ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 439อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 467อ่านอรรถกถา 14 / 504อ่านอรรถกถา 14 / 853
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค
พาลบัณฑิตสูตร

               อรรถกถาพาลบัณฑิตสูตร               
               พาลบัณฑิตสูตร มีบทเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พาลลกฺขณานิ ความว่า ที่ชื่อว่าพาลลักขณะ เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องกำหนด คือเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าผู้นี้เป็นคนพาล. พาลลักษณะเหล่านั้นแหละ ท่านเรียกว่า พาลนิมิต เพราะเป็นเหตุแห่งการหมายรู้ว่า ผู้นั้นเป็นคนพาล. เรียกว่า พาลาปทาน เพราะคนพาลประพฤติไม่ขาด.
               บทว่า ทุจฺจินฺติตจินฺตี ความว่า ธรรมดาคนพาล แม้เมื่อคิดย่อมคิดแต่เรื่องชั่วๆ ด้วยอำนาจอภิชฌา พยาบาทและความเห็นผิดถ่ายเดียว.
               บทว่า ทุพฺภาสิตภาสี ความว่า แม้เมื่อพูดก็พูดแต่คำชั่วๆ ต่างโดยวจีทุจริตมีมุสาวาทเป็นต้น.
               บทว่า ทุกฺกฏกมฺมการี ความว่า แม้เมื่อทำก็ทำจำเพาะแต่กรรมชั่วๆ ด้วยสามารถแห่งกายทุจริตมีปาณาติบาตเป็นต้น.
               บทว่า ตตฺร เจ ได้แก่ ในบริษัทที่คนพาลนั่งแล้วนั้น.
               บทว่า ตชฺชํ ตสฺสารุปฺปํ ความว่า จะพูดด้วยถ้อยคำที่พอเหมาะแก่เขา คือเหมาะสมแก่เขา. อธิบายว่า ได้แก่ถ้อยคำที่ปฏิสังยุตด้วยโทษ ทั้งที่เป็นไปในปัจจุบันและสัมปรายิกภพของเวรทั้ง ๕.
               บทว่า ตตฺร ได้แก่ ถ้อยคำที่พูดถึงกันอยู่นั้น.
               บทว่า พาลํ เป็นต้น เป็นทุติยาวิภัตติ ใช้ในอรรถแห่งฉัฏฐีวิภัตติ.
               บทว่า โอลมฺพนฺติ ความว่า ย่อมเข้าไปตั้งอยู่.
               สองบทที่เหลือเป็นไวพจน์ของบทว่า โอลมฺพนฺติ นั้น.
               ลักษณะคนพาลเหล่านั้น ย่อมปรากฏโดยอาการที่การแผ่ไปเป็นต้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า ปฐวิยา โอลมฺพนฺติ ได้แก่ แผ่ไปบนพื้นดิน.
               สองบทที่เหลือก็เป็นไวพจน์ของบทนั้นแหละ. ก็ข้อนั้นเป็นอาการที่แผ่ไป.
               บทว่า ตตฺร ภิกฺขเว พาลสฺส ความว่า เมื่อปรากฏการณ์นั้นมาถึง แต่นั้นคนพาลย่อมมีความคิดอย่างนี้.
               บทว่า เอตทโวจ ความว่า ภิกษุผู้ฉลาดในอนุสนธิคิดว่า ใครๆ ไม่สามารถจะทำข้ออุปมาของนรกได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็มิได้ตรัสไว้ แต่ตรัสว่า มิใช่ของที่ทำได้โดยง่าย และถึงจะทำได้ง่ายก็ไม่มีผู้สามารถจะทำได้ เอาเถิด เราจะทูลเชิญให้พระทศพลทรงกระทำข้ออุปมาดังนี้ แล้วได้กล่าวคำนี้ว่า เอตํ สกฺก ภนฺเต ดังนี้.
               บทว่า หเนยฺยุํ ความว่า พึงฆ่าแบบแทงซ้ำสองครั้งในที่เดียวกันไม่ให้ถึงตาย โดยวิธีแทงซ้ำแล้วก็ไป. เพราะฉะนั้น โจรนั้นจึงมีปากแผลถึง ๒๐๐ แห่ง.
               แม้บทที่มีจำนวนยิ่งไปกว่านี้ ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ปาณิมตฺตํ ได้แก่ มีขนาดเพียงตั้งอยู่ในฝ่ามือ.
               บทว่า สงฺขํปิ น อุเปติ แปลว่า ไม่ถึงขนาดที่พอจะนับได้.
               บทว่า กลฺลภาคมฺปิ ความว่า ไม่ถึงขั้นที่ควรจะกล่าวว่า เข้าถึงเสี้ยวที่ร้อย เสี้ยวที่พันหรือเสี้ยวที่แสน.
               บทว่า อุปนิธํปิ ได้แก่ ไม่ถึงการเข้าไปเปรียบเทียบ คือไม่มีแม้แต่คนที่เหลียวมอง.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อโยขีลํ ความว่า จะให้สัตว์นรกผู้มีอัตภาพ ๓ คาวุตนอนหงายบนแผ่นโลหะที่ลุกโพลง เอาหลาวเหล็กประมาณเท่าลำตาลสอดเข้าไปในมือข้างขวา ในมือซ้ายเป็นต้นก็ทำอย่างนั้น แล้วให้นอนคว่ำบ้าง นอนตะแคงขวาบ้าง ตะแคงซ้ายบ้าง โดยลงโทษเหมือนอย่างที่นอนหงายแล้วลงโทษแบบเดียวกัน.
               บทว่า สํเวสิตฺวา ความว่า นายนิรยบาลจะจับสัตว์นรกผู้มีอัตภาพ ๓ คาวุตให้นอนบนแผ่นโลหะที่ลุกโพลง.
               บทว่า กุฐารีหิ ความว่า จะถากด้วยผึ่งใหญ่ขนาดครึ่งหลังคาเรือน. โลหิตจะไหลเป็นน้ำ โลหิตจะพลุ่งขึ้นจากแผ่นดินเป็นเปลวไฟจดถึงที่ๆ เขาถากแล้ว. ทุกข์อย่างใหญ่หลวงจะเกิดขึ้น และเมื่อจะถากก็ถากทำให้เป็นเส้นบรรทัดถากออกเป็น ๘ เสี่ยงบ้าง ๖ เสี่ยงบ้างดุจถากฟืน.
               บทว่า วาสีหิ ได้แก่ มีดที่มีประมาณเท่ากระด้งขนาดใหญ่. เมื่อถากด้วยมีดเหล่านั้น ก็ถากตั้งแต่หนังไปจนถึงกระดูก อวัยวะที่ถากออกแล้วๆ ย่อมกลับตั้งอยู่ตามปกติ.
               บทว่า รเถ โยเชตฺวา ความว่า เทียมรถที่ลุกโพลงโดยประการทั้งปวง พร้อมทั้งเชือกคู่ ช่วงล้อ ทูบและปฏัก.
               บทว่า มหนฺตํ ได้แก่ มีประมาณเท่าเรือนยอดขนาดใหญ่.
               บทว่า อาโรเปนฺติ ความว่า นายนิรยบาลจะโบยด้วยค้อนเหล็กที่ลุกโพลงแล้วบังคับให้สัตว์นรกปีนขึ้น.
               บทว่า สกึปิ อุทฺธํ ความว่า เขาจะพล่านขึ้นข้างบนบ้าง ข้างล่างบ้าง ด้านขวางบ้าง เหมือนเมล็ดข้าวสารที่เขาใส่ไปในหม้อข้าวที่กำลังเดือดพล่าน.
               บทว่า ภาคโส มิโต ได้แก่ แบ่งแยกไว้เป็นส่วนเท่าๆ กัน.
               บทว่า ปริยนฺโต แปลว่า ล้อมรอบ.
               บทว่า อยสา ความว่า ข้างบนครอบไว้ด้วยแผ่นเหล็ก.
               บทว่า สมนฺตา โยชนสตํ ผริตฺวา ติฏฺฐติ ความว่า แผ่ไปแล้วอย่างนี้ ตั้งอยู่เหมือนนัยน์ตาของผู้ที่ยืนมองดูอยู่ในที่ไกลประมาณ ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ จะทะเล้นออกมาเหมือนลูกกลมๆ ทั้งคู่.
               บทว่า น สุกรํ อกฺขาเนน ปาปุณิตุํ มีอธิบายว่า แม้ถึงจะกล่าวพรรณนาไปตั้ง ๑๐๐ ปี พันปี จนถึงที่สุดว่า ขึ้นชื่อว่านรกเป็นทุกข์แม้อย่างนี้ ไม่ใช่เป็นของที่ทำได้โดยง่าย.
               บทว่า ทนฺตุลฺเลหกํ แปลว่า ใช้ฟันและเล็บ. อธิบายว่า ถอนขึ้นด้วยฟัน.
               บทว่า รสาโท ได้แก่ บริโภคด้วยติดใจในรส โดยความอยากในรสอาหาร.
               บทว่า อญฺญมญฺญขาทิกา แปลว่า มีแต่การกินกันเอง.
               บทว่า ทุพฺพณฺโณ แปลว่า มีรูปทราม.
               บทว่า ทุทฺทสิโก ได้แก่ มีรูปน่าเกลียดชังดุจยักษ์ที่เขาปั้นไว้เพื่อหลอกให้เด็กกลัว.
               บทว่า โอโกฏิมโก ได้แก่ เป็นร่างเตี้ย คอสั้น ท้องพลุ้ย.
               บทว่า กาโณ ได้แก่ เป็นคนตาบอดข้างเดียวหรือตาบอดสองข้าง.
               บทว่า กุณี ได้แก่ คนที่มือด้วนข้างหนึ่ง หรือมีมือด้วนสองข้าง.
               บทว่า ปกฺขหโต แปลว่า เป็นคนง่อยเปลี้ย.
               บทว่า โส กาเยน เป็นต้นนี้ ท่านปรารภไว้เพื่อแสดงถึงการเข้าไปผูกพันกับความทุกข์ของสัตว์นรกนั้น.
               บทว่า กลิคฺคเหน แปลว่า ด้วยความพ่ายแพ้.
               บทว่า อธิพนฺธํ นิคจฺเฉยฺย ความว่า เพราะสมบัติทุกอย่างเป็นจำนวนมากของผู้แพ้ ยังไม่พอให้ผู้ชนะ ฉะนั้น เขาจึงต้องถูกจองจำอีกด้วย.
               บทว่า เกวลา ปริปูรา พาลภูมิ ความว่า คนพาลบำเพ็ญทุจริต ๓ อย่างบริบูรณ์แล้ว ย่อมบังเกิดในนรก แต่ด้วยเศษแห่งกรรมที่เหลือในนรกนั้น แม้เขาจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็ต้องเกิดในตระกูลต่ำทั้ง ๕ และถ้ายังทำทุจริต ๓ อีกก็ต้องบังเกิดในนรก.
               ทั้งหมดนี้เป็นพื้นของคนพาลอย่างสมบูรณ์.

               บทมีอาทิว่า ปณฺฑิตลกฺขณานิ พึงทราบโดยทำนองดังกล่าวแล้วนั้นแหละ.
               ก็บททั้งหลายมีอาทิว่า สุจินฺติตจินฺตี ในนิเทศนี้พึงประกอบเข้าด้วยสามารถแห่งมโนสุจริตเป็นต้น.

               จกฺกรตนวณฺณนา               
               บทว่า สีสนหาตสฺส ได้แก่ ทรงสนานพระเศียรด้วยน้ำหอม.
               บทว่า อุโปสถิกสฺส ได้แก่ ทรงสมาทานองค์อุโบสถแล้ว.
               บทว่า อุปริปาสาทจรคตสฺส แปลว่า เมื่อประทับอยู่ในมหาปราสาทชั้นบน คือทรงเสวยสุธาโภชน์เสด็จเข้าสู่ห้องอันมีสิริ บนพื้นอันโอ่โถงเบื้องบนมหาปราสาท ทรงรำพึงถึงศีลทั้งหลายอยู่.
               เล่ากันว่า ครั้งนั้น พระราชา พอรุ่งเช้าก็สละพระราชทรัพย์หนึ่งแสน ถวายมหาทาน สนานพระเศียรด้วยคันโธทกครั้งละ ๑๖ หม้อ เสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว ทรงเฉวียงบ่าด้วยผ้าขาวบริสุทธิ์ นั่งขัดสมาธิบนพระที่บรรทมอันมีสิริชั้นบนปราสาท ประทับนั่งรำพึงถึงกองบุญ คือทาน ความข่มใจและความสำรวมของพระองค์.
               นี้เป็นธรรมดาของพระเจ้าจักรพรรดิทั้งปวง.
               เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิเหล่านั้นกำลังพิจารณาถึงกองบุญอยู่นั่นเอง ทิพยจักรรัตนะมีบุญกรรมมีประการดังกล่าวแล้วเป็นปัจจัย มีฤดูเป็นสมุฏฐาน มีลักษณะคล้ายกับก้อนแก้วมณีสีเขียว ก็ปรากฏขึ้นดุจแหวกพื้นน้ำมหาสมุทรขึ้นมาทางปาจีนทิศ อุปมาดังจะทำห้วงนภากาศให้งดงาม.
               ก็จักรรัตนะนั้น ท่านเรียกว่า เป็นทิพย์ เพราะประกอบไปด้วยอานุภาพอันเป็นทิพย์. ขึ้นชื่อว่าสหัสสาระ เพราะมีกำตั้งพัน. ชื่อว่า สนาภิกํ สเนมิกํ เพราะประกอบไปด้วยกงและดุม. ชื่อว่า สพฺพาการปริปูรํ เพราะบริบูรณ์ไปด้วยอาการทุกอย่าง.
               พึงทราบวินัยในอาการเหล่านั้นดังต่อไปนี้
               ชื่อว่าจักรรัตนะ เพราะเป็นจักรและเป็นทั้งรัตนะ ด้วยอรรถว่ายังความยินดีให้เกิด. ก็ดุมของจักรรัตนะที่ท่านกล่าวว่า พร้อมไปด้วยดุมนี้นั้น ล้วนแล้วไปด้วยแก้วอินทนิล. ก็ตรงกลางดุมนั้นมีช่องสำเร็จด้วยเงินงามผุดผาดเหมือนการยิ้มสรวลของมีระเบียบฟันสะอาดแนบสนิทดี และล้อมไปด้วยแผ่นเงินทั้งสองด้าน คือทั้งด้านนอกและด้านในดุจมณฑลแห่งดวงจันทร์ที่มีช่องตรงกลางฉะนั้น. ก็ในที่ซึ่งแผ่นเงินแวดวงไปด้วยดุมและช่องเหล่านั้น ปรากฏว่ามีรอยเขียนที่กำหนดไว้ในฐานที่เหมาะสม ได้ถูกจัดไว้แล้วเป็นอย่างดี นี้เป็นความบริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่างของดุมแห่งจักรรัตนะนั้นก่อน.
               ก็จักรรัตนะที่ท่านกล่าวว่า มีซี่ตั้งพัน ประกอบไปด้วยซี่เหล่าใด ซี่เหล่านั้นสำเร็จด้วยรัตนะ ๗ สมบูรณ์ด้วยรัศมีดุจรัศมีแห่งดวงอาทิตย์. แม้ซี่เหล่านั้นก็ปรากฏว่าได้จำแนกไว้แล้วเป็นอย่างดีเหมือนกัน เช่นลายเขียนที่เขียนเป็นหม้อน้ำแก้วมณีเป็นต้น.
               นี้เป็นความบริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่างของซี่ทั้งหลายแห่งจักรรัตนะนั้น.
               ก็จักรรัตนะที่ท่านกล่าวว่า พร้อมด้วยกง ประกอบไปด้วยกงใด กงนั้นสำเร็จด้วยแก้วประพาฬ มีสีแดงบริสุทธิ์น่ารัก เหมือนจะเย้ยกลุ่มรัศมีแห่งดวงอาทิตย์ที่กำลังทอแสงฉะนั้น.
               ก็ที่ต่อของกงนั้นเป็นแผ่นทองชมพูนุทสีแดงมีชื่อเสียงน่าชื่นชมและมีลายเขียนเป็นวงกลมปรากฏว่า ท่านจัดแจงไว้แล้วเป็นอย่างดี นี้เป็นความบริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่างของดุมแห่งทิพยจักรรัตนะนั้น.
               ก็ด้านหลังมณฑลของดุมแห่งทิพยจักรรัตนะ มีไม้สำเร็จด้วยแก้วประพาฬ เหมือนหลอดไม้อ้อที่มีช่องข้างใน ประดับเป็นวงกลมๆ อยู่ที่กำข้างละสิบๆ. ไม้สำเร็จด้วยแก้วประพาฬใด เวลาลมพัดโชยจะเปล่งเสียงไพเราะ ก่อให้เกิดความรัญจวนใจ เพลิดเพลิน เหมือนเสียงของดนตรีมีองค์ ๕ ที่บรรเลงโดยศิลปินผู้เชี่ยวชาญฉะนั้น. ก็ไม้สำเร็จด้วยแก้วประพาฬนั้นแหละ มีเศวตฉัตรอยู่ข้างบน มีพวงดอกโกสุมรวมกลุ่มเป็นระเบียบทั้งสองด้าน ด้วยประการดังพรรณนามานี้ จึงมีสีหบัญชรสองด้าน ภายในกำแห่งดุมทั้งสองของทิพยจักรรัตนะอันแวดวงไปด้วยกงที่เข้าไปเสริมความสง่างามด้วยไม้สำเร็จด้วยแก้วประพาฬหนึ่งร้อย สำหรับทรงไว้ซึ่งเศวตฉัตรหนึ่งร้อย มีพวงโกสุมปกคลุมเป็นระเบียบถึงสองร้อยเป็นบริวาร ซึ่งมีกลุ่มแห่งแก้วมุกดาทั้งสองห้อยย้อยอยู่ ดูประหนึ่งจะงามเกินความงามตามธรรมชาติของอากาศคงคา มีสิริด้วยกลุ่มแสงจันทร์วันเพ็ญที่สาดแสงไปประมาณชั่วลำตาล สุดลงด้วยกลุ่มผ้ากัมพลสีแดงเหมือนแสงพระอาทิตย์อ่อนๆ จักรทั้ง ๓ ปรากฏว่าเหมือนหมุนไปพร้อมๆ กัน โดยการหมุนผลัดผันไปในอากาศพร้อมด้วยจักรรัตนะ.
               นี้เป็นความบริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง โดยประการทั้งปวงของจักรรัตนะนั้น.
               ก็เมื่อพวกมนุษย์บริโภคอาหารมื้อเย็น ตามปกติเสร็จแล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้ บนประตูเรือนของตนๆ สนทนากันอยู่ถึงเหตุการณ์เรื่องราวตามที่เป็นไป เมื่อหมู่ทารกผู้ไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป (รุ่นเยาว์) กำลังเล่นอยู่ในถนนและทางสี่แพร่งเป็นต้น ทิพยจักรรัตนะนั้นแล ก็เดินทางมุ่งหน้ามายังราชธานี ประดุจเข้าไปส่งเสริมความงาม กิ่งไม้ยอดไม้ เพิ่มบรรยากาศจนสุดบริเวณในไพรสณฑ์ ชวนให้หมู่สัตว์เงี่ยโสดสดับด้วยเสียงอันไพเราะ ฟังได้ไกลถึง ๑๒ โยชน์ ชวนให้มองโดยมีแสงสีรุ่งเรืองเป็นเหตุให้เกิดรัศมีมีประการต่างๆ เห็นได้ไกลโยชน์หนึ่ง ดุจประกาศบุญญานุภาพแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ.
               ครั้นจักรรัตนะนั้นส่งสำเนียงไปทั่วป่านั่นเอง คนเหล่านั้นครุ่นคิดอยู่ว่า เสียงนี้มาแต่ไหนหนอ ต่างก็แหงนดูไปทางทิศบูรพา ต่างคนต่างพูดกันอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงดูสิ่งอัศจรรย์ทุกๆ คืนพระจันทร์เพ็ญขึ้นดวงเดียว แต่วันนี้ขึ้นสองดวง ก็ดวงจันทร์ทั้งคู่นี้ เคลื่อนคล้อยขึ้นไปสู่นภากาศโดยมุ่งไปทางทิศบูรพา อุปมาเหมือนพญาหงส์ทั้งคู่ ร่อนอยู่ในนภากาศฉะนั้น. อีกพวกหนึ่งกล่าวค้านว่า สหายท่านพูดอะไร พระจันทร์สองดวงขึ้นพร้อมกันท่านเคยเห็นที่ไหนบ้าง นั่นคือพระอาทิตย์ผู้ทรงไว้ซึ่งรัศมีอันแผดกล้า มีสีแดงเหลืองโผล่ขึ้นมาแล้วมิใช่หรือ. อีกพวกหนึ่งกล่าวถากถางเยาะเย้ยพวกนั้นว่า ท่านเป็นบ้าไปแล้วหรือ พระอาทิตย์เพิ่งจะตกไปเดี๋ยวนี้เองมิใช่หรือ พระอาทิตย์นั้นจะขึ้นตามพระจันทร์เพ็ญดวงนี้ได้อย่างไร แต่นี่จะต้องเป็นวิมานของท่านผู้มีบุญคนหนึ่ง จึงรุ่งเรืองไปด้วยแสงสว่างแห่งรัตนะมิใช่น้อย. คนเหล่านั้นแม้ทั้งหมดต่างฝ่ายต่างเห็นไปคนละอย่าง คนพวกหลังจึงกล่าวอย่างนี้ว่า พวกท่านทั้งหลายพูดเพ้อเจ้อให้มากเรื่องไปทำไม นั่นไม่ใช่พระจันทร์เพ็ญ ไม่ใช่ดวงอาทิตย์ ไม่ใช่วิมานของเทพ ที่แท้สิริสมบัติเห็นปานนี้ มิได้เกิดขึ้นเพื่อสิ่งเหล่านั้น แต่สิ่งนั้นชะรอยจักเป็นจักรรัตนะ.
               เมื่อการเจรจาโต้เถียงยังดำเนินไปอยู่เช่นนี้ จักรรัตนะนั้นก็ละจันทมณฑลมุ่งตรงมา. แต่นั้นเมื่อคนเหล่านั้นพูดกันว่า จักรรัตนะนี้บังเกิดขึ้นเพื่อใครหนอแล ก็มีผู้พูดขึ้นว่า จักรรัตนะนี้มิได้เกิดขึ้นแก่ผู้ใดใครอื่น มหาราชของพวกเราทั้งหลายทรงบำเพ็ญความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิสมบูรณ์แล้ว จักรรัตนะนี้บังเกิดเป็นคู่บุญบารมีของพระองค์แน่นอน.
               ลำดับนั้น ทั้งมหาชนกลุ่มนั้น ทั้งคนอื่นๆ ที่มองเห็น ทุกๆ คนก็เดินตามจักรรัตนะไปเรื่อยๆ. แม้จักรรัตนะนั้นก็เวียนรอบพระนครไปจนสุดกำแพงทีเดียวเจ็ดรอบ เหมือนหนึ่งจะประกาศให้คนทั่วไปรู้ข้อที่คนลอยมา เพื่อเป็นสมบัติของพระราชาพระองค์เดียว กระทำประทักษิณภายในพระราชวังของพระราชาแล้ว ประดิษฐานอยู่ในที่คล้ายสีหบัญชรด้านทิศอุดรของพระราชวัง เหมือนถูกไม้สลักขัดไว้ เพื่อให้มหาชนบูชาด้วยเครื่องสักการะมีของหอมและดอกไม้เป็นต้นได้โดยสะดวก.
               ก็เมื่อทิพยจักรรัตนะนั้นตั้งอยู่ด้วยประการฉะนี้แล้ว พระราชาธิบดีเห็นกองรัศมี มีพระทัยปรารถนาที่จะทอดพระเนตรชมจักรแก้วที่เข้าไปทางช่องแห่งสีหบัญชร กระทำให้ภายในปราสาทรุ่งเรืองด้วยรัศมีแก้ว ก่อให้เกิดความยินดีมีประการต่างๆ แม้หมู่ชนที่ห้อมล้อมก็พากันกราบทูลมูลเหตุแห่งจักรรัตนะนั้น ด้วยถ้อยคำล้วนแต่น่ารัก กาลนั้น พระราชาธิบดีมีพระวรกายท่วมล้นไปด้วยปิติปราโมทย์อย่างแรงกล้า มีพระอุตสาหะละเสียซึ่งบัลลังก์ ทรงอุฏฐานการจากอาสนะ เสด็จไปสู่ที่ใกล้สีหบัญชร ทอดพระเนตรเห็นจักรแก้วแล้ว จึงทรงจินตนาการว่า ก็เราได้ยินคำโบราณท่านเล่ามาว่า ฯลฯ ดังนี้เป็นอาทิ. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้วจึงทรงมีพระดำริว่า ฯลฯ เราพึงได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิแน่นอนดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส โหติ ราชา จกฺกวตฺติ ความว่า ถามว่า พระราชาย่อมเป็นพระเจ้าจักรพรรดิด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร.
               ตอบว่า ด้วยเหตุเพียงจักรรัตนะเหาะขึ้นสู่อากาศ เพียงองคุลีหนึ่งก็ได้ สององคุลีก็ได้.
               บัดนี้ เมื่อจะแสดงถึงข้อที่พระราชาพึงกระทำในวิธีปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ จึงตรัสคำมีอาทิว่า อถ โข ภิกฺขเว ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุฏฺฐายาสนา ได้แก่ ทรงลุกจากอาสนะที่ประทับนั่งเสด็จมาใกล้จักรรัตนะ.
               บทว่า สุวณฺณภิงฺคารํ คเหตฺวา ความว่า ทรงยกสุวรรณภิงคาร มีช่องคล้ายงวงช้าง ทรงจับเต้าน้ำด้วยพระหัตถ์ซ้าย (ทรงหลั่งรดจักรแก้วด้วยพระหัตถ์ขวา) รับสั่งว่า จงพัดผันไปเถิดจักรแก้วผู้เจริญ จงมีชัยชนะอย่างผู้ยิ่งใหญ่เถิดจักรแก้วผู้เจริญ.
               บทว่า อนฺวเทว ราชา จกฺกวตฺติ สทฺธึ จาตุรงฺคินิยา เสนาย ความว่า ก็ในขณะที่พระราชาทรงหลั่งน้ำ มุ่งความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิแล้วรับสั่งว่า จงมีชัยชนะอย่างผู้ยิ่งใหญ่เถิดจักรแก้วผู้เจริญนั่นแหละ จักรแก้วก็ลอยขึ้นสู่เวหาส พัดผันไป. พระราชานั้นย่อมได้ชื่อว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิตลอดเวลาที่จักรแก้วพัดผันไป. ก็เมื่อจักรแก้วพัดผันไปแล้ว พระราชาผู้กำลังติดตามจักรแก้วนั้นไปเรื่อยๆ ก็เสด็จขึ้นสู่ยานอันประเสริฐของพระเจ้าจักรพรรดิ เหาะขึ้นสู่เวหาสด้วยประการฉะนี้.
               ลำดับนั้น คนผู้เป็นบริวารและข้าราชการในราชสำนักของพระองค์ ต่างก็ถือฉัตรและจามรเป็นต้น ถัดจากนั้นไปก็ถึงกลุ่มอิสรชนจำเดิมแต่อุปราชเสนาบดี พรั่งพร้อมไปด้วยกำลังทัพของพระองค์ที่ตกแต่งเครื่องสนาม (ผูกสอด) มีเสื้อเกราะและเกราะ ๖ ประการเป็นต้น ประดับด้วยธงชัย ธงแผ่นผ้าที่ยกขึ้นโชติช่วงพร้อมไปด้วยแสงสีที่นำมาประดับหลายสิ่งหลายประการ ต่างเหาะขึ้นสู่เวหาสห้อมล้อมพระราชาเพียงผู้เดียว. ก็เพื่อจะสงเคราะห์ประชาชน พวกพนักงานของพระราชา จึงป่าวประกาศไปทั่วทุกถนนในพระนครว่า พ่อแม่ทั้งหลาย จักรแก้วเกิดแล้วแก่พระราชาของพวกเรา พวกท่านจงรีบจัดแจงแต่งตัวตามฐานานุรูปของตนๆ เร่งมาประชุมกันเถิด.
               ก็มหาชนต่างละการงานทุกอย่างที่ต้องทำตามปกติ ถือเครื่องสักการะมีของหอมและดอกไม้เป็นต้นประชุมกันแล้ว ตามเสียงแห่งจักรแก้วนั่นแหละ แม้มหาชนทั้งหมดนั้นก็เหาะขึ้นสู่เวหาส แวดล้อมพระราชาพระองค์เดียว คือผู้ใดประสงค์จะเดินทางร่วมไปกับพระราชา ผู้นั้นก็ไปทางอากาศ ด้วยประการฉะนี้ จึงมีบริษัทมาประชุมกันทั้งด้านยาว ด้านกว้างประมาณ ๑๒ โยชน์ ในบริษัทนั้นไม่มีแม้แต่คนเดียวที่จะมีอวัยวะพิกลพิการหรือนุ่งห่มเศร้าหมอง พระราชาจึงมีบริวารที่สะอาด.
               ธรรมดาบริษัทของพระเจ้าจักรพรรดิเดินทางไปทางอากาศ เหมือนบริษัทของวิทยาธร ย่อมเป็นเช่นกับรัตนะที่เกลื่อนกล่นอยู่บนพื้นแก้วอินทนิล เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจาตุรงคินีเสนา ก็เสด็จตามไป.
               แม้จักรรัตนะนั้นก็พัดผันไป โดยอากาศประเทศไม่สูงเกินไป อยู่ในระดับยอดไม้ สามารถให้คนหมายรู้ได้ว่า นั่นพระราชา นั่นอุปราช นั่นเสนาบดี อุปมาเหมือนคนที่ต้องการดอกไม้ ผลไม้หรือใบไม้ ยืนอยู่ที่พื้นดิน ก็สามารถจะเก็บเอาสิ่งของเหล่านั้นได้โดยสะดวก. ผู้ใดประสงค์จะไปในอิริยาบถใดมียืนเป็นต้น ผู้นั้นก็ไปได้โดยอิริยาบถนั้น. ส่วนผู้ที่จะสนใจในศิลปะมีจิตรกรรมเป็นต้น ต่างก็ดำเนินธุรกิจของตนๆ ไปได้ในอากาศนั้น. ที่พื้นดินเคยดำเนินธุรกิจอย่างใด ในอากาศก็สามารถดำเนินธุรกิจทุกอย่างได้ฉันนั้น จักรรัตนะนั้นพาบริษัทของพระเจ้าจักรพรรดิ เลาะลัดเขาสิเนรุราชไปทางด้านซ้ายผ่านพื้นมหาสมุทรไปจนถึงกรุงบุพวิเทหะ ประมาณได้ ๘,๐๐๐ โยชน์.
               จักรรัตนะนั้นประดิษฐานอยู่บนอากาศ เหมือนถูกลิ่มสลักไว้เบื้องบนภูมิภาคที่เหมาะแก่การชุมนุมของบริษัทกว้าง ๑๒ โยชน์ วัดโดยรอบได้ ๓๖ โยชน์ หาอุปกรณ์ทำอาหารได้สะดวก สมบูรณ์ด้วยร่มเงาและน้ำมีพื้นที่สะอาดราบเรียบน่ารื่นรมย์. กาลนั้น มหาชนลงแล้วโดยสัญญาณนั้นทำกิจทุกอย่าง เช่นอาบน้ำ บริโภคอาหารเป็นต้น อยู่กันตามใจชอบ. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่าจักรแก้วประดิษฐานอยู่ ณ ประเทศใด พระเจ้าจักรพรรดิก็เสด็จเข้าประทับ ณ ประเทศนั้น พร้อมด้วยจาตุรงคินีเสนา.
               ก็เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิเสด็จเข้าไปประทับอยู่อย่างนี้ พระราชาในประเทศนั้นๆ พอได้สดับว่าจักรมาแล้ว ก็สั่งประชุมพลนิกายไม่เตรียมรบ ก็ในระหว่างที่จักรรัตนะเกิดขึ้นแล้วนั้นแล ไม่มีผู้ใดจะกล้าหยิบอาวุธขึ้นต่อสู้พระราชาโดยหมายเป็นข้าศึก.
               นี่เป็นอานุภาพของจักรรัตนะ.
                         ก็ด้วยอานุภาพของจักร อริราชศัตรูของพระราชา
                         พระองค์นั้น ย่อมถึงความสงบไปโดยไม่เหลือ
                         ด้วยเหตุนั้นเอง จักรของพระราชาธิบดีพระองค์นั้น
                         จึงเรียกว่า อรินทมะ.
               เพราะฉะนั้น พระราชาเหล่านั้นทุกๆ พระองค์ต่างก็ถือเอาสมบัติที่สมควรแก่สิริราชสมบัติของตนๆ น้อมเศียรสยบองค์พระเจ้าจักรพรรดิ กระทำการบูชาพระบาทของพระองค์ ด้วยวิธีปราบดาภิเษกด้วยแสงสว่างแห่งแก้วมณีที่พระโมฬีของตน ถึงการยอมจำนนด้วยกล่าวคำเป็นต้นว่า เชิญเสด็จเถิด มหาราช ดังนี้.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ประดาพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออก เข้ามาเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แล้วทูลอย่างนี้ว่า เชิญเสด็จเถิดมหาราช พระองค์มาดีแล้ว มหาราช แผ่นดินนี้เป็นของพระองค์ ขอพระองค์จงทรงปกครองเถิด ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สฺวาคตํ แปลว่า เสด็จมาดี.
               มีอธิบายว่า เมื่อพระราชาพวกหนึ่งเสด็จมา ชาวประชาโศกเศร้า เมื่อเสด็จไปชาวประชาชื่นชม เมื่อพระราชาบางพระองค์เสด็จมา ชาวประชาชื่นชม เมื่อเสด็จไป ชาวประชาโศกเศร้า พระองค์เป็นเสมือนพระราชาประเภทหลัง คือเมื่อเวลาเสด็จมา ชาวประชาชื่นชม เวลาเสด็จไป ประชาชนโศกเศร้า เพราะฉะนั้น การเสด็จมาของพระองค์จึงชื่อว่า เสด็จมาดี.
               ก็เมื่อพวกเจ้าประเทศราชกราบทูลเช่นนี้แล้ว แม้พระเจ้าจักรพรรดิก็มิได้ตรัสว่า พวกท่านต้องส่งบรรณาการแก่เราตลอดเวลาเท่านี้ปี ทั้งไม่ทรงริบสมบัติของคนหนึ่งๆ ไปให้อีกคนหนึ่ง แต่ทรงเข้าไปกำหนดอกุศลกรรมบถมีปาณาติบาตเป็นต้นด้วยปัญญาอันสมควรแก่ภาวะที่พระองค์เป็นธรรมราชา ทรงแสดงธรรมด้วยพระสุระเสียงอันน่ารักน่าชอบใจ โดยนัยเป็นต้นว่า ขึ้นชื่อว่าปาณาติบาตนี้ ใครซ่องเสพ เจริญทำให้มาก ย่อมเป็นไปเพื่อนรก แล้วประกาศพระโอวาทมีอาทิว่า ไม่ควรฆ่าสัตว์ ดังนี้.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระเจ้าจักรพรรดิตรัสสั่งอย่างนี้ว่า ท่านทุกคนไม่ควรฆ่าสัตว์ ฯลฯ ท่านทั้งหลายจงครอบครองบ้านเมืองตามที่เห็นควรเถิดดังนี้.
               ถามว่า ก็พระราชาทุกพระองค์ยอมรับโอวาทนี้ของพระราชาธิบดีหรือ.
               ตอบว่า พระราชาทุกพระองค์ไม่รับโอวาทนี้ของพระพุทธองค์มาก่อน จักรับโอวาทของพระราชาอย่างไรได้ เพราะฉะนั้น พระราชาเหล่าใดเป็นผู้ฉลาดปราดเปรื่อง พระราชาเหล่านั้นยอมรับ และเมื่อพระราชาทุกพระองค์ประพฤติตามย่อมเจริญ.
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำมีอาทิว่า เย โข ปน ภิกฺขเว ดังนี้.
               ครั้นพระเจ้าจักรพรรดิพระราชทานพระโอวาทแก่ชาวเมืองบุพวิเทหะอย่างนี้ เสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว จักรรัตนะนั้นก็ทะยานขึ้นสู่เวหาสด้วยพลังของพระเจ้าจักรพรรดิ หยั่งลงสู่สมุทรด้านทิศบูรพา. จักรรัตนะหยั่งลงด้วยประการใดๆ ลงสู่พื้นมหาสมุทรประมาณโยชน์หนึ่ง ความกระจายของคลื่นลดลงเหมือนพญานาคสูดกลิ่นยาแล้วพังพานหด ตั้งอยู่เหมือนฝาแก้วไพฑูรย์ในมหาสมุทรด้วยประการนั้นๆ.
               ก็ในขณะนั้นเอง รัตนะต่างๆ ที่เกลื่อนกล่นอยู่ในพื้นมหาสมุทรก็มาจากมหาสมุทรนั้น ทับถมจนเต็มประเทศนั้น ดุจจะเชิญชวนให้ชื่นชมมิ่งขวัญคือบุญของพระราชาธิบดีพระองค์นั้น. ครั้นพระราชาและราชบุรุษเห็นพื้นมหาสมุทรเต็มไปด้วยรัตนะมีประการต่างๆ นั้น จึงต่างถือเอาเข้าพกเข้าห่อตามชอบใจ ก็เมื่อบริษัทถือเอารัตนะตามชอบใจ จักรรัตนะนั้นก็หมุนกลับ และเมื่อจักรรัตนะนั้นหมุนกลับ บริษัทจึงอยู่ข้างหน้า พระราชาอยู่ท่ามกลาง จักรรัตนะอยู่ในที่สุด แม้น้ำทะเลนั้นเป็นเสมือนถูกรัศมีแห่งจักรรัตนะล่อไว้ (กันไว้) และเป็นเสมือนไม่อาจจะทนอยู่ได้ จึงแยกออกจากจักรรัตนะนั้น และซัดเข้ามาฟาดขอบวงจักรรัตนะอยู่ไม่ขาดสาย.
               พระเจ้าจักรพรรดิ ครั้นทรงมีชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ต่อบุพวิเทหทวีปที่มีมหาสมุทรด้านทิศตะวันออกเป็นขอบเขต ทรงมีพระประสงค์จะได้ชัยชนะชมพูทวีปอันมีมหาสมุทรด้านทิศใต้เป็นขอบเขต จึงบ่ายพระพักตร์ไปสู่สมุทรด้านทิศทักษิณ โดยมรรคาที่จักรรัตนะสำแดงแล้ว.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล จักรรัตนะนั้นได้พัดผันไปจดสมุทรด้านทิศตะวันออก แล้วกลับพัดผันไปด้านทิศใต้.
               ก็วิธีหมุนกลับของจักรรัตนะนั้นที่พัดผันไปอย่างนี้ การชุมนุมของหมู่เสนา การเสด็จไปของพระเจ้าประเทศราช การมอบอนุศาสน์แก่เจ้าประเทศราชเหล่านั้น การหยั่งลงสู่สมุทรด้านทิศทักษิณ การถือเอารัตนะที่ไหลมาตามสายน้ำแห่งสมุทรเหล่านี้ทั้งหมด บัณฑิตพึงทราบโดยนัยก่อนนั่นแหละ.
               ก็จักรรัตนะนั้นครั้นมีชัยชนะแล้ว ก็พัดผันข้ามสมุทรด้านทักษิณ มุ่งชมพูทวีปมีเนื้อที่ประมาณแสนโยชน์ แล้วหมุนไปโดยนัยดังกล่าวแล้วในก่อนนั่นแหละ เพื่อพิชิตอมรโคยานทวีป ครั้นมีชัยชนะอมรโคยานทวีป ซึ่งมีสมุทรเป็นขอบเขตนั้น โดยทำนองนั้นแหละ ก็พัดผันข้ามสมุทรด้านทิศปัจฉิมไปโดยวิธีนั้นแหละ เพื่อพิชิตอุตตรกุรุทวีป ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ ๘,๐๐๐ โยชน์ ครั้นมีชัยชนะอุตตรกุรุทวีปแม้นั้น ซึ่งมีสมุทรเป็นขอบเขตด้วยวิธีอย่างเดียวกัน ก็พัดผันข้ามมาจากสมุทรด้านทิศอุดร. พระเจ้าจักรพรรดิทรงบรรลุความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดินมีสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ด้วยประการดังพรรณนามานี้.
               พระเจ้าจักรพรรดินั้นมีชัยชนะเด็ดขาดเช่นนี้แล้ว เพื่อจะทรงทอดพระเนตรสิริราชสมบัติของพระองค์ จึงทรงพร้อมด้วยบริษัทเหาะขึ้นสู่พื้นนภากาศชั้นบน ตรวจดูทวีปใหญ่ทั้ง ๔ มีทวีปน้อยๆ ทวีปละ ๕๐๐ เป็นบริวาร ดุจชาตสระทั้ง ๔ ที่งามไปด้วยหมู่ไม้ต่างๆ เช่นปทุม อุบลและบุณฑริกที่แย้มดอกบานสล้างฉะนั้น แล้วเสด็จกลับราชธานีเดิมของพระองค์ตามลำดับ โดยมรรคาที่แสดงไว้แล้วในจักกุทเทสนั่นแล.
               ครั้งนั้น จักรรัตนะนั้นประดิษฐานอยู่ เหมือนเป็นเครื่องเสริมความงามให้ประตูพระราชวัง ก็เมื่อจักรรัตนะนั้นประดิษฐานอยู่เช่นนี้ กิจที่จะพึงกระทำเกี่ยวกับคบเพลิงก็ดี การตามประทีปก็ดี ไม่จำต้องมีในพระราชวัง แสงสว่างแห่งจักรรัตนะนั้นแหละ กำจัดความมืดในยามราตรีได้ ส่วนคนเหล่าใดต้องการความมืด คนเหล่านั้นก็ได้ความมืด.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทกฺขิณสมุทฺทํ อชฺโฌคาเหตฺวา ฯเปฯ เอวรูปํ จกฺกรตนํ ปาตุภวติ ดังนี้.

               หตฺถิรตนวณฺณนา               
               ก็อำมาตย์ของพระเจ้าจักรพรรดิผู้มีจักรรัตนะปรากฏแล้วอย่างนี้ สั่งให้ทำความสะอาดภูมิภาคอันเป็นที่อยู่ของมงคลหัตถีโดยปกติ ให้ลูบไล้ด้วยของหอมที่ชวนดมมีจันทน์แดงเป็นต้น เบื้องล่างให้เกลื่อนกล่นไปด้วยโกสุมที่ชวนชมมีวรรณะอันวิจิตร เบื้องบนตบแต่งด้วยดาวทอง มีเพดานประดับไปด้วยพวงโกสุมน่าชื่นชมรวมอยู่เป็นกลุ่มในระหว่างดาวทอง แต่งให้งดงามดุจเทพวิมาน แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ขอพระองค์จงทรงจินตนาการถึงการมาของช้างแก้วชื่อเห็นปานนี้. ท้าวเธอบำเพ็ญมหาทาน สมาทานศีล ประทับนั่งรำพึงถึงบุญสมบัตินั้น โดยนัยดังกล่าวแล้วในก่อนนั่นแหละ.
               ลำดับนั้น ช้างตัวประเสริฐอันอานุภาพแห่งบุญของพระเจ้าจักรพรรดิตักเตือนแล้วประสงค์จะเสวยสักการะพิเศษนั้น จากตระกูลช้างฉัททันต์หรือจากตระกูลช้างอุโบสถ มีร่างเผือกผ่องบริสุทธิ์ ประดับด้วยผ้าคชาภรณ์สำหรับคลุมคอและหน้าสีแดงเข้มดุจดวงพระอาทิตย์อ่อนๆ มีที่ตั้งอวัยวะทั้ง ๗ ถูกลักษณะ คือมีอวัยวะน้อยใหญ่ตั้งถูกส่วนสัด มีปลายงวงแดงเหมือนปทุมทองสีแดงที่แย้มบาน สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ เหมือนพระโยคีผู้มีฤทธิ์ เป็นช้างประเสริฐที่สุดดุจภูเขาเงิน ที่มียอดฉาบด้วยจุณแห่งมโนศิลา ประดิษฐานอยู่ในประเทศนั้น.
               ช้างตัวประเสริฐนั้น เมื่อมาจากตระกูลช้างฉัททันต์ ก็มาแต่ตัวยังเล็กกว่าช้างทั้งปวง เมื่อมาจากตระกูลช้างอุโบสถ ก็มาอย่างช้างผู้ประเสริฐกว่าช้างทั้งปวง แต่ในพระบาลีระบุว่า มาในลักษณะพญาช้างชื่ออุโบสถ.
               เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิผู้บำเพ็ญวัตรของพระเจ้าจักรพรรดิสมบูรณ์แล้ว ทรงจินตนาการอยู่โดยนัยดังกล่าวแล้วในพระสูตรนั่นเอง. ช้างอุโบสถก็เดินมามิใช่มาเพื่อคนเหล่าอื่น ครั้นมาถึงโรงช้างมงคลหัตถีธรรมดาก็นำช้างมงคลหัตถีออก แล้วเข้าไปยืนแทนในโรงช้างนั้นด้วยตนเองทีเดียว.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก ฯลฯ เป็นช้างหลวงชื่ออุโบสถ.
               ก็ควาญช้างเป็นต้น เห็นหัตถิรัตนะนั้นปรากฏเช่นนั้นแล้ว ต่างรื่นเริงยินดี รีบไปกราบทูลให้พระราชาธิบดีทรงทราบโดยเร็ว ท้าวเธอเสด็จมาอย่างรีบด่วน ทอดพระเนตรเห็นแล้วมีพระราชหฤทัยโปรดปราน ทรงพระดำริว่าจะเป็นยานช้างที่เจริญหนอ พ่อมหาจำเริญ ถ้าสำเร็จการฝึกหัด แล้วทรงเหยียดพระหัตถ์ออก.
               ครั้งนั้น ช้างแก้วทำหูผึ่ง เหมือนลูกโคที่ติดแม่โคนมในเรือน เมื่อจะแสดงความที่ตนเป็นสัตว์กล้าหาญ จึงเข้าไปเฝ้าพระราชา. พระองค์มีประสงค์จะประทับทรงช้างแก้วนั้น. ครั้งนั้น บริวารชนทราบความประสงค์ของพระองค์แล้ว จึงแต่งช้างแก้วนั้นด้วยธงทอง เครื่องอลังการทองคลุมด้วยตาข่ายทองแล้วนำเข้าไปถวาย.
               พระราชาทรงทำช้างแก้วให้สงบ ขึ้นประทับโดยบันไดสำเร็จด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพระทัยมุ่งหมายจะเสด็จไปทางอากาศ พร้อมกับที่พระราชาธิบดีทรงดำรินั่นแหละ พญาช้างนั้นก็ทะยานขึ้นสู่พื้นนภากาศสีเขียวครามด้วยข่ายทอง รุ้งด้วยแสงแห่งแก้วอินทนิลและแก้วมณี ดุจพญาหงส์.
               แต่นั้น บริษัทของพระราชาทั้งหมดก็ติดตามไป โดยนัยดังกล่าวแล้วในการท่องเที่ยวไปของจักร. พระราชาพร้อมด้วยบริษัท เสด็จท่องเที่ยวไปทั่วพื้นปฐพีทั้งสิ้น แล้วเสด็จกลับถึงราชธานีทันเวลาเสวยพระกระยาหารเช้า. ช้างแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ มีฤทธิ์มากอย่างนี้
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ทิสฺวา ฯเปฯ ปาตุรโหสิ ดังนี้.

               อสฺสรตนวณฺณนา               
               บริษัทของพระเจ้าจักรพรรดิผู้มีหัตถิรัตนะปรากฏแล้วเช่นนี้ แล้วช่วยกันแผ้วถางโรงม้ามงคลให้สะอาด มีพื้นราบเรียบ ประดับประดาแล้ว กราบทูลเตือนพระราชา ให้มีพระอุตสาหะ จินตนาการถึงการมาของอัสสรัตนะนั้น ท้าวเธอทรงบำเพ็ญทานสักการะ สมาทานศีล ประทับนั่งบนพื้นปราสาทชั้นบน ทรงน้อมระลึกถึงบุญสมบัติโดยนัยก่อนนั่นแหละ.
               ครั้งนั้น พญาม้าชื่อพลาหกอันอานุภาพแห่งบุญของพระเจ้าจักรพรรดินั้นตักเตือนแล้ว มีความสง่างามสีหมอกเหมือนกลุ่มวลาหกขาวในสรทกาลอันคาดด้วยสายฟ้า มีเท้าแดง ปากแดง มีร่างประกอบด้วยข้อลำล้วนสนิทแนบเนียน เหมือนกลุ่มแสงดวงจันทร์ มีศีรษะคล้ายศีรษะกา เพราะประกอบด้วยศีรษะมีสีดำ เหมือนคอกาและเหมือนมณีแกมแก้วอินทนิล มีเส้นผมสลวยเหมือนหญ้าปล้อง เพราะประกอบไปด้วยเส้นผมที่มีปอยละเอียดเหยียดตรงคล้ายกับหญ้าปล้องที่เขาบรรจงวางเรียงไว้ เหาะไปในอากาศได้ มาจากตระกูลม้าสินธพ ประดิษฐานอยู่ในที่นั้น คำที่เหลือทุกอย่างพึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วในหัตถิรัตนะนั้นแล. ทรงหมายเอาอัสสรัตนะเห็นปานนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำมีอาทิว่า ปุน จปรํ ดังนี้.

               มณิรตนวณฺณนา               
               เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิมีรัตนะปรากฏเช่นนี้ ก็มีมณีรัตนะลอยมาจากภูเขาเวบุลบรรพตยาวประมาณ ๔ ศอกมีสัณฐานประมาณขนาดดุมเกวียน ที่สุดสองข้างล้อมไปด้วยกรรณิกา ประดับด้วยประทุมทองสองข้าง มีกลุ่มมุกดาสะอาดบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน เป็นดุจดวงจันทร์วันเพ็ญที่แวดล้อมไปด้วยดวงดาวน้อยใหญ่ทอแสงแผ่รัศมีไปฉะนั้น.
               เมื่อแก้วมณีนั้นลอยมาอย่างนี้แล้ว เขาก็ใช้ไม้ไผ่ต่อๆ กัน ยกขึ้นสู่อากาศสูงประมาณ ๖๐ ศอก โดยเว้นข่ายแห่งแก้วมุกดาไว้ ในกลางคืนจะมีแสงแผ่ไปทั่วบริเวณประมาณโยชน์หนึ่งโดยรอบ มณีรัตนะที่ให้เกิดแสงสว่างทั่วบริเวณทั้งหมด ดุจแสงสว่างในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น นั้นเป็นผลให้ชาวนาประกอบกสิกรรมได้ พ่อค้าพาณิชติดต่อซื้อขายกันได้ในท้องตลาด ผู้ที่ถนัดอาชีพแต่ละสาขา ต่างสำคัญว่าเป็นกลางวัน ดำเนินธุรกิจการงานของตนได้ตามหน้าที่.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ฯลฯ มณีรัตนะ ย่อมปรากฏดังนี้.

               อิตฺถิรตนวณฺณนา               
               อิตถีรัตนะอันเป็นเหตุให้เกิดความสุขพิเศษตามเพศวิสัย ย่อมบังเกิดแก่พระเจ้าจักรพรรดิผู้มีมณีรัตนะปรากฏแล้วเช่นนี้. ก็ชาวประชาย่อมนำอัครมเหสีมาแต่ตระกูลมัททราช ถวายองค์พระเจ้าจักรพรรดิบ้าง อัครมเหสีเสด็จมาเองจากอุตตรกุรุทวีปด้วยบุญญานุภาพบ้าง.
               ก็คุณสมบัติที่เหลือของอัครมเหสีนั้น มีมาแล้วในพระบาลีทั้งหมดโดยนัยเป็นต้นว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก นางแก้วรูปงาม น่าดู ย่อมปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิดังนี้.
               ในบทที่มาในพระบาลีเหล่านั้น มีวินิจฉัยดังนี้
               ที่ชื่อว่าอภิรูปา เพราะมีรูปงาม โดยสมบูรณ์ด้วยทรวดทรง. ก็เมื่อจะมองดูก็อิ่มตา (มองได้เต็มตา) เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าทัสสนียา เพราะต้องพักกิจอย่างอื่นไว้แล้วเหลียวมามอง. และชื่อว่า ปาสาทิกา เพราะเมื่อมองก็ทำให้มีจิตชื่นชมโสมนัส.
               บทว่า ปรมาย ความว่า ชื่อว่าสูงสุด เพราะนำความเลื่อมใสมาให้อย่างนี้.
               บทว่า วณฺณโปกฺขรตาย แปลว่า มีผิวพรรณงาม.
               บทว่า สมนฺนาคตา แปลว่า เข้าถึง.
               อีกประการหนึ่ง ชื่อว่ามีรูปงาม เพราะไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก ชื่อว่าน่าดู เพราะไม่ผอมนัก ไม่อ้วนนัก ชื่อว่าน่าเลื่อมใส เพราะไม่ดำนัก ไม่ขาวนัก ชื่อว่าประกอบด้วยความงามแห่งผิวพรรณอย่างยิ่ง เพราะล่วงผิวพรรณของมนุษย์ แต่ยังไม่ถึงขั้นผิวพรรณทิพย์.
               ความจริง ผิวพรรณของมนุษย์ทั้งหลายยังไม่มีแสงสว่างสร้านไปภายนอก ส่วนผิวพรรณของเทวดาสร้านออกไปได้ไกลมาก. แต่แสงสว่างแห่งเรือนร่างของนางแก้วนั้น สว่างไปทั่วบริเวณประมาณ ๑๒ ศอก ก็ในบรรดาคุณสมบัติมีความเป็นผู้ไม่สูงนักเป็นต้น ท่านกล่าวอาโรหสมบัติไว้ด้วยคุณสมบัติคู่แรก กล่าวปริณาหสมบัติไว้ด้วยคุณสมบัติคู่ที่สอง กล่าววรรณสมบัติไว้ด้วยคุณสมบัติคู่ที่สาม.
               อีกประการหนึ่ง ด้วยคุณสมบัติ ๖ ประการเหล่านี้ อัครมเหสีไม่มีความบกพร่องทางกายเลย.
               กายสมบัติ ตรัสไว้ด้วยบทนี้ว่า อติกฺกนฺตา มนุสฺสวณฺณํ.
               บทว่า ตูลปิจุโน วา กปฺปาสปิจุโน วา ความว่า มีสัมผัสทางกายปานประหนึ่งสัมผัสปุยนุ่น หรือปุยฝ้ายที่เขาใส่ไว้ในเนยใสแล้วสลัดทิ้งตั้ง ๑๐๐ ครั้ง.
               บทว่า สีเต ได้แก่ ในคราวที่พระราชาธิบดีหนาว.
               บทว่า อุณฺเห ได้แก่ ในคราวที่พระราชาธิบดีร้อน.
               บทว่า จนฺทนคนฺโธ ความว่า กลิ่นจันทน์ที่เขาบดอยู่ตลอดเวลา (จนละเอียด) ใหม่เอี่ยมนำมาเคล้ากับชาติทั้ง ๔ ย่อมฟุ้งออกจากกาย.
               บทว่า อุปฺปลคนฺโธ ความว่า กลิ่นที่หอมอบอวลของนีลอุบลที่เขาเด็ดดอกในขณะนั้น ย่อมหอมฟุ้งออกจากปากในเวลาแย้มสรวลหรือเจรจา. ก็เพื่อจะแสดงถึงมรรยาทอันสมควรแก่สรีรสมบัติของนางแก้ว เพราะประกอบด้วยคันธสมบัติเห็นปานนี้ จึงตรัสคำมีอาทิว่า ตํ โข ปน ดังนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทเหล่านั้น ดังนี้
               ที่ชื่อว่า ปุพฺพุฏฺฐายินี (ตื่นก่อน) เพราะจะต้องลุกขึ้นก่อนทีเดียว ดุจระแวงว่าพระราชาทรงเห็นแล้ว จะกริ้วดังไฟไหม้ แต่ราชอาสน์. ชื่อว่า ปจฺฉานิปาตินี (นอนที่หลัง) เพราะเมื่อพระราชาประทับนั่ง จะต้องอยู่เวรถวายงานพัดสมเด็จพระราชาธิบดีก่อนแล้ว จึงจะนอนหรือพักได้ในภายหลัง. ที่ชื่อว่า กึการปฏิสฺสาวินี (คอยฟังบรรหารคำรับสั่ง) เพราะจะต้องรับสนองพระโอฐด้วยวาจาว่า ขอเดชะ หม่อมฉันจะต้องทำอะไร. ที่ชื่อว่า มนาปจารินี (ประพฤติถูกพระทัย) เพราะจะต้องประพฤติ คือกระทำให้ถูกพระทัยพระราชา. ที่ชื่อว่า ปิยวาทินี (ทูลปราศัยเป็นที่โปรดปราน) เพราะพระราชาโปรดอย่างใด จะต้องทูลอย่างนั้น.
               บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงว่า นางแก้วนั้นต้องมีอาจาระบริสุทธิ์ผุดผ่องโดยถ่ายเดียว ไม่มีมายาสาไถย จึงตรัสคำมีอาทิว่า ตํ โข ปน ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โน อติจรติ ได้แก่ ไม่ประพฤตินอกใจ.
               อธิบายว่า ไม่ปรารถนาชายอื่นแม้ด้วยใจ.
               ในบรรดาคุณสมบัติเหล่านั้น คุณสมบัติเหล่าใดที่ตรัสไว้ในตอนต้นว่า ต้องมีรูปงามเป็นต้นก็ดี ที่ตรัสไว้ในตอนท้ายว่า ต้องลุกก่อนเป็นต้นก็ดี คุณสมบัติเหล่านั้น ตรัสว่าเป็นคุณสมบัติธรรมดาเท่านั้น.
               ก็บทเป็นต้นว่า อติกฺกนฺตา มนุสฺสานํ พึงทราบว่า พระเจ้าจักรพรรดิทั้งหลายย่อมบังเกิดด้วยอานุภาพแห่งกรรมเก่า นับแต่จักรรัตนะปรากฏ เพราะต้องอาศัยบุญบารมี.
               อีกประการหนึ่ง จำเดิมแต่จักรรัตนะปรากฏ แม้ความเป็นผู้มีรูปงามเป็นต้นบังเกิดบริบูรณ์ไปทุกสิ่งทุกอย่าง.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อิตถีรัตนะเห็นปานนี้ ย่อมบังเกิด ดังนี้.

               คหปติรตนวณฺณนา               
               คหบดีรัตนะย่อมปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิผู้มีอิตถีรัตนะปรากฏแล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกเกี่ยวกับกิจการด้านท้องพระคลังตามพระราชอัธยาศัย ผู้ที่มีโภคะมากตามปกติก็ดี ผู้ที่เกิดในตระกูลมีโภคะมากก็ดี มีส่วนช่วยให้กิจการท้องพระคลังของพระราชาเจริญรุ่งเรือง จึงจะเป็นเศรษฐีคฤหบดีได้.
               ก็จักษุเพียงดังทิพย์เกิดแต่วิบากกรรมพร้อมที่จะอำนวยประโยชน์ ย่อมปรากฏแก่คฤหบดีแก้วนั้นทีเดียว เป็นเหตุให้มองเห็นทรัพย์ภายในแผ่นดินได้ในรัศมี ๑ โยชน์ เขาเห็นสมบัตินั้นแล้วดีใจ ไปเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ รับอาสาทำหน้าที่การคลังให้พระราชา ดำเนินธุรกิจการคลังทุกอย่างให้สมบูรณ์.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ฯลฯ คหบดีรัตนะเห็นปานนี้ ย่อมปรากฏดังนี้.

               ปริณายกรตนวณฺณนา               
               ก็ปริณายกรัตนะสามารถจัดแจงกิจการทุกสิ่งทุกอย่างให้สำเร็จ ย่อมปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิผู้มีคฤหบดีแก้วปรากฏแล้วพระองค์นั้น ด้วยประการฉะนี้. ปริณายกนั้นย่อมเป็นเสมือนราชบุตรคนโตของพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นบัณฑิตฉลาด มีปัญญาโดยปกติทีเดียว.
               ก็ปรจิตตญาณ (ญาณกำหนดรู้ใจคนอื่น) ย่อมบังเกิดแก่ปริณายกรัตนะนั้นด้วยอานุภาพแห่งกรรมของตนเอง เพราะอาศัยบุญญานุภาพของพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นเหตุให้สามารถรู้วาระจิตของข้าราชบริพารได้ประมาณ ๑๒ โยชน์ แล้วกำหนดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับพระราชาได้. แม้ปริณายกนั้นเห็นอานุภาพของตนนั้นแล้วดีใจ รับอาสาพระราชา โดยสั่งการแทนในกิจการทุกอย่าง.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ปริณายกรัตนะย่อมปรากฏ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฐเปตพฺพํ ฐเปตุํ ได้แก่ เพื่อทรงแต่งตั้งผู้ที่ควรแต่งตั้งในตำแหน่งนั้นๆ.
               บทว่า สมเวปากินิยา เป็นต้น ท่านกล่าวไว้แล้วในหนหลังแล.
               บทว่า กฏคฺคาเหน แปลว่า เพราะฉวยเอาชัยชนะไว้ได้.
               บทว่า มหนฺตโภคกฺขนฺธํ ความว่า จะพึงได้เงินสองหรือสามแสนด้วยการฉวยเอาชัยชนะได้ครั้งเดียวเท่านั้น.
               บทว่า เกวลา ปริปูรา ปณฺฑิตภูมิ ความว่า บัณฑิตบำเพ็ญสุจริตสามย่อมบังเกิดในสวรรค์. จากนั้น เมื่อมาสู่มนุษยโลก ย่อมบังเกิดในที่ซึ่งมีความสมบูรณ์ด้วยตระกูล รูปและโภคะ เขาตั้งอยู่ในสมบัตินั้นแล้ว บำเพ็ญสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ ย่อมได้ไปบังเกิดในสวรรค์อีก.
               ตามที่พรรณนามานี้ จึงจัดได้ว่าเป็นภูมิของบัณฑิตอย่างครบถ้วนบริบูรณ์.
               บทที่เหลือในที่ทั้งปวงง่ายทั้งนั้น ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาพาลบัณฑิตสูตรที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค พาลบัณฑิตสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 439อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 467อ่านอรรถกถา 14 / 504อ่านอรรถกถา 14 / 853
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=6312&Z=6749
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=3876
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=3876
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :