ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 143อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 145อ่านอรรถกถา 16 / 147อ่านอรรถกถา 16 / 725
อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมัยสังยุตต์ กฬารขัตติยวรรคที่ ๔
เจตนาสูตรที่ ๑

               อรรถกถาเจตนาสูตรที่ ๘               
               พึงทราบวินิจฉัยในเจตนาสูตรที่ ๘ ต่อไป.
               ข้อว่า ยญฺจ ภิกฺขเว เจเตติ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมจงใจสิ่งใด" อธิบายว่า ย่อมจงใจ คือยังความจงใจใดให้เป็นไป.
               ข้อว่า ยญฺจ ปกปฺเปติ "ย่อมดำริสิ่งใด" อธิบายว่า ย่อมดำริ คือยังความดำริใดให้เป็นไป.
               ข้อว่า ยญฺจ อนุเสติ "ย่อมครุ่นคิดถึงสิ่งใด" อธิบายว่า ย่อมครุ่นคิด คือยังความครุ่นคิดใดให้เป็นไป.
               ก็ในข้อความนี้ ความจงใจอันเป็นกุศลและอกุศล ที่เป็นไปในภูมิ ๓ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาว่า ย่อมจงใจ ความดำริด้วยตัณหาและทิฏฐิในจิตอันเกิดพร้อมด้วยโลภะ ๘ ดวง ทรงถือเอาว่า ย่อมดำริ. ความครุ่นคิด ทรงถือเอาด้วยที่สุดแห่งเจตนา ๑๒ ที่เกิดพร้อมกัน และด้วยที่สุดแห่งอุปนิสัยว่า ย่อมครุ่นคิด.
               ข้อว่า อารมฺมณเมตํ โหติ "สิ่งนั้นเป็นอารัมมณปัจจัย" ได้แก่ ธรรมชาติมีเจตนาเป็นต้นนี้ เป็นปัจจัย. และปัจจัยทรงประสงค์เอาว่า อารมณ์ในที่นี้.
               ข้อว่า วิญฺญาณสฺส ฐิติยา "เพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณ" คือเพื่อความตั้งอยู่แห่งกรรมวิญญาณ.
               ข้อว่า อารมฺมเณ สติ เมื่อมีอารัมมณปัจจัย ได้แก่ เมื่อปัจจัยนั้นมีอยู่.
               บทว่า ปติฏฺฐา วิญฺญาณสฺส โหติ ความว่า ย่อมเป็นที่ตั้งอาศัยแห่งกรรมวิญญาณนั้น.
               บทว่า ตสฺมึ ปติฏฺฐิเต วิญฺญาเณ ได้แก่ เมื่อกัมมวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้ว.
               บทว่า วิรุฬฺเห "เจริญขึ้นแล้ว" ได้แก่ เมื่อเกิดมูลเหตุแห่งการบังเกิด เพราะสามารถให้กรรมทรุดโทรมไปแล้วชักปฏิสนธิมา.
               บทว่า ปุนพฺภวาภินิพฺพตฺติ แปลว่า ความบังเกิด กล่าวคือภพใหม่. ขณะที่ความจงใจอันเป็นไปในภูมิ ๓ ไม่เป็นไป พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยคำนี้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุไม่จงใจ" ขณะที่ความดำริเรื่องตัณหาและทิฏฐิไม่เป็นไป พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยคำว่า "โน จ ภิกฺเว เจเตติ ก็ภิกษุไม่ดำริ,"
               ด้วยบทว่า โน จ ปกปฺเปติ ท่านกล่าวถึงขณะแห่งความดำริด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิไม่เป็นไป. กิริยาที่เป็นกามาพจร คือความครุ่นคิด ในวิบากอันเป็นไปในภูมิ ๓ ทรงถือเอาด้วยคำว่า "อนุเสติ ย่อมครุ่นคิด." ในคำว่า "อนุเสติ" นี้ ทรงถือเอาผู้ที่ยังละความครุ่นคิดไม่ได้.
               ข้อว่า อารมฺมณเมตํ โหติ "อารัมมณปัจจัยนั้นย่อมมี" หมายความว่า เมื่อความครุ่นคิดมีอยู่ ความครุ่นคิดนั้นจึงเป็นปัจจัย (แห่งกัมมวิญญาณ) โดยแท้ เพราะความเกิดขึ้นแห่งกัมมวิญญาณเป็นสิ่งที่ใครห้ามไม่ได้.
               ในบทว่า โน จ เจเตติ "ก็ภิกษุไม่จงใจ" เป็นต้น กุศลเจตนาและอกุศลเจตนาอันเป็นไปในภูมิ ๓ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในบทที่ ๑. ตัณหาและทิฏฐิในจิต ๘ ดวง ตรัสไว้ในบทที่ ๒. ความครุ่นคิดที่บุคคลครุ่นคิด โดยที่สุดที่ยังละไม่ได้ในธรรมมีประการดังกล่าวแล้ว ตรัสไว้ในบทที่ ๓.
               อีกอย่างหนึ่ง เพื่อมิให้ฉงนในพระสูตรนี้ ควรทราบหมวด ๔ ดังนี้คือ
                         ย่อมจงใจ ย่อมดำริ ย่อมครุ่นคิด หมวด ๑.
                         ย่อมไม่จงใจ แต่ดำริ และครุ่นคิด หมวด ๑.
                         ย่อมไม่จงใจ ไม่ดำริ แต่ครุ่นคิด หมวด ๑.
                         ย่อมไม่จงใจ ไม่ดำริ และไม่ครุ่นคิด หมวด ๑.
               ในหมวด ๔ นั้น การกำหนดธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ในนัยที่ ๑. กุศลเจตนาอันเป็นไปในภูมิ ๓ และอกุศลเจตนา ๔ ทรงถือเอาว่า "จงใจ" ในนัยที่ ๒. ตัณหาและทิฏฐิในจิต ๘ ดวง ทรงกล่าวว่า "ไม่ดำริ" ความครุ่นคิด โดยที่สุดแห่งอุปนิสัยในกุศลอันเป็นไปในภูมิ ๓ ก็ดี โดยที่สุดแห่งปัจจัยที่เกิดพร้อมกันในอกุศลเจตนา ๔ ก็ดี โดยที่สุดแห่งอุปนิสัยก็ดี ทรงถือเอาว่า "อนุสโย ครุ่นคิด." กุศลและอกุศลที่เป็นไปในภูมิ ๓ ทรงกล่าวว่า "ไม่จงใจ" ในนัยที่ ๓. ตัณหาและทิฏฐิในจิต ๘ ดวง ทรงกล่าวว่า "ไม่ดำริ" พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามจิตที่มาในพระสูตร แล้วทรงถือเอาอุปนิสัยโดยที่สุดที่ยังละไม่ได้ ในกุศลจิต อกุศลจิต วิปากจิต กิริยาจิต ที่เป็นไปในภูมิ ๓ และรูป ด้วยคำว่า "ย่อมครุ่นคิด." นัยที่ ๔ เช่นกับนัยก่อนแล.
               บทว่า ตทปฺปติฏฺฐิเต แปลว่า เมื่อวิญญาณนั้นไม่ตั้งมั่นแล้ว.
               บทว่า อวิรุฬฺเห "ไม่เจริญขึ้นแล้ว" ได้แก่ เมื่อเกิดมูลแห่งการไม่บังเกิด เพราะสามารถให้กรรมทรุดโทรมแล้วชักปฏิสนธิมา.
               ถามว่า ก็ในวาระที่ ๓ นี้ท่านกล่าวถึงอะไร.
               แก้ว่า กล่าวถึงกิจของอรหัตมรรค.
               จะกล่าวว่า การกระทำกิจของพระขีณาสพบ้าง นวโลกุตรธรรมบ้าง ก็ควร.
               แต่ในวาระนี้ มีอธิบายว่า ระหว่างวิญญาณกับภพใหม่ในอนาคตเป็นสนธิอันหนึ่ง ระหว่างเวทนากับตัณหาเป็นสนธิอันหนึ่ง ระหว่างภพกับชาติเป็นสนธิอันหนึ่ง.

               จบอรรถกถาปฐมเจตนาสูตรที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมัยสังยุตต์ กฬารขัตติยวรรคที่ ๔ เจตนาสูตรที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 143อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 145อ่านอรรถกถา 16 / 147อ่านอรรถกถา 16 / 725
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=16&A=1730&Z=1750
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=1785
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=1785
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :