ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 811อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 814อ่านอรรถกถา 15 / 819อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ยักขสังยุต
สานุสูตรที่ ๕

               อรรถกถาสานุสูตรที่ ๕               
               พึงทราบวินิจฉัยในสานุสูตรที่ ๕ ต่อไปนี้ :-
               บทว่า ยกฺเขน คหิโต โหติ ความว่า เล่ากันว่า บุตรนั้นเป็นบุตรคนเดียวของอุบาสิกานั้น. ครั้งนั้น นางให้บุตรนั้นบรรพชาในเวลาเป็นหนุ่มแล.
               สานุสามเณรนั้นตั้งแต่เวลาบรรพชาแล้ว มีศีลถึงพร้อมด้วยวัตร. สามเณรได้ทำวัตรแก่อาจารย์ อุปัชฌายะและพระอาคันตุกะเป็นต้นเดือนละแปดวัน ลุกแต่เช้าเข้าไปตั้งน้ำไว้ในโรงน้ำ กวาดโรงฟังธรรม ตามประทีป ประกาศฟังธรรมด้วยเสียงไพเราะ.
               พวกภิกษุทราบกำลังของสามเณรนั้น จึงเชื้อเชิญว่า พ่อเณรจงกล่าวบทสรภัญญะเถิด. สามเณรนั้นไม่นำอะไรมาอ้างว่า ลมเสียดแทงหัวใจของผม หรือโรคไอรบกวน ขึ้นธรรมาสน์ กล่าวบทสรภัญญะ เหมือนยังแม่น้ำคงคาในอากาศให้ตกลงอยู่ฉะนั้น ลงมากล่าวว่า ขอส่วนบุญในสรภัญญะนี้จงมีแก่มารดาบิดาของข้าพเจ้าเถิด.
               ส่วนมารดาบิดาของสามเณรนั้นไม่รู้ว่าส่วนบุญสามเณรนั้นให้แล้ว.
               ก็มารดาของสามเณรในอัตภาพก่อนนั้นเกิดเป็นนางยักษิณี นางมากับพวกเทวดาฟังธรรมแล้ว จึงกล่าวว่า ลูก ข้าพเจ้าขออนุโมทนาส่วนบุญอันสามเณรให้แล้ว.
               ก็ธรรมดาพวกภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมเป็นที่รักของโลกพร้อมทั้งเทวโลกด้วยประการฉะนี้. เหล่าเทวดามีความละอาย มีความเคารพในสามเณรนั้น ย่อมสำคัญสามเณรนั้นเหมือนท้าวมหาพรหมและเหมือนกองไฟ ยกนางยักษิณีนั้นขึ้นเป็นที่เคารพ ดูแลด้วยความเคารพในสามเณร ได้ให้อาสนะ น้ำ ก้อนข้าวอันล้ำเลิศแก่นางยักษิณี ด้วยสำคัญว่ามารดาของสานุ ดังนี้ ในสถานที่ฟังธรรมและยักขสมาคมเป็นต้น พวกยักษ์ผู้มีศักดิ์ใหญ่ พบนางยักษิณีนั้นหลีกทางให้ ลุกจากอาสนะ.
               ครั้งนั้น สามเณรนั้นถึงความเจริญ มีอินทรีย์แก่กล้า ถูกความไม่ยินดีบีบคั้น เมื่อไม่อาจจะบรรเทาความไม่ยินดีได้ จึงปล่อยให้ผมและเล็บยาวรกรุงรัง ทั้งสบงและจีวรสกปรกเหลือเกิน ไม่บอกแก่ใคร ถือบาตรและจีวรไปยังประตูเรือนของมารดาแต่ผู้เดียวเท่านั้น.
               อุบาสิกาเห็นสามเณรไหว้แล้ว ได้กล่าวว่า ลูก เมื่อก่อนเจ้ามาในที่นี้กับอาจารย์อุปัชฌายะ หรือภิกษุหนุ่มและสามเณร เพราะเหตุไร ในวันนี้ เจ้ามาแล้วแต่ผู้เดียวเล่า.
               สามเณรนั้นบอกความเป็นผู้กระสัน.
               อุบาสิกาเป็นคนมีศรัทธาแสดงโทษในการอยู่ครองเรือนโดยประการต่างๆ กล่าวสอนสามเณร เมื่อไม่อาจจะให้สามเณรนั้นยินยอมได้ คิดว่า กระไรเสีย สามเณรจักกำหนดแม้ตามธรรมดาของตนได้ จึงชักชวนกล่าวว่า ลูก เจ้าจงหยุดอยู่จนกว่าแม่จะให้จัดข้าวยาคูและภัตพร้อมแก่เจ้า แม่จักถวายผ้าที่พอใจแก่เจ้าผู้ดื่มข้าวยาคูทำภัตกิจเสร็จแล้วดังนี้ แล้วจึงจัดอาสนะถวาย.
               สามเณรนั่งแล้ว.
               อุบาสิกาให้จัดข้าวยาคูและของขบเคี้ยวถวายเสร็จแล้ว โดยครู่เดียวเท่านั้น. ต่อมา นางคิดว่าจักให้จัดภัตให้พร้อม นั่งซาวข้าวอยู่ในที่ไม่ไกล.
               สมัยนั้น นางยักษิณีนั้นรำพึงอยู่ว่า สามเณรได้อาหารอะไร ในที่ไหนหนอแล หรือไม่ได้ รู้ว่า สามเณรนั้นนั่งแล้วเพราะจะสึก คิดว่า สามเณรอย่าพึงให้ความละอายเกิดขึ้นระหว่างเทวดาของเรา เราจะไปทำอันตรายในการสึกของสามเณรนั้น มาแล้วสิงที่ร่าง บิดคอให้ล้มลงที่พื้น.
               สามเณรนั้นมีนัยตาเหลือก น้ำลายไหล ดิ้นอยู่ที่พื้น.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า บุตรชื่อว่าสานุของอุบาสิกาถูกยักษ์สิงแล้ว.
               บทว่า อชฺฌภาสิ ความว่า อุบาสิกาเห็นอาการแปลกนั้นของบุตร มาแล้วโดยเร็ว กอดบุตรให้นอนบนขา. ชาวบ้านทั้งสิ้นมาทำพิธีมีพลีกรรมเป็นต้น.
               อุบาสิกา เมื่อคร่ำครวญ ได้กล่าวคาถาเหล่านี้.
               บทว่า ปาริหาริกปกฺขญฺจ ความว่า พวกมนุษย์คิดว่า เราจักทำการรับและการส่งอุโบสถดิถีที่ ๘ จึงสมาทานองค์อุโบสถในดิถีที่ ๗ บ้าง ดิถีที่ ๙ บ้าง. เมื่อทำการรับและการส่งดิถีที่ ๑๔ และ ๑๕ สมาทานในดิถีที่ ๑๓ บ้าง ในวันปาฏิบทบ้าง. มนุษย์คิดว่า พวกเราจักทำการส่งการอยู่จำพรรษา เป็นผู้รักษาอุโบสถเป็นนิตย์ กึ่งเดือนระหว่างปวารณาทั้งสอง.
               อุบาสิกาหมายเอาข้อนี้ จึงกล่าวว่า ปาริหาริกปกฺขญฺจ.
               บทว่า อฏฺฐงฺคสุสมาคตํ ความว่า ประกอบด้วย คือประกอบดีแล้วด้วยองค์ ๘.
               บทว่า พฺรหฺมจริยํ แปลว่า ประพฤติประเสริฐ.
               บทว่า น เตหิ ยกฺขา กีฬนฺติ ความว่า พวกยักษ์ย่อมไม่สิงชนเหล่านั้นเล่น. นางยักษิณีสิงที่ร่างของสามเณรแล้ว จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า จาตุทฺทสึ ดังนี้อีก.
               บทว่า อาวิ วา ยทิ วา รโห ความว่า ในที่ต่อหน้า หรือในที่ลับหลังใครๆ.
               บทว่า ปมุตฺยตฺถิ ตัดบทว่า ปมุตฺติ อตฺถิ แปลว่า ความพ้นมีอยู่.
               บทว่า อุปฺปจฺจาปิ แปลว่า แม้เหาะไป.
               นางยักษิณีกล่าวว่า ถ้าเจ้าจะเหาะหนีไปเหมือนนก แม้อย่างนั้นเจ้าก็พ้นไปไม่ได้. ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงปล่อยสามเณร. สามเณรลืมตา. มารดาสยายผม ร้องไห้สะอึกสะอื้น.
               สามเณรนั้นไม่รู้ว่า เราถูกอมนุษย์สิงแล้ว. ก็สามเณรแลดูอยู่คิดว่า ในก่อน เรานั่งบนตั่งแล้ว มารดานั่งซาวข้าวอยู่ในที่ไม่ไกลเรา แต่เดี๋ยวนี้ เรานั่งแล้วบนพื้น ส่วนมารดาของเราร้องให้สะอึกสะอื้นอยู่ แม้ชาวบ้านทั้งสิ้นก็ประชุมกันแล้ว นั่นอะไรกันหนอแลดังนี้ ทั้งที่นอนนั่นแหละกล่าวคาถาว่า มตํ วา อมฺม เป็นต้น.
               บทว่า กาเม จชิตฺวาน ความว่า ละกามแม้สองอย่าง.
               บทว่า ปุน อาคจฺฉเต ได้แก่ ย่อมมาด้วยอำนาจการสึก.
               บทว่า ปุน ชีวํ มโต หิ โส ความว่า คนใดสึกแล้ว แม้จะเป็นอยู่ต่อไปอีกก็เหมือนตายแล้ว เพราะฉะนั้น ญาติและมิตรทั้งหลายย่อมร้องไห้ถึงบุคคลนั้น.
               บัดนี้ นางเมื่อแสดงโทษในการอยู่ครองเรือนแก่สามเณรนั้น จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า กุกฺกุฬา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุกฺกุฬา ความว่า ได้ยินว่า การอยู่ครองเรือนชื่อว่าเถ้ารึง เพราะอรรถว่าร้อนระอุ.
               บทว่า กสฺส อุชฺฌาปยามเส ความว่า มารดากล่าวอย่างนี้ว่า ขอท่านจงช่วยกัน ขอความเจริญจงมีแก่ท่านดังนี้ แล้วกล่าวอยู่ว่า เจ้าอยากสึกถูกยักษ์สิง เราจะยกโทษบอกอาการอันแปลกนี้แก่ใครเล่า.
               บทว่า ปุน ฑยฺหิตุมิจฺฉติ ความว่า เจ้าออกจากเรือนบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว เหมือนสิ่งของที่เขาขนออกแล้วจากเรือนที่ไฟไหม้ แต่ท่านยังปรารถนาจะถูกเผาในการอยู่ครองเรือน เช่นถูกเผาใหญ่อีกหรือ.
               เมื่อมารดากล่าวอยู่ สามเณรนั้นกำหนดแล้ว กลับได้หิริและโอตตัปปะ จึงกล่าวว่า เราไม่ต้องการเป็นคฤหัสถ์. ครั้งนั้น มารดาของสามเณรนั้นยินดีว่า ดีละลูกดังนี้ ถวายโภชนะอันประณีตให้ฉันแล้ว จึงถามว่า ลูก เจ้าอายุกี่ปี.
               สามเณรตอบว่า แม่ ยี่สิบปีบริบูรณ์.
               อุบาสิกากล่าวว่า ลูก ถ้าเช่นนั้น ขอเจ้าจงทำการอุปสมบทเถิด ได้ถวายผ้าจีวรแล้ว.
               สามเณรนั้นให้ทำจีวรแล้วอุปสมบท เรียนพระพุทธพจน์อยู่ ทรงพระไตรปิฏก ยังพระพุทธพจน์นั้นให้บริบูรณ์ในอาคตสถานแห่งศีลเป็นต้น ไม่นาน บรรลุความเป็นพระอรหันต์ เป็นพระธรรมกถึกผู้ใหญ่ ดำรงอยู่ได้ ๑๒๐ ปี ให้ชมพูทวีปทั้งสิ้นสั่นสะเทือนแล้วก็ปรินิพพาน.

               จบอรรถกถาสานุสูตรที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ยักขสังยุต สานุสูตรที่ ๕ จบ.
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 811อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 814อ่านอรรถกถา 15 / 819อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=6707&Z=6740
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=7472
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=7472
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :