ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 405อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 420อ่านอรรถกถา 14 / 439อ่านอรรถกถา 14 / 853
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค
อนุรุทธสูตร

               อรรถกถาอนุรุทธสูตร               
               อนุรุทธสูตร มีบทเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวมาหํสุ ความว่า เข้าไปหาในเวลาที่อุบาสกนั้นไม่สบาย จึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า อปณฺณกํ แปลว่า ไม่ผิดพลาด.
               บทว่า เอกตฺถ ได้แก่ เป็นทั้งเจโตวิมุตติ ที่หาประมาณมิได้ หรือเจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ. ท่านถือเอาคำนี้ว่าฌานก็เรียกอย่างนั้น เพราะความที่จิตนั้นแหละมีอารมณ์เป็นหนึ่ง.
                บทว่า ยาวตา เอกํ รุกฺขมูลํ มหคฺคตนฺติ ผริตฺวา อธิมุจฺจิตฺวา วิหรติ ความว่า น้อมใจแผ่ไปสู่มหัคคตฌานในกสิณนิมิตนั้น ปกคลุมโคนต้นไม้แห่งหนึ่ง เป็นที่พอประมาณโดยกสิณนิมิตอยู่.
               บทว่า มหคฺคตํ ความว่า ก็ความผูกใจไม่มีแก่ภิกษุนั้น ท่านจึงกล่าวบทนี้ไว้ด้วยสามารถแห่งความเป็นไปแห่งมหัคคตฌานอย่างเดียว.
               ในบททั้งปวงก็มีนัยนี้.
               บทว่า อิมินา โข เอตํ คหปติ ปริยาเยน ความว่า ด้วยเหตุนี้.
               ก็ในข้อนี้มีวินิจฉัยว่า
               ก็นิมิตแห่งพรหมวิหารที่ท่านกล่าวไว้ว่า เป็นอัปปมาณานี้ ย่อมไม่ควร คือยังไม่เกิดการแผ่ขยาย และทั้งฌานเหล่านั้น ก็ยังไม่เป็นบาทแห่งอภิญญาหรือนิโรธ ก็ฌานที่เป็นบาทแห่งวิปัสสนา ย่อมเป็นทั้งบาทแห่งวัฏฏะ และเป็นการก้าวลงสู่ภพ. แต่นิมิตแห่งฌานที่เป็นกสิณ ซึ่งท่านกล่าวว่า เป็นมหัคตะ ย่อมควร คือย่อมเกิดการแผ่ขยายออกไป และย่อมก้าวล่วงได้ ฌานที่เป็นบาทแห่งอภิญญา ย่อมเป็นบาทแห่งนิโรธด้วย เป็นบาทแห่งวัฏฏะด้วย ทั้งก้าวลงสู่ภพได้ด้วย. ธรรมเหล่านี้ มีอรรถต่างกันอย่างนี้ และมีพยัญชนะต่างกันอย่างนี้ คือเป็นอัปปมาณาและเป็นมหัคคตะ.
               ก็บัดนี้ เมื่อจะแสดงเหตุแห่งการออกจากมหัคคตาสมาบัติแล้วเข้าสู่ภพ ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า จตสฺโส โข อิมา ดังนี้.
               บทว่า ปริตฺตาภา ความว่า ก็ความผูกใจนี้ของภิกษุผู้น้อมใจแผ่ไปแล้วรู้อยู่ ยังมีอยู่ แต่ภิกษุผู้ยังต้องเจริญฌานอันเป็นเหตุแห่งการบังเกิดในหมู่เทพชั้นปริตตาภาทั้งหลาย ท่านจึงกล่าวไว้อย่างนี้. ในบททั้งปวงก็มีนัยนี้ เทพชั้นปริตตาภา มีแสงสว่างริบหรี่ก็มี มีแสงสว่างจ้าก็มี. เทพชั้นอัปปมาณาภา มีแสงสว่างริบหรี่ก็มี มีแสงสว่างจ้าก็มี.
               ถามว่า ข้อนี้ เป็นอย่างไร.
               ตอบว่า ภิกษุทำบริกรรมในกสิณ มีประมาณเท่ากระด้งหรือมีประมาณเท่าขัน ทำสมาบัติให้เกิดแล้ว มีความชำนาญอันสะสมไว้แล้วโดยอาการทั้ง ๕ เพราะธรรมที่เป็นข้าศึกยังไม่บริสุทธิ์ดีนัก. เธอใช้สอยสมาบัติที่ยังไม่ชำนาญนั่นแหละ แล้วตั้งอยู่ในฌานที่ยังไม่คล่องแคล่ว ทำกาละแล้วย่อมเกิดในหมู่เทพชั้นปริตตาภาทั้งหลาย. ทั้งวรรณะของเธอก็น้อยและเศร้าหมอง.
               ส่วนภิกษุผู้มีความชำนาญ อันสั่งสมไว้แล้วโดยอาการทั้ง ๕ ใช้สอยสมาบัติอันบริสุทธิ์ดี ตั้งอยู่ในฌานที่คล่องแคล่ว ทำกาละแล้ว ย่อมบังเกิดในเทพชั้นปริตตาภา เพราะธรรมที่เป็นข้าศึกบริสุทธิ์ดี. ทั้งวรรณะของเธอมีนิดหน่อยและบริสุทธิ์. ด้วยประการดังกล่าวมานี้ เทวดาชั้นปริตตาภาจึงจัดว่ามีทั้งแสงริบหรี่ มีทั้งแสงสว่างเจิดจ้า. ก็ข้อที่ภิกษุทำบริกรรมในกสิณอันไพบูลย์ แล้วยังสมาบัติให้เกิด มีความคล่องแคล่วอันสั่งสมแล้ว ด้วยอาการทั้ง ๕ ดังนี้ ทั้งหมดพึงทราบเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วในก่อน. ด้วยประการดังกล่าวมานี้ เทวดาชั้นอัปปมาณาภาจึงจัดว่า มีทั้งแสงริบหรี่ มีทั้งแสงสว่างเจิดจ้า.
               บทว่า วณฺณนานตฺตํ แปลว่า มีสีกายต่างกัน.
               บทว่า โน จ อาภานตฺตํ ได้แก่ ไม่ปรากฏว่า มีแสงสว่างต่างกัน.
               บทว่า อจฺจินานตฺตํ ความว่า มีเปลวต่างกัน คือยาวบ้าง สั้นบ้าง เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง.
               บทว่า ยตฺถ ยตฺถ ความว่า อยู่อาศัย คืออยู่ประจำในที่ใดที่หนึ่ง เช่น อุทยานวิมานต้นกัลปพฤกษ์ ริมน้ำและสระโบกขรณี.
               บทว่า อภิรมนฺติ แปลว่า ย่อมยินดี คือไม่เบื่อหน่าย.
               บทว่า กาเชน ได้แก่ หาบอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น หาบข้าวยาคู หาบภัต หาบน้ำมัน หาบน้ำอ้อย หาบปลาและหาบเนื้อ. ปาฐะว่า กาเจน ดังนี้ ก็มี. ความก็อย่างนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ปิฏเกน แปลว่า ด้วยตระกร้า.
               บทว่า ตตฺถ ตตฺเถว ความว่า กลุ่มแมลงวันที่เขานำออกจากแหล่งที่หาได้ง่าย เช่น เนยใส น้ำผึ้ง น้ำอ้อยเป็นต้น แล้วนำไปสู่แหล่งที่หนาแน่นไปด้วยเกลือและปลาเน่าเป็นต้น ย่อมไม่เกิดความคิดอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนที่อยู่ของเราสบาย เราอยู่เป็นสุขในที่นั้น เกลือทำให้เราลำบากในที่นี้ หรือว่า กลิ่นปลาเน่าทำให้เราปวดหัว ย่อมยินดีในที่นั้นๆ ทีเดียว.
               บทว่า อาภา แปลว่า สมบูรณ์ด้วยแสงสว่าง.
               บทว่า ตทงฺเคน ได้แก่ องค์แห่งการเข้าถึงภพนั้น. อธิบายว่า ได้แก่ เหตุแห่งการเข้าถึงภพ.
               บัดนี้ เมื่อจะถามถึงเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า โก นุ โข ภนฺเต ดังนี้.
               บทว่า กายทุฏฺฐุลฺลํ ได้แก่ ความเกียจคร้านทางกาย.
               บทว่า ฌายโต แปลว่า ไฟติดรุ่งเรืองอยู่.
               บทว่า ทีฆรตฺตํ โข เม ความว่า ได้ยินว่า พระเถระบำเพ็ญบารมี บวชเป็นฤษี ยังสมาบัติให้เกิด ได้กำเนิดในพรหมโลก ๓๐๐ ครั้งติดต่อกันไป คำนี้ท่านกล่าวหมายถึงพระเถระรูปนั้นแหละ.
               สมดังที่ท่านกล่าวเป็นคาถาประพันธ์ไว้ดังนี้ว่า
                                   เมื่อก่อนเราแสวงหาอสังขตธรรมที่คงที่
                                   (ไม่วุ่นวาย) บวชเป็นฤษี เที่ยวไปแล้ว
                                   ตลอด ๓๐๐ ปี.
               คำที่เหลือในบททั้งปวง ง่ายทั้งนั้น ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาอนุรุทธสูตรที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค อนุรุทธสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 405อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 420อ่านอรรถกถา 14 / 439อ่านอรรถกถา 14 / 853
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=5819&Z=6016
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=3691
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=3691
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :