ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 486อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 521อ่านอรรถกถา 13 / 535อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ราชวรรค
อังคุลิมาลสูตร พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดองคุลิมาลโจร

               ๖. อรรถกถาอังคุลิมาลสูตร               
               อังคุลิมาลสูตรมีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
               ถามว่า ในพระสูตรนั้น คำว่า ทรงระเบียบแห่งนิ้วมือ ทรงไว้เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า ทรงไว้ตามคำของอาจารย์.
               ในข้อนั้น มีอนุปุพพิกถาดังต่อไปนี้.
               ได้ยินว่า พระองคุลิมาลนี้ได้ถือปฏิสนธิในครรภ์แห่งนางพราหมณ์ ชื่อมันตานี แห่งปุโรหิตของพระเจ้าโกศล. นางพราหมณีได้คลอดบุตรออกในเวลากลางคืน. ในเวลาที่อังคุลิมาลนั้นคลอดออกจากครรภ์มารดา อาวุธทั้งหลายในนครทั้งสิ้นช่วงโชติขึ้น. แม้พระแสงที่เป็นมงคลของพระราชาแม้กระทั่งฝักดาบ ที่อยู่ในห้องพระบรรทมอันเป็นศิริก็รุ่งเรือง. พราหมณ์จึงลุกออกมาแหงนดูดาวนักษัตร ก็รู้ว่าบุตรเกิดโดยดาวฤกษ์โจร จึงเข้าเฝ้าพระราชาทูล ถามถึงความบรรทมอันเป็นสุข.
               พระราชาตรัสว่า ท่านอาจารย์ เราจะนอนเป็นสุขอยู่ได้แต่ไหน อาวุธที่เป็นมงคลของเราส่องแสงรุ่งเรือง เห็นจะมีอันตรายแก่รัฐหรือแก่ชีวิต.
               ปุโรหิตทูลว่า ข้าแต่มหาราช อย่าทรงกลัวเลย กุมารเกิดแล้วในเรือนของหม่อมฉัน อาวุธทั้งหลายมิใช่จะรุ่งเรืองด้วยอานุภาพของกุมารนั้น. จักมีเหตุอะไร ท่านอาจารย์. ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เขาจักเป็นโจร. เขาจะเป็นโจรคนเดียวหรือว่าจะเป็นโจรประทุษร้ายราชสมบัติ. เขาจะเป็นโจรธรรมดาคนเดียว พะยะค่ะ. ก็แลปุโรหิตครั้นทูลอย่างนั้นแล้ว เพื่อจะเอาพระทัยพระราชา จึงทูลว่า จงฆ่ามันเสียเถอะ พระเจ้าค่ะ.
               พระราชา. เป็นโจรธรรมดาคนเดียว จักทำอะไรได้ เหมือนรวงข้าวสาลีรวงเดียว ในนาตั้งพันกรีส จงบำรุงเขาไว้เถอะ. เมื่อจะตั้งชื่อกุมารนั้น สิ่งของเหล่านี้คือ ฝักดาบอันเป็นมงคลที่วางไว้ ณ ที่นอน ลูกศรที่วางไว้ที่มุม มีดน้อยสำหรับตัดขั้วตาลซึ่งวางไว้ในปุยฝ้าย ต่างโพลงขึ้นส่องแสงแต่ไม่เบียดเบียนกัน ฉะนั้น จึงตั้งชื่อว่า อหิงสกะ. พอเวลาจะให้เรียนศิลปะก็ส่งเขายังเมืองตักกสิลา. อหิงสกะกุมารนั้นเป็นธัมมันเตวาสิก เริ่มเรียนศิลปะแล้ว. เป็นคนถึงพร้อมด้วยวัตร ตั้งใจคอยรับใช้ประพฤติเป็นที่พอใจ พูดจาไพเราะ. ส่วนอันเตวาสิกที่เหลือ เป็นอันเตวาสิกภายนอก.
               อันเตวาสิกเหล่านั้นนั่งปรึกษากันว่า จำเดิมแต่เวลาที่อหิงสกมาณพมา พวกเราไม่ปรากฏเลย เราจะทำลายเขาได้อย่างไร จะพูดว่าเป็นคนโง่ ก็พูดไม่ได้ เพราะมีปัญญายิ่งกว่าทุกคน จะว่ามีวัตรไม่ดีก็ไม่อาจพูด เพราะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวัตร จะว่ามีชาติต่ำ ก็พูดไม่ได้ เพราะสมบูรณ์ด้วยชาติ พวกเราจักทำอย่างไรกัน ขณะนั้นปรึกษากับคนมีความคิดเฉียบแหลมคนหนึ่งว่า เราจะกระทำช่องของอาจารย์ทำลายเขาเสีย แบ่งเป็นสามพวก พวกแรกต่างคนต่างเข้าไปหาอาจารย์ไหว้แล้วยืนอยู่. อาจารย์ถามว่า อะไรพ่อ. ก็บอกว่า พวกกระผมได้ฟังเรื่องหนึ่งในเรือนนี้. เมื่ออาจารย์ถามว่า อะไรพ่อ. ก็กล่าวว่า พวกเราทราบว่า อหิงสกมาณพจะประทุษร้ายระหว่างท่านอาจารย์. อาจารย์จึงก็ตะคอกไล่ออกมาว่า ออกไป เจ้าถ่อย เจ้าอย่าทำลายบุตรของเราในระหว่างเราเสียเลย. ต่อแต่นั้น ก็ไปอีกพวกหนึ่ง แต่นั้น ก็อีกพวกหนึ่ง ทั้งสามพวกมากล่าวทำนองเดียวกัน แล้วก็กล่าวว่า เมื่ออาจารย์ไม่เชื่อพวกข้าพเจ้า ก็จงใคร่ครวญรู้เอาเองเถิด ดังนี้. ท่านอาจารย์เห็นศิษย์ทั้งหลายกล่าวว่าด้วยความห่วงใย จึงตัดสินใจว่า เห็นจะมีความจริง จึงคิดว่า เราจะฆ่ามันเสีย.
               ต่อไปจึงคิดอีกว่า ถ้าเราฆ่ามัน ใครๆ ที่คิดว่าท่านอาจารย์ทิสาปาโมกข์ ยังโทษให้เกิดขึ้นในมาณพผู้มาเรียนศิลปะยังสำนักของตนแล้ว ปลงชีวิตเสีย ดังนี้ ก็จักไม่มาเพื่อเล่าเรียนศิลปะอีก ด้วยอาการอย่างนี้ เราก็จะเสื่อมลาภ อย่ากระนั้นเลย เราจะบอกมันว่า ยังมีคำสำหรับศิลปะ วิชา ขั้นสุดท้ายอยู่ แล้วกล่าวว่า เจ้าจะต้องฆ่าคนให้ได้พันคน ในเรื่องนี้ เจ้าจะเป็นผู้เดียวลุกขึ้น ฆ่าเขาให้ได้ครบพัน. ทีนั้นอาจารย์จึงกล่าวกะอหิงสกกุมารว่า มาเถอะพ่อ เจ้าจงฆ่าให้ได้พันคน เมื่อทำได้เช่นนี้ ก็จักเป็นอันกระทำอุปจาระแก่ศิลปะ การบูชาครู ดังนี้. อหิงสกกุมารจึงกล่าวว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลที่ไม่เบียดเบียน ข้าพเจ้าไม่อาจทำเช่นนั้น. ศิลปะที่ไม่ได้ค่าบูชาครูก็จะไม่ให้ผลนะพ่อ. อหิงสกกุมารนั้นจึงถืออาวุธ ๕ ประการ ไหว้อาจารย์เข้าสู่ดงยืน ณ ที่คนจะเข้าไปสู่ดงบ้าง ที่ตรงกลางดงบ้าง ตรงที่ที่คนจะออกจากดงบ้าง ฆ่าคนเสียเป็นอันมาก. ก็ไม่ถือเอาผ้าหรือผ้าโพกศีรษะ กระทำเพียงกำหนดว่า ๑,๒, ดังนี้เดินไป แม้การนับก็กำหนดไม่ได้. แต่โดยธรรมดาอหิงสกกุมารนี้ เป็นคนมีปัญญา แต่จิตใจไม่ดำรงอยู่ได้ เพราะปาณาติบาต. ฉะนั้น จึงกำหนดแม้การนับไม่ได้ตามลำดับ. เขาตัดนิ้วได้หนึ่งๆ ก็เก็บไว้. ในที่ที่เก็บไว้ นิ้วมือก็เสียหายไป. ต่อแต่นั้น จึงร้อยทำเป็นมาลัยนิ้วมือคล้องคอไว้. ด้วยเหตุนั้นแล เขาจึงปรากฏชื่อว่าองคุลิมาล.
               องคุลิมาลนั้นท่องเที่ยวไปยังป่าทั้งสิ้น จนไม่มีใครสามารถไปป่าเพื่อหาฟืนเป็นต้น. ในตอนกลางคืนก็เข้ามายังภายในบ้านเอาเท้าถีบประตู. แต่นั้น ก็ฆ่าคนที่นอนนั้นแหละกำหนดว่า ๑,๑ เดินไป. บ้านก็ร่นถอยไปตั้งในนิคม. นิคมก็ร่นถอยไปตั้งอยู่ในเมือง. พวกมนุษย์ทิ้งบ้านเรือนจูงลูกเดินทางมาล้อมพระนครสาวัตถี เป็นระยะทางถึงสามโยชน์ ตั้งค่ายพักประชุมกันที่ลานหลวง ต่างคร่ำครวญกล่าวกันว่า ข้าแต่สมมติเทพ ในแว่นแคว้นของพระองค์ มีโจรชื่อองคุลิมาลเป็นต้น.
               ในลำดับนั้น พราหมณ์ก็รู้ว่า โจรองคุลิมาลนั้นจักเป็นบุตรของเรา จึงกล่าวกะนางพราหมณีว่า แน่ะนางผู้เจริญ เกิดโจรชื่อองคุลิมาลขึ้นแล้ว โจรนั้นไม่ใช่ใครอื่น คืออหิงสกกุมารลูกของเจ้า บัดนี้ พระราชาจักเสด็จออกไปจับเขา เราควรจะทำอย่างไร.
               นางพราหมณีพูดว่า นายท่านไปเถอะ จงไปพาลูกของเรามา. พราหมณ์พูดว่า แน่ะนางผู้เจริญ ฉันไม่กล้าไป เพราะไม่ควรวางใจในคน ๔ จำพวก คือโจรที่เป็นเพื่อนเก่าของเรามา ก็ไม่ควรไว้ใจ เพื่อนฝูงที่เคยมีสันถวไมตรีกันมาก่อนของเราก็ไม่ควรไว้ใจ พระราชาก็ไม่ควรไว้ใจว่า นับถือเรา. หญิงก็ไม่ควรไว้ใจว่านับอยู่ในเครือญาติของเรา แต่หัวใจของแม่เป็นหัวใจที่อ่อน ฉะนั้น นางพราหมณีจึงกล่าวว่า ฉันจะไปพาลูกของฉันมา ดังนี้ ออกไปแล้ว.
               และในวันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาปัจจุสมัยใกล้รุ่ง ทรงเห็นองคุลิมาล จึงทรงพระดำริว่า เมื่อเราไปจักเป็นความสวัสดีแก่เธอ ผู้ที่อยู่ในป่าอันหาบ้านมิได้ครั้นได้ฟังคาถาอันประกอบด้วยบท ๔ ออกบวชในสำนักของเราแล้ว จักกระทำให้แจ้งซึ่งอภิญญา ๖ ถ้าเราไม่ไป เธอจะผิดในมารดา จักเป็นผู้อันใครๆ ยกขึ้นไม่ได้ เราจักกระทำความสงเคราะห์เธอ ดังนี้แล้ว ทรงนุ่งเวลาเช้าแล้วเข้าไปเพื่อบิณฑบาต ทรงกระทำภัตตกิจเสร็จแล้ว ประสงค์จะสงเคราะห์เธอ จึงเสด็จออกไปจากวิหาร.
               เพื่อจะแสดงความข้อนี้ ท่านจึงกล่าวว่า "อถ โข ภควา" ดังนี้เป็นต้น.
               คำว่า สงฺคริตฺวา สงฺคริตฺวา ความว่า เป็นพวกๆ คอยสังเกต.
               บทว่า หตฺถตฺถํ คจฺฉนฺติ ความว่า ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ในมือ คือพินาศไป.
               ถามว่า ก็คนเหล่านั้นจำพระผู้มีพระภาคเจ้าได้แล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า จำไม่ได้ หรือ?
               ตอบว่า จำไม่ได้. เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าจำแลงเพศ เสด็จไปเพียงพระองค์เดียว. ในสมัยนั้น แม้โจรหงุดหงิดใจเพราะบริโภคอย่างฝืดเคือง และนอนลำบากมาเป็นเวลานาน.
               อนึ่ง พวกมนุษย์ถูกโจรองคุลิมาลฆ่าไปเท่าไร. ถูกฆ่าไป ๙๙๙ คนแล้ว. ก็โจรนั้นมีความสำคัญว่า เดี๋ยวนี้ได้อีกคนเดียวก็จะครบพัน ตั้งใจว่า เห็นผู้ใดก่อนก็จะฆ่าผู้นั้นให้เต็มจำนวนกระทำอุปจาระแก่ศิลปะ (บูชาครู) โกนผมและหนวดแล้วอาบน้ำ ผลัดเปลี่ยนผ้าไปเห็นมารดาบิดา ดังนี้ จึงออกจากกลางดงมาสู่ปากดง ยืนอยู่ ณ ส่วนสุดข้างหนึ่ง ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว. เพื่อจะแสดงความข้อนี้ ท่านจึงกล่าวว่า "อทฺทสา โข" ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า อิทฺธาภิสงฺขารํ อภิสงฺขาเรสิ ความว่า ทรงบันดาลให้เป็นเหมือนแผ่นดินใหญ่มีคลื่นตั้งขึ้น แล้วทรงเหยียบอยู่อีกด้านหนึ่ง เกลียวในภายในออกมา. องคุลิมาลทิ้งเครื่องซัดลูกศรเสียเดินไป.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเนินใหญ่อยู่ข้างหน้าแล้วพระองค์อยู่ตรงกลาง โจรอยู่ริมสุด. องคุลิมาลนั้นคิดว่า เราจักทันจับได้ในบัดนี้ จึงรีบแล่นไปด้วยสรรพกำลัง. พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่ริมสุดของเนิน โจรอยู่ตรงกลาง เขารีบแล่นมาโดยเร็ว คิดว่า ทันจับได้ตรงนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงบันดาลเหมือง หรือแผ่นดินไว้ข้างหน้าเขาเสีย. โดยทำนองนี้ สิ้นทางไปถึงสามโยชน์. โจรเหนื่อย น้ำลายในปากแห้ง เหงื่อไหลออกจากรักแร้. ครั้งนี้ได้มีความคิดดังนี้แก่เขาว่า น่าอัศจรรย์นักหนอ ท่านผู้เจริญ.
               บทว่า มิคํปิ ความว่า เนื้อไฉนยังจับได้. ในตอนที่หิวก็จับเอามาเป็นอาหารได้.
               ได้ยินว่า โจรนั้นเคาะที่พุ่มไม้แห่งหนึ่งให้เนื้อลุกขึ้นหนีไป. ต่อนั้นก็จะติดตามเนื้อได้ดังใจปรารถนาแล้วปิ้งเคี้ยวกิน.
               บทว่า ปุจฺเฉยฺยํ ความว่า ท่านผู้นี้กำลังเดินไปอยู่เทียว (ก็ว่า) หยุดแล้ว ส่วนตัวเราหยุดอยู่ แล้วก็ว่าไม่หยุด ด้วยเหตุใด ทำไฉนหนอ เราจะพึงถามเหตุนั้นๆ กะสมณะนี้.
               บทว่า นิธาย ความว่า แม้อาชญาใดอันบุคคลพึงให้เป็นไปในสัตว์ทั้งหลายเพื่อเบียดเบียน เราวางอาชญานั้น คือนำออกเสีย พิจารณาด้วยเมตตา ขันติ ประพฤติไปในสาราณียธรรมทั้งหลายด้วย อวิหิงสา.
               บทว่า ตุวมฏฺฐิโตสิ ความว่า เมื่อท่านฆ่าสัตว์มีประมาณพันหนึ่งนี้ เพราะไม่มีความสำรวมในสัตว์ มีปาณะทั้งหลาย เมตตาก็ดี ขันติก็ดี ปฏิสังขาก็ดี อวิหิงสาก็ดี สาราณียธรรมก็ดี ของท่านจึงไม่มี ฉะนั้น ท่านจึงชื่อว่า ยังไม่หยุด. มีคำอธิบายว่า แม้ถึงหยุดแล้วด้วยอิริยาบถในขณะนี้ ท่านก็จักแล่นไปในนรก คือจักแล่นไปในกำเนิดติรัจฉาน ในเปรตวิสัย หรือในอสุรกาย.
               ในลำดับนั้น โจรคิดว่า การบรรลือสีหนาทนี้ใหญ่ การบรรลืออันใหญ่นี้จักเป็นของผู้อื่นไปมิได้ การบรรลือนี้ต้องเป็นของพระสมณเจ้าพระนามว่า สิทธัตถะ ผู้โอรสแห่งพระนางมหามายา เราเห็นจะเป็นผู้อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุคมกล้า ทรงเห็นแล้วหนอ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาเพื่อทำการสงเคราะห์แก่เรา ดังนี้ จึงกล่าวว่า จิรสฺสํ วต เม ดังนี้เป็นอาทิ.
               ในบรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มหิโต ความว่า อันเทวดาและมนุษย์เป็นต้นบูชาแล้วด้วยการบูชาด้วยปัจจัย ๔.
               บทว่า ปจฺจุปาทิ ความว่า ทรงดำเนินมาสู่ป่าใหญ่นี้เพื่อจะสงเคราะห์เราโดยล่วงกาลนานนัก.
               คำว่า ปชหิสฺสํ ปาปํ ความว่า ข้าพระองค์จักละบาป.
               บทว่า อิจฺเจว แปลว่า กล่าวอย่างนี้แล้วเทียว.
               บทว่า อาวุธํ ได้แก่ อาวุธ ๕ ประการ.
               บทว่า โสพฺเภ คือ ที่ขาดไปข้างเดียว.
               บทว่า ปปาเต ได้แก่ ขาดข้างหนึ่ง.
               บทว่า นรเก คือ ที่ที่แตกระแหง. อนึ่ง ในที่นี้ ท่านกล่าวถึงป่าเท่านั้น ด้วยบททั้งสามนี้.
               บทว่า อวกิริ ได้แก่ ซัดไป คือทิ้งไปแล้ว.
               บทว่า ตเมหิ ภิกฺขูหิ ตทา อโวจ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะยังอังคุลีมาลนี้ให้บวชก็ไม่มีกิจในการแสวงหาว่า จักได้มีดน้อยที่ไหน จักได้บาตรจีวรที่ไหน ดังนี้.
               อนึ่ง ทรงตรวจดูกรรม ทีนั้นก็ทรงทราบว่า องคุลิมาลนั้นได้เคยถวายภัณฑะ คือบริขารแปดแก่ท่านผู้มีศีลในปางก่อน จึงทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวา ตรัสว่า เอหิ ภิกฺขุ สฺวากฺขาโต ธมฺโม จร พฺรหฺมจริยํ สมฺมาทุกฺขสฺส อนฺตกิริยาย เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด ดังนี้. องคุลีมาลนั้นได้เฉพาะซึ่งบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ พร้อมกับพระดำรัสนั้นเทียว. ในทันใดนั้นเพศคฤหัสถ์ของท่านอันตรธานไป สมณเพศปรากฏแล้ว.
               บริขาร ๘ ดังที่กล่าวไว้อย่างนี้ว่า
                         ไตรจีวร บาตร มีด เข็ม ประคดเอว รวมเป็น
                         ๘ กับผ้ากรองน้ำ สมควรแก่ภิกษุผู้ประกอบ
                         ความเพียรแล้ว ดังนี้
               เป็นของจำเป็นสำหรับตัว บังเกิดขึ้นแล้ว.
               คำว่า เอเสว ตสฺส อหุ ภิกฺขุภาโว ความว่า ความเป็นเอหิภิกขุนี้ได้เป็นภิกษุภาวะที่เข้าถึงพร้อมแก่พระองคุลิมาลนั้น. ชื่อว่าการอุปสมบทต่างหากจากเอหิภิกษุ ไม่มีหามิได้.
               บทว่า ปจฺฉาสมเณน ได้แก่ ปัจฉาสมณะผู้ถือภัณฑะ.
               ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าให้พระองคุลิมาลถือบาตรและจีวรของตน แล้วทรงทำพระองคุลีมาลนั้นให้เป็นปัจฉาสมณะเสด็จไปแล้ว. ฝ่ายมารดาขององคุลิมาลนั้นไม่รู้อยู่ เพราะอยู่ห่างกันประมาณ ๘ อสุภ เที่ยวร้องอยู่ว่า พ่ออหิงสกะ พ่อยืนอยู่ที่ไหน พ่อนั่งอยู่ที่ไหน พ่อไปไหน ทำไมไม่พูดกับแม่ละลูก ดังนี้ เมื่อไม่เห็นจึงมาถึงที่นี้ทีเดียว.
               บทว่า ปญฺจมตฺเตหิ อสฺสสเตหิ ความว่า ถ้าโจรจักปราชัย เราจักติดตามไปจับโจรนั้น ถ้าเราปราชัย เราจักรีบหนีไป ฉะนั้น จึงออกไปด้วยกำลังอันเบาพร้อม.
               บทว่า เยน อาราโม ความว่า มาสู่พระอาราม เพราะเหตุไร.
               ได้ยินว่า พระราชานั้นทรงกลัวโจร มิได้ประสงค์จะไป เพราะโจร ทรงออกไปเพราะเกรงต่อคำครหา. เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงดำริว่า เราจักถวายบังคมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วนั่งอยู่ พระองค์จักตรัสถามว่า พระองค์พาพลออกมาเพราะเหตุไร ดังนี้.
               ทีนั้น เราจักทูลว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้สงเคราะห์ข้าพระองค์ด้วยประโยชน์ในสัมรายิกภพอย่างเดียวเท่านั้น แม้ประโยชน์ในปัจจุบันก็ทรงสงเคราะห์ด้วย พระผู้มีพระภาคเจ้าจักดำริว่า ถ้าเราชัยชนะก็จักทรงเฉยเสีย ถ้าเราแพ้ก็จะตรัสว่า มหาบพิตร ประโยชน์อะไรด้วยการเสด็จมาปรารภโจรคนเดียว แต่นั้น คนก็จะเข้าใจเราอย่างนี้ว่า พระราชาเสด็จออกจับโจร แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงห้ามเสียแล้วดังนี้ เล็งเห็นว่าจะพ้นคำครหาด้วยประการฉะนี้ จึงเสด็จไปแล้ว.
               ถามว่า พระราชาตรัสว่า ก็องคุลิมาลโจรนั้นมาจากไหนเพราะเหตุไร.
               ตอบว่า ตรัสเพื่อทรงเข้าใจพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เออก็ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูอุปนิสัยขององคุลิมาลโจรนั้นแล้ว พึงทรงนำเขามาให้บวช.
               บทว่า รญฺโญ ความว่า พระราชาเท่านั้นทรงกลัวพระองค์เดียวก็หามิได้. มหาชนแม้ที่เหลือก็กลัวทิ้งโล่และอาวุธ หลีกหนีไปที่เผชิญหน้านั้นเทียวเข้าเมืองปิดประตู ขึ้นโรงป้อม ยืนแลดูและกล่าวอย่างนี้ว่า องคุลิมาลรู้ว่า พระราชาเสด็จมาสู่สำนักของเราดังนี้แล้ว มานั่งที่พระเชตวันก่อน พระราชาถูกองคุลิมาลโจรนั้นจับไปแล้ว แต่พวกเราหนีพ้นแล้ว.
               บทว่า นตฺถิ เต อิโต ภยํ ความว่า ก็บัดนี้ องคุลิมาลนี้ไม่ฆ่ามดแดง ภัยจากสำนักขององคุลิมาลนี้ย่อมไม่มีแก่พระองค์.
               ถามว่า ท่านกล่าวด้วยบทว่า อถํ โภโต ดังนี้ เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า ท่านสำคัญอยู่ว่า การที่จะถือเอาชื่อที่เกิดขึ้นเพราะกรรมอันหยาบช้าแล้วร้องเรียกบรรพชิต ไม่สมควร เราจักร้องเรียกท่านด้วยสามารถแห่งโคตรของบิดามารดา ดังนี้ จึงถามแล้ว.
               บทว่า ปริกฺขารานํ ความว่า เราจักกระทำการขวนขวายเพื่อประโยชน์บริกขารเหล่านั้น และพระองค์กำลังกล่าวอยู่นั่นเทียว ก็ทรงเปลื้องผ้าสาฎกที่คาดท้องวางไว้ ณ ที่ใกล้เท้าของพระเถระแล้ว. ธุดงค์ ๔ ข้อมีอันอยู่ในป่าเป็นวัตรเป็นต้นมาแล้วในพระบาลี. แต่พระเถระได้สมาทานธุดงค์แล้วทั้ง ๑๓ ข้อทีเดียว เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อลํ อย่าเลย ดังนี้.
               ถามว่า ท่านหมายถึงอะไรจึงกล่าวว่า ยญฺหิ มยํ ภนฺเต ดังนี้.
               ตอบว่า ท่านจับช้างเป็นต้นที่พระราชาส่งมาแล้วในที่ที่มาแล้วว่า เราติดตามจับแม้ช้างที่วิ่งอยู่ได้ อย่างนี้. แม้พระราชาก็ทรงส่งช้างเป็นต้นเป็นอันมากไปหลายครั้งอย่างนี้ว่า จงเอาช้างไปล้อมเธอแล้วจับมา จงเอาม้าไปล้อม จงเอารถไปล้อมแล้วจับมา. เมื่อคนเหล่านั้นไปแล้วอย่างนี้ เมื่อองคุลิมาลลุกขึ้นส่งเสียงว่า เฮ้ย เราองคุลิมาล แม้คนเดียวก็ไม่อาจร่ายอาวุธ. จะทุบคนเหล่านั้นทั้งหมดฆ่าเสียแล้ว. ช้างก็เป็นช้างป่า ม้าก็เป็นม้าป่า รถก็หักแตกทำลายอยู่ตรงนั้นแหละ พระราชาหมายเอาเรื่องดังกล่าวมานี้ จึงตรัสอย่างนั้น.
               บทว่า บิณฺฑาย ปาวิสิ นี้มิใช่พระองคุลิมาลเข้าไปครั้งแรก ก็คำนี้ ท่านกล่าวหมายเอาวันที่เห็นหญิง. แลพระองคุลิมาลนี้เข้าไปบิณฑบาตแม้ทุกวันเหมือนกัน. แต่พวกมนุษย์เห็นท่านแล้วย่อมสะดุ้งบ้าง ย่อมหนีไปบ้าง ย่อมปิดประตูบ้าง. บางพวกพอได้ยินว่าองคุลิมาล ก็วิ่งหนีเข้าป่าไปบ้าง เข้าเรือนปิดประตูเสียบ้าง. เมื่อไม่อาจหนีก็ยืนผินหลังให้.
               พระเถระไม่ได้แม้ข้าวยาคูสักกระบวนหนึ่ง แม้ภัตสักทัพพีหนึ่ง ย่อมลำบากด้วยบิณฑบาต. เมื่อไม่ได้ในภายนอกก็เข้าไปยังพระนคร ด้วยคิดว่าเมืองทั่วไปแก่คนทุกคน. พอเข้าไปทางประตูนั้น ก็มีเหตุให้เสียงตะโกนระเบิดออกมาเป็นพันๆ เสียงว่า องคุลิมาลมาแล้วๆ.
               บทว่า เอตทโหสิ ความว่า ได้มีแล้วเพราะความบังเกิดขึ้นแห่งกรุณา. เมื่อองคุลิมาลฆ่าคนอยู่ถึงพันคนหย่อนหนึ่ง (๙๙๙) ก็มิได้มีความกรุณาสักคนเดียว แม้ในวันหนึ่ง เพียงแต่เห็นหญิงมีครรภ์หลงแล้ว ความกรุณาเกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นได้ด้วยกำลังแห่งบรรพชา.
               จริงอยู่ ความกรุณานั้นเป็นพลังแห่งบรรพชา.
               บทว่า เตนหิ ความว่า เพราะเหตุที่ท่านเกิดความกรุณานั้น.
               บทว่า อริยาย ชาติยา ความว่า ดูก่อนองคุลิมาล ท่านอย่าถือเอาเหตุนั้นเลย นั่นไม่ใช่ชาติของท่าน นั่นเป็นเวลาเมื่อเป็นคฤหัสถ์ ธรรมดาคฤหัสถ์ย่อมฆ่าสัตว์บ้าง ย่อมกระทำอทินนาทานเป็นต้นบ้าง. แต่บัดนี้ ชาติของท่านชื่อว่า อริยชาติ. เพราะฉะนั้น ท่านถ้ารังเกียจจะพูดอย่างนี้ว่า ยโต อหํ ภคินิ ชาโต ไซร้ เพราะเหตุนั้นแหละ จึงทรงส่งไปแล้วด้วยพระดำรัสว่า ท่านจงกล่าวให้ต่างออกไปอย่างนี้ว่า อริยาย ชาติยา ดังนี้.
               คำว่า ตํ อิตฺพึ เอวํ อวจ ความว่า ธรรมดาการคลอดบุตรของหญิงทั้งหลาย ผู้ชายไม่ควรจะเข้าไป พระเถระกระทำอะไร จึงบอกว่า พระองคุลิมาลเถระมากระทำสัจจกิริยาเพื่อคลอดโดยสวัสดี. แต่นั้น ชนเหล่านั้นจึงกั้นม่านปูลาดตั่งไว้ภายนอกม่านสำหรับพระเถระ.
               พระเถระนั่งบนตั่งนั้นกระทำสัจจกิริยาว่า ยโต อหํ ภคินิ สพฺพญฺญูพุทฺธสฺส อริยาย ชาติยา ชาโต ดูก่อนน้องหญิง จำเดิมแต่เราเกิดโดยอริยชาติแห่งพระสัพพัญญูพุทธเจ้า. ทารกก็ออกมาดุจน้ำไหลจากธรรมกรก พร้อมกับกล่าวคำสัตย์นั่นเทียว ทั้งมารดาทั้งบุตรมีความสวัสดีแล้ว.
               ก็แลพระปริตนี้ท่านกล่าวไว้ว่า นี้ชื่อว่ามหาปริต จะไม่มีอันตรายไรๆ มาทำลายได้. ชนทั้งหลายได้กระทำตั่งไว้ตรงที่ที่พระเถระนั่งกระทำสัจจกิริยา. ชนทั้งหลายย่อมนำแม้ดิรัจฉานตัวเมียที่มีครรภ์หลงมาให้นอนที่ตั่งนั้น. ในทันใดนั้นเอง ก็คลอดออกได้โดยง่าย. ตัวใดทุรพลนำมาไม่ได้ ก็เอาน้ำล้างตั่งนั้นไปรดศีรษะ ก็คลอดออกได้ในขณะนั้นทีเดียว. แม้โรคอย่างอื่นก็สงบไป. ได้ยินว่า พระมหาปริตนี้มีปาฏิหาริย์ตั้งอยู่ตลอดกัป.
               ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมให้พระเถระทำเวชกรรมหรือ.
               ตอบว่า พระองค์มิได้ให้กระทำ. เพราะพวกมนุษย์พอเห็นพระเถระก็กลัวต่างหนีกันไป. พระเถระย่อมลำบากด้วยภิกษาหาร ย่อมไม่อาจกระทำสมณธรรมได้. ทรงให้กระทำสัจจกิริยา เพราะจะสงเคราะห์พระเถระนั้น.
               ดังได้สดับมาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นได้มีปริวิตกอย่างนี้ว่า บัดนี้ พระองคุลิมารเถระกลับได้เมตตาจิต กระทำความสวัสดีให้แก่พวกมนุษย์ด้วยสัจจกิริยา ฉะนั้น พวกมนุษย์ย่อมสำคัญว่าควรเข้าไปหาพระเถระ ต่อแต่นั้นจักไม่ลำบากด้วยภิกษาหาร อาจกระทำสมณธรรมได้ จึงให้กระทำสัจจกิริยา เพราะทรงอนุเคราะห์ด้วยประการฉะนี้. สัจจกิริยามิใช่เป็นเวชกรรม.
               อนึ่ง เมื่อพระเถระเรียนมูลกัมมัฏฐานด้วยตั้งใจว่า จักกระทำสมณธรรมแล้วไปนั่ง ณ ที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน จิตก็จะไม่ดำเนินไปเฉพาะพระกัมมัฏฐาน. ย่อมปรากฏเฉพาะแต่ที่ที่ท่านยืนที่ดงแล้วฆ่าพวกมนุษย์เท่านั้น. อาการแห่งถ้อยคำก็ดี ความวิการแห่งมือและเท้าก็ดี ของคนที่กลัวความตายว่า ข้าพเจ้าเป็นคนเข็ญใจ ข้าพเจ้ายังมีบุตรเล็กๆ อยู่ โปรดให้ชีวิตแก่ข้าพเจ้าเถิดนายดังนี้ ย่อมมาสู่คลองมโนทวาราวัชชนะ ท่านจะมีความเดือดร้อน ต้องลุกไปเสียจากที่นั้น. ทีนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าให้กระทำสัจจกิริยาโดยอริยชาติ ด้วยทรงเล็งเห็นว่า พระองคุลิมาลต้องกระทำชาตินั้นให้เป็นอัพโพหาริกเสียก่อนแล้วเจริญวิปัสสนา จึงจักบรรลุพระอรหัตต์ได้.
               บทว่า เอโก วูปกฏฺโฐ เป็นต้น กล่าวไว้พิสดารแล้วในวัตถสูตร.
               บทว่า อญฺเญนปิ เลฑฺฑุขิตฺโต ความว่า ก้อนดินเป็นต้นที่คนซัดไปโดยทิศาภาคใดๆ ก็ตาม ในที่นี้เพียงล้อมไว้โดยรอบ เพื่อกันกาสุนัขและสุกรเป็นต้นให้กลับไป ก็มาตกลงที่กายของพระเถระอยู่อีก. เป็นอยู่อย่างนี้ในที่มีประมาณเท่าไร บ่วงแร้วที่ดักไว้ยังอยู่ จนท่านเที่ยวบิณฑบาตกลับแล้วก็สวมบ่วงจนได้.
               บทว่า ภินฺเนน สีเสน ความว่า ทำลายหนังกำพร้าแตกจนจดกระดูก.
               บทว่า พฺราหฺมณ ท่านกล่าวหมายถึงความเป็นพระขีณาสพ.
               บทว่า ยสฺส โข ติวํ พฺราหฺมณ กมฺมสฺส วิปาเกน นี้ ท่านกล่าวหมายเอาทิฏฐธรรมเวทนีกรรมที่เป็นสภาคกัน.
               จริงอยู่ กรรมที่ท่านกระทำนั่นแหละย่อมยังส่วนทั้งสามให้เต็ม
               ในบรรดาจิต ๗ ดวง ชวนจิตดวงแรกเป็นกุศลหรืออกุศล ก็ย่อมชื่อว่าทิฏฐธรรมเวทนียกรรม. กรรมนั้นย่อมให้ซึ่งวิบากในอัตภาพนี้เท่านั้น. เมื่อไม่อาจเช่นนั้นย่อมชื่อว่าเป็นอโหสิกรรมไป ด้วยหมวดสามนี้ คืออโหสิกรรม (นาโหสิ กมฺมวิปาโก) กรรมวิบากไม่ได้มีแล้ว (น ภวิสฺสติ กมฺมวิปาโก) กรรมวิบากจักไม่มี (นตฺถิ กมฺมวิปาโก) ไม่มีกรรมวิบาก.
               ชวนเจตนาดวงที่ ๗ อันให้สำเร็จประโยชน์ ชื่อว่าอุปปัชชเวทนียกรรม. กรรมนั้นย่อมให้ผลในอัตภาพถัดไป. เมื่อไม่อาจเช่นนั้น กรรมนั้นก็ชื่อว่าเป็นอโหสิกรรมโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นเทียว.
               ชวนเจตนา ๕ ดวงในระหว่างกรรมทั้งสองย่อมชื่อว่าอปราปริยเวทนียกรรม. กรรมนั้นย่อมได้โอกาสเมื่อใด ย่อมให้ผลเมื่อนั้นในอนาคต. เมื่อยังมีการเวียนว่ายอยู่ในสงสาร ชื่อว่าอโหสิกรรม ย่อมไม่มี.
               ก็กรรมทั้ง ๒ เหล่านี้ของพระเถระ คืออุปปัชชเวทนียกรรม ๑ อปราปริยเวทนียกรรม ๑ อันพระอรหัตตมรรคตัวกระทำกรรมให้สิ้นถอนขึ้นเสร็จแล้ว. ยังมีแต่ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม. กรรมนั้นแม้ท่านถึงพระอรหัตต์แล้ว ก็ยังให้ผลอยู่นั่นเทียว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงกรรมนี้ จึงตรัสว่า ยสฺส โข ตฺวํ เป็นต้น.
               เพราะฉะนั้น ในคำว่า ยสฺส โข นี้พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า ยาทิสสฺส โข ตฺวํ พฺราหฺณ กมฺมสฺส วิปาเกน ดูก่อนพราหมณ์ ด้วยผลแห่งกรรมเช่นใดแลท่าน.
               บทว่า อพฺภา มุตฺโต นี้ สักว่าเป็นยอดแห่งเทศนา.
               ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาว่าพระจันทร์พ้นจากเครื่องเศร้าหมองเหล่านี้ คือ หมอก น้ำค้าง ควัน ธุลี ราหู. ภิกษุเป็นผู้พ้นแล้วจากกิเลส คือความประมาท เป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังโลก คือขันธ์ อายตนะและธาตุของตนนี้ให้ผ่องใส คือกระทำความมืด คือกิเลสอันตนขจัดเสียแล้ว เหมือนอย่างพระจันทร์ไม่มีอุปกิเลสดังกล่าวมานี้ ย่อมยังโลกให้สว่างไสวฉะนั้น.
               บทว่า กุสเลน ปิถิยฺยติ ความว่า ย่อมปิดด้วยกุศล คือมรรค ได้แก่กระทำมิให้มีปฏิสนธิอีก.
               บทว่า ยุญฺชติ พุทฺธสาสเน ความว่า ประกอบแล้ว ประกอบทั่วแล้วด้วยกาย วาจาและด้วยใจ อยู่ในพุทธศาสนา. คาถาทั้ง ๓ เหล่านี้ เรียกอุทานคาถาของพระเถระ. ได้ยินว่า พระเถระเมื่อจะกระทำอาการป้องกันตนจึงกล่าวคำว่า ทิสา หิ เม นี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ทิสา หิ เม ความว่า ชนพวกที่เป็นศัตรูของเราย่อมติเตียนเราอย่างนี้ แม้พระองคุลิมาลจงเสวยทุกข์เหมือนอย่างที่พวกเราทั้งหลายเสวยทุกข์ เพราะอำนาจพวกญาติถูกองคุลิมาลฆ่าแล้วฉะนั้น หมายความว่า ชนเหล่านั้นจงได้ยินธรรมกถา คือสัจจะ ๔ ของเราทุกทิศ.
               บทว่า ยุญฺชนฺตุ ความว่า ผู้ประกอบแล้ว ประกอบทั่วแล้วด้วยกาย วาจาและใจอยู่.
               บทว่า เย ธมฺมเมวาทปยนฺติ สนฺโต ความว่า คนดี คือสัปบุรุษเหล่าใด ย่อมยึดธรรมนั่นเทียว คือสมาทาน คือถือเอา ชนเหล่านั้น (ผู้เกิดแต่มนู) เป็นข้าศึกของเรา จงคบ จงเสพ หมายความว่า จงมีรูปเป็นที่รักเถิด.
               บทว่า อวิโรธปสํสนํ คือเมตตา ท่านเรียกว่า อวิโรธ (ความไม่โกรธ) หมายความว่า ความเมตตาและความสรรเสริญ.
               บทว่า สุณนฺตุ ธมฺมํ กาเลน ความว่า ขอจงฟังขันติธรรม เมตตาธรรม ปฏิสังขาธรรมและสาราณียธรรมทุกๆ ขณะ.
               บทว่า ตญฺจ อนุวิธียนฺตุ ความว่า และจงกระทำตาม คือบำเพ็ญธรรมนั้นให้บริบูรณ์.
               บทว่า น ห ชาตุ โส มมํ หึเส ความว่า ผู้ใดเป็นผู้มุ่งร้ายต่อเรา ขอผู้นั้นอย่าพึงเบียดเบียนเราโดยส่วนเดียวเทียว.
               บทว่า อญฺญํ วา ปน กิญฺจิ นํ ความว่า จงอย่าเบียดเบียน จงอย่าทำให้ลำบากซึ่งเราอย่างเดียวเท่านั้นก็หาไม่ แม้บุคคลไรๆ อื่นก็อย่าเบียดเบียน อย่าทำให้ลำบาก.
               บทว่า ปปฺปุยฺย ปรมํ สนฺตึ ได้แก่ ถึงพระนิพพานอันมีความสงบอย่างยิ่ง.
               บทว่า รกฺเขยฺย ตสถาวเร ความว่า ผู้ยังมีตัณหา ท่านเรียกว่าผู้มีความสะดุ้ง. ผู้ไม่มีตัณหา ท่านเรียกว่าผู้มั่นคง. ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ดังนี้ บุคคลใดถึงพระนิพพาน บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้ที่สามารถเพื่อรักษาความสะดุ้งและความมั่นคงทั้งสิ้นได้ เพราะฉะนั้น บุคคลผู้เช่นกับด้วยเราย่อมถึงพระนิพพาน ชนทั้งหลายย่อมเบียดเบียนเราโดยส่วนเดียวหาได้ไม่ ดังนี้.
               ท่านกล่าวคาถาทั้งสามนี้ เพื่อป้องกันตน.
               บัดนี้เมื่อจะแสดงความปฏิบัติของตนเอง จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อุทกญฺหิ น ยนฺติ เนตฺติกา.
               บทว่า เนตฺติกา ในคาถานั้นความว่า ชนเหล่าใดชำระเหมืองให้สะอาดแล้วผูก (ทำนบ) ในที่ที่ควรผูกไขน้ำออกไป. บทว่า อุสุการา ทมยนฺติ ความว่า (ช่างศร) ทำด้วยน้ำข้าวย่างที่ถ่านเพลิง ดัดตรงที่โค้งทำให้ตรง. บทว่า เตชนํ ได้แก่ ลูกธนู. ช่างศรย่อมดัดลูกศรนั้นและให้คนอื่นดัด ฉะนั้น จึงเรียกว่า เตนชํ.
               บทว่า อตฺตานํ ทมยนฺติ ความว่า บัณฑิตย่อมฝึกตนคือกระทำให้ตรง คือกระทำให้หมดพยศ เหมือนอย่างผู้ทดน้ำย่อมไขน้ำไปโดยทางตรง ช่างศรก็ทำศรให้ตรง และช่างถากไม้ก็ถากไม้ให้ตรงฉะนั้น.
               บทว่า ตาทินา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้คงที่ด้วยอาการ ๕ อันไม่มีความผิดปกติในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์เป็นต้น คือ พระศาสดาผู้ถึงลักษณะแห่งความคงที่อย่างนี้คือ ชื่อว่าผู้คงที่ เพราะอรรถว่าคงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ชื่อว่าผู้คงที่ เพราะอรรถว่าคายเสียแล้ว. ชื่อว่าผู้คงที่ เพราะอรรถว่าสละแล้ว. ชื่อว่าผู้คงที่ เพราะอรรถว่าข้ามได้แล้ว. ชื่อว่าผู้คงที่ เพราะแสดงออกซึ่งความคงที่นั้น.
               บทว่า ภวเนตฺติ ได้แก่ เชือกแห่งภพ. คำนี้เป็นชื่อแห่งตัณหา.
               จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายถูกตัณหานั้นผูกหทัยไว้นำไปสู่ภพนั้นๆ ดุจโคที่เขาล่ามไว้ด้วยเชือกที่คอฉะนั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ภวเนตฺติ (ตัณหาอันนำสัตว์ไปสู่ภพ).
               บทว่า ผุฏฺโฐ กมฺมวิปาเกน ความว่า ผู้อันมรรคเจตนาถูกต้องแล้ว.
               ก็เพราะกรรมอันมรรคเจตนาเผา คือแผดเผาไหม้ให้ถึงความสิ้นไป ฉะนั้น มรรคเจตนานั้น ท่านจึงเรียกว่า "กรรมวิบาก". ก็ท่านพระองคุลิมาลนี้ อันกรรมวิบากนั้นถูกต้องแล้ว.
               บทว่า อนโณ ได้แก่ เป็นผู้ไม่มีกิเลส ย่อมไม่เป็นไปเพื่อทุกขเวทนา.
               อนึ่ง ในคำว่า อนโณ ภุญฺชามิ (เราเป็นผู้ไม่เป็นหนี้บริโภค) นี้พึงทราบการบริโภค ๔ อย่าง คือ เถยยบริโภค ๑ อิณบริโภค ๑ ทายัชชบริโภค ๑ สามิบริโภค ๑.
               ในบรรดาบริโภค ๔ อย่างนั้น การบริโภคของผู้ทุศีล ชื่อว่าเถยยบริโภค. ก็ผู้ทุศีลนั้นขโมยปัจจัย ๔ บริโภค.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอบริโภคก้อนข้าวของชาวเมืองด้วยความเป็นขโมย ดังนี้. ส่วนการไม่พิจารณาแล้วบริโภคของท่านผู้มีศีล ชื่อว่าอิณบริโภค (เป็นหนี้บริโภค) การบริโภคของพระเสขะ ๗ จำพวก ชื่อว่าทายัชชบริโภค (บริโภคโดยเป็นทายาท). การบริโภคของพระขีณาสพ ชื่อว่าสามิบริโภค (บริโภคโดยความเป็นเจ้าของ).
               บทว่า ไม่มีหนี้ ในที่นี้ ท่านกล่าวหมายเอาความไม่มีหนี้ คือกิเลส. ปาฐะว่า อนิโณ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า ภุญฺชามิ โภชนํ (เราจะฉันโภชนะ) ท่านกล่าวหมายเอาสามิบริโภค.
               บทว่า กามรติสนฺถวํ ความว่า ท่านทั้งหลายอย่าประกอบเนืองๆ คือ อย่ากระทำความเชยชมด้วยความยินดีเพราะตัณหาในกามทั้งสอง.
               บทว่า นยิทํ ทุมฺมนฺติตํ มม ความว่า ความที่เราเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วคิดว่า เราจักบวชอันใด ความคิดของเรานั้นมิใช่เป็นความคิดชั่วแล้ว.
               บทว่า สุวิภตฺเตสุ ธมฺเมสุ ความว่า ในธรรมที่เราเกิดขึ้นในโลกอย่างนี้ว่า เราเป็นศาสดาจำแนกดีแล้วเหล่านั้น พระนิพพานเป็นธรรมประเสริฐที่สุดอันใด เราเข้าถึงแล้ว เข้าถึงพร้อมแล้ว ซึ่งพระนิพพานนั้นนั่นเทียว เพราะฉะนั้น การมาถึงของเรานี้เป็นการมาดีแล้ว ไม่ปราศจากประโยชน์.
               บทว่า ติสฺโส วิชฺชา ได้แก่ ปุพเพนิวาสญาณ ทิพพจักขุญาณและอาสวักขยปัญญา.
               บทว่า กตํ พุทฺธสฺส สาสนํ ความว่า กิจที่ควรกระทำในศาสนาของพระพุทธเจ้าอันใด ยังมีอยู่ กิจอันนั้นทั้งหมด ข้าพเจ้ากระทำแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังเทศนาให้ถึงที่สุดด้วยวิชชาสามและโลกุตตรธรรมเก้า ด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาอังคุลิมาลสูตรที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ราชวรรค อังคุลิมาลสูตร พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดองคุลิมาลโจร จบ.
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 486อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 521อ่านอรรถกถา 13 / 535อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=8237&Z=8451
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=6010
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=6010
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :