ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 318อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 333อ่านอรรถกถา 14 / 343อ่านอรรถกถา 14 / 853
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค
จูฬสุญญตสูตร

               ๑. อรรถกถาจูฬสุญญตาสูตร               
               จูฬสุญญตาสูตร๑- มีบทเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
____________________________
๑- พระสูตรเป็น จูฬสุญญสูตร

               ในบทเหล่านั้น บทว่า เอกมิทํ ความว่า
               ได้ยินว่า พระเถระกระทำวัตรแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วไปสู่ที่พักกลางวันของตน กำหนดเวลาแล้ว นั่งเจริญสุญญตาผลสมาบัติ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ แล้วออกตามเวลาที่กำหนด.
               ลำดับนั้น สังขารของท่านปรากฏโดยความเป็นของว่างเปล่า ท่านใคร่สดับสุญญตากถา แล้วได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เรามีธุระยุ่งเหยิง ไม่อาจไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ได้โปรดตรัสสุญญตากถาแก่ข้าพระองค์ เอาละเราจะให้พระองค์ระลึกถึงข้อที่พระองค์เข้าไปอาศัยนิคมชื่อนครกะ ตรัสกถาเรื่องหนึ่งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจักตรัสสุญญตากถาแก่เราอย่างนี้. เมื่อพระอานนท์จะให้พระทศพลทรงระลึกได้ จึงกล่าวคำว่า เอกมิทํ เป็นต้น.
               บทว่า อิทํ ในบทว่า เอกมิทํ นั้น เป็นเพียงนิบาตเท่านั้น.
               บทว่า กจฺจิ เมตํ ภนฺเต ความว่า พระเถระจำได้เพียงบทเดียวก็สามารถจะค้นคว้าทรงจำไว้ได้ถึงหกหมื่นบท เพราะฉะนั้น ท่านจักไม่สามารถเพื่อจะมีสุญญตาวิหารธรรม แล้วทรงจำบทเพียงบทเดียว ฉะนั้น การที่ผู้ประสงค์จะฟัง ทำเป็นเหมือนคนรู้แล้วถามไม่สมควร.
               พระเถระประสงค์จะฟังสุญญตากถาที่พระองค์ทรงแสดงไว้อย่างพิสดารให้แจ่มแจ้ง จึงกราบทูลอย่างนี้ เหมือนไม่รู้ บางคนแม้ไม่รู้ ก็ทำเป็นเหมือนคนรู้.
               พระเถระจะกระทำการหลอกลวงอย่างนี้ได้อย่างไรเล่า.
               พระเถระแสดงความเคารพต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงกราบทูล คำเป็นต้นว่า กจฺจิ เมตํ ดังนี้ แม้ในฐานะที่ตนรู้.
               บทว่า ปุพฺเพ ความว่า แม้ในเวลาที่เข้าไปอาศัยนิคมชื่อว่า นครกะ ในปฐมโพธิกาล.
               บทว่า เอตรหิ แปลว่า แม้ในบัดนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสอย่างนี้แล้วจึงมีพระพุทธดำริว่า อานนท์ประสงค์จะสดับสุญญตากถา ก็คนบางคนสามารถจะสดับ แต่ไม่สามารถที่จะเรียน บางคนสามารถทั้งสดับทั้งเรียน แต่ไม่อาจจะแสดง แต่สำหรับพระอานนท์สามารถทั้งสดับ ทั้งเรียน ทั้งแสดง เราจะกล่าวสุญญตากถาแก่เธอ. เมื่อจะตรัสสุญญตากถานั้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า เสยฺยถาปิ ดังนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุญฺโญ หตฺถิคฺวาสฺสวฬเวน นั้น ความว่า ช้างเป็นต้นที่เขาทำเป็นช้างไม้ ช้างดินปั้น ช้างภาพเขียน มีอยู่ในปราสาทนั้น เงินทองที่ทำเป็นจิตรกรรมในที่ตั้งของท้าวเวสวัณ. ท้าวมันธาตุราชเป็นต้นบ้างที่เขาประกอบเป็นหน้าต่าง ประตูและเตียงตั่งที่ประดับด้วยเงินทองนั้น ที่เก็บไว้เพื่อปฏิสังขรณ์ของเก่าก็มี. แม้หญิงชายที่มาฟังธรรมและถามปัญหาเป็นต้น กระทำด้วยรูปไม้เป็นต้นมีอยู่ ฉะนั้น ปราสาทนั้นจึงไม่ว่างจากหญิงและชายเหล่านั้น. ท่านกล่าวคำนี้หมายถึงความไม่มีแห่งช้างเป็นต้นที่มีวิญญาณ เนื่องด้วยอินทรีย์ เงินและทองที่ใช้สอยในขณะต้องการ และหญิงชายที่อยู่เป็นนิตย์.
               บทว่า ภิกฺขุสงฺฆํ ปฏิจฺจ ความว่า ด้วยว่าถึงแม้ภิกษุทั้งหลายจะเข้าไปบิณฑบาต ปราสาทนั้นก็ไม่ว่างจากภิกษุผู้ยินดีภัตรในวิหาร และภิกษุผู้เป็นไข้ ภิกษุพยาบาลไข้ ภิกษุนักศึกษา ภิกษุผู้ขวนขวายจีวรกรรมเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้. ท่านจึงกล่าวอย่างนี้ เพราะมีภิกษุอยู่ประจำ.
               บทว่า เอกตฺตํ แปลว่า ความเป็นหนึ่ง. อธิบายว่า ไม่ว่างเลย. ท่านอธิบายว่า มีความไม่ว่างอย่างเดียว. บทว่า อมนสิกริตฺวา แปลว่า ไม่กระทำไว้ในใจ. บทว่า อนาวชฺชิตวา แปลว่า ไม่พิจารณา. บทว่า คามสญฺญํ ความว่า สัญญาว่าบ้านเกิดขึ้น โดยยึดว่าเป็นบ้าน หรือโดยเป็นกิเลส. แม้ในมนุสสสัญญาก็มีนัยอย่างเดียวกันนี้แหละ.
               บทว่า อรญฺญสญฺญํ ปฏิจฺจ มนสิกโรติ เอกตฺตํ ความว่า กระทำไว้ในใจซึ่งป่านี้ว่า เป็นอรัญญสัญญา เฉพาะป่าอย่างเดียวเท่านั้น อย่างนี้ว่า นี้ต้นไม้ นี้ภูเขา นี้ไพรสณฑ์ที่เขียวชะอุ่ม.
               บทว่า ปกฺขนฺทติ แปลว่า หยั่งลง. บทว่า อธิมุจฺจติ แปลว่า น้อมไปว่าอย่างนี้.
               บทว่า เย อสฺสุ ทรถา ความว่า ความกระวนกระวายที่เป็นไปแล้วก็ดี ความกระวนกระวายเพราะกิเลสก็ดี ที่จะพึงมีเพราะอาศัยคามสัญญาเหล่านั้น ย่อมไม่มีด้วยอรัญญสัญญาในป่านี้. แม้ในบทที่สอง ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อตฺถิ เจวายํ ความว่า แต่มีเพียงความกระวนกระวายที่เป็นไป ซึ่งเกิดขึ้นเพราะอาศัยอรัญญสัญญาอย่างเดียว.
               บทว่า ยํ หิ โข ตตฺถ น โหติ ความว่า ความกระวนกระวายที่เป็นไปแล้วและความกระวนกระวายเพราะกิเลสซึ่งเกิดขึ้นโดยคามสัญญา และมนุสสสัญญานั้น ย่อมไม่มีในอรัญญสัญญานี้ เหมือนช้างเป็นต้นไม่มีในปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา.
               บทว่า ยํ ปน ตตฺถ อวสิฏฺฐํ ความว่า จะมีเหลืออยู่ก็เพียงแต่ความกระวนกระวายที่เป็นไปในอรัญญสัญญานั้น. เหมือนภิกษุสงฆ์ที่อยู่ในปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา.
               บทว่า ตํ สนฺตมิทํ อตฺถีติ ปชานาติ ความว่า รู้ชัดสิ่งนั้นที่มีอยู่เท่านั้นว่า นี้มีอยู่.
               บทว่า สุญฺญตาวกฺกนฺติ แปลว่า ความบังเกิดขึ้นแห่งสุญญตา.
               บทว่า อมนสิกริตฺวา มนุสฺสสญฺญํ คือ ไม่ถือเอาคามสัญญาในบทนี้.
               เพราะเหตุไร. เพราะได้ยินว่า ภิกษุนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจะยังคามสัญญาให้เกิดด้วยมนุสสสัญญา ยังมนุสสสัญญาให้เกิดด้วยอรัญญสัญญา ยังอรัญญสัญญาให้เกิดด้วยปฐวีสัญญา ยังปฐวีสัญญาให้เกิดด้วยอากาสานัญจายตนสัญญา ฯลฯ ยังอากิญจัญญายตนสัญญาให้เกิดด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา ยังเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา ให้เกิดด้วยวิปัสสนา ยังวิปัสสนาให้เกิดด้วยมรรค จักแสดงอัจจันตสุญญตาโดยลำดับ ฉะนั้น จึงเริ่มเทศนาอย่างนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปฐวีสญฺญํ ความว่า เพราะเหตุไรจึงละอรัญญสัญญาใส่ใจปฐวีสัญญา. เพราะบรรลุคุณพิเศษด้วยอรัญญสัญญา. เปรียบเหมือนบุรุษเห็นที่นา ซึ่งน่ารื่นรมย์แลดูที่นาตั้งเจ็ดครั้ง ด้วยคิดว่า ข้าวสาลีเป็นต้นที่หว่านลงในนานี้ จักสมบูรณ์ด้วยดี เราจักได้ลาภใหญ่ ข้าวสาลีเป็นต้น ย่อมไม่สมบูรณ์เลย แต่ถ้าเขาทำที่นั้นให้ปราศจากหลักตอและหนามแล้ว ไถหว่าน เมื่อเป็นอย่างนี้ ข้าวสาลีย่อมสมบูรณ์ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ใส่ใจป่านี้ให้เป็นอรัญญสัญญาถึงเจ็ดครั้งว่า นี้ป่า นี้ต้นไม้ นี้ภูเขา นี้ไพรสณฑ์เขียวชะอุ่ม ย่อมบรรลุอุปจารสมาธิ. สำหรับปฐวีสัญญา ภิกษุนั้นกระทำปฐวีกสิณ บริกรรมให้เป็นกัมมัฏฐานประจำ ยังฌานให้เกิดเจริญวิปัสสนา ซึ่งมีฌานเป็นปทัฏฐาน สามารถจะบรรลุพระอรหัตได้ เพราะฉะนั้น เธอย่อมละอรัญญสัญญาใส่ใจปฐวีสัญญา.
               บทว่า ปฏิจฺจ แปลว่า อาศัยกันเกิดขึ้น.
               บัดนี้ เพื่อจะแสดงข้อเปรียบเทียบปฐวีกสิณที่ภิกษุมีความสำคัญว่าปฐวีในปฐวีกสิณ จึงตรัสคำมีอาทิว่า เสยฺยถาปิ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสุภสฺส เอตํ คือ โคผู้องอาจ.
               ความว่า โคเหล่าอื่น ถึงจะมีฝีบ้าง รอยทิ่มแทงบ้าง หนังของโคเหล่านั้นเมื่อคลี่ออก ย่อมไม่มีริ้วรอย ตำหนิเหล่านั้นย่อมไม่เกิดแก่โคอุสภะ เพราะสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ฉะนั้น จึงถือเอาหนังของโคอุสภะนั้น.
               บทว่า สํกุสเตน ได้แก่ ขอร้อยเล่ม.
               บทว่า สุวิหตํ ได้แก่ เหยียดออกแล้ว ขูดจนเกลี้ยงเกลา. แท้จริงหนังโคที่เขาใช้ขอไม่ถึงร้อยเล่ม ขูดออก ยังไม่เกลี้ยงเกลา ใช้ขอถึงร้อยเล่มย่อมเกลี้ยงเกลา เหมือนพื้นกลอง เพราะฉะนั้นจึงตรัสอย่างนี้.
               บทว่า อุกฺกุลวิกุลํ แปลว่า สูงๆ ต่ำๆ คือเป็นที่ดอนบ้าง เป็นที่ลุ่มบ้าง.
               บทว่า นทีวิทุคฺคํ ได้แก่ แม่น้ำและที่ซึ่งเดินไม่สะดวก.
               บทว่า ปฐวีสญฺญํ ปฏิจฺจ มนสิกโรติ เอกตฺตํ ความว่า ใส่ใจสัญญาอย่างเดียวที่อาศัยกันเกิดขึ้นในปฐวีกสิณ.
               บทว่า ทรถมตฺตา ความว่า จำเดิมแต่นี้ พึงทราบความกระวนกระวาย โดยความกระวนกระวายที่เป็นไปในวาระทั้งปวง. บทว่า อนิมิตฺตํ เจโต สมาธึ ได้แก่วิปัสสนาจิตตสมาธิ. เจโตสมาธิที่เว้นจากนิมิตว่าเที่ยงเป็นต้นนั้น ท่านกล่าวว่า อนิมิต. บทว่า อิมเมวกายํ ท่านแสดงวัตถุด้วยวิปัสสนา.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อิมเมว ได้แก่ มหาภูตรูปทั้ง ๔ นี้. บทว่า สฬายตนิกํ แปลว่า ปฏิสังยุตด้วยสฬายตนะ.
               บทว่า ชีวิตปจฺจยา ความว่า ชีวิตยังเป็นอยู่ได้ ก็ชั่วชีวิตินทรีย์ยังเป็นไป. อธิบายว่า ปฐวีสัญญานั้นยังมีความกระวนกระวายที่เป็นไป. เพื่อจะทรงแสดงความเห็นแจ้งโดยเฉพาะของวิปัสสนา จึงตรัสว่า อนิมิตฺตํ อีก.
               บทว่า กามาสวํ ปฏิจฺจ แปลว่า อาศัยกามาสวะ. อธิบายว่า ความกระวนกระวายที่จะเกิดขึ้นและที่เป็นไปแล้ว ไม่มีในที่นี้ คือไม่มีในอริยมรรคและอริยผล.
               บทว่า อิมเมว กายํ นี้ ตรัสเพื่อแสดงความกระวนกระวายของเบญจขันธ์ที่ยังเหลืออยู่. ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันทรงเปลี่ยนมนุสสสัญญาเป็นคามสัญญา ฯลฯ มรรคเป็นวิปัสสนา แล้วทรงแสดงความว่างเปล่าล่วงส่วนโดยลำดับ.
               บทว่า ปริสุทฺธํ ได้แก่ ปราศจากอุปกิเลส.
               บทว่า อนุตฺตรํ แปลว่า เว้นจากสิ่งอื่นที่ยอดเยี่ยม คือประเสริฐสุดกว่าทุกอย่าง.
               บทว่า สุญฺญตํ ได้แก่ สุญญตาผลสมาบัติ.
               บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะสมณพราหมณ์ คือพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวกของพระพุทธเจ้าในอดีตก็ดี สมณพราหมณ์คือพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวกของพระพุทธเจ้าในอนาคตก็ดี สมณพราหมณ์คือพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวกแห่งพระพุทธเจ้าในปัจจุบันก็ดี เข้าสุญญตะอันบริสุทธิ์ยอดเยี่ยมนี้อยู่แล้ว จักอยู่และกำลังอยู่ ฉะนั้น.
               คำที่เหลือในบททั้งปวง ง่ายทั้งนั้น.

               จบ อรรถกถาจูฬสุญญตาสูตร ที่ ๑               
               ---------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค จูฬสุญญตสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 318อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 333อ่านอรรถกถา 14 / 343อ่านอรรถกถา 14 / 853
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=4714&Z=4845
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=2744
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=2744
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :