ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 149อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 151อ่านอรรถกถา 16 / 156อ่านอรรถกถา 16 / 725
อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมัยสังยุตต์ คหบดีวรรคที่ ๕
ปัญจเวรภยสูตรที่ ๑

               คหปติวรรคที่ ๕               
               อรรถกถาปฐมปัญจภยเวรสูตรที่ ๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในปัญจภยเวรสูตรที่ ๑ แห่งคหปติวรรคต่อไป.
               บทว่า ยโต แปลว่า ในกาลใด.
               บทว่า ภยานิ เวรานิ ได้แก่ เจตนาเป็นเหตุก่อภัยและเวร.
               บทว่า โสตาปตฺติยงฺเคหิ ด้วยธรรมเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ.
               อธิบายว่า องค์แห่งโสดาปัตติ มี ๒ อย่าง คือองค์ที่เป็นไปในส่วนเบื้องต้นเพื่อได้เฉพาะโสดาปัตติมรรคที่มาอย่างนี้
               คือ สัปปุริสสังเสวะ (การคบสัตบุรุษ) สัทธัมมสวนะ (การฟังธรรมของสัตบุรุษ) โยนิโสมนสิการ (การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย) ธัมมานุธัมมปฏิบัติ (การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม) ซึ่งเรียกว่าองค์แห่งโสดาปัตติมรรค ๑.
               องค์แห่งบุคคลผู้มีคุณธรรมอันได้แล้ว บรรลุโสดาปัตติมรรคแล้วดำรงอยู่ ซึ่งเรียกว่าองค์แห่งโสดาบัน ๑.
               คำว่า โสตาปนฺนสฺส นี้ เป็นชื่อของผู้มีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวเป็นต้น ในพระพุทธเจ้า คำนี้แลพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาแล้วในที่นี้.
               บทว่า อริโย แปลว่า ผู้ไม่มีโทษ คือผู้ไม่มีการติเตียน.
               บทว่า ญาโย ได้แก่ ญาณที่รู้ปฏิจจสมุปบาทตั้งอยู่บ้าง ปฏิจจสมุปบาทธรรมบ้าง. เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวว่า ปฏิจจสมุปบาท เรียกว่า ญายธรรม. แม้อริยมรรคมีองค์ ๘ ท่านก็เรียกว่า ญายธรรม.
               บทว่า ปญฺญาย ด้วยปัญญา ได้แก่ด้วยวิปัสสนาปัญญาที่เกิดขึ้นต่อๆ กันไป.
               บทว่า สุทิฏฺโฐ โหติ อันอริยสาวกเห็นดีแล้ว ได้แก่อันอริยสาวกเห็นแล้วด้วยดี ด้วยอำนาจการเห็นเกิดขึ้นต่อๆ กัน.
               บทว่า ขีณนิรโย มีนรกสิ้นแล้วเป็นต้น. อธิบายว่า นรกของเราสิ้นแล้ว เพราะไม่เกิดขึ้นในนรกนั้นต่อไปอีก เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่า เป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว.
               ในบททั้งปวงก็นัยนี้.
               บทว่า โสตาปนฺโน แปลว่า ถึงกระแสแห่งมรรค.
               บทว่า อวินิปาตธมฺโม มีการไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา ได้แก่มีอันไม่ตกต่ำเป็นสภาวะ.
               บทว่า นิยโต เที่ยง ได้แก่ เที่ยงโดยกำหนดความเป็นชอบ กล่าวคือมรรคที่ ๑ (โสดาปัตติมรรค).
               บทว่า สมฺโพธิปรายโน จะตรัสรู้ในภายหน้า ได้แก่ ปัญญาเครื่องตรัสรู้ กล่าวคือมรรค ๓ เบื้องสูงเป็นเบื้องหน้า คือเป็นทางของเรา เพราะเหตุนั้น เรานั้นจึงชื่อว่าจะมีการตรัสรู้ในเบื้องหน้า. อธิบายว่า จะตรัสรู้พระสัมโพธิญาณนั้นแน่แท้.
               บทว่า ปาณาติปาตปจฺจยา เพราะปาณาติบาตเป็นปัจจัย ได้แก่เพราะกรรมคือปาณาติบาตเป็นเหตุ.
               สองบทว่า ภยํ เวรํ ภัย เวร โดยเนื้อความเป็นอันเดียวกัน.
               และขึ้นชื่อว่า เวรนี้มี ๒ อย่าง คือ เวรภายนอก ๑ เวรภายใน ๑.
               ก็เมื่อบิดาของคนคนหนึ่งถูกบุคคลหนึ่งฆ่าตาย เขาจึงคิดว่า "ข่าวว่า บิดาของเราถูกผู้นี้ฆ่าตายเสียแล้ว แม้เราก็จักฆ่ามันให้ตายเหมือนกัน" ดังนี้ จึงเอาศัสตราพกติดตัวไป. เจตนาอันเป็นเหตุก่อเวร อันเกิดขึ้นแล้วในภายในของผู้นั้น นี้ชื่อว่าเวรภายนอก.
               ส่วนบุคคลนอกนี้เกิดความคิดว่า "ข่าวว่า บุคคลนี้เที่ยวเพื่อจะฆ่าเรา เรานี่แหละจักฆ่ามันก่อน" นี้ชื่อว่าเวรภายใน.
               แม้เวรทั้ง ๒ อย่างนี้ก็จัดเป็นเวรในปัจจุบันนั่นเอง.
               ส่วนความจงใจที่เกิดขึ้นแก่นายนิรยบาลผู้เห็นเขาเกิดในนรกถือค้อนเหล็กอันลุกโพลงด้วยคิดว่า "เราจักฆ่ามัน" นี้เป็นเวรภายนอก อันจะมีในภายหน้า. ผู้ที่มีความคิดมาว่า ผู้นั้นเกิดความจงใจขึ้นว่า ผู้นี้มาเพื่อจะประหารเราผู้ไม่มีความผิด เรานี่แหละจักฆ่ามันก่อน. นี้ชื่อว่าเวรภายใน อันจะมีในภายหน้า.
               อนึ่ง เวรที่เป็นภายนอกนี้นั้น ในอรรถกถา ท่านเรียกว่า "เวรส่วนบุคคล."
               สองบทว่า ทุกฺขํ โทมนสฺสํ ทุกข์ โทมนัส โดยเนื้อความก็เป็นอันเดียวกันนั่นเอง.
               ก็ในข้อนี้มีอธิบายอย่างไร.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีอธิบายอย่างนั้น.
               พึงทราบความเกิดขึ้นแห่งเวรโดยนัยมีอาทิว่า ผู้นี้ได้ทำลายสิ่งของของเราเสียแล้ว ผู้นี้ได้ประพฤติ (ผิด) ในภรรยาของเราแล้ว ประโยชน์ถูกผู้นี้ทำลายแล้ว เพราะกล่าวเท็จ กรรมชื่อนี้อันบุคคลนี้ก่อ (กระทำ) แล้วด้วยเหตุเพียงเมาสุรา ดังนี้.
               บทว่า อเวจฺจปฺปสาเทน ได้แก่ ด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวอันตนบรรลุแล้ว.
               บทว่า อริยกนฺเตหิ ได้แก่ ศีล ๕.
               เพราะว่า ศีล ๕ เหล่านั้นเป็นที่ปรารถนา คือเป็นที่รักของพระอริยเจ้าทั้งหลาย. พระอริยเจ้าทั้งหลายถึงไปสู่ภพอื่นก็ไม่ละศีล ๕ เหล่านั้น เพราะฉะนั้น ศีล ๕ เหล่านั้นจึงเรียกว่า "เป็นที่ปรารถนาของพระอริยเจ้า."
               ข้อที่เหลือซึ่งควรกล่าวในที่นี้ทั้งหมดนั้น ได้กล่าวแล้วในอนุสสตินิเทศ ในวิสุทธิมรรคแล.

               จบอรรถกถาปฐมปัญจภยเวรสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมัยสังยุตต์ คหบดีวรรคที่ ๕ ปัญจเวรภยสูตรที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 149อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 151อ่านอรรถกถา 16 / 156อ่านอรรถกถา 16 / 725
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=16&A=1812&Z=1883
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=1841
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=1841
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :