ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 56อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 62อ่านอรรถกถา 13 / 84อ่านอรรถกถา 13 / 734
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหบดีวรรค
อุปาลิวาทสูตร เรื่องทีฆตปัสสีนิครนถ์

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.

               บทว่า ปญฺหาปฏิภาณานิ คือ ปัญหาพยากรณ์. บทว่า ปจฺจนีกาตพฺพํ ความว่า สำคัญว่า ควรทำให้เป็นข้าศึก คือเป็นเสมือนว่าถือว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม. บทว่า อนุวิจฺจการํ ท่านอธิบายว่า จงกระทำให้เป็นข้อที่พึงพิจารณา คือใคร่ครวญแล้วจึงทำ.
               คำว่า สาธุ โหติ แปลว่า เป็นการดี.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ก็เมื่อคนเช่นท่านพบเรา ถึงเราว่าเป็นสรณะ ครั้นพบนิครนถ์แล้วก็ถึงนิครนถ์เป็นสรณะ คำครหาก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้ว่า อุบาลีผู้นี้ถึงทุกคนที่ตนพบเห็นนั่นแลเป็นสรณะหรือ เพราะฉะนั้น การใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำ จึงเป็นการดีสำหรับคนเช่นท่าน.
               คำว่า ปฏากํ ปริหเรยฺยุํ ความว่า เขาว่า พวกนิครนถ์เหล่านั้นได้สาวกเห็นปานนั้นแล้วก็ยกธง (โอ้อวด) เที่ยวป่าวประกาศว่า พระราชา อำมาตย์ของพระราชา หรือเศรษฐีชื่อโน้นๆ เป็นสาวก ถึงเราเป็นสรณะ.
               ถามว่า เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะว่า ความที่พวกเราเป็นใหญ่จักปรากฏชัดแจ้งด้วยวิธีการอย่างนี้ และเพราะว่า ถ้าเขาจะพึงเกิดวิปปฏิสารเดือดร้อนสำคัญว่า เราถึงสรณะด้วยเหตุอะไร หรือเขาก็จะบรรเทาความเดือดร้อนรำคาญแม้อันนั้นว่า คนเหล่านั้นทั้งหมดส่วนมากรู้ถึงความที่ตนมีการถึงสรณะแล้ว มาบัดนี้ ไม่กลับเป็นทุกข์ ในการที่จะถอนตนกลับไป.
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ปฏากํ ปริหเรยฺยุํ ดังนี้.
               คำว่า โอปานภูตํ แปลว่า ตั้งอยู่เหนือบ่อน้ำที่จัดไว้.
               คำว่า กุลํ คือ นิเวศน์ของท่าน.
               คำว่า ทาตพฺพํ มญฺเญยฺยาสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโอวาทว่า เห็นคน ๑๐ คนบ้าง ๒๐ คนบ้าง ๖๐ คนบ้าง ผู้มาแล้ว อย่าพูดว่าไม่มี ให้เถิด อย่าตัดไทยธรรมสำหรับนิครนถ์เหล่านี้ ด้วยเพียงเหตุที่ถึงเราเป็นสรณะ ณ บัดนี้ แท้จริง ควรให้แก่พวกเขาที่มาถึงแล้วโดยแท้.
               คำว่า สุตเมตํ ภนฺเต ความว่า อุบาลีคฤหบดีทูลถามว่า ทรงได้ยินมาจากไหน พระเจ้าข้า. ตรัสตอบว่า จากสำนักของนิครนถ์ทั้งหลาย เขาว่านิครนถ์เหล่านั้นนั้น ประกาศในเรือนของสกุลทั้งหลายอย่างนี้ว่า พวกเรากล่าวว่า ควรให้แก่คนใดคนหนึ่งที่มาถึงแล้ว ส่วนพระสมณโคดมกล่าวว่า ควรให้ทานแก่เราเท่านั้น ฯลฯ ทานที่ให้แก่สาวกพวกอื่นไม่มีผลมากเลย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาคำนั้น จึงตรัสว่า อยํ คหปติ สุตเมตํ ดังนี้.
               คำว่า อนุปุพฺพิกถํ คือ กถาที่กล่าวตามลำดับอย่างนี้ คือศีลลำดับจากทาน สวรรค์ลำดับจากศีล โทษของกามทั้งหลายลำดับจากสวรรค์.
               ในอนุบุพพิกถานั้น คำว่า ทานกถํ คือ กถาที่ประกอบด้วยคุณคือทานเป็นต้นอย่างนี้ว่า ธรรมดาว่า ชื่อว่าทานนี้ เป็นเหตุแห่งสุขทั้งหลาย, เป็นมูลรากของสมบัติทั้งหลายเป็นที่ตั้งแห่งโภคสมบัติทั้งหลาย, เป็นที่ป้องกัน ที่เร้น ที่ไป ที่ไปเบื้องหน้าของคนที่เดินทางไม่เรียบ ที่พึ่งพา ที่ตั้ง ที่หน่วงเหนี่ยว ที่ป้องกัน ที่เร้น ที่ไป ที่ไปเบื้องหน้า เช่นกับทาน ไม่มีในโลกนี้และโลกอื่น.
               ด้วยว่า ทานนี้เป็นเช่นกับสิงหาสน์ (ที่นั่งรูปสิงห์) ทำด้วยรัตนะ เพราะอรรถว่าเป็นที่พึ่งพา. เป็นเช่นกับแผ่นดินผืนใหญ่ เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้ง. เป็นเช่นเดียวกับเชือกโยง เพราะอรรถว่าเป็นที่หน่วงเหนี่ยว. แท้จริง ทานนี้เป็นประดุจนาวา เพราะอรรถว่าข้ามทุกข์ได้. เป็นประดุจผู้องอาจในสงคราม เพราะอรรถว่าโล่งใจ. เป็นประดุจพระนครที่ปรับปรุงดีแล้ว เพราะอรรถว่าป้องกันภัยได้. เป็นประดุจปทุม เพราะอรรถว่าอันมลทินคือความตระหนี่เป็นต้นไม่ซึมเข้าไป. เป็นประดุจอัคคี เพราะอรรถว่าเผามลทินเหล่านั้น. เป็นประดุจงูพิษ เพราะอรรถว่าต้องนั่งไกลๆ. เป็นประดุจราชสีห์ เพราะอรรถว่าไม่หวาดกลัว. เป็นประดุจช้าง เพราะอรรถว่ามีกำลัง. เป็นประดุจพญาโคเผือก เพราะอรรถว่าสมมติกันว่าเป็นมิ่งมงคลยิ่ง. เป็นประดุจพญาม้าที่ชื่อวลาหก เพราะอรรถว่าให้ไปถึงแผ่นดินอันเกษม (ปลอดภัย).
               ธรรมดาว่า ทานนั้นเป็นทางที่เราดำเนินแล้ว เป็นวงศ์ของเราเท่านั้น เป็นมหายัญของเวลามพราหมณ์ เป็นมหายัญของมหาโควินศาสดา เป็นมหายัญของพระเจ้ามหาสุทัศนจอมจักรพรรดิ เป็นมหายัญของพระเวสสันดร เป็นมหายัญเป็นอเนกที่เราผู้บำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศบำเพ็ญมาพรั่งพร้อมแล้ว เป็นทานที่เรา สมัยที่เป็นกระต่ายยอมทอดตัวลงในกองเพลิงที่ลุกโชน ยึดจิตใจของพวกยาจกที่มาถึงแล้วได้.
               แท้จริง ทานย่อมให้สัคคสมบัติในโลก ให้มารสมบัติ ให้พรหมสมบัติ ให้จักรพรรดิสมบัติ ให้สาวกบารมีญาณ ปัจเจกโพธิญาณ อภิสัมโพธิญาณ. ก็บุคคลเมื่อให้ทาน ย่อมอาจสมาทานศีลได้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสศีลกถาไว้ในลำดับจากทานนั้น.
               คำว่า สีลกถํ คือ กถาที่ประกอบด้วยคุณคือศีลเป็นต้นอย่างนี้ว่า ธรรมดาว่าศีลนี้ เป็นที่พึ่งพา ที่ตั้ง ที่หน่วงเหนี่ยว ที่ป้องกัน ที่เร้น ที่ไป ที่ไปเบื้องหน้า. ธรรมดาว่า ศีลนี้เป็นวงศ์ของเรา เราบำเพ็ญศีลบริบูรณ์ในอัตภาพทั้งหลายไม่มีที่สุด คือครั้งเป็นพญานาคชื่อสังขปาละ ครั้งเป็นพญานาคชื่อภูริทัตตะ ครั้งเป็นพญานาคชื่อจัมเปยยะ ครั้งเป็นพญานาคชื่อสีลวะ ครั้งเป็นพญาช้างผู้เลี้ยงมารดา ครั้งเป็นพญาช้างชื่อฉัททันตะ แท้จริงที่พึ่งอาศัยแห่งสมบัติทั้งหลายในโลกนี้และโลกอื่น เช่นกับศีล ที่ตั้ง ที่หน่วงเหนี่ยว ที่ป้องกัน ที่เร้น ที่ไป ที่ไปเบื้องหน้าเช่นกับศีลไม่มี เครื่องประดับเช่นกับเครื่องประดับคือศีลไม่มี ดอกไม้เช่นกับดอกไม้คือศีลไม่มี กลิ่นเช่นกับกลิ่นคือศีลไม่มี โลกแม้ทั้งเทวโลกมองดูผู้ประดับด้วยเครื่องประดับคือศีล ผู้มีดอกไม้คือศีลเป็นเครื่องประดับ ผู้อันกลิ่นคือศีลซึมซาบแล้ว ย่อมไม่รู้สึกอิ่ม เพื่อจะทรงแสดงว่า ก็บุคคลอาศัยศีลนี้ ย่อมได้สวรรค์นี้ดังนี้ จึงตรัสสัคคกถาลำดับจากศีลนั้น.
               คำว่า สคฺคกถํ ได้แก่ กถาที่ประกอบด้วยคุณคือสวรรค์เป็นต้นอย่างนี้ว่า ธรรมดาว่า สวรรค์นี้น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ในสวรรค์นั้นมีการเล่นเป็นนิตย์ ได้สมบัติทั้งหลายเป็นนิตย์
               จาตุมฺมหาราชิกา เทวา นวุติวสฺสสตสหสฺสานิ ทิพฺพสุขํ ทิพฺพสมฺปตฺตึ อนุภวนฺติ ฯ
ตาวตึสา ติสฺโส จ วสฺสโกฏิโย สฏฺฐี จ วสฺสสตสหสฺสานีติ เอวมาทิสคฺคคุณปฏิสํยุตฺตํ กถํ ฯ

               เทวดาชั้นจาตุมหาราชเสวยทิพยสุขทิพยสมบัติ ๙ ล้านปี ชั้นดาวดึงส์ ๓ โกฏิปีและ ๖ ล้านปี พระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้กำลังตรัสถึงสวรรค์สมบัติ ก็ไม่มีเพียงพอ.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจะพึงกล่าวสัคคกถาด้วยปริยายเป็นอเนก ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงประเล้าประโลมด้วยสัคคกถาอย่างนี้แล้ว เป็นประดุจทรงประดับช้างแล้ว ตัดงวงของช้างนั้นเสียอีก ทรงแสดงว่าสวรรค์แม้นี้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่ควรทำความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในสวรรค์นั้น จึงตรัสโทษ ความเลวทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลายโดยนัยเป็นต้นว่า กามทั้งหลายมีรสอร่อยน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามเหล่านั้นมียิ่งขึ้น.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า อาทีนโว แปลว่า โทษ.
               คำว่า โอกาโร แปลว่า ต่ำ ทราม.
               คำว่า สงฺกิเลโส คือ ความเศร้าหมองในสังสารวัฏของสัตว์ทั้งหลาย เพราะกามเหล่านั้น เหมือนที่ตรัสว่า ผู้เจริญ สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองหนอ. พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงขู่ด้วยโทษของกามอย่างนี้แล้ว จึงทรงประกาศอานิสงส์ในเนกขัมมะ การหลีกออกจากกาม.
               คำว่า กลฺลจิตฺตํ คือ จิตไม่เสีย.
               คำว่า สามุกฺกํสิกา คือ ที่ทรงยกขึ้นเอง คือที่ทรงยกขึ้น ถือเอาด้วยพระองค์เอง. อธิบายว่า ที่ทรงเห็นด้วยพระสยัมภูญาณไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น.
               ถามว่า นั่นคืออะไร.
               ตอบว่า คืออริยสัจเทศนา. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค.
               คำว่า วิรชํ วีตมลํ ความว่า ที่ชื่อว่าปราศจากธุลี เพราะไม่มีธุลีคือราคะเป็นต้น. ที่ชื่อว่าปราศจากมลทิน เพราะปราศจากมลทินคือราคะเป็นต้น.
               คำว่า ธมฺมจกฺขุํ นี้เป็นชื่อของมรรค ๓ ในพรหมายุสูตรข้างหน้าและของอาสวักขยญาณในจุลลราหุโลวาทสูตร. ส่วนในที่นี้ ทรงประสงค์เอาโสดาปัตติมรรค.
               เพื่อทรงแสดงอาการเกิดขึ้นของธรรมจักษุนั้น จึงตรัสว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดก็มีความดับไปเป็นธรรมดา. ก็ธรรมจักษุนั้นทำนิโรธให้เป็นอารมณ์แล้ว แทงตลอดสังขตธรรมทั้งปวง ด้วยอำนาจกิจนั่นแลเกิดขึ้น.
               อริยสัจธรรมอันผู้นั้นเห็นแล้ว เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่ามีธรรมอันเห็นแล้ว.
               แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ความสงสัยอันผู้นั้นข้ามเสียแล้ว เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่ามีความสงสัยอันข้ามเสียแล้ว.
               คำกล่าวว่าอย่างไรของผู้นั้นไปปราศแล้ว เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่ามีคำกล่าวว่าอย่างไรไปปราศแล้ว.
               ผู้นั้นถึงแล้วซึ่งความแกล้วกล้า เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่าถึงความแกล้วกล้า.
               ผู้นั้นไม่มีผู้อื่นเป็นปัจจัยในคำสอนของพระศาสดา คือไม่เป็นไปในคำสอนของพระศาสดานั้นด้วยการเชื่อผู้อื่น เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่าผู้ไม่มีผู้อื่นเป็นปัจจัย.
               อุบาลีคฤหบดีรับเอาด้วยจิต เพลิดเพลินแล้ว สรรเสริญด้วยวาจา บันเทิงใจแล้ว.
               คำว่า อาวรามิ แปลว่า กั้น ปิด. คำว่า อนาวฏํ ได้แก่ ไม่ห้าม คือเปิดประตูแล้ว.
               คำว่า อสฺโสสิ โข ทีฆตปสฺสี ความว่า ได้ยินว่า ทีฆตปัสสีนิครนถ์นั้น ตั้งแต่อุบาลีคฤหบดีนั้นไปแล้ว ก็เที่ยวเงี่ยหูฟังว่า คฤหบดีผู้บัณฑิตกับพระสมณโคดมผู้ถึงพร้อมด้วยทัศนะมีถ้อยคำนำสัตว์ออกจากทุกข์ จักเลื่อมใส แม้เพราะเหตุอุบาลีบัณฑิตนั้นจักเลื่อมใสเพราะธรรมกถา ครั้นเลื่อมใสได้แล้วจักถึงสรณะเพราะเหตุนั้น หรือไม่ถึงสรณะเพราะเหตุนั้นก่อนหนอ. เพราะฉะนั้น ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้ฟังเป็นครั้งแรกทีเดียว.
               คำว่า เตนหิ สมฺม ความว่า ทีฆตปัสสีนิครนถ์ถูกความเศร้าใจอย่างแรงครอบงำ แม้ได้ยินคำว่า จงหยุดอยู่ในที่นั้นนั่นแล แต่กำหนดใจความไม่ได้ จึงเจรจากับคนเฝ้าประตูอยู่นั่นแหละ.
               คำว่า มชฺฌิมายํ ทฺวารสาลายํ ความว่า เรือนหลังใดมี ๗ ซุ้มประตู ซุ้มประตูที่ ๔ ของเรือนหลังนั้นนับแต่ซุ้มประตูในทั้งหมด ชื่อว่าศาลาใกล้ประตูกลาง. เรือนหลังใดมี ๕ ซุ้มประตู ซุ้มประตูที่ ๓ ของเรือนหลังนั้น ชื่อว่าศาลาใกล้ประตูกลาง. เรือนหลังใดมี ๓ ซุ้มประตู ซุ้มประตูที่ ๒ ของเรือนหลังนั้น ชื่อว่าศาลาใกล้ประตูกลาง. ส่วนเรือนที่มีซุ้มประตูเดียว ซุ้มที่อาศัยเสามงคลตรงกลาง ชื่อว่าศาลาใกล้ประตูกลาง.
               แต่เรือนของอุบาลีคฤหบดีนั้นมีซุ้มประตู ๗ ซุ้ม. ท่านกล่าวว่า ๕ ซุ้มก็มี.
               คำทั้งหมด มีคำว่า อคฺคํ เป็นต้นเป็นไวพจน์ของกันและกัน.
               ในคำว่า ยํ สุทํ นี้ คำว่า ยํ หมายถึง นาฏบุตรใด. คำว่า สุทํ เป็นเพียงนิบาต.
               คำว่า ปริคฺคเหตฺวา ความว่า เอาผ้าห่มผืนนั้นนั่นแหละคลุมท้องไว้.
               คำว่า นิสีทาเปติ ความว่า เชิญให้นั่งว่า ค่อยๆ อาจารย์ ค่อยๆ อาจารย์. ประหนึ่งวางหม้อน้ำมันขนาดใหญ่ ฉะนั้น คำว่า ทตฺโตสิ ความว่า ท่านเกิดโง่ไปแล้วหรือ.
               คำว่า ปฏิมุกฺโก ความว่า ใส่ที่ศีรษะไว้ (สวม).
               คำว่า อณฺฑหารโก เป็นต้น แม้เป็นคำหยาบ นิครนถ์ก็กำหนดไม่ได้ว่า พูดคำนี้หยาบ ก็พูดออกไป เพราะเกิดความเศร้าใจอย่างแรง เพราะเหตุอุบาลีกลายเป็นอื่น.
               คำว่า ภทฺทิกา ภนฺเต อาวฏฺฏนี ความว่า นิครนถ์พูดหมายถึงมายานั่นแล อุบาลีบรรลุโสดาปัตติมรรค แทงตลอดด้วยตนเอง.
               คำว่า เตนหิ นี้เป็นเพียงศัพท์นิบาต ความว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจักทำคำเปรียบเทียบแก่ท่าน.
               อีกอย่างหนึ่ง เป็นคำบอกเหตุ.
               ท่านอธิบายว่า คำสั่งสอนของพวกท่าน มิใช่ธรรมนำสัตว์ออกจากทุกข์ ด้วยเหตุอันใดข้าพเจ้าจักทำคำเปรียบเทียบแก่ท่าน ด้วยเหตุนั้น.
               คำว่า อุปวิชญฺญา แปลว่า ใกล้เวลาคลอด.
               คำว่า มกฺกฏจฺฉาปกํ แปลว่า ลูกลิง.
               คำว่า วิกิณิตฺวา อาเนหิ ความว่า จงให้มูลค่านำมา (ซื้อมา). แท้จริง ในท้องตลาด พ่อค้าแม่ค้าย่อมขายของเล่นสำหรับลิง ทั้งที่มีวิญญาณ ทั้งที่ไม่มีวิญญาณ ภริยาสาวของพราหมณ์แก่นั้น พูดหมายถึงของเล่นนั้น.
               คำว่า รชิตํ ความว่า เราต้องการของนี้ที่เขาเอาสีย้อม ย้อมไล้ด้วยสีเหลืองหนาๆ ให้.
               คำว่า อาโกฏฺฏิตปจฺจาโกฏฺฏิตํ ความว่า ที่เขาทุบกลับไปกลับมาบ่อยๆ.
               คำว่า อุภโต ภาควิมฏฺฐํ ความว่า ที่มีผิวอันเขาขัดเกลี้ยงเกลาดีทั้งสองข้างแล้วด้วยไม้ไผ่, มณีและหิน.
               คำว่า รงฺคกฺขโม หิ โข ความว่า ของเล่นทั้งที่มีวิญญาณ ทั้งที่ไม่มีวิญญาณย่อมดูดสีย้อม เพราะฉะนั้นจึงกล่าวอย่างนี้.
               คำว่า โน อาโกฏฺฏนกฺขโม ความว่า เมื่อของเล่นมีวิญญาณ เขาเอาวางลงที่แผ่นกระดานสำหรับทุบ ทุบที่ท้องก่อน ท้องก็แตก ขี้ก็ไหลออก ทุบที่หัว หัวก็แตก มันสมองก็ไหลออก. ของเล่นที่ไม่มีวิญญาณก็แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เพราะฉะนั้น จึงกล่าวอย่างนี้.
               คำว่า วิมชฺชนกฺขโม ความว่า ของเล่นที่มีวิญญาณที่เขาขัดด้วยมณีและหินก็ไร้ขนไร้ผิว ของเล่นที่ไม่มีวิญญาณก็แตกละเอียด จึงกล่าวอย่างนี้.
               คำว่า รงฺคกฺขโม หิ โข พาลานํ ความว่า ผู้ควรแก่การย้อม ย่อมให้เกิดเพียงราคะ เป็นที่รักของเหล่าคนเขลา มีความรู้ทราม ส่วนวาทะของนิครนถ์ก็ดี กถามรรคอื่นๆ ที่ไร้ประโยชน์เช่นเรื่องภารตยุทธและรามายนะเป็นต้นก็ดี ไม่เป็นที่รักของเหล่าบัณฑิตเลย.
               คำว่า โน อนุโยคกฺขโม โน วิมชฺชนกฺขโม ความว่า ไม่ทนการประกอบตาม หรือการพิจารณาย่อมว่างเปล่า เหมือนฝัดแกลบหาข้าวสารและเหมือนหาแก่นไม้ในต้นกล้วย.
               คำว่า รงฺคกฺขโม เจว ปณฺฑิตานํ ความว่า แท้จริง กถาที่ว่าด้วยอริยสัจ ๔ ย่อมเป็นที่รักของเหล่าบัณฑิต ฟังอยู่ถึงร้อยปี ก็ไม่รู้สึกอิ่ม. เพราะฉะนั้น จึงกล่าวอย่างนี้.
               ก็พุทธวจนะ ย่อมลึกซึ้งอย่างเดียวเหมือนมหาสมุทร โดยประการที่หยั่งลงได้ เพราะเหตุนั้น อุบาลีคฤหบดีจึงกล่าวว่า อนุโยคกฺขโม จ วิมชฺชนกฺขโม จ.
               คำว่า สุณาหิ ความว่า อุบาลีคฤหบดีเริ่มกล่าวพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์ใด โปรดจงฟังพระคุณทั้งหลายของพระศาสดาพระองค์นั้น.
               บัณฑิตเรียกว่า ธีระ ในบทว่า ธีรสฺส.
               พึงทราบความสัมพันธ์ในบททั้งปวงอย่างนี้ว่า ปัญญา ความรอบรู้ ฯลฯ ความเห็นชอบอันใด ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ทรงประกอบด้วยปัญญาอันนั้น ผู้ทรงเป็นบัณฑิต ฉลาดในธาตุอายตนะ ปฏิจจสมุปบาท ฐานะและอฐานะ พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงเป็นพระศาสดาของข้าพเจ้า.
               คำว่า ปภินฺนขีลสฺส แปลว่า ผู้มีกิเลสดุจตะปูตรึงใจอันทำลายได้แล้ว.
               สภาวะเหล่าใดชนะแล้ว ชนะอยู่ จักชนะซึ่งปุถุชนทั้งปวง เหตุนั้น สภาวะเหล่านั้นชื่อว่าผู้ชนะ.
               ถามว่า สภาวะเหล่านั้นคืออะไร.
               ตอบว่า คือ มัจจุมาร กิเลสมาร และเทวปุตตมาร มาร ผู้ชนะเหล่านั้นอันพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงชนะแล้ว เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น จึงชื่อว่าผู้มีมารอันทรงชนะแล้ว คือพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีมารผู้ชนะอันทรงชนะแล้วพระองค์นั้น.
               คำว่า อนีฆสฺส แปลว่า ผู้ไม่มีทุกข์ ทั้งทุกข์ที่เกิดจากกิเลส ทั้งทุกข์ที่เป็นวิบาก.
               คำว่า สุสมจิตฺตสฺส คือ ผู้มีจิตสม่ำเสมอด้วยดีในพระเทวทัต ช้างชื่อธนปาลกะ พระองคุลิมาล และพระราหุลเถระเป็นต้น.
               คำว่า พุทฺธสีลสฺส แปลว่า ผู้มีอาจาระ ความประพฤติอันเจริญแล้ว.
               คำว่า สาธุปญฺญสฺส แปลว่า ผู้มีปัญญาดี.
               คำว่า วิสมนฺตรสฺส แปลว่า ผู้ข้ามที่อันไม่สม่ำเสมอมีราคะเป็นต้น ยืนหยัดอยู่แล้ว.
               คำว่า วิมลสฺส แปลว่า ผู้มีมลทินมีราคะเป็นต้นไปปราศจากแล้ว.
               คำว่า ตุสิตสฺส แปลว่า ผู้มีจิตยินดีแล้ว.
               คำว่า วนฺตโลกามิสสฺส คือ ผู้มีกามคุณอันคายเสียแล้ว.
               คำว่า มุทิตสฺส คือ ผู้พลอยยินดีแล้วด้วยอำนาจวิหารธรรม คือมุทิตา.
               อีกอย่างหนึ่ง คำนี้ อุบาลีคฤหบดีกล่าวซ้ำนั่นเอง. เป็นความจริง อุบาลีคฤหบดีกล่าวพระคุณแม้อย่างเดียวอยู่บ่อยๆ โดยความเลื่อมใสนั่นแล.
               คำว่า กตสมณสฺส แปลว่า ผู้มีคุณเครื่องเป็นสมณะอันทรงกระทำแล้ว. อธิบายว่า ทรงบรรลุที่สุดของสมณธรรม.
               คำว่า มนุชสฺส แปลว่า ผู้เป็นสัตว์ผู้หนึ่ง ด้วยอำนาจโวหารโลก.
               อุบาลีคฤหบดีกล่าวซ้ำอีกว่า ผู้เป็นนระ (คน) เมื่อเขากล่าวโดยประการอื่น พระคุณ ๑๐ ประการกล่าวด้วยคาถาหนึ่งๆ ย่อมไม่พอ.
               คำว่า เวนยิกสฺส แปลว่า ผู้นำของสัตว์ทั้งหลาย.
               คำว่า รุจิรธมฺมสฺส แปลว่า ผู้มีธรรมสะอาด.
               คำว่า ปภาสกสฺส แปลว่า ผู้กระทำแสงสว่าง.
               คำว่า วีรสฺส คือ ถึงพร้อมด้วยความเพียร.
               คำว่า นิสภสฺส คือ บรรดาโคชั้นอุสภะ ชั้นวสภะเป็นโคชั้นนิสภะ ด้วยอรรถว่าไม่มีผู้เทียบได้ในที่ทั้งปวง.
               คำว่า คมฺภีรสฺส แปลว่า ทรงมีพระคุณลึกซึ้ง หรือผู้ทรงลึกซึ้งด้วยพระคุณทั้งหลาย.
               คำว่า โมนปตฺตสฺส คือ ผู้บรรลุญาณ.
               ญาณํ ความรู้ชื่อว่าเวท ในคำว่า เวทสฺส. ผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยความรู้ที่เรียกว่าเวทนั้น.
               คำว่า ธมฺมฏฺฐสฺส แปลว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม.
               คำว่า สํวุตตฺตสฺส ผู้มีตนสำรวมแล้ว คือผู้มีตนอันปิดแล้ว.
               คำว่า นาคสฺส แปลว่า ผู้ประเสริฐ ด้วยเหตุ ๔ ประการ.
               คำว่า ปนฺตเสนสฺส แปลว่า ผู้มีที่นอนและที่นั่งอันสงัด.
               คำว่า ปฏิมนฺตกสฺส แปลว่า ผู้เพียบพร้อมด้วยปัญญา ตอบโต้พระเวท.
               ความรู้เรียกว่า โมนะ ในคำว่า โมนสฺส ทรงเพียบพร้อมด้วยความรู้นั้น หรือผู้มีกิเลสอันขจัดได้แล้ว.
               คำว่า ทนฺตสฺส คือ ผู้หมดพยศ.
               คำว่า อิสิสตฺตมสฺส คือ ทรงเป็นฤษีองค์ที่ ๗ นับต่อจากฤษี ๖ พระองค์มีวิปัสสีฤษีเป็นต้น.
               คำว่า พฺรหฺมสตฺตสฺส แปลว่า ผู้เป็นสัตว์ประเสริฐ.
               คำว่า นหาตกสฺส แปลว่า ผู้มีกิเลสอันล้างแล้ว.
               คำว่า ปทกรณสฺส๑- คือ ผู้ฉลาดในการรวบรวมอักษรทั้งหลายแล้วเอามาทำบทคาถา (ร้อยกรอง).
____________________________
๑- บาลี อุปาลิวาทสูตรเป็น ปทกสฺส.

               คำว่า วิทิตเวทสฺส แปลว่า ผู้มีญาณอันรู้แจ้ง.
               คำว่า ปุรินฺททสฺส แปลว่า ผู้ประทานธรรมทานก่อนผู้อื่นทั้งหมด.
               คำว่า สกฺกสฺส แปลว่า ผู้สามารถ.
               คำว่า ปตฺติปตฺตสฺส แปลว่า ผู้บรรลุคุณที่ควรบรรลุ.
               คำว่า เวยฺยากรณสฺส แปลว่า ผู้แสดงเนื้อความได้กว้างขวาง.
               ความจริง บทว่า พฺยากตนฺนาเมตํ ไม่มี. ความของบททั้งปวงพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว.
               คำว่า วิปสฺสิสฺส แปลว่า ผู้ทรงเห็นแจ้ง.
               คำว่า อนภิณตสฺส แปลว่า มิใช่ผู้สาธยายมนต์.
               คำว่า โน อปณตสฺส หมายถึง ผู้ไม่ยืนตาม ไม่เดินตาม คือมีจิตไม่ไปตามกิเลสทั้งหลาย.
               คำว่า อสตฺตสฺส คือ ไม่ข้อง.
               แผ่นดินเรียกว่า ภูริ ในคำว่า ภูริปญฺญสฺส อธิบายว่า ผู้เพียบพร้อมด้วยปัญญาอันไพบูลย์ ใหญ่กว้างเสมอแผ่นดินนั้น.
               คำว่า มหาปญฺญสฺส คือ เพียบพร้อมด้วยปัญญาอันใหญ่.
               คำว่า อนูปลิตฺตสฺส คือ ผู้อันเครื่องฉาบทา คือตัณหาและทิฏฐิไม่ฉาบทาแล้ว.
               คำว่า อาหุเนยฺยสฺส คือ ผู้ควรรับของบูชา.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ยักขะ ในคำว่า ยกฺขสฺส ก็เพราะอรรถว่าทรงแสดงอานุภาพได้ หรือเพราะอรรถว่าอันใครๆ มองไม่เห็น (ไม่ปรากฏพระองค์) เพราะเหตุนั้น อุบาลีคฤหบดีจึงกล่าวว่า ยกฺขสฺส.
               คำว่า มหโต แปลว่า ใหญ่.
               คำว่า ตสฺส สาวโกมฺหมสฺมิ ความว่า ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระศาสดาผู้มีพระคุณมีประการดังนั้นพระองค์นั้น ปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานของอุบาสกมาถึงด้วยโสดาปัตติมรรคนั่นแล.
               ดังนั้น อุบาลีคฤหบดีดำรงอยู่ในวิสัยแห่งปัญญาแตกฉานแล้ว เมื่อจะกล่าวพระคุณของพระทศพลในการละกิเลสร้อยบท จึงวิสัชนาความของปัญหาที่ว่า ท่านคฤหบดี พวกเรา (พวกนิครนถ์นาฏบุตร) จะทรงจำตัวท่านว่าเป็นสาวกของใคร.
               คำว่า กทา สญฺญุฬฺหา แปลว่า รวบรวมไว้เมื่อไร.
               ได้ยินว่า นิครนถ์นาฏบุตรนั้นคิดอย่างนี้ว่า อุบาลีคฤหบดีนี้ไปสำนักพระสมณโคดมมาเดี๋ยวนี้นี่เอง เขารวบรวมคุณเหล่านั้นไว้ตั้งแต่เมื่อไรกัน เพราะฉะนั้น นิครนถ์นาฏบุตรจึงกล่าวอย่างนี้.
               คำว่า วิจิตฺตมาลํ คนฺเถยฺย ความว่า นายช่างทำดอกไม้ หรือลูกมือนายช่างทำดอกไม้ พึงร้อยระเบียบดอกไม้อันวิจิตรต่างโดยเป็นระเบียบดอกไม้มีขั้วเดียวกันเป็นต้น ด้วยความเป็นคนขยันเองบ้าง ด้วยความที่ดอกไม้ทั้งหลายมีสีต่างๆ กันบ้าง.
               ในคำว่า เอวเมว โย ภนฺเต นี้ พึงเห็นการรวบรวมการพรรณนาพระคุณมีประการต่างๆ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่าขุนเขาสิเนรุ เหมือนกองดอกไม้กองใหญ่ ในบรรดาดอกไม้ทั้งหลายนานาชนิด. อุบาลีคฤหบดีเปรียบเหมือนนายช่างทำดอกไม้ผู้ฉลาด. การร้อยกรองพระคุณอันวิจิตรของพระตถาคตเจ้าของคฤหบดี เปรียบเหมือนการร้อยกรองระเบียบดอกไม้อันวิจิตรของนายช่างทำดอกไม้.
               คำว่า อุณฺหํ โลหิตํ มุขโต อุคฺคญฺฉิ ความว่า นิครนถ์นาฏบุตรนั้นทนดูสักการะของพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ ก็คิดมากว่า ตั้งแต่พรุ่งนี้ เราก็พาคณะ ๕๐-๖๐ คนเข้าไปบ้านเขา บริโภคอาหารไม่ได้ หม้อข้าวของเราแตกเสียแล้ว.
               ครั้งนั้น นิครนถ์นาฏบุตรนั้นก็เกิดความโศกอย่างแรง เพราะการแปรเปลี่ยนของผู้ทำนุบำรุง. ความจริง สัตว์เหล่านี้คิดเพื่อตนอย่างเดียว. เมื่อความโศกนั้นเกิดแก่นิครนถ์นาฏบุตรนั้นแล้ว ความร้อนภายในก็มี โลหิตก็ละลาย. โลหิตนั้นถูกกองลมใหญ่พัดดันขึ้นก็พลุ่งออกจากปาก ประมาณบาตรหนึ่ง เหมือนน้ำย้อมที่ใส่ลงในหม้อ. ก็สัตว์จำนวนน้อย สำรอกโลหิตที่คั่งออกแล้ว ยังอาจมีชีวิตอยู่ได้. นิครนถ์คุกเข่า (เข่าอ่อน) ล้มลงในที่นั้นนั่นเอง.
               พนักงานคานหามก็นำนิครนถ์นาฏบุตรนั้นออกนอกพระนครพาไปด้วยคันหาม ๕ คน พลันมาถึงนครปาวา. ต่อมาไม่นานนัก นิครนถ์นาฏบุตรก็ทำกาละ (ตาย) ณ นครปาวา.
               พระธรรมเทศนาในพระสูตรนี้ ก็สำเร็จลงด้วยอำนาจบุคคลผู้เป็นอุคฆฏิตัญญูแล.


               จบอรรถกถาอุปาลิวาทสูตรที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหบดีวรรค อุปาลิวาทสูตร เรื่องทีฆตปัสสีนิครนถ์ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 13 / 1อ่านอรรถกถา 13 / 56อรรถกถา เล่มที่ 13 ข้อ 62อ่านอรรถกถา 13 / 84อ่านอรรถกถา 13 / 734
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=1044&Z=1477
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=975
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=975
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :