ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 56อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 62อ่านอรรถกถา 13 / 84อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหบดีวรรค
อุปาลิวาทสูตร เรื่องทีฆตปัสสีนิครนถ์

               ๖. อรรถกถาอุปาลิวาทสูตร๑-               
๑- อรรถกถาเป็นอุปาลิสูตร

               อุปาลิวาทสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาลนฺทายํ ความว่า ณ นครมีชื่ออย่างนี้ว่า นาลันทา เพราะกระทำนครนั้น ให้เป็นโคจรคาม บ้านสำหรับโคจร.
               คำว่า ปาวาริกมฺพวเน แปลว่า สวนมะม่วงของทุสสปาวาริกเศรษฐี.
               ได้ยินว่า สวนมะม่วงนั้นเป็นสวนของปาวาริกเศรษฐีนั้น. เศรษฐีนั้นฟังพระธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วเลื่อมใส สร้างวิหารอันประดับด้วยกุฏิ ที่เร้นและมณฑปเป็นต้นในสวนนั้น แล้วมอบถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. วิหารนั้นจึงได้ชื่อว่าปาวาริกัมพวัน เหมือนวิหารชื่อว่าชีวกัมพวันฉะนั้น. อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ปาวาริกัมพวันนั้น.
               เดียรถีย์ที่ได้ชื่ออย่างนี้ว่า ทีฆตปัสสี เพราะเป็นผู้บำเพ็ญตบะมานาน.
               คำว่า ปิณฺฑปาตปฏิกฺกนฺโต แปลว่า กลับจากบิณฑบาต.
               แท้จริง โวหารว่าบิณฑบาต ไม่มีในลัทธิภายนอกเหมือนในพระพุทธศาสนา.
               คำว่า ปญฺญเปติ แปลว่า แสดงตั้งไว้.
               ทีฆตปัสสีเดียรถีย์ถามตามลัทธินิครนถ์ จึงกล่าวคำนี้ว่า ทณฺฑานิ ปญฺญเปติ.
               ในคำนี้ว่า กายทณฺฑํ วจีทณฺฑํ มโนทณฺฑํ พวกนิครนถ์บัญญัติ ๒ ทัณฑะเบื้องต้นว่าเล็กน้อย ว่าไม่มีจิต เขาว่า เมื่อลมพัด กิ่งไม้ก็ไหว น้ำก็กระเพื่อม เพราะกิ่งไม้และน้ำนั้นไม่มีจิตฉันใด แม้กายทัณฑะก็ไม่มีจิตฉันนั้น. อนึ่ง เมื่อลมพัดกิ่งไม้มีใบตาลเป็นต้น จึงมีเสียง น้ำจึงมีเสียง เพราะกิ่งไม้และน้ำนั้นไม่มีจิตฉันใด แม้วจีทัณฑะก็ไม่มีจิตฉันนั้น พวกนิครนถ์บัญญัติทัณฑะทั้งสองนี้ว่าไม่มีจิต ดังกล่าวมาฉะนี้. บัญญัติว่า แต่จิตเป็นมโนทัณฑะ.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระพุทธประสงค์จะให้ทีฆตปัสสีนิครนถ์ยืนยันถ้อยคำนั้นไว้ จึงตรัสถามว่า กึ ปน ตปสฺสี เป็นต้น ในพระบาลีนั้น ถ้อยคำนั่นแลชื่อว่ากถาวัตถุ ในคำที่ว่า กถาวตฺถุสฺมึ อธิบายว่า ทรงให้เขาตั้งอยู่ในถ้อยคำ.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงกระทำอย่างนี้.
               ตอบว่า เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นว่า ทีฆตปัสสีนิครนถ์นี้จักเอาถ้อยคำนี้ไปบอกนิครนถ์ใหญ่ผู้เป็นศาสดาของตนและอุบาลีคฤหบดีนั่งอยู่ในบริษัทของนิครนถ์นั้น เขาฟังคำนี้แล้วก็จักมายกวาทะของเราขึ้นได้ เราจักแสดงธรรมแก่เขา เขาจักถึงสรณะ ๓ ครั้ง แต่นั้นเราก็จักประกาศสัจจะ ๔ ด้วยอำนาจการประกาศสัจจะ เขาก็จักดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล. แท้จริง เราบำเพ็ญบารมีทั้งหลายก็เพื่อสงเคราะห์บุคคลอื่นๆ เท่านั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นประโยชน์ข้อนี้ จึงได้ทรงกระทำอย่างนี้.
               นิครนถ์ถามตามลัทธิของพระพุทธเจ้าจึงกล่าวคำนี้ว่า กมฺมานิ ปญฺญเปสิ.
               ในคำนี้ว่า กายกมฺมํ วจีกมฺมํ มโนกมฺมํ ได้แก่ เจตนา ๒๐ คือเจตนาฝ่ายกามาวจรกุศล ๘ เจตนาฝ่ายอกุศล ๑๒ ที่ถึงการยึดถือ การรับ การปล่อยและการเคลื่อนไหวในกายทวาร ชื่อว่ากายกรรม. เจตนา ๒๐ นั้นแลที่ไม่ถึงการยึดถือเป็นต้นในกายทวาร ที่ให้ถึงการเปล่งวาจาเกิดขึ้นในวจีทวาร ชื่อว่าวจีกรรม. เจตนาฝ่ายกุศลและอกุศล ๒๙ ที่ไม่ถึงความไหวในทวารทั้งสองที่เกิดขึ้นในมโนทวาร ชื่อว่ามโนกรรม.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่อว่าโดยสังเขป กายทุจริต ๓ ชื่อว่ากายกรรม, วจีทุจริต ๔ ชื่อว่าวจีกรรม, มโนทุจริต ๓ ชื่อว่ามโนกรรม.
               แต่ในพระสูตรนี้ กรรมชื่อว่าธุระ. เจตนา แม้ที่จะถึงในพระสูตรลำดับต่อไป อย่างนี้ว่า บุญกรรม ๔ เหล่านี้ เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองประกาศแล้ว ชื่อว่าธุระ. เจตนาที่เป็นไปในกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ มีประเภทเช่น กรรมดำมีวิบากดำเป็นต้น.
               แม้ในนิทเทสวารแห่งกรรมนั้น ท่านก็กล่าวเจตนานั้นไว้โดยนัยว่า ย่อมปรุงแต่งกายสังขาร พร้อมทั้งความเบียดเบียน ดังนี้เป็นต้น.
               ส่วนเจตนาที่เป็นไปในกายทวาร ท่านหมายเอาว่ากายกรรมในสูตรนี้. เจตนาที่เป็นไปในวจีทวาร เป็นวจีกรรม. เจตนาที่เป็นไปในมโนทวารเป็นมโนกรรม เพราะเหตุนั้น จึงกล่าวว่ากรรมในพระสูตรนี้ชื่อว่าธุระ, เจตนาในพระสูตรลำดับต่อไป ก็ชื่อว่าธุระ. แท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติกรรมว่ากรรม เหมือนอย่างแม้เจตนาในพระสูตรนี้นี่แล ก็ชื่อว่ากรรมเหมือนกัน.
               สมดังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่ากรรม เพราะคนคิดแล้วจึงทำกรรม.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร จึงตรัสเรียกเจตนาว่ากรรม.
               ตอบว่า เพราะกรรมมีเจตนาเป็นมูล.
               ก็ในอกุศลและกุศลทั้งสองนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อตรัสกายกรรม วจีกรรมที่ถึงอกุศลว่าเป็นใหญ่ ดังนี้ ย่อมไม่ลำบาก ตรัสมโนกรรมฝ่ายกุศลว่าเป็นใหญ่ ดังนี้ ก็ไม่ลำบาก.
               จริงอย่างนั้น บุคคลพยายามด้วยกายอย่างเดียวกระทำกรรม ๔ (อนันตริยกรรม) มีมาตุฆาตเป็นต้นก็ด้วยกายเท่านั้น บุคคลกระทำกรรมคือสังฆเภท (ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน) อันจะยังผลให้บุคคลตั้งอยู่ในนรกถึงกัปหนึ่ง ก็ด้วยวจีทวาร ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกายกรรม วจีกรรม ฝ่ายอกุศลว่าเป็นใหญ่ จึงชื่อว่าไม่ลำบาก.
               ส่วนเจตนาในฌานอย่างเดียวย่อมนำสวรรค์สมบัติมาให้ถึง ๘๔,๐๐๐ กัป เจตนาในมรรคอย่างเดียวเพิกถอนอกุศลทุกอย่างย่อมถือเอาพระอรหัตได้ ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสมโนกรรมฝ่ายกุศลว่าใหญ่ จึงชื่อว่าไม่ลำบาก.
               แต่ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อตรัสมโนกรรมฝ่ายอกุศลว่ามีโทษมาก จึงตรัสหมายถึงนิยตมิจฉาทิฏฐิ.
               ด้วยเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรามองไม่เห็นธรรมอย่างหนึ่ง
                         อันอื่นที่มีโทษมาก เหมือนอย่างมิจฉาทิฏฐิเลย
                         กระบวนโทษทั้งหลายมิจฉาทิฏฐิมีโทษอย่างยิ่ง.

               บัดนี้ แม้นิครนถ์ เมื่อจะเดินทางที่พระตถาคตเจ้าทรงดำเนินแล้ว ถึงมองไม่เห็นความสำเร็จประโยชน์อะไร ก็ทูลถามว่า กึ ปนาวุโส โคตม ดังนี้เป็นต้น.
               คำว่า พาลกิมิยา ความว่า บ้านชื่อพาลกคามของอุบาลีคฤหบดีมีอยู่.
               คนทั้งหลายยึดถือนิครนถ์ผู้ใดมาแต่บ้านนั้น นิครนถ์ผู้นั้นถูกบริษัทนั้นห้อมล้อมด้วยคิดว่า พวกเราจักเยี่ยมเยียนนิครนถ์ใหญ่ผู้เป็นศาสดาของพวกเราในหมู่นั้นก็ไปที่พาลกคามนั้น ท่านหมายถึงพาลกคามนั้น จึงกล่าวว่า พาลกิมิยา ปริสาย. อธิบายว่า อันบริษัทผู้อาศัยอยู่ในพาลกคาม.
               คำว่า อุปาลิปฺปมุขาย แปลว่า มีอุบาลีคฤหบดีเป็นหัวหน้า.
               อีกนัยหนึ่งคำว่า พาลกิมิยา แปลว่า ผู้โง่เขลา อธิบายว่า หนาแน่น.
               คำว่า อุปาลิปฺปมุขาย ความว่า ในบริษัทนั้น อุบาลีคฤหบดีเท่านั้นเป็นคนมีปัญญาอยู่หน่อย อุบาลีคฤหบดีนั้นเป็นประมุข คือหัวหน้าของคนเหล่านั้น แม้เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อุปาลิปฺปมุขาย.
               ศัพท์ว่า หนฺท เป็นนิบาต ลงในอรรถว่า กล่าวเชิญ.
               ศัพท์ว่า ฉโว แปลว่า ทราม.
               ศัพท์ว่า โอฬาริกสฺส แปลว่าใหญ่.
               ศัพท์ว่า อุปนิธาย แปลว่า ยกขึ้นมา.
               ท่านอธิบายไว้ว่า นิครนถ์แสดงว่า กายทัณฑะที่ยกขึ้นมามองเห็นได้อย่างนี้ว่า กายทัณฑะนี้หนอใหญ่ กายทัณฑะเป็นใหญ่ มโนทัณฑะต่ำจะงามอะไร จักงามแต่ไหน ไม่งามเลย แม้เพียงแต่ยกขึ้นมาก็ไม่เพียงพอ.
               คำว่า สาธุ สาธุ ภนฺเต ตปสฺสี ความว่า อุบาลีคฤหบดีเมื่อให้สาธุการแก่ตปัสสีนิครนถ์ ก็เรียกศาสดานาฏบุตรว่า ภนฺเต.
               บทว่า น โข เมตํ ภนฺเต รุจฺจติ ความว่า ทีฆตปัสสีนิครนถ์คัดค้านว่า ท่านเจ้าข้า ข้อนี้จะให้อุบาลีคฤหบดีไปโต้วาทะกับพระสมณโคดมนั้น ไม่ชอบใจข้าพเจ้าเสียเลย.
               ศัพท์ว่า มายาวี แปลว่า ผู้ทำกลลวง (นักเล่นกล).
               ศัพท์ว่า อาวฏฺฏนิมายํ แปลว่า มายาคือการกลับใจ.
               ศัพท์ว่า อาวฏฺเฏติ แปลว่า ลวง ล้อมจับไว้.
               คำว่า คจฺฉ ตฺวํ คหปติ ความว่า เหตุไร นิครนถ์ใหญ่จะส่งอุบาลีคฤหบดีไปถึง ๓ ครั้ง ส่วนทีฆตปัสสีนิครนถ์ก็คัดค้านทุกครั้ง ก็เพราะว่า นิครนถ์ใหญ่ถึงจะอาศัยอยู่นครเดียวกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ด้วยว่า ผู้ใดย่อมปฏิญาณตนด้วยวาทะว่า เป็นศาสดา ผู้นั้นยังไม่ละปฏิญาณนั้น ก็ไม่สมควรเห็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น นิครนถ์นาฏบุตรนั้นไม่รู้ถึงสมบัติ คือการเห็นและภาวะคือกถาที่แสดงนิยยานิกธรรมของพระทศพลเจ้า เพราะไม่เคยได้เห็นพระพุทธเจ้า จึงยืนยันจะส่งอุบาลีคฤหบดีไปถึง ๓ ครั้ง.
               ส่วนทีฆตปัสสีนิครนถ์บางครั้งบางคราว เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ยืนบ้าง นั่งบ้าง ถามปัญหาบ้าง เขารู้ถึงสมบัติคือการเห็นบ้าง ภาวะคือกถาแสดงนิยยานิกธรรมบ้างของพระตถาคตเจ้า.
               ครั้งนั้น เขาจึงวิตกว่า อุบาลีนี้เป็นคฤหบดีผู้บัณฑิต ไปสำนักพระสมณโคดมแล้วก็จะพึงเลื่อมใสเพราะเห็นบ้าง เลื่อมใสเพราะฟังกถาแสดงนิยยานิกธรรมบ้าง ดังนั้น อุบาลีก็จะไม่พึงกลับมาสำนักของพวกเราอีกเลย. เพราะฉะนั้น เขาจึงคัดค้านถึง ๓ ครั้งเหมือนกัน.
               ศัพท์ว่า อภิวาเทตฺวา แปลว่า ไหว้.
               ความจริง คนทั้งหลายเห็นพระตถาคตเจ้าแล้ว ทั้งผู้ที่เลื่อมใส ทั้งผู้ที่ไม่เลื่อมใส ส่วนมากไหว้กันทั้งนั้น ผู้ไม่ไหว้มีเป็นส่วนน้อย เพราะเหตุอะไร คนที่เกิดในตระกูลอันสูงยิ่ง แม้ครองเรือนก็ไหว้กันทั้งนั้น. ส่วนคฤหบดีผู้นี้ไหว้เพราะเป็นคนเลื่อมใส เขาว่าพอเห็นเข้าเท่านั้นก็เลื่อมใสเสียแล้ว.
               คำว่า อาคมา นุขฺวิธ แยกสนธิเป็น อาคมา นุ โข อิธ.
               คำว่า สาธุ สาธุ ภนฺเต ตปสฺสี ความว่า อุบาลีคฤหบดี เมื่อจะให้สาธุการแก่ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ก็เรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ภนฺเต.
               คำว่า สจฺเจ ปติฏฺฐาย ความว่า ตั้งอยู่ในวจีสัตย์ไม่สั่นคลอนเหมือนหลักที่ปักลงในกองแกลบ.
               คำว่า สิยา โน แปลว่า พึงมีแก่พวกเรา.
               ศัพท์ว่า อิธ แปลว่า ในโลกนี้.
               ศัพท์ว่า อสฺส แปลว่า พึงมี.
               คำว่า สีโตทกํ ปฏิกฺขิตฺโต ความว่า นิครนถ์ห้ามน้ำเย็นด้วยเข้าใจว่า มีตัวสัตว์. คำนี้ท่านกล่าวหมายถึงน้ำที่มีตัวสัตว์.
               คำว่า มโนสตฺตา นาม เทวา ความว่า เทพทั้งหลายผู้ติด ผู้ข้อง ผู้เกี่ยวข้องแล้วในใจ.
               คำว่า มโนปฏิพนฺโธ ความว่า อุบาลีคฤหบดีแสดงว่า บุคคลผู้ติดพันอยู่ในใจย่อมกระทำกาละ (ตาย) เพราะเหตุนั้น เขาจึงเกิดในเทพเหล่ามโนสัตว์.
               แท้จริง โรคที่เกิดแต่จิตจักมีแก่เขา เพราะเหตุนั้น การดื่มน้ำร้อนหรือนำน้ำร้อนเข้าไป เพื่อประโยชน์แก่การล้างมือและเท้าเป็นต้น หรือเพื่อประโยชน์แก่การรดอาบตนเองและคนอื่น จึงไม่ควรแก่เขา โรคจะกำเริบ. น้ำเย็นจึงควร ระงับโรคได้.
               ก็นิครนถ์นี้เสพแต่น้ำร้อนเท่านั้น เมื่อไม่ได้น้ำร้อนก็เสพแต่น้ำข้าวและน้ำผักดองแทน เขาต้องการดื่มและต้องการบริโภคน้ำเย็นนั้นแม้ด้วยจิต เพราะเหตุนั้น มโนทัณฑะของเขาจึงแตก เพราะไม่ได้ดื่มและบริโภคน้ำเย็นนั้น เขาไม่อาจจะกล่าวว่า ข้าพเจ้าจะรักษากายทัณฑะและวจีทัณฑะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าต้องการดื่มหรือต้องการบริโภคน้ำเย็น ขอท่านโปรดให้แต่น้ำเย็นเท่านั้นเถิด.
               กายทัณฑะและวจีทัณฑะของเขาแม้รักษาไว้อย่างนี้ ก็ไม่สามารถจะชักจุติและปฏิสนธิได้. ส่วนมโนทัณฑะแม้แตกไปแล้วก็ยังชักจุติและปฏิสนธิได้อยู่นั่นเอง ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสกะเขาว่า กายทัณฑะและวจีทัณฑะต่ำทราม มีกำลังอ่อน มโนทัณฑะมีกำลังใหญ่
               แม้อุบาสกนั้นก็วิตกว่าเขากำหนดด้วยอำนาจ. คำถามว่า ก็อัสสาสะและปัสสาสะของอสัญญีสัตว์ย่อมเป็นไปไม่ได้แม้ทั้ง ๗ วัน แต่อสัญญีสัตว์เหล่านั้นเขาไม่เรียกว่าตาย เพราะเพียงมีแต่ความเป็นไปแห่งสันตติของจิตเท่านั้น เมื่อใดจิตของอสัญญีสัตว์เหล่านั้นไม่เป็นไป เมื่อนั้นจึงตาย. จะถึงความเป็นผู้ที่เขาควรกล่าวว่า จงนำสัตว์เหล่านั้นไปเผาเสีย. กายทัณฑะปราศจากการไป ไม่ขวนขวาย วจีทัณฑะก็เหมือนกัน แต่สัตว์เหล่านั้นยังจุติบ้าง ปฏิสนธิบ้าง ก็ด้วยจิตอย่างเดียว แม้เพราะเหตุนี้ มโนทัณฑะจึงใหญ่ มโนทัณฑะเท่านั้นชื่อว่าใหญ่ ก็เพราะจิตแม้แตกไปแล้วก็ยังชักจุติและปฏิสนธิได้.
               ส่วนถ้อยคำของนิครนถ์ใหญ่ศาสดาของเราเป็นถ้อยคำที่ไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์ได้จริง. แต่อุบาลีคฤหบดีนั้นต้องการจะฟังปัญหาปฏิภาณอันวิจิตร ของพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่คล้อยตามเสียก่อน.
               คำว่า น โข เตสนฺธิยติ แปลว่า คำของท่านไม่เชื่อมกัน.
               คำว่า ปุริเมน วา ปจฺฉิมํ ความว่า คำนี้ว่า มโนทัณฑะใหญ่ ณ บัดนี้ กับคำก่อนที่ว่า กายทัณฑะใหญ่ไม่เชื่อมกัน.
               คำว่า ปจฺฉิเมน วา ปุริมํ ความว่า คำก่อนโน้นกับคำหลังไม่เชื่อมกัน.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำเหตุแม้อย่างอื่นๆ มาแก่อุบาลีคฤหบดีนั้น จึงตรัสถามว่า ตํ กึ มญฺญสิ เป็นต้น.
               ในคำเหล่านั้นคำว่า จตุยามสํวรสํวุโต ความว่า ผู้สำรวมแล้วด้วยความสำรวม ๔ ส่วน คือไม่ฆ่าสัตว์เอง ไม่ใช้ให้เขาฆ่าสัตว์ ไม่ชอบใจต่อผู้ฆ่าสัตว์ส่วนหนึ่ง ไม่ลักทรัพย์เอง ไม่ใช้ให้เขาลักทรัพย์ ไม่ชอบใจต่อผู้ลักทรัพย์ส่วนหนึ่ง ไม่พูดเท็จเอง ไม่ใช้ให้เขาพูดเท็จ ไม่ชอบใจต่อผู้พูดเท็จส่วนหนึ่ง ไม่หวังกามคุณเอง ไม่ใช้ให้เขาหวังในกามคุณ ไม่ชอบใจต่อผู้หวังกามคุณส่วนหนึ่ง.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า ภาวิตํ เขาหมายความว่า กามคุณ ๕.
               คำว่า สพฺพวาริวาริโต แปลว่า ห้ามน้ำทั้งหมด. อธิบายว่า น้ำเย็นทั้งหมดเขาห้าม. เป็นความจริง นิครนถ์นั้นสำคัญว่ามีตัวสัตว์ในน้ำเย็น เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่ใช้น้ำเย็น.
               อีกนัยหนึ่ง คำว่า สพฺพวาริวาริโต หมายความว่า ห้ามบาปด้วยการเว้นบาปทั้งหมด. คำว่า สพฺพวาริยุตฺโต หมายความว่า ประกอบด้วยการห้ามบาปทั้งหมด. คำว่า สพฺพวาริธุโต หมายความว่า กำจัดบาปด้วยการเว้นบาปนั้นหมด.
               คำว่า สพฺพวาริผุโฏ๒- หมายความว่า ถูกต้องด้วยการห้ามบาปทั้งหมด.
               คำว่า ขุทฺทเก ปาเณ สํฆาตํ อาปาเทติ ความว่า ทำสัตว์เล็กๆ ให้ถึงฆาต.
____________________________
๒- บาลีว่า ผุฏฺโฐ.

               เขาว่า นิครนถ์นั้นบัญญัติสัตว์มีอินทรีย์เดียวว่า ปาณะ (สัตว์มีชีวิต) บัญญัติสัตว์มี ๒ อินทรีย์ว่าปาณะ บัญญัติแม้ใบไม้แห้ง ใบไม้เก่าๆ ก้อนกรวด กระเบื้องแตกว่าปาณะ ทั้งนั้น. ในปาณะเหล่านั้น เขาสำคัญว่า หยาดน้ำน้อยๆ ก็ใหญ่ ก้อนหินเล็กๆ ก็ใหญ่.
               คำนั้น ท่านกล่าวหมายถึงข้อนั้น.
               คำว่า กสฺมึ ปญฺญเปติ ความว่า บัญญัติไว้ที่ส่วนนั้น คือ ส่วนไหน.
               มโนทณฺฑสฺมึ คือในส่วนที่เป็นมโนทัณฑะ.
               อุบาสกนี้เมื่อกล่าวว่า ภนฺเต ก็กำหนดรู้ด้วยตนเองว่า นิครนถ์ใหญ่ของเราบัญญัติกรรมที่ไม่จงใจ ทำว่ามีโทษน้อย กรรมที่จงใจว่ามีโทษมาก แล้วบัญญัติเจตนาว่ามโนฑัณฑะ ถ้อยคำของเขาไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์จริง ส่วนถ้อยคำของพระผู้มีพระภาคเจ้านำสัตว์ออกจากทุกข์ได้จริง.
               คำว่า อิทฺธา แปลว่า มั่งคั่ง.
               คำว่า ผีตา แปลว่า มั่งคั่งเหลือเกิน เหมือนดอกไม้บานสะพรั่งทั้งต้น.
               บทว่า อากิณฺณมนุสฺสา แปลว่า เกลื่อนกล่นด้วยผู้คน.
               บทว่า ปาณา ได้แก่ สัตว์ดิรัจฉานมีช้างม้าเป็นต้น และมนุษย์มีหญิงชายและทารกเป็นต้น.
               บทว่า เอกมํสขลํ ได้แก่ กองเนื้อกองเดียว.
               บทว่า ปุญฺชํ เป็นไวพจน์ของคำว่า เอกมํสขลํ นั่นเอง.
               บทว่า อิทฺธิมา คือ ผู้ถึงพร้อมด้วยอานุภาพ.
               บทว่า เจโตวสิปฺปตฺโต คือ ผู้ถึงความชำนาญในจิต.
               บทว่า ภสฺมํ กริสฺสามิ แปลว่า จักกระทำให้เป็นเถ้า.
               บทว่า กิญฺหิ โสภติ เอกา ฉวา นาลนฺทา ความว่า คฤหบดีนั้น แม้เมื่อกล่าวคำนี้ก็กำหนดได้ว่า ด้วยกายประโยค แม้มนุษย์ ๕๐ คน ก็ไม่อาจทำเมืองนาลันทาเมืองเดียวให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกันได้ ส่วนผู้มีฤทธิ์คนเดียวก็สามารถทำเมืองนาลันทาให้เป็นเถ้าได้ด้วยความประทุษร้ายทางใจอย่างเดียวเท่านั้น. ถ้อยคำของนิครนถ์ใหญ่ของเราไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์ ถ้อยคำของพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้นนำสัตว์ออกจากทุกข์ได้จริง.
               คำว่า อรญฺญํ อรญฺญภูตํ ความว่า มิให้เป็นบ้าน คือเป็นป่านั่นเอง ชื่อว่าเกิดเป็นป่า.
               คำว่า อิสีนํ มโนปโทเสน ความว่า ด้วยการประทุษร้ายทางใจของฤาษีทั้งหลายทำให้พินาศแล้ว. รัฐทั้งหลายเหล่านั้นอันเทวดาผู้ไม่อดกลั้นความประทุษร้ายทางใจนั้นทำให้พินาศแล้ว ก็ชาวโลกสำคัญว่าผู้มีใจประทุษร้ายทำให้พินาศแล้ว เพื่อประโยชน์แก่ฤาษีทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า เขาตั้งอยู่ในวาทะของโลกอันนี้ จึงยกวาทะนี้ขึ้นกระทำแล้ว.
               ในข้อนั้นพึงทราบว่า ป่าทัณฑกีเป็นต้นกลายเป็นป่าดังต่อไปนี้.

               เรื่องป่าทัณฑกี               
               เมื่อบริษัทของพระสรภังคดาบสโพธิสัตว์แผ่ขยายไพบูลย์แล้ว ดาบสชื่อกีสวัจฉะศิษย์ของพระโพธิสัตว์ ประสงค์จะอยู่อย่างสงัด จึงละหมู่ไปอาศัยนครชื่อกุมภปุระ ของพระเจ้าทัณฑกี แคว้นกาลิงคะ ต่อจากฝั่งแม่น้ำโคธาวารี เจริญความสงัดอยู่ในพระราชอุทยาน เสนาบดีของพระเจ้าทัณฑกีนั้นเป็นอุปัฏฐาก.
               ครั้งนั้น นางคณิกาคนหนึ่งขึ้นรถมีหญิง ๕๐๐ เป็นบริวาร ทำนครให้งดงามเที่ยวไป. มหาชนมองเห็นก็ห้อมล้อมนางเที่ยวตามไป จนถนนในพระนครไม่พอ. พระราชาเผยพระแกลประทับยืนเห็นนาง จึงตรัสถามพวกราชบุรุษว่า หญิงผู้นั้นเป็นใคร. พวกราชบุรุษทูลว่า ขอเดชะ หญิงนครโสภิณีของพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า. ท้าวเธอเกิดริษยาทรงพระดำริว่า นครที่หญิงผู้นี้ทำให้งาม จักงามได้อย่างไร แล้วตรัสสั่งให้ตัดฐานันดรนั้นเสีย.
               ตั้งแต่นั้นมา นางคณิกานั้นก็ทำการชมเชยกับคนนั้นๆ เสาะหาฐานันดรเรื่อยไป. วันหนึ่งเข้าไปยังพระราชอุทยานพบดาบสนั่งบนแผ่นหิน พิงแผ่นหินที่ย้อยลงมา ใกล้ปลายที่จงกรม จึงคิดว่า ดาบสผู้นี้สกปรกจริงหนอ นั่งไม่ไหวติง เขี้ยวงอกออกมาปิดปาก หนวดเคราปิดอก รักแร้สองข้างขนรุงรัง.
               ครั้งนั้น นางเกิดความเสียใจว่า เราเที่ยวไปด้วยกิจอย่างหนึ่ง ก็มาพบกับคนกาลกัณณี (กาลกิณี) นี้เข้า ท่านทั้งหลายนำน้ำมา เราจักล้างลูกตา ให้เขาเอาน้ำและไม้สีฟันมาแล้ว ก็เคี้ยวไม้สีฟัน ถ่มน้ำลายเป็นก้อนๆ ลงไปบนเนื้อตัวของดาบสนั้น แล้วโยนไม้สีฟันลงบนกลางเซิงผม บ้วนปากตัวเองแล้ว เอาน้ำราดบนศีรษะของดาบส คิดว่า เราล้างลูกตาที่เห็นคนกาลกัณณีแล้ว กลีโทษเราก็ลอยเสียแล้ว ก็ออกไปจากพระราชอุทยาน.
               ในวันนั้นเอง พระราชาทรงนึกขึ้นได้ก็ตรัสถามว่า พ่อมหาจำเริญ หญิงนครโสภิณีอยู่ไหน. พวกราชบุรุษตอบว่า อยู่ในพระนครนี้เอง พระเจ้าข้า. ตรัสสั่งว่า พวกเจ้าจงให้ฐานันดรเป็นปกติแก่นางอย่างเดิม แล้วทรงสั่งให้คืนฐานันดร.
               นางอาศัยกรรมที่ทำดีมาก่อน จึงได้ฐานันดร แต่นางเข้าใจไปเสียว่า ได้เพราะถ่มน้ำลายลงที่เนื้อตัวของดาบส.
               ต่อจากวันนั้นไปเล็กน้อย พระราชาทรงถอดฐานันดรของพราหมณ์ปุโรหิต เขาจึงไปยังสำนักหญิงนครโสภินี สอบถามว่า น้องหญิง เธอทำอะไรจึงกลับได้ฐานันดร.
               นางก็กล่าวว่า ท่านพราหมณ์จะอะไรเสียอีกเล่า ชฎิลขี้โกงคนหนึ่งเป็นตัวกาลกัณณีที่ไม่ไหวติงอยู่ในพระราชอุทยาน ท่านจงถ่มน้ำลายลงที่ตัวของดาบสนั้น ก็จักได้ฐานันดรอย่างนี้.
               ปุโรหิตนั้นก็กล่าวว่า ข้าจักทำอย่างนั้นนะน้องหญิง แล้วก็ไปที่พระราชอุทยานนั้น กระทำอย่างที่นางบอกทุกประการแล้วก็ออกจากพระราชอุทยานไป.
               ในวันนั้นนั่นเอง พระราชาทรงนึกขึ้นได้ก็ตรัสถามว่า พ่อมหาจำเริญ พราหมณ์อยู่ไหน ได้รับคำทูลตอบว่า อยู่ในพระนครนี้เอง พระเจ้าข้า. พระราชาทรงมีพระดำรัสว่า เราไม่ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำ พวกเจ้าจงคืนฐานันดรให้เขา แล้วตรัสสั่งให้คืนฐานันดรแก่พราหมณ์นั้น. ถึงพราหมณ์นั้นได้ฐานันดร เพราะกำลังบุญแต่ก่อน ก็เข้าใจไปเสียว่าได้ฐานันดรเพราะถ่มน้ำลายลงที่ตัวของดาบส.
               ต่อจากวันนั้นไปเล็กน้อย ชนบทชายแดนของพระราชาเกิดกบฏ. พระราชาตรัสว่า เราจักไปปราบกบฏชายแดน จึงเสด็จไปพร้อมด้วยกองทัพ ๔ เหล่า พราหมณ์ปุโรหิตจึงไปยืนอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระราชา ถวายพระพรว่า ชยตุ มหาราชา จงได้ชัยชนะเถิด พระมหาราชเจ้า แล้วทูลถามว่า พระองค์จะเสด็จไปเพื่อชัยชนะ หรือพระมหาราชเจ้า. ตรัสตอบว่า อย่างนั้นซิ พราหมณ์. ทูลว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ชฎิลขี้โกงผู้หนึ่งเป็นคนกาลกัณณีผู้ไม่ไหวติง พำนักอยู่ในพระราชอุทยาน โปรดทรงถ่มเขฬะลงที่ตัวของชฎิลผู้นั้นเถิด พระเจ้าข้า.
               พระราชาทรงรับคำของพราหมณ์ปุโรหิตนั้น สั่งให้กระทำเหมือนอย่างที่หญิงคณิกาและพราหมณ์ปุโรหิตนั้นทำทุกอย่าง แล้วตรัสสั่งให้เจ้านายฝ่ายในถ่มเขฬะลงที่ตัวของชลิฎขี้โกงนั้น ต่อจากนั้น ทั้งฝ่ายใน ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้คุ้มครองฝ่ายในก็กระทำตามอย่างนั้นเหมือนกัน.
               ครั้งนั้น พระราชาทรงสั่งให้ตั้งกองรักษาการณ์ไว้ใกล้ประตูพระราชอุทยาน แล้วสั่งว่า ผู้ตามเสด็จไม่ถ่มน้ำลายลงที่ตัวดาบสให้ทั่วแล้วออกไปไม่ได้. คราวนั้น นายพันนายกองทั้งหมดก็นำน้ำลาย ไม้สีฟันและน้ำบ้วนปาก เอาไปไว้บนตัวดาบสโดยทำนองนั้นนั่นแล. น้ำลายและไม้สีฟันก็ท่วมทั่วตัว.
               เสนาบดี (ผู้อุปัฏฐาก) รู้เรื่องภายหลังเขาหมด ก็ครุ่นคิดว่า เขาว่าคนทั้งหลายทำร้ายพระผู้มีพระภาคเจ้าศาสดาของเราซึ่งเป็นเนื้อนาบุญ เป็นบันไดสวรรค์อย่างนี้ หัวใจก็ร้อนระอุ ต้องหายใจทางปาก จึงรุดไปยังพระราชอุทยาน เห็นฤษีประสบความย่อยยับอย่างนั้น ก็นุ่งหยักรั้ง เอามือทั้งสองกวาดไม้สีฟัน ยกขึ้นให้นั่งให้นำน้ำมาอาบ ชะโลมด้วยยาทุกชนิดและของหอม ๔ ชนิด เช็ดด้วยผ้าละเอียด ยืนประนมมืออยู่ข้างหน้า พูดอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ พวกมนุษย์ทำไม่สมควร อะไรจักมีแก่พวกเขา.
               ดาบสกล่าวว่า ท่านเสนาบดี เทวดาแบ่งกันเป็น ๓ พวก พวกหนึ่งกล่าวว่า จักทำพระราชาพระองค์เดียวให้พินาศ, พวกหนึ่งกล่าวว่า จักทำพระราชาพร้อมด้วยบริษัทให้พินาศ, พวกหนึ่งกล่าวว่า จักทำแว่นแคว้นทั้งหมดของพระราชาให้พินาศ
               ก็แลครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ดาบสมิได้แสดงอาการโกรธแม้แต่น้อย เมื่อจะบอกอุบายสันติแห่งโลก กล่าวว่า ความผิดมีอยู่ แต่เมื่อรู้แสดงความผ่อนโทษเสีย เหตุการณ์ก็จะเป็นปกติอย่างเดิม. เสนาบดีได้นัยแล้วก็เข้าไปเฝ้าพระราชา ถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์ทรงประพฤติผิดในท่านดาบสผู้ไม่ผิด ผู้มีฤทธิ์มาก ทรงกระทำกรรมอย่างหนัก ท่านว่า เทวดาแบ่งเป็น ๓ พวกกล่าวกันอย่างนี้ ทูลเรื่องทั้งหมดแล้วกราบทูลว่า ท่านว่าเมื่อพระองค์ทรงขอขมาเสียแล้ว แว่นแคว้นก็จะเป็นปกติ ขอพระองค์อย่าทรงทำให้แว่นแคว้นพินาศเสียเลย ขอพระมหาราชเจ้า โปรดขอขมาท่านดาบสเสียเถิด พระเจ้าข้า.
               เสนาบดีกราบทูลถึง ๓ ครั้ง พระราชาก็ไม่ทรงปรารถนาจะขอขมา จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพเจ้าทราบกำลังของดาบส ดาบสนั้นมิใช่พูดไม่จริง ทั้งก็ไม่โกรธด้วย แต่ท่านพูดอย่างนี้ ก็ด้วยความเอ็นดู อนุเคราะห์สัตว์ ขอได้โปรดขอขมาท่านดาบสนั้นเสียเถิด พระเจ้าข้า. พระราชาก็ทรงยืนกรานว่า เราไม่ขอขมา.
               เสนาบดีจึงกราบทูลว่า ถ้าอย่างนั้น ขอได้โปรดพระราชทานตำแหน่งเสนาบดีแก่คนอื่นเถิด ข้าพเจ้าจักไม่อยู่ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ต่อไปละ.
               พระราชาตรัสว่า ท่านจะไปก็ตามที เราจักได้เสนาบดีของเราใหม่.
               แต่นั้น เสนาบดีก็ไปสำนักดาบส ไหว้แล้วก็กล่าวว่า ข้าพเจ้าปฏิบัติตามคำของท่านแล้ว ท่านเจ้าข้า. ดาบสกล่าวว่า ท่านเสนาบดี คนที่เชื่อฟังจงพาทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งเครื่องใช้ ทั้งทรัพย์ ทั้งสัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้า ออกไปเสียนอกพระราชอาณาเขตภายใน ๗ วัน เทวดาพิโรธหนัก จักเบียดเบียนแว่นแคว้นแน่นอน.
               เสนาบดีก็กระทำตาม พระราชาก็ทรงมัวเมาอย่างเดียว ทรงปราบข้าศึก ทำชนบทชายแดนให้สงบแล้ว ก็เสด็จมาพัก ณ ค่ายฉลองชัย ทรงจัดการพระนครนั้นๆ แล้ว เสด็จเข้าสู่พระราชนิเวศน์.
               ครั้งแรกทีเดียว เหล่าเทวดาบันดาลฝนน้ำให้ตกลงมา. มหาชนก็ดีใจว่า ตั้งแต่ทำผิดในชฎิลขี้โกงมา พระราชาของเราก็เจริญอย่างเดียว ทรงปราบข้าศึกได้ ในวันเสด็จกลับฝนก็ตกลงมา.
               ต่อมา เหล่าเทวดาก็บันดาลฝนดอกมะลิตกลงมา มหาชนก็ดีใจยิ่งขึ้นไปอีก ต่อมาเหล่าเทวดาก็บันดาลฝนมาสก ฝนกหาปณะให้ตกลงมา เข้าใจว่าคนทั้งหลายจะออกมาเก็บ จึงบันดาลฝนเครื่องประดับมือ ประดับเท้า ประดับเอวเป็นต้นให้ตกลงมา มหาชนก็ลงมายังปราสาท ๗ ชั้นทางข้างหลัง ต่างประดับอาภรณ์ ดีใจว่า การถ่มน้ำลายรดชฎิลขี้โกง สมควรแท้หนอ ตั้งแต่ถ่มน้ำลายลงบนชฎิลขี้โกงนั้น พระราชาของเราก็เจริญ ทรงปราบข้าศึกสำเร็จ วันเสด็จกลับฝนยังตกลงมา ต่อนั้น ฝน ๔ อย่าง คือ ฝนดอกมะลิ ฝนมาสก ฝนกหาปณะ ฝนเครื่องประดับเอว ก็เกิด เปล่งวาจาดีใจอย่างนี้แล้ว ก็อิ่มเอิบในกรรมที่พระราชาทรงทำผิด.
               สมัยนั้น เหล่าเทวดาก็บันดาลอาวุธต่างๆ ที่มีคมข้างเดียว สองข้างเป็นต้น ให้ตกลงมาปานเชือดเนื้อมหาชนบนแผ่นเขียง. ต่อจากนั้น ก็บันดาลถ่านเพลิงมีสีดังดอกทองกวาว ปราศจากเถ้าและควัน บันดาลก้อนหินขนาดเรือนยอด บันดาลทรายละเอียดที่กอบกำไม่อยู่ให้ตกลงมา ถมพื้นที่สูงขึ้นถึง ๘๐ ศอก.
               ในแว่นแคว้นของพระราชา มนุษย์ ๓ คน คือ ท่านกีสวัจฉดาบส ท่านเสนาบดีและคนที่ยินดีเลี้ยงดูมารดา เป็นผู้ไม่มีโรค. ในแหล่งน้ำดื่มก็ไม่มีน้ำดื่ม ในแหล่งหญ้าก็ไม่มีหญ้า สำหรับสัตว์ดิรัจฉานที่เหลือ ผู้ไม่ได้ร่วมในกรรมนั้น. สัตว์ดิรัจฉานเหล่านั้นก็ไปยังแหล่งที่มีน้ำดื่ม มีหญ้า ไม่ทันถึง ๗ วัน ก็พากันไปนอกราชอาณาจักร.
               เพราะเหตุนั้น สรภังคโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า
                                   กีสญฺหิ วจฺฉํ อวกฺรีย ทณฺฑกี
                                   อุจฺฉินฺนมูโล สชโน สรฏฺโฐ
                                   กุกฺกุลนาเม นิรยมฺหิ ปจฺจตี
                                   ตสฺส ผุลฺลิตานิ ปตนฺติ กาเย.

                         พระเจ้าทัณฑกีทรงให้ร้ายกีสวัจฉดาบส ทรงขาด
                         คุณธรรมเบื้องต้น พร้อมทั้งมหาชน พร้อมทั้งแว่น
                         แคว้น ก็ตกนรกขุมกุกกุละ ถ่านไฟคุโชนก็ตกไป
                         ที่พระกายของท้าวเธอ ดังนี้.

               พึงทราบว่า ป่าทัณฑกีเป็นป่าไปดังกล่าวมาฉะนี้.

               เรื่องป่ากลิงคะ๑-               
๑- บาลีเป็นกาลิงคะ

               ดังได้สดับมา ครั้งพระเจ้านาฬิกีระทรงราชย์ ณ แคว้นกลิงคะ ดาบส ๕๐๐ รูป ณ ป่าหิมพานต์ ผู้ไม่เคยได้กลิ่นสตรี ทรงหนังเสือเหลืองชฎาและผ้าเปลือกไม้ มีรากไม้ผลไม้ป่าเป็นอาหารอยู่มานาน ประสงค์จะเสพอาหารมีรสเปรี้ยวเค็ม ก็พากันมายังถิ่นมนุษย์ ถึงนครของพระเจ้านาฬิกีระ แคว้นกลิงคะตามลำดับ.
               ดาบสเหล่านั้นทรงชฎาหนังเสือเหลืองและผ้าเปลือกไม้ แสดงกิริยาอันสงบสมควรแก่เพศนักบวช เข้าไปขออาหารยังนคร. ครั้งพระพุทธเจ้ายังไม่เกิด คนทั้งหลายเห็นดาบสนักบวชก็เลื่อมใส จัดแจงที่นั่งและที่ยืน มีมือถือภาชนะใส่อาหาร นิมนต์ให้นั่งแล้ว จัดอาหารถวาย. เหล่าดาบสบริโภคอาหารเสร็จแล้วก็อนุโมทนา. คนทั้งหลายได้ฟังแล้วก็มีจิตเลื่อมใส ถามว่า พระผู้เจริญทั้งหลายจะไปไหน. ดาบสตอบว่า จะไปตามที่ที่มีความผาสุก. คนเหล่านั้นก็พูดเชิงนิมนต์ว่า พระคุณเจ้าไม่ควรไปที่อื่น อยู่เสียที่พระราชอุทยานเถิด พวกเรากินอาหารเช้าแล้ว จักมาฟังธรรมกถา. เหล่าดาบสก็รับ ไปยังพระราชอุทยาน. ชาวเมืองกินอาหารแล้ว ก็นุ่งผ้าสะอาด ห่มผ้าสะอาด หมายจะฟังธรรมกถาเดินกันไปเป็นหมู่ๆ มุ่งหน้าไปยังพระราชอุทยาน.
               พระราชาประทับยืนบนปราสาท ทอดพระเนตรเห็นคนเหล่านั้นกำลังเดินไป จึงตรัสถามเจ้าหน้าที่ผู้รับใช้ว่า พนาย ทำไม ชาวเมืองเหล่านั้นจึงนุ่งห่มผ้าสะอาด เดินมุ่งหน้าไปยังสวน ที่สวนนั้น เขามีการชุมนุมหรือฟ้อนรำกันหรือ.
               เจ้าหน้าที่กราบทูลว่า ไม่มีดอก พระเจ้าข้า พวกเขาต้องการจะไปฟังธรรมกถาในสำนักเหล่าดาบส.
               ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น เราจะไปด้วย บอกให้พวกเขาไปกับเรา.
               เจ้าหน้าที่ก็ไปบอกแก่คนเหล่านั้นว่า พระราชาก็มีพระราชประสงค์จะเสด็จไป พวกท่านจงแวดล้อมพระราชากันเถิด. โดยปกติ พวกชาวเมืองดีใจกันอยู่แล้ว ครั้นฟังคำนั้นก็ดีใจยิ่งขึ้นไปว่า พระราชาของเราไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส ทุศีล เหล่าดาบสมีธรรม อาศัยดาบสเหล่านั้น พระราชาจักตั้งอยู่ในธรรมก็ได้.
               พระราชาเสด็จออก มีชาวเมืองแวดล้อม เสด็จไปยังพระราชอุทยานทรงปฏิสันถารกับเหล่าดาบส แล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง. เหล่าดาบสเห็นพระราชาก็มอบหมายให้ดาบสรูปหนึ่งผู้ฉลาด กล่าวธรรมกถาถวายพระราชา ด้วยถ้อยคำละเมียดละไม ดาบสมองดูหมู่คน เมื่อจะกล่าวโทษในเวรทั้ง ๕ และอานิสงส์ในศีล ๕ จึงกล่าวโทษในเวรทั้ง ๕ ว่า ไม่ควรฆ่าสัตว์ ไม่ควรลักทรัพย์ ไม่ควรประพฤติผิดในกาม ไม่ควรพูดเท็จ ไม่ควรดื่มน้ำเมา. ขึ้นชื่อว่าปาณาติบาต ย่อมส่งผลให้เกิดในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย อทินนาทานเป็นต้นก็เหมือนกัน เมื่อหมกไหม้ในนรกแล้ว มาสู่มนุษยโลก ปาณาติบาตก็ส่งผลให้เป็นผู้มีอายุสั้น ด้วยเศษแห่งวิบาก อทินนาทานก็ส่งผลให้เป็นผู้มีโภคทรัพย์น้อย มิจฉาจารก็ส่งผลให้เป็นผู้มีศัตรูมาก มุสาวาทก็ส่งผลให้เป็นผู้ถูกกล่าวตู่ (ใส่ความ) มัชชปานะ (ดื่มน้ำเมา) ก็ส่งผลให้เป็นคนบ้า.
               แม้โดยปกติ พระราชาก็เป็นผู้ไม่มีความเชื่อ ไม่เลื่อมใสเป็นผู้ทุศีล ธรรมดาว่าสีลกถาเป็นทุกถา (คำเลว) สำหรับคนทุศีล จึงเป็นเสมือนหอกทิ่มหู เพราะฉะนั้น ท้าวเธอจึงทรงดำริว่า เรามาหมายจะยกย่องดาบสเหล่านี้ แต่ดาบสเหล่านี้กลับพูดกระทบกระเทือนทิ่มแทงเราผู้เดียว ท่ามกลางบริษัท ตั้งแต่เรามา เราจักกระทำให้สาสมแก่ดาบสเหล่านั้น. เมื่อจบธรรมกถา ท้าวเธอก็นิมนต์ว่า ท่านอาจารย์ทั้งหลาย พรุ่งนี้ขอได้โปรดรับอาหารที่บ้านโยม แล้วเสด็จกลับ.
               วันรุ่งขึ้นท้าวเธอให้นำไหขนาดใหญ่ๆ มาแล้วบรรจุคูถ (อุจจาระ) จนเต็มแล้ว เอาใบกล้วยมาผูกปากไหเหล่านั้นไว้ ให้เอาไปตั้งไว้ ณ ที่นั้นๆ ใส่น้ำผึ้ง น้ำมันยาง ต้นกากะทิงและหนามงิ้วหนาๆ เป็นต้นจนเต็มหม้อ วางไว้หัวบันได ทั้งให้พวกนักมวยร่างใหญ่ผูกสายรัดเอว ถือค้อนคอยทีในที่นั้นแหละ ประทับยืนกล่าวว่า พวกดาบสขี้โกงเบียดเบียนเรายิ่งนัก ตั้งแต่ดาบสเหล่านั้นลงจากปราสาท พวกเจ้าจงเอาหม้อสาดหนามงิ้วไปที่หัวบันได เอาค้อนตีศีรษะ จับคอเหวี่ยงไปที่บันได. ที่เชิงบันไดก็ให้ผูกสุนัขดุๆ เอาไว้.
               ฝ่ายเหล่าดาบสก็คิดว่า พวกเราจักบริโภคอาหารในเรือนหลวงวันพรุ่งนี้ ก็สอนซึ่งกันและกันว่า ขึ้นชื่อว่าเรือนหลวง น่าสงสัย น่ามีภัย ธรรมดาบรรพชิตพึงสำรวมในทวารทั้ง ๖ ไม่ควรถือนิมิตในอารมณ์ที่เห็นแล้วๆ พึงตั้งเฉพาะความสำรวมในจักษุทวาร.
               วันรุ่งขึ้น เหล่าดาบสก็กำหนดรู้เวลาทำอาหาร จึงนุ่งผ้าเปลือกไม้ ห่มหนังเสือเหลืองเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง มุ่นชฎา ถือภาชนะใส่อาหาร ขึ้นสู่พระราชนิเวศน์ตามลำดับ.
               พระราชาทรงทราบว่าดาบสขึ้นมาแล้ว ก็ให้นำเอาใบกล้วยออกจากปากไหคูถ กลิ่นเหม็นก็กระทบโพรงจมูกของดาบส ถึงอาการประหนึ่งเยื่อสมองตกล่วงไป.
               ดาบสผู้ใหญ่ก็จ้องมองพระราชา.
               พระราชาตรัสว่า มาซิ ท่านผู้เจริญ จงฉัน จงนำไปตามความต้องการ นั่นเป็นของเหมาะแก่พวกท่าน เมื่อวานเรามาหมายจะยกย่องพวกท่าน แต่พวกท่านกลับพูดกระทบเสียดแทงเราผู้เดียว ท่ามกลางบริษัท พวกท่านจงฉันของที่เหมาะแก่พวกท่าน แล้วสั่งให้เอากระบวย ตักคูถไปถวายดาบสผู้ใหญ่.
               ดาบสก็ได้แต่พูดว่า ชิชิ แล้วก็กลับไป.
               พระราชาตรัสว่า พวกท่านต้องไปทางนี้ทางเดียว แล้วให้สัญญาณแก่คนทั้งหลาย ให้เอาหม้อสาดหนามงิ้วที่บันได. พวกนักมวยก็เอาค้อนตีศีรษะ จับคอเหวี่ยงไปที่บันได. ดาบสแม้รูปเดียวก็ไม่อาจยืนได้ที่บันได. ดาบสทั้งหลายก็กลิ้งลงมาถึงเชิงบันได เมื่อถึงเชิงบันไดแล้ว ฝูงสุนัขดุคิดว่าแผ่นผ้าๆ ก็รุมกันกัดกิน. บรรดาดาบสเหล่านั้นแม้รูปใดลุกขึ้นหนีไปได้ รูปนั้นก็ต้องตกลงไปในหลุม ฝูงสุนัขก็ตามไปกัดกิน ดาบสนั้นในหลุมนั้นนั่นแหละ ดังนั้น ร่างกระดูกของดาบสเหล่านั้นจึงไม่หลงเหลืออยู่เลย.
               พระราชาทรงปลงชีวิตดาบส ๕๐๐ รูปผู้สมบูรณ์ด้วยตบะลงด้วยเวลาวันเดียวเท่านั้นด้วยประการฉะนี้.
               ครั้งนั้น เหล่าเทวดาบันดาลฝน ๙ ชนิด ให้ตกลงมาอีกในแว่นแคว้นของพระราชาพระองค์นั้นโดยนัยก่อนนั่นแล แคว้นของพระราชาพระองค์นั้นถูกกลบด้วยกองทรายสูงถึง ๖๐ โยชน์.
               เพราะเหตุนั้น สรภังคโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า
                                   โย สญฺญเต ปพฺพชิโต อวญฺจยิ๒-
                                   ธมฺมํ ภณนฺเต สมเณ อทูสเก
                                   ตนฺนาฬิกีรํ สุนขา ปรตฺถ
                                   สงฺคมฺม ขาทนฺติ วิผนฺทมานํ.

                         พระเจ้านาฬิกีระพระองค์ใดทรงลวงเหล่านักบวช
                         ผู้สำรวม ผู้กล่าวธรรม ผู้สงบ ไม่เบียดเบียนใคร
                         ฝูงสุนัขย่อมรุมกันกัดกินพระเจ้านาฬิกีระพระองค์
                         นั้น ผู้ซึ่งกลัวตัวสั่นอยู่ในโลกอื่น.

               พึงทราบว่า ป่ากาลิงคะเป็นป่าไปด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๒- บาลีสรภังคชาดกว่า อเหฐยิ.

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหบดีวรรค อุปาลิวาทสูตร เรื่องทีฆตปัสสีนิครนถ์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 56อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 62อ่านอรรถกถา 13 / 84อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=1044&Z=1477
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=975
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=975
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :