ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 36อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 56อ่านอรรถกถา 13 / 62อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหบดีวรรค
ชีวกสูตร เรื่องหมอชีวกโกมารภัจจ์

               ๕. อรรถกถาชีวกสูตร               
               ชีวกสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น พระบาลีนี้ว่า ตสฺส ชีวกสฺส โกมารภจฺจสฺส อมฺพวเน ที่ชื่อว่าชีวก เพราะยังเป็นอยู่ (มีชีวิตอยู่). ที่ชื่อว่าโกมารภัจจ์ เพราะอันพระราชกุมารชุบเลี้ยงไว้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า พระกุมาร (หมายถึงอภัยราชกุมาร) ตรัสถามว่า นั่นอะไร พนาย ฝูงกาจึงเกลื่อนกลาด. พวกราชบุรุษทูลว่า ทารก พระเจ้าค่ะ. ตรัสถามว่า ยังเป็นอยู่หรือ พนาย. ทูลตอบว่า ยังเป็นอยู่พระเจ้าค่ะ. จึงตรัสสั่งให้นำทารกเข้าวัง มอบให้แม่นมเลี้ยงดู. คนทั้งหลายจึงตั้งชื่อทารกนั้นว่าชีวก เพราะยังเป็นอยู่และตั้งสร้อย ชื่อว่าโกมารภัจจ์ เพราะพระราชกุมารให้ชุบเลี้ยงไว้.
               ในพระสูตรนี้มีความสังเขปดังกล่าวมานี้ ส่วนเรื่องโดยพิสดารมาในชีวกวัตถุขันธกวินัย แม้คำวินิจฉัยเรื่องหมอชีวกโกมารภัจจ์นั้นท่านก็กล่าวไว้แล้วในอรรถกถาพระวินัย ชื่อสมันตปาสาทิกา.
               หมอชีวกโกมารภัจจ์ผู้นี้ถวายพระโอสถระบายอ่อนๆ ระบายพระกายที่มากไปด้วยโทษของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล เวลาจบอนุโมทนา ถวายผ้าคู่ที่ได้มาจากแคว้นสีพี. ดำริว่าเราต้องไปเฝ้าอุปัฏฐากพระพุทธองค์ วันละ ๒-๓ ครั้ง พระเวฬุวันนี้ก็อยู่ไกลเกินไป สวนมะม่วงของเรายังใกล้กว่า อย่าเลย เราจะสร้างวิหารถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ในสวนมะม่วงของเรานี้แหละ ดังนั้นจึงให้สร้างที่เร้น กุฎีและมณฑปเป็นต้น สำหรับพักกลางคืนและพักกลางวัน สร้างพระคันธกุฎีที่เหมาะแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในสวนอัมพวันนั้น สร้างกำแพงสีใบไม้แดงสูง ๑๘ ศอกล้อมสวนอัมพวันไว้ อังคาสเลี้ยงภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขด้วยภัตตาหาร พร้อมจีวรแล้วหลั่งทักษิโณทก มอบถวายวิหาร.
               ท่านหมายเอาสวนอัมพวันนั้น จึงกล่าวว่า ชีวกสฺส โกมารภจฺจสฺส อมฺพวเน ดังนี้.
               คำว่า อารภนฺติ แปลว่า ฆ่า.
               คำว่า อุทฺทิสฺส กตํ แปลว่า กระทำเจาะจง.
               คำว่า ปฏิจฺจ กมฺมํ แปลว่า กระทำเจาะจงตน.
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ปฏิจฺจ กมฺมํ นี้เป็นชื่อของนิมิตตกรรม. กรรมที่อาศัยตนเป็นเหตุกระทำมีอยู่ในเนื้อนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงอธิบายว่า กรรมมีอยู่เพราะอาศัยเนื้อ. ลัทธิ (ความเชื่อถือ) ของคนเหล่านั้นมีอยู่ว่า ผู้ใดบริโภคเนื้อเช่นนั้น (อุทิศมังสะ) ผู้นั้นก็ต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นด้วย ปาณฆาตกรรมจึงมีแม้แก่คนนั้น เหมือนกับฆ่าเอง.
               คำว่า ธมฺมสฺส จ อนุธมฺมํ พฺยากโรนฺติ ความว่า ย่อมกล่าวเหตุตามเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในคำนั้น การบริโภคเนื้อโดยส่วน ๓ ชื่อว่าเหตุ. การพยากรณ์อย่างนั้นของมหาชน ชื่อว่าตามเหตุ. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่เสวยเนื้อที่เขาทำเจาะจง (อุทิศมังสะ). เพราะฉะนั้น ข้อนั้นไม่ชื่อว่าเหตุ. การกระทำอย่างนั้นของพวกเดียรถีย์ ก็ไม่ชื่อว่าตามเหตุ.
               คำว่า สหธมฺมิโก วาทานุวาโท ความว่า การกล่าวหรือการกล่าวตามของพวกท่านมีเหตุ โดยเหตุที่คนอื่นๆ กล่าวแล้ว เป็นเหตุที่ผู้รู้ทั้งหลายพึงติเตียนวาทะอะไรๆ เล็กน้อย จะมาถึงหรือหนอ. ท่านอธิบายว่า เหตุที่จะพึงติเตียนในวาทะของพวกท่านย่อมไม่มีโดยอาการทั้งหมดหรือ.
               คำว่า อพฺภาจิกฺขนฺติ แปลว่า กล่าวข่ม (ตู่).
               คำว่า ฐาเนหิ คือ โดยเหตุทั้งหลาย.
               บรรดาส่วนทั้ง ๓ มีส่วนที่เห็นแล้วเป็นต้น เห็นเขาฆ่าเนื้อและปลาแล้วเอามา (ทำอาหาร) ถวายภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าส่วนที่เห็นแล้ว. ได้ยินมาว่า ชื่อว่าส่วนที่สงสัยมี ๓ อย่าง คือส่วนที่สงสัยว่าได้เห็นมา ส่วนที่สงสัยว่าได้ยินมา ส่วนที่สงสัยอันนอกไปจากทั้งสองอย่างนั้น.
               ในส่วนที่สงสัยทั้ง ๓ นั้น มีวินิจฉัยรวบรัด ดังนี้.
               ภิกษุทั้งหลายในพระศาสนานี้เห็นคนทั้งหลายถือตาข่ายและแหเป็นต้น กำลังออกไปจากบ้านหรือกำลังเที่ยวอยู่ในป่า. แต่วันรุ่งขึ้น เมื่อภิกษุเหล่านั้นเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านนั้น คนเหล่านั้นก็นำบิณฑบาต (อาหาร) ที่มีเนื้อปลาถวาย ภิกษุเหล่านั้นก็สงสัยโดยการเห็นนั้นว่า เนื้อปลาเขาทำมาเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลายหรือหนอ.
                นี้ชื่อว่าสงสัยโดยเห็น. รับอาหารที่สงสัยโดยการเห็นนั้น ไม่ควร. อาหารใด ภิกษุไม่ได้สงสัยอย่างนั้น รับอาหารนั้นก็ควร. ก็ถ้าคนเหล่านั้นถามว่า ท่านเจ้าข้า เหตุไรพระคุณเจ้าจึงไม่รับ. ฟังคำตอบของพวกภิกษุแล้ว ก็กล่าวว่า อาหารนี้ พวกเรามิได้ทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลายดอก แต่พวกเราทำเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือ เพื่อประโยชน์แก่ข้าราชการเป็นต้นต่างหาก รับอาหารนั้นก็ควร.
               ภิกษุทั้งหลายไม่เห็นอย่างนั้นเลย แต่ได้ยินมาว่า เขาว่าคนทั้งหลายถือตาข่ายและแหเป็นต้นออกจากบ้านไป หรือเที่ยวไปในป่า. รุ่งขึ้น เมื่อภิกษุเหล่านั้นเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านนั้น คนเหล่านั้นก็นำบิณฑบาตที่มีเนื้อปลามาถวาย ภิกษุเหล่านั้นก็สงสัยโดยการได้ยินนั้นว่า เขาทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลายหรือหนอ.
               นี้ชื่อว่าสงสัยโดยได้ยินมา. รับอาหารนั้น ไม่ควร. อาหารใดมิได้สงสัยอย่างนั้น รับอาหารนั้นก็ควร. แต่ถ้าคนเหล่านั้นถามว่า ท่านเจ้าข้า เหตุไรพระคุณเจ้าจึงไม่รับ. ฟังคำตอบของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ก็กล่าวว่า ท่านเจ้าขา อาหารนี้ พวกเรามิได้ทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลายดอก แต่พวกเราทำเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง หรือเพื่อประโยชน์แก่พวกข้าราชการเป็นต้นต่างหาก รับอาหารนั้นก็ควร.
               อนึ่ง ภิกษุไม่เห็น ไม่ได้ยินมา เมื่อภิกษุเหล่านั้นเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านนั้นคนทั้งหลายรับบาตรเอาไปตกแต่งบิณฑบาตที่มีเนื้อปลานำไปถวาย ภิกษุเหล่านั้นก็สงสัยว่า เขาทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลายหรือ.
               นี้ชื่อว่าสงสัยนอกไปจากทั้งสองอย่างนั้น. รับอาหารแม้นั้นก็ไม่ควร อาหารใดมิได้สงสัยอย่างนั้น รับอาหารนั้นก็ควร. แล้วถ้าคนเหล่านั้นถามว่า ท่านเจ้าข้า เหตุไร พระคุณเจ้าจึงไม่รับ. ฟังคำตอบของพวกภิกษุแล้ว ก็กล่าวว่า ท่านเจ้าข้า อาหารนี้ พวกเรามิได้ทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลายดอก เราทำเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง หรือเพื่อประโยชน์แก่ข้าราชการเป็นต้นต่างหาก หรือว่าพวกเราได้ปวัตตมังสะ (เนื้อที่เขามีอยู่แล้ว) เป็นของกัปปิยะ (ควร) ทั้งนั้น จึงตกแต่งเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย รับอาหารนั้นก็ควร. ในอาหารที่เขาทำเพื่อประโยชน์เป็นเปตกิจ (อุทิศ) สำหรับคนที่ตายไปแล้ว หรือเพื่อประโยชน์แก่การมงคลเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.
               แท้จริง อาหารใดๆ เขามิได้กระทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย และภิกษุทั้งหลายก็มิได้เคลือบแคลง สงสัยในอาหารอันใด รับอาหารนั้นทุกอย่างก็ควร.
               แต่ถ้าอาหารเขาทำอุทิศภิกษุทั้งหลายในวัดหนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นไม่รู้ว่าเขาทำเพื่อประโยชน์แก่ตน ภิกษุเหล่าอื่นรู้ ภิกษุเหล่าใดรู้ อาหารนั้นก็ไม่ควรแก่ภิกษุเหล่านั้น ควรแก่ภิกษุนอกจากนี้ ภิกษุเหล่าอื่นไม่รู้ ภิกษุเหล่านั้นเท่านั้นที่รู้ อาหารนั้นก็ไม่ควรแก่ภิกษุเหล่านั้น ควรแก่ภิกษุเหล่าอื่น. แม้ภิกษุเหล่านั้นรู้ว่า เขาทำเพื่อประโยชน์แก่พวกเรา แม้ภิกษุเหล่าอื่นก็รู้ว่าเขาทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุเหล่านั้น อาหารนั้นก็ไม่ควรแก่ภิกษุทั้งหมด. ภิกษุทั้งหมดไม่รู้ ก็ควรแก่ภิกษุทั้งหมดนั่นแหละ.
               บรรดาสหธรรมิก ๕ รูป อาหารที่เขาทำอุทิศแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ย่อมไม่สมควรแก่สหธรรมิกหมดทุกรูป.
               ก็ถ้าบางคนฆ่าสัตว์เจาะจงภิกษุรูปหนึ่ง แล้วบรรจุบาตรเต็มด้วยเนื้อสัตว์นั้นถวาย แม้ภิกษุนั้นก็รู้อยู่ว่า เขาทำเพื่อประโยชน์แก่ตน ครั้นรับแล้ว ก็ถวายแก่ภิกษุรูปอื่น ภิกษุนั้นก็ฉันด้วยความเชื่อถือภิกษุนั้น.
               ถามว่า ใครเป็นอาบัติ.
               ตอบว่า ไม่เป็นอาบัติทั้งสองรูป เพราะว่า อาหารใด เขาทำเจาะจงแก่เธอ เธอก็ไม่เป็นอาบัติเพราะเธอไม่ฉันอาหารนั้น อีกรูปหนึ่ง (ฉัน) ก็ไม่เป็นอาบัติเพราะไม่รู้ ในการรับกัปปิยมังสะ (เนื้อที่สมควรแก่สมณะ) ไม่เป็นอาบัติ.
               ภิกษุไม่รู้ว่าเป็นอุทิศมังสะ มารู้ภายหลังที่ฉันแล้ว ก็ไม่มีกิจคือการแสดงอาบัติ. ส่วนภิกษุไม่รู้ว่าเป็นอกัปปิยมังสะ มารู้ภายหลังฉันแล้ว ต้องแสดงอาบัติ. ภิกษุรู้ว่าเป็นอุทิศมังสะแล้วฉันเป็นอาบัติ แม้ภิกษุไม่รู้ว่าเป็นอกัปปิยมังสะแล้วฉัน ก็เป็นอาบัติทั้งนั้น เพราะฉะนั้นภิกษุผู้กลัวอาบัติ แม้กำหนดรูปเป็นอารมณ์อยู่ ถามแล้ว ค่อยรับมังสะหรือเธอรับด้วยคิดว่าจักถามแล้วฉัน ในเวลาฉันถามแล้วค่อยฉัน.
               ถามว่า เพราะอะไร.
               ตอบว่า เพราะเป็นของที่รู้ได้ยาก. จริงอยู่ เนื้อหมีก็เหมือนๆ กับเนื้อหมู แม้เนื้อเสือเหลืองเป็นต้น ก็คล้ายกับเนื้อมฤค เพราะฉะนั้น พระอาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า ถามแล้วค่อยรับจึงควร.
               คำว่า ไม่เห็น คือไม่เห็นเนื้อที่เขาฆ่าแล้วเอามาเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย.
               คำว่า ไม่ได้ยิน คือไม่ได้ยินว่า เขาฆ่าแล้วเอามาเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย.
               คำว่า ไม่สงสัย คือไม่สงสัย ด้วยอำนาจสงสัยว่าเห็นมาเป็นต้น.
               คำว่า ปริโภคนฺติ วทามิ ความว่า มังสะที่บริสุทธิ์ด้วยเหตุ ๓ ประการนี้ ชื่อว่าบริสุทธิ์โดยส่วน ๓
               จริงอยู่ การฉันมังสะที่บริสุทธิ์โดยส่วน ๓ นั้น ก็เช่นเดียวกับฉันกับข้าวและผักดองที่เกิดเองในป่า ภิกษุผู้อยู่ด้วยเมตตา ฉันมังสะเช่นนั้นย่อมไม่มีโทษ เพราะฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ก็มังสะนั้นควรฉันได้.
               บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงความที่ภิกษุผู้อยู่ด้วยเมตตา ไม่มีโทษในการฉันมังสะเช่นนั้น จึงตรัสว่า อิธ ชีวก ภิกฺขุ ดังนี้เป็นต้น. ในคำนั้น ถึงพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงกำหนดแล้วตรัสว่า ภิกฺขุ ก็จริง ที่แท้พึงทราบว่า ทรงหมายถึงพระองค์นั่นแลจึงตรัสอย่างนี้.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงพระองค์เท่านั้นใน ๓ อาคตสถาน คือในมหาวัจฉโคตตสูตร ในจังกีสูตร และในสูตรนี้. ในอนังคณสูตร หนหลังที่ว่า ปณีเตน ปิณฺฑปาเตน ท่านหมายเอาว่า บิณฑบาตที่มีค่ามากทุกชนิด ชื่อว่าบิณฑบาตอันประณีต แต่ในสูตรนี้ หมายเอามังสะที่สุก.
               คำว่า อคธิโต คือ ไม่ตะกรามด้วยความอยาก.
               คำว่า อมุจฺฉิโต คือ ไม่หมกมุ่นด้วยการหมกมุ่นด้วยความอยาก.
               คำว่า อนชฺฌาปนฺโน คือ ไม่ถูกความอยากครอบงำ. อธิบายว่า ไม่เป็นดังกาที่ต้องการขม้ำทั้งหมดกลืนลงคอ ด้วยการจิกทีเดียวเท่านั้น.
               คำว่า อาทีนวทสฺสาวี คือ เห็นโทษโดยนัยเป็นต้นว่า อาหารนี้กักอุ่นอยู่ที่พื้นท้องคืนหนึ่ง แล้วก็ออกไปทางปากแผล (ทวาร) ทั้ง ๙.
               คำว่า นิสฺสรณปญฺโญ ปริภุญฺชติ คือ กำหนดด้วยปัญญาว่า การบริโภคอาหารก็เพื่อประโยชน์อันนี้ แล้วบริโภค.
               คำว่า อตฺตพฺยาพาธาย วา เจเตติ คือ คิดเพื่อทำทุกข์แก่ตน.
               คำว่า สุตํ เม ตํ คือ เรื่องนั้นเราได้ยินมา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า แต่ก่อน เรื่องนั้น เราเพียงแต่ได้ยินมาเท่านั้น.
               คำว่า สเจ โข เต ชีวก อิทํ สนฺธาย ภาสิตํ ความว่า ดูก่อนชีวก ท้าวมหาพรหมละพยาบาทเป็นต้นด้วยวิกขัมภนปหาน ละด้วยอำนาจการข่มไว้ ด้วยเหตุนั้น ท้าวมหาพรหมนั้นจึงชื่อว่าอยู่ด้วยเมตตา ถ้าท่านกล่าวหมายถึงข้อนี้ด้วยสมุจเฉทปหานละอย่างเด็ดขาดของเรา เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็อนุมัติคำนี้ของท่าน หมอชีวกก็รับ.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงพรรณนาเทศนาให้ยิ่งขึ้นไป แม้ด้วยอำนาจพรหมวิหารที่เหลือแก่หมอชีวกนั้น จึงตรัสว่า อิธ ชีวก ภิกฺขุ ดังนี้เป็นต้น.
               คำนอกนั้นมีเนื้อความตื้นทั้งนั้น.
               อรรถว่า โย โข ชีวก นี้เป็นอนุสนธิที่แยกแสดงต่างหาก.
               จริงอยู่ ในฐานะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปิดประตู ทรงแสดงความเอ็นดูสัตว์ ก็ถ้าคนทั้งหลายถวายบิณฑบาตมีรสอย่างยิ่งแก่ภิกษุไรๆ นั้นอย่างนี้แล้ว กลับได้สวรรค์ถึงแสนกัปไซร้ เขาก็จะพึงทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ทำผู้อื่นให้ตายแล้ว ถวายบิณฑบาตมีรสได้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงปฏิเสธความข้อนั้น จึงตรัสว่า โย โข ชีวก ตถาคตํ ดังนี้เป็นต้น.
               ในคำนั้น คำว่า อิมินา ปฐเมน ฐาเนน ได้แก่ ด้วยเหตุที่หนึ่ง ซึ่งเป็นเพียงคำสั่งเท่านั้น อันนี้ก่อน.
               คำว่า คลปฺปเวฐเกน ได้แก่ สัตว์ที่ถูกเชือกผูกคอลากมาหรือสัตว์ที่มีคอถูกผูกลากมา.
               คำว่า อารภิยมาโน ได้แก่ ถูกเขาทำให้ตาย.
               คำว่า อกปฺปิเยน อสฺสาเทติ ความว่า คนที่ให้ภิกษุฉันเนื้อหมีด้วยสำคัญว่าเนื้อหมู ฉันเนื้อเสือเหลืองด้วยสำคัญว่าเนื้อมฤค ก็พูดเสียดสีว่า ท่านยังชื่อว่าสมณะหรือ ท่านฉันอกัปปิยมังสะ.
               ส่วนคนเหล่าใดรู้ว่า เนื้อหมีเหมือนเนื้อหมู เนื้อเสือเหลืองเหมือนเนื้อมฤค ในยามอาหารหายาก หรือใช้เยียวยาความเจ็บไข้ได้ก็พูดว่า นี้เนื้อหมู นี้เนื้อมฤค ให้ภิกษุฉันด้วยอัธยาศัยเกื้อกูล พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงหมายถึงคนเหล่านั้น ตรัสคำนี้ เพราะคนเหล่านั้นย่อมได้บุญเป็นอันมาก บุคคลผู้นี้กล่าวว่า พระเจ้าข้า ข้าพระบาทนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า ทั้งพระธรรม ทั้งพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ชื่อว่าเป็นอริยสาวกผู้ประสบผล ผู้รู้คำสั่งสอนเป็นผู้เห็นสัจจะแล้ว ส่วนหมอชีวกหยั่งซึ้งพระธรรมเทศนานี้ เกิดความเลื่อมใส กระทำการชมเชย (สดุดี) ธรรมกถา จึงกล่าวอย่างนี้.
               คำนอกนี้ในที่ทุกแห่งตื้นทั้งนั้น.

               จบอรรถกถาชีวกสูตรที่ ๕.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหบดีวรรค ชีวกสูตร เรื่องหมอชีวกโกมารภัจจ์ จบ.
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 36อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 56อ่านอรรถกถา 13 / 62อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=950&Z=1043
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=844
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=844
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :