ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 464อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 486อ่านอรรถกถา 13 / 521อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ราชวรรค
โพธิราชกุมารสูตร เรื่องโพธิราชกุมาร

               อรรถกถาโพธิราชกุมารสูตร               
               โพธิราชกุมารสูตรมีเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
               ในสูตรนั้น บทว่า โกกนโท ความว่า ดอกปทุม ท่านเรียกว่าโกกนท.
               ก็ปราสาทอันเป็นมงคลนั้น ท่านสร้างแสดงให้เหมือนดอกปทุมที่มองเห็นอยู่ เพราะฉะนั้น จึงการนับว่า โกกนทปราสาท.
               แผ่นบันไดขึ้นแรก ท่านเรียกว่าบันไดขั้นสุดท้าย ในคำว่า ยาว ปจฺฉิมโสปานกเฬวรา นี้.
               บทว่า อทฺทสา โข ความว่า ผู้ที่ยืนอยู่ที่ซุ้มประตูนั้นแล เพื่อต้องการดู ก็เห็นแล้ว.
               บทว่า ภควา ตุณฺหี อโหสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรำพึงอยู่ว่า พระราชกุมารทรงกระทำสักการะใหญ่นี้ เพื่อประสงค์อะไรหนอ จึงทรงทราบว่า ทรงกระทำเพราะปรารถนาพระโอรส. ก็พระราชกุมารนั้นไม่มีโอรสทรงปรารถนาพระโอรส ได้ยินว่า ชนทั้งหลายกระทำอธิการ การกระทำที่ยิ่งใหญ่แด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จึงจะได้สิ่งดังที่ใจปรารถนา ดังนี้. พระองค์ทรงกระทำความปรารถนาว่า ถ้าเราจักได้บุตรไซร้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจักทรงเหยียบแผ่นผ้าน้อยของเรา ถ้าเราจักไม่ได้ก็จักไม่ทรงเหยียบ จึงรับสั่งให้ลาดผ้าไว้.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรำพึงว่า บุตรของพระราชานี้จักบังเกิดหรือไม่หนอ แล้วทรงเห็นว่า จักไม่บังเกิด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ได้ยินว่า ในปางก่อน พระราชานั้นทรงอยู่ในเกาะแห่งหนึ่ง ทรงกินลูกนก ด้วยมีฉันทะเสมอกัน. ถ้าหากมาตุคามของพระองค์จะพึงมีจิตเป็นอย่างอื่นไซร้ ก็จะได้บุตร แต่คนทั้งสองมีฉันทะเสมอกัน กระทำบาปกรรมไว้ ฉะนั้น บุตรของเขาจึงไม่เกิด ดังนี้.
               แต่เมื่อเราเหยียบผ้า พระราชกุมารก็จะถือเอาผิดได้ว่า เสียงเล่าลือกันในโลกว่า บุคคลทำอธิการแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลายแล้ว ย่อมจะได้สิ่งที่ตนปรารถนาแล้วๆ เราเองได้กระทำอภินิหารเสียมากมายด้วย เราก็ไม่ได้บุตรด้วย คำเล่าลือนี้ไม่จริง.
               แม้พวกเดียรถีย์ทั้งหลายก็จะติเตียนว่า ชื่อว่าสิ่งที่ไม่ควรทำของสมณะทั้งหลายไม่มี พวกสมณะเหยียบย่ำผ้าน้อยเที่ยวไป ดังนี้. และเมื่อเหยียบไป ในบัดนี้ ภิกษุเป็นอันมากเป็นผู้รู้จิตของคนอื่น ภิกษุเหล่านั้นทราบว่าควรก็จักเหยียบ ที่ทราบว่าไม่ควรก็จักไม่เหยียบ ก็ในอนาคตจักมีอุปนิสัยน้อยชนทั้งหลายจักไม่รู้อนาคต. เมื่อภิกษุเหล่านั้นเหยียบถ้าสิ่งที่เขาปรารถนา สำเร็จไซร้ ข้อนั้นก็จักว่าเป็นความดี ถ้าไม่สำเร็จ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงปรารถนาจะเหยียบจึงทรงนิ่งเสีย ด้วยเหตุเหล่านี้ คือ พวกมนุษย์จักมีความเดือดร้อนในภายหลังว่า แต่ก่อนบุคคลกระทำอภินิหารแก่ภิกษุสงฆ์ ย่อมได้สิ่งที่ปรารถนาแล้วๆ การทำนั้นบัดนี้ หาได้ไม่ ภิกษุทั้งหลายที่ปฏิบัติบริบูรณ์เห็นจะเป็นพวกภิกษุเหล่านั้น ภิกษุพวกนี้ย่อมไม่อาจปฏิบัติให้สมบูรณ์ ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเหยียบผืนผ้าน้อย.๑-
               แต่เมื่อภิกษุทั้งหลายไม่ก้าวล่วงบทบัญญัติ เพื่อความเป็นมงคล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงวางอนุบัญญัติเพื่อให้เหยียบได้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์ต้องการมงคล เราอนุญาตเพื่อความเป็นมงคล แก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ดังนี้.๒-
____________________________
๑- เชิงอรรถ : วิ. จูฬ. เล่ม ๗/ข้อ ๑๒๓  เชิงอรรถ : ๒- วิ. จูฬ. เล่ม ๗/ข้อ ๑๒๔-๑๒๕

               บทว่า ปจฺฉิมํ ขนตํ ตถาคโน อปโลเกติ ความว่า พระเถระกล่าวหมายเอาเหตุที่ ๓ ในบรรดาเหตุที่กล่าวแล้ว. ท่านกล่าวคำว่า นโข สุเขน สุขํ เพราะเหตุไร. ท่านสำคัญอยู่ว่า ชะรอยพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีความสำคัญในกามสุขัลลิกานุโยค จึงไม่ทรงเหยียบ เพราะฉะนั้น แม้เราก็จักมีฉันทะเสมอด้วยพระศาสดา ดังนี้ จึงกล่าวอย่างนั้น.
               บทว่า โส โข อหํ เป็นอาทิ บัณฑิตพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในมหาสัจจกะ๓- จนถึง ยาว รตฺติยา ปจฺฉิเม ยาเม. ต่อจากนั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ในปาสราสิสูตร๔- ตั้งแต่ ปญฺจวคฺคิยานํ อาสวกฺขยา.
____________________________
๓- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๔๐๕  ๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๑๒

               บทว่า องฺกุสคณฺเห สิปฺเป ได้แก่ ศิลปะของผู้ถือขอ.
               บทว่า กุสโล อหํ ความว่า เราเป็นผู้ฉลาด. ก็กุมารนี้เรียนศิลปะในสำนักของใคร. บิดาเรียนในสำนักของปู่ กุมารนี้ก็เรียนในสำนักบิดา.
               ได้ยินมาว่า ในพระนครโกสัมพี พระราชาพระนามว่าปรันตปะ ทรงครองราชย์อยู่. พระราชมเหสีมีพระครรภ์แก่ทรงนั่งห่มผ้ากัมพลมีสีแดง ผิงแดดอ่อนอยู่กับพระราชาที่ชายพระตำหนัก. มีนกหัสดีลิงค์ตัวหนึ่งสำคัญว่าเป็นชิ้นเนื้อ บินมาโฉบเอา (พระนาง) ไปทางอากาศ.
               พระนางเกรงว่านกจะทิ้งพระองค์ลง จึงทรงเงียบเสียงเสีย. นกนั้นพาพระนางไปลงที่ค่าคบไม้ ณ เชิงเขาแห่งหนึ่ง. พระนางจึงตบพระหัตถ์ทำเสียงดังขึ้น นกก็ตกใจหนีไปแล้ว. พระนางก็คลอดพระโอรสบนค่าคบไม้นั้นนั่นแล.
               เมื่อฝนตกลงมาในกลางคืน เวลายามสาม พระนางจึงเอาผ้ากัมพลห่มประทับนั่งอยู่. และในที่ไม่ไกลเชิงเขานั้นมีดาบสรูปหนึ่งอาศัยอยู่. ด้วยเสียงร้องของพระนางนั้น ดาบสจึงมายังโคนไม้เมื่ออรุณขึ้น ถามพระนางถึงชาติ แล้วพาดบันไดให้นางลงมา พาไปยังที่อยู่ของตนให้ดื่มข้าวยาคู. เพราะทารกถือเอาฤดูแห่งเมฆและฤดูแห่งภูเขา เกิดแล้วจึงตั้งชื่อว่า อุเทน. พระดาบสหาผลไม้มาเลี้ยงดูชนทั้ง ๒.
               วันหนึ่ง พระนางกระทำการต้อนรับในเวลาดาบสกลับ แสดงมารยาของหญิงทำดาบสให้ถึงสีลเภทแล้ว. เมื่อคนเหล่านั้นอยู่ร่วมกัน กาลเวลาก็ผ่านไป พระเจ้าปรันตปะสวรรคตแล้ว. ดาบสแหงนดูนักษัตรในเวลาราตรีก็รู้ว่าพระราชาสวรรคต จึงถามว่า พระราชาของท่านสวรรคตแล้ว ต้องการจะให้บุตรของท่านอยู่ในที่นี้หรือ หรือจะให้ยกฉัตรในราชสมบัติของพระบิดา.
               พระนางจึงเล่าความเป็นมาทั้งหมดตั้งแต่ต้นมาแก่พระโอรสทราบว่า พระโอรสต้องการจะยกเศวตฉัตรของพระบิดา จึงบอกแก่ดาบส. ก็ดาบสรู้วิชาจับช้าง.
               ถามว่า วิชานั้นดาบสได้มาแต่ไหน.
               ตอบว่า ได้มาแต่สำนักท้าวสักกะ.
               ได้ยินว่า ในกาลก่อน ท้าวสักกะเสด็จมาบำรุงดาบสนั้น ได้ถามว่า พระคุณเจ้าลำบากด้วยเรื่องอะไรบ้าง. พระดาบสจึงทูลว่า มีอันตรายเกี่ยวกับช้าง. ท้าวสักกะจึงประทานวิชาจับช้างและพิณแก่ดาบสนั้น ตรัสสอนว่า เมื่อต้องการจะให้ช้างหนีจงดีดสายนี้แล้วร่ายโสลกนี้ เมื่อมีความประสงค์จะให้ช้างมา ก็จงร่ายโสลกนี้ ดังนี้.
               ดาบสจึงสอนศิลปะนั้นแก่กุมาร.
               พระกุมารนั้นขึ้นต้นไม้ไทรต้นหนึ่ง เมื่อช้างทั้งหลายมาแล้วก็ดีดพิณร่ายโสลก. ช้างทั้งหลายกลัวหนีไปแล้ว. พระกุมารทราบอานุภาพของศิลปะ วันรุ่งขึ้นจึงประกอบศิลปะเรียกช้าง. ช้างที่เป็นจ่าฝูงก็มาน้อมคอเข้าไปใกล้. พระกุมารขึ้นคอช้างแล้วเลือกช้างหนุ่มๆ ที่พอจะรบได้แล้ว ถือเอาผ้ากัมพลและพระธำมรงค์ไปไหว้มารดาบิดาออกไปโดยลำดับ เข้าไปยังหมู่บ้านนั้นๆ รวบรวมคนบอกว่า เราเป็นโอรสของพระราชา ต้องการสมบัติจึงได้มา แล้วไปล้อมพระนครไว้แจ้งว่า เราเป็นโอรสของพระราชา ขอท่านทั้งหลายจงมอบฉัตรแก่เรา เมื่อพวกเขาไม่เชื่ออยู่ ก็แสดงผ้ากัมพลและพระธำมรงค์ให้ดู ได้ยกฉัตรขึ้นครองราชย์แล้ว.
               พระราชานั้นมีพระทัยใส่แต่ช้าง เมื่อเขาทูลว่าที่ตรงโน้นมีช้างงาม ก็ทรงเสด็จไปจับ.
               พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงดำริว่า เราจักเรียนศิลปะในสำนักของพระเจ้าอุเทนนั้น จึงรับสั่งให้ประกอบช้างไม้ขึ้น จัดให้ทหารนั่งอยู่ภายในช้างไม้นั้น พอพระราชานั้นเสด็จมาเพื่อทรงจับช้าง ก็ถูกจับได้ ส่งพระธิดาไปเพื่อเรียนศิลปะจับช้างในสำนักของพระราชา. พระองค์ได้สำเร็จสังวาสกันกับพระธิดานั้น แล้วพากันหนีไปยังพระนครของพระองค์.
               พระโพธิราชกุมารนี้ทรงเกิดในพระครรภ์ของพระธิดานั้น จึงได้เรียนศิลปะ (มนต์) ในสำนักของพระชนกของพระองค์
               บทว่า ปธานิยงฺคานิ ความว่า ความเริ่มตั้ง ท่านเรียกว่าปธานะ (ความเพียร). ความเพียรของภิกษุนั้นมีอยู่ เหตุนั้นภิกษุนั้น ชื่อว่าปธานียะ ผู้มีความเพียร. องค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียร เหตุนั้น ชื่อว่าปธานิยังคะ.
               บทว่า สทฺโธ ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยศรัทธา.
               ก็ศรัทธานั้นมี ๔ ประการ คือ อาคมนศรัทธา ๑ อธิคมนศรัทธา ๑ โอกัปปนศรัทธา ๑ ปสาทศรัทธา ๑.
               ในบรรดาศรัทธา ๔ อย่างนั้น ความเชื่อต่อพระสัพพัญญูโพธิสัตว์ ชื่อว่าอาคมนศรัทธา เพราะมาแล้วจำเดิมแต่ตั้งความปรารถนา. ชื่อว่าอธิคมนศรัทธา เพราะบรรลุแล้วด้วยการแทงตลอดแห่งพระอริยสาวกทั้งหลาย. ความปลงใจ เชื่อโดยความไม่หวั่นไหว เมื่อเขากล่าวว่า พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ ชื่อว่าโอกัปปนศรัทธา. ความบังเกิดขึ้นแห่งความเลื่อมใส ชื่อว่าปสาทศรัทธา.
               ในที่นี้ประสงค์เอาโอกัปปนศรัทธา.
               บทว่า โพธิ ได้แก่ มัคคญาณ ๔.
               บุคคลย่อมเชื่อว่า พระตถาคตทรงแทงตลอดมัคคญาณ ๔ นั้นดีแล้ว.
               อนึ่ง คำนี้เป็นยอดแห่งเทศนาทีเดียว.
               ก็ความเชื่อในพระรัตนะทั้ง ๓ ท่านประสงค์เอาแล้วด้วยองค์นี้. คือ ผู้ใดมีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเป็นต้นอย่างแรงกล้า ปธานวีริยะของผู้นั้นย่อมสำเร็จ.
               บทว่า อปฺปาพาโธ ได้แก่ ความไม่มีโรค. บทว่า อปฺปาตงฺโก ได้แก่ ความไม่มีทุกข์.
               บทว่า สมเวปากินิยา ความว่า มีวิปากเสมอกัน. บทว่า คหณิยา ได้แก่ เตโชธาตุอันเกิดแต่กรรม.
               บทว่า นาติสีตาย นาจฺจุณฺหาย ความว่า ก็ผู้มีธาตุอันเย็นจัดก็กลัวความเย็น ผู้มีธาตุร้อนจัดก็กลัวความร้อน. ความเพียรของคนเหล่านั้นจะไม่สำเร็จ. จะสำเร็จแก่ผู้มีธาตุเป็นกลางๆ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มชฺฌิมาย ปธานกฺขมาย.
               บทว่า ยถาภูตํ อตฺตานํ อาวิกตฺตา ความว่า ประกาศโทษใช่คุณของตนตามเป็นจริง.
               บทว่า อุทยตฺถคามินิยา ความว่า สามารถเพื่อจะถึง คือจะกำหนดถึงความเกิดและความดับ. ด้วยคำนี้ ท่านกล่าวถึงอุทยัพพยญาณอันกำหนดลักษณะ ๕๐.
               บทว่า อริยาย ได้แก่ บริสุทธิ์.
               บทว่า นิพฺเพธิกาย ความว่า สามารถชำแรกกองโลภเป็นต้นได้ในกาลก่อน.
               บทว่า สมฺมาทุกฺขกฺขยคามินิยา ความว่า ให้ถึงความสิ้นไปแห่งทุกข์ที่จะต้องทำให้สิ้นนั้น เพราะละกิเลสทั้งหลายเสียได้ด้วยตทังคปหาน. ด้วยบทเหล่านี้ทั้งหมดตรัสวิปัสสนาปัญญาอย่างเดียว ด้วยประการฉะนี้.
               จริงอยู่ ความเพียรย่อมไม่สำเร็จแก่ผู้มีปัญญาทราม.
               อนึ่ง ด้วยคำนี้พึงทราบว่า องค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียรทั้งห้าเป็นโลกิยะเท่านั้น.
               บทว่า สายมนุสิฏฺโฐ ปาโต วิเสสมธิคจฺฉติ สอนตอนเย็น บรรลุคุณวิเศษในตอนเช้า. ความว่า เมื่อพระอาทิตย์อัสดงคต ก็พร่ำสอน พออรุณขึ้นก็บรรลุคุณวิเศษ.
               คำว่า ปาตมนุสิฏฺโฐ สายํ ความว่า พออรุณขึ้นก็พร่ำสอน ในเวลาพระอาทิตย์อัสดงคตก็บรรลุคุณวิเศษ. ก็แลพระเทศนานี้ ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งไนยบุคคล.
               จริงอยู่ ไนยบุคคลแม้มีปัญญาทรามก็บรรลุอรหัตต์ได้โดย ๗ วัน. มีปัญญากล้าแข็ง โดยวันเดียว.
               พึงทราบคำที่เหลือด้วยสามารถแห่งปัญญาพอกลางๆ.
               บทว่า อโห พุทฺโธ อโห ธมฺโม อโห ธมฺมสฺส สฺวากฺขาตตา ความว่า เพราะภิกษุให้อาจารย์บอกกัมมัฏฐานในเวลาเช้า ในตอนเย็นบรรลุอรหัตต์ เพราะความที่ธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีคุณโอฬาร และเพราะความที่พระธรรมอันพระพุทธเจ้าตรัสดีแล้ว ฉะนั้น เมื่อจะสรรเสริญจึงกล่าวอย่างนั้น.
               บทว่า ยตฺร หิ นาม เป็นนิบาตใช้ในอรรถว่า น่าอัศจรรย์.
               บทว่า กุจฺฉิมติ ได้แก่ สัตว์ที่ใกล้จุติ.
               บทว่า โย เม อยํ ภนฺเต กุจฺฉิคโต ความว่า ก็สรณะย่อมเป็นอันถือเอาแล้วด้วยอาการอย่างนี้หรือ. ยังไม่เป็นอันถือเอาแล้ว. ธรรมดาการถึงสรณะด้วยอจิตตกะย่อมไม่มี. ส่วนการรักษาย่อมปรากฏเฉพาะแล้ว. ภายหลังมารดาบิดาได้เตือนกุมารนั้นให้ระลึกได้ว่า ดูก่อนลูก เมื่ออยู่ในครรภ์ก็ให้ถือเอาสรณะนั้น ดังนี้ เมื่อเวลาแก่และพระกุมารนั้นก็กำหนดได้แล้ว ยังสติให้เกิดขึ้นว่า เราเป็นอุบาสกถึงสรณะแล้วดังนี้ ในกาลใด. ในกาลนั้นย่อมชื่อว่าถือสรณะแล้ว.
               คำที่เหลือในที่ทั้งปวงตื้นทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาโพธิราชกุมารสูตรที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ราชวรรค โพธิราชกุมารสูตร เรื่องโพธิราชกุมาร จบ.
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 464อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 486อ่านอรรถกถา 13 / 521อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=7663&Z=8236
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=5890
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=5890
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :