ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 130อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 153อ่านอรรถกถา 14 / 166อ่านอรรถกถา 14 / 853
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อนุปทวรรค
อนุปทสูตร

               อนุปทวรรค               
               ๑. อรรถกถาอนุปทสูตร               
               อนุปทสูตรมีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้.
               ในอนุปทสูตรนั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า เอตทโวจ ความว่า ได้ตรัสถ้อยคำสรรเสริญคุณของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรโดยนัยว่า เป็นบัณฑิต เป็นต้นนี้.
               ตรัสเพราะเหตุไร?
               เพราะบรรดาพระเถระที่เหลือทั้งหลาย พระมหาโมคคัลลานะปรากฏคุณความดีว่ามีฤทธิ์, พระมหากัสสปะปรากฏคุณความดีว่าธุตวาทะ (ผู้กล่าวธุดงค์) พระอนุรุทธเถระปรากฏคุณความดีว่ามีทิพยจักษุ, พระอุบาลีเถระปรากฏคุณความดีว่าเป็นวินัยธร, พระเรวตเถระปรากฏคุณความดีว่าเป็นผู้ยินดีในฌาน, พระอานันทเถระปรากฏคุณความดีว่าเป็นพหูสูต, พระเถระทั้งหลายนั้นๆ ปรากฏคุณงามความดีนั้นๆ อย่างนี้ ดังพรรณนามานี้.
               แต่ว่าคุณความดีของพระสารีบุตรเถระยังไม่ปรากฏ.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะคุณความดีทั้งหลายของพระเถระผู้มีปัญญา ใครไม่อาจรู้ เพราะไม่ได้กล่าวไว้. เพราะเหตุดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า เราจักบอกคุณความดีทั้งหลายของพระสารีบุตร จึงทรงรอให้บริษัทที่เป็นสภาคกันประชุม. การกล่าวคุณในสำนักของบุคคลผู้เป็นวิสภาคกัน ย่อมไม่ควรแล. คนที่เป็นวิสภาคกันเมื่อใครๆ กล่าวสรรเสริญ (เขา) ก็จะกล่าวตำหนิอย่างเดียว. ก็ในวันนั้นบริษัทที่เป็นสภาคกันกับพระเถระประชุมกัน. ครั้งทรงเห็นว่าบริษัทนั้นประชุมกันแล้ว เมื่อจะตรัสสรรเสริญตามความเป็นจริง จึงทรงเริ่มพระเทศนานี้.

               เหตุให้เป็นบัณฑิต               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปณฺฑิโต ได้แก่ เป็นบัณฑิตด้วยเหตุ ๔ ประการเหล่านี้ คือ ความเป็นผู้ฉลาดในธาตุ ความเป็นผู้ฉลาดในอายตนะ ความเป็นผู้ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท (และ) ความเป็นผู้ฉลาดในฐานะและอฐานะ (เหตุที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้).
               ในบทว่า มหาปญฺโญ เป็นต้น มีอธิบายว่า เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญามาก.
               ในข้อนั้น ความต่างกันแห่งปัญญามากเป็นต้นมีดังต่อไปนี้ :-

               ปัญญามาก               
               บรรดาปัญญามากเป็นต้นเหล่านั้น ปัญญามากเป็นไฉน?
               ชื่อว่าปัญญามาก เพราะกำหนดถือเอาคุณคือศีลมาก. ชื่อว่าปัญญามาก เพราะกำหนดถือเอาคุณคือสมาธิ คุณคือปัญญา คุณคือวิมุตติ คุณคือวิมุตติญาณทัสสนะมาก. ชื่อว่ามีปัญญามาก เพราะกำหนดถือเอาฐานะและอฐานะมาก สมาบัติเป็นเครื่องอยู่มาก อริยสัจมาก สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาทมาก อินทรีย์ พละ โพชฌงค์มาก อริยมรรคมาก สามัญญผลมาก อภิญญามาก นิพพานอันเป็นปรมัตถ์มาก.

               ปัญญากว้าง               
               ปัญญากว้างเป็นไฉน?
               ชื่อว่าปัญญากว้าง เพราะญาณ (ปัญญา) กว้างเป็นไปในขันธ์ต่างๆ. ชื่อว่าปัญญากว้าง เพราะญาณเป็นไปในธาตุต่างๆ กว้าง ในอายตนะต่างๆ กว้าง ในปฏิจจสมุปบาทต่างๆ กว้าง ในการได้สุญญตาต่างๆ กว้าง ในอรรถ ธรรม นิรุตติ ปฏิภาณต่างๆ กว้าง ในคุณคือศีลต่างๆ กว้าง ในคุณคือสมาธิ ปัญญา วิมุตติและวิมุตติญาณทัสสนะต่างๆ กว้าง ในฐานะและมิใช่ฐานะต่างๆ กว้าง ในสมาบัติเครื่องอยู่ต่างๆ กว้าง ในอริยสัจต่างๆ กว้าง ในสติปัฏฐานต่างๆ กว้าง ในสัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ต่างๆ กว้าง ในอริยมรรค สามัญผล อภิญญาต่างๆ กว้าง ในนิพพานอันเป็นปรมัตถ์ ล่วงธรรมอันทั่วไปแก่ชนต่างๆ กว้าง.

               ปัญญาร่าเริง               
               ปัญญาร่าเริงเป็นไฉน?
               ชื่อว่าปัญญาร่าเริง เพราะบุคคลบางคนในโลกนี้มากด้วยความร่าเริง มากด้วยความรู้ มากด้วยความยินดี มากด้วยความปราโมทย์ บำเพ็ญศีล บำเพ็ญอินทรีย์สังวร บำเพ็ญโภชเนมัตตัญญุตา ชาคริยานุโยค ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์. ชื่อว่ามีปัญญาร่าเริง เพราะเป็นผู้มากด้วยความปราโมทย์ รู้แจ้งฐานะและมิใช่ฐานะ. ชื่อว่ามีปัญญาร่าเริง เพราะเป็นผู้มากด้วยความร่าเริงบำเพ็ญสมาบัติเป็นเครื่องอยู่ให้บริบูรณ์ เป็นผู้มากด้วยความร่าเริงแทงตลอดอริยสัจ. ชื่อว่ามีปัญญาร่าเริง เพราะยังสติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ อริยมรรค ให้เจริญ. เป็นผู้มากด้วยความร่าเริง ทำให้แจ้งสามัญผล. ชื่อว่ามีปัญญาร่าเริง เพราะแทงตลอดอภิญญาทั้งหลาย. ชื่อว่ามีปัญญาร่าเริง เพราะเป็นผู้มากด้วยความร่าเริง มากด้วยความรู้ ความยินดีและความปราโมทย์ กระทำให้แจ้งพระนิพพานอันเป็นปรมัตถ์.

               ปัญญาว่องไว               
               ปัญญาว่องไวเป็นไฉน?
               ชื่อว่าปัญญาว่องไว เพราะแล่นไปเร็ว ยังรูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ หรือรูปอยู่ในที่ใกล้ทั้งหมด โดยความเป็นของไม่เที่ยง. ชื่อว่าปัญญาว่องไว เพราะแล่นไปเร็วโดยความเป็นทุกข์. ชื่อว่าปัญญาว่องไว เพราะแล่นไปสู่เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สู่วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งมวลโดยความเป็นของไม่เที่ยงโดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา. ชื่อว่าปัญญาว่องไว เพราะแล่นไปเร็วยังจักษุ ฯลฯ ชรา มรณะที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา. ชื่อว่าปัญญาว่องไว เพราะแล่นไปเร็วในนิพพานอันเป็นที่ดับรูป เพราะใคร่ครวญพิจารณาทำให้แจ้ง ทำให้เด่นชัดว่า รูปทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน. ชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะอรรถว่าสิ้นไป ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะอรรถว่าน่ากลัว ชื่อว่าเป็นอนัตตา เพราะอรรถว่าไม่มีแก่นสาร. ชื่อว่าปัญญาว่องไว เพราะแล่นไปเร็วในพระนิพพานอันเป็นที่ดับชรามรณะ โดยทำให้แจ้งชัดว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จักษุ ฯลฯ ชรา มรณะ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน. ชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะอรรถว่าสิ้นไป ฯลฯ. ชื่อว่าปัญญาว่องไว เพราะแล่นไปเร็วในพระนิพพานอันเป็นที่ดับชรา มรณะ โดยใคร่ครวญ พิจารณา ทำให้แจ้ง ทำให้เด่นชัดว่า รูปทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ วิญญาณ จักษุ ฯลฯ ชรา มรณะไม่เที่ยงอันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความคลายกำหนัดเป็นธรรมดา มีความดับเป็นธรรมดา.

               ปัญญาคม               
               ปัญญาคมเป็นไฉน?
               ชื่อว่าปัญญาคม เพราะตัดกิเลสได้เร็ว. ชื่อว่าปัญญาคม เพราะไม่ให้กามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก ที่เกิดขึ้นแล้ว อาศัยอยู่ ไม่ให้อกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วๆ เล่าๆ ไม่ให้ราคะ โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปฬาสะ มัจฉริยะ มายา สาไถย ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง อภิสังขารทั้งปวง กรรมอันนำไปสู่ภพทั้งปวง อาศัยอยู่ คือละ ได้แก่บรรเทา. หมายความว่า ทำให้มีที่สุด ให้ถึงความไม่มี. ชื่อว่าปัญญาคม เพราะอริยมรรค ๔ สามัญผล ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ และอภิญญา ๖ ย่อมเป็นอันบุคคลนี้บรรลุแล้ว คือทำให้แจ้งแล้ว ได้แก่ถูกต้องแล้วด้วยปัญญาในอาสนะเดียว.

               ปัญญาหลักแหลม               
               ปัญญาหลักแหลม เป็นไฉน?
               ชื่อว่าผู้มีปัญญาหลักแหลม เพราะบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มากด้วยความหวาดเสียว มากด้วยความสะดุ้ง มากไปด้วยความรำคาญ มากไปด้วยความไม่ยินดี มากไปด้วยความไม่ยินดียิ่งในสังขารทั้งปวง เมินหน้าไม่ยินดีในสังขารทั้งปวง ย่อมเจาะ คือทำลายกองโลภะที่ไม่เคยเจาะไม่เคยทำลายมาก่อน. ชื่อว่าผู้มีปัญญาหลักแหลม เพราะเจาะคือทำลาย กองโทสะ กองโมหะ โกธะ อุปนาหะ ฯลฯ กรรมที่จะให้ไปสู่ภพทั้งหมดที่ยังไม่เคยทำลายมาก่อน.

               อุปมาพระอัครสาวกบรรลุธรรม               
               บทว่า อนุปทธมฺมวิปสฺสนํ ความว่า เห็นแจ้งวิปัสสนาในธรรมตามลำดับๆ ด้วยสามารถแห่งสมาบัติหรือองค์ฌาน. เมื่อเห็นแจ้งอยู่อย่างนี้ จึงบรรลุพระอรหัต โดย (ในเวลา) กึ่งเดือน.
               ส่วนพระมหาโมคคัลลานะบรรลุพระอรหัตโดย (เวลาล่วงไป) ๗ วัน. แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น พระสารีบุตรก็เป็นผู้มีปัญญามากกว่า. แท้จริง พระมหาโมคคัลลานเถระเมื่อพิจารณาธรรมที่จะต้องท่องเที่ยวไปด้วยสัมมสนญาณสำหรับพระสาวกทั้งหลาย เพียงเอกเทศเท่านั้นเหมือนเอาปลายไม้เท้าจี้ พยายามถึง ๗ วันจึงบรรลุพระอรหัต.
               (ส่วน) พระสารีบุตรเถระพิจารณาธรรมที่จะต้องท่องเที่ยวไปด้วยสัมมสนญาณ สำหรับสาวกทั้งหลายอย่างสิ้นเชิง เว้นไว้แต่ที่จะท่องเที่ยวไปด้วยสัมมสนญาณ สำหรับพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า. ท่านพิจารณาเห็นอยู่อย่างนี้ ได้พยายามแล้วถึงครึ่งเดือน.
               ก็ว่ากันว่า ครั้นท่านบรรลุพระอรหัตแล้วได้รู้ว่า เว้นพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเสีย ชื่อว่าพระสาวกอื่น ชื่อว่าสามารถบรรลุสิ่งที่เราพึงบรรลุด้วยปัญญา จักไม่มี.
               เหมือนอย่างว่า บุรุษคิดว่าจักเอาลำไม้ไผ่ ครั้นเห็นไผ่มีชัฏ (เรียวหนาม) มาก ก็คิดว่าเมื่อถางเรียวหนาม จักชักช้า (เสียเวลา) จึงสอดมือเข้าไปตามช่องตัดเอาลำไม้ไผ่ที่พอจับถึงที่โคนและที่ปลาย ถือเอาได้แล้วก็หลีกไป บุรุษนั้นไปได้ก่อนกว่า (ใคร) ก็จริง แต่ไม่ได้ลำไม้ไผ่ที่แก่หรือตรง.
               ส่วนคนอื่นเห็นไม้ไผ่ดังนั้นเหมือนกัน คิดว่าถ้าจะถือเอาลำไผ่ที่พอจับถึง ก็จักไม่ได้ลำไผ่ที่แก่หรือตรง จึงนุ่งหยักรั้ง แล้วเอามีดใหญ่ถางหนามไผ่ออก เลือกเอาลำทั้งแก่ทั้งตรง แล้วไป บุรุษผู้นี้ไปถึงทีหลังก็จริง แต่ก็ได้ลำไผ่ทั้งแก่ทั้งตรงฉันใด พึงทราบข้อเปรียบเทียบนี้เหมือนกับการท่องเที่ยวไปด้วยสัมมสนญาณ๑- ของพระเถระทั้งสองเหล่านี้.
____________________________
๑- พม่าเป็น ปธานํ ความเพียร

               ก็พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ ครั้นพยายามอยู่ถึงครึ่งเดือนอย่างนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเวทนาปริคคหสูตร๒- แก่ทีฆนขปริพาชกผู้เป็นหลาน ณ ที่ใกล้ประตูถ้ำสูกรขาตา ยืนพัดพระทศพลอยู่ ส่งญาณไปตามแนวพระธรรมเทศนา ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณในวันที่ ๑๕ จำเดิมตั้งแต่วันบวช แทงตลอดญาณ ๖๗ ประการ ถึงปัญญา ๑๖ อย่างโดยลำดับ.
____________________________
๒- ม.ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๒๖๓ ทีฆนขสูตร

               บทว่า ตตฺรีทํ ภิกฺขเว สารีปุตฺตสฺส อนุปทธมฺมวิปสฺสนาย ความว่า ในการเห็นแจ้งธรรมตามลำดับบทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า สารีบุตรเห็นแจ้งธรรมตามลำดับนั้น ข้อนี้สำหรับพระสารีบุตร. คำนี้ตรัสหมายเอาส่วนแห่งวิปัสสนานั้นๆ ที่จะพึงกล่าวในบัดนี้.
               บทว่า ปฐเม ฌาเน ได้แก่ ธรรมเหล่าใดในปฐมฌาน คือในภายในสมาบัติ.
               บทว่า ตฺยสฺส แยกเป็น เต อสฺส แปลว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นอันสารีบุตรนี้ (กำหนดได้แล้วตามลำดับบท).
               บทว่า อนุปทววตฺถิตา โหนฺติ ความว่า เป็นอันกำหนดได้แล้ว คือกำหนดตัดได้แล้ว รู้แล้ว รู้แจ้งแล้วตามลำดับ คือโดยลำดับๆ
               ถามว่า พระเถระรู้ธรรมเหล่านั้นได้อย่างไร?
               ตอบว่า พระเถระตรวจดูธรรมเหล่านั้นแล้วรู้ว่า วิตกมีการยกจิตขึ้นเป็นลักษณะเป็นไป. อนึ่ง รู้ว่า วิจารมีการเคล้าอารมณ์เป็นลักษณะ ปีติมีการซาบซ่านไปเป็นลักษณะ สุขมีความสำราญเป็นลักษณะ เอกัคคตาจิตมีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ ผัสสะมีการถูกต้องเป็นลักษณะ เวทนามีการเสวยอารมณ์เป็นลักษณะ สัญญามีการจำได้เป็นลักษณะ เจตนามีความจงใจเป็นลักษณะ วิญญาณมีความรู้แจ้งเป็นลักษณะ ฉันทะมีความประสงค์จะทำเป็นลักษณะ อธิโมกข์มีการน้อมใจเชื่อเป็นลักษณะ วิริยะมีการประคองจิตไว้เป็นลักษณะ สติมีการปรากฏเป็นลักษณะ อุเบกขามีความเป็นกลางเป็นลักษณะ มนสิการมีการใส่ใจด้วยความยินดีเป็นลักษณะเป็นไป.
               พระสารีบุตรเมื่อรู้อยู่อย่างนี้ ย่อมกำหนดวิตกตามสภาวะ เพราะอรรถว่ายกจิตขึ้น ฯลฯ ย่อมกำหนดมนสิการโดยความยินดีตามสภาวะ ด้วยเหตุนั้นจึงได้ตรัสว่า ธรรมเหล่านั้นย่อมเป็นอันพระสารีบุตรนั้นกำหนดได้แล้วโดยลำดับบท.
               บทว่า วิทิตา อุปฺปชฺชนฺติ ความว่า เมื่อเกิดขึ้นก็เป็นอันรู้แจ้ง คือเป็นธรรมปรากฏชัดเกิดขึ้น.
               บทว่า วิทิตา อุปฏฺฐหนฺติ ความว่า แม้ตั้งอยู่ก็เป็นอันรู้แจ้ง คือเป็นธรรมปรากฏชัดตั้งอยู่.
               บทว่า วิทิตา อพฺภตฺถํ คจฺฉนฺติ ความว่า แม้ดับไปก็เป็นอันรู้แจ้ง คือเป็นธรรมปรากฏชัดดับไป.
               ก็ในข้อนี้ ต้องปล่อยวางความเป็นผู้มีญาณอันนั้น และความเป็นผู้มากด้วยญาณ (จิต) เหมือนอย่างว่าใครๆ ไม่อาจถูกต้องปลายนิ้วมือนั้น ด้วยปลายนิ้วมือนิ้วนั้นนั่นแหละได้ฉันใด พระโยคีก็ไม่อาจรู้ความเกิดขึ้นหรือความตั้งอยู่หรือความดับไปของจิตดวงนั้นด้วยจิตดวงนั้นนั่นแหละได้ฉันนั้นเหมือนกัน ต้องปล่อยวางความเป็นผู้มีญาณนั้นก่อน ด้วยประการดังกล่าวมา. ก็ถ้าจิต ๒ ดวงเกิดร่วมกัน ใครๆ ไม่พึงอาจรู้ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่หรือความดับไปของจิตดวงหนึ่งด้วยจิตดวงหนึ่งได้. อนึ่ง ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา หรือจิต ชื่อว่าเกิดร่วมกัน ๒ ดวงย่อมไม่มี ย่อมเกิดขึ้นคราวละดวงๆ เท่านั้น ต้องปล่อยวางภาวะที่จิต (เกิดร่วมกัน) มากดวงออกไปเสียอย่างนี้.
               ถามว่า เมื่อเป็นอย่างนั้น ธรรม ๑๖ ประการในภายในสมาบัติย่อมเป็นของแจ่มแจ้งปรากฏแก่พระมหาเถระได้อย่างไร?
               ตอบว่า พระมหาเถระกำหนดเอาวัตถุและอารมณ์. เพราะวัตถุและอารมณ์พระเถระท่านกำหนดได้ด้วยเหตุนั้น เมื่อท่านนึกถึงความเกิดขึ้นของธรรมเหล่านั้น ความเกิดย่อมปรากฏ เมื่อนึกถึงความตั้งอยู่ ความตั้งอยู่ย่อมปรากฏ เมื่อนึกถึงความดับ ความดับย่อมปรากฏ เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า วิทิตา อุปฺปชฺชนฺติ วิทิตา อุปฏฺฐหนฺติ วิทิตา อพฺภตฺถํ คจฺฉนฺติ (อันสารีบุตรผู้รู้แจ้งแล้วทั้งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ถึงความดับไป)
               ด้วยคำว่า อหุตฺวา สมฺโภนฺติ นี้ พระเถระเห็นความเกิดขึ้น.
               ด้วยคำว่า หุตฺวา ปฏิเวนฺติ นี้ ท่านเห็นความเสื่อมไป.
               บทว่า อนุปาโย ได้แก่ ไม่เข้าถึงด้วยอำนาจราคะ
               บทว่า อนปาโย ได้แก่ ไม่เข้าถึงด้วยอำนาจปฏิฆะ
               บทว่า อนิสฺสิโต ได้แก่ อันตัณหานิสัยและทิฏฐินิสัย อาศัยอยู่ไม่ได้.
               บทว่า อปฺปฏิพทฺโธ ได้แก่ ไม่ถูกฉันทราคะผูกพัน.
               บทว่า วิปฺปมุตฺโต ได้แก่ หลุดพ้นจากกามราคะ.
               บทว่า วิสํยุตฺโต ได้แก่ พรากจากโยคะ ๔ หรือกิเลสทั้งปวง.
               บทว่า วิมริยาทิกเตน คือ ทำไม่ให้มีเขตแดน.
               บทว่า เจตสา คือ อยู่ด้วยจิตอย่างนั้น.
               เขตแดนในคำว่า วิมริยาทิกเตน นั้นมี ๒ อย่าง คือเขตแดนคือกิเลส และเขตแดนคืออารมณ์. ก็ถ้าพระเถระนั้นปรารภธรรม ๑๖ ประการอันเป็นไปในภายในสมาบัติ เกิดกิเลสมีราคะเป็นต้น การเกิดกิเลสขึ้นนั้นพึงมีด้วยเขตแดนคือกิเลส. แต่ในบรรดาธรรม ๑๖ เหล่านั้น แม้ข้อหนึ่งก็ไม่เกิดแก่พระเถระนั้น เพราะเหตุนั้น เขตแดนคือกิเลสย่อมไม่มี เขตแดนคืออารมณ์ก็ไม่มี. ก็ถ้าพระเถระนั้นนึกถึงธรรม ๑๖ ประการอันเป็นไปในภายในสมาบัติ ธรรมบางข้อพึงมาตามครรลอง เมื่อเป็นอย่างนั้น เขตแดนคืออารมณ์ก็จะพึงมีแก่พระเถระนั้น ก็เมื่อพระเถระนั้นนึกถึงธรรม ๑๖ ประการเหล่านั้น ชื่อว่าธรรมที่จะไม่มาตามครรลอง ย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้น แม้เขตแดนคืออารมณ์ ก็ย่อมไม่มี.
               เขตแดน ๒ อย่างประการอื่นอีก คือ เขตแดนคือวิกขัมภนะ (การข่มไว้) และเขตแดนคือสมุจเฉท (การตัดขาด).
               ใน ๒ อย่างนั้น เขตแดนคือสมุจเฉท จักมีข้างหน้า. แต่ในที่นี้ประสงค์เอาเขตแดนคือวิกขัมภนะ. เพราะพระเถระนั้นข่มข้าศึกได้แล้ว เขตแดนคือการข่มจึงไม่มี เพราะเหตุนั้น ท่านจึงอยู่ด้วยใจอันกระทำให้ปราศจากเขตแดน.
               บทว่า อุตฺตรินิสฺสรณํ ได้แก่ เป็นเครื่องสลัดออกอันยิ่งไปกว่านั้น.
               ก็ในพระสูตรทั้งหลายอื่นๆ ท่านกล่าวพระนิพพานว่า เป็นเครื่องสลัดออกอันยิ่ง. แต่ในสูตรนี้พึงทราบว่า ประสงค์เอาคุณวิเศษอย่างยอดเยี่ยม.
               บทว่า ตพฺพหุลีการา ได้แก่ เพราะทำความรู้นั้นให้มาก.
               บทว่า อตฺถิ เตฺววสฺส โหติ ความว่า พระเถระนั้นย่อมมีความรู้นั้นนั่นแล มั่นคงยิ่งขึ้นอีกว่าธรรมเครื่องสลัดออกที่ยิ่งขึ้นไป ยังมีอยู่.
               แม้ในวาระที่เหลือก็พึงทราบเนื้อความโดยนัยนี้.
               ส่วนในวาระที่ ๒ ชื่อว่าความผ่องใส เพราะอรรถว่าแจ่มใส. พระสารีบุตรย่อมกำหนดธรรมเหล่านั้นได้โดยสภาพ.
               ในวาระที่ ๔ บทว่า อุเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาเวทนานั่นแล ในฐานะที่เป็นสุข (เวทนา).
               บทว่า ปสิทฺธตฺตา (ปริสุทฺธตฺตา) เจตโส อนาโภโค ความว่า ความสุขนี้ ท่านกล่าวว่าหยาบ เพราะมีการผูกใจไว้ว่า ในฌานนั้น ความสุขใดยังมีอยู่ดังนี้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถึงการไม่ผูกใจ เพราะความเป็นผู้มีสติบริสุทธิ์อย่างนี้. อธิบายว่า เพราะไม่มีความสุขอย่างหยาบนั้น.
               บทว่า สติปาริสุทฺธิ คือ สติบริสุทธิ์นั่นแหละ. แม้อุเบกขาก็ชื่อว่าอุเบกขาบริสุทธิ์.
               บทว่า สโต วุฏฺฐหติ ความว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสติคือรู้ด้วยญาณ ย่อมออก (จากฌาน).
               บทว่า เต ธมฺเม สมนุปสฺสติ ความว่า เพราะในเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน การเห็นแจ้งธรรมตามลำดับบทย่อมมีได้ เฉพาะพระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น สำหรับพระสาวกทั้งหลายย่อมมีไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงวิปัสสนากลาป (การเห็นแจ้งเป็นหมวดเป็นหมู่) ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนี้ จึงตรัสอย่างนี้.
               บทว่า ปญฺญาย จสฺส ทิสฺวา อาสวา ปริกฺขีณา โหนฺติ ความว่า เพราะเห็นสัจจะ ๔ ด้วยมรรคปัญญา อาสวะทั้ง ๔ ย่อมเป็นอันสิ้นไป. พระสารีบุตรเถระมีทั้งวาระบรรลุพระอรหัต ทั้งวาระเข้านิโรธสมาบัติ เพราะนำเอาสมถะและวิปัสสนามาเจริญควบคู่กันไป. ในที่นี้ พระองค์ทรงถือเอาแต่วาระที่บรรลุพระอรหัต. บางท่านกล่าวว่า พระสารีบุตรเถระเข้านิโรธ แล้วๆ เล่าๆ ด้วยความชำนาญแห่งจิต.
               ในวาระทั้งสองนั้น ท่านมีปกติเข้านิโรธสมาบัติในกาลใด ในกาลนั้นวาระแห่งนิโรธย่อมมา ผลสมาบัติเป็นอันเก็บซ่อนไว้ ในกาลใดเข้าผลสมาบัติเป็นปกติ ในกาลนั้นวาระของผลสมาบัติก็มา นิโรธสมาบัติเป็นอันเก็บซ่อนไว้.
               ส่วนพระเถระชาวชมพูทวีปกล่าวว่า แม้พระสารีบุตรเถระก็นำเอาสมถะและวิปัสสนาทั้งคู่มา (บำเพ็ญ) ทำให้แจ้งอนาคามิผลแล้ว จึงเข้านิโรธสมาบัติ ออกจากนิโรธสมาบัติแล้วบรรลุพระอรหัต.
               บทว่า เต ธมฺเม ได้แก่ รูปธรรมที่เกิดแต่สมุฏฐาน ๓ อันเป็นไปในภายในสมาบัติ หรือธรรมอันเป็นไปในเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติข้างต้น. เพราะแม้ธรรมเหล่านั้นก็เป็นธรรมที่จะต้องพิจารณาเห็นแจ้งในวาระนี้เหมือนกัน. เพราะฉะนั้นพึงทราบว่า ตรัสคำนี้เพื่อแสดงว่า พระสารีบุตรเถระย่อมเห็นแจ้งธรรมเหล่านั้น.
               บทว่า วสิปฺปตฺโต ได้แก่ เป็นผู้ถึงความเป็นผู้ชำนาญคล่องแคล่ว.
               บทว่า ปรามิปฺปตฺโต คือ เป็นผู้ถึงความสำเร็จ.
               ในบทว่า โอรโส เป็นต้น ชื่อว่าเป็นโอรส เพราะเกิดโดยฟังพระสุรเสียงอันเกิดในพระอุระของพระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่าเกิดแต่พระโอฐ เพราะเกิดโดยได้สดับพระสุรเสียงอันเกิดแต่พระโอฐ.
               อนึ่ง พึงทราบว่า ชื่อว่าเกิดแต่ธรรม เพราะเป็นผู้เกิดโดยธรรม และพึงทราบว่า ชื่อว่าธรรมเนรมิต เพราะธรรมเนรมิตขึ้น พึงทราบว่า ชื่อว่าเป็นทายาททางธรรม เพราะถือเอาส่วนแบ่งคือธรรม พึงทราบว่า ไม่ใช่ทายาททางอามิส เพราะไม่ได้ถือส่วนแบ่งคืออามิส.
               คำที่เหลือในบททั้งปวงง่ายทั้งนั้น.

               จบอรรถกถาอนุปสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อนุปทวรรค อนุปทสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 130อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 153อ่านอรรถกถา 14 / 166อ่านอรรถกถา 14 / 853
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=2324&Z=2444
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=1417
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=1417
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :