ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 343อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 357อ่านอรรถกถา 14 / 380อ่านอรรถกถา 14 / 853
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค
อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               บทว่า สงฺกมฺปติ แปลว่า หวั่นไหวโดยรอบ. สองบทนอกนี้เป็นไวพจน์ของบทแรกนั่นเอง เพื่อจะสรุปความท่านจึงกล่าวคำว่า อปฺปมาโณ จ เป็นต้นไว้อีก.
               บทว่า จตฺตาโร ในประโยคว่า จตฺตาโร นํ เทวปุตฺตา จตุทฺทิสํ อารกฺขาย อุปคจฺฉติ นี้ ท่านกล่าวหมายเอาท้าวมหาราชทั้ง ๔. ก็ในหมื่นจักรวาล ย่อมมีท้าวมหาราช ๔ หมื่นอยู่ประจำ แยกกันอยู่จักรวาลละ ๔.
               บรรดามหาราชเหล่านั้น มหาราชในจักรวาลนี้ทรงถือพระขรรค์เสด็จมาแล้ว เข้าไปสู่ห้องอันทรงสิริ เพื่อจะถวายอารักขาพระโพธิสัตว์ นอกนี้แยกย้ายไปไล่หมู่ยักษ์มีปีศาจคลุกฝุ่นเป็นต้นที่เขาขังไว้ให้หลีกไป แล้วถืออารักขาตั้งแต่ประตูห้องจนถึงจักรวาล.
               การมาเฝ้าถวายอารักขานี้ เพื่อประโยชน์อะไร เพราะนับจำเดิมแต่เวลาที่เป็นกลละในขณะปฏิสนธิถึงจะมีมารตั้งแสนโกฏิ ยกเขาสิเนรุตั้งแสนโกฏิลูก มาเพื่อทำอันตรายพระโพธิสัตว์ หรือพระมารดาของพระโพธิสัตว์ อันตรายทั้งปวงก็พึงอันตรธานไปมิใช่หรือ.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ในเรื่องที่พระเทวทัตต์ทำพระโลหิตให้ห้อ ดังนี้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลจะปลงพระชนม์ตถาคต ด้วยความพยายามของผู้อื่นนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส เพราะพระตถาคตทั้งหลาย จักไม่ปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงไปอยู่ตามที่เดิม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตทั้งหลายไม่ต้องมีอารักขา.
               การเป็นอย่างนี้ ฉะนั้น อันตรายแห่งชีวิต ย่อมไม่มีแก่พระตถาคตเหล่านั้น ด้วยความพยายามของผู้อื่น. เหล่าอมนุษย์ผู้มีรูปวิกล น่าเกลียด นกที่มีรูปน่ากลัวก็มีอยู่ ความกลัวหรือความสะดุ้ง จะพึงบังเกิดแก่พระมารดาของพระโพธิสัตว์ได้ เพราะเห็นรูปหรือฟังเสียงของอมนุษย์เหล่าใด เพื่อห้ามเสียซึ่งอมนุษย์เหล่านั้น จึงต้องวางอารักขาไว้.
               อีกประการหนึ่ง ท้าวมหาราชเหล่านั้นมีความเคารพเกิดขึ้นด้วยเดชแห่งบุญบารมีของพระโพธิสัตว์ ทั้งตนเองก็มีความเคารพเป็นพื้นอยู่แล้ว จึงกระทำอย่างนี้.
               ถามว่า ก็ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เข้าไปยืนภายในห้องแล้วแสดงตนให้ปรากฏแก่พระมารดาของพระโพธิสัตว์ หรือไม่แสดง.
               ตอบว่า ไม่แสดงตนในเวลาที่พระมารดาของพระโพธิสัตว์ทรงกระทำกิจส่วนพระองค์ เช่น สรงสนาน ประดับตกแต่งและเสวยเป็นต้น แต่จะแสดงในเวลาที่พระองค์เข้าห้องอันทรงสิริแล้วบรรทมบนพระแท่นที่บรรทม. ก็ขึ้นชื่อว่า ร่างของอมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมเป็นสิ่งที่น่ากลัวเฉพาะหน้าของมนุษย์ทั้งหลายในเวลานั้นก็จริง แต่สำหรับพระมารดาของพระโพธิสัตว์เห็นอมนุษย์เหล่านั้นแล้ว ย่อมไม่กลัว ด้วยอานุภาพแห่งบุญของพระองค์เองและพระโอรส. พระนางมีจิตในอมนุษย์เหล่านั้นเหมือนเจ้าหน้าที่เฝ้าพระราชฐานทั่วๆ ไป.
               บทว่า ปกติยา สีลวตี ความว่า ทรงถึงพร้อมด้วยศีล โดยสภาพนั่นเอง.
               เล่ากันว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติ คนทั้งหลายพากันไปไหว้ นั่งกระโหย่งถือศีลในสำนักของดาบสและปริพาชกทั้งหลาย. แม้พระมารดาพระโพธิสัตว์ก็ถือศีลในสำนักของกาลเทวิลดาบส. แต่เมื่อพระโพธิสัตว์อยู่ในพระครรภ์ พระนางไม่อาจประทับนั่งใกล้บาทมูลของผู้อื่นได้ แม้ศีลอันพระองค์ประทับนั่งบนอาสนะเสมอกันรับไว้ก็เป็นพิธีการเท่านั้น. เพราะเหตุนั้น จึงกล่าวไว้ดังนี้ว่า พระมารดาของพระโพธิสัตว์ได้สมาทานศีลด้วยพระองค์เองทีเดียว.
               บทว่า ปุริเสสุ ความว่า จิตที่มีความประสงค์ในบุรุษย่อมไม่เกิดในมนุษย์ทั้งหลาย เริ่มต้นแต่พระบิดาของพระโพธิสัตว์.
               ก็แลข้อนั้น เกิดโดยความเคารพในพระโพธิสัตว์มิใช่เกิดเพราะละกิเลสได้แล้ว. ก็ศิลปินทั้งหลายแม้จะฉลาดหลักแหลม ก็ไม่สามารถจะวาดรูปพระมารดาของพระโพธิสัตว์ลงในแผ่นภาพวาดเป็นต้นได้. ใครๆ จึงไม่อาจพูดได้ว่า ความกำหนัดย่อมไม่เกิดแก่บุรุษ เพราะเห็นรูปพระมารดาพระโพธิสัตว์นั้น และหากผู้มีจิตกำหนัดประสงค์จะเข้าไปหาพระนาง จะก้าวเท้าไม่ออก เหมือนถูกมัดตรึงไว้ด้วยโซ่ทิพย์. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า อนติกฺกมนียา ดังนี้.
               บทว่า ปญฺจนฺนํ กามคุณานํ ความว่า การห้ามวัตถุ ด้วยสามารถแห่งความใฝ่ฝันในบุรุษ ท่านกล่าวไว้ก่อนแล้วด้วยบทว่า กามคุณูปสญฺหิตํ. ในที่นี้แสดงเพียงการได้เฉพาะซึ่งอารมณ์.
               ได้ยินว่า ในครั้งนั้น พระราชาโดยทั่วไปทราบข่าวว่า พระโอรสเห็นปานนี้อุบัติในพระครรภ์ของพระเทวี จึงส่งบรรณาการอันเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์ของทวารทั้ง ๕ โดยเป็นเครื่องประดับมีราคามาก และเครื่องดนตรีเป็นต้น. สำหรับพระโพธิสัตว์และพระมารดา ย่อมมีลาภสักการะหากำหนดประมาณมิได้ เพราะหนาแน่นไปด้วยกุศลสมภารที่ทรงบำเพ็ญไว้แล้ว.
               บทว่า อกิลนฺตกายา ความว่า หญิงเหล่าอื่น ย่อมลำบากด้วยภาระในการบริหารครรภ์ทั้งมือเท้าก็บวมฉันใด พระนางไม่มีความลำบากอย่างใดเหมือนหญิงพวกนั้นเลย.
               บทว่า ติโร กุจฺฉิคตํ แปลว่า ประทับอยู่ภายในพระอุทร คือพ้นเวลาที่เป็นกลละเป็นต้นไปแล้ว ทรงเห็นพระโพธิสัตว์มีองคาพยพสมบูรณ์ มีอินทรีย์ไม่เสื่อมโทรม.
               ถามว่า ทรงดูเพื่อประโยชน์อะไร.
               ตอบว่า เพื่อให้อยู่อย่างสบาย.
               ก็ธรรมดามารดาทั้งหลายจะนั่งหรือนอนกับบุตรก็ตาม จะต้องมองดูบุตรเพื่อให้อยู่อย่างสบายว่า เราจะยกมือและเท้าที่ห้อยลงให้ตั้งอยู่ด้วยดีฉันใด แม้มารดาของพระโพธิสัตว์ก็ฉันนั้น ทรงมองดูพระโพธิสัตว์เพื่อจะให้อยู่อย่างสบาย โดยพระดำริว่า ทุกข์อันใดที่เกิดแก่เด็กผู้อยู่ในท้องในเวลาที่แม่ลุกขึ้น เดินไป หมุนตัวและนั่งเป็นต้นก็ดี ในเวลาที่แม่กลืนอาหารที่ร้อน ที่เย็น ที่เค็ม ที่ขมและที่เผ็ดก็ดี ทุกข์อันนั้นมีแก่พระโอรสของเราบ้างหรือหนอ ก็ทรงเห็นพระโพธิสัตว์นั่งขัดสมาธิแล้ว.
               ธรรมดาเด็กที่อยู่ในท้องเหล่าอื่น จะนั่งทับกะเพาะอาหารเก่า เทินกะเพาะอาหารใหม่ หันหลังเข้าหาพื้นท้องแม่ นั่งยองๆ พิงกระดูกสันหลัง เอามือทั้งสองข้างยันคางไว้ เหมือนฝูงลิงนั่งอยู่ในโพรงไม้เวลาฝนตก แต่พระโพธิสัตว์ไม่เป็นเช่นนั้น. ก็พระองค์ทรงพิงกระดูกสันหลังนั่งขัดสมาธิ หันพระพักตร์ไปทางทิศบูรพา เหมือนพระธรรมกถึกนั่งบนธรรมาสน์. ก็กรรมที่พระมารดาของพระโพธิสัตว์ทำไว้ในกาลก่อน ย่อมยังวัตถุ (ที่ตั้งแห่งพระครรภ์) ของพระนางให้บริสุทธิ์ เมื่อวัตถุบริสุทธิ์ ลักษณะแห่งพระฉวีอันละเอียดอ่อนย่อมเกิด ครั้งนั้น หนังก็ไม่สามารถจะปกปิดพระโพธิสัตว์ผู้อยู่ในพระครรภ์ได้ เมื่อมองดูจะปรากฏ เหมือนประทับยืนอยู่ภายนอก.
               เพื่อจะยังความข้อนั้นให้แจ่มแจ้งด้วยอุปมา ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า เสยฺยถาปิ
               ก็พระโพธิสัตว์ผู้อยู่ภายในพระครรภ์ย่อมมองไม่เห็นพระมารดา เพราะจักษุวิญญาณย่อมไม่เกิดภายในพระครรภ์.
               บทว่า กาลํ กโรติ ความว่า ไม่ใช่เสด็จสวรรคตเพราะเหตุที่พระองค์ทรงประสูติกาล แต่เพราะสิ้นพระชนมายุอย่างเดียว. แท้จริงที่ซึ่งพระโพธิสัตว์ประทับอยู่ ย่อมเป็นเสมือนกุฏิในพระเจดีย์ ไม่ควรที่สัตว์เหล่าอื่นจะใช้ร่วม และใครๆ ก็ไม่สามารถจะแยกพระมารดาแห่งพระโพธิสัตว์ออก แล้วแต่งตั้งหญิงอื่นไว้ในตำแหน่งพระอัครมเหสีได้ เหตุดังกล่าวมาเพียงเท่านั้นเอง ย่อมเป็นประมาณแห่งอายุของพระมารดาพระโพธิสัตว์ เพราะฉะนั้น พระนางจึงเสด็จสวรรคตในเวลานั้น.
               ถามว่า พระนางเสด็จสวรรคตในวัยไหน.
               ตอบว่า ในมัชฌิมวัย.
               ความจริง ในปฐมวัย อัตตภาพของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีฉันทราคะรุนแรง. ด้วยเหตุนั้น สตรีที่ตั้งครรภ์ในเวลานั้น ย่อมไม่สามารถจะถนอมครรภ์นั้นไว้ได้. ครรภ์ย่อมมีโรคมากมาย ครั้นเลยส่วนทั้งสองแห่งมัชฌิมวัยไปแล้ว วัตถุ (ที่ตั้งแห่งครรภ์) ย่อมบริสุทธิ์ในส่วนที่ ๓ แห่งวัย เมื่อวัตถุบริสุทธิ์ ทารกที่เกิดก็ไม่มีโรค. เพราะฉะนั้น แม้พระมารดาของพระโพธิสัตว์เสวยสมบัติในปฐมวัย ประสูติในส่วนที่ ๓ แห่งมัชฌิมวัย เสด็จสวรรคตแล้วด้วยประการฉะนี้.
               วาศัพท์ ในบทว่า นว วา ทส วา นี้ พึงทราบว่า ต้องรวมแม้บทมีอาทิอย่างนี้ว่า สตฺต วา อฏฺฐ วา เอกาทสวา ทฺวาทส วา เข้ามาด้วย โดยเป็นวิกัป.
               บรรดากำหนดเหล่านั้น สัตว์ที่อยู่ในครรภ์ได้ ๗ เดือนคลอดถึงจะรอด แต่ก็ไม่ทนหนาวทนร้อนไปได้ ที่อยู่ในครรภ์ได้ ๘ เดือนคลอด ไม่รอด นอกนั้นถึงจะรอด.
               บทว่า ฐิตาว แปลว่า ประทับยืนแล้วเทียว.
               แม้พระนางมหามายาเทวีทรงพระดำริว่า เราจักไปสู่เรือนแห่งตระกูลพระญาติของเรา แล้วกราบทูลพระราชา. พระราชาทรงรับสั่งให้ประดับตกแต่งทางที่จะเสด็จไป ตั้งแต่กรุงกบิลพัสดุ์จนถึงกรุงเทวหะ แล้วให้พระเทวีประทับนั่งบนวอทอง. เจ้าศากยะผู้อยู่ในพระนครทั้งสิ้น แวดล้อมบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น พาพระเทวีเสด็จไปแล้ว. พระนางทอดพระเนตรเห็นลุมพินีสาลวโนทยาน ไม่ไกลพระนครเทวทหะ เกิดความพอพระทับจะประพาสพระอุทยาน จึงให้สัญญาแก่พระราชา. พระราชารับสั่งให้ประดับตกแต่งพระอุทยาน แล้วให้จัดอารักขา.
               พอพระเทวีเสด็จเข้าสู่พระอุทยาน ก็มีพระกำลังอ่อนลง.
               ครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ได้ปูลาดที่บรรทมอันมีสิริ ที่โคนต้นรังอันเป็นมงคล แล้วกั้นม่านถวายพระนาง. พระนางเสด็จเข้าไปภายในม่านแล้วเสด็จประทับยืนเหนี่ยวกิ่งไม้สาละ.
               ลำดับนั้น พระนางได้ประสูติพระโอรสในทันใดนั้นเอง.
               บทว่า เทวา ปฐมํ ปฏิคฺคณฺหนฺติ ความว่า เหล่าพรหมชั้นสุทธาวาสทั้งหลายผู้ขีณาสพจะรับก่อน. จะรับอย่างไร อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า เหล่าพรหมชั้นสุทธาวาสจะแปลงเพศเป็นเจ้าพนักงานผู้ถวายการประสูติ.
               ก็ท่านปฏิเสธข้อทักท้วงนั้นแล้ว กล่าวคำอธิบายไว้ดังนี้.
               เวลานั้น พระมารดาพระโพธิสัตว์ ทรงนุ่งผ้าขจิตด้วยทอง ทรงห่มผ้า ๒ ชั้น คล้ายตาปลา คลุมถึงฝ่าพระบาทประทับยืนแล้ว และการประสูติพระโอรสของพระนางก็ง่าย คล้ายน้ำที่ไหลออกจากกระบอกกรอง ขณะนั้นพรหมชั้นสุทธาวาสเหล่านั้น เข้าไปโดยเพศของพรหมตามปกติ แล้วทรงรับพระโอรสด้วยข่ายทองก่อน. มนุษย์ทั้งหลายรับต่อจากพระหัตถ์ของพรหมเหล่านั้นด้วยเทริดอย่างดี. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เทวดาทั้งหลายรับก่อน พวกมนุษย์รับทีหลัง.
               บทว่า จตฺตาโร นํ เทวปุตฺตา หมายถึงท้าวมหาราชทั้ง ๔.
               บทว่า ปฏิคฺคเหตฺวา ได้แก่ รับด้วยตาข่าย ที่ทำด้วยหนังเสือ.
               บทว่า มเหสกฺโข แปลว่า มีเดชมาก คือมียศมาก. อธิบายว่า สมบูรณ์ด้วยลักษณะ.
               บทว่า วิสุทฺโธว นิกฺขมติ ความว่า ธรรมดาสัตว์เหล่าอื่นมักจะติดอยู่ในช่องคลอดออกอย่างบอบช้ำ แต่พระมารดาพระโพธิสัตว์ไม่เป็นอย่างนั้น. อธิบายว่า ประสูติง่ายไม่ติดอะไรเลย.
               บทว่า อุทฺเทน แปลว่า ด้วยน้ำ.
               บทว่า เกนจิ อสุจินา ความว่า ธรรมดาสัตว์เหล่าอื่นจะมีลมกรรมชวาตพัดเอาเท้าขึ้นข้างบน เอาศีรษะลงข้างล่าง ผ่านช่องคลอด เสวยทุกข์อย่างใหญ่หลวง อุปมาเหมือนตกลงไปในเหวที่ลึกชั่วร้อยคน หรือเหมือนช้างที่เขาฉุดออกจากช่องลูกดาล แปดเปื้อนไปด้วยของไม่สะอาดนานับประการ จึงจะออกได้ฉันใด พระโพธิสัตว์ไม่เป็นเหมือนเช่นนั้น. เพราะลมกรรมชวาตไม่สามารถจะทำพระโพธิสัตว์ให้มีพระบาทขึ้นข้างบนพระเศียรลงข้างล่างได้. พระองค์เหยียดพระหัตถ์และพระบาททั้งสองออก แล้วเสด็จประทับยืนอุปมาเหมือนพระธรรมกถึกก้าวลงจากธรรมาสน์ หรือเหมือนบุรุษก้าวลงจากบันไดฉะนั้น ไม่แปดเปื้อนของไม่สะอาดบางประการที่เกิดในพระครรภ์ของพระมารดาเลย แล้วประสูติ.
               บทว่า อุทกสฺส ธารา แปลว่า สายน้ำ.
               ในธารน้ำเหล่านั้น ธารน้ำเย็นตกลงในหม้อทอง ธารน้ำอุ่นตกลงในหม้อเงิน. และท่านกล่าวความข้อนี้ไว้เพื่อจะแสดงว่า น้ำดื่มน้ำใช้ของทั้งสองพระองค์ ไม่เจือปนด้วยของไม่สะอาดไรๆ บนพื้นดิน และน้ำสำหรับเล่น ก็ไม่สาธารณ์ทั่วไปกับคนเหล่าอื่น. ก็น้ำอื่นที่จะพึงนำมาด้วยหม้อทอง หม้อเงินก็ดี น้ำที่อยู่ในสระโบกขรณี ชื่อหังสวัฏฏกะเป็นต้นก็ดี ย่อมไม่มีกำหนด.
               บทว่า สมฺปติชาโต แปลว่า ประสูติแล้วเพียงชั่วครู่.
               ก็ในพระบาลี ท่านแสดงไว้ดุจว่า พระโพธิสัตว์ ทันทีที่ประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ก็ประทับพระยุคลบาทอันเสมอลงบนแผ่นดิน แต่ไม่ควรเห็นอย่างนั้น. ความจริง พอพระโพธิสัตว์เสด็จออก พรหมทั้งหลายก็เอาข่ายทองรับไว้ก่อน ท้าวมหาราชทั้ง ๔ รับต่อจากพระหัตถ์ของท้าวมหาพรหมเหล่านั้น ด้วยตาข่ายที่ทำด้วยหนังเสือ ซึ่งมีสัมผัสอันนุ่มสบายที่สมมติกันว่าเป็นมงคล มนุษย์ทั้งหลายจึงรับต่อจากพระหัตถ์ของท้าวมหาราชเหล่านั้นด้วยเทริดอย่างดี พอพ้นจากมือมนุษย์ ก็ประทับยืนบนแผ่นดิน.
               บทว่า เสตมฺหิ ฉตฺเต อนุหิรมาเน แปลว่า เมื่อเทพบุตรกั้นเศวตฉัตรอันเป็นทิพย์ แม้เครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้ง ๕ มีพระขรรค์เป็นต้น อันเป็นบริวารของฉัตรมาแล้ว ในที่นี้เหมือนกัน. แต่ในพระบาลีกล่าวถึงเพียงฉัตรอย่างเดียว ดุจพระราชาที่เขากั้นฉัตรถวาย ในเวลาเสด็จพระราชดำเนิน. ในราชกกุธภัณฑ์ทั้ง ๕ เหล่านั้น ปรากฏแต่ฉัตรเท่านั้น ไม่ปรากฏคนถือ. พระขรรค์ พัดใบตาล กำหางนกยูง พัดวาลวิชนี กรอบพระพักตร์ ก็ปรากฏเหมือนกัน. ไม่ปรากฏคนถือสิ่งเหล่านั้น.
               นัยว่า เทวดาทั้งหลายผู้ไม่ปรากฏตน ถือเครื่องกกุธภัณฑ์เหล่านั้นไว้ครบทุกอย่าง.
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                                   เทวดาทั้งหลาย ถือฉัตร มีมณฑล
                         ตั้งพัน มีซี่ไม่น้อยอยู่กลางอากาศ จามร
                         ด้ามทองก็เคลื่อนผ่านไป แต่ผู้ถือจามร
                         และฉัตรไม่ปรากฏ
.
               บทว่า สพฺพา จ ทิสา นี้ ท่านกล่าวถึงการตรวจดูทิศทั้งปวง ดุจการแลดูทิศของบุรุษผู้ยืนเหนือพระมหาสัตว์ผู้กำลังย่างพระบาทไป ๗ ก้าว แต่ข้อนี้ไม่ควรเห็นอย่างนั้น. แท้จริง พระมหาสัตว์พ้นจากมือของมนุษย์ทั้งหลายแล้ว ทรงแลดูทิศบูรพา. จักรวาลหลายพันได้ปรากฏเป็นเนินเดียวกัน. เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายในจักรวาลเหล่านั้น พากันบูชาด้วยเครื่องสักการะมีของหอมและดอกไม้เป็นต้น แล้วพูดว่า ข้าแต่พระมหาบุรุษ ในโลกนี้ไม่มีแม้ผู้ที่จะเสมอกับพระองค์ได้ ที่ไหนจะมีผู้เหนือกว่าขึ้นไปได้เล่า.
               พระมหาสัตว์ทรงตรวจดูทิศทั้ง ๑๐ คือ ทิศใหญ่ ๔ ทิศน้อย ๔ ทิศเบื้องล่าง ๑ ทิศเบื้องบน ๑ อย่างนี้. มองไม่เห็นผู้เสมอด้วยพระองค์ ทรงกำหนดว่า นี้เป็นทิศอุดร แล้วเสด็จไปโดยย่างพระบาทไป ๗ ก้าว. ในเรื่องนี้ พึงเห็นความดังพรรณนาอย่างนี้.
               บทว่า อาสภึ แปลว่า สูงสุด. บทว่า อคฺโค แปลว่า ประเสริฐที่สุด คือเจริญที่สุด ได้แก่เหนือคนทั้งหมดโดยคุณทั้งหลาย. สองบทนอกนี้ เป็นไวพจน์ของบทว่า อคฺโค นั่นเอง.
               ท่านพยากรณ์พระอรหัตที่จะพึงบรรลุในอัตตภาพนี้ด้วยบททั้งสองว่า อยมนฺติมา ชาติ นตฺถิ ทานิ ปุนพฺภโว.
               ก็ในอธิการนี้ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               ข้อที่พระองค์ประทับยืนบนแผ่นดิน ด้วยพระบาทอันราบเรียบ เป็นบุพนิมิตแห่งการได้เฉพาะซึ่งอิทธิบาท ๔ ข้อที่พระองค์ทรงหันพระพักตร์ไปทางทิศอุดร เป็นบุพนิมิตแห่งการเสด็จไปอย่างผู้ยิ่งใหญ่เหนือมหาชน. ข้อที่พระองค์ทรงพระดำเนินไปได้ ๗ ก้าว เป็นบุพนิมิตแห่งการได้เฉพาะซึ่งรัตนะคือโพชฌงค์ ๗. ข้อที่ทรงเศวตฉัตรอันเป็นทิพย์ เป็นบุพนิมิตแห่งการได้เฉพาะซึ่งฉัตรคือวิมุตติ. ราชกกุธภัณฑ์ทั้ง ๕ เป็นบุพนิมิตแห่งการหลุดพ้นด้วยวิมุตติ ๕ ประการ. ข้อที่ทรงมองดูทิศ เป็นบุพนิมิตแห่งการได้เฉพาะซึ่งอนาวรณญาณ. ข้อที่ทรงเปล่งอาสภิวาจาเป็นบุพนิมิตแห่งการประกาศธรรมจักรที่ใครๆ ให้หมุนกลับไม่ได้. สีหนาทที่ทรงเปล่งว่า อยมนฺติมา ชาติ (ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย) พึงทราบว่าเป็นบุพนิมิตแห่งปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.
               วาระต่างๆ เหล่านี้ มาแล้วในพระบาลี. แต่สัมพหุลวาร ยังไม่มีมา จึงควรนำมาแสดงเสียด้วย.
               ก็ในวันที่พระมหาบุรุษประสูติ หมื่นโลกธาตุหวั่นไหวแล้ว. เทวดาทั้งหลายในหมื่นโลกธาตุประชุมกันแล้ว ในจักรวาลหนึ่ง. เทวดาทั้งหลายรับก่อน พวกมนุษย์รับภายหลัง. พิณทั้งหลายที่ขึงด้วยเส้นด้าย และกลองทั้งหลายที่เขาขึ้นด้วยหนัง ไม่มีใครๆ ประโคมเลยก็ดังขึ้นเอง. เครื่องจองจำมีขื่อคา และโซ่ตรวนเป็นต้นของมนุษย์ทั้งหลายขาดออกเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่. โรคทุกอย่างหายหมด ดุจสนิมสีแดงที่เขาขัดออกด้วยของเปรี้ยว. คนที่บอดแต่กำเนิดก็เห็นรูปต่างๆ ได้. คนหนวกแต่กำเนิดก็ได้ยินเสียง. คนง่อยเปลี้ยก็กลับสมบูรณ์ด้วยกำลังวังชา. คนบ้าน้ำลายแม้จะโง่มาแต่กำเนิด ก็กลับฟื้นคืนสติ. เรือที่แล่นออกไปต่างประเทศก็ถึงท่าโดยสะดวก. รัตนะทั้งหลายที่อยู่ในอากาศและบนภาคพื้นก็ได้ส่องแสงสว่างขึ้นเอง. ผู้ที่เป็นศัตรูกลับได้เมตตาจิต. ไฟในอเวจีนรกก็ดับ. แสงสว่างเกิดขึ้นในโลกันตรนรก. น้ำในแม่น้ำทั้งหลายก็ไม่ไหล. ทั้งน้ำในมหาสมุทร ได้กลายเป็นน้ำหวาน. มหาวาตภัยก็ไม่พัด นกที่บินไปในอากาศและที่จับอยู่ตามต้นไม้ ภูเขา ก็ตกลงพื้นดิน. พระจันทร์งามยิ่งนัก. พระอาทิตย์ก็ไม่ร้อน ไม่เย็น ปราศจากมลทิน สมบูรณ์ตามฤดูกาล. เทวดาทั้งหลายยืนอยู่ที่ประตูวิมานของตนๆ พากันเล่นมหากีฬาเป็นต้นว่า ปรบมือ โห่ร้องและโบกผ้า. มหาเมฆที่ตั้งขึ้นแต่ทิศทั้ง ๔ ยังฝนให้ตก. ความหิวและความกระหายไม่เบียดเบียนมหาชน. ประตูหน้าต่างก็เปิดได้เอง. ต้นไม้ที่จะมีดอกมีผลก็ได้ผลิดอกออกผลสะพรั่ง. ทั่วทั้งหมื่นโลกธาตุได้มีธงดอกไม้เป็นแนวเดียวกันหมด.
               แม้ในข้อที่น่าอัศจรรย์นั้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               ความหวั่นไหวแห่งหมื่นโลกธาตุเป็นบุพนิมิตแห่งการได้เฉพาะซึ่งพระสัพพัญญุตญาณของพระมหาบุรุษ. ข้อที่เทวดาทั้งหลายมาประชุมกันในจักรวาลอันหนึ่ง เป็นบุพนิมิตแห่งการร่วมประชุมรับพระสัทธรรมคราวเดียวกัน ในเวลาที่ทรงประกาศธรรมจักร. ข้อที่เทวดาทั้งหลายรับพระโพธิสัตว์ก่อน เป็นบุพนิมิตแห่งการได้เฉพาะซึ่งรูปาวจรฌานทั้ง ๔. ข้อที่มนุษย์ทั้งหลายรับภายหลัง เป็นบุพนิมิตแห่งการได้เฉพาะซึ่งอรูปาวจรฌานทั้ง ๔. ข้อที่พิณซึ่งเขาขึงด้วยเส้นด้ายดังได้เอง เป็นบุพนิมิตแห่งการได้เฉพาะซึ่งอนุปุพพวิหารธรรม. ข้อที่กลองที่เขาขึ้นด้วยหนังดังเอง เป็นบุพนิมิตแห่งการพร่ำสอน ด้วยธรรมเภรีอันยิ่งใหญ่. ข้อที่เครื่องพันธนาการมีขื่อคาและโซ่ตรวนเป็นต้นขาดออกจากกันเป็นบุพนิมิตแห่งการตัดอัสมิมานะได้เด็ดขาด. ข้อที่คนทั้งหลายหายจากโรคต่างๆ เป็นบุพนิมิตแห่งการปราศไปแห่งกิเลสทั้งปวง. ข้อที่คนบอดแต่กำเนิดเห็นรูปได้ เป็นบุพนิมิตแห่งการได้เฉพาะซึ่งทิพยจักษุ. ข้อที่คนหนวกแต่กำเนิดได้ยินเสียง เป็นบุพนิมิตแห่งการได้เฉพาะซึ่งทิพยโสตธาตุ. ข้อที่คนง่อยเปลี้ยสมบูรณ์ด้วยกำลัง เป็นบุพนิมิตแห่งการบรรลุซึ่งอิทธิบาททั้ง ๔. ข้อที่คนบ้าน้ำลาย กลับได้สติ เป็นบุพนิมิตแห่งการได้เฉพาะซึ่งสติปัฏฐาน ๔. ข้อที่เรือทั้งหลายที่แล่นออกนอกประเทศถึงท่าโดยสะดวก เป็นบุพนิมิตแห่งการบรรลุปฏิสัมภิทา ๔. ข้อที่รัตนะทั้งหลายส่องสว่างได้เอง เป็นบุพนิมิตแห่งแสงสว่างของพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแก่ชาวโลก. ข้อที่ศัตรูทั้งหลายกลับได้เมตตาจิต เป็นบุพนิมิตแห่งการได้เฉพาะซึ่งพรหมวิหาร ๔. ข้อที่ไฟในนรกอเวจีดับลง เป็นบุพนิมิตแห่งการดับไฟ ๑๑ กองได้. ข้อที่โลกันตรนรกมีแสงสว่าง เป็นบุพนิมิตแห่งการที่พระองค์ทรงกำจัดความมืดคืออวิชชา แล้วทรงเห็นแสงสว่างได้ด้วยพระญาณ. ข้อที่น้ำของมหาสมุทรมีรสหวาน เป็นบุพนิมิตแห่งความที่พระธรรมมีรสอย่างเดียวกัน. ข้อที่ไม่เกิดวาตภัย เป็นบุพนิมิตแห่งการที่พุทธบริษัทไม่แตกแยกกันด้วยอำนาจทิฐิ ๖๒. ข้อที่นกทั้งหลายตกลงยังแผ่นดิน เป็นบุพนิมิตแห่งการที่มหาชนฟังคำสั่งสอนถึงสรณะด้วยชีวิต. ข้อที่พระจันทร์งามยิ่งนัก เป็นบุพนิมิตแห่งการที่มหาชนสนใจพระธรรม. ข้อที่พระอาทิตย์ไม่ร้อนไม่เย็น ให้ความสะดวกตามฤดู เป็นบุพนิมิตแห่งการที่มหาชน ถึงความสุขกายสุขใจ. ข้อที่เทวดาทั้งหลายเล่นกีฬามีการปรบมือเป็นต้นที่ประตูวิมาน เป็นบุพนิมิตแห่งการที่พระมหาสัตว์บรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้าแล้วทรงเปล่งอุทาน. ข้อที่มหาเมฆทั่ว ๔ ทิศยังฝนให้ตก เป็นบุพนิมิตแห่งการที่สายน้ำคือพระธรรมตกลงเป็นอันมาก. ข้อที่มนุษย์ทั้งหลายไม่ถูกความหิวเบียดเบียน เป็นบุพนิมิตแห่งการได้เฉพาะซึ่งอมตธรรมคือกายคตาสติ. ข้อที่มนุษย์ทั้งหลายไม่ถูกความกระหายเบียดเบียนเป็นบุพนิมิตแห่งการที่พุทธบริษัทถึงความสุขแล้วด้วยวิมุตติสุข. ข้อที่ประตูหน้าต่างทั้งหลายเปิดได้เอง เป็นบุพนิมิตแห่งการเปิดประตูอัฏฐังคิกมรรค. ข้อที่ต้นไม้ทั้งหลายผลิดอกออกผล เป็นบุพนิมิตแห่งพระธรรมที่บานด้วยดอกคือวิมุตติ และเต็มแน่นด้วยสามัญญผล. ข้อที่หมื่นแห่งโลกธาตุมีธงเป็นระเบียบอย่างเดียวกัน พึงทราบว่า เป็นบุพนิมิตแห่งการที่พุทธบริษัทมีธงของพระอริยเจ้าเป็นมาลัย.
               นี้ชื่อสัมพหุลวาร.
               ในสัมพหุลวารนี้ มีคนเป็นอันมากถามเป็นปัญหาว่า ในเวลาที่มหาบุรุษเหยียบบนแผ่นดิน เสด็จพระดำเนินบ่ายหน้าไปทางทิศอุดร แล้วทรงเปล่งอาสภิวาจานั้น ทรงประทับยืนบนแผ่นดินหรืออยู่ในอากาศ ปรากฏพระองค์หรือไม่ปรากฏ ไม่นุ่งผ้าหรือว่าประดับตกแต่งแล้วเป็นอย่างดี เป็นหนุ่มหรือแก่ แม้ภายหลังก็คงสภาพเช่นนั้น หรือเป็นเด็กอ่อน.
               ก็ครั้นต่อมา ภายหลังพระจุลลาภยเถระผู้ทรงพระไตรปิฏก ได้วิสัชนาปัญหาข้อนี้ไว้แล้วในที่ประชุม ณ โลหะปราสาท.
               ได้ยินว่า ในข้อนี้พระเถระกล่าวถึงเรื่องราวไว้เป็นอันมาก โดยเป็นนิยตวาทะ ปุพเพกตกัมมวาทะและอิสสรนิมมานวาทะ ในขั้นสุดท้ายได้พยากรณ์ไว้อย่างนี้ว่า พระมหาบุรุษยืนบนแผ่นดิน แต่ได้ปรากฏแก่มหาชน เหมือนเสด็จไปโดยอากาศ และเสด็จไปมีคนเห็น แต่ได้ปรากฏแก่มหาชนเหมือนมองไม่เห็น. ไม่มีผ้านุ่งเสด็จไป แต่ปรากฏแก่มหาชน เหมือนประดับตกแต่งไว้แล้วเป็นอย่างดี. ทั้งที่ยังเป็นเด็ก แต่ได้ปรากฏแก่มหาชนเหมือนมีพระชนมายุ ๑๖ พรรษา. แต่ในภายหลัง คงเป็นเด็กอ่อนธรรมดา ไม่ได้เป็นเหมือนเช่นที่ปรากฏ. และเมื่อพระเถระกล่าวชี้แจงอย่างนี้แล้ว บริษัททั้งหลายของท่านต่างพากันพอใจ โดยกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ พระเถระกล่าวแก้ปัญหาได้แจ่มแจ้งเหมือนพระพุทธเจ้าทีเดียว.
               โลกันตริกวาร มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นเอง.
               บทว่า วิทิตา แปลว่า ปรากฏแล้ว. แท้จริงพระสาวกทั้งหลาย ย่อมไม่สามารถจะหาช่องทางพิจารณาสังขารที่เป็นส่วนอดีต ในขณะที่ไม่มีโอกาสเช่นเวลาอาบน้ำ ล้างหน้า เคี้ยวและดื่มเป็นต้นได้ จะพิจารณาได้เฉพาะเมื่อมีโอกาสเท่านั้น ฉันใด พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่เป็นเหมือนเช่นนั้น. ก็พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงพิจารณาสังขารที่ผ่านไปแล้วภายใน ๗ วันได้ตั้งแต่ต้นทรงยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์แล้ว ย่อมทรงชี้แจงได้ ขึ้นชื่อว่า ธรรมที่ไม่แจ่มแจ้งแก่พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ไม่มีเลย เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า วิทิตา ทรงรู้แจ่มแจ้งแล้ว.
               คำที่เหลือในบททั้งปวงง่ายทั้งนั้น.


               จบอรรถกถาอัจฉริยัพภูตสูตรที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 343อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 357อ่านอรรถกถา 14 / 380อ่านอรรถกถา 14 / 853
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=5090&Z=5281
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=3077
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=3077
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :