ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 247อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 252อ่านอรรถกถา 14 / 282อ่านอรรถกถา 14 / 853
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อนุปทวรรค
มหาจัตตารีสกสูตร ว่าด้วยมรรคที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ

               ๗. อรรถกถามหาจัตตารีสกสูตร               
               มหาจัตตารีสกสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว อย่างนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อริยํ แปลว่า ไม่มีโทษ. เพราะว่าสิ่งที่ไม่มีโทษ เรียกกันว่า อริยะ.
               บทว่า สมฺมาสมาธึ ได้แก่ สมาธิที่เป็นมรรค.
               บทว่า สอุปนิสํ แปลว่า มีเหตุปัจจัย.
               บทว่า สปฺปริกฺขารํ แปลว่า มีองค์ประกอบ.

               สัมมาทิฏฐิ ๒               
               บทว่า ปริกฺขตา แปลว่า แวดล้อมแล้ว.
               บทว่า สมฺมาทิฏฺฐิ ปุพฺพงฺคมา โหติ ความว่า สัมมาทิฏฐิที่เป็นหัวหน้ามี ๒ ส่วน คือ วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิที่เป็นปุเรจาริก ๑ มรรคสัมมาทิฏฐิ ๑
               วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ กำหนดพิจารณาสังขารอันเป็นไปในภูมิ ๓ ด้วยอำนาจลักษณะที่ไม่เที่ยงเป็นต้น. ส่วนมรรคสัมมาทิฏฐิให้ถอนวัฏฏะอันเป็นเหตุให้ได้ภูมิ คือทำให้สงบระงับเกิดขึ้นในที่สุดของการกำหนดพิจารณา เหมือนเอาน้ำเย็นพันหม้อราดรดบนศีรษะฉะนั้น.
               อุปมาเหมือนชาวนา เมื่อจะทำนา ย่อมตัดต้นไม้ในป่าก่อน ภายหลังจึงจุดไฟ ไฟนั้นจะไหม้ต้นไม้ที่ตัดไว้ก่อนให้หมดไปไม่มีเหลือ ฉันใด วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาสังขารทั้งหลาย ด้วยอำนาจลักษณะมีความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้นก่อน มรรคสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นถอนสังขารทั้งหลายเสียได้ ด้วยอำนาจ (ที่สังขาร) เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป เพื่อการพิจารณาด้วยวิปัสสนาสัมมาทิฏฐินั้น. ในที่นี้ประสงค์เอาทิฏฐิทั้งสองอย่าง.
               บทว่า มิจฺฉาทิฏฺฐึ มิจฺฉาทิฏฺฐีติ ปชานาติ ได้แก่ รู้ชัดมิจฉาทิฏฐิโดยอารมณ์ ด้วยการแทงตลอดลักษณะว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา. สัมมาทิฏฐิย่อมรู้ชัดสัมมาทิฏฐิโดยกิจ (คือ) โดยความไม่หลง.
               บทว่า สาสฺส โหติ สมฺมาทิฏฺฐิ ความว่า ความรู้อย่างนั้นนั้นของเธอ ย่อมชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ.
               บทว่า ทฺวยํ วทามิ ความว่า เรากล่าว (สัมมาทิฏฐิ) ไว้สองส่วน.
               บทว่า ปุญฺญภาคิยา แปลว่า เป็นส่วนแห่งบุญ.
               บทว่า อุปธิเวปกฺกา แปลว่า ให้วิบาก คือ อุปธิ.
               ในบทว่า ปญฺญา ปญฺญินฺทริยํ เป็นต้น ที่ชื่อว่าปัญญา เพราะจำแนกออกแล้วๆ ยังประตูแห่งอมตะให้ปรากฏ คือแสดงให้เห็น.
               ชื่อว่า ปัญญินทรีย์ เพราะทำความเป็นใหญ่ในอรรถ (ภาวะ) อันนั้น
               ชื่อว่า ปัญญาพละ เพราะไม่หวั่นไหวด้วยอวิชชา.
               ชื่อว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เพราะบรรลุองค์แห่งการตรัสรู้แล้ว ค้นคว้าสัจธรรม ๔.
               ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ เพราะเห็นดีงามด้วยความสมบูรณ์แห่งมรรค.
               ชื่อว่า องค์แห่งมรรค เพราะเป็นองค์แห่งอริยมรรค.
               บทว่า “โส” แปลว่า ภิกษุนั้น.
               บทว่า ปหานาย แปลว่า เพื่อต้องการละ
               บทว่า อุปสมฺปทาย แปลว่า เพื่อต้องการได้เฉพาะ.
               บทว่า สมฺมาวายาโม ได้แก่ ความพยายามอันเป็นกุศลอันเป็นเหตุนำออกจากทุกข์.
               บทว่า สโต คือ เป็นผู้ประกอบด้วยสติ.
               บทว่า อนุปริวตฺตนฺติ คือ ห้อมล้อมเป็นสหชาต.
               ก็ในที่นี้ สัมมาวายามะและสัมมาสติ เป็นสหชาต (เกิดร่วม) ห้อมล้อมโลกุตรสัมมาทิฏฐิ. เหมือนราชองครักษ์ถือกระบี่ และเจ้าพนักงานเชิญฉัตรยืนอยู่ในรถคันเดียวกันแวดล้อมพระราชาฉะนั้น. ส่วนวิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ เป็นปุเรชาต (เกิดก่อน) ห้อมล้อม เหมือนทหารเดินเท้าเป็นต้น เดินไปหน้ารถฉะนั้น. ก็จำเดิมแต่บรรพ (ข้อ) ที่ ๒ ไป ธรรมแม้ทั้ง ๓ ประการ (คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ) ก็พึงทราบว่า เป็นสหชาต เป็นบริวารแห่งสัมมาสังกัปปะเป็นต้น.
               บทว่า มิจฺฉาสงฺกปฺโปติ ปชานาติ ความว่า ย่อมรู้ชัดมิจฉาสังกัปปะโดยอารมณ์ ด้วยการแทงตลอดไตรลักษณ์ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา. ย่อมรู้ชัดสัมมาสังกัปปะ โดยกิจ โดยความไม่หลง.
               แม้ในสัมมาวาจาเป็นต้นต่อจากนี้ไป ก็พึงทราบการประกอบความอย่างนี้เหมือนกัน. ความดำริในกามเป็นต้น กล่าวไว้แล้วในเทฺวธาวิตักกสูตร.

               วิตก               
               บทว่า ตกฺโก ความว่า ชื่อว่าตักกะ ด้วยอำนาจความตรึก. ตักกะนั้นแหละเพิ่มบทอุปสรรค (คือวิ) เข้าไป เรียกว่า วิตักกะ (คือความตรึก). ความตรึกนั้นนั่นแล ชื่อว่าสังกัปปะ ด้วยอำนาจความดำริ.
               ชื่อว่า อัปปนา เพราะแนบแน่นในอารมณ์โดยเป็นอันเดียวกัน. ก็เพราะเพิ่มบทอุปสรรค จึงเรียกว่า พฺยปฺปนา
               บทว่า เจตโส อภินิโรปนา แปลว่า ยกจิตขึ้น. เพราะเมื่อมีวิตก วิตกย่อมยกจิตขึ้นในอารมณ์.
               แต่เมื่อไม่มีวิตก จิตก็ขึ้นสู่อารมณ์ได้ตามธรรมดาของตนเองเหมือนคนที่ชำนาญ มีชาติตระกูลสูง ย่อมเข้าพระราชวังได้ฉะนั้น. เพราะสำหรับผู้ไม่ชำนาญ (การเข้าพระราชวัง) ย่อมต้องการคนนำทางหรือคนเฝ้าประตู. พระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาทรงรู้และรู้จักคนผู้ชำนาญ มีชาติอันสมบูรณ์ เพราะเหตุนั้น เขาจึงออกและเข้า (พระราชวัง) ได้ โดยธรรมดาของตน (ฉันใด) พึงทราบข้ออุปไมยนี้ฉันนั้น.
               ชื่อว่า วจีสังขาร เพราะปรุงแต่งวาจา. ก็ในเรื่องวจีสังขารนี้โลกิยวิตก ย่อมปรุงแต่งวาจา โลกุตรวิตกไม่ปรุงแต่ง. โลกุตรวิตกไม่ปรุงแต่ง ก็จริงอยู่ ถึงกระนั้น วิตกนั้นก็ย่อมมีชื่อว่า วจีสังขารเหมือนกัน.
               บทว่า สมฺมาสงฺกปฺปํ อนุปริธาวนฺติ ความว่า ย่อมห้อมล้อมสัมมาสังกัปปะอันเป็นโลกุตระ.
               ก็ในการนี้ ธรรมแม้ ๓ ประการมีเนกขัมสังกัปปะ (ดำริในอันออกจากกาม) เป็นต้น ย่อม (มี) ได้ในจิตต่างๆ ในกาลอันเป็นเบื้องต้น. แต่ในขณะแห่งมรรค สัมมาสังกัปปะองค์เดียวเท่านั้น ตัดทางดำเนินแห่งสังกัปปะทั้ง ๓ มีกามสังกัปปะเป็นต้นให้เป็นการถอน (ราก) ขึ้น ทำองค์มรรคให้บริบูรณ์เกิดขึ้น ย่อมได้ชื่อ ๓ ชื่อเนื่องด้วยเนกขัมสังกัปปะเป็นต้น.
               แม้ในสัมมาวาจาเป็นต้นข้างหน้า ก็นัยนี้เหมือนกัน.

               อารติ-วิรติ-ปฏิวิรติ-เวรมณี               
               แม้ในบทว่า มุสาวาทา เวรมณี ดังนี้เป็นต้น เป็นวิรัติก็ถูก เป็นเจตนาก็ถูก.
               ในบทว่า อารติ ดังนี้เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ ชื่อว่า อารติ เพราะยินดีความห่างไกลจากวจีทุจริต.
               ชื่อว่า วิรติ เพราะเว้นจากวจีทุจริตเหล่านั้น.
               ชื่อว่า ปฏิวิรติ เพราะถอยกลับจากวจีทุจริตนั้นๆ แล้วงดเว้นจากวจีทุจริตเหล่านั้น. อีกอย่างหนึ่ง ท่านเพิ่มบทด้วยอำนาจอุปสรรค. บททั้งหมดนี้เป็นชื่อของภาวะคือ การงดเว้นทั้งนั้น.
               ชื่อว่า เวรมณี เพราะย่ำยีเวร ได้แก่ทำเวรให้พินาศไป. แม้บทนี้ก็เป็นไวพจน์ของความงดเว้นเหมือนกัน.
               แม้คำทั้งสองว่า เจตนา ๑ วิรัติ ๑ ย่อมใช้ได้เหมือนกัน แม้ในคำว่า ปาณาติปาตา เวรมณี เป็นต้น.

               อธิบายกุหนาเป็นต้น               
               ในบทว่า กุหนา เป็นต้น
               ชื่อว่า กุหนา (วาจาล่อลวง) เพราะลวงโลกให้งงงวยด้วยวาจานั้น ด้วยเรื่องหลอกลวง ๓ ประการ.
               ชื่อว่า ลปนา (วาจายกยอ) เพราะคนผู้ต้องการลาภ สักการะยกยอด้วยวาจานั้น.
               ชื่อว่า ผู้ทำบุ้ยใบ้ เพราะมี (แต่ทำ) บุ้ยใบ้เป็นปกติ. ภาวะของผู้ทำบุ้ยใบ้เหล่านั้น ชื่อว่า เนมิตฺตา (ความเป็นผู้ทำบุ้ยใบ้).
               ชื่อว่า ผู้ทำอุบายโกง เพราะคนเหล่านั้นมีการทำอุบายโกงเป็นปกติ ภาวะของคนผู้ทำอุบายโกงเหล่านั้น ชื่อว่า นิปฺเปสิกตา (ความเป็นผู้ทำอุบายโกง)
               ชื่อว่า การแลกลาภด้วยลาภ เพราะแลก คือหา ได้แก่แสวงหาลาภด้วยลาภ. ภาวะแห่งการแลกลาภด้วยลาภเหล่านั้น ชื่อว่าการหาลาภด้วยลาภ. ความย่อในที่นี้มีเพียงเท่านี้.
               ก็กิริยามีการล่อลวงเป็นต้นเหล่านี้ ข้าพเจ้านำเอามาทั้งพระบาลีและอรรถกถา กล่าวไว้โดยพิสดารแล้วในสีลนิทเทสในวิสุทธิมรรคนั่นแล.
               ในบทว่า มิจฺฉาอาชีวสฺส ปหานาย นี้ มิจฉาอาชีวะที่มาในพระบาลีเท่านั้นยังไม่พอ. ก็เจตนาที่เป็นกรรมบถ ๗ ประการมีปาณาติบาตเป็นต้น ซึ่งเป็นไปเพราะอาชีวะเป็นเหตุก็เป็นมิจฉาอาชีวะด้วย.
               วิรัติ (ความงดเว้น) อันกระทำการตัดทางดำเนินของเจตนา ๗ ประการนั้นนั่นแหละ ให้ถอนรากถอนโคน ทำองค์มรรคให้บริบูรณ์เกิดขึ้น ชื่อว่าสัมมาอาชีวะ.

               ผู้มีสัมมาทิฏฐิก็มีสัมมาสังกัปปะด้วย               
               บทว่า สมฺมาทิฏฺฐิสฺส ได้แก่ บุคคลผู้ตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิในมรรค.
               บทว่า สมฺมาสงฺกปฺโป ปโหติ ความว่า สัมมาสังกัปปะในมรรคย่อมมีพอเหมาะ สัมมาสังกัปปะในผลก็มีพอเหมาะแม้แก่ผู้มีสัมมาทิฏฐิในผล พึงทราบความหมายในบททั้งปวง ด้วยประการดังกล่าวมาฉะนี้.

               ผู้มีสัมมาสมาธิก็มีสัมมาญาณญาณะและสัมมาวิมุตติด้วย               
               ก็ในบทว่า สมฺมาญาณํ สมฺมาวิมุตฺติ นี้มีอธิบายว่า สัมมาญาณะอันเป็นเครื่องพิจารณามรรคก็มีพอเหมาะพอดีกับบุคคลผู้ตั้งอยู่ในสัมมาสมาธิในมรรค สัมมาญาณะอันเป็นเครื่องพิจารณาผลก็มีพอเหมาะพอดีแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในสัมมาสมาธิในผล สัมมาวิมุตติในมรรคก็มีพอเหมาะพอดีแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในญาณอันเป็นเครื่องพิจารณามรรค สัมมาวิมุตติในผลก็มีพอเหมาะพอดีแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในญาณอันเป็นเครื่องพิจารณาผล.
               ก็ในอธิการนี้ ท่านกล่าวไว้ว่า เว้นองค์แห่งผลทั้ง ๘ ประการเสีย กระทำสัมมาญาณะให้เป็นเครื่องพิจารณาแล้วทำสัมมาวิมุตติให้เป็นผลก็ควร.

               ผู้มีสัมมาทิฏฐิก็สลัดมิจฉาทิฏฐิได้               
               ในบทว่า สมฺมาทิฏฺฐิสฺส ภิกฺขเว มิจฺฉาทิฏฺฐิ นิชฺชิณฺณา โหติ (ภิกษุทั้งหลาย ผู้มีสัมมาทิฏฐิย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาทิฏฐิ) ดังนี้เป็นต้น ท่านอาจารย์ผู้กล่าวนิกายที่เหลือกล่าวว่า ตรัสถึงผล. ส่วนอาจารย์ผู้กล่าวมัชฌิมนิกาย กล่าวอาคตสถานของนิชชรวัตถุ ๑๐ ประการว่า ตรัสถึงมรรค.
               บรรดาธรรมเหล่านั้น พึงทราบว่า ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ เพราะอรรถว่าเห็นพระนิพพาน. พึงทราบว่า ชื่อว่าสัมมาญาณะ เพราะอรรถว่ากระทำให้แจ่มแจ้งพระนิพพาน. พึงทราบว่า ชื่อว่าสัมมาวิมุตติ เพราะอรรถว่าน้อมใจไปในพระนิพพานนั้น.
               บทว่า วีสติ กุสลปกฺขา ความว่า เป็นธรรมฝ่ายกุศล ๒๐ ประการอย่างนี้ คือธรรม ๑๐ ประการมีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น และธรรม ๑๐ ประการที่ตรัสไว้โดยนัยเป็นต้นว่า กุศลธรรมเป็นอเนกประการที่มีสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย.
               บทว่า วีสติ อกุสลปกฺขา ความว่า พึงทราบธรรมฝ่ายอกุศล ๒๐ ประการอย่างนี้ คือธรรม ๑๐ ประการมีมิจฉาทิฏฐิเป็นต้นที่ตรัสไว้โดยนัยเป็นต้นว่า มิจฉาทิฏฐิย่อมเป็นเครื่องให้เสื่อมแล้ว และธรรม ๑๐ ประการที่ตรัสไว้โดยนัยเป็นต้นว่า ธรรมอันลามกมิใช่น้อย มีมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย.
               บทว่า มหาจตฺตารีสโก ความว่า ชื่อว่า มหาจัตตารีสกะ (หมวด ๔๐ ใหญ่) เพราะประกาศธรรม ๔๐ ประการอันเป็นฝ่ายกุศล และเป็นฝ่ายอกุศลอันเป็นข้อใหญ่ ข้อใหญ่ เพราะการให้วิบากมาก.

               สัมมาทิฏฐิ ๕               
               ก็แหละในพระสูตรนี้ ตรัสสัมมาทิฏฐิ ๕ ประการ คือ วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ มัคคสัมมาทิฏฐิ ผลสัมมาทิฏฐิ ปัจจเวกขณสัมมาทิฏฐิ.
               บรรดาสัมมาทิฏฐิ ๕ ประการนั้น สัมมาทิฏฐิที่ตรัสไว้โดยนัยมีอาทิว่า ย่อมรู้มิจฉาทิฏฐิว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ชื่อว่า วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ.
               ที่ตรัสไว้โดยนัยมีอาทิว่า ทานที่ให้แล้วมีผล ชื่อว่า กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ.
               ส่วนสัมมาทิฏฐิ แม้ ๒ ประการ คือ มัคคสัมมาทิฏฐิ ผลสัมมาทิฏฐิ ตรัสไว้ในคำนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย สัมมาสังกัปปะย่อมเหมาะสำหรับผู้มีสัมมาทิฏฐิ ดังนี้.
               อนึ่ง พึงทราบว่าตรัสปัจจเวกขณสัมมาทิฏฐิ ไว้ในคำนี้ว่า “สัมมาญาณะ ย่อมพอเหมาะ” ดังนี้.

               วาทะ ๓               
               บทว่า สมฺมาทิฏฺฐิ เจ ภวํ ครหติ ความว่า เมื่อกล่าวว่า ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐินี้ดี ดังนี้ก็ดี เมื่อกล่าวว่า ชื่อว่า สัมมาทิฏฐินี้ไม่ดี ดังนี้ก็ดี ย่อมชื่อว่าติเตียนสัมมาทิฏฐิ.
               บทว่า โอกฺกลา ได้แก่ ชาวโอกกลชนบท.
               บทว่า วสฺสภญฺญา ได้แก่ ชน ๒ พวก คือพวกวัสสะและพวกภัญญะ.
               บทว่า อเหตุวาทา คือ ผู้มีวาทะเป็นต้นอย่างนี้ว่า ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย.
               บทว่า อกิริยวาทา ได้แก่ ผู้มีวาทะปฏิเสธการกระทำอย่างนี้ว่า เมื่อทำ (บาป) บาปก็ไม่เป็นอันทำ.
               บทว่า นตฺถิกวาทา ได้แก่ ผู้มีวาทะเป็นต้นว่า ทานที่ให้แล้วย่อมไม่มีผล.
               ชนผู้มีวาทะดังกล่าวนั้น ย่อมเป็นผู้ก้าวลงแน่นอนในทัสสนะ ๓ ประการเหล่านี้.
               ถามว่า ก็การกำหนดแน่นอนแห่งทัสสนะเหล่านี้ มีได้อย่างไร?
               ตอบว่า ก็บุคคลผู้ใดถือลัทธิเห็นปานนี้ นั่งในที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน สาธยายอยู่ พิจารณาอยู่ มิจฉาสติของบุคคลผู้นั้นย่อมตั้งมั่นในอารมณ์นั้นว่า เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี เมื่อทำ (บาป) บาปก็ไม่เป็นอันทำ ทานที่ให้แล้วไม่มีผล เมื่อกายแตกย่อมขาดสูญ จิตของผู้นั้นย่อมมีอารมณ์เป็นหนึ่ง.
               ชวนะทั้งหลายย่อมแล่นไป. ในชวนะที่หนึ่งยังพอแก้ไขได้ ในชวนะที่สองเป็นต้นก็ยังพอแก้ไขได้เหมือนกัน. แต่ในชวนะที่เจ็ด แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ทรงแก้ไขไม่ได้ เป็นผู้มีปกติไม่หวนกลับ เช่นกับภิกษุชื่ออริฏฐกัณฏกะ.
               ในบรรดาทัสสนะเหล่านั้น บางคนก้าวลงสู่ทัสสนะเดียว บางคน ๒ ทัสสนะ บางคน ๓ ทัสสนะ จึงเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิบุคคลโดยแท้ ถึงการห้ามทางไปสวรรค์และพระนิพพาน เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะไปสู่สวรรค์ในลำดับต่อจากชาตินั้น จะป่วยกล่าวไปไยที่จะไปสู่พระนิพพาน สัตว์นี้ชื่อว่า เป็นหลักตอแห่งวัฏฏะ เฝ้าแผ่นดิน โดยมากสัตว์เห็นปานนี้ย่อมไม่มีการออกไปจากภพ แม้ชนพวกวัสสะและภัญญะก็ได้เป็นเช่นนี้.
               บทว่า นินฺทาพฺยาโรสอุปารมภภยา ความว่า เพราะกลัวตนจะถูกนินทา ถูกกระทบกระทั่ง และถูกว่าร้าย.
               คำที่เหลือในบททั้งปวงง่ายทั้งนั้นแล.

               จบ อรรถกถามหาจัตตารีสกสูตรที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อนุปทวรรค มหาจัตตารีสกสูตร ว่าด้วยมรรคที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ จบ.
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 247อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 252อ่านอรรถกถา 14 / 282อ่านอรรถกถา 14 / 853
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=3724&Z=3923
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=2368
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=2368
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๐  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :