ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 563อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 566อ่านอรรถกถา 15 / 573อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พรหมสังยุต ปฐมวรรคที่ ๑
พกสูตรที่ ๔

               อรรถกถาพกสูตรที่ ๔               
               ในพกสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ปาปกํ ทิฏฺฐิคตํ ได้แก่ สัสสตทิฏฐิที่ต่ำทราม.
               บทว่า อิทํ นิจฺจํ ความว่า พกพรหมกล่าวฐานะแห่งพรหมพร้อมทั้งโอกาสนี้ซึ่งไม่เที่ยงว่าเที่ยง.
               บทว่า ธุวํ เป็นต้น เป็นไวพจน์ของบทว่า นิจฺจํ นั้นนั่นแหละ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธุวํ ได้แก่ มั่นคง.
               บทว่า สสฺสตํ ได้แก่ มีอยู่ทุกเมื่อ.
               บทว่า เกวลํ ได้แก่ ไม่ขาดสายคือทั้งสิ้น.
               บทว่า อจวนธมฺมํ ได้แก่ มีความไม่จุติเป็นสภาวะ.
               ในคำว่า อิทํ หิ น ชายติ เป็นต้น ท่านกล่าวหมายเอาว่า ในฐานะนี้ ไม่มีผู้เกิด ผู้แก่ ผู้ตาย ผู้จุติหรือผู้อุปบัติไรๆ.
               บทว่า อิโต จ ปนญฺญํ ความว่า ชื่อว่าอุบายเป็นเครื่องออกไปอันยิ่งอย่างอื่นจากฐานะแห่งพรหมพร้อมทั้งโอกาสนี้ไม่มี. พกพรหมนั้นเกิดสัสสตทิฏฐิอย่างแรงด้วยประการแม้อย่างนี้.
               ก็แลพกพรหมผู้มีทิฐิอย่างนี้นั้น ย่อมปฏิเสธคุณวิเสสทุกอย่างคือ ภูมิฌาน ๓ ชั้นสูง มรรค ๔ ผล ๔ และพระนิพพาน.
               ถามว่า ก็ทิฐินั้นเกิดขึ้นแก่พรหมนั้นเมื่อไร.
               ตอบว่า เมื่อครั้งเขาเกิดในภูมิปฐมฌาน. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เกิดในภูมิทุติยฌาน.
               ในข้อนั้นมีอนุปุพพีกถาดังต่อไปนี้.
               ได้ยินว่า พรหมนี้อุปบัติภายหลัง เมื่อยังไม่มีสมัยเกิดพระพุทธเจ้า ก็บวชเป็นฤาษี กระทำกสิณบริกรรมและทำสมาบัติให้เกิด ไม่เสื่อมฌานทำกาละแล้ว บังเกิดในพรหมโลกชั้นเวหัปผลาในภูมิจตุตถฌาน มีอายุอยู่ ๕๐๐ กัป.
               เขาดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นเวหัปผลานั้นตลอดอายุขัย ช่วงเวลาที่เกิดภายหลัง เจริญตติยฌานให้ประณีต บังเกิดในพรหมโลกชั้นสุภกิณหะ มีอายุ ๖๔ กัป. พกพรหมนั้นรู้กรรมที่ตนทำและสถานที่ที่ตนเกิดในปฐมกาลเกิดครั้งแรก เมื่อกาลล่วงไปๆ ลืมกรรมและสถานที่ทั้ง ๒ เสีย จึงเกิดสัสสตทิฏฐิ.
               บทว่า อวิชฺชาคโต ความว่า ไปด้วยอวิชชาคือประกอบด้วยความไม่รู้ ไม่มีญาณ เป็นผู้มืดดังคนตาบอด.
               บทว่า ยตฺร หิ นาม ได้แก่ โย นาม.
               บทว่า วกฺขติ แปลว่า ย่อมกล่าว.
               ก็เพราะประกอบศัพท์นิบาตว่า ยตฺร คำว่า วกฺขติ ก็กลายเป็นอนาคตกาลแปลว่าจักกล่าว.
               เมื่อกล่าวอย่างนี้แล้ว พรหมนั้นถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าคุกคาม ได้สติ กลัวว่าพระผู้มีภาคเจ้าทรงเพ่งเราทุกฝีก้าว ประสงค์จะบีบบังคับเรา เมื่อจะบอกสหายของตน จึงกล่าวคำว่า ทฺวาสตฺตติ เป็นต้น เหมือนโจรถูกเฆี่ยน ๒-๓ ครั้งในระหว่างทาง อดกลั้นไม่ยอมซัดถึงพวกเพื่อน เมื่อถูกเฆี่ยนหนักขึ้น จึงบอกว่า คนโน้นๆ เป็นสหายของเรา ฉะนั้น.
               ความข้อนั้นมีอธิบายดังนี้
               ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ ๗๒ คนด้วยกันทำบุญไว้ จึงเกิดในที่นี้ด้วยบุญกรรมนั้น เป็นผู้ใช้อำนาจตนเอง ไม่อยู่ในอำนาจของผู้อื่น ทำผู้อื่นให้อยู่ในอำนาจของตน ล่วงชาติและชราได้. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า การอุปบัติในพรหมโลกเป็นครั้งสุดท้ายนี้ นับว่า เวทคู เพราะพวกข้าพระองค์ไปถึงด้วยเวททั้งหลาย.
               บทว่า อสฺมาภิชปฺปนฺติ ชนา อเนกา ความว่า ชนเป็นมากย่อมชอบใจพวกข้าพระองค์ ย่อมปรารถนาย่อมกระหยิ่มอย่างนี้ว่า ท่านพรหมผู้นี้แล เป็นมหาพรหมผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครครอบงำได้ เป็นผู้เห็นถ่องแท้ เป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง เป็นผู้เนรมิต เป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นผู้จัด เป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นบิดาของสิ่งที่เป็นแล้วและกำลังเป็น.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะพกพรหมนั้นว่า อปฺปํ หิ เอตํ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอตํ ความว่า ท่านสำคัญอายุใดของท่านในที่นี้ว่า ยืน อายุนั่นน้อย คือนิดหน่อย.
               บทว่า สตสหสฺสานํ นิรพฺพุทานํ ได้แก่ แสนนิรัพพุทะ โดยจำนวนนิรัพพุทะ (นิรัพพุทะเป็นสังขยาซึ่งมีจำนวนเลขสูญ ๖๘ สูญ).
               บทว่า อายุํ ปชานามิ ความว่า เรารู้ว่าอายุของท่านในบัดนี้เหลืออยู่เพียงเท่านี้.
               บทว่า อนนฺตทสฺสี ภควาหมสฺมิ ความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสว่า เราเป็นผู้มีปกติเห็นไม่มีที่สิ้นสุด ล่วงชาติเป็นต้นได้แล้ว.
               บทว่า กึ เม ปุราณํ ความว่า ถ้าพระองค์เป็นผู้มีปกติเห็นไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อเป็นเช่นนั้น ขอพระองค์จงตรัสบอกข้อนี้แก่ข้าพระองค์ คืออะไรเป็นวัตรเก่าของข้าพระองค์. ศีลนั่นแหละ ท่านเรียกว่าศีลวัตร.
               บทว่า ยมหํ วิชญฺญา ความว่า พกพรหมกล่าวว่า ข้าพระองค์ควรทราบข้อใดที่พระองค์ตรัส ขอพระองค์จงบอกข้อนั้นแก่ข้าพระองค์.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะตรัสบอกแก่พกพรหมนั้น ได้ตรัสพระพุทธพจน์เป็นต้นว่า ยํ ตฺวํ อปาเยสิ ดังนี้.
               ในข้อนั้นมีอธิบายดังนี้
               ได้ยินว่า เมื่อก่อน พกพรหมนี้เกิดในเรือนมีตระกูล เห็นโทษในกามทั้งหลาย คิดจักทำชาติชราและมรณะให้สิ้นสุด จึงออกบวชเป็นฤาษี ทำสมาบัติให้เกิดได้ฌานอันเป็นบาทแห่งอภิญญา ปลูกบรรณศาลาอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ให้เวลาล่วงไปด้วยความยินดีในฌาน.
               ก็ในครั้งนั้น มีพวกพ่อค้าเกวียนใช้เกวียน ๕๐๐ เล่ม เดินทางผ่านทะเลทรายเสมอๆ. ก็ในทะเลทรายไม่มีใครสามารถเดินทางกลางวันได้ เดินได้แต่ตอนกลางคืน.
               ครั้งนั้น โคงานที่เทียมแอกเกวียนเล่มหน้า เมื่อเดินทางได้วกกลับมายังทางที่มาแล้วเสีย เกวียนทุกเล่มก็วกกลับอย่างนั้นเหมือนกัน กว่าจะรู้ได้ก็ต่อเมื่ออรุณขึ้น.
               แลในครั้งนั้น พวกพ่อค้าเกวียนจะข้ามพ้นทางกันดารได้ ใช้เวลาหนึ่งวัน ฟืนและน้ำก็หมดสิ้นทุกอย่าง. ฉะนั้น พวกมนุษย์เขาคิดว่า คราวนี้พวกเราตายหมด ผูกโคที่ล้อแล้วเข้าไปนอนที่ร่มเงาเกวียน.
               แม้พระดาบสก็ออกจากบรรณศาลาแต่เช้าตรู่ นั่งที่ประตูบรรณศาลา แลดูแม่น้ำคงคา ได้เห็นแม่น้ำคงคาเต็มเปี่ยมด้วยห้วงน้ำใหญ่ไหลมาเหมือนแท่งแก้วมณี ครั้นเห็นแล้วจึงคิดว่า ในโลกนี้มีเหล่าสัตว์ที่ลำบากเพราะไม่มีน้ำที่อร่อยเห็นปานนี้หรือหนอ.
               พระดาบสนั้นเมื่อรำพึงอยู่อย่างนั้น เห็นหมู่เกวียนนั้นในทะเลทราย คิดว่าสัตว์เหล่านี้จงอย่าพินาศ จึงอธิษฐานด้วยอภิญญาจิตว่า ขอท่อน้ำใหญ่จงเซาะข้างโน้นบ้างสู่ข้างนี้บ้าง แล้วไหลตรงไปยังหมู่เกวียนในทะเลทราย. พร้อมด้วยจิตตุปบาท น้ำได้ไปในที่นั้นเหมือนไปสู่เหมืองอันเจริญ พวกมนุษย์ลุกขึ้นเพราะเสียงน้ำ เห็นน้ำแล้วต่างร่าเริง ยินดี อาบดื่ม ให้โคทั้งหลายดื่มน้ำแล้ว ได้ไปถึงที่ที่ตนปรารถนาโดยสวัสดี.
               พระศาสดา เมื่อทรงแสดงบุรพกรรมของพรหมนั้น ได้ตรัสคาถาที่ ๑.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปาเยสิ ได้แก่ให้ดื่ม.
                อักษรเป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า ฆมฺมนิ ได้แก่ ในฤดูร้อน.
               บทว่า สมฺปเรเต ความว่า อันความร้อนในฤดูร้อนถูกต้อง คือติดตาม.
               สมัยต่อมา ดาบสสร้างบรรณศาลาที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา อาศัยหมู่บ้านใกล้ป่าอยู่. ก็สมัยนั้น พวกโจรปล้นบ้านนั้น พาแม่โคและเชลยทั้งหลายไป ทั้งโคทั้งสุนัขทั้งมนุษย์ทั้งหลายร้องเสียงดังลั่น. ดาบสได้ยินเสียงนั้นรำพึงว่านี่อะไรหนอ ทราบว่าพวกมนุษย์เกิดภัย คิดว่าเมื่อเราเห็นอยู่ สัตว์เหล่านี้จงอย่าพินาศ เข้าฌานอันเป็นบาทแห่งอภิญญา ออกจากฌานแล้วใช้อภิญญาจิตเนรมิตกองทัพ ๔ เหล่า ตรงที่สวนทางพวกโจร มาเตรียมพร้อมอยู่. พวกโจรเห็นแล้วคิดว่า ชะรอยว่าพระราชาเสด็จมา จึงทิ้งสิ่งของที่ปล้นมาหนีไป.
               พระดาบสอธิษฐานว่า ทุกอย่างจงเป็นเหมือนเดิม. สิ่งนั้นได้เป็นเช่นนั้นทีเดียว. มหาชนก็มีความสวัสดี.
               พระศาสดาเมื่อจะทรงแสดงบุรพกรรมของพกพรหมนั้นแม้นี้ จึงได้ตรัสคาถาที่ ๒.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอณิกุลสฺมึ ได้แก่ ใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา.
               บทว่า คยฺหกํ นียมานํ ความว่า ถือนำไป. อธิบายว่า พาไปเป็นเชลย ดังนี้ก็มี.
               สมัยต่อมา ตระกูลหนึ่งอยู่ที่แม่น้ำคงคาด้านเหนือ ผูกสันถวไมตรีกับตระกูลซึ่งอยู่ที่แม่น้ำคงคาด้านใต้ ผูกเรือขนานบรรทุกของกินของใช้ของหอมและดอกไม้เป็นต้นเป็นอันมาก มาตามกระแสน้ำคงคา. พวกมนุษย์เคี้ยวกิน บริโภค ฟ้อนรำ ขับร้องได้เกิดโสมนัสเป็นอันมาก เหมือนได้ไปในเทพวิมาน. คังเคยยกนาคราช เห็นเข้าก็โกรธ คิดว่า มนุษย์เหล่านี้ไม่ทำความสำคัญในเรา คราวนี้เราจักให้พวกมันจมทะเลให้ได้ จึงเนรมิตอัตภาพใหญ่ แยกน้ำเป็น ๒ ส่วน ชูหัวแผ่พังพานส่งเสียงขู่สุ สุๆ. มหาชนเห็นเข้าพากันกลัวส่งเสียงดังลั่น.
               ก็พระดาบสนั่งอยู่ที่ศาลา ได้ยินเข้า นึกว่ามนุษย์พวกนี้พากันขับร้องฟ้อนรำ เกิดโสมนัสมา แต่บัดนี้ร้องแสดงความกลัว เหตุอะไรหนอ เห็นนาคราช คิดว่าเมื่อเราเห็นอยู่ ขอพวกสัตว์จงอย่าพินาศ จึงเข้าฌานอันเป็นบาทแห่งอภิญญา ละอัตภาพเนรมิตเป็นเพศครุฑแสดงแก่นาคราช. นาคราชกลัวหดพังพาน จมน้ำไป. มหาชนก็มีความสวัสดี.
               พระศาสดาเมื่อทรงแสดงบุรพกรรมของพกพรหมแม้นี้ จึงกล่าวคาถาที่ ๓.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ลุทฺเธน ได้แก่ ผู้ร้ายกาจ.
               บทว่า มนุสฺสกมฺปา ความว่า เพราะความเอ็นดูต่อมนุษย์. อธิบายว่า เพราะความประสงค์จะปลดเปลื้องพวกมนุษย์.
               สมัยต่อมา พกพรหมนั้นบวชเป็นฤาษี ได้เป็นดาบสชื่อเกสวะ. สมัยนั้น พระโพธิสัตว์ของพวกเราเป็นมาณพชื่อว่ากัปปะ เป็นศิษย์ของท่านเกสวะ ปฏิบัติรับใช้อาจารย์ ประพฤติเป็นที่ชอบใจ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ได้เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งอรรถะ. เกสวดาบสไม่อาจจะอยู่แยกกับเธอได้. อาศัยเธอเท่านั้นเลี้ยงชีพ.
               พระศาสดาเมื่อทรงแสดงบุรพกรรมของพกพรหมแม้นี้ จึงตรัสคาถาที่ ๔.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฏจโร ได้แก่ อันเตวาสิก. ก็กัปปมาณพนั้นเป็นหัวหน้าอันเตวาสิก.
               บทว่า สมฺพุทฺธิวนฺตํ วตินํ อมญฺญึ ความว่า กัปปมาณพสำคัญเขาว่า ท่านเกสวะนี้มีปัญญาสมบูรณ์ด้วยวัตรโดยชอบ จึงแสดงว่า โดยสมัยนั้น เรานั้นได้เป็นอันเตวาสิกของท่าน.
               บทว่า อญฺเญปิ ชานาสิ ความว่า มิใช่รู้เฉพาะอายุของข้าพระองค์อย่างเดียวเท่านั้น แม้สิ่งอื่นๆ พระองค์ก็รู้.
               บทว่า ตถา หิ พุทฺโธ ความว่า เพราะพระองค์เป็นพระพุทธเจ้า คือเพราะเป็นพระพุทธเจ้า ฉะนั้น พระองค์จึงทรงทราบ.
               บทว่า ตถา หิ ตฺยายํ ชลิตานุภาโว ความว่า ก็เพราะพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าอย่างนี้ ฉะนั้น พระองค์จึงมีอานุภาพรุ่งเรือง.
               บทว่า โอภาสยํ ติฏฺฐติ ความว่า ทำพรหมโลกทั้งปวงให้สว่างไสวดำรงอยู่.

               จบอรรถกถาพกสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พรหมสังยุต ปฐมวรรคที่ ๑ พกสูตรที่ ๔ จบ.
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 563อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 566อ่านอรรถกถา 15 / 573อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=4590&Z=4653
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=5125
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=5125
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :