ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 566อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 573อ่านอรรถกถา 15 / 586อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พรหมสังยุต ปฐมวรรคที่ ๑
อปราทิฏฐิสูตรที่ ๕

               อรรถกถาอปราทิฏฐิสูตรที่ ๕               
               ในสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า เตโชธาตุํ สมาปชฺชิตา ความว่า พระเถระทำบริกรรมในเตโชกสิณแล้วออกจากฌานที่เป็นบาท อธิษฐานว่า ขอเปลวไฟจงพุ่งออกจากสรีระ ด้วยอานุภาพจิตอธิษฐาน เปลวไฟพุ่งออกทั่วสรีระ พระเถระชื่อว่าเข้าเตโชธาตุสมาบัติอย่างนี้. ครั้นเข้าสมาบัติอย่างนั้นแล้ว ก็ไปในพรหมโลกนั้น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร พระเถระจึงได้ไปในที่นั้น.
               ตอบว่า ได้ยินว่า พระเถระเข้าสมาบัติมีเตโชธาตุเป็นอารมณ์เห็นพระตถาคตประทับนั่งเหนือพรหมนั้น จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า บุคคลนี้เป็นผู้แทงทะลุปรุโปร่งถึงอัฐิ ก็เราพึงไปในที่นั้น ฉะนั้น จึงได้ไปในที่นั้น.
               แม้ในการไปของพระเถระที่เหลือก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน.
               แม้พรหมนั้นไม่ได้เห็นอานุภาพของพระตถาคตและสาวกของพระตถาคต จึงไม่ควรเข้าถึงการแนะนำ. ด้วยเหตุนั้น จึงได้มีประชุมกันอย่างนั้นในที่ประชุมนั้น เปลวไฟที่พุ่งออกจากสรีระของพระตถาคตล่วงเลยพรหมโลกทั้งสิ้นแล่นไปในอวกาศ ก็แลวรรณะเหล่านั้นได้มี ๖ สี รัศมีของสาวกพระตถาคตก็มีวรรณะธรรมดานั่นเอง.
               ด้วยคำว่า ปสฺสสิ วีติวตฺตนฺตํ นี้ พระเถระถามว่า ท่านเห็นรัศมีที่เปล่งออกจากพระสรีระของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าอันล่วงเสีย ซึ่งรัศมีแห่งสรีระของพรหมวิมานและเครื่องประดับเป็นต้นอย่างอื่นในพรหมโลกนี้หรือ.
               บทว่า น เม มาริส สา ทิฏฺฐิ ความว่า ทิฏฐินั้นใดของเราว่า คนอื่นไม่ว่าสมณะหรือพราหมณ์ก็ตามไม่สามารถจะมาในที่นี้ได้ ทิฏฐิของเรานั้นแต่ก่อนไม่มี.
               บทว่า กถํ วชฺชํ ความว่า เพราะเหตุไร เราจึงกล่าว.
               บทว่า นิจฺโจมฺหิ สสฺสโต ความว่า ได้ยินว่า พรหมนี้มีทิฏฐิ ๒ อย่าง คือ ลัทธิทิฏฐิและสัสสตทิฏฐิ. ในทิฏฐิ ๒ อย่างนั้น พรหมนั้นเมื่อเห็นพระตถาคตและสาวกของพระตถาคต ย่อมเป็นอันละลัทธิทิฏฐิได้ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นอันมากในเรื่องทิฏฐิ ๒ อย่างนั้น. ในที่สุดเทศนา พรหมตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล. อันพรหมนั้นละสัสสตทิฏฐิด้วยมรรค เพราะฉะนั้น พระเถระจึงกล่าวอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า พฺรหฺมปาริสชฺชํ ได้แก่ พรหมปริจาริกาผู้ปรนนิบัติพรหม
               จริงอยู่ ชื่อว่า พรหมปาริสัชชะแม้ของพรหมทั้งหลายก็เหมือนภิกษุหนุ่มและสามเณรผู้ถือห่อของพระเถระ.
               บทว่า เตนุปสงฺกมิ ความว่า เพราะเหตุไร พรหมจึงส่งพรหมปาริสัชชะไปสู่สำนักของพระเถระนั่นแล
               ได้ยินว่า พรหมนั้นได้เกิดความคุ้นเคยด้วยการเจรจาปราศรัยในพระเถระเพราะฉะนั้น พรหมนั้นจึงส่งไปยังสำนักของพระเถระนั่นแล.
               บทว่า อญฺเญปิ ความว่า ชนทั้ง ๔ ก็เหมือนพวกท่าน เหล่าสาวกแม้อื่นๆ เห็นปานนั้นยังมีอยู่หรือ หรือมีแต่พวกท่านทั้ง ๔ เท่านั้นที่มีฤทธิ์มาก.
               บทว่า เตวิชฺชา ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยวิชชา ๓ คือ บุพเพนิวาสญาณ ทิพยจักขุญาณและอาสวักขยญาณ.
               บทว่า อิทฺธิปฺปตฺตา ได้แก่ บรรลุอิทธิวิธิญาณ.
               บทว่า เจโตปริยายโกวิทา ได้แก่ เป็นผู้ฉลาดในวารจิตของชนเหล่าอื่น.
               ในที่นี้ ท่านกล่าวอภิญญา ๕ ไว้โดยสรุปด้วยประการฉะนี้. แต่ทิพยโสตญาณได้มาด้วยอำนาจอภิญญา ๕ เหล่านั้นเหมือนกัน.
               บทว่า พหู ความว่า เหล่าพุทธสาวกผู้ได้อภิญญา ๖ อย่างนี้มีมากเหลือคณนานับ เที่ยวทำชมพูทวีปทั้งสิ้นให้รุ่งเรืองด้วยผ้ากาสาวพัสตร์.

               จบอรรถกถาอปราทิฏฐิสูตรที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พรหมสังยุต ปฐมวรรคที่ ๑ อปราทิฏฐิสูตรที่ ๕ จบ.
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 566อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 573อ่านอรรถกถา 15 / 586อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=4654&Z=4738
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=5235
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=5235
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :