ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 84อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 91อ่านอรรถกถา 13 / 97อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหบดีวรรค
อภัยราชกุมารสูตร เรื่องอภัยราชกุมาร

               ๘. อรรถกถาอภัยราชกุมารสูตร๑-               
๑- อรรถกถาเรียก อภยสูตร.

               อภัยราชกุมารสูตร มีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.
               ในบรรดาคำเหล่านั้น คำว่า อภยะ เป็นพระนามของพระราชกุมารพระองค์นั้น.
               คำว่า ราชกุมาร คือ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร.
               บทว่า วาทํ อาโรเปหิ คือ จงยกโทษในวาทะ.
               คำว่า เนรยิโก แปลว่า ผู้บังเกิดในนรก.
               คำว่า กปฺปฏฺโฐ แปลว่า ตั้งอยู่ตลอดกัป.
               คำว่า อเตกิจฺโฉ คือ แม้พระพุทธเจ้าพันพระองค์ก็ไม่อาจแก้ไขได้.
               คำว่า โอคฺคิลิตุํ คือ พระตถาคต เมื่อไม่อาจกล่าวแก้ปัญหาสองเงื่อนได้ ก็ไม่อาจคาย คือนำออกข้างนอกได้.
               คำว่า อุคฺคิลิตุํ คือ เมื่อไม่อาจให้นำโทษแห่งคำถาม (ปัญหา) ออกไปเสีย ก็ไม่อาจกลืน คือเอาเข้าไปข้างในได้.
               คำว่า เอวํ ภนฺเต ความว่า ได้ยินว่า นิครนถ์คิดว่า พระสมณโคดมทำลายสาวกของเราแล้วรับเอาไว้เอง เอาเถิด เราจะแต่งปัญหาข้อหนึ่ง ซึ่งพระสมณโคดมถูกถามแล้วจะต้องนั่งกระโหย่งไม่สามารถลุกได้. นิครนถ์นั้นรับอาหารมาจากวังของอภัยราชกุมารแล้ว ฉันโภชนะอันโอชะ แต่งปัญหาไว้เป็นอันมาก คิดว่า พระสมณโคดมเห็นโทษอันนี้ในปัญหานี้ในข้อนั้นก็เป็นเสนียด แล้วละการทั้งปวงเสีย ได้ครุ่นคิดปัญหานี้ในสมองถึง ๔ เดือน.
               ครั้งนั้น นิครนถ์คิดว่า พระสมณโคดมไม่อาจให้โทษในการถามหรือตอบปัญหานี้ได้ ปัญหานี้ชื่อ โอวัฏฏิกสาระ (คือปัญหาวนเวียน) ใครหนอจะรับผูกวาทะแก่พระสมณโคดมได้.
               ต่อแต่นั้น ก็ตกลงใจว่า อภัยราชกุมารเป็นบัณฑิต เขาจักสามารถ เหตุนั้น เราจะให้อภัยราชกุมารเรียนปัญหานั้น แล้วให้อภัยราชกุมารเรียน. อภัยราชกุมารนั้นมีอัธยาศัยชอบยกวาทะจึงรับคำนิครนถ์นั้น ตรัสว่า อย่างนั้นสิ ท่านอาจารย์. ทรงเข้าพระทัยว่า ปัญหานี้อาจารย์แต่งใช้เวลา ๔ เดือน เมื่อรับเอาปัญหานี้ไปให้พระสมณโคดมตอบ เวลาคงไม่พอ จึงทรงดำริอย่างนี้ว่า วันนี้ไม่เหมาะ.
               คำว่า โสทานิ แยกสนธิว่า เสฺว ทานิ.
               บทว่า อตฺตจตุตฺโถ ความว่า เหตุไร อภัยราชกุมารจึงไม่นิมนต์ภิกษุทั้งหลายให้มากรูป.
               ได้ยินว่า อภัยราชกุมารนั้นทรงดำริอย่างนี้ว่า เมื่อภิกษุมากรูปนั่งกันแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงชักพระสูตรอื่น เหตุอื่น หรือเรื่องทำนองนั้นอย่างอื่นมาแสดงแก่เรา ซึ่งถวายของนิดหน่อย กำลังพูดอยู่ เมื่อเป็นดังนั้น ก็จักมีแต่การทะเลาะการวุ่นวายเท่านั้น แม้อย่างนั้น เราจักนิมนต์แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เดียว ก็จักเกิดการติเตียนเราว่า อภัยราชกุมารนี้ช่างตระหนี่ ทั้งที่เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวบิณฑบาตพร้อมด้วยภิกษุร้อยรูปบ้าง พันรูปบ้างทุกๆ วัน ก็ยังนิมนต์แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เดียว ก็โทษอย่างนั้นจักไม่มี. จึงนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นองค์ที่ ๔ กับภิกษุอื่นอีก ๓ รูป.
               คำว่า น เขฺวตฺถ ราชกุมาร เอกํเสน ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนราชกุมาร ในเรื่องนี้จะไม่มีการตอบปัญหาโดยเงื่อนเดียว.
               อธิบายว่า ก็ตถาคตจะพึงกล่าวก็ดี ไม่พึงกล่าวก็ดี ซึ่งวาจาเห็นปานนั้น ตถาคตเห็นประโยชน์โดยปัจจัยแห่งภาษิตจึงกล่าว ไม่เห็นประโยชน์ก็ไม่กล่าว. ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงย่อยปัญหาที่นิครนถ์แต่งมา ๔ เดือนด้วยพระดำรัสคำเดียวเท่านั้น ประหนึ่งอสนีบาตฟาดยอดบรรพต ฉะนั้น.
               สองบทว่า อนสฺสุํ นิคนฺถา แปลว่า นิครนถ์ทั้งหลายฉิบหายแล้ว.
               บทว่า องฺเก นิสินฺโน โหติ คือ นั่งบนพระเพลา.
               แท้จริง นักพูดโดยเลศทั้งหลายตั้งวาทะขึ้นมาก็นั่งจับของบางอย่าง เช่นผลไม้ หรือดอกไม้หรือคัมภีร์ เมื่อตนชนะก็ทับถมผู้อื่น. เมื่อตนแพ้ก็แสดงกิริยาซัดส่าย (แก้ขวย) ประหนึ่งกินผลไม้ ประหนึ่งดมดอกไม้ ประหนึ่งอ่านคัมภีร์ฉะนั้น.
               ส่วนอภัยราชกุมารนี้ทรงดำริว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเข้าสงครามย่ำยีวาทะของผู้อื่น ถ้าเราชนะก็ดีไป ถ้าไม่ชนะก็หยิกเด็กให้ร้อง ต่อนั้นเราก็จักพูดว่า ดูซิท่านผู้เจริญ เด็กนี่ร้อง ลุกขึ้นก่อน ภายหลังค่อยรู้กัน เพราะฉะนั้น จึงทรงพาเด็กมาประทับนั่ง.
               ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นนักพูดประเสริฐกว่าอภัยราชกุมารพันเท่าแสนเท่า ทรงดำริว่า จักทรงทำเด็กนี้แหละให้เป็นข้ออุปมา ทำลายวาทะของอภัยราชกุมารนั้นเสีย จึงตรัสว่า กึ มญฺญสิ ราชกุมาร เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มุเข อาหเรยฺย แปลว่า ตั้งไว้ในปาก.
               คำว่า อาหเรยฺยสฺสาหํ แก้เป็น อปเนยฺยํ อสฺส อหํ.
               บทว่า อาทิเกเนว แปลว่า ด้วยประโยคแรกเท่านั้น.
               บทว่า อภูตํ แปลว่า มีใจความไม่เป็นจริง.
               บทว่า อตจฺฉํ แปลว่า ไม่เปล่าประโยชน์.
               บทว่า อนตฺถสญฺหิตํ แปลว่า ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่อาศัยความเจริญ.
               บทว่า อปฺปิยา อมนาปา แปลว่า ไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจ.
               พึงทราบความในที่ทุกแห่ง โดยนัยนี้นี่แล.
               บรรดาวาจาสองฝ่ายนั้น ในฝ่ายวาจาไม่เป็นที่รัก วาจาแรกที่เป็นไป ตู่คนที่ไม่ใช่โจรว่าโจร ตู่คนที่ไม่ใช่ทาสว่าทาส ตู่คนที่ไม่ใช่ผู้ประกอบกรรมชั่วว่าคนประกอบกรรมชั่ว ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น.
               วาจาที่สองเป็นไปด้วยอำนาจวาจาที่ชี้ผู้เป็นโจรเท่านั้นว่าผู้นี้โจร ดังนี้เป็นต้น ตถาคตไม่กล่าววาจาแม้นั้น.
               บัดนี้พึงทราบวาจาที่สาม คือวาจาที่กล่าวด้วยมุ่งประโยชน์เป็นเบื้องหน้า ด้วยมุ่งธรรมเป็นเบื้องหน้า ด้วยมุ่งสั่งสอนเป็นเบื้องหน้าแก่มหาชนอย่างนี้ว่า เพราะความที่ท่านไม่ได้ทำบุญไว้ ท่านจึงยากจน มีผิวพรรณทราม มีอำนาจน้อย แม้ดำรงอยู่ในโลกนี้แล้วก็ยังไม่ทำบุญอีก ในอัตภาพที่สอง ท่านจะพ้นจากอบาย ๔ ได้อย่างไร.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาลญฺญู ตถาคโต ความว่า ตถาคตเป็นผู้รู้กาลเพื่อประโยชน์แก่การพยากรณ์วาจานั้น ในการพยากรณ์ที่สามนั้น.
               อธิบายว่า ตถาคตรู้กาลที่ถือเอาของที่ควรถือกาลที่ยอมรับของมหาชนแล้วจึงพยากรณ์ ในฝ่ายวาจาเป็นที่รัก วาจาแรกชื่อว่าถ้อยคำที่ไม่ควรตั้งไว้ ถ้อยคำที่ไม่ควรตั้งไว้นั้นพึงทราบอย่างนี้.
               ดังได้ยินมา ชายแก่ชาวบ้านคนหนึ่งมายังพระนคร ดื่มเหล้าอยู่ในโรงเหล้า พวกนักเลงเหล้าเป็นอันมากต้องการจะลวงแก จึงยืนใกล้ที่แกดื่มเหล้า แล้วก็ดื่มเหล้ากับแก คิดในใจว่า จะเอาทั้งผ้านุ่งผ้าห่มของชายแก่คนนี้ ทั้งสิ่งของในมือให้หมด จึงทำกติกาสัญญากันว่าเราจะเล่าเรื่องที่ประจักษ์แก่ตนคนละเรื่อง ผู้ใดพูดว่าไม่จริงหรือไม่เชื่อเรื่องที่พูด เราจะเอาผู้นั้นไปเป็นทาส จึงถามชายแก่คนนั้นว่า ถูกใจไหมล่ะ พ่อลุง.
               ชายแก่ตอบว่า ตกลงพ่อหนุ่ม.
               นักเลงเหล้าคนหนึ่งจึงเล่าว่า พ่อมหาจำเริญ เมื่อข้าอยู่ในท้องแม่ข้า แม่แพ้ท้องอยากจะกินลูกมะขวิด แม่หาคนนำลูกมะขวิดมาไม่ได้ จึงสั่งข้าไป ข้าขึ้นต้นไม้ไม่ได้ก็จับเท้าตัวเองโยนขึ้นไปบนต้นไม้เหมือนกับโยนค้อน แล้วก็ไต่จากกิ่งโน้นมากิ่งนี้เก็บลูกมะขวิด แต่แล้วก็เกิดลงไม่ได้ ต้องกลับไปบ้าน เอาบันไดมาพาดจึงลงได้ แล้วไปหาแม่ให้ลูกมะขวิดแก่แม่ แต่ว่าเจ้าลูกมะขวิดเหล่านั้นมันใหญ่โตขนาดตุ่ม แต่นั้น แม่ข้าก็นั่งบนที่นั่งอันหนึ่ง กินลูกมะขวิดเข้าไปตั้ง ๖๐ ลูกถ้วน ในจำนวนลูกมะขวิดที่ข้านำมาด้วยสะเอวข้างเดียว ลูกมะขวิดที่เหลือๆ ก็เป็นของเด็กของคนแก่ในบ้านของตระกูล เรือนของเราขนาด ๑๖ ศอก ขนสิ่งของเครื่องใช้ที่เหลือออกไป ลูกมะขวิดก็เต็มไปจนถึงหลังคา ส่วนที่เกินไปจากหลังคาก็กองไว้ใกล้ประตูเรือน มันสูง ๘๐ ศอกเหมือนภูเขาเลากา.
               ท่านผู้เจริญ เชื่อเรื่องเช่นนี้ไหม.
               ชายแก่ชาวบ้านนั่งนิ่ง ถูกพวกนักเลงถาม เมื่อจบเรื่องก็ตอบว่า มันเป็นได้อย่างนั้น พ่อหนุ่ม แว่นแคว้นออกใหญ่โต ข้าเชื่อซิ เพราะแว่นแคว้นมันใหญ่ เมื่อเหล่านักเลงเหล้าที่เหลือเล่าเรื่องที่ปราศจากเหตุคล้ายๆ กัน เหมือนที่นักเลงเหล้าคนนั้นเล่าแล้ว ชายแก่ชาวบ้านก็บอกว่า ฟังข้าบ้างพ่อหนุ่ม ตระกูลของพวกเจ้ายังไม่ใหญ่ดอก ตระกูลของข้าสิใหญ่จริงๆ ไร่ของข้าก็ใหญ่กว่าไร่ไหนๆ กลางไร่ฝ้ายที่เนื้อที่หลายร้อยกรีสนั้น มีต้นฝ้ายต้นหนึ่งสูงถึง ๘๐ ศอกขนาดใหญ่ มันมีกิ่งอยู่ ๕ กิ่ง ทั้ง ๕ กิ่งนั้น กิ่งอื่นๆ ไม่ติดลูก กิ่งที่อยู่ด้านทิศตะวันออกมีอยู่ลูกเดียว ลูกโตเท่าตุ่มขนาดใหญ่ ลูกนั้นมี ๖ พู ฝักฝ้าย ๖ ฝักก็ผลิออกในพูทั้ง ๖ นั้น ข้าจึงให้เขาแต่งหนวด แล้วอาบน้ำ ชะโลมตัวเองแล้วก็ไปไร่ ยืนดูดอกฝ้ายเหล่านั้นผลิแตกออกแล้ว จึงยื่นมือเข้าไปจับ เจ้าฝักฝ้ายเหล่านั้นมีเรี่ยวแรงกลายเป็นทาสไป เจ้าพวกทาสเหล่านั้นก็ผละหนีข้าไปทีละคน ข้าไม่พบทาสเหล่านั้นจนบัดนี้ วันนี้ข้าพบพวกเจ้าแล้ว. ก็ระบุชื่อว่า เจ้าชื่อนันทะ เจ้าชื่อปุณณะ เจ้าชื่อวัฑฒมานะ เจ้าชื่อฉัตตะ เจ้าชื่อมังคละ เจ้าชื่อเหฏฐิยะ แล้วก็ลุกขึ้นจับพวกนักเลงเหล้าที่ผมจุกแล้วยืนขึ้น.
               นักเลงเหล้านั้นไม่สามารถแม้แต่จะปฏิเสธว่า พวกข้าไม่ใช่ทาส.
               ครั้งนั้น ชายแก่ชาวบ้านคนนั้นก็คว้าตัวนักเลงเหล่านั้นไปขึ้นโรงศาล ยกลักษณะทาสขึ้นฟ้อง ทำเขาให้ตกเป็นทาสใช้สอยไปตลอดชีวิต. ตถาคตไม่กล่าวถ้อยคำเห็นปานฉะนี้.
               วาจาที่สอง เป็นเถนวาจา (วาจาของขโมย) สำหรับคนอื่นมีประการต่างๆ เพราะเห็นแก่อามิส หรือเพราะอำนาจความอยากดื่มเหล้าเป็นต้น และเป็นดิรัจฉานกถา ที่เป็นไปโดยนัยว่า เรื่องโจร เรื่องพระราชาเป็นต้น. ตถาคตไม่กล่าววาจาแม้นั้น.
               วาจาที่สามเป็นกถาที่อิงอาศัยอริยสัจ ซึ่งเหล่าบัณฑิตฟังแม้ร้อยปีก็ไม่รู้สึกอิ่ม. ดังนั้น ตถาคตจึงไม่กล่าววาจาจริงทั้งที่ไม่เป็นที่รัก ทั้งที่เป็นที่รัก กล่าวแต่วาจาที่สาม. ไม่ให้เวลาที่ควรจะกล่าววาจาที่สามล่วงเลยไป. พึงทราบว่า ข้ออุปมาด้วยเรื่องเด็กหนุ่มอันมาแล้วแต่หนหลัง.
               ในที่นั้นหมายเอาวาจาที่ไม่น่ารักวาจาที่สาม.
               คำว่า อุทาหุ ฐานโสเวตํ ความว่า อภัยราชกุมารทูลถามว่า หรือว่าข้อนั้นปรากฏแก่พระตถาคตเจ้าในทันทีทันใดด้วยพระญาณที่เกิดขึ้นแล้วฉับพลัน.
               คำว่า ปญฺญาโต แปลว่า เขารู้แล้ว เขารู้กันทั่วแล้ว ปรากฏแล้ว.
               คำว่า ธมฺมธาตุ หมายถึง สภาวะแห่งธรรม คำนี้เป็นชื่อของพระสัพพัญญุตญาณ. แท้จริง พระสัพพัญญุตญาณนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าแทงตลอดด้วยดีแล้ว คืออยู่ในพระหัตถ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เพราะฉะนั้น พระองค์ทรงประสงค์ข้อใดๆ ข้อนั้นๆ ทั้งหมดก็แจ่มแจ้งฉับพลันทันที.
               คำที่เหลือในที่ทุกแห่งตื้นทั้งนั้น.
               ก็พระธรรมเทศนานี้จบลงด้วยอำนาจแห่งเวไนยบุคคลแล.

               จบอรรถกถาอภัยราชกุมารสูตรที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหบดีวรรค อภัยราชกุมารสูตร เรื่องอภัยราชกุมาร จบ.
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 84อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 91อ่านอรรถกถา 13 / 97อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=1607&Z=1725
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=2034
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=2034
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :