ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 78อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 86อ่านอรรถกถา 15 / 94อ่านอรรถกถา 15 / 956
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต สตุลลปกายิกวรรคที่ ๔
มัจฉริยสูตรที่ ๒

               อรรถกถามัจฉริสูตรที่ ๒               
               พึงทราบวินิจฉัยในมัจฉริสูตรที่ ๒ ต่อไป :-
               บทว่า มจฺเฉรา จ ปมาทา จ แปลว่า เพราะความตระหนี่และความประมาท ได้แก่เพราะความตระหนี่อันมีการปกปิดซึ่งสมบัติของตนไว้เป็นลักษณะ และเพราะความประมาทอันมีการอยู่ปราศจากสติเป็นลักษณะ.
               จริงอยู่ บางคนคิดว่า เมื่อเราให้สิ่งนี้ สิ่งนี้ก็จักหมดไป วัตถุของเราหรือวัตถุอันเป็นของมีอยู่ในบ้านก็จักไม่มี ดังนี้ ชื่อว่าไม่ให้ทานเพราะความตระหนี่. บางคนแม้จะเพียงยังจิตให้เกิดขึ้นว่าเราควรให้ทานดังนี้ ก็ไม่มี เพราะความที่ตนเป็นผู้ขวนขวายในการเล่นเป็นต้น นี้ชื่อว่าไม่ให้ทานเพราะความประมาท.
               ข้อว่า เอวํ ทานํ น ทียติ แปลว่า อย่างนี้ บุคคลจึงให้ทานไม่ได้.
               อธิบายว่า ธรรมดาว่าทานนี้อันเป็นเหตุนำมาให้ซึ่งยศ ให้ซึ่งสิริ ให้ซึ่งสมบัติ เห็นปานนี้ บุคคลก็ยังให้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวถึงเหตุแห่งการไม่ให้เพราะความตระหนี่เป็นต้น.
               บทว่า ปุญฺญํ อากงฺขมาเนน แปลว่า บุคคลผู้หวังบุญ คือผู้ปรารถนาบุญอันต่างด้วยเจตนามีบุพเจตนาเป็นต้น.
               ในคำว่า เทยฺยํ โหติ วิชานตา แปลว่า รู้แจ้งอยู่ จึงให้ทานนั้น เทวดากล่าวว่าบุคคลรู้แจ้งว่าผลของทานมีอยู่ ดังนี้ จึงให้ทาน.
               ลำดับนั้น เทวดาอื่นอีกได้กล่าวคาถาทั้งหลายในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
                                   คนตระหนี่กลัวภัยใดย่อมไม่ให้ทาน
                         ภัยนั้นนั่นแลย่อมมีแก่คนตระหนี่ผู้ไม่ให้ทาน
                         คนตระหนี่กลัวความหิวและความกระหายใด
                         ความหิวและความกระหายนั้นย่อมถูกต้อง
                         คนตระหนี่นั้นนั่นแหละผู้เป็นพาลทั้งในโลกนี้
                         และโลกหน้า ฉะนั้น บุคคลควรกำจัดความ
                         ตระหนี่อันเป็นสนิมในใจ (มลทิน) ให้ทาน
                         เถิด เพราะบุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์
                         ทั้งหลายในโลกหน้า.
               บทว่า ตเมว พลํ ผุสติ อธิบายว่า ความหิวและความกระหายย่อมถูกต้อง คือย่อมติดตาม ย่อมไม่ละบุคคลผู้เป็นพาลนั้นนั่นแหละทั้งในโลกนี้และโลกหน้า.
               บทว่า ตสฺมา ได้แก่ ก็เพราะความหิวและความกระหายย่อมถูกต้องบุคคลผู้เป็นพาลนี้นั่นแหละ.
               บทว่า วิเนยฺย มจฺเฉรํ แปลว่า บุคคลควรกำจัดความตระหนี่ ได้แก่นำความตระหนี่อันเป็นมลทินออก.
               บทว่า ทชฺชา ทานํ มลาภิภู อธิบายว่า บุคคลผู้กำจัดมลทิน ครั้นกำจัดมลทิน คือความตระหนี่นั้นแล้ว จึงให้ทานได้.
               ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีกได้กล่าวคาถาทั้งหลายในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
                         ชนเหล่าใด เมื่อของมีน้อยก็แบ่งให้ เหมือน
                         พวกเดินทางไกลแบ่งของให้แก่พวกที่เดิน
                         ทางร่วมกัน ชนเหล่านั้น เมื่อบุคคลเหล่าอื่น
                         ตายแล้ว ชื่อว่าย่อมไม่ตาย ธรรมนี้เป็นของ
                         บัณฑิตแต่ปางก่อน ชนพวกหนึ่ง เมื่อของมี
                         น้อยก็แบ่งให้ ชนพวกหนึ่งแม้ของมีมากก็
                         ไม่ให้ ทักษิณา (ของทำบุญ) ที่ให้แต่ของ
                         น้อยนับเสมอด้วยพัน.
               บทว่า เต มเตสุ น มิยฺยนฺติ ความว่า บุคคลเหล่านั้น เมื่อบุคคลอื่นตายแล้ว ชื่อว่าย่อมไม่ตาย เพราะความตายคือความเป็นผู้มีปกติไม่ให้ทาน เหมือนอย่างว่า บุคคลผู้ตายแล้ว เมื่อบุคคลอื่นนำสิ่งของทั้งหลายมีข้าวและน้ำเป็นต้นแม้มาก มาวางแวดล้อมแล้วบอกว่า สิ่งนี้จงเป็นของผู้นี้ สิ่งนี้จงเป็นของผู้นี้ ดังนี้ บุคคลผู้ตายแล้วเหล่านั้นก็ไม่สามารถลุกขึ้นมารับการแจกจ่ายได้ฉันใด แม้บุคคลผู้ไม่ให้ทานก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น โภคะทั้งหลายของผู้ตายแล้ว และของผู้มีปกติไม่ให้ทานจึงชื่อว่าเสมอๆ กัน ด้วยเหตุนั้นแหละ บุคคลผู้มีปกติให้ทาน เมื่อชนทั้งหลายเห็นปานนี้ตายแล้ว ชื่อว่าย่อมไม่ตาย.
               บทว่า อทฺธานํว สหาวชฺชํ อปฺปสฺมึ เย ปเวจฺฉนฺติ อธิบายว่า คนทั้งหลายผู้เดินทางไกลกันดารร่วมกันเมื่อเสบียงมีน้อย บุคคลผู้เดินทางร่วมกันก็แบ่ง คือย่อมให้ทานนั่นแหละแก่บุคคลผู้เดินทางร่วมกันฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้นแล คนเหล่าใดเดินทางร่วมกันไปสู่ทางกันดาร คือสงสารอันมีเบื้องต้นและที่สุดที่บุคคลรู้ไม่ได้ ครั้นเมื่อวัตถุที่พึงให้แม้มีน้อยก็แบ่งของให้ได้ ชนเหล่านั้น ครั้นเมื่อชนอื่นตายแล้ว จึงชื่อว่าย่อมไม่ตาย.
               บทว่า เอส ธมฺโม สนนฺตโน อธิบายว่า ธรรมนี้เป็นของโบราณ.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรมนี้เป็นของบัณฑิตเก่า.
               บทว่า อปฺปสฺเมเก แปลว่า ชนพวกหนึ่งเมื่อของมีน้อย.
               บทว่า ปเวจฺฉนฺติ แก้เป็น ททนฺติ แปลว่า ย่อมให้.
               บทว่า พหุเนเก น ทิจฺฉเร แปลว่า ชนพวกหนึ่งมีของมากก็ไม่ให้ คือว่าชนบางพวกแม้มีโภคะมากมาย ก็ย่อมไม่ให้.
               บทว่า สหสฺเสน สมํ มิตา แปลว่า นับเสมอด้วยพัน คือย่อมเป็นเช่นกับทานพันหนึ่ง.
               ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีกได้กล่าวคาถาทั้งหลายในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
                                   ทาน พวกพาลชนเมื่อให้ ให้ได้ยาก
                         กุศลธรรม พวกพาลชนเมื่อทำ ทำได้ยาก
                         พวกอสัตบุรุษย่อมไม่ทำตาม ธรรมของ
                         สัตบุรุษอันพวกอสัตบุรุษดำเนินตามได้ยาก
                         เพราะฉะนั้น การไปจากโลกนี้ของพวก
                         สัตบุรุษและพวกอสัตบุรุษ จึงต่างกัน
                         พวกอสัตบุรุษย่อมไปสู่นรก พวกสัตบุรุษ
                         ย่อมเป็นผู้ดำเนินไปสู่สวรรค์.
               บทว่า ทุรนฺวโย แปลว่า ดำเนินตามได้ยาก คือเข้าถึงได้โดยยาก. อธิบายว่า ให้เต็มได้ยาก.
               ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีกได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า คำของใครหนอแลเป็นสุภาษิต ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า คำของพวกท่านทั้งหมดเป็นสุภาษิตโดยปริยาย ก็แต่พวกท่านจงฟังคำของเราบ้างว่า
                                   บุคคลแม้ใด ย่อมประพฤติธรรม
                         ประพฤติสะอาด เป็นผู้เลี้ยงภรรยา และ
                         เมื่อของมีน้อยก็ให้ได้ เมื่อบุรุษแสนหนึ่ง
                         บูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือบริจาคทรัพย์พัน
                         กหาปณะ การบูชาของบุคคลเหล่านั้น
                         ย่อมไม่ถึงส่วนร้อยของบุคคลอย่างนั้น.
               บทว่า ธมฺมํ จเร ได้แก่ ย่อมประพฤติธรรม คือกุศลกรรมบถ ๑๐.
               บทว่า โยปิ สมุญฺชกํ จเร แปลว่า บุคคลแม้ใดย่อมประพฤติสะอาด ได้แก่ประพฤติให้สะอาดด้วยสามารถแห่งการชำระล้างความชั่วทั่วๆ ไปตั้งแต่ต้น และด้วยสามารถแห่งการย่ำยี ดุจการนวดฟางข้าวเป็นต้น.
               บทว่า ทารํ จ โปสํ แก้เป็น ทารํ จ โปเสนฺโต แปลว่า เลี้ยงดูภรรยา.
               บทว่า ททํ อปฺปกสฺมึ แปลว่า เมื่อของมีน้อยก็ให้ได้ ได้แก่บุคคลใดแม้สักว่ามีใบไม้และผักเป็นต้นมีน้อยก็ทำการแบ่งให้ได้นั่นแหละ บุคคลนั้นชื่อว่าย่อมประพฤติธรรม.
               บทว่า สตสหสฺสานํ แปลว่า เมื่อบุรุษแสนหนึ่ง คือบุรุษที่ท่านแบ่งออกเป็นพวกละพันๆ นับได้เป็นร้อย จึงชื่อว่าบุรุษแสนหนึ่ง.
               บทว่า สหสฺสยาคินํ แปลว่า บูชาภิกษุพันหนึ่ง. มีวิเคราะห์ว่า ชื่อว่าการบูชาพันหนึ่ง เพราะอรรถว่าการบูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือว่าการบูชาอันเกิดแต่การบริจาคทรัพย์พันกหาปณะ. การบูชาพันหนึ่งนั้นมีอยู่แก่ภิกษุนั้น เหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงชื่อว่ามีการบูชาพันหนึ่ง.
               ด้วยบทว่า บุรุษแสนหนึ่งบูชาภิกษุพันหนึ่งนั้น ย่อมเป็นอันแสดงถึงบิณฑบาตสิบโกฏิ๑- หรือว่าสิบโกฏิแห่งกหาปณะ ตรัสว่า บุคคลเหล่าใดย่อมให้ของมีประมาณเท่านี้ บุคคลเหล่านั้นย่อมไม่ถึงค่าแม้ส่วนร้อยของบุคคลอย่างนั้น. บุคคลนี้ใดแม้เมื่อประพฤติธรรม ย่อมประพฤติสะอาด เลี้ยงดูภรรยา แม้ของมีน้อยก็ยังให้ได้ การบูชาภิกษุพันหนึ่งนั้น ย่อมไม่ถึงค่าแม้ส่วนร้อยของบุคคลผู้ประพฤติธรรมนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ทานอันใดสักว่าของผู้คุ้นเคยกันเพียงคนหนึ่งก็ดี สักว่าเป็นสลากภัตก็ดี อันบุคคลผู้ยากจนให้แล้ว ทานทั้งหลายของบุคคลเหล่านั้นแม้ทั้งหมด๒- ย่อมไม่ถึงค่าส่วนร้อยของทานอันผู้ยากจนให้แล้ว.
____________________________
๑- คำว่าสิบโกฏินี้ หมายเอาส่วนที่ให้ผลเป็นพันส่วน แล้วคูณด้วยบุรุษแสนหนึ่ง.
๒- ทานทั้งหมดนี้ หมายเอาทานที่บุรุษแสนหนึ่ง บูชาภิกษุพันหนึ่งด้วย.

               ชื่อว่า กลํ แปลว่า ส่วนหนึ่งนั้นแบ่งออกเป็น ๑๖ ส่วนบ้าง เป็น ๑๐๐ ส่วนบ้าง เป็น ๑,๐๐๐ ส่วนบ้าง ในที่นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาส่วนแห่งร้อย ตรัสว่า ทานอันใดอันผู้ยากจนนั้นให้แล้ว ให้เพราะทานนั้น ท่านจำแนกแล้วร้อยส่วน การให้บิณฑบาตโดยรวมตั้งสิบโกฏิของบุคคลนี้ ก็ไม่ถึงค่าแม้ส่วนหนึ่งแห่งทานอันผู้ยากจนนั้นให้แล้ว.
               เมื่อพระตถาคตทรงทำอยู่ซึ่งทานอันหาค่ามิได้อย่างนี้แล้ว เทวดาผู้ยืนอยู่ ณ ที่ใกล้ จึงคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ายังมหาทานอย่างนี้ให้เป็นไปด้วยคาถาบาทหนึ่ง ดุจเอาวัตถุอันประกอบไปด้วยรัตนะตั้งร้อยใส่เข้าไปในนรก ซัดไปซึ่งทานอันมากอย่างนี้ว่า มีประมาณนิดหน่อยอย่างนี้ ดุจประหารอยู่ซึ่งมณฑลแห่งพระจันทร์ จึงกล่าวคาถาว่า
                                   การบูชาอันไพบูลย์นี้ อันใหญ่โตนี้
                         ย่อมไม่เท่าถึงส่วนแห่งทานที่บุคคลให้
                         ด้วยความประพฤติธรรม เพราะเหตุไร
                         เมื่อบุรุษแสนหนึ่งบูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือ
                         บริจาคทรัพย์พันกหาปณะ การบูชาของ
                         บุรุษเหล่านั้น ย่อมไม่ถึงส่วนร้อยของ
                         บุคคลอย่างนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เกน แปลว่า เพราะเหตุไร.
               บทว่า มหคฺคโต แปลว่า ใหญ่โต นี้เป็นคำไวพจน์ของคำว่า ไพบูลย์.
               สองบทว่า สเมน ทินฺนสฺส แปลว่า แห่งทานที่บุคคลให้ด้วยความประพฤติ.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงจำแนกทานแสดงแก่เทวดานั้น จึงตรัสว่า
                                   ททนฺติ เหเก วิสเม นิวิฎฺฐา
                                   ฆตฺวา วธิตฺวา อถ โสจยิตฺวา
                                   สา ทกฺขิณา อสฺสุมุขา สทณฺฑา
                                   สเมน ทินฺนสฺส น อคฺฆเม.

                         บุคคลเหล่าหนึ่งตั้งอยู่ในกรรม ปราศจาก
                         ความสงบ โบยเขา ฆ่าเขา ทำให้เขาเศร้า
                         โศกแล้วให้ทาน ทานนั้นจัดว่าทานมีหน้า
                         อันนองด้วยน้ำตา จัดว่าทานเป็นไปกับด้วย
                         อาชญา จึงไม่เท่าถึงส่วนแห่งทานที่ให้ด้วย
                         ความสงบ.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิสเม นิวิฏฺฐา แปลว่า ตั้งมั่นในกรรมอันปราศจากความสงบ ได้แก่ตั้งมั่นในกายกรรม วจีกรรมและมโนกรรมอันหาความสงบมิได้.
               บทว่า ฆตฺวา แก้เป็น โปเถตฺวา แปลว่า โบยแล้ว.
               บทว่า วธิตฺวา แปลว่า ฆ่าแล้ว คือทำให้ตาย.
               บทว่า อสฺสุมุขา แปลว่า มีหน้านองด้วยน้ำตา.
               จริงอยู่ ทานที่ทำให้ผู้อื่นร้องไห้แล้วให้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ทานมีหน้านองด้วยน้ำตา.
               บทว่า สทณฺฑา แปลว่า เป็นไปกับด้วยอาชญา. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ทักษิณาที่บุคคลคุกคามผู้อื่นแล้วประหารแล้วให้ เรียกว่าทักษิณาเป็นไปกับด้วยอาชญา.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงเนื้อความนี้อย่างนี้ว่า เราไม่อาจเพื่อถือเอามหาทานแล้วทำให้ชื่อว่ามีผลน้อย หรือทานอันน้อยทำให้มีชื่อว่ามีผลมาก เพราะความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็แต่มหาทานนี้ ชื่อว่ามีผลน้อยอย่างนี้ เพราะความไม่บริสุทธิ์เกิดขึ้นแก่ตน ทานน้อยนี้ ชื่อว่ามีผลมากอย่างนี้ เพราะความบริสุทธิ์เกิดขึ้นแก่ตน ดังนี้ จึงตรัสคำว่า
               โดยนัยอย่างนี้ เมื่อบุรุษแสนหนึ่งบูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือบริจาคทรัพย์พันกหาปณะ การบูชาของบุคคลเหล่านั้น ย่อมไม่ถึงส่วนร้อยของบุคคลอย่างนั้นดังนี้.

               จบอรรถกถามัจฉริสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต สตุลลปกายิกวรรคที่ ๔ มัจฉริยสูตรที่ ๒ จบ.
อ่านอรรถกถา 15 / 1อ่านอรรถกถา 15 / 78อรรถกถา เล่มที่ 15 ข้อ 86อ่านอรรถกถา 15 / 94อ่านอรรถกถา 15 / 956
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=525&Z=582
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=1508
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=1508
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :