ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 15 / 4อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต นฬวรรคที่ ๑
โอฆตรณสูตรที่ ๑

               อรรถกถาสังยุตตนิกาย สคาถวรรค               
               อารัมภกถา               
                                   ข้าพเจ้าพระพุทธโฆษาจารย์ขอน้อมนมัสการ
                         ด้วยเศียรเกล้า ซึ่งพระสุคตเจ้าผู้หลุดพ้นแล้วจากคติ
                         ผู้มีพระทัยเยือกเย็นสนิทด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ผู้
                         มีความมืดคือโมหะอันแสงสว่างแห่งปัญญาขจัดแล้ว
                         ผู้เป็นครูของชาวโลกทั้งหลาย พร้อมทั้งมนุษย์และ
                         เทวดา.
                                   พระพุทธเจ้าทรงทำให้แจ้งพระสัพพัญญุตญาณ
                         ทรงเข้าถึงพระธรรมใดอันมีมลทินไปปราศแล้ว ข้าพเจ้า
                         ขอน้อมนมัสการพระธรรมอันเยี่ยมนั้นด้วยเศียรเกล้า.
                                   ข้าพเจ้าขอน้อมนมัสการด้วยเศียรเกล้า ซึ่งพระ
                         อริยสงฆ์เจ้าอยู่เป็นหมู่แห่งพระอริยบุคคลแม้ทั้งแปด
                         พวก ผู้เป็นบุตรอันเกิดแต่พระอุระของพระสุคตเจ้า
                         ผู้ย่ำยีเสียได้ซึ่งมารและเสนามาร.

               บุญใดสำเร็จแล้วด้วยการกราบไหว้พระรัตนตรัยของข้าพเจ้าผู้มีจิตเลื่อมใสแล้วด้วยประการฉะนี้ ด้วยอานุภาพแห่งบุญนั้น ข้าพเจ้าเป็นผู้มีอันตรายอันขจัดดีแล้ว อรรถกถาใดอันพระขีณาสพ ๕๐๐ องค์ผู้ชำนาญแตกฉานในปฏิสัมภิทาช่วยกันร้อยกรองแล้วตั้งแต่ปฐมสังคายนา ต่อมามีการร้อยกรองอีกสองครั้ง คือในทุติย-ตติยสังคายนา เพื่อประกาศเนื้อความของปกรณ์สังยุตตนิกายอันประเสริฐ ซึ่งประดับด้วยวรรคแห่งสังยุตอันจำแนกญาณต่างๆ ที่พระพุทธะและสาวกของพระพุทธะพรรณนาไว้ดีแล้ว
               ก็อรรถกถานั้นแหละ อันพระมหินทเถระผู้ชำนาญจากประเทศอินเดียนำมายังเกาะสิงหล (ประเทศศรีลังกา) ต่อมาได้ประดิษฐานไว้ด้วยภาษาสิงหล เพื่อประโยชน์แก่หมู่ชนชาวเกาะ ข้าพเจ้านำอรรถกถาภาษาสิงหลออกแปลเป็นภาษามคธซึ่งเป็นภาษาที่น่ารื่นรมย์ ถูกต้องตามระเบียบพระบาลีไม่มีภาษาอื่นปะปน ไม่ขัดแย้งทฤษฎีของพระเถระทั้งหลายผู้อยู่ในมหาวิหาร ผู้เป็นดังประทีปของเถระวงศ์ ผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ละเอียดรอบคอบ จักตัดข้อความที่ซ้ำๆ ออกแล้วจักประกาศเนื้อความอรรถกถาสังยุตตนิกายนี้ เพื่อความชื่นชมยินดีของสาธุชนและเพื่อดำรงอยู่สิ้นกาลนานแห่งพระธรรม.
               การพรรณนาอันใดที่กระทำไว้ในพระนครทั้งหลายอันสืบเนื่องมาจากพระนครสาวัตถี ภายหลังได้ร้อยกรองอีกสองครั้งนั้น ได้ยินว่า เรื่องทั้งหลายและพุทธพจน์ที่กล่าวไว้ในพระนครนั้นเป็นไปโดยพิสดาร ข้าพเจ้าจักกล่าวอรรถกถานั้นในที่นี้จักไม่กล่าวให้พิสดารเกินไป ส่วนอรรถกถาแห่งพระสูตรเหล่าใดเว้นจากเรื่องย่อมไม่แจ่มแจ้ง เพื่อความแจ่มแจ้งแห่งพระสูตรนั้น ข้าพเจ้าก็จักแสดงเรื่องเหล่านั้น.
               พุทธพจน์เหล่านี้ คือสีลกถา ธุดงคธรรม พระกรรมฐานทั้งปวง ความพิสดารของฌานและสมาบัติ ทั้งประกอบด้วยจริยะและวิธีการ อภิญญาทั้งหมด คำวินิจฉัยอันผนวกด้วยปัญญา ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาทเทศนาซึ่งไม่นอกแนวพระบาลีมีนัยอันละเอียดรอบคอบ และวิปัสสนาภาวนา คำที่กล่าวมานี้ทั้งหมดข้าพเจ้ากล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคแล้วอย่างบริสุทธิ์ดี เพราะฉะนั้น ในที่นี้จักไม่วิจารณ์เรื่องทั้งหมดนั้นอีก ก็เพราะคัมภีร์วิสุทธิมรรคที่ข้าพเจ้ารจนาไว้ด้วยประการดังกล่าวมานี้แหละ ดำรงอยู่ท่ามกลางแห่งนิกายทั้ง ๔ จักประกาศข้อความตามที่กล่าวไว้ในนิกายทั้ง ๔ เหล่านั้น ฉะนั้น ขอสาธุชนทั้งหลายจงถือเอาคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นกับอรรถกถานี้ แล้วจักทราบข้อความตามที่อิงอาศัยคัมภีร์สังยุตตนิกายนั้นได้.
               ในพระคัมภีร์เหล่านั้น คัมภีร์ชื่อว่าสังยุตตนิกายมี ๕ วรรค คือสคาถวรรค นิทานวรรค ขันธวรรค (บาลีเป็นขันธวารวรรค) สฬายตนวรรค มหาวรรค. เมื่อว่าโดยสูตรมี ๗,๗๖๒ สูตร นี้ชื่อว่าสังยุตตสังคหะ. เมื่อว่าโดยภาณวารมี ๑๐๐ ภาณวาร. ในวรรคแห่งสังยุตนั้นมีสคาถวรรคเป็นเบื้องต้น. ในสูตรทั้งหลายมีโอฆตรณสูตรเป็นเบื้องต้น.
               คำพระสูตรว่า เอวมฺเม สุตํ เป็นต้นที่ท่านพระอานนท์เถระกล่าวไว้ในเวลาทำปฐมมหาสังคีตินั้น มีนิทานเป็นเบื้องต้น. ก็ปฐมมหาสังคีตินี้นั้น ท่านพระอรรถกถาจารย์ให้พิสดารไว้ในเบื้องต้นของอรรถกถาทีฆนิกายสุมังคลวิลาสินี เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบปฐมมหาสังคีตินั้นโดยนัยอันพิสดารในที่นั้นเถิด.
               จบอารัมภกถา               

               นฬวรรคที่ ๑               
               อรรถกถาโอฆตรณสูตร               
               พึงทราบวินิจฉัยในโอฆตรณสูตรที่ ๑ แห่งนฬวรรค ดังนี้:-
               บทว่า เอวมฺเม สุตํ เป็นต้นนี้ เป็นนิทาน.
               ในบทเหล่านั้น คำว่า เอวํ เป็นศัพท์นิบาต. บทว่า เม เป็นต้น เป็นบทนาม.
               คำว่า วิ ในบทว่า สาวตฺถิยํ วิหรติ นี้เป็นศัพท์อุปสรรค.
               บทว่า หรติ เป็นบทอาขยาต พึงทราบการจำแนกบทโดยนัยนี้ก่อน.

               ว่าด้วย เอวํ ศัพท์               
               แต่เมื่อว่าโดยอรรถ เอวํ ศัพท์จำแนกเนื้อความได้หลายอย่างเป็นต้นว่า คำเปรียบเทียบ คำแนะนำ คำยกย่อง คำติเตียน การรับคำ อาการะ คำชี้แจง คำกำหนดแน่นอน.
               จริงอย่างนั้น เอวํ ศัพท์นี้ที่มาในคำอุปมาในประโยคมี เอวํ ศัพท์ เป็นเบื้องต้นว่า เอวํ ชาเตน มจฺเจน กตฺตพฺพํ กุสลํ พหุํ แปลว่า สัตว์ผู้มีอันจะพึงตายเป็นธรรมดา เกิดมาแล้วพึงสร้างกุศลให้มากฉันนั้น.
               เอวํ ศัพท์ที่มาในคำแนะนำ เช่นในประโยคมีคำเป็นต้นว่า เอวนฺเต อภิกฺกมิตพฺพํ เอวํ ปฏิกฺกมิตพฺพํ แปลว่า เธอพึงก้าวไปอย่างนี้ พึงถอยกลับอย่างนี้.
               เอวํ ศัพท์ที่มาในคำยกย่อง เช่นในประโยคที่มีคำเป็นต้นว่า เอวเมตํ ภควา เอวเมตํ สุคตํ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้อนี้อย่างนั้น ข้าแต่พระสุคตเจ้า ข้อนี้อย่างนั้น.
               เอวํ ศัพท์ที่มาในคำติเตียน เช่นในประโยคที่มีคำเป็นต้นว่า เอวเมว ปนายํ วสลี ยสฺมึ วา ตสฺมึ วา ตสฺส มุณฺฑกสฺส สมณกสฺส วณฺณํ ภาสติ แปลว่า ก็หญิงถ่อยนี้ย่อมกล่าวสรรเสริญสมณะโล้นนั้น อย่างนี้ อย่างนี้ ไม่ว่าที่ใดที่หนึ่ง.
               เอวํ ศัพท์ที่มาในการรับคำ เช่นในประโยคที่มีคำเป็นต้นว่า เอวํ ภนฺเตติ โข เต ภิกฺขู ภควโต ปจฺจสฺโสสุํ แปลว่า ภิกษุเหล่านั้นได้พากันรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
               เอวํ ศัพท์ที่มาในอาการะ เช่นในประโยคที่มีคำเป็นต้นว่า เอวํ พฺยาโข อหํ ภนฺเต ภควตา ธมฺมํ เทสิตํ อาชานามิ แปลว่า ข้าพระพุทธเจ้ากล่าวอย่างนั้นจริง พระเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าย่อมทราบทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว.
               เอวํ ศัพท์ที่มาในคำชี้แจง เช่นในประโยคที่มีคำเป็นต้นว่า
               เอหิ ตฺวํ มาณวก ฯเปฯ เอวญฺจ วเทหิ สาธุ กิร ภวํ อานนฺโท เยน สุภสฺส มาณวสฺส โตเทยฺปุตฺตสฺส นิเวสนํ เตนุปสงฺกมตุ อนุกมฺปํ อุปาทาย
               แปลว่า มานี่แน่ะ พ่อมาณพน้อย เจ้าจงเข้าไปหาพระสมณะชื่อว่าอานนท์ แล้วเรียนถามถึงความมีอาพาธน้อย ความลำบากน้อย ความคล่องแคล่ว ความมีกำลัง ความอยู่สำราญ ด้วยคำของเราว่า ท่านสุภมาณพโตเทยบุตรเรียนถามท่านพระอานนท์ถึงความมีอาพาธน้อย ความลำบากน้อย ความคล่องแคล่ว ความอยู่สำราญ และจงกล่าวอย่างนี้ว่า ขอประทานโอกาส ขอท่านพระอานนท์จงอนุเคราะห์เข้าไปยังนิเวศน์ของสุภมาณพโตเทยยบุตรเถิด.
               เอวํ ศัพท์ที่มาในอวธารณะ คือคำกำหนดที่แน่นอน เช่นในประโยคที่มีคำเป็นต้นว่า
               ตํ กึ มญฺญถ กาลามา ฯเปฯ เอวํ โน เอตฺถ โหติ
               แปลว่า ดูก่อนชาวกาลามะทั้งหลาย ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรืออกุศล. เป็นอกุศล พระเจ้าข้า.
               มีโทษหรือไม่มีโทษ. มีโทษ พระเจ้าข้า.
               ผู้รู้ติเตียนหรือสรรเสริญ. ผู้รู้ติเตียน พระเจ้าข้า
               ธรรมนี้ บุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์หรือไม่ หรือใครเห็นเป็นอย่างไรในข้อนี้. ธรรมเหล่านี้ บุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ในข้อนี้ พวกข้าพระองค์เห็นอย่างนี้ พระเจ้าข้า.
               เอวํ ศัพท์นี้นั้น ในที่นี้บัณฑิตพึงเห็นว่าใช้ในอรรถ ๓ อย่าง คือ ในอาการะ นิทัสสนะ อวธารณะ.
               บรรดาอรรถ ๓ อย่างนั้น ท่านพระอานนท์ย่อมแสดงเนื้อความนี้ด้วย เอวํศัพท์อันมีอาการะเป็นอรรถว่า พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นละเอียดโดยนัยต่างๆ ตั้งขึ้นด้วยอัธยาศัยมิใช่น้อย สมบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะ มีปาฏิหาริย์ต่างๆ ลึกซึ้งโดยธรรม อรรถ เทศนาและปฏิเวธ มาสู่คลองแห่งโสตครั้งแรกควรแก่การศึกษาโดยภาษาของตนๆ แห่งสัตว์ทั้งหมด ใครเล่าจะสามารถเข้าใจได้โดยประการทั้งปวง แม้จะให้เกิดความประสงค์เพื่อจะสดับด้วยกำลังทั้งปวงว่า ข้าพเจ้าสดับมาอย่างนี้ คือ แม้ข้าพเจ้าสดับมาแล้วโดยอาการอย่างหนึ่ง.
               พระอานนท์เมื่อจะเปลื้องตนว่าข้าพเจ้ามิใช่สยัมภู พระสูตรนี้ ข้าพเจ้ามิได้กระทำให้แจ้ง จึงแสดงพระสูตรทั้งสิ้นอันสมควรกล่าวในกาลบัดนี้ว่า เอวมฺเม สุตํ คือว่า แม้ข้าพเจ้าก็สดับมาแล้วอย่างนี้ด้วย เอวํศัพท์อันมีนิทัสนะเป็นอรรถ.
               พระอานนท์ เมื่อแสดงกำลังคือความทรงจำของตนอันสมควรแก่ภาวะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสรรเสริญไว้อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานนท์นี้เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นสาวกของเราผู้เป็นพหูสูต มีคติ มีสติ มีความทรงจำ เป็นอุปัฏฐาก และท่านพระธรรมเสนาบดีกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ท่านพระอานนท์ฉลาดในอรรถ ฉลาดในธรรม ฉลาดในพยัญชนะ ฉลาดในนิรุตติ ฉลาดในคำเบื้องต้นและเบื้องปลาย ดังนี้ จึงให้ความประสงค์เพื่อจะสดับของสัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้น จึงกล่าวว่า เอวมฺเม สุตํ แปลว่า ข้าพเจ้าสดับมาแล้วอย่างนี้ คำนั้นแลไม่หย่อนไม่ยิ่งโดยอรรถหรือว่าโดยพยัญชนะอย่างนี้เท่านั้น ไม่ควรเห็นเป็นอย่างอื่น ด้วยศัพท์ว่า เอวํ อันมีอวธารณะเป็นอรรถนี้.

               ว่าด้วย เม ศัพท์               
               เมศัพท์ปรากฏในอรรถ ๓ อย่าง.
               จริงอย่างนั้น เม ศัพท์มีอรรถว่า มยา เช่นในประโยคที่มีคำเป็นต้นว่า คาถาภิคีตมฺเม อโภชฺเนยฺยํ แปลว่า โภชนะที่ได้มาเพราะการขับร้อง เราไม่ควรบริโภค.
               เมศัพท์มีอรรถว่า มยฺหํ เช่นในประโยคที่มีคำเป็นต้นว่า สาธุ เม ภนฺเต ภควา สงฺขิตฺเตน ธมฺมํเทเสตุ แปลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์เถิด.
               เมศัพท์มีอรรถว่า มม เช่นในประโยคว่า ธมฺมทายาทา เม ภิกฺขเว ภวถ เป็นต้น แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นธรรมทายาทของเรา
               แต่ในที่นี้ควรใช้ในอรรถ ๒ อย่างคือ มยา สุตํ แปลว่า ข้าพเจ้าสดับแล้ว และ มม สุตํ แปลว่า การสดับของข้าพเจ้า.

               ว่าด้วย สุต ศัพท์               
               สุตศัพท์ในบทว่า สุตํ นี้เป็นทั้งศัพท์มีอุปสรรคและไม่มีอุปสรรค จำแนกอรรถได้มิใช่น้อย เช่นอรรถว่าการไป ว่าปรากฏแล้ว ว่ากำหนัด ว่าสั่งสม ว่าขวนขวาย ว่าสัททารมณ์ที่รู้ได้ด้วยโสต และรู้ตามแนวแห่งโสตทวารเป็นต้น.
               จริงอย่างนั้น สุต ศัพท์นี้มีอรรถว่าไป ในประโยคว่า เสนาย ปสุโต เป็นต้น แปลว่า เสนาเคลื่อนไป. สุตศัพท์มีอรรถว่ามีธรรมอันปรากฏแล้ว ในประโยคว่า สุตธมฺมสฺส ปสฺสโต เป็นต้น แปลว่า มีธรรมอันสดับแล้ว เห็นอยู่. สุตศัพท์มีอรรถว่าเปียกชุ่มด้วยราคะและไม่เปียกชุ่มด้วยราคะ เช่นในประโยคว่า อวสฺสุตา อนวสฺสุตสฺ เป็นต้น แปลว่า ภิกษุณีกำหนัดยินดีแล้วต่อบุคคลผู้ไม่กำหนัดยินดีแล้ว. สุตศัพท์มีอรรถว่าสั่งสม ในประโยคว่า ตุมฺเหหิ ปุญฺญํ ปสุตํ อนปฺปกํ เป็นต้น แปลว่า บุญมิใช่น้อยอันท่านทั้งหลายสั่งสมแล้ว. สุตศัพท์มีอรรถว่าขวนขวายคือการประกอบเนืองๆ ในฌาน เช่นประโยคว่า เย ฌานปสุตา ธีรา เป็นต้น แปลว่า นักปราชญ์ทั้งหลายเหล่าใดขวนขวายแล้วในฌาน.
               สุตศัพท์มีอรรถว่าสัททารมณ์อันบุคคลพึงรู้ด้วยโสต เช่นในประโยคว่า ทิฏฺฐํ สุตํ มุตํ เป็นต้น แปลว่า รูปอันเราเห็นแล้ว เสียงอันเราฟังแล้ว หมวดสามแห่งธรรมอันเราทราบแล้ว.
               สุตศัพท์นี้มีอรรถว่ารู้ตามแนวแห่งโสตทวาร และทรงจำตามที่ตนรู้แล้ว ดังในประโยคว่า สุตธโร สุตสนฺนิจโย เป็นต้น แปลว่า ทรงไว้ซึ่งสุตะ สั่งสมไว้ซึ่งสุตะ.
               แต่ในที่นี้มีอรรถว่าเข้าไปทรงไว้แล้ว หรือว่าการเข้าไปทรงไว้โดยกระแสแห่งโสตทวาร.
               ก็เมื่ออรรถแห่ง เม ศัพท์ว่า มยา ก็จะประกอบเนื้อความได้ว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว เข้าไปทรงไว้แล้วตามแนวแห่งโสตทวาร เมื่อเมศัพท์เท่ากับ มม ก็จะประกอบเนื้อความได้ว่า การสดับ คือการเข้าไปทรงไว้โดยกระแสแห่งโสตทวารของเรา ดังนี้.
               บรรดาบททั้ง ๓ เหล่านี้ ด้วยประการดังกล่าวมานี้ บทว่า เอวํ เป็นบทแสดงกิจของวิญญาณ โสตวิญญาณเป็นต้น.
               บทว่า เม เป็นบทแสดงถึงบุคคลผู้มีความพร้อมเพรียง ด้วยวิญญาณอันตนสดับมาแล้ว.
               บทว่า สุตํ เป็นบทแสดงถึงการรับไว้โดยไม่หย่อนไม่ยิ่งและไม่วิปริต โดยความเป็นผู้ไม่ปฏิเสธ ต่อการไม่ได้ฟังมา.
               อนึ่ง บทว่า เอวํ เป็นบทประกาศภาวะที่วิถีวิญญาณนั้นเป็นไปโดยกระแสแห่งโสตทวารเป็นธรรมชาติเป็นไปในอารมณ์โดยประการต่างๆ.
               บทว่า เม เป็นบทประกาศตน.
               บทว่า สุตํ เป็นบทประกาศธรรม.
               ก็ในพระบาลีนี้มีความสังเขปดังนี้ว่า ข้าพเจ้ามิได้กระทำสิ่งอื่น นอกจากสิ่งนี้ คือว่าข้าพเจ้าสดับธรรมนี้มาด้วยวิญญาณวิถีอันเป็นไปในอารมณ์มีประการต่างๆ .
               อนึ่ง บทว่า เอวํ เป็นบทประกาศธรรมที่ควรชี้แจง. บทว่า เม เป็นบทประกาศบุคคล. บทว่า สุตํ เป็นบทประกาศกิจ คือหน้าที่ของบุคคล.
               สุตะบทนี้มีอรรถาธิบายว่า ข้าพเจ้าจักแสดงซึ่งสูตรอันใด สูตรอันนั้นข้าพเจ้าสดับมาแล้วอย่างนี้.
               อนึ่ง บทว่า เอวํ นี้เป็นบทชี้แจงโดยอาการต่างๆ แห่งจิตตสันดานซึ่งเป็นตัวถือเอาอรรถะ และพยัญชนะต่างๆ โดยลักษณะที่เป็นไปด้วยอาการต่างๆ เพราะเอวํบทนี้เป็นศัพท์แสดงถึงบัญญัติของอาการ. บทว่า เม เป็นบทแสดงถึงผู้กระทำ. บทว่า สุตํ เป็นบทแสดงถึงอารมณ์.
               ก็ด้วยคำเพียงเท่านี้ ย่อมเป็นภาวะที่จิตตสันดานเป็นไปโดยอาการต่างๆ กัน กระทำการสันนิษฐานในการรับอารมณ์ของผู้กระทำความพร้อมเพรียงกันในจิตตสันดานนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า เอวํ แสดงหน้าที่ของบุคคล. บทว่า สุตํ แสดงหน้าที่ของวิญญาณ. บทว่า เม แสดงถึงบุคคลซึ่งประกอบหน้าที่ทั้งสอง.
               ก็ในพระบาลีนี้ มีเนื้อความย่อว่า ข้าพเจ้าผู้เป็นบุคคลพร้อมด้วยวิญญาณอันมีการสดับมาเป็นกิจ (หน้าที่) ได้สดับมาแล้วโดยโวหารว่าสวนกิจ อันได้มาแล้วเนื่องด้วยวิญญาณ ดังนี้.
               บรรดาบททั้ง ๓ นั้น บทว่า เอวํ และ เม เป็นอวิชชมานบัญญัติ ด้วยอำนาจแห่งสัจฉิกัตถะ และปรมัตถสัจจะ. อันที่จริง ในพระบาลีนี้มีข้อที่ควรจะชี้แจงว่า เอวํก็ดี เมก็ดี ว่าโดยปรมัตถ์ มีอยู่อย่างไร. บทว่า สุตํ เป็นวิชชมานบัญญัติ เพราะอารมณ์ที่ได้ทางโสตในที่นี้นั้น มีอยู่โดยปรมัตถ์.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า เอวํ และเม เป็นอุปาทาบัญญัติ เพราะเป็นถ้อยคำอันบุคคลพึงกล่าว อาศัยเอาสิ่งนั้นๆ. บทว่า สุตํ เป็นอุปนิธานบัญญัติ เพราะเป็นถ้อยคำอันบุคคลพึงกล่าว เทียบเคียงซึ่งอารมณ์ทั้งหลายมีทิฏฐารมณ์เป็นต้น.
               ก็ในพระบาลีนั้น ท่านพระอานนท์ย่อมแสดงความไม่ลุ่มหลงไว้ด้วยคำว่า เอวํ เพราะผู้หลงแล้วย่อมไม่สามารถแทงตลอดได้โดยประการต่างๆ และย่อมแสดงความไม่ฟั่นเฟือนแห่งถ้อยคำที่ท่านได้สดับมาไว้ด้วยคำว่า สุตํ เพราะว่า ถ้าบุคคลมีถ้อยคำที่ได้สดับฟังมาหลงลืมไปย่อมจะไม่ทราบชัดว่า คำนี้ ข้าพเจ้าได้สดับฟังมาแล้วโดยระหว่างกาลด้วยอาการอย่างนี้ พระอานนท์นี้จึงชื่อว่ามีความสำเร็จทางปัญญา เพราะความไม่ลุ่มหลงและมีความสำเร็จทางสติเพราะความไม่ฟั่นเฟือน.
               ในความสำเร็จ ๒ อย่างนั้น ถ้าสติมีปัญญาเป็นประธาน ก็สามารถทำการกำหนดได้แน่นอนในพยัญชนะ ถ้าปัญญามีสติเป็นประธาน ก็สามารถแทงตลอดในอรรถะ ก็เพราะประกอบด้วยความสามารถแห่งธรรมทั้งสองนั้น ท่านพระอานนท์จึงได้นามว่า ธรรมภัณฑาคาริก (ขุนคลังแห่งพระธรรม) เพราะสามารถที่จะอนุรักษ์คลังพระธรรมให้สมบูรณ์ด้วยอรรถะและพยัญชนะ.
               อีกนัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์แสดงโยนิโสมนสิการไว้ด้วยคำว่า เอวํ เพราะผู้ไม่มีโยนิโสมนสิการ ย่อมไม่สามารถแทงตลอดได้โดยประการต่างๆ. ย่อมแสดงความเป็นผู้มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยคำว่า สุตํ นี้ เพราะจิตที่ฟุ้งซ่านมีการฟังไม่ได้.
               จริงอย่างนั้น บุคคลมีจิตฟุ้งซ่านแม้ผู้อื่นพูดให้สมบูรณ์ทุกอย่าง ก็ยังกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ยิน ขอจงพูดอีก.
               ก็บรรดาคุณธรรม ๒ อย่างนั้น เมื่อว่าโดยโยนิโสมนสิการ พระอานนท์ย่อมให้สำเร็จซึ่งอัตตสัมมาปณิธิและบุพเพกตบุญญตา เพราะบุคคลผู้มิได้ตั้งตนไว้ชอบและมิได้ทำบุญไว้ในกาลก่อนแล้วจะมีโยนิโสมนสิการไม่ได้. ว่าโดยความไม่ฟุ้งซ่าน ท่านพระอานนท์ย่อมให้สำเร็จซึ่งสัทธัมมัสสวนะและสัปปุริสูปัสสยะ เพราะผู้มีจิตฟุ้งซ่าน ย่อมไม่อาจเพื่อสดับฟัง และผู้ไม่มีอุปนิสัยก็ไม่มีการคบหากับสัตบุรุษ.
               อีกนัยหนึ่ง ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วว่า เพราะบทว่า เอวํ ย่อมแสดงไขถึงอาการต่างๆ แห่งจิตตสันดาน ซึ่งเป็นตัวรับเอาอรรถะและพยัญชนะต่างๆ ให้เป็นไปด้วยอาการต่างๆ กัน ก็ลักษณะอาการอันเจริญอย่างนี้นั้น ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ตั้งตนไว้ชอบ หรือมิได้ทำบุญไว้ในปางก่อน ฉะนั้น ท่านพระอานนท์จึงแสดงสมบัติ คือจักร ๒ ข้อเบื้องปลายของท่าน ด้วยอาการอันเจริญ ด้วยคำว่า เอวํ นี้. ย่อมแสดงสมบัติ คือจักร ๒ ข้อเบื้องต้นโดยการประกอบการสดับฟังด้วยคำ สุตํ นี้.
               จริงอยู่ เมื่อบุคคลอยู่ในถิ่นฐานอันมิใช่ปฏิรูปเทส หรือเว้นจากการคบสัตบุรุษ ย่อมไม่มีการสดับฟัง. โดยนัยนี้อาสยสุทธิ (คือความสำเร็จแห่งอัธยาศัย) ย่อมเป็นอันสำเร็จแก่ท่านเพราะความสำเร็จแห่งจักร ๒ ข้อเบื้องปลาย. ปโยคสุทธิ (คือความสำเร็จแห่งปโยคะ) ย่อมเป็นอันสำเร็จเพราะจักร ๒ ข้อเบื้องต้น. ก็ด้วยความบริสุทธิ์แห่งอาสยะนั้น ท่านจึงเป็นผู้เฉลียวฉลาดเฉียบแหลมในการบรรลุมรรคผล. เพราะความบริสุทธิ์แห่งปโยคะนั้น ท่านจึงเป็นผู้เฉลียวฉลาดยิ่งในพระปริยัติ. ด้วยเหตุนี้ ถ้อยคำของท่านพระอานนท์ผู้มีปโยคะและอาสยะบริสุทธิ์แล้ว ผู้สมบูรณ์แล้วด้วยการบรรลุมรรคผล ย่อมสมควรเพื่อเป็นถ้อยคำเบื้องต้นสำหรับรองรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า เปรียบเหมือนการขึ้นไปแห่งอรุณเป็นเบื้องต้นแห่งพระอาทิตย์กำลังอุทัยอยู่ และเปรียบเหมือนโยนิโสมนสิการเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลกรรมฉะนั้น เหตุดังนั้น ท่านพระอานนท์ เมื่อจะเริ่มตั้งคำอันเป็นนิทานในฐานะอันควร จึงกล่าวบทว่า เอวมฺเม สุตํ เป็นต้น
               อีกนัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์ย่อมแสดงภาวะสมบัติ คือ อรรถปฏิสัมภิทาและปฏิภาณปฏิสัมภิทาของตนด้วยคำอันแสดงถึงการแทงตลอดได้โดยประการต่างๆ ว่า เอวํ นี้. ท่านย่อมแสดงภาวะสมบัติ คือธรรมปฏิสัมภิทาและนิรุตติปฏิสัมภิทา ด้วยคำอันแสดงถึงการแทงตลอดประเภทแห่งธรรมอันบุคคลพึงสดับฟังว่า สุตํ นี้.
               อนึ่ง ท่านพระอานนท์ เมื่อจะกล่าวถ้อยคำอันแสดงถึงโยนิโสมนสิการด้วย เอวํ นี้ จึงแสดงว่า ธรรมเหล่านี้ ข้าพเจ้าเพ่งด้วยใจ ข้าพเจ้าแทงตลอดดีแล้วด้วยทิฐิ ดังนี้.
               เมื่อกล่าวถ้อยคำอันแสดงถึงการประกอบการฟังด้วย สุตํ นี้ จึงแสดงว่า ธรรมเป็นอันมาก ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว ทรงจำไว้แล้ว สั่งสมไว้แล้วด้วยปัญญา ดังนี้ เมื่อท่านจะแสดงอรรถและพยัญชนะให้บริบูรณ์ ด้วยคำแม้ทั้ง ๒ นั้น ย่อมให้การเอื้อเฟื้อในการที่จะให้การฟังเกิดขึ้น เพราะว่า เมื่อบุคคลไม่ฟังธรรมอันบริบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะโดยเอื้อเฟื้อเคารพ ย่อมเป็นผู้เหินห่างจากประโยชน์เกื้อกูลอันใหญ่ เพราะเหตุนี้ บุคคลพึงให้ความเอื้อเฟื้อเคารพในการฟังธรรมให้เกิดขึ้นเถิด.
               อนึ่ง ด้วยคำทั้งสิ้นว่า เอวมฺเม สุตํ นี้ ท่านพระอานนท์ เมื่อไม่ตั้งธรรมอันพระตถาคตประกาศแล้วไว้สำหรับตน จึงชื่อว่าย่อมก้าวล่วงภูมิของอสัตบุรุษ เมื่อปฏิญาณความเป็นสาวก ชื่อว่าย่อมก้าวลงสู่ภูมิแห่งสัตบุรุษ. ท่านพระอานนท์ย่อมยังจิตของท่านให้หลีกออกจากอสัทธรรม และให้จิตของท่านดำรงไว้ในพระสัทธรรม โดยทำนองนั้นเหมือนกัน เมื่อท่านแสดงว่า ก็พระดำรัสนี้ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นนั่นแหละ ข้าพเจ้าได้ฟังมาอย่างเดียวเท่านั้น ดังนี้ ชื่อว่าย่อมเปลื้องตนออก ย่อมแสดงอ้างพระศาสดา ย่อมยังพระดำรัสของพระชินเจ้าให้แนบสนิท ย่อมยังธรรมเนติให้ดำรงอยู่.
               อีกอย่างหนึ่ง พระอานนท์ เมื่อไม่ปฏิญญา (ไม่รับรอง) ซึ่งความที่พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าเป็นธรรมอันตนให้เกิดขึ้นได้เอง เปิดเผยการได้ฟังมาตั้งแต่เบื้องต้น ด้วยบทว่า เอวมฺเม สุตํ ดังนี้ ชื่อว่า ย่อมยังความไม่มีศรัทธาให้พินาศ ย่อมยังศรัทธาสมบัติในธรรมนี้ให้เกิดขึ้นแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งปวงว่า พระดำรัสนี้ ข้าพเจ้าได้รับมาเฉพาะต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้แกล้วกล้าด้วยเวสารัชญาณ ๔ ผู้ทรงไว้ซึ่งทสพลญาณ ผู้ดำรงอยู่ในอาสภฐาน (ฐานะอันประเสริฐ) ผู้บันลือสีหนาท ผู้สูงสุดกว่าสรรพสัตว์ ผู้เป็นใหญ่ในธรรม ผู้เป็นธรรมราชา ผู้เป็นธรรมาธิบดี ผู้มีธรรมดังประทีป ผู้มีธรรมเป็นสรณะ ผู้ยังจักรอันประเสริฐคือพระธรรมให้เป็นไปทั่ว ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธะพระองค์นั้น ในพระดำรัสนี้ใครๆ ไม่ควรทำความสงสัย หรือเคลือบแคลงในอรรถในธรรม ในบทหรือในพยัญชนะดังนี้ ด้วยเหตุนี้นั้น ท่านพระอรรถกถาจารย์จึงประพันธ์คำอันเป็นคาถาไว้ว่า
                                   วินาสยติ อสฺสทฺธํ    สทฺธํ วฑฺเฒติ สาสเน
                                   เอวมฺเม สุตมิจฺเจตํ    วทํ โคตมสาวโก.
                                   ท่านพระอานนท์ผู้เป็นสาวกของพระสมณโคดม
                         กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ นี้ชื่อว่าย่อม
                         ยังความเป็นผู้ไม่มีศรัทธาให้พินาศ ย่อมยังศรัทธาสมบัติ
                         ให้เจริญในพระพุทธศาสนา ดังนี้.

               ว่าด้วย เอกํ สมยํ               
               บทว่า เอกํ แสดงการกำหนดจำนวน. บทว่า สมยํ แสดงสมัย (คือเวลา) ที่กำหนดไว้แล้ว. บทว่า เอกํ สมยํ แสดงสมัยอันกำหนดไว้ไม่แน่นอน.
               สมยศัพท์ในบทว่า สมยํ นี้ ข้าพเจ้าเห็นใช้ในอรรถว่าความพร้อมเพรียงกัน ในอรรถว่าขณะ ในอรรถว่ากาลเวลา ในอรรถว่าประชุม ในอรรถว่าเหตุและทิฐิ ในอรรถว่าได้เฉพาะ ในอรรถว่าละ ในอรรถว่าแทงตลอด
               จริงอย่างนั้น สมยศัพท์นี้ มีอรรถว่าพร้อมเพรียงกัน เช่นในประโยคว่า อปฺเปว นาม เสฺวปิ อุปสงฺเมยฺยาม กาลญฺจ สมยญฺจ อุปาทาย ดังนี้เป็นต้น แปลว่า หากว่าพวกเราอาศัยกาลเวลา และความพร้อมเพรียงกันได้แล้ว ก็พึงเข้าไปในวันพรุ่งนี้.
               สมยศัพท์มีอรรถว่าขณะ เช่นในประโยคว่า เอโก จ โข ภิกฺขเว ขโณ จ สมโย จ พฺรหฺมจริยวาสาย เป็นต้น แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ขณะหนึ่ง สมัยหนึ่ง มีอยู่เพื่อการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์.
               สมยศัพท์มีอรรถว่ากาลเวลา เช่นในประโยคว่า อุณฺหสมโย ปริฬาหสมโย เป็นต้น แปลว่า เวลาร้อน เวลากระวนกระวาย.
               สมยศัพท์มีอรรถว่าประชุม เช่นในประโยคว่า มหาสมโย ปวนสฺมึ เป็นต้น แปลว่า ประชุมใหญ่ในป่าใหญ่.
               สมยศัพท์มีอรรถว่าเหตุ เช่นในประโยคว่า สมโยปิ โข เต... อปฺปฏิวิทฺโธ อโหสิ เป็นต้น แปลว่า ดูก่อนภัททาลิ แม้เหตุนี้แล ได้เป็นสมัยที่เธอยังมิได้แทงตลอดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ กรุงสาวัตถี แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงทราบเราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิเป็นผู้ไม่กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา ดังนี้ ดูก่อนภัททาลิ เหตุแม้นี้แล ได้เป็นสมัยอันเธอไม่แทงตลอดแล้ว.
               สมยศัพท์มีอรรถว่าทิฐิ เช่นในประโยคว่า เตน โข ปน สมเยน... อาราเม ปฏิวสติ เป็นต้น แปลว่า ก็สมัยนั้นแล ปริพาชกชื่ออุคคาหมานะ เป็นบุตรนางสมณมุณฑิกา อยู่อาศัยในอารามของนางมัลลิกา อันมีศาลาหลังเดียวมีต้นมะพลับเรียงรายอยู่รอบเป็นที่สนทนากันถึงเรื่องทิฐิ.
               สมยศัพท์มีอรรถว่าได้เฉพาะ เช่นในคำประพันธ์เป็นคาถาว่า
                                   ทิฏฺเฐ ธมฺเม จ โย อตฺโถ    โย จตฺโถ สมฺปรายิโก
                                   อตฺถาภิสมยา ธีโร    ปณฺฑิโตติ ปวุจฺจติ
                         ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องทรงจำ เรากล่าวว่าเป็นบัณฑิต
                         เพราะการได้เฉพาะซึ่งประโยชน์ในทิฏฐธรรมและ
                         ประโยชน์ที่เป็นไปในสัมปรายิกภพ.
               สมยศัพท์มีอรรถว่าละ เช่นในประโยคว่า สมฺมา มานาภิสมยา อนฺตมกาสิ ทุกฺขสฺส เป็นต้น แปลว่า ได้กระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์แล้ว เพราะละมานานุสัยได้โดยชอบ.
               สมยศัพท์มีอรรถว่าแทงตลอด เช่นในประโยคว่า ทุกฺขสฺส ปิฬนฏฺโฐ ... อภิสมยฏฺโฐ เป็นต้น แปลว่า ทุกข์มีอรรถว่าบีบคั้น มีอรรถว่าถูกปัจจัยปรุงแต่ง มีอรรถว่าเร่าร้อน มีอรรถว่าแปรปรวน มีอรรถว่าพึงแทงตลอด.
               แต่ในปกรณ์นี้ สมยศัพท์มีอรรถว่า กาลเวลา ด้วยเหตุนั้น ท่านพระอานนท์จึงแสดงว่า สมัยหนึ่ง บรรดาสมัยทั้งหลายอันเป็นประเภทแห่งกาลเวลา มีปี ฤดู เดือน กึ่งเดือน กลางคืน กลางวัน เช้า เที่ยง เย็น ปฐมยาม มัชฌิมยาม ปัจฉิมยาม และครู่หนึ่ง เป็นต้น.
               ในคำว่า สมัยหนึ่ง นั้นในบรรดาสมัยทั้งหลายมีปีเป็นต้นเหล่านี้ พระสูตรใดๆ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในปี ในฤดู ในเดือน ในปักษ์ ในเวลาอันเป็นส่วนกลางคืน ในเวลาอันเป็นส่วนกลางวันใดๆ พระสูตรนั้นทั้งหมด ท่านพระอานนท์ทราบดีแล้ว กำหนดดีแล้วด้วยปัญญา แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็เพราะเมื่อพระเถระจะกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ ในปีโน้น ในฤดูโน้น ในเดือนโน้น ในปักษ์โน้น ในกาลอันเป็นส่วนแห่งราตรีโน้น หรือว่าในกาลอันเป็นส่วนแห่งทิวาโน้น อย่างนี้ ใครๆ ก็ไม่อาจเพื่อทรงจำไว้ได้หรือแสดงได้ หรือว่าให้ผู้อื่นแสดงได้โดยง่ายเลย ทั้งจะต้องเป็นถ้อยคำที่ท่านต้องกล่าวมาก ฉะนั้น ท่านพระเถระจึงประมวลข้อความดังกล่าวแล้วนั้นไว้เพียงบทเดียวเท่านั้นว่า สมัยหนึ่ง ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านพระอานนท์ ย่อมแสดงถึงสมัยทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งมีประเภทแห่งกาลไว้มิใช่น้อย ตามที่ปรากฏแจ่มแจ้งในหมู่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย มีอาทิอย่างนี้ คือ
                         สมัยที่พระองค์เสด็จก้าวลงสู่พระครรภ์
                         สมัยที่พระองค์ประสูติ
                         สมัยที่พระองค์ทรงสลดพระหฤทัย
                         สมัยที่พระองค์เสด็จออกผนวช
                         สมัยที่พระองค์ทรงชนะพญามาร
                         สมัยที่พระองค์ตรัสรู้
                         สมัยที่พระองค์ประทับเป็นสุขในทิฏฐธรรม
                         สมัยที่พระองค์ตรัสเทศนา (บางแห่งแสดง สมัยที่ปลงพระชนมายุสังขารด้วย)
                         สมัยที่พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน
               บรรดาสมัยเหล่านั้น สมัยหนึ่ง กล่าวคือ สมัยที่ตรัสเทศนาไว้.
               อนึ่ง บรรดาสมัยแห่งญาณกิจและกรุณากิจ สมัยแห่งพระกรุณากิจนี้ใด ในบรรดาสมัยที่ทรงปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พระองค์และเพื่อแก่บุคคลอื่น สมัยแห่งการปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่บุคคลอื่นนี้ใด ในสมัยแห่งพระกรณียกิจทั้งสอง แก่ผู้ประชุม สมัยแห่งการทรงแสดงธรรมีกถานี้ใด ในบรรดาสมัยแห่งเทศนาและปฏิบัติสมัยแห่งเทศนานี้ใด ท่านพระอานนท์กล่าวว่า "สมัยหนึ่ง" ดังนี้ หมายเอาสมัยใดสมัยหนึ่งในบรรดาสมัยเหล่านั้น.
               ถามว่า ก็ในพระสูตรนี้ ท่านทำคำชี้แจงไว้ด้วยทุติยาวิภัตติว่า เอกํ สมยํ ไม่เหมือนในพระอภิธรรมซึ่งทำไว้ด้วยสัตตมีวิภัตติว่า ยสฺมึ สมเย กามาวจรํ และบทแห่งสูตรอื่นนอกจากพระอภิธรรมนี้ ก็ทำนิเทศไว้ด้วยภุมมวจนะว่า ยสฺมึ สมเย ภิกฺขเว วิวิจฺเจว กาเมหิ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในสมัยใด ภิกษุสงัดแล้วจากกามทั้งหลาย ส่วนในพระวินัย ท่านทำนิเทศไว้ด้วยตติยาวิภัตติว่า เตน สมเยน พุทฺโธ ภควา ดังนี้ เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะในพระอภิธรรม และพระวินัยมีอรรถเป็นเช่นนั้น แต่พระสูตรนี้มีอรรถเป็นอย่างอื่น.
               จริงอยู่ ในบรรดา ๓ ปิฎกนั้น ในพระอภิธรรมปิฎกและบทแห่งสูตรอื่นแต่อภิธรรมนี้ สมยศัพท์ย่อมสำเร็จเนื้อความมีอรรถแห่งอธิกรณะและมีการกำหนดซึ่งภาวะ (สภาวธรรม) ด้วยภาวะเป็นอรรถ เพราะอธิกรณะมีอรรถเท่ากับสมยศัพท์ซึ่งมีการเป็นอรรถ มีสมูหะเป็นอรรถ. สภาพแห่งธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้นที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในพระอภิธรรมและบทแห่งสูตรอื่นแต่อภิธรรมนี้ ท่านกำหนดไว้ด้วยภาวะแห่งสมยะ กล่าวคือขณะ สมวายะ (การประชุม) และเหตุ เพราะฉะนั้น เพื่อส่องอรรถนั้น ท่านจึงทำนิเทศไว้ในที่นี้ด้วยภุมมวจนะ.
               แต่ในพระวินัย สมยศัพท์ย่อมให้สำเร็จกิจ มีเหตุเป็นอรรถและมีกรณะเป็นอรรถ.
               จริงอยู่ สมัยใดเป็นสมัยพระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบท (พระวินัย) สมัยนั้น แม้พระสาวกทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นต้น ก็พึงรู้ได้โดยยาก เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงบัญญัติสิกขาบททั้งหลาย โดยสมัยอันเป็นกาละ เป็นเหตุและเป็นกรณะนั้น ทรงพิจารณาอยู่ซึ่งเหตุแห่งการบัญญัติสิกขาบท ได้เสด็จประทับอยู่ในที่นั้นๆ เพราะฉะนั้น เพื่อส่องอรรถะนั้น ท่านจึงทำนิเทศสมยศัพท์ไว้ด้วยกรณวจนะ ในพระวินัยนั้น.
               ส่วนในพระสุตตันตะนี้และในสูตรอื่นที่มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างนี้ สมยศัพท์ย่อมสำเร็จอรรถแห่งอัจจันตสังโยคะ ทุติยาวิภัตติ.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้ หรือพระสูตรอื่นตลอดสมัยใด ได้เสด็จประทับอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่ คือพระกรุณาล่วงส่วนตลอดสมัยนั้นทีเดียว เพราะฉะนั้น เพื่อส่องความข้อนั้น ท่านจึงทำนิเทศไว้ด้วยอุปโยควจนะ ทุติยาวิภัตติ ในพระสูตรนี้ ด้วยเหตุนี้นั้น ท่านจึงประพันธ์คำเป็นคาถาไว้ว่า
                                   ตนฺตํ อตฺถมเวกฺขิตฺวา    ภุมฺเมน กรเณน จ
                                   อญฺญตฺร สมโย วุตฺโต    อุปโยเคน โส อิธ
                                   ท่านพิจารณาเนื้อความนั้นๆ แล้วจึงกล่าวสมยศัพท์
                         ในที่อื่นๆ คือ ในพระอภิธรรมด้วยภุมมวจนะ (สัตตมีวิภัตติ)
                         ในพระวินัยด้วยกรณวจนะ (ตติยาวิภัตติ) แต่ในพระสุตตันตะ
                         นี้ ท่านกล่าวสมยศัพท์ด้วยอุปโยควจนะ (ทุติยาวิภัตติ) ดังนี้.

               ส่วนพระโบราณาจารย์ทั้งหลายพรรณนาไว้ว่า สมยศัพท์นี้ต่างกันแต่เพียงโวหารว่า ตสฺมึ สมเย หรือว่า เตน สมเยน หรือว่า ตํ สมยํ เท่านั้น ในปิฎกทั้งสามนั้น สมยศัพท์มีอรรถเป็นภุมมวจนะอย่างเดียวเท่านั้น เพราะเหตุนี้นั้น แม้จะกล่าวว่า เอกํ สมยํ ก็พึงทราบว่า มีอรรถเท่ากับ เอกสฺมึ สมเย ดังนี้.

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต นฬวรรคที่ ๑ โอฆตรณสูตรที่ ๑
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 15 / 4อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=1&Z=29
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๔  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :