ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 653อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 673อ่านอรรถกถา 14 / 698อ่านอรรถกถา 14 / 853
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค
ธาตุวิภังคสูตร

               ๑๐. อรรถกถาธาตุวิภังคสูตร               
               ธาตุวิภังคสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับอย่างนี้ :-
               ในบทเหล่านั้น บทว่า จาริกํ ได้แก่ จาริกไปโดยรีบด่วน.
               บทว่า สเจ เต อครุ ความว่า ถ้าไม่เป็นความหนักใจ คือไม่ผาสุกอะไรแก่ท่าน.
               บทว่า สเจ โส อนุชานาติ ความว่า
               ได้ยินว่า ภัคควะมีความคิดอย่างนี้ว่า ธรรมดาบรรพชิตทั้งหลายย่อมมีอัธยาศัยต่างกัน คนหนึ่งมีหมู่เป็นที่มายินดี คนหนึ่งยินดีอยู่คนเดียว ถ้าคนนั้นยินดีอยู่คนเดียวจักกล่าวว่า ดูก่อนผู้มีอายุ ท่านอย่าเข้ามา ข้าพเจ้าได้ศาลาแล้ว ถ้าคนนี้ยินดีอยู่คนเดียว ก็จักพูดว่า ดูก่อนผู้มีอายุ ท่านจงออกไป ข้าพเจ้าได้ศาลาแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็จักเป็นเหตุให้คนทั้งสองทำการทะเลาะกัน ธรรมดาสิ่งที่ให้แล้ว ก็ควรเป็นอันให้แล้วเทียว สิ่งที่ทำแล้ว ก็ควรเป็นอันทำแล้วแล. เพราะฉะนั้น จึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า กุลปุตฺโต ได้แก่ กุลบุตรโดยชาติบ้าง กุลบุตรโดยมรรยาทบ้าง.
               บทว่า วาสูปคโต ได้แก่ เข้าไปอยู่แล้ว.
               ถามว่า กุลบุตรนั้นมาจากไหน.
               ตอบว่า จากนครตักกสิลา.
               ในเรื่องนั้นมีการเล่าโดยลำดับดังนี้.
               ได้ยินว่า ครั้นเมื่อพระเจ้าพิมพิสารเสวยราชสมบัติในพระนครราชคฤห์ ในมัชฌิมประเทศ. พระเจ้าปุกกุสาติเสวยราชสมบัติในพระนครตักกสิลา ในปัจจันตประเทศ.
               ครั้งนั้น พ่อค้าทั้งหลายต่างก็เอาสินค้าจากพระนครตักกสิลามาสู่พระนครราชคฤห์ นำบรรณาการไปถวายแด่พระราชา. พระราชาตรัสถามพ่อค้าเหล่านั้นผู้ยืนถวายบังคมว่า พวกท่านอยู่ที่ไหน. ขอเดชะ อยู่ในพระนครตักกสิลา.
               ลำดับนั้น พระราชาตรัสถามถึงความเกษม และความที่ภิกษาหาได้ง่ายเป็นต้นของชนบทและประวัติแห่งพระนครกะพ่อค้าเหล่านั้นแล้ว ตรัสถามว่า พระราชาของพวกท่านมีพระนามอย่างไร. พระนามว่า ปุกกุสาติ พระเจ้าข้า. ทรงดำรงอยู่ในธรรมหรือ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ทรงดำรงอยู่ในธรรม ทรงสงเคราะห์ชนด้วยสังคหวัตถุสี่ ทรงดำรงอยู่ในฐานะมารดาบิดาของโลก ทรงยังชนดุจทารกนอนบนตักให้ยินดี. ทรงมีวัยเท่าใด. ลำดับนั้น พวกพ่อค้าทูลบอกวัยแด่พระราชานั้น. ทรงมีวัยเท่ากับพระเจ้าพิมพิสาร.
               ครั้งนั้น พระราชาตรัสกะพ่อค้าเหล่านั้นว่า ดูก่อนพ่อทั้งหลาย พระราชาของพวกท่านดำรงอยู่ในธรรม และทรงมีวัยเท่ากับเรา พวกท่านพึงอาจเพื่อทำพระราชาของพวกท่านให้เป็นมิตรกับเราหรือ. อาจ พระเจ้าข้า. พระราชาทรงสละภาษีแก่พ่อค้าเหล่านั้น ทรงให้พระราชทานเรือนแล้วตรัสว่า พวกท่านประสงค์ในเวลาขายสินค้ากลับไป พวกท่านพึงพบเราแล้วจึงกลับไปดังนี้. พ่อค้าเหล่านั้นทำอย่างนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระราชาในเวลากลับ.
               พระราชาตรัสว่า พวกท่านจงกลับไป พวกท่านจงทูลถามถึงความไม่มีพระโรคบ่อยๆ ตามคำของเรา แล้วทูลว่า พระราชาทรงพระประสงค์มิตรภาพกับพระองค์.
               พ่อค้าเหล่านั้นทูลรับพระราชโองการแล้ว ไปรวบรวมสินค้า รับประทานอาหารเช้าแล้ว เข้าไปถวายบังคมพระราชา. พระราชาตรัสถามว่า แน่ะพนาย พวกท่านไปไหน ไม่เห็นหลายวันแล้ว. พวกพ่อค้าทูลบอกเรื่องราวทั้งหมดแด่พระราชา.
               พระราชาทรงมีพระหฤทัยยินดีว่า ดูก่อนพ่อทั้งหลาย เป็นการดีเช่นกับเรา พระราชาในมัชฌิมประเทศได้มิตรแล้วเพราะอาศัยพวกท่าน.
               ในเวลาต่อมา พ่อค้าทั้งหลายแม้อยู่ในพระนครราชคฤห์ ก็ไปสู่พระนครตักกสิลา. พระเจ้าปุกกุสาติตรัสถามพ่อค้าเหล่านั้นผู้ถือบรรณาการมาว่า พวกท่านมาจากไหน. พระราชาทรงสดับว่าจากพระนครราชคฤห์จึงตรัสว่า พวกท่านมาจากพระนครของพระสหายเรา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสถามถึงความไม่มีพระโรคว่า พระสหายของเราไม่มีพระโรคหรือ แล้วทรงให้ตีกลองประกาศว่า จำเดิมแต่วันนี้ พวกพ่อค้าเดินเท้า หรือพวกเกวียนเหล่าใด มาจากพระนครของพระสหายเรา จำเดิมแต่กาลที่พ่อค้าทั้งปวง เข้ามาสู่เขตแดนของเรา จงให้เรือนเป็นที่พักอาศัยและเสบียงจากพระคลังหลวง จงสละภาษี อย่าทำอันตรายใดๆ แก่พ่อค้าเหล่านั้นดังนี้.
               ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสารก็ทรงให้ตีกลองประกาศเช่นนี้เหมือนกันในพระนครของพระองค์. ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงส่งพระบรรณาการแก่พระเจ้าปุกกุสาติว่า รัตนะทั้งหลายมีแก้วมณีและมุกดาเป็นต้น ย่อมเกิดในปัจจันตประเทศ รัตนะใดที่ควรเห็นหรือควรฟัง เกิดขึ้นในราชสมบัติแห่งพระสหายของเรา ขอพระสหายเราจงอย่าทรงตระหนี่ในรัตนะนั้น.
               ฝ่ายพระเจ้าปุกกุสาติก็ทรงส่งพระราชบรรณาการตอบไปว่า ธรรมดามัชฌิมประเทศเป็นมหาชนบท รัตนะเห็นปานนี้ใด ย่อมเกิดในมหาชนบทนั้น ขอพระสหายของเราจงอย่าทรงตระหนี่ในรัตนะนั้น.
               เมื่อกาลล่วงไปๆ อย่างนี้ พระราชาเหล่านั้น แม้ไม่ทรงเห็นกัน ก็เป็นมิตรแน่นแฟ้น.
               เมื่อพระราชาทั้งสองพระองค์นั้นทรงทำการตรัสอยู่อย่างนี้ บรรณาการย่อมเกิดแก่พระเจ้าปุกกุสาติก่อน.
               ได้ยินว่า พระราชาทรงได้ผ้ากัมพล ๘ ผืน อันหาค่ามิได้ มีห้าสี. พระราชานั้นทรงพระดำริว่า ผ้ากัมพลเหล่านี้งามอย่างยิ่ง เราจักส่งให้พระสหายของเรา. ทรงส่งอำมาตย์ทั้งหลายด้วยพระดำรัสว่า พวกท่านจงให้ทำผอบแข็งแรง ๘ ผอบเท่าก้อนครั่งใส่ผ้ากัมพลเหล่านั้นในผอบเหล่านั้น ให้ประทับด้วยครั่งพันด้วยผ้าขาว ใส่ในหีบพันด้วยผ้า ประทับด้วยตราพระราชลัญจกรแล้วถวายแก่พระสหายของเรา และได้พระราชทานพระราชสาส์นว่า บรรณาการนี้อันเราผู้อำมาตย์เป็นต้นแวดล้อมแล้ว เห็นในท่ามกลางพระนคร. อำมาตย์เหล่านั้นไปทูลถวายแด่พระเจ้าพิมพิสาร.
               พระเจ้าพิมพิสารนั้นทรงสดับพระราชสาส์น ทรงให้ตีกลองประกาศว่า ชนทั้งหลายมีอำมาตย์เป็นต้นจงประชุม ดังนี้ อันอำมาตย์เป็นต้นแวดล้อมแล้วในท่ามกลางพระนคร ทรงมีพระเศวตฉัตรกั้นประทับนั่งบนพระราชบัลลังก์อันประเสริฐ ทรงทำลายรอยประทับ เปิดผ้าออก เปิดผอบ แก้เครื่องภายใน ทรงเห็นก้อนครั่ง ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าปุกกุสาติพระสหายของเราคงสำคัญว่า พระสหายของเรามีพระราชหฤทัยรุ่งเรือง จึงทรงส่งพระราชบรรณาการนี้ไปให้ดังนี้. ทรงจับก้อนอันหนึ่งแล้วทรงทุบด้วยพระหัตถ์ พิจารณาดูก็ไม่ทรงทราบว่า ภายในมีเครื่องผ้า.
               ลำดับนั้น ทรงตีก้อนนั้นที่เชิงพระราชบัลลังก์. ทันใดนั้น ครั่งก็แตกออก. พระองค์ทรงเปิดผอบด้วยพระนขา ทรงเห็นกัมพลรัตนะภายในแล้ว ทรงให้เปิดผอบทั้งหลาย แม้นอกนี้. แม้ทั้งหมดก็เป็นผ้ากัมพล.
               ลำดับนั้น ทรงให้คลี่ผ้ากัมพลเหล่านั้น. ผ้ากัมพลเหล่านั้นถึงพร้อมด้วยสี ถึงพร้อมด้วยผัสสะ ยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอก. มหาชนทั้งหลายเห็นแล้วกระดิกนิ้ว ทำการยกผ้าเล็กๆ ขึ้น พากันดีใจว่า พระเจ้าปุกกุสาติ พระสหายไม่เคยพบเห็นของพระราชาแห่งพวกเรา ไม่ทรงเห็นกันเลย ยังทรงส่งพระราชบรรณาการเห็นปานนี้ สมควรแท้เพื่อทำพระราชาเห็นปานนี้ให้เป็นมิตร.
               พระราชาทรงให้ตีราคาผ้ากัมพลแต่ละผืน. ผ้ากัมพลทุกผืนหาค่ามิได้. ในผ้ากัมพลแปดผืนนั้น ทรงถวายสี่ผืนแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า. ทรงไว้ใช้สี่ผืนในพระราชวังของพระองค์.
               แต่นั้น ทรงพระราชดำริว่า การที่เราเมื่อจะส่งภายหลังก็ควรส่งบรรณาการดีกว่าบรรณาการที่ส่งแล้วก่อน ก็พระสหายได้ส่งบรรณาการอันหาค่ามิได้แก่เรา เราจะส่งอะไรดีหนอ. ก็ในกรุงราชคฤห์ไม่มีวัตถุที่ดียิ่งกว่านั้นหรือ. ไม่มีหามิได้ พระราชาทรงมีบุญมาก ก็อีกประการหนึ่ง จำเดิมแต่กาลที่พระองค์ทรงเป็นพระโสดาบันแล้ว เว้นจากพระรัตนตรัยแล้ว ไม่มีสิ่งใดอื่น ที่ชื่อว่าสามารถเพื่อยังพระโสมนัสให้เกิดขึ้นได้. พระองค์จึงทรงปรารภเพื่อทรงเลือกรัตนะ.
               ธรรมดารัตนะมี ๒ อย่างคือ มีวิญญาณ ไม่มีวิญญาณ. ในรัตนะ ๒ อย่างนั้น รัตนะที่ไม่มีวิญญาณ ได้แก่ทองและเงินเป็นต้น ที่มีวิญญาณได้แก่สิ่งที่เนื่องกับอินทรีย์. รัตนะที่ไม่มีวิญญาณเป็นเครื่องใช้ ด้วยสามารถแห่งเครื่องประดับเป็นต้นของรัตนะที่มีวิญญาณนั้นเทียว. ในรัตนะ ๒ อย่างนี้ รัตนะที่มีวิญญาณประเสริฐที่สุด.
               รัตนะแม้มีวิญญาณมี ๒ อย่าง คือ ติรัจฉานรัตนะ มนุษยรัตนะ. ในรัตนะ ๒ อย่างนั้น ดิรัจฉานรัตนะ ได้แก่ช้างแก้วและม้าแก้ว. ดิรัจฉานรัตนะแม้นั้น เกิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องใช้ของมนุษย์ทั้งหลายนั้นเทียว. ในรัตนะ ๒ อย่างนั้น มนุษยรัตนะประเสริฐที่สุดด้วยประการฉะนี้.
               แม้มนุษยรัตนะก็มี ๒ อย่างคือ อิตถีรัตนะ ปุริสรัตนะ. ในรัตนะ ๒ อย่างนั้น แม้อิตถีรัตนะซึ่งเกิดแก่พระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมเป็นอุปโภคของบุรุษแล. ในรัตนะ ๒ อย่างนี้ ปุริสรัตนะเทียวประเสริฐที่สุดด้วยประการฉะนี้.
               แม้ปุริสรัตนะก็มี ๒ อย่างคือ อาคาริกรัตนะ ๑ อนาคาริกรัตนะ ๑. แม้ในอาคาริกรัตนะนั้น พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงนมัสการสามเณรที่บวชในวันนี้ด้วยพระเบญจางคประดิษฐ์. ในรัตนะทั้ง ๒ อย่างแม้นี้ อนาคาริกรัตนะเท่านั้นประเสริฐที่สุด.
               แม้อนาคาริกรัตนะก็มี ๒ อย่างคือ เสกขรัตนะ ๑ อเสกขรัตนะ ๑. ในอนาคาริกรัตนะ ๒ อย่างนั้น พระเสกขะตั้งแสนย่อมไม่ถึงส่วนแห่งพระอเสกขะ. ในรัตนะ ๒ อย่างแม้นี้ อเสกขรัตนะเท่านั้นประเสริฐที่สุด.
               อเสกขรัตนะแม้นั้นก็มี ๒ อย่างคือ พุทธรัตนะ สาวกรัตนะ. ในอเสกขรัตนะนั้น สาวกรัตนะแม้ตั้งแสน ก็ไม่ถึงส่วนของพุทธรัตนะ. ในรัตนะ ๒ อย่างแม้นี้ พุทธรัตนะเท่านั้นประเสริฐที่สุดด้วยประการฉะนี้.
               แม้พุทธรัตนะก็มี ๒ อย่าง คือ ปัจเจกพุทธรัตนะ สัพพัญญูพุทธรัตนะ. ในพุทธรัตนะนั้น ปัจเจกพุทธรัตนะแม้ตั้งแสน ก็ไม่ถึงส่วนของสัพพัญญูพุทธเจ้า. ในรัตนะ ๒ อย่างแม้นี้ สัพพัญญูพุทธรัตนะเท่านั้น ประเสริฐที่สุดด้วยประการฉะนี้.
               ก็ขึ้นชื่อว่า รัตนะที่เสมอด้วยพุทธรัตนะย่อมไม่มีในโลกพร้อมทั้งเทวโลก. เพราะฉะนั้น จึงทรงพระราชดำริว่า เราจักส่งรัตนะที่ไม่มีอะไรเสมอเท่านั้นแก่พระสหายของเรา จึงตรัสถามพวกพ่อค้าชาวนครตักกสิลาว่า ดูก่อนพ่อทั้งหลาย รัตนะ ๓ อย่างนี้คือ พุทธะ ธรรมะ สังฆะย่อมปรากฏในชนบทของพวกท่านหรือ. ข้าแต่มหาราช แม้เสียงก็ไม่มีในชนบทนั้น ก็การเห็นจักมีแต่ที่ไหนเล่า.
               พระราชาทรงยินดีแล้ว ทรงพระราชดำริว่า เราอาจเพื่อจะส่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสู่สถานที่เป็นที่อยู่ของพระสหายเรา เพื่อประโยชน์แก่การสงเคราะห์ชน แต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะไม่ทรงแรมคืนในปัจจันตชนบททั้งหลาย เพราะฉะนั้น พระศาสดาจะไม่อาจเสด็จไป. พึงอาจส่งพระมหาสาวกมีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นต้น แต่เราฟังมาว่า พระเถระทั้งหลายอยู่ในปัจจันตชนบทสมควรเพื่อส่งคนทั้งหลายไปนำพระเถระเหล่านั้นมาสู่ที่ใกล้ตนแล้ว บำรุงเทียว เพราะฉะนั้น แม้พระเถระทั้งหลายไม่อาจไป ครั้นส่งสาส์นไปแล้วด้วยบรรณาการใด พระศาสดาและพระมหาสาวกทั้งหลายก็เป็นเหมือนไปแล้ว เราจักส่งสาส์นด้วยบรรณาการนั้น ดังนี้
               ทรงพระราชดำริอีกว่า เราให้ทำแผ่นทองคำ ยาวสี่ศอก กว้างประมาณหนึ่งคืบ หนาพอควร ไม่บางนักไม่หนานัก แล้วจักลิขิตอักษรลงในแผ่นทองคำนั้นในวันนี้ ทรงสนานพระเศียรตั้งแต่เช้าตรู่ ทรงอธิษฐานองค์พระอุโบสถ ทรงเสวยพระกระยาหารเช้า ทรงเปลื้องพระสุคนธมาลาและอาภรณ์ออก ทรงถือชาดสีแดงด้วยพระขันทอง ทรงปิดพระทวารทั้งหลาย ตั้งแต่ชั้นล่าง เสด็จขึ้นพระปราสาท ทรงเปิดพระสีหบัญชรด้านทิศตะวันออก ประทับนั่งบนพื้นอากาศ ทรงลิขิตพระอักษรลงในแผ่นทองคำ
               ทรงลิขิตพระพุทธคุณโดยเอกเทศก่อนว่า
               พระตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี ทรงรู้แจ้งโลก ทรงเป็นสารถีฝึกคนอย่างยอดเยี่ยม เป็นพระศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงตื่นแล้ว ทรงจำแนกพระธรรม เสด็จอุบัติในโลกนี้ ดังนี้.
               ต่อแต่นั้น ทรงลิขิตว่า พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศอย่างนี้ ทรงจุติจากชั้นดุสิต ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์พระมารดา การเปิดโลกได้มีแล้วอย่างนี้ เมื่อทรงอยู่ในพระครรภ์มารดา ชื่อนี้ได้มีแล้ว เมื่อทรงอยู่ครอบครองเรือน ชื่อนี้ได้มีแล้ว เมื่อเสด็จออกพระมหาภิเนษกรมณ์อย่างนี้ ทรงเริ่มตั้งความเพียรอันยิ่งใหญ่อย่างนี้ ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างนี้ เสด็จขึ้นสู่ควงมหาโพธิ ประทับนั่งบนอปราชิตบัลลังก์แล้ว ทรงแทงตลอดสัพพัญญุญาณ เมื่อทรงแทงตลอดสัพพัญญุญาณ เป็นอันมีการเปิดโลกแล้วอย่างนี้ ขึ้นชื่อว่ารัตนะเห็นปานนี้อื่นไม่มีในโลกพร้อมกับเทวโลก ดังนี้
               ทรงลิขิตพระพุทธคุณทั้งหลายโดยเอกเทศอย่างนี้ว่า
                         ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ในโลกนี้หรือโลกอื่น
                         หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้นเสมอ
                         ด้วยพระตถาคต ไม่มี พุทธรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต
                         ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี ดังนี้
               เมื่อจะทรงชมเชยธรรมรัตนะที่สองว่า
               พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว ฯลฯ อันวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้เฉพาะตน ดังนี้แล้ว ทรงลิขิตโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ โดยเอกเทศว่า สติปัฏฐานสี่ ฯลฯ มรรคมีองค์แปดอันประเสริฐ ชื่อว่าพระธรรมอันพระศาสดาทรงแสดงแล้ว เห็นปานนี้และเห็นปานนี้ ดังนี้
               แล้วทรงลิขิตพระธรรมคุณทั้งหลายโดยเอกเทศว่า
                         พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดทรงสรรเสริญแล้ว
                         ซึ่งสมาธิใดว่า เป็นธรรมอันสะอาด บัณฑิต
                         ทั้งหลายกล่าว ซึ่งสมาธิใดว่าให้ผลในลำดับ
                         สมาธิอื่นเสมอด้วยสมาธินั้น ย่อมไม่มี
                         ธรรมรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต
                         ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมี ดังนี้
               ต่อแต่นั้น เมื่อจะทรงชมเชยพระสังฆรัตนะที่สามว่า
               พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดี ฯลฯ เป็นเนื้อนาบุญของโลก ดังนี้
               ทรงลิขิตจุลศีล มัชฌิมศีลและมหาศีลโดยเอกเทศว่า ธรรมดากุลบุตรทั้งหลายฟังธรรมกถาของพระศาสดาแล้ว ออกบวชอย่างนี้ บางพวกละเศวตฉัตรบวช บางพวกละความเป็นอุปราชบวช บางพวกละตำแหน่งทั้งหลายมีตำแหน่งเสนาบดีเป็นต้นบวช ก็แล ครั้นบวชแล้ว บำเพ็ญปฏิบัตินี้ ทรงลิขิตการสำรวมในทวารหก สติสัมปชัญญะ ความยินดีในการเจริญสันโดษด้วยปัจจัยสี่ การละนีวรณ์ บริกรรมฌานและอภิญญา กรรมฐาน ๓๘ ประการ จนถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะโดยเอกเทศ ทรงลิขิตอานาปานสติกรรมฐาน ๑๖ ประการโดยพิสดารเทียว ทรงลิขิตพระสังฆคุณทั้งหลายโดยเอกเทศว่า ชื่อว่าพระสงฆ์สาวกของพระศาสดาถึงพร้อมด้วยคุณทั้งหลายเห็นปานนี้และเห็นปานนี้
                         บุคคลเหล่าใด ๘ จำพวก ๔ คู่ อันสัตบุรุษทั้งหลาย
                         สรรเสริญแล้ว บุคคลเหล่านั้นควรแก่ทักษิณาทาน
                         เป็นสาวกของพระสุคต ทานทั้งหลายอันบุคคล
                         ถวายแล้วในท่านเหล่านั้นย่อมมีผลมาก สังฆรัตนะ
                         แม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความ
                         สวัสดีจงมี
               ทรงลิขิตว่า ศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว เป็นศาสนานำสัตว์ออกจากทุกข์ ถ้าพระสหายของเราจะอาจไซร้ ขอได้เสด็จออกทรงผนวชเถิด ดังนี้ ทรงม้วนแผ่นทองคำ พันด้วยผ้ากัมพลเนื้อละเอียด ทรงใส่ในหีบอันแข็งแรง ทรงวางหีบนั้นในหีบทองคำ ทรงวางหีบทองคำลงในหีบเงิน ทรงวางหีบเงินลงในหีบแก้วมณี ทรงวางหีบแก้วมณีลงในหีบแก้วประพาฬ ทรงวางหีบแก้วประพาฬลงในหีบทับทิม ทรงวางหีบทับทิมลงในหีบแก้วมรกต ทรงวางหีบแก้วมรกตลงในหีบแก้วผลึก ทรงวางหีบแก้วผลึกลงในหีบงา ทรงวางหีบงาลงในหีบรัตนะทุกอย่าง ทรงวางหีบรัตนะทุกอย่างลงในหีบเสื่อลำแพน ทรงวางหีบเสื่อลำแพนลงในผอบแข็งแรง
               ทรงวางผอบแข็งแรงลงในผอบทองอีก ทรงนำไปโดยนัยก่อนนั้นเทียว ทรงวางผอบที่ทำด้วยรัตนะทุกอย่างลงในผอบที่ทำด้วยเสื่อลำแพน.
               แต่นั้น ทรงวางผอบที่ทำด้วยเสื่อลำแพนลงในหีบที่ทำด้วยไม้แก่น ทรงนำไปโดยนัยกล่าวแล้วอีกนั้นเทียว ทรงวางหีบที่ทำด้วยรัตนะทุกชนิดลงในหีบที่ทำด้วยเสื่อลำแพน ข้างนอกทรงพันด้วยผ้าประทับตราพระราชลัญจกร ตรัสสั่งอำมาตย์ทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายจงตกแต่งทางในสถานที่ซึ่งอยู่ในอำนาจของเรา ทำให้กว้างแปดอุสภะ สถานที่สี่อุสภะ ต้องให้งามเสมอ ท่านทั้งหลายจงตกแต่งสถานที่สี่อุสภะ ในท่ามกลางด้วยอานุภาพของพระราชา.
               แต่นั้น ทรงส่งทูตด่วนแก่ข้าราชการภายในว่า จงประดับช้างมงคล จัดบัลลังก์บนช้างนั้น ยกเศวตฉัตร ทำถนนพระนครให้สวยงาม ประดับประดาอย่างดี ด้วยธงปฏากอันงดงาม ต้นกล้วย หม้อน้ำที่เต็ม ของหอม ธูปและดอกไม้เป็นต้น จงทำบูชาเห็นปานนี้ ในสถานที่ครอบครองของตนๆ ดังนี้
               ส่วนพระองค์ทรงประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง อันกองกำลังพร้อมกับดนตรีทุกชนิดแวดล้อม ทรงพระราชดำริว่า เราจะส่งบรรณาการไปดังนี้ เสด็จไปจนสุดพระราชอาณาเขตของพระองค์แล้ว ได้พระราชทานพระราชสาส์นสำคัญแก่อำมาตย์แล้วตรัสว่า ดูก่อนพ่อ พระเจ้าปุกกุสาติพระสหายของเรา เมื่อจะทรงรับบรรณาการนี้ อย่ารับในท่ามกลางตำหนักนางสนมกำนัล จงเสด็จขึ้นพระปราสาทแล้วทรงรับเถิด.
               ครั้นพระราชทานพระราชสาส์นนี้แล้ว ทรงพระราชดำริว่า พระศาสดาเสด็จไปสู่ปัจจันตประเทศ ทรงนมัสการด้วยพระเบญจางคประดิษฐ์แล้วเสด็จกลับ. ส่วนข้าราชการภายในทั้งหลายตกแต่งทางโดยทำนองนั้นเทียว นำไปซึ่งพระราชบรรณาการ.
               ฝ่ายพระเจ้าปุกกุสาติทรงตกแต่งทางโดยทำนองนั้น ตั้งแต่รัชสีมาของพระองค์ ทรงให้ประดับประดาพระนคร ได้ทรงกระทำการต้อนรับพระราชบรรณาการ. พระราชบรรณาการเมื่อถึงพระนครตักกสิลา ได้ถึงในวันอุโบสถ.
               ฝ่ายอำมาตย์ผู้รับพระราชบรรณการไปทูลบอกพระราชสาส์นที่กล่าวแด่พระราชา. พระราชาทรงสดับพระราชสาส์นนั้นแล้ว ทรงพิจารณากิจที่ควรทำแก่อำมาตย์ทั้งหลายผู้มาพร้อมกับพระราชบรรณาการ ทรงถือพระราชบรรณาการ เสด็จขึ้นสู่พระปราสาทแล้วตรัสว่า ใครๆ อย่าเข้ามาในที่นี้.
               ทรงให้ทำการรักษาที่พระทวาร ทรงเปิดพระสีหบัญชร ทรงวางพระราชบรรณาการ บนที่พระบรรทมสูง ส่วนพระองค์ประทับนั่งบนอาสนะต่ำ ทรงทำลายรอยประทับ ทรงเปลื้องเครื่องห่อหุ้ม เมื่อทรงเปิดโดยลำดับจำเดิมแต่หีบเสื่อลำแพน ทรงเห็นหีบซึ่งทำด้วยแก่นจันทร์ ทรงพระราชดำริว่า ชื่อว่ามหาบริวารนี้จักไม่มีแก่รัตนะอื่น รัตนะที่ควรฟังได้เกิดขึ้นแล้วในมัชฌิมประเทศแน่แท้.
               ลำดับนั้น ทรงเปิดหีบนั้นแล้ว ทรงทำลายรอยประทับพระราชลัญจนะ ทรงเปิดผ้ากัมพลอันละเอียดทั้งสองข้าง ทรงเห็นแผ่นทองคำ. พระองค์ทรงคลี่แผ่นทองคำนั้นออก ทรงพระราชดำริว่า พระอักษรทั้งหลายน่าพอใจจริงหนอ มีหัวเท่ากัน มีระเบียบเรียบร้อย มีมุมสี่ ดังนี้ ทรงปรารภเพื่อจะทรงอ่านจำเดิมแต่ต้น.
               พระโสมนัสอันมีกำลังได้เกิดขึ้นแก่พระองค์ที่ทรงอ่านแล้วอ่านอีกซึ่งพระพุทธคุณทั้งหลายว่า พระตถาคตทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้. ขุมพระโลมาเก้าหมื่นเก้าพันขุม ก็มีปลายพระโลมชูชันขึ้น. พระองค์ไม่ทรงทราบถึงความที่พระองค์ประทับยืนหรือประทับนั่ง.
               ลำดับนั้น พระปีติอันมีกำลังอย่างยิ่งได้บังเกิดขึ้นแก่พระองค์ว่า เราได้ฟังพระศาสนาที่หาได้โดยยากนี้ แม้โดยแสนโกฏิกัป เพราะอาศัยพระสหาย. พระองค์เมื่อไม่อาจเพื่อทรงอ่านต่อไป ก็ประทับนั่งจนกว่ากำลังปีติสงบระงับ แล้วทรงปรารภพระธรรมคุณทั้งหลายต่อไปว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วดังนี้. พระองค์ก็ทรงมีพระปีติอย่างนั้นแม้ในพระธรรมคุณนั้นเทียว. พระองค์ประทับนั่งอีกจนกว่าความสงบแห่งกำลังปีติ ทรงปรารภพระสังฆคุณทั้งหลายต่อไปว่า พระสงฆ์สาวกเป็นผู้ปฏิบัติดี. ในพระสังฆคุณแม้นั้น พระองค์ก็ทรงมีพระปีติอย่างนั้นเหมือนกัน.
               ลำดับนั้น ทรงอ่านอานาปานสติกัมมัฏฐาน ในลำดับสุดท้าย ทรงยังฌานหมวดสี่และหมวดห้าให้เกิดขึ้น. พระองค์ทรงยังเวลาให้ล่วงไป ด้วยความสุขในฌานนั้นและ. ใครอื่นย่อมไม่ได้เพื่อเห็น. มหาดเล็กประจำพระองค์คนเดียวเท่านั้น ย่อมเข้าไปได้. ทรงยังเวลาประมาณกึ่งเดือนให้ผ่านไปด้วยประการฉะนี้.
               ชาวพระนครทั้งหลายประชุมกันในพระลานหลวง ได้ทำการโห่ร้องตะโกนว่า จำเดิมแต่วันที่พระราชาทรงรับพระราชบรรณาการแล้ว ไม่มีการทอดพระเนตรพระนคร หรือการทอดพระเนตรดูนางฟ้อนรำ ไม่มีการพระราชทานวินิจฉัย พระราชาจงทรงพระราชทานพระราชบรรณาการที่พระสหายส่งมาให้แก่ผู้รับไปเถิด ธรรมดาพระราชาทั้งหลาย ย่อมทรงพยายามเพื่อหลอกลวงแม้ด้วยเครื่องบรรณาการ ยึดพระราชสมบัติของพระราชาบางพระองค์ให้แก่ตน พระราชาของพวกเราทรงทำอะไรหนอ ดังนี้.
               พระราชาทรงสดับเสียงตะโกนแล้วทรงพระราชดำริว่า เราจะธำรงไว้ซึ่งราชสมบัติหรือพระศาสดา. ลำดับนั้น พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า ประธานและมหาอำมาตย์ของประธานย่อมไม่อาจเพื่อจะนับความที่เราเสวยราชสมบัติได้ เราจักธำรงไว้ซึ่งพระศาสนาของพระศาสดา ดังนี้. ทรงจับพระแสงดาบที่ทรงวางไว้บนพระที่บรรทม ตัดพระเกศาแล้วทรงเปิดพระสีหบัญชร ทรงยังกำพระเกศาพร้อมกับพระจุฑามณีให้ตกลงในท่ามกลางบริษัทว่า ท่านทั้งหลายถือเอากำเกศานี้ครองราชสมบัติเถิด.
               มหาชนยกกำพระเกศานั้นขึ้นแล้ว ร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า ข้าแต่พระสมมติเทพ พระราชาทั้งหลายชื่อว่าได้พระราชบรรณาการจากสำนักพระสหายแล้ว ย่อมเป็นเช่นกับพระองค์. พระเกศาและพระมัสสุประมาณสององคุลีแม้ของพระราชาได้มีแล้ว.
               ได้ยินว่า พระเกศาและพระมัสสุเกิดเป็นเช่นกับบรรพชาของพระโพธิสัตว์นั้นแล.
               ลำดับนั้น ทรงส่งมหาดเล็กประจำพระองค์ให้นำผ้ากาสาวพัสตร์สองผืน และบาตรดินจากในตลาด ทรงอุทิศต่อพระศาสดาว่า พระอรหันต์เหล่าใดในโลก เราบวชอุทิศพระอรหันต์เหล่านั้น ดังนี้ แล้วทรงนุ่งผ้ากาสาวะผืนหนึ่ง ทรงห่มผ้ากาสาวะผืนหนึ่ง ทรงสะพายบาตร ทรงถือธารพระกร ทรงจงกรมไปมาสอง-สามครั้งในพื้นใหญ่ ด้วยพระราชดำริว่า บรรพชาของเรางามหรือไม่ ดังนี้ ทรงทราบว่า บรรพชาของเรางามดังนี้แล้ว ทรงเปิดพระทวาร เสด็จลงจากพระปราสาท.
               ก็ประชาชนทั้งหลายเห็นนางฟ้อนผู้ยืนที่ประตูทั้งสามเป็นต้น แต่จำพระราชานั้นซึ่งเสด็จลงมาไม่ได้. ได้ยินว่า พากันคิดว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งมาเพื่อแสดงธรรมกถาแก่พระราชาของพวกเรา. แต่ครั้นขึ้นบนพระปราสาทแล้ว เห็นแต่ที่ประทับยืนและที่ประทับนั่งเป็นต้นของพระราชารู้ว่า พระราชาเสด็จไปเสียแล้ว จึงพากันร้องพร้อมกันทีเดียว เหมือนชนในเรือกำลังอับปางจมน้ำในท่ามกลางสมุทรฉะนั้น. เสนีทั้งสิบแปด ชาวนครทั้งหมดและพลกายทั้งหลายพากันแวดล้อมกุลบุตรผู้สักว่าเสด็จลงสู่พื้นแผ่นดินแล้ว ร้องเสียงดัง.
               ฝ่ายอำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลแด่กุลบุตรนั้นว่า ข้าแต่เทวะ ธรรมดาพระราชาทั้งหลายในมัชฌิมประเทศทรงมีมายามาก ขอพระองค์ได้โปรดส่งพระราชสาส์นไปว่า ขึ้นชื่อว่าพุทธรัตนะ ได้เกิดขึ้นในโลกแล้วหรือไม่ ทรงทราบแล้วจักเสด็จไป ขอเดชะ ขอพระองค์จงเสด็จกลับเถิด.
               เราเชื่อพระสหายของเรา เรากับพระสหายนั้นไม่มีความต่างกัน พวกเจ้าจงหยุดเถิด. อำมาตย์เหล่านั้นก็ติดตามเสด็จนั้นเทียว. กุลบุตรทรงเอาธารพระกรขีดเป็นตัวหนังสือ ตรัสว่า ราชสมบัตินี้เป็นของใคร. ของพระองค์ ขอเดชะ. ผู้ใดทำตัวหนังสือนี้ในระหว่าง บุคคลนั้นพึงให้เสวยพระราชอำนาจ.
               พระเทวีพระนามว่า สีวลี เมื่อไม่ทรงอาจเพื่อทำพระอักษรที่พระโพธิสัตว์กระทำแล้วในมหาชนกชาดก ให้มีระหว่างก็เสด็จกลับไป. มหาชนก็ได้ไปตามทางที่พระเทวีเสด็จไป. ก็มหาชนไม่อาจเพื่อทำพระอักษรนั้นให้มีในระหว่าง. ชาวนครทำพระอักษรนี้ไว้เหนือศีรษะกลับไปร้องแล้ว. มหาชนคิดว่ากุลบุตรนี้จักให้ไม้สีฟันหรือน้ำบ้วนปาก ในสถานที่เราไปแล้ว ดังนี้ เมื่อไม่ได้อะไรโดยที่สุดแม้เศษผ้าก็หลีกไป.
               ได้ยินว่า กุลบุตรนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า พระศาสดาของเราเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงบรรพชาพระองค์เดียวเสด็จไปพระองค์เดียว เราละอายต่อพระศาสดา ได้ยินว่า พระศาสดาของเราทรงบรรพชาแล้ว ไม่เสด็จขึ้นยาน และไม่ทรงสวมฉลองพระบาทโดยที่สุดแม้ชั้นเดียว ไม่ทรงกั้นร่มกระดาษ. มหาชนขึ้นต้นไม้กำแพงและป้อมเป็นต้นแลดูว่า พระราชาของเราเสด็จไปดังนี้.
               กุลบุตรคิดว่า เราเดินทางไกล ไม่อาจเพื่อจะไปทางหนึ่งได้ จึงเสด็จติดตามพ่อค้าพวกหนึ่ง. เมื่อกุลบุตรผู้สุขุมมาลไปในแผ่นดินที่ร้อนระอุ พื้นพระบาททั้งสองข้าง ก็กลัดหนองแตกเป็นแผล. ทุกข์เวทนาก็เกิดขึ้น.
               ครั้นเมื่อพวกพ่อค้าตั้งค่ายพักนั่งแล้ว กุลบุตรก็ลงจากทาง นั่ง ณ โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง. ชื่อว่าผู้ทำบริกรรมเท้า หรือนวดหลังในที่นั่ง ไม่มี. กุลบุตรเข้าอานาปานจตุตถฌาน ข่มความลำบากในทางความเหน็ดเหนื่อยและความเร่าร้อน ยังเวลาให้ผ่านไปด้วยความยินดีในฌาน.
               ในวันรุ่งขึ้น เมื่ออรุณขึ้นแล้ว ทำการปฏิบัติสรีระ เดินติดตามพวกพ่อค้าอีก.
               ในเวลาอาหารเช้า พวกพ่อค้ารับบาตรของกุลบุตรแล้วใส่ขาทนียะและโภชนียะลงในบาตรถวาย. ขาทนียะและโภชนียะนั้นเป็นข้าวสารดิบบ้าง เศร้าหมองบ้าง. แข็งเสมอกับก้อนกรวดบ้าง จืดและเค็มจัดบ้าง. กุลบุตรพิจารณาสถานที่พัก บริโภคขาทนียะและโภชนียะนั้นดุจอมฤตโดยทำนองนั้น เดินไปสิ้นทาง ๒๐๐ โยชน์ต่ำกว่า ๘ โยชน์ (๑๙๒ โยชน์) แม้จะเดินไปใกล้ซุ้มประตูพระเชตวันก็ตาม แต่ก็ไม่ถามว่า พระศาสดาประทับอยู่ ณ ที่ไหน. เพราะเหตุไร. เพราะเคารพในพระศาสดา และเพราะอำนาจแห่งพระราชสาส์นที่พระราชาทรงส่งไป.
               ก็พระราชาทรงส่งพระราชสาส์นไป ทรงทำดุจพระศาสดาทรงอุบัติในกรุงราชคฤห์ว่า พระตถาคตทรงอุบัติในโลกนี้. เพราะฉะนั้น จึงไม่ถาม เดินทางไปสิ้น ๔๕ โยชน์.
               ในเวลาพระอาทิตย์ตก กุลบุตรนั้นไปถึงกรุงราชคฤห์ จึงถามว่า พระศาสดาทรงประทับ ณ ที่ไหน. ท่านมาจากที่ไหนขอรับ. จากอุตตรประเทศนี้. พระนครชื่อว่า สาวัตถี มีอยู่ในทางที่ท่านมา ไกลจากพระนครราชคฤห์นี้ประมาณ ๔๕ โยชน์ พระศาสดาประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถีนั้น. กุลบุตรนั้นคิดว่า บัดนี้ไม่ใช่กาล เราไม่อาจกลับ วันนี้เราพักอยู่ในที่นี้ก่อน พรุ่งนี้จักไปสู่สำนักพระศาสดา. แต่นั้นจึงถามว่า เหล่าบรรพชิตที่มาถึงในยามวิกาล พัก ณ ที่ไหน. พัก ณ ศาลานายช่างหม้อนี้ ท่าน. ลำดับนั้น กุลบุตรนั้นขอพักกะนายช่างหม้อนั้นแล้ว เข้าไปนั่งเพื่อประโยชน์แก่การพักอาศัยในศาลาของนายช่างหม้อนั้น.
               ในเวลาใกล้รุ่งวันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูโลก ทรงเห็นกุลบุตรชื่อว่าปุกกุสาติ ทรงพระดำริว่า กุลบุตรนี้อ่านเพียงสาส์นที่พระสหายส่งไป ละราชสมบัติใหญ่ เกินร้อยโยชน์ บวชอุทิศเจาะจงเรา เดินทางสิ้น ๑๙๒ โยชน์ถึงกรุงราชคฤห์ ก็เมื่อเราไม่ไป จักไม่แทงตลอดสามัญญผล ๓ จะทำกาลกิริยาไร้ที่พึ่ง โดยการพักคืนเดียว แต่ครั้นเมื่อเราไปแล้ว จักแทงตลอดสามัญญผล ๓ ก็เราบำเพ็ญบารมีทั้งหลายสิ้นสี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป เพื่อประโยชน์แก่การสงเคราะห์ชนเท่านั้น เราจักทำการสงเคราะห์แก่กุลบุตรปุกกุสาตินั้น ดังนี้
               ทรงทำการปฏิบัติพระสรีระแต่เช้าตรู่ มีพระภิกษุสงฆ์แวดล้อม เสด็จบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ภายหลังภัตเสด็จกลับจากบิณฑบาต เสด็จเข้าพระคันธกุฏิ ทรงระงับความลำบากในการเดินทางครู่หนึ่ง
               ทรงพระดำริว่า กุลบุตรได้ทำกิจที่ทำได้ยากเพราะความเคารพในเรา ละราชสมบัติเกินหนึ่งร้อยโยชน์ ไม่ถือเศษผ้า โดยที่สุดแม้คนผู้ให้น้ำบ้วนปาก ออกไปเพียงคนเดียว ดังนี้ ไม่ตรัสอะไรในพระเถระทั้งหลายมีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นต้น พระองค์เองทรงถือบาตรและจีวรของพระองค์ เสด็จออกไปเพียงพระองค์เดียว และเมื่อเสด็จไป ก็ไม่ได้ทรงเหาะไป ไม่ทรงย่นแผ่นดิน. ทรงพระดำริอีกว่า กุลบุตรละอายต่อเราไม่นั่งแม้ในยานหนึ่ง ในบรรดาช้าง ม้า รถและวอทองเป็นต้น โดยที่สุดไม่สวมรองเท้าชั้นเดียว ไม่กางร่มกระดาษออกไป แม้เราก็ควรไปด้วยเท้าเท่านั้น ดังนี้ จึงเสด็จไปด้วยพระบาท.
               พระองค์ทรงปกปิดพระพุทธสิรินี้ คือ อนุพยัญชนะ ๘๐ รัศมี ๑ วา มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ เสด็จไปด้วยเพศของภิกษุรูปหนึ่ง ดุจพระจันทร์เพ็ญที่หมอกเมฆปกปิดไว้ฉะนั้น โดยปัจฉาภัตเดียวเท่านั้น ก็เสด็จไปได้ ๔๕ โยชน์ ในเวลาพระอาทิตย์ตก ก็เสด็จถึงศาลาของนายช่างหม้อนั้น ในขณะที่กุลบุตรเข้าไปแล้วนั้นแล.
               ท่านหมายถึงศาลาของนายช่างหม้อนั้น จึงกล่าวว่า ก็โดยสมัยนั้นแล กุลบุตรชื่อว่าปุกกุสาติ มีศรัทธาออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้า เขาเข้าไปพักในนิเวศน์ของนายช่างหม้อนั้นก่อน ดังนี้.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ครั้นเสด็จไปอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ทรงข่มขู่ว่า เราเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จไปยังศาลาของนายช่างหม้อประทับยืนที่ประตูนั้นแล เมื่อจะให้กุลบุตรทำโอกาส จึงตรัสว่า สเจ เต ภิกฺขุ ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า อุรุทฺทํ ได้แก่ สงัดไม่คับแคบ.
               บทว่า วิหรตายสฺมา ยถาสุขํ ความว่า กุลบุตรทำโอกาสว่า ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอยู่เป็นสุข ตามอิริยาบถที่มีความผาสุกเถิด.
               ก็กุลบุตรละราชสมบัติเกินหนึ่งร้อยโยชน์แล้วบวช จักตระหนี่ศาลาของนายช่างหม้อที่คนอื่นทอดทิ้ง เพื่อพรหมจารีอื่นหรือ. ก็โมฆบุรุษบางพวกบวชในศาสนาแล้ว ถูกความตระหนี่ทั้งหลายมีความตระหนี่ เพราะอาวาสเป็นต้นครอบงำ ย่อมตะเกียกตะกาย เพราะอาวาสของบุคคลเหล่าอื่นว่า สถานที่อยู่ของตน เป็นกุฏิของเรา เป็นบริเวณของเรา ดังนี้.
               บทว่า นิสีทิ ความว่า พระโลกนาถทรงสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง ทรงละพระคันธกุฏิเป็นเช่นกับเทพวิมาน ทรงปูลาดสันถัตคือหญ้าในศาลาช่างหม้อซึ่งมีขี้เถ้าเรี่ยราดไปทั่ว สกปรกด้วยภาชนะแตก หญ้าแห้ง ขี้ไก่และขี้สุกรเป็นต้น เป็นเช่นกับที่ทิ้งขยะ ทรงปูปังสุกุลจีวรประทับนั่ง ดุจเสด็จเข้าพระมหาคันธกุฏิ อันมีกลิ่นทิพย์เช่นกับเทพวิมานแล้วประทับนั่งฉะนั้น.
               ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอุบัติในพระมหาสัมมตวงศ์อันไม่เจือปน แม้กุลบุตรก็เจริญแล้วในขัตติยครรภ์. แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงถึงพร้อมด้วยพระอภินิหาร แม้กุลบุตรก็ถึงพร้อมด้วยอภินิหาร. พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ดี กุลบุตรก็ดี ต่างก็ทรงสละราชสมบัติทรงผนวช. แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระวรรณะดุจทอง แม้กุลบุตรก็มีวรรณะดุจทอง พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ดี กุลบุตรก็ดี ทรงมีลาภคือสมาบัติ. ทั้งสองก็ทรงเป็นกษัตริย์ ทั้งสองก็ทรงถึงพร้อมด้วยพระอภินิหาร ทั้งสองก็ทรงผนวชจากราชตระกูล ทั้งสองทรงมีพระวรรณะดุจทอง ทั้งสองทรงมีลาภคือสมาบัติ เสด็จเข้าสู่ศาลาของช่างหม้อแล้ว ประทับนั่ง ด้วยประการฉะนี้.
               ด้วยเหตุนั้น ศาลาช่างหม้อจึงงดงามอย่างยิ่ง. พึงนำสถานที่ทั้งหลายเป็นต้นว่า ถ้ำที่พญาสัตว์ทั้งสองมีสีหะเป็นต้นเข้าไปแสดงเปรียบเทียบเถิด.
               ก็ในบุคคลทั้งสองนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงยังแม้พระหฤทัยให้เกิดขึ้นว่า เราเป็นผู้สุขุมาล เดินทางมาสิ้น ๔๕ โยชน์โดยเวลาหลังภัตเดียว ควรสำเร็จสีหไสยาสักครู่ก่อน ให้หายเหนื่อยจากการเดินทาง ดังนี้ ประทับนั่งเข้าผลสมาบัติเทียว. ฝ่ายกุลบุตรก็ไม่ยังจิตให้เกิดขึ้นว่า เราเดินทางมาสิ้น ๑๙๒ โยชน์ ควรนอนพักบรรเทาความเหนื่อยในการเดินทางสักครู่ก่อน ก็นั่งเข้าอานาปานจตุตถฌานแล.
               ท่านหมายถึงการเข้าสมาบัตินั้น จึงกล่าวว่า อถโข ภควา พหุเทว รตฺตึ เป็นต้น.
               ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาด้วยพระดำริว่า เราจักแสดงธรรมแก่กุลบุตรมิใช่หรือ เพราะเหตุไร จึงไม่ทรงแสดงเล่า.
               ตอบว่า ไม่ทรงแสดง เพราะเหตุว่า กุลบุตรมีความเหน็ดเหนื่อยในการเดินทางยังไม่สงบระงับ จักไม่อาจเพื่อรับพระธรรมเทศนาได้ ขอให้ความเหน็ดเหนื่อยในการเดินทางนั้นของกุลบุตรสงบระงับก่อน. อาจารย์พวกอื่นกล่าวว่า ธรรมดานครราชคฤห์เกลื่อนกล่นด้วยมนุษย์ ไม่สงัดจากเสียง ๑๐ อย่าง เสียงนั้นจะสงบโดยประมาณสองยามครึ่ง พระองค์ทรงรอการสงบเสียงนั้นจึงไม่ทรงแสดง. นั้นไม่ใช่การณ์. เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสามารถเพื่อยังเสียง แม้ประมาณพรหมโลกให้สงบระงับได้ ด้วยอานุภาพของพระองค์. พระองค์ทรงรอความสงบระงับจากความเหน็ดเหนื่อยในการเดินทางก่อน จึงไม่ทรงแสดง.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พหุเทว รตฺตึ ได้แก่ ประมาณสองยามครึ่ง.
               บทว่า เอตทโหสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากผลสมาบัติแล้ว ทรงลืมพระเนตรที่ประดับประดาด้วยประสาทห้าอย่าง ทรงแลดูดุจทรงเปิดสีหบัญชรแก้วมณี ในวิมานทองฉะนั้น.

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค ธาตุวิภังคสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 14 / 1อ่านอรรถกถา 14 / 653อรรถกถา เล่มที่ 14 ข้อ 673อ่านอรรถกถา 14 / 698อ่านอรรถกถา 14 / 853
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=8748&Z=9019
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=5049
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=5049
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :