ
                         ความที่ไม้อ้อบนฝั่งสระโบกขรณีนั้นมีช่องเดียวตลอด
               ด้วยประการนี้ สระโบกขรณีนั้นจึงได้ชื่อว่านฬกปานะ เพราะวานรดื่มน้ำด้วยไม้อ้อ.
               ครั้นต่อมา บ้านตั้งขึ้นเพราะอาศัยสระโบกขรณีนั้น บ้านนั้นจึงได้ชื่อว่านฬกปานะ. ท่านกล่าวว่า นฬกปาเน เพราะหมายถึงบ้านนั้น.
               บทว่า ปลาสวเน คือ ในป่าไม้ทองกวาว.
               บทว่า ตคฺฆ มยํ ภนฺเต คือ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์โดยส่วนเดียวเท่านั้น. ท่านแสดงว่า ภิกษุเหล่าใดแม้อื่นยินดีแล้ว ย่อมยินดีในคำสอนของท่าน ภิกษุเหล่านั้นเป็นเช่นกับพวกเรา ย่อมยินดียิ่ง.
               พึงทราบความในบทมีอาทิว่า เนว ราชาภินีตา มิใช่ผู้ทำความผิดต่อพระราชาดังต่อไปนี้.
               คนหนึ่งทำความผิดต่อพระราชาแล้วหนีไป. พระราชาตรัสถามว่า คนชื่อโน้นไปไหน. กราบทูลว่า หนีไปแล้ว พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสว่า เขาจักไม่พ้นเราแม้ในที่ที่หนีไป แต่หากว่า เขาพึงบวชก็จะพึงพ้นได้. คนใจดีคนหนึ่งไปบอกข่าวนั้นแก่เขาว่า หากท่านปรารถนาชีวิตท่านจงบวชเถิด. เขาบวชแล้วรักษาชีวิตเที่ยวไป. ภิกษุนี้ชื่อว่าทำความผิดต่อพระราชา.
               ส่วนคนหนึ่งตัดช่องลักของมีค่าของโจรเที่ยวไป. พวกโจรฟังแล้วไม่รู้ความที่บุรุษมีความต้องการ จึงกล่าวว่า เราจักให้เขารู้. เขาฟังข่าวนั้นแล้วหนีไป. พวกโจรได้ฟังว่าเขาหนีไปแล้วจึงกล่าวว่า เขาจักไม่พ้นเราไปได้แม้ในที่ที่เขาหนีไป แต่ถ้าเขาพึงบวช เขาก็จะพึงพ้นไปได้. เขาฟังข่าวนั้นแล้วจึงบวช. ภิกษุนี้ชื่อว่าถูกโจรคอยติดตามจับ.
               ส่วนคนหนึ่งมีหนี้มาก ถูกคดีหนี้บีบคั้นจึงหนีออกจากบ้านนั้น. พวกเจ้าหนี้ฟังแล้วกล่าวว่า เขาจักไม่พ้นเราไปได้แม้ในที่ที่เขาหนีไป แต่ถ้าเขาพึงบวช เขาก็จะพึงพ้นหนี้ไปได้. ลูกหนี้ฟังข่าวนั้นแล้วจึงบวช. ภิกษุนี้ชื่อว่าถูกเจ้าหนี้บีบคั้น.
               คนกลัวภัยอย่างใดอย่างหนึ่งมีราชภัยเป็นต้น เป็นผู้เดือดร้อนออกบวช ชื่อว่าเดือดร้อนเพราะภัย. ผู้ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ในเวลาข้าวยากหมากแพงเป็นต้นจึงบวช ชื่อว่าถูกอาชีพบีบคั้น. อธิบายว่า ถูกอาชีพครอบงำ.
               ในท่านเหล่านี้แม้รูปหนึ่ง ชื่อว่าบวชแล้วด้วยเหตุเหล่านี้ มิได้มี. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เนว ราชาภินีตา มิใช่ผู้ทำความผิดต่อพระราชาเป็นต้น.
               บทว่า วิเวกํ คือ เป็นผู้สงัด.
               ท่านอธิบายว่า อันผู้สงัดจากกามและจากอกุศลธรรมพึงบรรลุปีติและสุข กล่าวคือปฐมฌานและทุติยฌาน. หากสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมแล้ว ยังไม่บรรลุปีติและสุข หรือยังไม่บรรลุสุขอื่นอันสงบกว่าด้วยสามารถแห่งฌาน ๒ และมรรค ๔ ในเบื้องบน. อภิชฌาเป็นต้นเหล่านี้ ย่อมครอบงำจิตของภิกษุนั้นตั้งอยู่.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อรติ ได้แก่ ความเป็นผู้หน่ายในธรรมอันเป็นอธิกุศล.
               บทว่า ตนฺที ความเฉื่อยชา คือความเป็นผู้เกียจคร้าน. ภิกษุใดบวชแล้วอย่างนี้ไม่สามารถทำกิจของนักบวชได้. ธรรมลามก ๗ อย่างเหล่านี้เกิดแก่ภิกษุนั้น แล้วย่อมครอบงำจิต.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงดังนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อทรงแสดงว่า ธรรมเหล่านั้นย่อมครอบงำจิตของภิกษุใดตั้งอยู่ ภิกษุนั้นไม่สามารถทำแม้กิจของสมณะได้ จึงตรัสว่า วิเวกํ อนุรุทฺธา ฯลฯ อญฺญํ วา ตโต สนฺตตรํ ดูก่อนอนุรุทธะทั้งหลาย บุคคลยังไม่เป็นผู้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปีติและสุข หรือสุขที่สงบกว่านั้นอีก.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงธรรมฝ่ายดำอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อทรงแสดงธรรมฝ่ายขาวโดยนัยนั้น จึงตรัสบทมีอาทิว่า วิเวกํ ดังนี้อีก.
               พึงทราบอรรถแห่งบทนั้นโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ.
               บทว่า สงฺขาย พิจารณาแล้ว คือรู้แล้ว.
               บทว่า เอกํ คือ บางอย่าง.
               บทว่า ปฏิเสวติ ย่อมเสพ คือย่อมเสพสิ่งที่ควรเสพ.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อุปปตฺตีสุ พฺยากโรติ ตถาคตพยากรณ์ในภพที่เกิด คือจงพยากรณ์ในภพพร้อมด้วยปฏิสนธิยกไว้. จะทรงพยากรณ์ในภพที่ยังไม่ปฏิสนธิได้อย่างไร.
               เมื่อกล่าวว่า ปฏิสนธิในภพใหม่มิได้มีแก่ผู้ยังไม่มีปฏิสนธิ ชื่อว่าทรงพยากรณ์ในภพที่เกิด.
               บทว่า ชนกุหนตฺถํ คือ เพื่อให้คนพิศวง.
               บทว่า ชนลปนตฺถํ คือ เพื่อเกลี้ยกล่อมมหาชน.
               บทว่า น อิติ มํ ชโน ชานาตุ ชนจงรู้จักเราด้วยเหตุนี้ก็หามิได้ คือมหาชนจักรู้อย่างนี้. อธิบายว่า ไม่ทรงพยากรณ์ด้วยเหตุแม้นี้ว่า กิตติศัพท์ของเราจักฟุ้งขึ้นในระหว่างมหาชนอย่างนี้.
               บทว่า อุฬารเวทา คือ มีความยินดีมาก.
               บทว่า โส โข ปนสฺส อายสฺมา ก็ท่านนั้นเป็นผู้อันภิกษุนั้น คือท่านนั้นปรินิพพานแล้ว เป็นผู้อันท่านผู้ตั้งอยู่นี้ได้เห็นแล้ว หรือได้ฟังแล้ว.
               ในบทมีอาทิว่า เอวํสีโล พึงทราบศีลเป็นต้นเจือด้วยโลกิยะและโลกุตตระ. ธรรมเป็นฝ่ายสมาธิท่านประสงค์เอาว่าธรรม ในบทนี้ว่า เอวํธมฺโม.
               บทว่า ผาสุวิหาโร โหติ เป็นผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่สบาย คือเมื่อบำเพ็ญในการปฏิบัติอันภิกษุนั้นบำเพ็ญให้บริบูรณ์แล้ว ภิกษุทำให้แจ้งอรหัตผล เป็นผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่สบายด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่ คือผลสมาบัติ. เมื่อไม่สามารถบรรลุอรหัต และเมื่อบำเพ็ญข้อปฏิบัติจนบริบูรณ์ ชื่อว่าเป็นผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่สบายแม้เบื้องหน้า.
               พึงทราบอรรถในวาระทั้งปวงโดยนัยนี้ ด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถานฬกปานสูตรที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภิกขุวรรค นฬกปานสูตร เรื่องกุลบุตรผู้มีชื่อเสียงบวช จบ.
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 186อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 195อ่านอรรถกถา 13 / 203อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=3667&Z=3864
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=3320
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=3320
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :