ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 571อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 584อ่านอรรถกถา 13 / 604อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พราหมณวรรค
พรหมายุสูตร พรหมายุพราหมณ์ต้องการเฝ้าพระพุทธเจ้า

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               บทว่า ทรงมีพระกายเต็มในที่ทั้ง ๗ คือ พระตถาคตเจ้านั้นมีพระมังสะเต็มในที่ ๗ แห่งเหล่านี้ คือ หลังพระหัตถ์ทั้ง ๒ หลังพระบาททั้ง ๒ จะงอยบ่าทั้ง ๒ พระศอ ๑ ฉะนั้น จึงชื่อว่ามีพระกายเต็มในที่ ๗ แห่ง.
               ส่วนของคนเหล่าอื่นปรากฏเส้นเอ็นเป็นร่างแหที่หลังมือหลังเท้า ที่จะงอยบ่าและที่คอตรงปลายเป็นกระดูก. คนเหล่านั้นย่อมปรากฏดุจดังมนุษย์เปรต. พระตถาคตเจ้าหาเป็นเช่นนั้นไม่. คือพระตถาคตเจ้าทรงมีพระศอเช่นกับเขาสัตว์ทอง ที่ขัดด้วยหลังมือแล้ววางไว้ด้วยร่างแหเอ็นเป็นเครื่องปกปิด ชื่อว่าย่อมปรากฏ เหมือนรูปศิลาและรูปจิตรกรรม เพราะมีพระมังสะเต็มในที่ ๗ แห่ง.
               ชื่อว่า มีพระกายเต็มดังกึ่งกายท่อนหน้าแห่งสีหะ เพราะกายของพระองค์ดุจท่อนหน้าแห่งสีหะ. คือกายท่อนหน้าแห่งสีหะบริบูรณ์ กายท่อนหลังไม่บริบูรณ์. ส่วนของพระตถาคตเจ้าพระกายทั้งหมดบริบูรณ์ดุจกายท่อนหน้าของสีหะ. แม้พระกายนั้นใช่ว่าจะตั้งอยู่ไม่ดีไม่งาม เพราะโอนไปเอนไปเป็นต้น ในที่นั้นๆ ดุจของสีหะหามิได้. แต่ยาวในที่ที่ควรยาว. ในที่ที่ควรสั้น ควรหนา ควรกลมก็เป็นเช่นนั้นเทียว.
               สมดังที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เมื่อผลของกรรมเป็นที่ชอบใจ ปรากฏแล้ว ย่อมงามด้วยอวัยวะยาวเหล่าใด อวัยวะเหล่านั้นยาวก็ดำรงอยู่ ย่อมงามด้วยอวัยวะสั้นเหล่าใด อวัยวะสั้นเหล่านั้นก็ดำรงอยู่ ย่อมงามด้วยอวัยวะหนาเหล่าใด อวัยวะหนาเหล่านั้นก็ดำรงอยู่ ย่อมงามด้วยอวัยวะบางเหล่าใด อวัยวะบางเหล่านั้นก็ดำรงอยู่ ย่อมงามด้วยอวัยวะกลมเหล่าใด อวัยวะกลมเหล่านั้นก็ดำรงอยู่ อัตภาพของพระตถาคตเจ้า ความวิจิตรต่างๆ สั่งสมแล้ว ด้วยความวิจิตรแห่งบุญอันบารมี ๑๐ ตกแต่งแล้วด้วยประการฉะนี้ ช่างศิลป์ทั้งปวงหรือผู้มีฤทธิ์ทั้งปวงในโลก ก็ไม่อาจกระทำแม้รูปเปรียบแก่พระตถาคตเจ้าได้ดังนี้.
               บทว่า จิตนฺตรํโส ความว่า ระหว่างสีข้างทั้งสอง ท่านเรียกว่ามีสีข้าง. สีข้างนั้นของพระองค์งดงาม คือบริบูรณ์ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงชื่อว่า จิตนฺตรํโส แปลว่ามีพระปฤษฎางค์เต็ม. ส่วนสีข้างของคนอื่นนั้นต่ำ. สีข้างด้านหลังทั้งสองย่อมปรากฏแยกกัน. ส่วนของพระตถาคตเจ้าชั้นเนื้อตั้งแต่สะเอวถึงพระศอขึ้นปิดหลังตั้งอยู่ ดุจแผ่นทองที่เขายกขึ้นไว้สูง.
               บทว่า ทรงมีปริมณฑลดังต้นไทรย้อย ความว่า ทรงมีปริมณฑลดุจต้นไทรย้อย ต้นไทรย้อยมีลำต้นและกิ่งเท่ากัน ๕๐ ศอกบ้าง ๑๐๐ ศอกบ้าง มีประมาณเท่ากันทั้งโดยยาว ทั้งโดยกว้างฉันใด มีประมาณเท่ากันทั้งทางพระกายบ้าง ทางวาบ้างฉันนั้น. ของคนเหล่าอื่น ทั้งกายทั้งวามีประมาณยาวไม่เท่ากันอย่างนั้น. เพราะฉะนั้นแหละ ท่านจึงกล่าวว่า ยาวตกฺวสฺส กาโย ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ยาวตกฺวสฺส ตัดเป็น ยาวตโก อสฺส (ของพระองค์เท่าใด).
               บทว่า ทรงมีพระศอกลมเสมอกัน คือมีพระศอกลมเสมอกัน. คนบางพวกมีคอยาว มีคอคดและมีคอหนา เหมือนนกกระเรียน เหมือนนกยาง ในเวลาพูดเส้นเอ็นบนศีรษะย่อมปรากฏ เสียงออกมาค่อย. ของพระตถาคตเจ้านั้นไม่เป็นอย่างนั้น คือของพระตถาคตเจ้ามีพระศอเช่นกับเขาสัตว์ทอง กลมดี. ในเวลาตรัสเส้นเอ็นไม่ปรากฏ มีเสียงดังดุจฟ้าร้อง ฉะนั้น.
               บทว่า รสตฺตสคฺคี ความว่า ชื่อว่า รสตฺตสา เพราะอรรถว่าประสาทรับรสเลิศ. คำนั้นเป็นชื่อของประสาทเครื่องรับรสอาหาร. ชื่อว่า รสตฺตสคฺคี เพราะอรรถว่าประสาทเหล่านั้นของพระองค์เป็นเลิศ. ก็ประสาทสำหรับรับรสอาหาร ๗,๐๐๐ ของพระตถาคตเจ้ามีปลายตั้งขึ้นต่อที่คอนั่นเอง. อาหารแม้มีประมาณเท่าเมล็ดงาวางบนปลายลิ้น ย่อมแผ่ไปทั่วพระกายทั้งสิ้น. เพราะเหตุนั้นแหละ เมื่อพระองค์ทรงตั้งความเพียรใหญ่ ทรงยังพระกายให้เป็นไปแม้ด้วยข้าวสารเมล็ดหนึ่งเป็นต้นบ้าง ด้วยอาหารมีประมาณฟายมือหนึ่งแห่งยางถั่วดำบ้าง. แม้ด้วยอาหารมีประมาณฟายมือหนึ่งแห่งยางถั่วดำ แต่ของคนเหล่าอื่น โอชาไม่แผ่ไปตลอดกายทั้งสิ้น เพราะไม่มีเช่นนั้น. เพราะเหตุนั้น ชนเหล่านั้นจึงมีโรคมาก. ลักษณะนี้ย่อมปรากฏด้วยอำนาจแห่งผลที่ไหลออก กล่าวคือความมีอาพาธน้อย.
               ชื่อว่า ทรงมีพระหนุดังคางราชสีห์ เพราะอรรถว่าคางของพระองค์ดุจคางแห่งสีหะ. ในบทนั้น คางล่างของราชสีห์ย่อมเต็ม คางบนไม่เต็ม. ส่วนของพระตถาคตเจ้าย่อมเต็มทั้ง ๒ ข้างดุจคางล่างของราชสีห์ ย่อมเป็นเช่นกับพระจันทร์แห่งปักษ์ ดิถีที่ ๑๒ ค่ำ.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า
               มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ เป็นต้น ชื่อว่าทรงมีพระทนต์ ๔๐ ซี่ เพราะอรรถว่ามี ๒๐ ซี่ที่อยู่พระหนุข้างบน ๒๐ ซี่ที่พระหนุด้านล่าง. คือ ของคนเหล่าอื่นแม้มีฟันเต็มก็มีฟัน ๓๒ ซี่. ส่วนของพระตถาคตเจ้ามี ๔๐ ซี่.
               ของคนเหล่าอื่นมีฟันไม่เสมอกันคือ บางพวกมีฟันยาว บางพวกมีฟันสั้น.
               ส่วนของพระตถาคตเจ้า เสมอกันดุจตัวสังข์ที่เขาขัดไว้เป็นอันดี.๑-
____________________________
๑- ฉ. อยมฏฺฏฉินฺนสงฺปลํ

               ของคนเหล่าอื่น ฟันจะห่างเหมือนฟันจระเข้ เมื่อกินปลาและเนื้อเป็นต้นจะเต็มซอกฟัน. ส่วนของพระตถาคตเจ้าจะมีฟันไม่ห่าง ดุจแถวเพชรที่เรียงไว้ดีที่แผ่นลายกนก เหมือนกำหนดที่แสดงด้วยแปรง.
               ส่วนฟันของคนเหล่าอื่น ฟันผุตั้งขึ้น. ด้วยเหตุนั้น บางคนเขี้ยวดำบ้าง มีสีต่างๆ บ้าง. ส่วนพระตถาคตเจ้ามีพระเขี้ยวขาวสนิท พระเขี้ยวประกอบด้วยแสงสุก ล่วงพ้นแม้ดาวประจำรุ่ง. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สุสุกฺกทาโฐ ทรงมีพระเขี้ยวอันขาวงาม.
               บทว่า ปหุตชิวฺโห ความว่า ลิ้นของคนเหล่าอื่น หนาบ้าง บางบ้าง สั้นบ้าง ไม่เสมอบ้าง. ส่วนของพระตถาคตเจ้าอ่อน ยาว ใหญ่ สมบูรณ์ด้วยวรรณะ. พระองค์ม้วนพระชิวหานั้นเหมือนเข็มกฐินสอดช่องนาสิกทั้งสองได้ เพราะเป็นชิวหาอ่อนเพื่อบรรเทาความสงสัยของผู้มาตรวจดูลักษณะนั้น. จะสอดช่องพระกรรณทั้งสองได้ เพราะพระชิวหายาว. จะปิดพระนลาฏแม้ทั้งสิ้นอันมีชายพระเกศาเป็นที่สุดได้ เพราะพระชิวหาใหญ่.
               เมื่อประกาศว่า พระชิวหานั้นอ่อน ยาวและใหญ่ ย่อมบรรเทาความสงสัยได้ ด้วยประการฉะนี้. ท่านพระสังคีติกาจารย์อาศัยชิวหาที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะสามประการฉะนี้ จึงกล่าวว่า ปหุตชิวฺโห ดังนี้
               บทว่า พฺรหฺมสฺสโร ความว่า คนเหล่าอื่นมีเสียงขาดบ้าง มีเสียงแตกบ้าง มีเสียงดุจกาบ้าง. ส่วนพระตถาคตเจ้าทรงประกอบด้วยเสียงเช่นกับเสียงมหาพรหม. คือเสียงของมหาพรหม ชื่อว่าแจ่มใส เพราะไม่ถูกดีและเสมหะพัวพัน. กรรมที่พระตถาคตเจ้าทรงบำเพ็ญย่อมยังวัตถุแห่งเสียงนั้นให้บริสุทธิ์. เสียงที่ตั้งขึ้นตั้งแต่พระนาภี ย่อมแจ่มใส ประกอบด้วยองค์ ๘ ตั้งขึ้น เพราะวัตถุบริสุทธิ์. ชื่อว่าทรงมีพระดำรัสดังเสียงนกการเวก เพราะตรัสดุจนกการเวก. หมายความว่ามีพระสุรเสียงไพเราะดุจนกการเวกร้องอย่างเมามัน.
               ในข้อนั้น การเปล่งเสียงร้องของนกการเวกเป็นอุทาหรณ์.
               ได้ยินว่า เมื่อนกการเวกจิกมะม่วงสุกอันมีรสหวานอร่อยด้วยจะงอยปาก ลิ้มรสที่ไหลออก แล้วให้จังหวะด้วยปีกกู้ก้องอยู่ สัตว์จตุบาทเป็นต้นย่อมเหมือนเคลิบเคลิ้มเริ่มงงงวย. สัตว์จตุบาทแม้ที่ขวนขวายหาอาหารก็ทิ้งหญ้าที่อยู่ในปากเสียฟังเสียงนกนั้น. แม้พวกมฤคกำลังติดตามเนื้อน้อยๆ อยู่ก็ไม่ย่างเท้าที่ยกขึ้นแล้วหยุดอยู่. แม้เนื้อที่ถูกติดตามก็เลิกกลัวตายหยุดอยู่. แม้นกที่บินไปในอากาศก็ห่อปีกหยุดบิน. ปลาในน้ำก็ไม่โบกครีบ ฟังแต่เสียงนั้นหยุดอยู่. นกการเวกร้องไพเราะด้วยประการฉะนี้.
               แม้พระเทวีของพระเจ้าธรรมาโศกพระนามว่าอสันธิมิตตา ถามพระสงฆ์ว่า ท่านผู้เจริญ เสียงของใคร เหมือนกับพระสุรเสียงของพระพระพุทธเจ้ามีบ้างหรือ.
               พระสงฆ์. มีเสียงนกการเวก.
               พระนาง. ท่านผู้เจริญ นกเหล่านั้นอยู่ที่ไหน.
               พระสงฆ์. อยู่ที่ป่าหิมพานต์.
               พระนางนั้นกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันใคร่จะเห็นนกการเวก. พระราชาทรงเปิดกรงทองตรัสว่า ขอนกการเวกจงมาจับอยู่ที่กรงนี้. กรงจึงไปอยู่ข้างหน้านกการเวกตัวหนึ่ง. นกนั้นคิดว่า กรงมาตามพระราชโองการ ไม่อาจเพื่อจะไม่ไป จึงจับอยู่ที่กรงนั้น. กรงจึงมาอยู่ตรงพระพักตร์ของพระราชา. แต่ใครๆ ก็ไม่อาจให้นกการเวกส่งเสียงได้.
               ลำดับนั้น พระราชาตรัสว่า พนาย นกพวกนี้จะส่งเสียงร้องได้อย่างไร.
               อำมาตย์ทูลว่า ขอเดชะ นกพวกนี้เห็นพวกญาติแล้วจะส่งเสียงร้องได้.
               ทีนั้น พระราชาจึงทรงรับสั่งให้วงล้อมด้วยกระจก. นกนั้นครั้นเห็นเงาของตนเอง สำคัญว่าญาติของเรามาแล้ว จึงให้จังหวะด้วยปีก ร้องด้วยเสียงอันไพเราะดุจคนเป่าปี่แก้ว ฉะนั้น. พวกมนุษย์ในพระนครทั้งสิ้นงวยงงแล้วเหมือนคนเมา.
               พระนางอสันธิมิตตาคิดว่า สัตว์ดิรัจฉานนี้ยังมีเสียงไพเราะเช่นนี้ก่อน เสียงของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ถึงศิริแห่งสัพพัญญุตญาณ จะไพเราะเพียงไหนหนอ จึงเกิดปีติไม่ละปีตินั้น ทรงตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พร้อมด้วยนางสนม ๗๐๐. เสียงของนกการเวกไพเราะด้วยประการฉะนี้. พระสุรเสียงของพระตถาคตเจ้ายังไพเราะกว่านั้นถึงร้อยเท่า พันเท่า. แต่เพราะไม่มีเสียงไพเราะอย่างอื่นจากนกการเวกในโลก ท่านจึงกล่าวว่า กรวิกภาณี ดังนี้.
               บทว่า ทรงมีดวงพระเนตรดำสนิท ความว่า มิใช่มีดวงพระเนตรดำทั้งสิ้นเทียว. แต่ดวงพระเนตรของพระองค์ประกอบด้วยสีดำในที่ที่ควรดำ บริสุทธิ์ยิ่งดุจดอกผักตบ. ประกอบด้วยสีเหลืองเช่นกับดอกกรรณิกา ในที่ที่ควรเหลือง. ประกอบด้วยสีแดง เช่นกับดอกชบาในที่ที่ควรแดง. ประกอบด้วยสีขาว เช่นกับดาวประกายพฤกษ์ ในที่ที่ควรขาว. ประกอบด้วยสีดำ เช่นกับเมล็ดประคำดีควายในที่ที่ควรดำ ย่อมปรากฏเช่นกับสีหบัญชรแก้วที่ยกขึ้นห้อยไว้ ณ วิมานทอง.
               บทว่า ปขุมํ ในคำว่า โคปขุโม นี้ท่านประสงค์เอาดวงพระเนตรทั้งหมด. ดวงพระเนตรนั้นมีธาตุหนาของลูกโคดำ ใสแจ๋วคล้ายดวงตาของลูกโคแดง หมายความว่า มีดวงพระเนตรเหมือนลูกโคแดงที่เกิดชั่วครู่นั้น. ก็ดวงตาของคนเหล่าอื่นไม่เต็ม ประกอบด้วยนัยตา เฉออกไปบ้าง ลึกไปบ้าง เช่นเดียวกับนัยน์ตาของช้าง หนูและกาเป็นต้น. ส่วนของพระตถาคตเจ้ามีพระเนตรที่อ่อนดำสนิท สุขุมตั้งอยู่ดุจคู่แก้วมณีที่เขาล้างขัดไว้ฉะนั้น.
               บทว่า อุณฺณา ได้แก่ พระอุณณาโลม (ขนขาว).
               บทว่า ภมุกนฺตเร ความว่า พระอุณณาโลมเกิดเหนือนาสิกตรงกลางคิ้วทั้งสองนั่นเทียว แต่เกิดที่กลางพระนลาฏสูงขึ้นไป.
               บทว่า โอทาตา ได้แก่ บริสุทธิ์ มีสีดุจดาวประจำรุ่ง.
               บทว่า มุทุ ความว่า เช่นกับปุยฝ่ายที่เขาจุ่มในเนยใส แล้วสลัดถึงร้อยครั้งตั้งไว้.
               บทว่า ตูลสนฺนิภา ความว่า เสมอด้วยปุยดอกงิ้วและปุยลดา. นี้เป็นข้ออุปมาของความที่พระอุณณาโลมนั้นมีสีขาว.
               ก็พระอุณณาโลมนั้น เมื่อจับที่ปลายดึงมา จะมีประมาณเท่ากึ่งแขน. ปล่อยไปแล้ว จะขดกลมมีปลายสูงขึ้นอยู่ โดยเป็นทักษิณาวัฏ. ย่อมรุ่งเรืองด้วยศิริอันชื่นใจยิ่ง เหมือนกับฟองเงินที่เขาวางไว้ตรงกลางแผ่นทอง เหมือนสายน้ำนมที่ไหลออกจากหม้อทอง และเหมือนดาวประจำรุ่ง (ดาวพระศุกร์) ในท้องฟ้า อันรุ่งเรืองด้วยแสงอรุณฉะนั้น.
               คำว่า อุณฺหิสสีโส นี้ ท่านกล่าวอาศัยอำนาจประโยชน์ ๒ ประการ คือ มีพระนลาฏเต็ม ๑ มีพระเศียรเต็ม ๑. คือชั้นพระมังสะตั้งขึ้น ตั้งแต่หมวกพระกรรณเบื้องขวาไปปิดพระนลาฏทั้งสิ้น เต็มไปจดหมวกพระกรรณเบื้องซ้ายอยู่ รุ่งเรืองดุจแผ่นกรอบพระพักตร์ ที่พระราชาทรงสวมไว้.
               ได้ยินว่า นักปราชญ์ทราบลักษณะนี้ของพระโพธิสัตว์ในปัจฉิมภพ จึงได้กระทำแผ่นพระอุณหิสถวายพระราชา. อรรถข้อหนึ่งเท่านี้ก่อน. ส่วนคนเหล่าอื่นมีศีรษะไม่เต็ม. บางคนมีศีรษะดุจหัวลิง บางคนมีศีรษะดุจผลไม้ บางคนมีศีรษะดุจกระดูก บางคนมีศีรษะดุจทะนาน บางคนมีศีรษะงุ้ม. ส่วนของพระตถาคตมีพระเศียรเช่นกับฟองน้ำเต็มดี ดุจวนด้วยปลายเหล็กแหลมไว้. ชื่อว่ามีพระเศียรกลมดังประดับด้วยกรอบพระพักตร์ เพราะอรรถว่าส่วนแห่งพระเศียรโพกด้วยแผ่นอุณหิสโดยนัยก่อนในพระสูตรนั้น. ชื่อว่ามีพระเศียรกลมดังประดับด้วยกรอบพระพักตร์ เพราะอรรถว่ามีพระเศียรเป็นปริมณฑล ในที่ทุกส่วนดุจกรอบพระพักตร์ ตามนัยที่สอง.
               ก็มหาปุริสลักษณะเหล่านี้ ย่อมเป็นอันท่านแสดงส่วนทั้ง ๔ เหล่านี้ คือ กรรม ๑ ผลอันบุคคลพึงเห็นเสมอด้วยกรรม ๑ ลักษณะ ๑ อานิสงส์แห่งลักษณะ ๑ ในลักษณะแต่ละอย่างๆ ท่านยกมากล่าวแสดงไว้เป็นอันกล่าวไว้ดีแล้ว. เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงแสดงกรรมเป็นต้นเหล่านี้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในลักขณสูตรแล้วกล่าวเถิด. เมื่อไม่อาจวินิจฉัยด้วยสามารถแห่งพระสูตร ก็พึงถือเอาโดยนัยที่กล่าวไว้ในอรรถกถาแห่งพระสูตรนั่นเทียว ในอรรถกถาฑีฆนิกายชื่อสุมังคลวิลาสินี เทอญ.
               บทว่า อิเมหิ โข โส โภ ภวํ โคตโม ความว่า อุตตรมาณพกล่าวคำเป็นต้นว่า คจฺฉนฺโต โข ปน ดังนี้ เพื่อจะแสดงแม้เนื้อความนี้แล้ว บอกถึงพระกิริยาและพระอาจาระว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ผู้เจริญ พระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้นทรงประกอบด้วยพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการเหล่านี้ ทรงเที่ยวไป ประหนึ่งเสาค่ายทองอันวิจิตรด้วยแก้ว ที่บุคคลยกขึ้นในเทพนคร ประดุจต้นปาริฉัตรมีดอกบานสะพรั่งสูงถึง ๑๐๐ โยชน์ ประดุจต้นสาละมีดอกบานเต็มในระหว่างภูเขา ดุจพื้นท้องฟ้าที่เรียงรายไปด้วยหมู่ดาว ประดุจทำโลกให้สว่างอยู่ด้วยศิริสมบัติของพระองค์ฉะนั้น.
               บทว่า ทกฺขิเณน ความว่า ก็เมื่อพระพุทธเจ้าทั้งหลายประทับยืนก็ดี ประทับนั่งก็ดี บรรทมก็ดี เมื่อจะทรงพระดำเนิน ทรงก้าวพระบาทเบื้องขวาก่อน. ได้ยินว่า นี้เป็นพระปาฏิหาริย์โดย ๗ ส่วน.
               บทว่า นาติทูเร ปาทํ อุทฺธรติ ความว่า ทรงยกพระบาทเบื้องขวานั้น ทรงพระดำริว่า จะไม่ทรงวางพระบาทให้ไกลนัก. คือทรงยกพระบาทขวาไกลนัก พระบาทซ้ายจะถูกลากไป แม้พระบาทเบื้องขวา ก็ไปไกลไม่ได้ จะพึงวางอยู่ชิดๆ กันทีเดียว. เมื่อเป็นอย่างนี้ ย่อมชื่อว่า เป็นการจำกัดก้าวไป. แต่เมื่อย่างพระบาทเบื้องขวาพอประมาณ แม้พระบาทเบื้องซ้ายก็ย่อมยกขึ้นพอประมาณดุจกัน. เมื่อยกพอประมาณ แม้ทรงวางก็วางได้พอประมาณเหมือนกัน. ด้วยการทรงพระดำเนินอย่างนี้ หน้าที่ของพระบาทเบื้องขวาของพระตถาคตเจ้า ก็ย่อมเป็นอันกำหนดแล้วด้วยพระบาทเบื้องซ้าย หน้าที่ของพระบาทเบื้องซ้ายก็เป็นอันกำหนดแล้วด้วยพระบาทเบื้องขวา บัณฑิตพึงทราบด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า นาติสีฆํ ความว่า ไม่ทรงพระดำเนินเร็วเกินไปเหมือนภิกษุเดินไปเพื่อรับภัตรในวิหาร เมื่อเวลาจวนแจแล้ว.๒-
____________________________
๒- ฏีกา อุปกฏฺ ฐาย เวลายฺ

               บทว่า ตาติสนิกํ ความว่า ไม่ทรงพระดำเนินช้านัก เหมือนอย่างภิกษุที่มาภายหลัง ย่อมไม่ได้โอกาสฉะนั้น.
               คำว่า อทฺธเวน อทฺธวํ คือ พระชันนุกระทบกับพระชันนุ เข่ากับเข่ากระทบกัน.
               บทว่า น สตฺถึ ความว่า ทรงยกพระอูรุสูงขึ้นเหมือนเดินไปในน้ำลึก.
               บทว่า น โอนาเมติ ความว่า ไม่ทรงทอดพระอูรุไปข้างหน้า เหมือนการทอดเท้าไปข้างหลังของคนตัดกิ่งไม้.
               บทว่า ไม่ทรงเอนไป คือไม่ทรงทำให้ติดกัน เหมือนย่ำเท้ากับที่ซึ่งเปียกแล้ว.
               บทว่า ไม่ทรงโคลงไป คือไม่ทรงโยกโย้ไปมาเหมือนชักหุ่นยนต์.
               บทว่า อารทฺธกาโยว๓- ความว่า พระกายด้านล่างเท่านั้นไม่โยกไป. พระกายส่วนบนไม่หวั่นไหว เหมือนรูปทองที่เขาวางไว้ในเรือ. ก็เมื่อบุคคลยืนแลดูอยู่ในที่ไกลจะไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายประทับยืน หรือทรงพระดำเนิน.
____________________________
๓- ฉ. อธรกาโย วา

               บทว่า กายพเลน ความว่า ไม่ทรงเหวี่ยงพระพาหา เสด็จพระดำเนินไปด้วยกำลังกายทั้งที่มีพระเสโทไหลออกจากพระสรีระ.
               บทว่า สพฺพกาเยน วา ความว่า ไม่หันพระศอเหลียวหลังดู ด้วยสามารถแห่งการเหลียวดูดุจพระยาช้าง ดังที่กล่าวไว้ในราหุโลวาทสูตร นั่นแล.
               ในคำว่า น อุทฺธํ เป็นต้น คือไม่ทรงแหงนดูเบื้องบน ดุจกำลังนับดาวนักษัตรอยู่ ไม่ทรงก้มดูเบื้องต่ำ ดุจกำลังแสวงหากากณิก หรือมาสก๔- ที่หาย ไม่ทรงส่ายไปข้างโน้นข้างนี้ เหมือนกำลังมองดูช้างและม้าเป็นต้น.
               บทว่า ยุคมตฺตํ ความว่า เมื่อทรงพระดำเนินทอดพระจักษุประมาณเก้าคืบชื่อว่า ทอดพระเนตรประมาณชั่วแอก. แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงพระดำเนินทอดพระเนตรมีประมาณเท่านี้ ดุจสัตว์อาชาไนยที่ฝึกดีแล้ว ที่เขาเทียมแอกไว้ฉะนั้น.
____________________________
๔- เงินเท่ากากณิกหนึ่ง หรือมาสกหนึ่ง.

               บทว่า ตโต จสฺส อุตฺตรึ ความว่า แต่ไม่ควรกล่าวว่าไม่ทรงดูเลยชั่วแอกไป. เพราะฝาก็ดี บานประตูก็ดี กอไม้ก็ดี เถาวัลย์ก็ดี ย่อมไม่อาจกั้นไว้ได้. พันแห่งจักรวาลมิใช่น้อย ย่อมมีเนินเป็นอันเดียวกันทีเดียวแก่พระองค์ผู้เป็นอนาวรณญาณนั้นโดยแท้แล.
               บทว่า อนฺตรฆรํ พึงทราบตั้งแต่เสาเขื่อนไป ชื่อว่าละแวกบ้าน ในมหาสกุลุทายิสูตรในหนหลัง แต่ในที่นี้พึงทราบว่าตั้งแต่ธรณีประตูบ้านไป ชื่อว่าละแวกบ้าน.
               บทว่า น กายํ เป็นต้น ท่านกล่าวเพื่อแสดงว่า ย่อมทรงเข้าไปโดยอิริยาบถตามปกตินั่นเอง. ก็แม้เมื่อพระตถาคตเจ้าทรงเสด็จเข้าบ้านที่เตี้ยของพวกคนจน หลังคาย่อมสูงขึ้นบ้าง แผ่นดินย่อมทรุดลงบ้าง. ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงพระดำเนินไปโดยพระดำเนินตามปกตินั่นเอง.
               บทว่า นาติทูเร ความว่า ก็ในที่ไกลเกินไป ก็ทรงกลับถอยหลังก้าวหนึ่งหรือสองก้าวแล้ว จึงค่อยประทับนั่งลง. ในที่ใกล้เกินไป ก็ทรงก้าวเสด็จไปข้างหน้าก้าวหนึ่ง สองก้าว แล้วค่อยประทับนั่งลง. เพราะฉะนั้น เมื่อประทับยืนที่ย่างพระบาทใด เสด็จทรงถอยข้างหน้าหรือมาข้างหลังแล้ว จึงจะประทับนั่งได้ ก็จะทรงเปลี่ยนที่ย่างพระบาทนั้น.
               บทว่า ปาณินา ความว่า ไม่ทรงเอาพระหัตถ์จับอาสนะมาประทับนั่ง เหมือนคนป่วย เพราะโรคลม.
               บทว่า ปกฺขิปติ ความว่า บุคคลใดกระทำการงานอะไรๆ เหน็ดเหนื่อยจนล้มไปทั้งยืน แม้บุคคลใดนั่งพิงอวัยวะด้านหน้า เอนกายไปจนถึงอวัยวะด้านหลัง หรือนั่งพิงอวัยวะด้านหลังเอนกายอย่างนั้น จนถึงอวัยวะด้านหน้า ทั้งหมดนั้น ชื่อว่าพิงกายที่อาสนะ. ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงกระทำอย่างนั้น ประทับนั่งค่อยๆ ดุจป้องกันของที่ห้อยอยู่ตรงกลางอาสนะ ดุจวางปุยนุ่นไว้ฉะนั้น.
               บทว่า หตฺถกุกฺกุจฺจํ ความว่า กระทำการเช็ดหยดน้ำที่ขอบปากบาตร คือกระทำการที่ไม่ได้ระวัง โบกแมลงวันและใช้มือแคะเขี่ยหูเป็นต้น.
               บทว่า ปาทกุกฺกุจฺจํ คือ การไม่ระวังเท้า เช่นเอาเท้าถูพื้นเป็นต้น.
               บทว่า น ฉมฺภติ แปลว่า ไม่กลัว.
               บทว่า น กมฺปติ แปลว่า ไม่จมลง.
               บทว่า น เวธติ คือ ไม่หวั่นไหว.
               บทว่า น ปริตสฺสติ แปลว่า ไม่สะดุ้ง ด้วยความสะดุ้งเพราะกลัวบ้าง ด้วยการสะดุ้งเพราะทะยานอยากบ้าง. คือภิกษุบางรูปย่อมสะดุ้ง ด้วยความสะดุ้งเพราะกลัวว่า เมื่อพวกคนมาเพื่อประโยชน์ธรรมกถาเป็นต้น ไหว้แล้วยืนอยู่ เราจักอาจเพื่อยึดใจของคนเหล่านั้น กล่าวธรรมหรือหนอ เมื่อถูกถามปัญหาแล้วจักอาจวิสัชนาได้หรือจักอาจกระทำอนุโมทนาได้หรือ. ภิกษุบางรูปก็คิดว่าข้าวยาคูที่ชอบใจจะมาถึงเราหรือหนอ หรือว่าของเคี้ยวชนิดของว่างที่ชอบใจจะมาถึงเรา และก็สะดุ้งด้วยความสะดุ้งเพราะตัณหา. เพราะความสะดุ้ง ๒ อย่างนั้นของพระโคดมผู้เจริญนั้นไม่มี เพราะฉะนั้น พระโคดมผู้เจริญจึงไม่ทรงสะดุ้ง.
               บทว่า วิเวกาวตฺโต ความว่า เป็นผู้มีใจเวียนมาในวิเวก คือพระนิพพาน. ปาฐะว่า วิเวกวตฺโต ดังนี้ก็มี. ความว่า เป็นผู้ประกอบด้วยวัตร คือความสงัด. การเรียนมูลกัมมัฏฐานแล้วนั่งคู้บัลลังก์ ในที่พักในเวลากลางวันของภิกษุผู้กระทำภัตกิจแล้ว ด้วยสามารถแห่งสมถะ และวิปัสสนา ชื่อว่าวิเวกวัตร เพราะอิริยาบถของภิกษุผู้นั่งอย่างนี้ย่อมเข้าไปสงบระงับ.
               ในบทว่า น ปตฺตํ อุนฺนาเมติ เป็นต้นมีวินิจฉัยว่า บางรูปย่อมชูบาตรขึ้นเหมือนรองน้ำจากขอบปากบาตร บางรูปลดบาตรลงเหมือนวางไว้ที่หลังเท้า. บางรูปย่อมรับทำให้เนื่องกัน. บางรูปแกว่งไปทางโน้นทางนี้. ความว่า ไม่กระทำอย่างนั้น รับด้วยมือทั้งสองน้อมไปนิดหน่อยรับน้ำ.
               บทว่า น สมฺปริวตฺตกํ ความว่า ไม่หมุนบาตร ล้างหลังบาตรก่อน.
               บทว่า นาติทูเร ความว่า ไม่เทน้ำล้างบาตร ให้ตกไปไกลจากอาสนะที่นั่ง.
               บทว่า น อจฺจาสนฺเน ความว่า ไม่ทิ้งในที่ใกล้เท้านั่งเอง.
               บทว่า วิจฺฉฑฺฑิยมาโน ความว่า กระเซนไป คือไม่เทโดยอาการที่ผู้รับจะเปียก.
               บทว่า นาติโถกํ ความว่า ไม่รับเหมือนคนบางคนเป็นผู้มีความปรารถนาลามก แสดงว่าเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยรับเพียงพอกับข้าวกำมือเดียวเท่านั้น.
               บทว่า อติพหุํ คือ รับมากเกินไปกว่าที่จะยังอัตตภาพให้เป็นไป.
               บทว่า พฺยญฺชนมตฺตาย ความว่า ส่วนที่ ๔ แห่งข้าวสุกชื่อว่าพอประมาณแก่กับข้าว. คือคนบางคน เมื่อภัตรถูกใจก็รับภัตรมาก เมื่อกับข้าวถูกใจก็รับกับข้าวมาก แต่พระศาสดาไม่ทรงรับอย่างนั้น.
               บทว่า น จ พฺยญฺชเนน ความว่า ก็บริโภคแต่ภัตรอย่างเดียว เว้นกับข้าวที่ไม่ชอบใจหรือบริโภคแต่กับข้าวอย่างเดียว เว้นภัตร ชื่อว่าน้อมคำข้าวเกินกว่ากับข้าว.
               พระศาสดาทรงรับภัตรมีสิ่งอื่นแกม ทั้งภัตรทั้งกับข้าวพอประมาณกัน.
               บทว่า ทฺวตฺติกฺขตฺตํ ความว่า โภชนะที่พระชิวหาใหญ่ ของพระตถาคตเจ้านำเข้าไป ย่อมเหมือนไล้ด้วยแป้งที่เขาทำให้ละเอียดพอพระทนต์บด ๒-๓ ครั้งเท่านั้น. ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวอย่างนั้น.
               บทว่า มุเข อวสิฏฺฐา ความว่า ย่อมล่วงเข้าไปสู่ลำคอเหมือนหยาดน้ำที่ตกลงในใบบัว เพราะฉะนั้น จึงไม่เหลืออยู่.
               บทว่า รสํ ปฏิสํเวเทติ คือ ทรงทราบรสมีหวานขมและเผ็ดเป็นต้น. ก็สำหรับพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมเหมือนกับใส่ทิพย์โอชะลงโดยที่สุดพร้อมกับน้ำเสวย. เพราะฉะนั้น ย่อมปรากฏรสในอาหารทั้งหมดเทียวแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย แต่ความใคร่ในรสไม่มี.
               บทว่า อฏฺฐงฺคสมนฺนาคตํ คือ ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการที่กล่าวไว้ว่า ไม่เสวยเพื่อเล่นเป็นต้น. คำวินิจฉัยของบทนั้นมาแล้วในวิสุทธิมรรค ฉะนั้น คำนี้ท่านกล่าวไว้ในสัพพาสวสูตร.
               ถามว่า ข้อว่า เมื่อทรงล้างพระหัตถ์แล้ว พระศาสดาทรงกระทำอย่างไร.
               ตอบว่า พระศาสดาทรงล้างส่วนที่พระหัตถ์จับบาตรก่อน. ทรงจับบาตรที่ตรงนั้นแล้ว ส่งฝ่าพระหัตถ์ที่เป็นลายตาข่ายกลับไปมา ๒ ครั้ง. อามิสทั้งหมดที่บาตรจะหลุดไปเหมือนน้ำในใบบัวที่ตกไปด้วยอาการเพียงเท่านี้.
               บทว่า น จ อนตฺถิโก ความว่า เหมือนอย่างภิกษุบางรูปวางบาตรไว้ที่เชิงบาตรไม่เช็ดน้ำที่บาตร เพ่งดูแต่ธุลีที่ตกไปฉันใด พระองค์ไม่ทรงกระทำอย่างนั้น.
               บทว่า น จ อติเวลานุรกฺขี ความว่า เหมือนอย่างภิกษุบางรูปตั้งการรักษาไว้เกินประมาณ หรือฉันแล้วเช็ดน้ำที่บาตรแล้วสอดเข้าไปในระหว่างกลีบจีวร ถือบาตรแนบไปกับท้องนั่นเอง แต่พระศาสดาไม่ทรงกระทำเหมือนอย่างนั้น.
               บทว่า น จ อนุโมทนสฺส ความว่า ก็ภิกษุใดพอฉันเสร็จแล้ว เมื่อพวกเด็กๆ ร้องไห้อยู่ เพื่อจะกินข้าว พอเมื่อพวกคนหิว กินแล้วยังไม่มาเลย ก็เริ่มอนุโมทนา. ต่อแต่นั้น บางพวกก็ทิ้งงานทั้งสิ้นมา บางพวกยังไม่ทันมา. ผู้นี้ย่อมยังเวลาให้ล่วงไปเร็วนัก. แม้บางรูปเมื่อพวกคนมาไหว้แล้วนั่งลง เพื่อประโยชน์แก่อนุโมทนา ก็ยังไม่กระทำอนุโมทนา ตั้งถ้อยคำเฉพาะเป็นต้นว่า เป็นอย่างไร ติสสะ ปุสสะเป็นอย่างไร สุมนเป็นอย่างไร พวกท่านไม่เจ็บป่วยด้วยไข้หรือ ข้าวปลาดีไหม ดังนี้ ผู้นี้ชื่อว่า ทำเวลาแห่งการอนุโมทนาให้เสียไป. แต่เมื่อกล่าวในเวลาที่พวกคนรู้เวลาอาราธนาแล้ว ชื่อว่าไม่ทำเวลาให้เสียเกินไป พระศาสดาทรงทำอย่างนั้น.
               บทว่า น ตํ ภตฺตํ ความว่า ไม่กล่าวติเตียนเป็นต้นว่า นี่ข้าวอะไรกันสวยนัก แฉะนัก.
               บทว่า น อญฺญํ ภตฺตํ ความว่า ก็เมื่อจะกระทำอนุโมทนา ด้วยคิดว่า เราจักยังภัตรให้เกิดขึ้นเพื่อการบริโภคอันจะมีในวันพรุ่งนี้ หรือเพื่อวันต่อไป ชื่อว่าย่อมหวังภัตรอื่น. หรือภิกษุใดคิดว่าเราจะกระทำอนุโมทนา ต่อเมื่อพวกมาตุคามหุงข้าวสุกแล้ว แต่นั้นเมื่ออนุโมทนาของเรา พวกเขาจะให้ข้าวหน่อยหนึ่งจากข้าวที่ตนหุง แล้วจึงขยายอนุโมทนา แม้ภิกษุนี้ ก็ชื่อว่าย่อมหวัง. พระศาสดาไม่ทรงกระทำอย่างนั้น.
               บทว่า น จ มุญฺจิตุกาโม ความว่า ก็บางรูปทิ้งบริษัทไว้ไปเสีย พวกภิกษุทั้งหลายจะต้องติดตามไปโดยเร็ว. แต่พระศาสดาไม่ทรงดำเนินไปอย่างนั้น. ทรงดำเนินไปอยู่ท่ามกลางบริษัท.
               บทว่า อจฺจุกฺกฏฺฐํ ความว่า ก็รูปใดห่มจีวรยกขึ้นจนติดคาง รูปนั้นชื่อว่ารุ่มร่าม. รูปใดห่มจนคลุมข้อเท้าเทียว จีวรของรูปนั้นชื่อว่ารุ่มร่าม. แม้รูปใดห่มยกขึ้นจากข้างทั้งสองเปิดท้องไป จีวรของรูปนั้นก็ชื่อว่ารุ่มร่าม. รูปใดกระทำเฉวียงบ่าข้างหนึ่งเปิดนมไป รูปนั้นก็ชื่อว่ารุ่มร่าม. พระศาสดาไม่ทรงกระทำอาการอย่างนั้นทุกอย่าง.
               บทว่า อลฺลีนํ ความว่า จีวรของภิกษุเหล่าอื่นชุ่มด้วยเหงื่อติดอยู่ฉันใด ของพระศาสดาย่อมไม่เป็นอย่างนั้น.
               บทว่า อปกฏฺฐํ ความว่า พ้นจากกายไม่อยู่เหมือนผ้าสาฎกลื่น.
               บทว่า วาโต ได้แก่ แม้ลมเวรัมภวาตตั้งขึ้นก็ไม่อาจจะให้ไหวได้.
               บทว่า ปาทมณฺฑนานุโยคํ ความว่า ประกอบการทำพระบาทให้สวยงามมีการขัดสีพระกายด้วยอิฐเป็นต้น.
               บทว่า ปกฺขาลิตฺวา (ทรงล้างแล้ว) ความว่า ทรงล้างพระบาทด้วยพระบาทนั่นเทียว. ท่านกล่าวบทว่า โส เนว อตฺตพฺยาพาธาย ไม่เพื่อเบียดเบียนพระองค์เองเป็นต้น เพราะมีปุพเพนิวาสญาณและเจโตปริยญาณ. แต่เห็นความมีอิริยาบถสงบ จึงกล่าวด้วยความคาดคะเนเอา.
               บทว่า ธมฺมํ คือ ปริยัติธรรม.
               บทว่า น อุสฺสาเทติ ความว่า ไม่กล่าวคำมีอาทิว่า แม้ท่านพระราชา ท่านมหากฎุมพีเป็นต้น แล้วยกยอด้วยสามารถแห่งความรักอาศัยเรือน.
               บทว่า น อปสาเทติ ความว่า ไม่กล่าวคำมีอาทิว่า ท่านอุบาสก ท่านรู้ทางไปวิหารแล้วหรือ ท่านมาเพราะกลัวหรือ. ภิกษุไม่ปล้นของอะไรเอาหรอก ท่านอย่ากลัว หรือว่าท่านช่างมีชีวิตตระหนี่เหนียวแน่นอะไรอย่างนี้ แล้วรุกรานด้วยความรักอาศัยเรือน.
               บทว่า วิสฺสฏฺโฐ ความว่า ไม่ข้อง คือไม่ขัด.
               บทว่า วิญฺเญยฺโย คือ พึงรู้ได้ชัด ปรากฏ. คือพระสุรเสียงนั้นรู้ได้ชัดเจน เพราะสละสลวย.
               บทว่า มญฺชุ คือ ไพเราะ.
               บทว่า สวนีโย คือ สะดวกหู ก็เสียงนั้น ชื่อว่าน่าฟัง เพราะมีความไพเราะนั่นเอง.
               บทว่า พินฺทุ คือ กลมกล่อม.
               บทว่า อวิสารี คือ ไม่พร่า.
               ก็เสียงนั้นไม่พร่าเพราะมีความกลมกล่อมนั่นเอง.
               บทว่า คมฺภีโร คือ เกิดจากส่วนลึก.
               บทว่า นินฺนาที คือ มีความกังวาล. ก็เสียงนั้น ชื่อว่ามีความกังวาล เพราะเกิดจากส่วนลึก.
               บทว่า ยถา ปริสํ คือ ย่อมยังบริษัทที่เนื่องเป็นอันเดียวกันแม้มีจักรวาลเป็นที่สุด ให้เข้าใจได้.
               บทว่า พหิทฺธา ความว่า ย่อมไม่ไปนอกจากบริษัท แม้มีประมาณเท่าองคุลี. เพราะเหตุไร เพราะเสียงที่ไพเราะเห็นปานนั้น มิได้ศูนย์ไปโดยใช่เหตุ. เสียงของพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมกระจายไปโดยที่สุดแห่งบริษัทด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อวโลกยมานา ความว่า คนทั้งหลายวางอัญชลีไว้เหนือเศียร แลดูพระผู้มีพระภาคเจ้า ยังหันกลับมาไหว้ในที่ที่จะละการเห็นแล้วจึงไป.
               บทว่า อวิชหนฺตา ความว่า ก็ผู้ใดฟังพระดำรัสแล้ว ลุกขึ้นยังกล่าวถ้อยคำที่ได้เห็นและได้ฟังเป็นต้นอย่างอื่นจึงไป นี้ชื่อว่าละไปโดยภาวะของตน. คนใดกล่าวสรรเสริญคุณธรรมกถาที่ได้ฟังแล้วจึงไป ผู้นี้ชื่อว่าไม่ละ ชื่อว่าย่อมหลีกไปโดยไม่ละไปด้วยอาการอย่างนี้.
               บทว่า คจฺฉนฺตํ ความว่า เสด็จไปอยู่ดุจแท่งทองสูงถึง ๑๐๐ ศอก ด้วยสามารถแห่งยนต์คือสายฟ้า. บทว่า อทฺทสาม ฐิตํ ความว่า เราได้เห็นพระองค์ประทับยืนอยู่ประดุจภูเขาทองที่เขายกขึ้นตั้งไว้.
               บทว่า ตโต จ ภิยฺโย ความว่า เมื่อไม่อาจจะกล่าวคุณให้พิสดารจึงย่อคุณที่เหลือลง กระทำเหมือนแล่งธนูและเหมือนกลุ่มด้าย กล่าวอย่างนั้น.
               ในข้อนี้มีอธิบายดังต่อไปนี้
               พระคุณของพระโคดมผู้เจริญนั้น ยังมิได้กล่าวมีมากกว่าคุณที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้ว เปรียบเหมือนมหาปฐพีและมหาสมุทรเป็นต้น หาที่สุดมิได้ หาประมาณมิได้ กว้างขวางประดุจอากาศฉะนั้นแล.
               บทว่า อปฺปฏิสํวิทิโต ความว่า การมาโดยมิได้ทูลให้ทรงทราบ.
               ก็ผู้จะเข้าหาบรรพชิต เข้าไปหาในเวลาที่บริกรรมจีวรเป็นต้น หรือในเวลาที่นุ่งผ้าผืนเดียวกำลังดัดสรีระ ก็จะต้องถอยกลับจากเหตุนั้นเทียว. แม้การปฏิสันถารก็จักไม่เกิดขึ้น. แต่เมื่อโอกาสท่านกระทำก่อนแล้ว ภิกษุกวาดที่พักในกลางวัน ห่มจีวรนั่งในที่อันสงัด. ผู้ที่มาเห็นอยู่ก็จะเลื่อมใสแม้ด้วยการเห็นท่าน การปฏิสันถารก็จะเกิดขึ้น ก็จะได้ทั้งปัญหาพยากรณ์ ทั้งธรรมกถา. เพราะฉะนั้น บัณฑิตทั้งหลายจึงต้องรอโอกาส. และนั้นก็เป็นโอกาสอย่างใดอย่างหนึ่งของคนเหล่านั้น เพราะฉะนั้น เขาจึงมีความคิดอย่างนั้น.
               พรหมายุพราหมณ์ไม่กล่าวถึงความที่ตนเป็นผู้สูงเป็นต้น กล่าวอย่างนี้ว่า ชิณฺโณ วุฑฺโฒ เพราะเหตุไร. ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ทรงมีพระกรุณาเมื่อทรงทราบว่าเป็นผู้แก่แล้ว จักประทานโอกาสให้โดยเร็ว ฉะนั้นจึงกล่าวอย่างนั้น.
               บทว่า โอรมตฺถ โอกาสมกาสิ ความว่า บริษัทนั้นรีบลุกขึ้นแยกออกเป็น ๒ ฝ่ายให้โอกาส. บทว่า เย เม เท่ากับ เย มยา.
               บทว่า นารีสมานสวฺหยา ความว่า มีชื่อเสมอด้วยนารีเป็นเพศหญิง ชื่อว่านารีสมานสวหยา เพราะอรรถว่าร้องเรียกตามเพศแห่งหญิงนั้น พึงกล่าวตามเพศแห่งหญิง ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวอย่างนี้ เพราะเป็นผู้ฉลาดในโวหาร.
               บทว่า ปหุตชิวฺโห ได้แก่ มีพระชิวหาใหญ่.
               บทว่า นินฺนามเยตํ แปลว่า ขอพระองค์โปรดนำพระลักษณะนั้นออก.
               บทว่า เกวลี คือทรงสมบูรณ์ด้วยพระคุณทั้งสิ้น.
               บทว่า ปจฺจภาสิ ความว่า เมื่อถูกถามเพียงครั้งเดียว ก็ทรงพยากรณ์ คือได้ตรัสตอบปัญหาถึง ๘ ข้อ.
               บทว่า โย เวที ความว่า ผู้ใดรู้ คือทราบภพเป็นที่อยู่อาศัยในกาลก่อนของผู้ใด ปรากฏแล้ว.
               บทว่า สคฺคาปายญฺจ ปสฺสติ ความว่า ท่านกล่าวถึงทิพยจักษุญาณ.
               บทว่า ชาติกฺ ขยํ ปตฺโต ได้แก่ บรรลุพระอรหัตต์แล้ว.
               บทว่า อภิญญาโวสิโต ได้แก่ รู้ยิ่งแล้วซึ่งพระอรหัตต์นั้น เสร็จกิจแล้ว คือถึงที่สุดแล้ว.
               บทว่า มุนี ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยธรรมเครื่องความเป็นมุนี คืออรหัตตญาณ.
               บทว่า วิสูทธํ ได้แก่ อันผ่องใส.
               บทว่า มุตฺตํ ราเคหิ ความว่า พ้นจากราคกิเลสทั้งหลาย.
               บทว่า ปหีนชาติมรโณ ได้แก่ ชื่อว่าผู้ละความเกิดได้ เพราะถึงความสิ้นชาติแล้ว ชื่อว่าผู้ละมรณะได้แล้ว เพราะละชาติได้นั่นเอง.
               บทว่า พฺรหฺมจริยสฺส เกวลี ความว่า ผู้ประกอบด้วยคุณล้วนแห่งพรหมจรรย์ทั้งสิ้น. หมายความว่า ผู้ปกติอยู่ประพฤติพรหมจรรย์คือมรรค ๔ ทั้งสิ้น.
               บทว่า ปารคู สพฺพธมฺมานํ ความว่า ผู้ถึงฝั่งด้วยความรู้ยิ่งซึ่งโลกิยธรรมและโลกุตธรรมทั้งปวง. อธิบายว่า รู้ยิ่งซึ่งสรรพธรรมอยู่.
               อีกนัยหนึ่ง บทว่า ปารคู ท่านกล่าวอรรถไว้ดังนี้ว่า ผู้ถึงฝั่งการกำหนดรู้ขันธ์ ๕ ผู้ถึงฝั่งด้วยการละกิเลสทั้งปวง ผู้ถึงฝั่งด้วยภาวนาซึ่งมรรค ๔ ผู้ถึงฝั่งด้วยการกระทำให้แจ้งซึ่งนิโรธ ผู้ถึงฝั่งด้วยการถึงพร้อมซึ่งสมาบัติทั้งปวง ด้วยคำเพียงเท่านี้. ท่านกล่าวการถึงฝั่งด้วยอภิญญา ด้วยคำว่า ธรรมทั้งปวง อีกแล.
               บทว่า พุทฺโธ ตาที ปวุจฺจติ ความว่า ผู้เช่นนั้น คือผู้ถึงฝั่งด้วยอาการ ๖ ท่านเรียกว่าพระพุทธเจ้า เพราะเป็นผู้ตรัสรู้แล้ว ซึ่งสัจจธรรมทั้ง ๔ โดยอาการทั้งปวง.
               ก็ปัญหาย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงวิสัชนาแล้วด้วยพระดำรัสเพียงเท่านี้หรือ.
               ถูกแล้ว เป็นอันวิสัชนาเสร็จทุกข้อ.
               คือทรงวิสัชนาปัญหาข้อที่หนึ่ง เพราะเป็นผู้มีบาปอันลอยเสียแล้ว ชื่อว่าพราหมณ์ ด้วยพระดำรัสว่า มุนีนั้นรู้จิตอันบริสุทธิ์ อันพ้นแล้วจากราคะทั้งหลายดังนี้. ด้วยพระดำรัสว่า ถึงฝั่ง ชื่อว่าถึงเวท เพราะจบเวทแล้ว นี้ย่อมเป็นอันวิสัชนาปัญหาข้อที่สอง.
               ด้วยบทเป็นต้นว่า ปุพฺเพนิวาสํ ชื่อว่าผู้มีวิชชาสาม เพราะมีวิชชาสามเหล่านี้ ย่อมเป็นอันวิสัชนาปัญหาข้อที่สาม. ด้วยพระดำรัสนี้ว่า พ้นจากราคะทั้งหลายโดยประการทั้งปวง นี้ชื่อว่าผู้มีความสวัสดี เพราะสลัดบาปธรรมออกได้ ย่อมเป็นอันวิสัชนาปัญหาข้อที่สี่.
               อนึ่ง ด้วยพระดำรัสนี้ว่า บรรลุถึงความสิ้นชาติ นี้ชื่อว่าย่อมเป็นอันวิสัชนาปัญหาข้อที่ห้า เพราะตรัสถึงพระอรหัตต์นั่นเทียว. ย่อมเป็นอันวิสัชนาปัญหาข้อที่หก ด้วยพระดำรัสเหล่านี้คือว่า เป็นผู้เสร็จกิจแล้ว และว่า ชื่อว่าผู้มีคุณครบถ้วนแห่งพรหมจรรย์. ด้วยพระดำรัสนี้ว่า ผู้นั้นชื่อว่ามุนี ผู้ยิ่งถึงที่สุดแล้ว ย่อมเป็นอันวิสัชนาปัญหาข้อที่เจ็ด ด้วยพระดำรัสนี้ว่า ชื่อว่าถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวงบัณฑิตกล่าวว่า เป็นพุทธะผู้คงที่ ย่อมเป็นอันวิสัชนาปัญหาข้อที่แปด.
               บทว่า ทานกถํ เป็นต้น ท่านให้พิสดารแล้วในพระสูตรก่อนนั่นเทียว.
               บทว่า ได้บรรลุ คือ ถึงเฉพาะแล้ว.
               บทว่า ธมฺมํ สานุธมฺมํ ความว่า อรหัตตมรรค ชื่อว่าธรรม ในพระสูตรนี้ มรรค ๓ และสามัญญผล ๓ ชั้นต่ำ ชื่ออนุธรรม สมควรแก่ธรรม. อธิบายว่า ได้มรรคและผลเหล่านั้นตามลำดับ.
               ข้อว่าไม่เบียดเบียนเราให้ลำบาก เพราะเหตุแห่งธรรมเลย. ความว่า ไม่ยังเราให้ลำบากเพราะเหตุแห่งธรรมเลย. อธิบายว่า ไม่ให้เราต้องกล่าวบ่อยๆ.
               คำที่เหลือในบททั้งปวงตื้นทั้งนั้น.
               ก็ด้วยบทว่า ปรินิพฺพายิ ในบทนั้น พระองค์ทรงถือเอายอดแห่งเทศนาด้วยพระอรหัตต์ทีเดียวแล.

               จบอรรถกถาพรหมายุสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พราหมณวรรค พรหมายุสูตร พรหมายุพราหมณ์ต้องการเฝ้าพระพุทธเจ้า จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 571อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 584อ่านอรรถกถา 13 / 604อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=9195&Z=9483
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=6593
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=6593
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :