ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 496อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 505อ่านอรรถกถา 15 / 522อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค มารสังยุต ตติยวรรคที่ ๓
มารธีตุสูตรที่ ๕

               อรรถกถามารธีตุสูตรที่ ๕               
               พึงทราบวินิจฉัยในมารธีตุสูตรที่ ๕ ต่อไป :-
               บทว่า อุปสงฺกมึสุ ความว่า ธิดามารเห็นบิดาเอาไม้ขีดพื้นดิน เหมือนเด็กเลี้ยงโค คิดว่าบิดานั่งเสียใจยิ่งนัก มีเหตุอะไรหนอ จำเราจักถามถึงเหตุ จึงรู้ได้แล้วจึงเข้าไปหา.
               บทว่า โสจสิ ได้แก่คิดแล้ว.
               บทว่า อรญฺญมิว กุญฺชรํ ความว่า เปรียบเหมือนเหล่าช้างพังอันเป็นช้างต่อที่ควาญช้างส่งไป ประเล้าประโลมช้างป่าด้วยการแสดงมายาหญิง ผูกพันนำมาจากป่าฉันใด พวกเราก็จักนำบุรุษนั้นมาฉันนั้น.
               บทว่า มารเธยฺยํ ได้แก่ วัฏฏะที่เป็นไปในภูมิ ๓.
               บทว่า อุปสงฺกมึสุ ความว่า ธิดามารปลอบบิดาว่า ท่านจงคอยสักหน่อยเถิด พวกเราจักนำบุรุษนั้นมาแล้วจึงเข้าไปเฝ้า.
               บทว่า อุจฺจาวจา ได้แก่ ต่างๆ อย่าง.
               บทว่า เอกสตเอกสตํ ได้แก่ แปลงตัวเป็นหญิงสาวหนึ่งร้อย โดยนัยนี้ คือธิดาแต่ละคนแปลงตัวเป็นหญิงสาวคนละ ๑๐๐
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเฉพาะพระอรหัตเท่านั้น ด้วยสองบทว่า อตฺถสฺส ปตฺตึ หทยสฺส สนฺตึ.
               บทว่า เสนํ ได้แก่ กองทัพกิเลส.
               จริงอยู่ กองทัพกิเลสนั้น ชื่อว่าปิยรูป สาตรูป น่ารักน่าชื่นใจ.
               บทว่า เอกาหํ ฌายํ ได้แก่ เราเพ่งฌานอยู่ผู้เดียว.
               บทว่า สุขมานุโพธฺยํ ได้แก่ เสวยสุขในพระอรหัต. ท่านอธิบายไว้ดังนี้ว่า เรารู้จักกองทัพปิยรูปสาตรูปเพ่งฌานอยู่ผู้เดียว เสวยสุขในพระอรหัตที่นับได้ว่าบรรลุถึงประโยชน์เป็นธรรมสงบแห่งใจ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ทำความชื่นชมฉันมิตรกับชน ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ พยาน [ความเป็นมิตร] ของเราจึงไม่ถึงพร้อมแม้ด้วยการไม่กระทำ.
               บทว่า กถํ วิหารีพหุโล ได้แก่ อยู่มากด้วยการอยู่อย่างไหน.
               บทว่า อลทฺธา แปลว่า ไม่ได้แล้ว.
               บทว่า โย เป็น เพียงนิบาต. ท่านอธิบายไว้ดังนี้ว่า กามสัญญาทั้งหลายไม่ได้ คือไม่รุมล้อมบุคคลนั้นผู้เพ่งมากด้วยฌานอย่างไหน.
               บทว่า ปสฺสทฺธกาโย ได้แก่ ที่ชื่อว่า มีกายสงบแล้วเพราะกาย คืออัสสาสปัสสาสะสงบแล้วด้วยจตุตถฌาน.
               บทว่า สุวิมุตฺตจิตฺโต ได้แก่ ชื่อว่ามีจิตหลุดพ้นด้วยดี ด้วยวิมุตติสัมปยุตด้วยพระอรหัตผล.
               บทว่า อสงฺขราโน ได้แก่ ไม่ปรุงแต่งอภิสังขารคือกรรม ๓.
               บทว่า อโนโก แปลว่า ไม่มีความอาลัย.
               บทว่า อญฺญาย ธมฺมํ ได้แก่ รู้ธรรม คือสัจจะ ๔.
               บทว่า อวิตกฺกชฺฌายี ได้แก่ เพ่งด้วยจตุตถฌานอันไม่มีวิตก.
               ในบทว่า น กุปฺปติ เป็นต้น เมื่อถือเอากิเลสที่เป็นมูล ๓ เหล่านี้ คือ ไม่ขุ่นเคืองเพราะโทสะ ไม่ฟุ้งซ่านเพราะราคะ ไม่หดหู่เพราะโมหะ ก็เป็นอันท่านถือเอากิเลส ๑,๕๐๐ นั่นแล.
               อีกนัยหนึ่ง ท่านถือเอาพยาบาทนิวรณ์ด้วยบทที่ ๑. กามฉันทนิวรณ์ด้วยบทที่ ๒. นิวรณ์ที่เหลือมีถีนะเป็นต้นด้วยบทที่ ๓ ทรงแสดงพระขีณาสพแม้ด้วยการละนิวรณ์นี้ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ปญฺโจฆติณฺโณ ได้แก่ ข้ามโอฆะคือกิเลสที่เป็นไปในทวารทั้ง ๕.
               บทว่า ฉฏฺฐํ ได้แก่ ทรงข้ามโอฆะคือกิเลสที่ ๖ แม้ที่เป็นไปในมโนทวาร.
               พึงทราบสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ด้วยปัญโจฆศัพท์ สังโยชน์เบื้องบน ๕ ด้วยฉัฏฐศัพท์.
               บทว่า คณสงฺฆจารี ความว่า พระศาสดา ชื่อว่าคณสังฆจารี เพราะทรงเที่ยวไปในคณะและสงฆ์.
               บทว่า อทฺธา จริสฺสนฺติ ได้แก่ ชนผู้มีศรัทธาแม้เหล่าอื่นเป็นอันมาก ก็จักเที่ยวไป โดยส่วนเดียว.
               บทว่า อยํ ได้แก่ พระศาสดานี้.
               บทว่า อโนโก แปลว่าไม่อาลัย.
               บทว่า อจฺเฉชฺช เนสฺสติ ได้แก่ จักตัดขาดแล้วนำไป. ท่านอธิบายว่า จักตัดขาดจากมือพระยามัจจุราชนำไปสู่ฝั่งคือพระนิพพาน.
               บทว่า นยมานานํ แก้เป็น นยมาเนสุ คือ เมื่อตถาคตนำไปอยู่.
               บทว่า เสลํว สิรสิ โอหจฺจ ปาตาเล คาธเมสถ ความว่า เหมือนวางหินก้อนใหญ่ขนาดเรือนยอดไว้บนศีรษะแล้วเข้าไปยืนที่บาดาล.
               บทว่า ขาณุํว อุรสาสชฺช ได้แก่ เหมือนเอาตอกระทุ้งอก.
               บทว่า อเปถ แปลว่า จงออกไป. ในที่นี้ ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจบเทศนาด้วยคำว่า อิทมโวจ แล้วกล่าวคาถาว่า ททฺทฬฺหมานา เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ททฺทฬฺหมานา แปลว่า รุ่งเรืองงามยิ่งนัก.
               บทว่า อาคญฺฉุํ ได้แก่ มาแล้ว.
               บทว่า ปนุทิ แปลว่า ขับไล่.
               บทว่า ตุลํ ภฏฺฐํว มาลุโต ความว่า ไล่ไปเหมือนลมพัดปุยงิ้วหรือปุยฝ้ายที่แตกออกจากผลพาไป ฉะนั้น.

               จบอรรถกถามารธีตุสูตรที่ ๕               
               จบตติยวรรคที่ ๓ มารสังยุต เพียงเท่านี้               
               -----------------------------------------------------               

               รวมสูตรในตติยวรรคที่สามมี ๕ สูตร คือ
                         ๑. สัมพหุลสูตร
                         ๒. สมิทธิสูตร
                         ๓. โคธิกสูตร
                         ๔. สัตตวัสสสูตร
                         ๕. มารธีตุสูตร นี้ พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทรงแสดงแล้วกะมารธิดา
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค มารสังยุต ตติยวรรคที่ ๓ มารธีตุสูตรที่ ๕ จบ.
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 496อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 505อ่านอรรถกถา 15 / 522อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=4010&Z=4136
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=4637
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=4637
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :