ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 617อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 638อ่านอรรถกถา 14 / 653อ่านอรรถกถา 14 / 853
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค
อุทเทสวิภังคสูตร

               ๘. อรรถกถาอุทเทสวิภังคสูตร               
               อุทเทสวิภังคสูตร เริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทฺเทสวิภงฺคํ ได้แก่ อุเทศและวิภังค์. อธิบายว่า มาติกาและการจำแนก. บทว่า อุปปริกฺเขยฺย ความว่า พึงเทียบเคียง พึงพิจารณา พึงถือเอา พึงกำหนด.
               บทว่า พหิทฺธา ได้แก่ ในอารมณ์ภายนอกทั้งหลาย.
               บทว่า อวิกฺขิตฺตํ อวิสฎํ ความว่า ความตั้งมั่นในอารมณ์ ด้วยอำนาจความใคร่ ฟุ้งไป ชื่อว่าซ่านไป. เมื่อทรงปฏิเสธความรู้สึกซ่านไปนั้น จึงตรัสอย่างนี้.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ อสณฺฐิตํ ความว่า ไม่ตั้งสงบอยู่ด้วยอำนาจแห่งความใคร่ในอารมณ์ภายใน.
               บทว่า อนุปาทาย น ปริตสฺเสยฺย มีอธิบายว่า ความรู้สึกนั้นไม่สะดุ้ง เพราะไม่ถือมั่น คือไม่ถือเอาความรู้สึก ไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่สงบอยู่ในภายใน ไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่นฉันใด ภิกษุพึงพิจารณาฉันนั้น.
               บทว่า ชาติชรา มรณทุกฺขสมุทยสมฺภโว ความว่า ย่อมไม่มีความเกิดแห่งชาติ ชรา มรณะและทุกข์ที่เหลือ. บทว่า รูปนิมิตฺตานุสารี ได้แก่ ชื่อว่าแล่นไปตามนิมิต คือรูป เพราะอรรถว่าแล่นไป วิ่งไป ตามนิมิตคือรูป.
               บทว่า เอวํ โข อาวุโส อชฺฌตฺตํ จิตฺตํ อสณฺฐิตํ ความว่า ไม่สงบอยู่ด้วยอำนาจแห่งความใคร่. ก็จิตไม่ตั้งมั่นอยู่ด้วยอำนาจแห่งความใคร่ย่อมไม่เป็นส่วนในการละ แต่เป็นส่วนในคุณวิเศษอย่างเดียว.
               บทว่า อนุปาทาปริตสุสนา ความว่า พระศาสดาทรงแสดงความสะดุ้งเพราะยึดถือ และความไม่สะดุ้ง เพราะไม่ยึดถือ ในขันติยวรรคอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความสะดุ้งเพราะถือมั่น และความไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น.
               พระมหาเถระ เมื่อจะแสดงความสะดุ้งนั้น ทำความสะดุ้งเพราะความถือมั่น ให้เป็นความสะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ก็ความสะดุ้งเพราะไม่ถือมั่นเป็นอย่างไร. เพราะไม่มีสังขารที่พึงถือมั่น ก็ผิว่า สังขารไรๆ เป็นของเที่ยงหรือมั่นคงไซร้ ก็จักเป็นของควรยึดถือว่า เป็นตนหรือเนื่องกับตน. ความสะดุ้งนี้เป็นความสะดุ้งเพราะตามถือมั่น. ก็เพราะธรรมดาสังขารที่ควรถือมั่นอย่างนี้ ไม่มี เพราะฉะนั้น สังขารทั้งหลายแม้มีใจครองมีรูปเป็นต้น โดยนัยมีอาทิว่า รูป อัตตา ก็เป็นของไม่ควรถือมั่นแท้. ความสะดุ้งนั้น แม้เป็นความสะดุ้งเพราะถือมั่นอย่างนี้เทียว โดยเนื้อความพึงทราบว่า เป็นความสะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น.
               บทว่า อญฺญถา โหติ ความว่า รูปแปรปรวนไป. แต่ก็พินาศไป เพราะการละปกติ.
               บทว่า รูปวิปริณามานุปริวตฺติ ความว่า กรรมวิญญาณย่อมแปรปรวนไปตามความแตกสลายของรูปโดยนัยมีอาทิว่า รูปของเราแปรปรวนไปแล้ว หรือว่า รูปใดมีอยู่ รูปนั้นแลของเราไม่มี ดังนี้.
               บทว่า วิปริณามานุปริวตฺตชา ความว่า อันเกิดแต่ความแปรปรวนไปตามความแปรปรวน คือแต่จิตซึ่งมีอารมณ์มีความแปรปรวน.
               บทว่า ปริตสฺสนา ธมฺมสมุปฺปาทา ได้แก่ ความสะดุ้งเพราะตัณหา และความเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรม.
               บทว่า จิตฺตํ ปริยาทาย ติฏฺฐนฺติ ความว่า ย่อมตั้งครอบงำ คือยึดถือ เหวี่ยงไป ซึ่งอกุศลจิต.
               บทว่า อุตฺตาสวา ความว่า เขามีความหวาดเสียว เพราะความสะดุ้งจากภัยบ้าง มีความหวาดเสียว เพราะความสะดุ้งจากตัณหาบ้าง.
               บทว่า วิฆาฏวา ได้แก่ มีความคับแค้น มีทุกข์.
               บทว่า อเปกฺขวา ได้แก่ มีอาลัย มีความห่วงใย.
               บทว่า เอวํ โข อาวุโส อนุปาทาปริตสฺสนา โหติ ความว่า ความสะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น ย่อมมีแก่เขาเหมือนถือผอบเปล่าด้วยสำคัญว่า ผอบแก้วมณีอย่างนี้ ครั้นเมื่อผอบนั้นพินาศแล้ว จึงถึงความคับแค้นในภายหลังฉะนั้น.
               บทว่า น รูปวิปริณามานุปริวตฺติ ความว่า กรรมวิญญาณของขีณาสพนั้นเทียว ย่อมไม่มี. เพราะฉะนั้น จึงสมควรเพื่อกล่าวว่า ความแปรปรวนไปตามความแตกสลายของรูปไม่มี ดังนี้.
               บทที่เหลือในที่ทั้งปวงง่ายทั้งนั้นแล.

               จบอรรถกถาอุทเทสวิภังคสูตรที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค อุทเทสวิภังคสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 617อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 638อ่านอรรถกถา 14 / 653อ่านอรรถกถา 14 / 853
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=8267&Z=8510
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=4952
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=4952
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :