ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 357อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 380อ่านอรรถกถา 14 / 388อ่านอรรถกถา 14 / 853
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค
พักกุลัตเถรัจฉริยัพภูตสูตร

               อรรถกถาพักกุลสูตร               
               พักกุลสูตร๑- มีบทเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
____________________________
๑- พระสูตรเป็น พักกุลัตเถรัจฉริยัพภูตสูตร

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พกฺกุโล มีอธิบายว่า เปรียบเหมือนเมื่อควรจะกล่าวคำเป็นต้นว่า ทฺวาวีสติ ทวตฺตึส คนทั้งหลายกลับกล่าวว่า พาวีสติ พตฺตึส ดังนี้เป็นต้น ฉันใด บทนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือเมื่อควรจะกล่าวว่า ทฺวิกฺกุโล หรือ ทวกฺกุโล กลับกล่าวว่า พกฺกุโล.
               ก็พระเถระนั้นได้มีตระกูลถึงสองตระกูล.
               เล่ากันว่า ท่านจุติจากเทวโลก เกิดในตระกูลมหาเศรษฐี ชื่อนครโกสัมพี. ในวันที่ ๕ พวกพี่เลี้ยงพาท่านไปดำเกล้า แล้วลงเล่นในแม่น้ำคงคา เมื่อพวกพี่เลี้ยงกำลังให้ทารกเล่นดำผุด ดำว่ายอยู่ ปลาตัวหนึ่งเห็นทารก สำคัญว่าเป็นอาหาร จึงคาบเด็กไป. พวกพี่เลี้ยงต่างก็ทิ้งเด็กหนีไป ปลากลืนเด็กแล้ว ธรรมดาสัตว์มีบุญไม่เดือดร้อนเลย. เขาได้เป็นเหมือนเข้าไปสู่ห้องนอนแล้วนอนหลับไป. ด้วยเดชแห่งทารก ปลามีสภาพเหมือนกลืนกระเบื้องที่ร้อนลงไป ถูกความร้อนแผดเผาอยู่ มีกำลังว่ายไปได้เพียง ๓๐ โยชน์แล้วเข้าไปติดข่ายของชาวประมง ชาวเมืองพาราณสี.
               ก็ธรรมดาปลาใหญ่ที่ติดข่าย เมื่อถูกนำไปถึงจะตาย แต่ด้วยเดชแห่งทารก ปลาตัวนี้ พอเขานำออกจากข่ายก็ตายทันที. และธรรมดาชาวประมงได้ปลาตัวใหญ่ๆ แล้ว ย่อมผ่าออกแบ่งขาย. แต่ด้วยอานุภาพของเด็ก ชาวประมงยังไม่ผ่าปลานั้น ใช้คานหามไปทั้งตัว ร้องประกาศไปทั่วเมืองว่า จะขายราคาหนึ่งพัน ใครๆ ก็ไม่ซื้อ.
               ก็ในเมืองนั้นมีตระกูลเศรษฐี มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ไม่มีบุตรอยู่ตระกูลหนึ่ง ครั้นถึงประตูเรือนเศรษฐีนั้น พอเขาถามว่า จะขายเท่าไร. กลับตอบว่า ขายหนึ่งกหาปณะ. เขาให้เงินหนึ่งกหาปณะแล้วซื้อไว้. แม้ภริยาท่านเศรษฐีในวันอื่นๆ จะไม่ชอบทำปลา แต่ในวันนั้น วางปลาไว้บนเขียง แล้วลงมือผ่าเองทีเดียว. ก็ธรรมดาปลาต้องผ่าที่ท้อง. แต่นางผ่าข้างหลัง เห็นทารกผิวดังทองในท้องปลา ตะโกนลั่นว่า เราได้บุตรในท้องปลา แล้วอุ้มเด็กตรงไปยังสำนักของสามี ท่านเศรษฐีให้คนตีกลองประกาศข่าวไปทั่วในทันที ทันใดนั้นเอง แล้วอุ้มทารกตรงไปยังราชสำนัก กราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าได้ทารกในท้องปลา ข้าพระพุทธเจ้าจะทำประการใด. พระราชาตรัสว่า ทารกที่อยู่ในท้องปลาได้โดยปลอดภัยได้นี้มีบุญ ท่านจงเลี้ยงไว้เถิด. ตระกูลนอกนี้ได้ฟังข่าวว่า ในพระนครพาราณสี ตระกูลเศรษฐีตระกูลหนึ่งได้ทารกในท้องปลา. พวกเขาจึงพากันไปในเมืองนั้น ขณะนั้นมารดาของเด็ก เห็นเขากำลังแต่งตัวเด็ก แล้วให้เล่นอยู่ จึงตรงเข้าอุ้มด้วยคิดว่า เด็กคนนี้น่ารักจริงหนอ แล้วบอกเล่าความเป็นไปต่างๆ.
               หญิงนอกนี้พูดว่า เด็กคนนี้เป็นลูกเรา.
               หญิงนั้นถามว่า ท่านได้มาจากไหน.
               หญิงนอกนี้พูดว่า เราได้ในท้องปลา.
               หญิงนั้นจึงพูดว่า เด็กคนนี้ไม่ใช่ลูกของท่าน เป็นลูกของเรา.
               หญิงนอกนี้ถามว่า ท่านได้ที่ไหน.
               หญิงนั้นเล่าว่า เราอุ้มท้องเด็กคนนี้มาถึง ๑๐ เดือน คราวนั้นปลาได้กลืนเด็กที่พวกพี่เลี้ยงกำลังให้เล่นน้ำ.
               หญิงนอกนี้จึงแย้งว่า ลูกของท่านชะรอยปลาอื่นจะกลืนไป แต่เด็กคนนี้ข้าพเจ้าได้ในท้องปลา. ทั้งสองฝ่ายจึงพากันไปยังราชสำนัก.
               พระราชาตรัสว่า หญิงคนนี้ใครๆ ไม่สามารถจะปฏิเสธได้ว่าไม่ใช่มารดา เพราะตั้งท้องมาถึง ๑๐ เดือน แม้พวกชาวประมงที่จับปลาได้ ก็ได้ทำการซื้อขายเป็นต้น เสร็จสิ้นไปแล้ว จึงหมดสิทธิ เพราะฉะนั้น แม้หญิงคนนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ใช่มารดา เพราะได้เด็กในท้องปลา ขอทั้งสองฝ่ายจงเลี้ยงดูเด็กร่วมกันเถิด.
               แม้ทั้งสองตระกูล ก็เลี้ยงดูเด็กร่วมกันแล้ว เมื่อเด็กเจริญวัยแล้ว ตระกูลทั้งสองก็ได้ให้เขาสร้างปราสาทไว้ในพระนครทั้งสอง แล้วให้บำรุงบำเรอด้วยพวกหญิงฟ้อนรำ. เขาจะอยู่นครละ ๔ เดือน. เมื่อเขาอยู่ในนครหนึ่งครบ ๔ เดือนแล้ว ทั้งสองตระกูลให้ช่างสร้างมณฑปไว้ในเรือที่ต่อขนานกัน แล้วให้เขาอยู่ในเรือนั้น พร้อมด้วยหญิงฟ้อนรำทั้งหลาย. เขาเสวยสมบัติเพลิน เดินทางไปอีกเมืองหนึ่ง. หญิงฟ้อนรำชาวพระนครได้ไปส่งเขาถึงครึ่งทาง. หญิงเหล่านั้นต้อนรับห้อมล้อมแล้วนำเขาไปยังปราสาทของตน. หญิงฟ้อนรำชุดเก่าก็พากันกลับเมืองของตนเหมือนกัน. เขาอยู่ในปราสาทนั้นตลอด ๔ เดือน แล้วเดินทางกลับไปยังอีกเมืองหนึ่ง โดยทำนองนั้นแล.
               เอวมสฺส สมฺปตฺตึ อนุภวนฺตสฺส อสีติ วสฺสานิ ปริปุณฺณานิ ฯ
               เขาเสวยสมบัติอยู่อย่างนี้ครบ ๘๐ ปีบริบูรณ์.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปถึงพระนครพาราณสีแล้ว. เขาฟังธรรมในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า เกิดศรัทธา บวชแล้ว ได้เป็นปุถุชนอยู่เพียง ๗ วันเท่านั้น ครั้นในวันที่ ๘ เขาได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย.
               ตระกูลทั้งสองเนื่องกับท่านอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้ชื่อว่า พักกุละ.
               บทว่า ปุราณคิหิสหาโย แปลว่า เคยเป็นสหายกันมา ในเวลาที่เป็นคฤหัสถ์. แม้ปริพาชกชื่อ อเจลกกัสสปะนี้ก็มีอายุยืนเหมือนกัน เมื่อจะไปเยี่ยมพระเถระผู้บวชแล้ว ได้ไปในปีที่ ๘๐.
               บทว่า เมถุโน ธมฺโม ความว่า คนโง่ผู้อยู่ในพวกสมณะเปลือย ถามไปอย่างโง่ๆ ไม่ได้ถามโดยใช้ถ้อยคำอิงศาสนโวหาร. เขาตั้งอยู่ในนัยที่พระเถระให้แล้วในบัดนี้ จึงถามด้วยคำเป็นต้นว่า อิเมหิ ปน เต ดังนี้.
               พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายกำหนดบททั้งหลายมีอาทิว่า ยมฺปายสฺมา ดังนี้ ตั้งไว้แล้วในสัพพวารทั้งหลาย ก็ในสัพพวารเหล่านั้น สัญญาพอเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น วิตกก็จะทำลายกรรมบถ เพราะฉะนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจะแยกจากกันทำไมทั้งสองอย่างนี้ ล้วนทำกรรมบถให้แตกทั้งนั้น.
               บทว่า คหปติจีวรํ ได้แก่ จีวรของภิกษุผู้อยู่จำพรรษา.
               บทว่า สตฺเถน ได้แก่ กรรไกร.
               บทว่า สูจิยา มีอธิบายว่า เราไม่ระลึกถึงข้อที่จีวรจะต้องเย็บด้วยเข็ม.
               บทว่า กฐิเน จีวรํ ได้แก่ กฐินจีวร.
               ก็กฐินจีวรมีคติอย่างเดียวกับผ้าจำนำพรรษาเท่านั้น เพราะฉะนั้น ในกฐินจีวรนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สินฺเนตา ฯเปฯ นาภิชานามิ ดังนี้.
               ถามว่า ก็เมื่อท่านพักกุลเถระนั้นไม่ยินดีคหบดีจีวร ไม่กระทำนวกรรมมีการตัดและการเย็บเป็นต้น ตลอดเวลามีประมาณเท่านี้ จีวรจะเกิดแต่ที่ไหน.
               ตอบว่า เกิดจากพระนครทั้งสอง พระเถระมียศใหญ่ยิ่ง. บุตรธิดาหลานเหลนของท่านให้คนทำจีวรด้วยผ้าสาฎกเนื้อละเอียดอ่อน ให้ย้อมแล้ว ใส่ในผอบส่งไปถวาย. ในเวลาที่พระเถระอาบน้ำ เขาจะวางไว้ที่ประตูห้องน้ำ พระเถระนุ่งและห่มจีวรเหล่านั้น. ท่านจะให้จีวรเก่าแก่บรรพชิตทั้งหลายที่ท่านพบ. พระเถระนุ่งห่มจีวรเหล่านั้นแล้ว ไม่ต้องกระทำนวกรรม. กิจกรรมที่จะต้องรวบรวมอะไรๆ ก็ไม่มี. ท่านจะนั่งเข้าผลสมาบัติ เมื่อครบสี่เดือนไปแล้ว ขนก็หลุดลุ่ย คราวนั้น ลูกๆ หลานๆ ก็จะส่งจีวรไปถวายท่านโดยทำนองนั้นแหละ. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ท่านผลัดเปลี่ยนจีวรทุกๆ ครึ่งเดือน.
               ก็ข้อที่พระเถระผู้มีบุญมาก มีอภิญญามาก บำเพ็ญบารมีมาถึงแสนกัป ผลัดเปลี่ยนจีวรทุกๆ กึ่งเดือนนั้น เป็นของไม่น่าอัศจรรย์เลย พระนิโครธเถระผู้อยู่ประจำราชสำนัก ของพระเจ้าอโศกธรรมราช ยังเปลี่ยนจีวรถึงวันละ ๓ ครั้ง. ก็เจ้าพนักงานจะวางไตรจีวรของท่านไว้บนคอช้าง นำมาถวายแต่เช้าตรู่ พร้อมกับผอบใส่ของหอม ๕๐๐ ผอบใส่ดอกไม้ ๕๐๐. ถึงในเวลากลางวันและเวลาเย็นก็ปฏิบัติเช่นนั้น. ได้ยินว่า พระราชาเมื่อให้ท่านเปลี่ยนผ้าวันละ ๓ ครั้ง จะตรัสถามว่า พวกท่านนำจีวรไปถวายพระเถระแล้วหรือ. พอทรงสดับว่า นำไปถวายแล้ว พระเจ้าข้า จึงจะให้เปลี่ยน. แม้พระเถระก็ไม่ผูกรวมเป็นห่อเก็บไว้. แต่ได้ถวายแก่เพื่อนพรหมจรรย์ที่ท่านพบแล้ว.
               ได้ยินว่า ในครั้งนั้น ภิกษุสงฆ์ในชมพูทวีปทั้งสิ้น โดยมากได้ใช้ปัจจัยคือจีวรอันเป็นของพระนิโครธเถระทั้งนั้น. ในบทว่า อโห วต มํ โกจิ นิมนฺเตยฺย นี้ มีคำถามว่า เหตุไร การไม่ให้จิตบังเกิดขึ้น จึงเป็นของหนัก และที่เกิดขึ้นแล้วก็ต้องละ.
               ตอบว่า ขึ้นชื่อว่าจิต เปลี่ยนแปลงได้เร็ว เพราะฉะนั้น การไม่ให้จิตเกิดขึ้น จึงเป็นของหนัก แม้ถึงการละจิตที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นของหนักเช่นเดียวกัน.
               บทว่า อนฺตรฆเร ความว่า ในมหาสกุลุทายิสูตร ตั้งแต่ธรณีประตูไป เรียกว่าเรือน แต่ในที่นี้ ประสงค์เอาตั้งแต่ที่ตั้งแห่งน้ำตกจากชายคา.
               ถามว่า ก็ภิกษาจะเกิดแก่ท่านได้แต่ที่ไหน.
               ตอบว่า พระเถระคนรู้จักกันทั่วสองพระนคร พอท่านมาถึงประตูเรือนเท่านั้น คนจะพากันมารับบาตร ใส่โภชนะอันมีรสเลิศต่างๆ ถวาย. ท่านจะกลับแต่ที่ซึ่งท่านได้รับอาหารแล้ว. แต่ที่สำหรับทำภัตตภิจของท่านได้มีประจำทีเดียว.
               บทว่า อนุพฺยญฺขนโส ความว่า ได้ยินว่า พระเถระถือเอานิมิตในรูปแล้ว ไม่เคยมองดูมาตุคามเลย.
               บทว่า มาตุคามสฺส ธมฺมํ ความว่า จะแสดงธรรมแก่มาตุคามด้วยวาจาเพียง ๕-๖ คำ ก็ควร แต่ถ้าถูกถามปัญหา จะกล่าวคาถาแม้ตั้งพัน ก็สมควรโดยแท้. ก็พระเถระไม่เคยทำสิ่งที่เป็นกับปิยะให้เป็นอกัปปิยะเลย. แท้จริงการทำเช่นนั้น โดยมากจะมีแก่ภิกษุผู้เข้าสู่ตระกูล.
               บทว่า ภิกฺขุนูปสฺสยํ แปลว่า สำนักของภิกษุณี. ก็ผู้ที่จะเยี่ยมไข้จะไปสำนักของภิกษุณีนั้น ก็ควร. ก็พระเถระไม่กระทำเฉพาะสิ่งที่เป็นกัปปิยะ. ในบททั้งปวงก็มีนัยนี้.
               บทว่า จุณฺเณน ได้แก่ จุณแห่งดอกคำฝอยเป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปริกมฺเม ได้แก่ กระทำการนวดตัว.
               บทว่า วิจาริตา แปลว่า ให้ประกอบแล้ว.
               บทว่า คทฺทูหนมตฺตํ ความว่า แม้ชั่วขณะจับนมโค แล้วรีดเอาน้ำนมเพียงหยดเดียว.
               ก็พระเถระไม่เคยอาพาธด้วยเหตุไรๆ เลย.
               ได้ยินว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ มีภิกษุหนึ่งแสนเป็นบริวาร เสด็จเที่ยวจาริกไป ต้นไม้ที่มีพิษในป่าหิมพานต์บานแล้ว. แม้ภิกษุทั้งแสนก็ป่วยเป็นโรคเนื่องด้วยดอกหญ้าเป็นพิษ.
               ในสมัยนั้น พระเถระเป็นดาบสผู้มีฤทธิ์. ท่านเหาะไปเห็นภิกษุสงฆ์ จึงลงมาถามถึงโรคที่เป็น แล้วนำโอสถมาจากป่าหิมพานต์จัดถวาย. พอกระทบยาเท่านั้น โรคก็สงบทันที.
               แม้ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ ท่านหยุดไถนาในวันแรกนา ให้สร้างโรงครัวและเวจกุฏิ จัดยาถวายภิกษุสงฆ์เป็นประจำ ด้วยกรรมนี้ท่านจึงเป็นผู้ปราศจากอาพาธ. และเพราะท่านถือการนั่งเป็นวัตรอย่างอุกฤษฏ์ และการอยู่ป่าเป็นวัตรอย่างอุกฤษฏ์ ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า นาภิชานามิ อปสฺสยิตา.
               บทว่า สรโณ แปลว่า ยังมีกิเลส.
               บทว่า อญฺญา อุทปาทิ ความว่า ไม่ควรพยากรณ์พระอรหัต แก่อนุปสัมบัน.
               ถามว่า เพราะเหตุไร พระเถระจึงได้พยากรณ์.
               ตอบว่า พระเถระมิได้กล่าวว่า เราเป็นพระอรหัต แต่กล่าวว่าพระอรหัตผลเกิดขึ้นแล้ว.
               อีกประการหนึ่ง ปรากฏว่า พระเถระได้เป็นพระอรหัตแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า ปพฺพชฺชํ ความว่า พระเถระไม่ได้ให้ปริพาชกชื่ออเจลกัสสปะบรรพชาและอุปสมบทด้วยตนเอง แต่ให้ภิกษุเหล่าอื่นบวชให้.
               บทว่า อปาปุรณํ อาทาย แปลว่า ถือลูกดาล.
               บทว่า นิสินฺนโกว ปรินิพฺพายิ ความว่า พระเถระดำริว่า แม้เรามีชีวิตอยู่อย่าได้เป็นภาระแก่ภิกษุเหล่าอื่น สรีระของเราแม้ปรินิพพานแล้ว อย่าให้ภิกษุสงฆ์ต้องเป็นกังวลเลย จึงเข้าเตโชธาตุ ปรินิพพานแล้วเปลวไฟลุกขึ้นท่วมสรีระ ผิวหนัง เนื้อและโลหิตถูกเผาไหม้สิ้นไป เหมือนเนยใส. ยังคงเหลืออยู่แต่ธาตุ ที่มีลักษณะดังดอกมะลิตูม.
               คำที่เหลือในบททั้งปวงชัดแล้วทั้งนั้น.
               ก็แลพระสูตรนี้ ท่านสงเคราะห์เข้าในทุติยสังคหวาร.

               จบอรรถกถาพักกุลสูตรที่ ๔.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค พักกุลัตเถรัจฉริยัพภูตสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 357อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 380อ่านอรรถกถา 14 / 388อ่านอรรถกถา 14 / 853
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=5282&Z=5374
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=3514
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=3514
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :