ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 552อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 555อ่านอรรถกถา 15 / 559อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พรหมสังยุต ปฐมวรรคที่ ๑
อายาจนสูตรที่ ๑

               พรหมสังยุต               
               ปฐมวรรคที่ ๑               
               อรรถกถาอายาจนสูตรที่ ๑               
               ปฐมวรรคสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ปริวิตกฺโก อุทปาทิ ความว่า ความปริวิตกทางใจที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เคยสั่งสมอบรมมาเกิดขึ้นดังนี้.
               ถามว่า เกิดขึ้นเมื่อไร.
               ตอบว่า เกิดในสัปดาห์ที่ ๘ ที่พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า ทรงเคี้ยวไม้ชำระฟันและชิ้นสมอเป็นโอสถที่ท้าวสักกะจอมเทพนำมาถวายที่โคนไม้เกต ทรงบ้วนพระโอฐแล้ว เสวยปิณฑบาตของตปุสสะและภัลลิกะในบาตรหินที่ล้ำค่าอันท้าวโลกบาลทั้ง ๔ น้อมถวาย แล้วเสด็จกลับมาประทับนั่งที่ต้นอชปาลนิโครธ.
               บทว่า อธิคโต แปลว่า บรรลุแล้ว.
               บทว่า ธมฺโม ได้แก่ ธรรมคือสัจจะ ๔.
               บทว่า คมฺภีโร นี้เป็นบทห้ามความตื้น.
               บทว่า ทุทฺทโส ความว่า ชื่อว่าเห็นได้ยาก คือเห็นได้โดยลำบากอันใครๆ ไม่อาจเห็นได้สะดวก เพราะลึกซึ้ง ชื่อว่ารู้ตามได้ยาก คือพึงหยั่งรู้ได้โดยลำบาก เพราะเห็นได้โดยยาก ใครๆ ไม่อาจจะหยั่งรู้ได้สะดวก.
               บทว่า สนฺโต ได้แก่ ดับสนิท. บทว่า ปณีโต ได้แก่ ไม่รู้จักอิ่ม.
               สองบทนี้ ท่านกล่าวหมายโลกุตระเท่านั้น.
               บทว่า อตกฺกาวจโร ความว่า จะพึงค้นพึงหยั่งลงโดยการตรึกไม่ได้ พึงค้นได้ด้วยญาณเท่านั้น.
               บทว่า นิปุโณ ได้แก่ ละเอียด.
               บทว่า ปณฺฑิตเวทนีโย ได้แก่ อันบัณฑิตผู้ปฏิบัติโดยชอบพึงทราบ.
               บทว่า อาลยรามา ความว่า สัตว์ทั้งหลายติดอยู่ในกามคุณ ๕ เพราะฉะนั้น สัตว์เหล่านั้น ท่านจึงเรียกว่า อัลลยา. ตัณหาวิปริต ๑๐๘ ก็ติดอยู่ เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า อัลลยา.
               สัตว์ทั้งหลายชื่อว่า อาลยรามา เพราะยินดีด้วยอาลัยเหล่านั้น. ชื่อว่า อาลยรตา เพราะยินดีในอาลัยทั้งหลาย. ชื่อว่า อาลยสมุทิตา เพราะเบิกบานในอาลัยทั้งหลาย.
               เหมือนอย่างว่า พระราชาเสด็จประพาสพระราชอุทยานที่สมบูรณ์ด้วยต้นไม้มีดอกผลเต็มไปหมดเป็นต้น ซึ่งเขาจัดไว้อย่างดี ย่อมทรงยินดี คือทรงเบิกบานรื่นเริง บันเทิงพระทัยด้วยสมบัตินั้น มิได้ทรงเบื่อ แม้เวลาเย็นก็ไม่ประสงค์จะเสด็จออกฉันใด สัตว์ทั้งหลายย่อมยินดี คือเบิกบาน ไม่เบื่ออยู่ในสังสารวัฏด้วยอาลัยคือกามและอาลัยคือตัณหาทั้งหลายเหล่านี้ฉันนั้น.
               เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงอาลัยทั้งสองอย่างของสัตว์เหล่านั้น ราวกะว่าพื้นที่พระราชอุทยาน จึงตรัสว่า อาลยรามา เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยทิทํ เป็นนิบาต. หมายเอาฐานะของบทว่า ยทิทํ นั้น คือหมายเอาว่า ยํ อิทนฺติปฏิจฺจสมุปฺปาทํ พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า โย อยํ ดังนี้.
               บทว่า อิทปฺปจฺจยตาปฏิจฺจสมุปฺปาโท ความว่า ปัจจัยแห่งธรรมมีสังขารเป็นต้นเหล่านี้ ชื่อ อิทปฺปจฺจยา อิทปฺปจฺจยา นั่นแหละเป็น อิทปฺปจฺจยตา อิทปฺปจฺจยตา นั้นด้วย เป็น ปฏิจฺจสมุปฺปาทาด้วย ชื่อว่า อิทปฺปจฺจยตาปฏิจฺจสมุปฺปาโท ความเป็นปัจจัยแห่งธรรมมีสังขารเป็นต้นเป็นธรรมอาศัยกันและกันเกิดขึ้น.
               คำนี้เป็นชื่อแห่งธรรมเป็นปัจจัยมีสังขารเป็นต้น.
               บททั้งหมดมีบทว่า สพฺพสงฺขารสมโถ เป็นต้น ได้แก่พระนิพพานนั่นเอง.
               ก็เพราะอาศัยพระนิพพานนั้น ความดิ้นรนแห่งสังขารทั้งหลายย่อมสงบระงับได้ ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่าเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง. และเพราะอาศัยพระนิพพานนั้นสละคืนอุปธิทั้งปวงได้ ตัณหาทั้งปวงสิ้นไป สำรอกราคกิเลสได้ ทุกข์ทั้งหมดดับไป ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่าเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่สำรอก เป็นที่ดับ.
               ก็ตัณหานี้นั้น ท่านเรียกว่าวานะ เพราะร้อยรัดเย็บภพไว้กับภพ หรือกรรมไว้กับผล ชื่อว่านิพพาน เพราะออกจากวานะนั้น.
               บทว่า โส มมสฺส กิลมโถ ความว่า การสอนคนที่ไม่รู้นั้นพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยของเรา พึงเป็นความลำบากของเรา.
               ท่านอธิบายว่า พึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยกายด้วย เป็นความลำบากกายด้วย. แต่ในพระหทัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีความเหน็ดเหนื่อยและความลำบากทั้งสองอย่างนี้.
               บทว่า อปิสฺสุทํ เป็นนิบาต มีเนื้อความว่าเพิ่มพูน. นิบาตนั้น ส่องความว่า มิใช่เกิดปริวิตกนี้อย่างเดียว คาถาเหล่านี้ก็แจ่มแจ้ง.
               บทว่า อนจฺฉริยา ได้แก่น่าอัศจรรย์เล็กน้อย.
               บทว่า ปฏิภํสุ ความว่า คาถาเหล่านั้นเป็นอารมณ์แห่งญาณกล่าวคือปฏิภาณ คือถึงความเป็นคาถาที่จะพึงปริวิตก.
               บทว่า กิจฺเฉน ได้แก่ ด้วยการปฏิบัติลำบาก.
               จริงอยู่ มรรคทั้ง ๔ ย่อมเป็นการปฏิบัติสะดวกสำหรับพระพุทธะทั้งหลาย
               ก็คำนี้ ท่านกล่าวหมายเอาปฏิปทาที่นำมรรคผลมาของพระองค์ผู้ยังมีราคะโทสะและโมหะอยู่ในคราวบำเพ็ญบารมี ทรงตัดศีรษะที่ประดับตกแต่ง นำเลือดในลำพระศอออก ควักพระเนตรที่หยอดดีแล้ว ประทานของรักเป็นต้นอย่างนี้ คือบุตรที่เป็นประทีปของวงศ์ตระกูล ภรรยาที่น่ารักและถึงการเสียสละอื่นๆ มีการตัดอวัยวะในอัตภาพ [ชาติ] เช่นเป็นขันติวาทีดาบสเป็นต้น แก่เหล่ายาจกที่มากันแล้ว.
                อักษรในบทว่า หลํ นี้เป็นเพียงนิบาต ความว่าไม่ควร.
               บทว่า ปกาสิตุํ ได้แก่ เพื่อแสดง. ท่านอธิบายว่า ไม่ควรแสดงธรรมที่เราบรรลุโดยยาก คือแสดงธรรมที่เราเรียนมาแล้ว ประโยชน์อะไรด้วยการแสดงธรรม.
               บทว่า ราคโทสปเรเตหิ ความว่า อันราคะโทสะถูกต้องแล้ว หรือว่าไปตามราคะโทสะ.
               บทว่า ปฏิโสตคามึ ได้แก่ ธรรมคือสัจจะ ๔ ที่ทวนกระแสสภาวะมีความเที่ยงเป็นต้น ที่ไปแล้วอย่างนี้ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอสุภะ.
               บทว่า ราครตา ได้แก่ยินดีแล้วด้วยกามราคะภวราคะและทิฏฐิราคะ.
               บทว่า น ทกฺขนฺติ ความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมไม่เห็นโดยสภาวะอย่างนี้ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอสุภะ ใครๆ ก็ไม่อาจทำสัตว์ที่ไม่เห็นเหล่านั้น ให้ยึดถืออย่างนี้ได้.
               บทว่า ตโมกฺ ขนฺเธน อาวุตา ได้แก่ อันกองอวิชชาทับถม.
               บทว่า อปฺโปสุกฺกตาย ความว่า เพื่อความเป็นผู้ไม่ประสงค์จะแสดงโดยปราศจากความขวนขวาย.
               ถามว่า ก็เหตุไร พระองค์จึงน้อมพระทัยไปอย่างนี้ พระองค์ทรงตั้งความปรารถนาไว้มิใช่หรือว่า เราหลุดพ้นแล้วจักให้ผู้อื่นหลุดพ้น เราข้ามแล้วจักให้ผู้อื่นข้าม
                                   เราจะมีประโยชน์อะไรด้วยเพศที่ผู้อื่นไม่รู้จัก
                         จะประโยชน์อะไรด้วยธรรมที่เราทำให้แจ้งในโลกนี้
                         เราบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว จักยังมนุษย์โลก
                         พร้อมทั้งเทวโลกให้ข้ามฝั่ง ดังนี้
.
               บำเพ็ญบารมีบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ.
               ตอบว่า นั่นเป็นความจริง.
               ก็จิตของพระองค์น้อมไปอย่างนี้นั้น ก็ด้วยอานุภาพปัจจเวกขณญาณ.
               จริงอยู่ เมื่อพระองค์บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้วพิจารณาความที่สัตว์รกชัฏไปด้วยกิเลส และความที่ธรรมเป็นของลึกซึ้ง ความที่สัตว์รกชัฏไปด้วยกิเลสและความที่ธรรมเป็นของลึกซึ้ง ก็ปรากฏโดยอาการทั้งปวง.
               ลำดับนั้น พระองค์ทรงพระดำริว่า สัตว์เหล่านี้เหมือนน้ำเต้าที่เต็มด้วยน้ำข้าว เหมือนตุ่มที่เต็มด้วยเปรียง เหมือนผ้าเก่าที่ชุ่มด้วยมันเหลวและน้ำมัน เหมือนมือที่เปื้อนยาหยอดตา เต็มไปด้วยกิเลส เศร้าหมองอย่างยิ่ง กำหนัดเพราะราคะ ขัดเคืองเพราะโทสะ ลุ่มหลงเพราะโมหะ สัตว์เหล่านั้นจักแทงตลอดได้อย่างไร จึงทรงน้อมพระทัยไปอย่างนี้ แม้ด้วยอานุภาพการพิจารณาถึงความที่สัตว์รกชัฏคือกิเลส.
               พึงทราบว่า ทรงน้อมพระทัยไปอย่างนั้น แม้ด้วยอานุภาพการพิจารณาความที่ธรรมลึกซึ้งว่า ธรรมนี้ลึกซึ้งเหมือนลำน้ำรองแผ่นดินเห็นได้ยาก เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดถูกภูเขาบังไว้แทงตลอดได้ยาก เหมือนเอาปลายต่อปลายแห่งขนทรายที่แยกออก ๗ ส่วน.
               จริงอยู่ เมื่อเราพยายามเพื่อแทงตลอดธรรม ชื่อว่าไม่ให้ทานไม่มี ชื่อว่าไม่รักษาศีลแล้วไม่มี ชื่อว่าไม่ได้บำเพ็ญบารมีไรๆ ก็ไม่มี เมื่อเรานั้นกำจัดกองทัพมาร เหมือนหมดความพยายาม แผ่นดินไม่ไหว แม้เมื่อระลึกบุพเพนิวาสานุสสติญาณในปฐมยาม ก็ไม่ไหว แม้เมื่อชำระทิพยจักษุในมัชฌิมยาม ก็ไม่ไหว แต่เมื่อเราตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาทในปัจฉิมยาม หมื่นโลกธาตุจึงหวั่นไหวแล้ว ดังนั้น แม้คนเช่นเราใช้ญาณอันแก่กล้า ก็ยังแทงตลอดธรรมนี้ได้โดยยากทีเดียว โลกิยมหาชนจักแทงตลอดธรรมนั้นได้อย่างไร.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่อพรหมทูลอาราธนาแล้ว พระองค์ก็ทรงน้อมพระทัยไปอย่างนี้ แม้เมื่อเป็นผู้ประสงค์จะทรงแสดงธรรมโปรด.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า เมื่อจิตของเราน้อมไปเพื่อความเป็นผู้ขวนขวายน้อย มหาพรหมก็จักอาราธนาเราให้แสดงธรรม และสัตว์เหล่านี้เป็นผู้เคารพต่อพรหม สัตว์เหล่านั้นสำคัญว่า ได้ยินว่า พระศาสดาไม่มีพระประสงค์จะทรงแสดงธรรม เมื่อเป็นอย่างนี้ มหาพรหมจะอาราธนาเราให้แสดงธรรมว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมนั้นสงบหนอ ประณีตหนอ ดังนี้ ก็จักตั้งใจฟัง ฉะนั้น พึงทราบว่า เพราะอาศัยเหตุแม้นี้ จิตของพระองค์จึงน้อมไปเพื่อความเป็นผู้ขวนขวายน้อย มิได้น้อมไปเพื่อแสดงธรรม.
               บทว่า สหมฺปติสฺส ความว่า ได้ยินว่า พรหมนั้นเป็นพระเถระ ชื่อว่าสหกะ ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสป ทำปฐมฌานให้เกิด เกิดเป็นพรหมมีอายุกัปหนึ่งในปฐมฌานภูมิ. ในปฐมฌานภูมินั้น ชนทั้งหลายรู้จักท่านว่า สหัมบดีพรหมที่ท่านมุ่งหมายกล่าวถึงว่า พฺรหมุโน สหมฺปติสฺส ดังนี้.
               บทว่า นสฺสติ วต โภ ความว่า ได้ยินว่า พรหมนั้นเปล่งเสียงนี้โดยที่พรหมหมื่นโลกธาตุได้ฟังแล้วมาประชุมกันหมด.
               บทว่า ยตฺร หิ นาม ได้แก่ ในโลกชื่อใด.
               บทว่า ปุรโต ปาตุรโหสิ ความว่า ได้ปรากฏพร้อมกับพรหมหมื่นหนึ่งเหล่านั้น.
               บทว่า อปฺปรชกฺขชาติกา ความว่า สัตว์ชื่อว่า อปฺปรชกฺขชาติกา เพราะมีธุลีคือราคะโทสะและโมหะในดวงตาอันสำเร็จด้วยปัญญาน้อยคือนิดหน่อย เป็นสภาวะอย่างนี้.
               บทว่า อสฺสวนตา ได้แก่ เพราะไม่ได้ฟัง.
               ด้วยบทว่า ภวิสฺสนฺติ ท่านแสดงว่า ผู้บำเพ็ญบุญเก่ามาแล้วด้วยอำนาจบุญกิริยาวตถุ ๑๐ ประการในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ถึงความแก่กล้า หวังแต่การแสดงธรรมเท่านั้น ดุจดอกปทุมหวังแต่จะสัมผัสรัศมีพระอาทิตย์ฉะนั้น ควรหยั่งลงสู่อริยภูมิในที่สุดแห่งคาถา ๔ บท ไม่ใช่คนเดียว ไม่ใช่สองคน จักเป็นผู้รู้ทั่วถึงธรรมจำนวนหลายแสน.
               บทว่า ปาตุรโหสิ แปลว่า ปรากฏแล้ว.
               บทว่า สมเลหิ จินฺติโต ได้แก่ อันครูทั้ง ๖ ผู้มีมลทินคิดกันแล้ว.
               จริงอยู่ ครูทั้ง ๖ นั้นเกิดก่อน แสดงธรรมคือมิจฉาทิฏฐิที่มีมลทิน เหมือนกระจายหนาม และราดยาพิษไปทั่วชมพูทวีป.
               บทว่า อปาปุเรตํ ความว่า จงเปิดประตูอมตนครนั้น.
               บทว่า อมตสฺส ทฺวารํ ได้แก่ อริยมรรคอันเป็นประตูแห่งอมตนครคือพระนิพพาน.
               ด้วยคำว่า สุณนฺตุ ธมฺมํ วิมเลนานุพุทฺธํ พรหมทูลอาราธนาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ก่อนอื่นขอสัตว์เหล่านี้จงสดับธรรม คือสัจจะ ๔ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ชื่อว่าปราศจากมลทิน เพราะไม่มีมลทินมีราคะเป็นต้น ตามรู้แล้ว.
               บทว่า เสเล ยถา ปพฺพตมุทฺธนิฏฺฐิโต ความว่า เหมือนยืนอยู่บนยอดภูเขาอันล้วนแต่หินเป็นแท่งทึบ. จริงอยู่ กิจคือการชะเง้อคอยื่นออกไปเป็นต้น เพื่อแสดงแก่ผู้ที่ยืนอยู่ในที่นั้น ย่อมไม่มี.
               บทว่า ตถูปมํ ความว่า มีส่วนเปรียบด้วยภูเขานั้น คือมีอุปมาเหมือนภูเขาหิน.
               ก็ความสังเขปในข้อนี้มีดังนี้
               บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนยอดภูเขาหิน พึงมองเห็นประชุมชนโดยรอบฉันใด ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีเมธา ผู้มีปัญญาดี ผู้มีจักษุโดยรอบ ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ แม้พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน โปรดเสด็จขึ้นสู่ปราสาทอันสำเร็จด้วยธรรม สำเร็จด้วยปัญญา พระองค์เองก็ปราศจากความโศก ทรงเพ่งพิจารณาเห็นหมู่ชนผู้คลาคล่ำด้วยความโศก และถูกชาติชราครอบงำ.
               ก็ในข้อนั้นมีอธิบายดังนี้.
               เหมือนอย่างว่า ชนทั้งหลายทำนาแปลงใหญ่โดยรอบ ณ เชิงภูเขา ปลูกกระท่อมหลายหลังที่แนวคันนาในที่นั้น ก่อไฟไว้ตลอดคืนในราตรี และพึงมีแต่ความมืดอันประกอบด้วยองค์ ๔ เมื่อเป็นดังนั้น เมื่อบุรุษผู้มีจักษุนั้นยืนอยู่บนยอดภูเขามองดูพื้นดิน แนวคันนาก็ไม่ปรากฏ กระท่อมทั้งหลายก็ไม่ปรากฏ ผู้คนที่นอนอยู่ในที่กระท่อมนั้นก็ไม่ปรากฏ ปรากฏแต่เพียงแสงไฟในกระท่อมเท่านั้นฉันใด
               เมื่อพระตถาคตขึ้นสู่ปราสาทคือธรรม ตรวจดูหมู่สัตว์ก็ฉันนั้น เหล่าสัตว์ผู้ไม่กระทำคุณงามความดีไว้ แม้นั่ง ณ ข้างพระชานุเบื้องขวาในวิหารเดียวกัน ก็ไม่ปรากฏแก่พุทธจักษุได้ ย่อมเป็นเหมือนลูกศรที่ยิงไปในเวลากลางคืน แต่เหล่าเวไนยบุคคลผู้ได้ทำคุณงามความดีไว้เท่านั้น แม้จะอยู่ในที่ไกล ก็มาปรากฏแก่พุทธจักษุนั้นได้.
               เวไนยบุคคลนั้นเป็นดุจไฟ และเป็นดุจภูเขาหิมวันต์.
               สมจริงตามที่พระองค์ตรัสไว้ว่า
                         สัตบุรุษย่อมปรากฏในที่ไกล เหมือนภูเขาหิมวันต์
                         อสัตบุรุษอยู่ในที่นั้นก็ไม่ปรากฏ เหมือนลูกศรที่ยิง
                         ไปในเวลากลางคืน.

               บทว่า อชฺเฌสนํ ได้แก่ การอาราธนา.
               บทว่า พุทฺธจกฺขุนา ได้แก่ ด้วยอินทริยปโรปริยญาณ และอาสยานุสยญาณ.
               จริงอยู่ คำว่า พุทฺธจกฺขุ เป็นชื่อของญาณทั้ง ๒ นี้.
               คำว่า สมนฺตจกฺขุ เป็นชื่อของสัพพัญญุตญาณ.
               คำว่า ธมฺมจกฺขุ เป็นชื่อของมรรคญาณทั้ง ๓.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า อปฺปรชกฺเข เป็นต้นดังต่อไปนี้
               ก็ชนเหล่าใดมีธุลีคือกิเลสมีราคะเป็นต้นในจักขุคือปัญญาน้อยโดยนัยดังกล่าวแล้ว ชนเหล่านั้นชื่อว่าอัปปรชักขะ ผู้มีธุลีคือกิเลสในดวงตาน้อย. ชนเหล่าใดมีธุลีคือกิเลสในดวงตามาก ชนเหล่านั้นชื่อว่ามหารชักขะ ผู้มีกิเลสในดวงตามาก. ชนเหล่าใดมีอินทรีย์มีศรัทธาเป็นต้นแก่กล้า ชนเหล่านั้นชื่อว่าติกขินทรียะ มีอินทรีย์แก่กล้า. ชนเหล่าใดมีอินทรีย์เหล่านั้นน้อย ชนเหล่านั้นชื่อว่ามุทินทรียะ มีอินทรีย์อ่อน. ชนเหล่าใดมีอาการมีศรัทธาเป็นต้นดี ชนเหล่านั้นชื่อว่าสวาการ มีอาการดี. ชนเหล่าใดกำหนดเหตุที่เขาแสดงแล้ว สามารถให้ผู้อื่นเข้าใจได้โดยง่าย ชนเหล่านั้นชื่อว่าสุวิญญาปยะ จะพึงสอนให้รู้ได้โดยง่าย. ชนเหล่าใดเห็นปรโลกและโทษว่าเป็นภัย ชนเหล่านั้นชื่อว่า ปรโลกวชฺชภยทสฺสาวี.
               ในข้อนี้มีพระบาลีดังต่อไปนี้
               บุคคลผู้มีศรัทธาชื่อว่า อัปปรชักขะ มีกิเลสดุจธุลีในดวงตาน้อย, บุคคลผู้ไม่มีศรัทธาชื่อว่า มหารชักขะ มีกิเลสดุจธุลีในดวงตามาก. ผู้ปรารภความเพียรชื่อว่า อัปปรชักขะ, ผู้เกียจคร้านชื่อว่า มหารชักขะ. ผู้มีสติตั้งมั่นชื่อว่า อัปปรชักขะ, ผู้มีสติหลงลืมชื่อว่า มหารชักขะ. ผู้มีจิตตั้งมั่นชื่อว่า อัปปรชักขะ, ผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นชื่อว่า มหารชักขะ. ผู้มีปัญญาชื่อว่า อัปปรชักขะ, ผู้ทรามปัญญาชื่อว่า มหารชักขะ ผู้มีกิเลสดุจธุลีในดวงตามาก.
               อนึ่ง บุคคลผู้มีศรัทธาชื่อว่า ติกขินทริยะ มีอินทรีย์แก่กล้า. บุคคลผู้มีปัญญา ชื่อว่ามีปกติเห็นปรโลกและโทษว่าเป็นภัย บุคคลผู้ทรามปัญญา ชื่อว่าไม่เห็นปรโลกและโทษว่าเป็นภัย.
               บทว่า โลโก ได้แก่ ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก สัมปัตติภวโลก วิปัตติภวโลก โลกหนึ่งได้แก่สัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร. โลก ๒ ได้แก่นามและรูป. โลก ๓ ได้แก่เวทนา ๓. โลก ๔ ได้แก่อาหาร ๔. โลก ๕ ได้แก่อุปาทานขันธ์ ๕. โลก ๖ ได้แก่อายตนะภายใน ๖. โลก ๗ ได้แก่วิญญาณฐิติ ๗. โลก ๘ ได้แก่โลกธรรม ๘. โลก ๙ ได้แก่สัตตาวาส ๙. โลก ๑๐ ได้แก่อายตนะ ๑๐. โลก ๑๒ ได้แก่อายตนะ ๑๒. โลก ๑๘ ได้แก่ธาตุ ๑๘.
               บทว่า วชฺชํ ความว่า กิเลสทั้งหมดชื่อว่าโทษ ทุจริตทั้งหมดชื่อว่าโทษ อภิสังขารทั้งหมดชื่อว่าโทษ กรรมที่นำสัตว์ไปสู่ภพทั้งหมดชื่อว่าโทษ ความสำคัญว่าในโลกนี้และในโทษนี้เป็นภัยทั้งหมดปรากฏเหมือนเพชฌฆาตเงื้อดาบ. รู้เห็นรู้ทั่วแทงตลอดอินทรีย์ ๕ เหล่านี้โดยอาการ ๕๐ เหล่านี้ นี้ชื่อว่าอินทริยปโรปริยัตตญาณของพระตถาคต.
               บทว่า อุปฺปลินิยํ ได้แก่ ในดงอุบล.
               แม้ในบทนอกนี้ ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อนฺโตนิมุคฺคโปสีนี ได้แก่ ดอกบัวที่จมอยู่ใต้น้ำอันน้ำหล่อเลี้ยงไว้.
               บทว่า อุทกํ อจฺจุคฺคมฺม ติฏฺฐนฺติ ได้แก่ ดอกบัวที่โผล่ขึ้นพ้นน้ำ.
               ในดอกบัวเหล่านั้น ดอกบัวที่โผล่ขึ้นพ้นน้ำ ย่อมรอคอยสัมผัสรัศมีพระอาทิตย์ ซึ่งจะบานในวันนี้ แต่ดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอ น้ำ ซึ่งจะบานในวันพรุ่งนี้ ดอกบัวที่ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ใต้น้ำอันน้ำหล่อเลี้ยงไว้ จะบานได้ในวันที่ ๓ แม้ดอกบัวที่เกิดในน้ำเป็นต้นอื่นๆ ที่ยังไม่พ้นน้ำก็มี จักไม่บาน จักเป็นภักษาของปลาและเต่าเท่านั้น ดอกบัวเหล่านั้นมิได้ยกขึ้นสู่บาลี แต่ท่านนำมาแสดงไว้เข้าใจว่าควรแสดง.
               บุคคล ๔ จำพวก คือ อุคฆติตัญญู วิปจิตัญญู เนยยะ ปทปรมะ ก็เหมือนดอกบัว ๔ ชนิดเหล่านั้นนั่นเอง.
               ในบุคคล ๔ จำพวกเหล่านั้น บุคคลใดตรัสรู้ธรรมพร้อมกับเวลาที่ท่านยกหัวข้อธรรมขึ้นแสดง บุคคลนี้เรียกว่าอุคฆติตัญญู. บุคคลใดตรัสรู้ธรรมในเมื่อท่านจำแนกอรรถแห่งธรรมที่กล่าวโดยย่อให้พิสดาร บุคคลนี้เรียกว่าวิปจิตัญญู. บุคคลใดว่าโดยอุเทศโดยสอบถาม ใส่ใจโดยแยบคาย เสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้กัลยาณมิตร ตรัสรู้ธรรมโดยลำดับ บุคคลนี้เรียกว่าเนยยะ. บุคคลใดสดับมากก็ดี กล่าวมากก็ดี ทรงจำได้มากก็ดี ให้ผู้อื่นสอนมากก็ดี ยังตรัสรู้ธรรมในชาตินั้นไม่ได้ บุคคลนี้เรียกว่าปทปรมะ.
               ในบุคคล ๔ จำพวกเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุซึ่งเสมือนดงอุบลเป็นต้น ได้ทรงเห็นว่า อุคฆติตัญญูเหมือนดอกบัวที่จะบานในวันนี้ วิปจิตัญญูเหมือนดอกบัวที่จะบานในวันพรุ่งนี้ เนยยะเหมือนดอกบัวที่จะบานในวันที่ ๓ ปทปรมะเหมือนดอกบัวที่เป็นภักษาแห่งปลาและเต่า. และพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงเห็น ได้ทรงเห็นโดยอาการทั้งปวงอย่างนี้ว่า สัตว์มีประมาณเท่านี้มีกิเลสดุจธุลีในดวงตาน้อย สัตว์มีประมาณเท่านี้มีกิเลสดุจธุลีในดวงตามาก ในสัตว์แม้เหล่านั้น สัตว์มีประมาณเท่านี้เป็นอุคฆติตัญญู.
               ในบุคคล ๔ เหล่านั้น พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมสำเร็จประโยชน์แก่บุคคล ๓ จำพวก (แรก) ในอัตภาพนี้ทีเดียว สำหรับพวกปทปรมะย่อมเป็นวาสนา [อบรมบ่มบารมี] เพื่อสำเร็จประโยชน์ในอนาคตกาลข้างหน้า.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่าการแสดงธรรมจะนำประโยชน์มาแก่บุคคล ๔ จำพวกเหล่านี้ จึงมีพระประสงค์จะทรงแสดงธรรม แล้วทรงแบ่งเหล่าสัตว์ในภพ ๓ ทั้งหมดเป็น ๒ ส่วน คือภัพบุคคลและอภัพบุคคลอีก ซึ่งท่านหมายถึงกล่าวไว้ว่า
               เหล่าสัตว์ผู้เป็นอภัพบุคคลเป็นไฉน คือเหล่าสัตว์ผู้ประกอบด้วยกัมมาวรณะเครื่องกั้นคือกรรม ประกอบด้วยวิปากาวรณะ ประกอบด้วยกิเลสาวรณะ เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ มีปัญญาทราม ไม่ควรจะหยั่งลงสู่นิยามธรรมๆ ที่แน่นอนสู่สัมมัตตะความเป็นธรรมชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้คือเหล่าสัตว์ผู้เป็นอภัพบุคคลนั้น
               เหล่าสัตว์ผู้เป็นภัพบุคคลเป็นไฉน คือเหล่าสัตว์ผู้ไม่ประกอบด้วยกัมมาวรณะ ฯลฯ นี้คือเหล่าสัตว์ผู้เป็นภัพบุคคลนั้น.
               ในบุคคล ๒ เหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละอภัพบุคคลทั้งหมด ทรงใช้พระญาณกำหนดภัพบุคคลเท่านั้น แบ่งเป็น ๖ พวกว่าในที่นี้มีพวกราคจริตเท่านี้ พวกโทสจริตเท่านี้ พวกโมหจริต วิตักกจริต สัทธาจริตและพุทธิจริตเท่านี้.
               ครั้นทรงแบ่งอย่างนี้แล้ว จึงมีพระพุทธดำริว่า จักทรงแสดงธรรม.
               บทว่า ปจฺจภาสิ ได้แก่ ได้ตรัสตอบ.
               บทว่า อปารุตา ได้แก่ เปิดแล้ว.
               บทว่า อมตสฺส ทฺวารา ได้แก่ พระอริยมรรค.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า พระอริยมรรคนั้นเป็นทวารแห่งพระนิพพานกล่าวคืออมตนคร พระอริยมรรคนั้น เราเปิดสถาปนาไว้แล้ว.
               บทว่า ปมุญฺจนฺตุ สทฺธํ ความว่า ชนทั้งปวงจงหลั่งคือปล่อยศรัทธาของตนออกมา.
               ใน ๒ บทหลัง มีเนื้อความดังนี้ว่า
               จริงอยู่ เราสำคัญว่าจะลำบากกายและวาจา จึงไม่กล่าวธรรมอันประณีตสูงสุดนี้ที่คล่องแคล่วของตน แม้ที่เราพร้อมประกาศอยู่แล้ว ก็บัดนี้ ชนทั้งปวงจงน้อมภาชนะคือศรัทธาเข้ามา เราจักทำความดำริของพวกเขาให้เต็ม.
               บทว่า อนฺตรธายิ ความว่า ท้าวสหัมบดีพรหมเอาของหอมและดอกไม้เป็นต้นบูชาพระศาสดา แล้วอันตรธานไป. อธิบายว่า ไปยังที่อยู่ของตนนั่นเอง.
               ก็แลเมื่อท้าวสหัมบดีพรหมนั้นเสด็จไปแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ทรงทราบว่าอาฬารดาบสและอุททกดาบสทำกาละแล้ว และทราบว่าเหล่าภิกษุปัญจวัคคีย์มีอุปการะมาก มีพระพุทธประสงค์จะทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้น จึงเสด็จไปยังอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี แล้วทรงประกาศธรรมจักร ดังนี้แล.

               จบอรรถกถาอายาจนสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พรหมสังยุต ปฐมวรรคที่ ๑ อายาจนสูตรที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 552อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 555อ่านอรรถกถา 15 / 559อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=4405&Z=4482
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=4800
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=4800
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :