ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 198อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 234อ่านอรรถกถา 14 / 247อ่านอรรถกถา 14 / 853
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อนุปทวรรค
พหุธาตุกสูตร

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               อันตรธาน ๓               
               เพราะชื่อว่า อันตรธานมี ๓ อย่าง คือ ปริยัติอันตรธาน ปฏิเวธอันตรธาน ปฏิบัติอันตรธาน. ในอันตรธาน ๓ นั้น ปิฏก ๓ ชื่อว่าปริยัติ. การแทงตลอดสัจจะ ชื่อว่าปฏิเวธ. ปฏิปทา (เครื่องดำเนิน) ชื่อว่าปฏิบัติ.
               ใน ๓ อย่างนั้น ปฏิเวธและปฏิบัติมีบ้าง ไม่มีบ้าง. เพราะภิกษุทั้งหลายผู้ทรงปฏิเวธ ย่อมมีมากในกาลครั้งเดียว เป็นอันชี้นิ้วแสดงได้ชัดเจนว่า ภิกษุนี้เป็นปุถุชน. ขึ้นชื่อว่า ภิกษุผู้เป็นปุถุชน ไม่ใช่จะมีได้ครั้งเดียวในทวีปนี้เท่านั้น. แม้ผู้บำเพ็ญการปฏิบัติทั้งหลาย บางคราวมีมาก บางคราวก็มีน้อย.
               ด้วยเหตุนี้ ปฏิเวธและปฏิบัติจึงชื่อว่ามีบ้าง ไม่มีบ้าง. แต่ว่าปริยัติ (ถือว่า) เป็นสำคัญของการดำรงอยู่แห่งพระศาสนา.
               พระผู้เป็นบัณฑิต ได้ศึกษาพระไตรปิฏกแล้ว ย่อมบำเพ็ญปฏิเวธและปฏิบัติให้บริบูรณ์. พระบรมโพธิสัตว์ของพวกเราทำอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๗ ให้เกิดในสำนักของอาฬารดาบส แล้วถามถึงบริกรรมเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ท่านอาฬารดาบสบอกว่าไม่รู้. ต่อแต่นั้น พระองค์จึงได้เสด็จไปยังสำนักของอุทกดาบส เทียบเคียงคุณพิเศษที่ได้บรรลุแล้ว (กับท่าน) ได้เรียนถามถึงการบริกรรมเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ท่านดาบสก็บอกให้. ในลำดับแห่งคำพูดของท่านดาบสนั่นเอง พระบรมโพธิสัตว์ก็ทำเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้นให้สำเร็จฉันใด ภิกษุผู้มีปัญญาก็ฉันนั้นเหมือนกัน ศึกษาปริยัติแล้วย่อมทำปฏิเวธและปฏิบัติ แม้ทั้งสองประการให้บริบูรณ์ได้. เพราะฉะนั้น เมื่อปริยัติยังดำรงอยู่ พระศาสนาย่อมเป็นอันตั้งอยู่.

               อธิบายปริยัติอันตรธาน               
               ก็เมื่อใดปริยัตินั้นอันตรธานหายไป เมื่อนั้นพระอภิธรรมจักเสื่อมก่อน. ในพระอภิธรรมนั้น คัมภีร์ปัฏฐานจะอันตรธานก่อนกว่าทุกคัมภีร์. คัมภีร์ธรรมสังคหะอันตรธานหายไปภายหลัง โดยลำดับ. เมื่อพระอภิธรรมปิฏกอันตรธานหายไปแล้ว แม้ปิฏกทั้งสองยังคงดำรงอยู่ พระศาสนาย่อมเป็นอันตั้งอยู่ได้.
               ในปิฏกเหล่านั้น เมื่อพระสุตตันตปิฏกจะอันตรธานหายไป อังคุตตรนิกายย่อมอันตรธานหายไปก่อน เริ่มแต่เอกาทสกนิบาตจนถึงเอกกนิบาต. ต่อจากนั้น สังยุตตนิกายย่อมอันตรธานหายไป เริ่มแต่จักกเปยยาลสูตรจนถึงโอฆตรณสูตร. ต่อจากนั้น มัชฌิมนิกายย่อมอันตรธานหายไป เริ่มแต่อินทริยภาวนาสูตรจนถึงมูลปริยายสูตร. ต่อจากนั้น ทีฆนิกายย่อมอันตรธานหายไป เริ่มแต่ทสุตตรสูตรจนถึงพรหมชาลสูตร.
               ปุจฉาคาถา (คือคาถาที่เป็นคำถาม) คาถาเดียวบ้าง สองคาถาบ้าง ยังอยู่ไปเป็นระยะเวลานาน แต่ไม่อาจทรงพระศาสนาไว้ได้เหมือน สัพพิยปุจฉา๑- และอาฬวกปุจฉา.
____________________________
๑- พม่า - สภิยปุจฉา

               ได้ยินว่า ระหว่างกาลทั้งหลายเหล่านี้อันมีในกาลพระกัสสปพุทธเจ้า ไม่อาจดำรงพระศาสนาไว้ได้.
               ก็เมื่อปิฏกทั้งสองแม้อันตรธานไปแล้ว แต่เมื่อพระวินัยปิฏกยังคงดำรงอยู่ พระศาสนาย่อมตั้งอยู่ เมื่อปริวารและขันธกะทั้งหลายอันตรธานไปแล้ว เมื่ออุภโตวิภังค์ยังดำรงอยู่ พระศาสนาก็ย่อมเป็นอันตั้งอยู่. เมื่ออุภโตวิภังค์อันตรธานไปแล้ว มาติกาแม้ยังดำรงอยู่ พระศาสนาย่อมเป็นอันตั้งอยู่ได้. เมื่อมาติกาอันตรธานไปแล้ว ปาติโมกข์ การบรรพชาและอุปสมบทจักดำรงอยู่ พระศาสนาย่อมตั้งอยู่. เพศ (สมณะ) ยังดำเนินไปได้ระยะกาลยาวนาน. ก็วงศ์ของสมณะผู้ครองผ้าขาวไม่อาจดำรงพระศาสนาไว้ได้ จำเดิมแต่สมัยของพระกัสสปพุทธเจ้า. พระศาสนาย่อมชื่อว่าเป็นอันเสื่อม จำเดิมแต่คนสุดท้ายที่แทงตลอดสัจจะและคนสุดท้ายที่ทำลายศีล. จำเดิมแต่นั้น ไม่ห้ามการเสด็จอุบัติแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นแล.

               ปรินิพพาน ๓               
               ชื่อว่า ปรินิพพานมี ๓ คือ กิเลสปรินิพพาน ขันธปรินิพพาน ธาตุปรินิพพาน. ในปรินิพพาน ๓ อย่างนั้น กิเลสปรินิพพานได้มีแล้ว ณ โพธิบัลลังก์. ขันธปรินิพพานได้มีแล้ว ณ เมืองกุสินารา. ธาตุปรินิพพานจักมีในอนาคต.

               พระธาตุเสด็จมาชุมนุมกัน               
               ได้ยินว่า ในคราวพระศาสนาจะเสื่อม พระธาตุทั้งหลายจะเสด็จชุมนุมกันที่เกาะลังกานี้ แล้วเสด็จไปยังมหาเจดีย์ จากมหาเจดีย์เสด็จไปยังราชายตนเจดีย์ ในนาคทวีป จากราชายตนเจดีย์ เสด็จไปยังมหาโพธิ์บัลลังก์. พระธาตุทั้งหลายจากนาคพิภพก็ดี จากเทวโลกก็ดี จากพรหมโลกก็ดี จักเสด็จไปยังมหาโพธิบัลลังก์เท่านั้น. พระธาตุแม้ขนาดเมล็ดพันธุ์ผักกาด จักไม่หายไปในระหว่างๆ กาล. พระธาตุทั้งหมด (จะรวม) เป็นกองอยู่ที่มหาโพธิบัลลังก์ เป็นแท่งเดียวกันเหมือนแท่งทองคำเปล่งพระฉัพพรรณรังสี (รัศมีมีสี ๖ ประการ) พระฉัพพรรณรังสีทั้งหลายนั้นจักแผ่ไปทั่วหมื่นโลกธาตุ.
               แต่นั้น เทวดาทั้งหลายในหมื่นจักรวาลจักประชุมกัน แสดงความการุณย์อย่างใหญ่ ยิ่งกว่าในวันเสด็จปรินิพพานของพระทศพลว่า วันนี้พระศาสดาจะเสด็จปรินิพพาน วันนี้พระศาสนาจะเสื่อม นี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้ายของพวกเรา ณ กาลนี้. เว้นพระอนาคามีและพระขีณาสพ พวกที่เหลือไม่อาจดำรงอยู่ตามสภาวะของตนได้. เตโชธาตุลุกขึ้นในพระธาตุทั้งหลายแล้วพลุ่งขึ้นไปจนถึงพรหมโลก. เมื่อพระธาตุแม้มีประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดยังมีอยู่ ก็จักมีเปลวเพลิงติดอยู่เปลวหนึ่ง เมื่อพระธาตุทั้งหลายหมดไป เปลวเพลิงก็มอดหมดไป. เมื่อพระธาตุทั้งหลายแสดงอานุภาพใหญ่อย่างนี้แล้วอันตรธานหายไป. พระศาสนาชื่อว่าเป็นอันตรธานไป. พระศาสนาชื่อว่าเป็นของอัศจรรย์ ตราบเท่าที่ยังไม่อันตรธานไปอย่างนี้. ข้อที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จอุบัติไม่ก่อนไม่หลังกันอย่างนี้นั้น ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

               เหตุที่พระพุทธเจ้าไม่อุบัติพร้อมกัน               
               ก็เพราะเหตุไร จึงไม่อุบัติไม่ก่อนไม่หลังกัน?
               เพราะไม่น่าอัศจรรย์.
               เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นอัจฉริยมนุษย์.
               สมดังที่ตรัสไว้ว่า๑-
               ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เป็นเอก เมื่ออุบัติขึ้นในโลกย่อมเป็นมนุษย์อัศจรรย์อุบัติขึ้น บุคคลผู้เป็นเอกคือใคร? คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.
____________________________
๑- องฺ. เอก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๑๔๑

               ก็ถ้าพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ ๔ พระองค์ ๘ พระองค์หรือ ๑๖ พระองค์เสด็จอุบัติขึ้นร่วมกัน ไม่พึงเป็นผู้น่าอัศจรรย์. เพราะลาภสักการะแม้ของเจดีย์ ๒ องค์ในวิหารเดียวกัน ย่อมไม่เป็นของโอฬาร. แม้ภิกษุทั้งหลายก็ไม่เป็นผู้น่าอัศจรรย์ เพราะมีมาก. แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายพึงเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงไม่เสด็จอุบัติ.
               อนึ่ง ที่ไม่เสด็จอุบัติ (พร้อมกัน) เพราะพระธรรมเทศนาของพระองค์ ไม่มีแปลกกัน. ด้วยว่าพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงแสดงธรรมใดต่างโดยสติปัฏฐานเป็นต้น แม้พระพุทธเจ้าพระองค์อื่นเสด็จอุบัติแล้ว ก็พึงทรงแสดงธรรมนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น จึงไม่น่าอัศจรรย์. แต่เมื่อพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวทรงแสดงธรรม แม้เทศนาก็เป็นของอัศจรรย์
               อนึ่ง พระธรรมเทศนาจะเป็นของอัศจรรย์ เพราะไม่มีการขัดแย้งกัน. ก็เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นหลายพระองค์ สาวกจะพึงวิวาทกันว่า พระพุทธเจ้าของพวกเราน่าเลื่อมใส พระพุทธเจ้าของพวกเราพระสุรเสียงไพเราะ มีบุญ. เหมือนพวกศิษย์ของอาจารย์หลายคน แม้เพราะเหตุนั้นจึงไม่เสด็จอุบัติขึ้นอย่างนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง เหตุการณ์นี้ พระนาคเสนถูกพระเจ้ามิลินท์ตรัสถาม ได้ขยายความพิสดารไว้แล้ว.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า :-
               พระยามิลินท์ตรัสถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้านาคเสน ในเรื่องพระพุทธเจ้าหลายพระองค์นั้น แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส คือ ข้อที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์เสด็จอุบัติไม่ก่อนไม่หลังกันในโลกธาตุเดียวกันนั้น มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ท่านนาคเสน อนึ่ง เมื่อจะทรงแสดงธรรม พระตถาคตแม้ทุกพระองค์ก็จะทรงแสดงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เมื่อจะตรัสก็จะตรัสอริยสัจ ๔ เมื่อจะให้ศึกษาก็จะทรงให้ศึกษาในสิกขา ๓ และเมื่อจะทรงสั่งสอน ก็จะทรงสั่งสอนการปฏิบัติเพื่อความไม่ประมาท.
               ข้าแต่พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าว่า พระพุทธเจ้าแม้ทุกพระองค์มีอุทเทสอย่างเดียวกัน มีกถาอย่างเดียวกัน มีสิกขาบทอย่างเดียวกัน มีอนุสนธิอย่างเดียวกัน เพราะเหตุไร พระตถาคต ๒ พระองค์จึงไม่เสด็จอุบัติในคราวเดียวกัน เพราะการเสด็จอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าแม้พระองค์เดียว โลกนี้ก็จะเกิดแสงสว่าง ถ้าจะพึงมีพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒ โลกนี้ก็จะพึงมีแสงสว่างยิ่งกว่าประมาณ ด้วยพระรัศมีของพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์. และพระตถาคต ๒ พระองค์ เมื่อจะตรัสสอนก็จะตรัสสอนได้ง่าย เมื่อจะทรงอนุสาสน์ก็ทรงอนุสาสน์ได้ง่าย ขอพระคุณเจ้าจงชี้แจงเหตุในข้อนั้น ให้โยมฟังให้หายสงสัยด้วยเถิด.
               พระนาคเสนถวายวิสัชนาว่า มหาบพิตร หมื่นโลกธาตุนี้รองรับพระพุทธเจ้าองค์เดียว รองรับพระคุณของพระตถาคตพระองค์เดียวเท่านั้น ถ้าพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒ จะพึงอุบัติขึ้น. โลกธาตุนี้จะพึงรองรับไม่ได้ จะพึงหวั่นไหวน้อมโน้ม พลิกกระจายแตกทำลายไปเข้าถึงการตั้งอยู่ไม่ได้. มหาบพิตร เรือบรรทุกคนได้คนเดียว เมื่อคนผู้เดียวขึ้น เรือนั้นพึงใช้การได้ ถ้าคนที่ ๒ ลงมา เขามีอายุ วรรณ วัย ขนาดผอมอ้วน มีอวัยวะน้อยใหญ่ทุกอย่างเหมือนคนแรกนั้น คนผู้นั้นพึงขึ้นเรือลำนั้น มหาบพิตร เรือลำนั้นจะรับคนแม้ทั้งสองไว้ได้หรือหนอ?
               รับไม่ได้ดอก พระคุณเจ้า เรือลำนั้นจะต้องโคลง น้อมโน้ม คว่ำกระจาย แตกทำลายไป เข้าถึงการลอยลำอยู่ไม่ได้ พึงจมน้ำไปฉันใด ฉันนั้นเหมือนกันแล มหาบพิตร หมื่นโลกธาตุนี้รองรับพระพุทธเจ้าได้พระองค์เดียว รองรับพระคุณของพระตถาคตได้พระองค์เดียวเท่านั้น ถ้าว่าพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒ พึงอุบัติขึ้น หมื่นโลกธาตุจะพึงรองรับไว้ไม่ได้ พึงหวั่นไหว น้อมโน้ม พลิกกระจาย แตกทำลายไป เข้าถึงความตั้งอยู่ไม่ได้. อีกอย่างหนึ่ง มหาบพิตร เหมือนอย่างว่า คนบริโภคอาหารเต็มที่ จนถึงคอพอแก่ความต้องการ ต่อแต่นั้น เขาจะอิ่มเต็มที่ โงกง่วงตลอดเวลา เป็นเหมือนท่อนไม้ที่แข็งทื่อ. เขาพึงบริโภคอาหารมีประมาณเท่านั้นอีกครั้ง มหาบพิตร คนผู้นั้นจะพึงมีความสุขหรือหนอ?
               ไม่มีเลย พระคุณเจ้า เขาบริโภคอีกครั้งเดียวก็จะต้องตาย.
               ฉันนั้นเหมือนกันแล มหาบพิตร หมื่นโลกธาตุนี้รองรับพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว ฯลฯ พึงเข้าถึงการตั้งอยู่ไม่ได้.
               พระคุณเจ้านาคเสน ด้วยการแบกธรรมอันยิ่งไว้ แผ่นดินจะไหวได้อย่างไร?
               ขอถวายพระพร มหาบพิตร ในข้อนี้ (ขออุปมาด้วย) เกวียน ๒ เล่ม (บรรทุก) เต็มด้วยรัตนะจนถึงเสมอปาก จะเอารัตนะจากเกวียนเล่มหนึ่งไป เกลี่ยใส่ในเกวียนอีกเล่มหนึ่ง มหาบพิตร เกวียนเล่มนั้นจะพึงรองรับรัตนะของเกวียนทั้งสองเล่มได้แลหรือ?
               ไม่ได้เลย พระคุณเจ้า แม้ดุมของเกวียนเล่มนั้นก็จะคลอน แม้กำก็จะแตก แม้กงก็จะหลุดตกไป แม้เพลาก็จะหัก.
               ขอถวายพระพร มหาบพิตร เกวียนหักเพราะการ (ที่บรรทุก) รัตนะเกินไปใช่หรือไม่?
               ถูกแล้ว พระคุณเจ้า.
               ขอถวายพระพร มหาบพิตร (ข้อนี้ฉันใด) แผ่นดินก็ฉันนั้นเหมือนกัน หวั่นไหวเพราะภาระคือธรรมอันยิ่ง.
               ขอถวายพระพร มหาบพิตร อีกอย่างหนึ่ง ขอพระองค์จงทรงสดับเหตุการณ์นี้ อันเป็นที่รวมการแสดงพระกำลังของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (และ) เหตุการณ์แม้อย่างอื่นที่น่าสนใจในข้อนั้น ที่เป็นเหตุให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ องค์ไม่อุบัติคราวเดียวกัน มหาบพิตร ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์จะพึงอุบัติในคราวเดียวกันไซร้ ความวิวาทกันจะพึงเกิดแก่บริษัท สาวกจะเกิดเป็น ๒ ฝ่ายว่า พระพุทธเจ้าของพวกท่าน พระพุทธเจ้าของพวกเรา. ขอพระองค์จงสดับเหตุการณ์ข้อแรกนี้ที่เป็นเหตุไม่ให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์อุบัติขึ้นในคราวเดียวกัน. ขอพระองค์จงสดับเหตุการณ์แม้ข้ออื่นยิ่งไปกว่านี้ ที่เป็นเหตุไม่ให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์อุบัติขึ้นในคราวเดียวกัน.
               ขอถวายพระพร มหาบพิตร ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ พึงอุบัติขึ้นในคราวเดียวกันไซร้ คำที่ว่า พระพุทธเจ้าผู้เลิศ ก็จะพึงผิดไป คำที่ว่า พระพุทธเจ้าผู้เจริญที่สุด ที่ว่าพระพุทธเจ้าผู้วิเศษสุด ที่ว่าพระพุทธเจ้าผู้สูงสุด ที่ว่าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ที่ว่าพระพุทธเจ้าไม่มีผู้เสมอ ที่ว่าพระพุทธเจ้าหาผู้เสมอเหมือนมิได้ ที่ว่าพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีผู้เปรียบเทียบ. ที่ว่าพระพุทธเจ้าไม่มีผู้เทียมทัน ที่ว่าพระพุทธเจ้าหาผู้เปรียบมิได้ พึงเป็นคำผิดไป ขอถวายพระพร มหาบพิตร ขอพระองค์จงรับเหตุการณ์แม้นี้แล โดยความหมายอันเป็นเหตุไม่ให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ อุบัติขึ้นในคราวเดียวกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง ขอถวายพระพร มหาบพิตร ข้อที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นอุบัติขึ้นในโลกนี้ เป็นสภาวปกติของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย. เพราะเหตุไร? เพราะพระคุณของพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นเหตุการณ์ใหญ่หลวง. ขอถวายพระพร มหาบพิตร สิ่งที่เป็นของใหญ่แม้อย่างอื่น ย่อมมีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น แผ่นดินใหญ่มีแผ่นดินเดียวเท่านั้น สาครใหญ่มีสาครเดียวเท่านั้น ขุนเขาสิเนรุใหญ่ประเสริฐสุดก็มีลูกเดียวเท่านั้น อากาศใหญ่ (กว้าง) ก็มีแห่งเดียวเท่านั้น. ท้าวสักกะใหญ่ก็มีองค์เดียวเท่านั้น พระพรหมใหญ่ก็มีองค์เดียวเท่านั้น พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ก็มีพระองค์เดียวเท่านั้น ท่านเหล่านั้นอุบัติขึ้นในที่ใด คนเหล่าอื่นย่อมไม่มีโอกาสในที่นั้น เพราะเหตุนั้น พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นอุบัติขึ้นในโลก.
               พระคุณเจ้านาคเสนปัญหาพร้อมทั้งเหตุการณ์ (ที่นำมา) เปรียบเทียบ ท่านกล่าวได้ดีมาก.

               เหตุที่พระเจ้าจักรพรรดิไม่อุบัติร่วมกัน               
               บทว่า เอกิสฺสา โลกธาตุยา ได้แก่ ในจักรวาลเดียว. ก็หมื่นจักรวาลแม้จะถือเอาด้วยบทนี้ในตอนต้น ก็ควรที่จะกำหนดเอาจักรวาลเดียวเท่านั้น. เพราะว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายเมื่อจะอุบัติขึ้นย่อมอุบัติขึ้นในจักรวาลนี้เท่านั้น. ก็เมื่อห้ามสถานที่ที่เสด็จอุบัติย่อมเป็นอันห้ามเด็ดขาดว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่เสด็จอุบัติในจักรวาลอื่นนอกจากจักรวาลนี้.
               ในบทว่า อปุพฺพํ อจริมํ นี้ มีความหมายว่า ไม่ก่อน (คือ) ไม่ก่อนแต่ความปรากฏขึ้นแห่งจักรรัตนะ ไม่หลัง (คือ) ไม่หลังจากจักรรัตนะนั้นอันตรธาน. ในข้อที่ว่าไม่ก่อน ไม่หลังนั้น จักรรัตนะย่อมอันตรธานไป โดยส่วน ๒ คือ โดยพระเจ้าจักรพรรดิเสด็จสวรรคต หรือโดยเสด็จออกทรงผนวช. ก็แหละจักรรัตนะนั้น เมื่อจะอันตรธาน ย่อมอันตรธานไปในวันที่ ๗ แต่การเสด็จสวรรคต หรือแต่การเสด็จออกทรงผนวช. ต่อแต่นั้น ไม่ห้ามการปรากฏขึ้นแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระเจ้าจักรพรรดิ ๒ พระองค์จึงไม่ทรงอุบัติขึ้นในจักรวาลเดียวกัน.
               ตอบว่า เพราะจะตัดการวิวาท เพราะจะให้เป็นความอัศจรรย์ และเพราะจักรรัตนะมีอานุภาพมาก.
               ก็เมื่อ พระเจ้าจักรพรรดิ ๒ องค์อุบัติขึ้น การวิวาทก็จะพึงเกิดขึ้นว่า พระราชาของพวกเราใหญ่ พระราชาของพวกเราก็ใหญ่. ในทวีปหนึ่งมีพระเจ้าจักรพรรดิ (อีก) ทวีปหนึ่งก็มีพระเจ้าจักรพรรดิ ดังนั้นจะพึงไม่เป็นของอัศจรรย์. และอานุภาพอันยิ่งใหญ่ของจักรรัตนะอันสามารถมอบให้ซึ่งความเป็นใหญ่ในทวีปใหญ่ทั้ง ๔ มีทวีปน้อยสองพันเป็นบริวารก็จะหมดคุณค่า. พระเจ้าจักรพรรดิ ๒ พระองค์ก็ย่อมไม่อุบัติขึ้นในจักรวาลเดียวกัน ก็เพราะจะตัดการวิวาทกัน เพราะไม่เป็นความอัศจรรย์ และเพราะจักรรัตนะมีอานุภาพมาก ด้วยประการดังนี้.

               หญิงเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้               
               ในคำนี้ว่า ยํ อิตฺถี อรหํ อสฺส สมมาสมพุทโธ (ข้อที่หญิงพึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า) ดังนี้ ความเป็นพระพุทธเจ้าที่สามารถยังคุณคือสัพพัญญูให้เกิดขึ้นแล้วได้โลกุตระขอยกไว้ก่อน แม้เพียงการตั้งปณิธานก็ย่อมไม่สำเร็จแก่สตรี.
               บุญญาภินิหารจะสำเร็จได้ เพราะรวมเหตุ ๘ ประการ คือ ความเป็นมนุษย์ ๑ ความถึงพร้อมด้วยเพศ (ชาย) ๑ เหตุ (มโนปณิธาน) ๑ การได้พบเห็นพระศาสดา ๑ การบรรพชา ๑ ความถึงพร้อมด้วยคุณ ๑ อธิการ (คือสักการะอันยิ่งใหญ่) ๑ ความพอใจ (ในพระโพธิญาณ) ๑.
               เหตุที่กล่าวมานี้แหละ เป็นเหตุแห่งปณิธานสมบัติ. เมื่อสตรีไม่สามารถเพื่อยังแม้ปณิธานให้สำเร็จได้ด้วยประการดังกล่าว ความเป็นพระพุทธเจ้าจะมีมาแต่ไหน เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่า ข้อที่หญิงพึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส. ก็การสั่งสมบุญให้บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง จะให้เกิดอัตภาพที่บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวงนั่นแหละ เพราะเหตุนั้น บุรุษเท่านั้นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.

               หญิงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิไม่ได้               
               แม้ในบทเป็นต้นว่า ยํ อิตฺถี ราชา อสฺส จกฺกวตฺติ (ข้อที่หญิงพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ) ดังนี้ มีอธิบายว่า เพราะเหตุที่ลักษณะทั้งหลายของหญิงไม่บริบูรณ์ โดยไม่มีของลับที่จะเก็บไว้ในฝักเป็นต้น ความพรั่งพร้อมด้วยรัตนะ ๗ ประการไม่สมบูรณ์ เพราะไม่มีอิตถีรัตนะ (คือนางแก้ว) และไม่มีอัตภาพที่ยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์ทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า ข้อที่หญิงพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดินั้นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้. และเพราะฐานะ ๓ ประการมีความเป็นท้าวสักกะเป็นต้น เป็นฐานะสูงสุด แต่เพศหญิงเป็นเพศต่ำ เพราะเหตุนั้น แม้ฐานะที่หญิงจะเป็นท้าวสักกะเป็นต้น ก็เป็นอันระงับไป.
               ถามว่า แม้เพศหญิงไม่มีในพรหมโลกฉันใด ถึงเพศชายก็ฉันนั้นในพรหมโลกก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ไม่พึงพูดว่า ข้อที่บุรุษพึงเป็นพระพรหมนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ มิใช่หรือ?
               ตอบว่า ไม่ใช่ไม่ควรพูด.
               เพราะผู้ชายในโลกนี้เกิดในพรหมโลกนั้น.
               เพราะคำว่า ความเป็นพรหม หมายเอาท้าวมหาพรหม. ก็หญิงบำเพ็ญฌานในโลกนี้แล้วตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของพรหมปาริสัชชา (บริษัทบริวารของพระพรหม) ไม่ถึงท้าวมหาพรหม. ส่วนบุรุษไม่ควรกล่าวว่า ไม่เกิดในชั้นมหาพรหม. และในพรหมโลกนี้ แม้เมื่อไม่มีเพศทั้งสอง พรหมทั้งหลายก็มีสัณฐานเป็นบุรุษอย่างเดียว ไม่มีสัณฐานเป็นหญิง เพราะฉะนั้น คำนั้นจึงเป็นอันกล่าวดีแล้ว.

               กายทุจริต-กายสุจริต               
               ในบทว่า กายทุจฺจริตสฺส เป็นต้น มีอธิบายว่า พืชสะเดาและพืชบวบขมเป็นต้น ย่อมไม่ให้เกิดผลมีรสหวาน มีแต่จะให้เกิดผลที่มีรสไม่หวาน ไม่น่าชอบใจอย่างเดียวฉันใด กายทุจริตเป็นต้นก็ฉันนั้น ย่อมไม่ยังผลดีให้เกิดขึ้น ย่อมยังผลไม่ดีให้เกิดขึ้นอย่างเดียว. พืชอ้อยและพืชข้าวสาลีเป็นต้น ย่อมยังมีผลมีรสหวานรสอร่อยอย่างเดียวให้เกิดขึ้น หาได้ยังผลที่ไม่น่ายินดี เผ็ดร้อน ไม่หวาน ให้เกิดขึ้นไม่ ฉันใด กายสุจริตเป็นต้นย่อมยังผลที่ดีทั้งนั้นให้เกิดขึ้น หาได้ยังผลที่ไม่น่ายินดี เผ็ดร้อน ไม่ดี ให้เกิดขึ้นไม่.
               สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า
                         หว่านพืชเช่นใด ย่อมนำผลเช่นนั้นมา
                         ทำดีได้ดี และทำชั่วก็ได้ชั่ว.
               เพราะเหตุนั้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า ข้อที่บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยกายทุจริต ตายแล้วจะเข้าถึงสุคติคือโลกสวรรค์นั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส.

               สมังคี ๕               
               บทว่า สมงฺคี ในบทว่า กายทุจฺจริตสมงฺคี เป็นต้น ความว่า ความพร้อมเพรียงมี ๕ อย่าง คือ ความพร้อมเพรียงแห่งการประมวลมา ๑ ความพร้อมเพรียงแห่งเจตนา ๑ ความพร้อมเพรียงแห่งกรรม ๑ ความพร้อมเพรียงแห่งวิบาก ๑ ความพร้อมเพรียงแห่งการปรากฏขึ้น ๑.
               ในความพร้อมเพรียง ๕ อย่างนั้น ความพร้อมเพรียงในขณะประมวลกุศลกรรมและอกุศลกรรมมา ท่านเรียกว่า ความพร้อมเพรียงแห่งการประมวลมา. ความพร้อมเพรียงแห่งเจตนา ก็เหมือนกัน.
               ก็สัตว์ทั้งหมดท่านเรียกว่าผู้พร้อมเพรียงด้วยกรรม เพราะหมายเอากรรมที่เหมาะแก่วิบากที่ได้สะสมไว้ในชาติก่อน ตราบเท่าที่ยังไม่บรรลุพระอรหัต. นี้ชื่อว่าความพร้อมเพรียงแห่งกรรม.
               ความพร้อมเพรียงแห่งวิบาก พึงทราบในขณะแห่งวิบากเท่านั้น.
               ก็ตราบเท่าที่สัตว์ทั้งหลายยังไม่บรรลุพระอรหัต นิมิตของการเกิดขึ้น ย่อมปรากฏอย่างนี้ คือ สำหรับสัตว์ทั้งหลายผู้เคลื่อนจากภพนั้นก่อน นรกย่อมปรากฏ โดยอาการปรากฏมีเปลวไฟและโลหกุมภีเป็นต้น ท้องมารดาย่อมปรากฏสำหรับเหล่าสัตว์ผู้จะเข้าถึงความเป็น “คัพภเสยยกสัตว์” เทวโลกย่อมปรากฏโดยอาการปรากฏแห่งต้นกัลปพฤกษ์และวิมานเป็นต้น สำหรับสัตว์ผู้จะบังเกิดในเทวโลก. ดังกล่าวมานั้น ชื่อว่าความพร้อมเพรียงแห่งการปรากฏ เพราะสัตว์เหล่านั้นยังไม่พ้นการปรากฏแห่งนิมิตของการเกิดนี้.
               ความพร้อมเพรียงแห่งการปรากฏนั้นย่อมเปลี่ยนได้ แต่ความพร้อมเพรียงที่เหลือเปลี่ยนไม่ได้. เพราะเมื่อนรกแม้ปรากฏแล้ว เทวโลกก็ย่อมปรากฏได้ เมื่อเทวโลกแม้ปรากฏแล้ว นรกก็ย่อมปรากฏได้. เมื่อมนุษย์โลกแม้ปรากฏแล้ว กำเนิดเดียรัจฉานก็ย่อมปรากฏได้. และเมื่อกำเนิดเดียรัจฉานแม้ปรากฏแล้ว มนุษย์โลกก็ย่อมปรากฏได้เหมือนกัน.
               ในข้อที่กล่าวนั้น มีเรื่องดังต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง.

               ตัวอย่างนิมิตปรากฏ               
               ได้ยินว่า ในอเจลวิหาร ใกล้เคียงเชิงเขาโสภณ มีพระธรรมกถึกรูปหนึ่ง ชื่อพระโสณเถระ โยมผู้ชายของท่านเป็นนายพรานสุนัข (อาศัยสุนัขล่าเนื้อ) พระเถระห้ามโยม เมื่อไม่อาจจะให้ตั้งอยู่ในศีลสังวรได้ จึงคิดว่า คนแก่๑- อย่าได้ฉิบหายเสียเลย จึงให้โยมบิดาบวชทั้งที่ไม่อยากบวช ในกาลเป็นคนแก่. เมื่อโยมบิดานอนบนเตียงคนไข้ นรกก็ปรากฏขึ้น. (คือ) สุนัขทั้งหลายตัวใหญ่ๆ มาจากเชิงเขาโสณะ ล้อมท่านไว้ ทำทีเหมือนจะกัด. ท่านกลัวต่อมหาภัยจึงกล่าวว่า พ่อโสณะห้ามที พ่อโสณะห้ามที.
____________________________
๑- บาลี เป็น วราโก แต่บางแห่งเป็น ชรโก แปลตามคำหลัง

               พระโสณเถระถามว่า อะไรครับหลวงพ่อ?
               ท่านกล่าวว่า ท่านไม่เห็นหรือ แล้วจึงบอกเรื่องราวนั้น.
               พระโสณะเถระคิดว่า บิดาของคนเช่นเราจักเกิดในนรกได้อย่างไรเล่า เราจักช่วยท่าน แล้วจึงให้พวกสามเณรไปนำดอกไม้นานาชนิดมาให้ ตกแต่งเครื่องลาดพื้นสำหรับบูชาและอาสนะสำหรับบูชาที่ลานเจดีย์และลานโพธิ์ แล้วเอาเตียงหามหลวงพ่อไปยังลานเจดีย์ ให้นั่งบนเตียงแล้วกล่าวว่า หลวงพ่อขอรับ บูชานี้จัดไว้เพื่อหลวงพ่อ บูชานี้จัดไว้เพื่อหลวงพ่อ ขอให้หลวงพ่อกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า นี้เป็นทุคคตบรรณาการของข้าพระองค์ ดังนี้แล้ว ขอถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทำจิตให้เลื่อมใส.
               มหาเถระนั้นเห็นเครื่องบูชาแล้วจึงทำอย่างนั้น ทำจิตให้เลื่อมใสแล้ว. ทันใดนั้นเทวโลกปรากฏขึ้นแก่ท่าน สวนนันทวัน สวนจิตรลดาวัน สวนมิสสกวัน สวนปารุสกวันและวิมานทั้งหลาย และเหล่านางฟ้าฟ้อนรำ ได้เป็นเหมือนประดิษฐานล้อมท่านไว้.
               ท่านกล่าวว่า หลีกไปเถิดโสณะ หลีกไปเถิดโสณะ.
               นี่อะไรกัน หลวงพ่อ.
               หญิงเหล่านี้ คือ โยมผู้หญิงของคุณ กำลังมา.
               พระเถระคิดว่า สวรรค์ปรากฏแก่หลวงพ่อแล้ว.
               พึงทราบว่า ความพร้อมเพรียงแห่งการปรากฏขึ้นย่อมเปลี่ยนไปได้อย่างนี้. ในความพร้อมเพรียงเหล่านี้ ในที่นี้ ท่านกล่าวคำเป็นต้นว่า “ความพร้อมเพรียงแห่งกายทุจริต” ดังนี้ ด้วยอำนาจแห่งอายูหนสมังคี เจตนาสมังคี และกัมมสมังคี.
               บทว่า เอวํ วุตฺเต อายสฺมา อานนฺโท ความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสูตรนี้อย่างนี้แล้ว พระเถระคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประมวลสูตรทั้งหมดมาตั้งแต่ต้น กระทำให้งดงามอย่างนี้แล้ว มิได้ทรงตั้งชื่อของพระสูตรที่ทรงแสดงไว้ เอาเถิด เราจักขอให้ทรงตั้งชื่อของพระสูตรนี้ ดังนี้ จึงได้กราบทูลคำนั้นกับพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ในบทเป็นต้นว่า ตสฺมาติห ตฺวํ มีการประกอบความหมายดังต่อไปนี้.
               ดูก่อนอานนท์ เพราะเหตุที่เราตถาคตจำแนกธาตุไว้มากในธรรมบรรยายนี้อย่างนี้ว่า ดูก่อนอานนท์ ธาตุเหล่านี้ ๑๘ ประการแล ดูก่อนอานนท์ ธาตุเหล่านี้ ๖ ประการ ดังนี้ เพราะเหตุนั้นแล เธอจงทรงจำธรรมบรรยายนี้ว่า พหุธาตุกสูตร ก็ได้. ก็เพราะเหตุที่ในธรรมบรรยายนี้ เราตถาคตจำแนกปริวัฏ (การเวียนรอบ) ๔ ประการ เนื่องด้วยธาตุ อายตนะ ปฏิจจสมุปบาทและฐานาฐานะ เพราะฉะนั้น เธอจงทรงจำธรรมบรรยายนั้นว่า จตุปริวัฏฏสูตร ก็ได้. แลเพราะเหตุที่ข้อความมีธาตุเป็นต้นเหล่านี้ ย่อมปรากฏแก่ผู้ดูธรรมบรรยายนี้ เหมือนเงาหน้าปรากฏแก่ผู้ส่องกระจกเพราะฉะนั้น เธอจงทรงจำธรรมบรรยายนั้นว่า ธรรมาทาสสูตร ก็ได้.
               อนึ่ง เพราะเหตุที่พระโยคีเหยียบย่ำเสนาคือกิเลส เรียนเอาวิปัสสนาตามที่กล่าวไว้ในสูตรนี้ แล้วย่ำยีกิเลสทั้งหลาย ถือเอาชัยชนะคือพระอรหัตให้แก่ตนได้ เหมือนทหารทั้งหลายผู้จะปราบเสนาฝ่ายตรงข้าม ลั่นกลองศึกวิ่งเข้าใส่กองทัพฝ่ายอื่น เข้าประจัญบาน คว้าเอาชัยด้วยตัวเอง ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น เธอจงทรงจำธรรมบรรยายนั้นว่า ชื่ออมตทุนทุภีสูตร ก็ได้.
               และเพราะเหตุที่ ทหารในสงครามถืออาวุธ ๕ ประการ กำจัดกองทัพฝ่ายอื่นได้ชัยชนะ ฉันใด แม้พระโยคีทั้งหลายก็ฉันนั้น ถืออาวุธคือวิปัสสนาดังกล่าวไว้ในสูตรนี้ ถือเอาชัยคือพระอรหัตไว้ได้ เพราะเหตุนั้น เธอจงทรงจำธรรมบรรยายนั้นไว้ว่า ชื่ออนุตตรสังคามวิชัยสูตร ก็ได้แล.

               จบอรรถกถาพหุธาตุกสูตรที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อนุปทวรรค พหุธาตุกสูตร จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 198อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 234อ่านอรรถกถา 14 / 247อ่านอรรถกถา 14 / 853
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=3432&Z=3646
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=1803
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=1803
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :