ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 224อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 230อ่านอรรถกถา 16 / 235อ่านอรรถกถา 16 / 725
อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมัยสังยุตต์ มหาวรรคที่ ๗
อัสสุตวตาสูตรที่ ๑

               อรรถกถามหาวรรคที่ ๗               
               อรรถกถาอัสสุตวตาสูตรที่ ๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในอัสสุตวตาสูตรที่ ๑ แห่งมหาวรรคต่อไป.
               บทว่า อสุตวา ผู้มิได้สดับ ได้แก่ ผู้เว้นจากการเรียน การสอบถามและการวินิจฉัยในขันธ์ ธาตุ อายตนะ ปัจจยาการและสติปัฏฐานเป็นต้น.
               บทว่า ปุถุชฺชโน ปุถุชน ได้แก่ ชื่อว่าปุถุชน เพราะเหตุที่ยังกิเลสมากนานัปการเป็นต้นให้เกิด.
               จริงอยู่ ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ชื่อว่าปุถุชน เพราะยังกิเลสหนาให้เกิด.
               ข้อความทั้งปวงนั้น ควรทำให้พิสดาร.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าปุถุชน เพราะหยั่งลงภายในของพวกชนจำนวนมาก คือนับไม่ได้ หันหลังให้อริยธรรม ประพฤติธรรมต่ำ.
               อีกอย่างหนึ่ง ผู้นี้ชื่อว่าปุถุ เพราะถึงการนับไว้แผนกหนึ่งทีเดียว ชื่อว่าชน เพราะแยกจากพระอริยเจ้าผู้ประกอบด้วยคุณมีศีลและสุตะเป็นต้น ฉะนั้นจึงชื่อว่าปุถุชน.
               ด้วยบททั้งสอง คือ อสุตวา ปุถุชฺชโน ดังกล่าวแล้วนี้นั้น ท่านถือเอาอันธปุถุชน ในจำนวนปุถุชน ๒ จำพวกที่พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ตรัสไว้ว่า ปุถุชนมี ๒ จำพวก คืออันธปุถุชน ๑ กัลยาณปุถุชน ๑.
               ด้วยบทว่า อิมสฺมึ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงกายที่เห็นประจักษ์อยู่ในปัจจุบัน.
               บทว่า จาตุมฺมหาภูติกสฺมึ แปลว่า ในกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตรูป ๔. อธิบายว่า บังเกิดแต่มหาภูตรูป ๔ ชื่อว่าสำเร็จแต่มหาภูตรูป ๔.
               บทว่า นิพฺพินฺเทยฺย แปลว่า พึงหน่าย.
               บทว่า วิรชฺเชยฺย แปลว่า ไม่พึงยินดี.
               บทว่า วิมุจฺเจยฺย แปลว่า พึงเป็นผู้ใคร่จะพ้น.
               บทว่า อาจโย แปลว่า ความเจริญ.
               บทว่า อปจโย แปลว่า ความเสื่อม.
               บทว่า อาทานํ แปลว่า การบังเกิด.
               บทว่า นิกฺเขปนํ แปลว่า ความแตกสลาย.
               บทว่า ตสฺมา ได้แก่ เพราะเหตุที่มหาภูตรูป ๔ เหล่านี้ ย่อมปรากฏ เพราะมีความเจริญ ความเสื่อม ความบังเกิดและความแตกสลาย. อธิบายว่า เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำรูปที่มิได้ประกอบ (ในการ) เพื่อกำหนดรูปในกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตรูป ๔ แล้วทรงกระทำรูปที่ประกอบแล้วในกาย เพื่อกำหนดว่า ไม่มีรูป.
               เพราะเหตุไร.
               เพราะว่า การถือมั่นในรูปของภิกษุเหล่านั้นมีกำลังเกินประมาณ.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความที่การถือมั่นในรูปของภิกษุเหล่านั้นว่า เป็นรูปที่ไม่ควรกำหนด เมื่อจะทรงนำออก จึงตรัสอย่างนั้น เพื่อทรงตั้งไว้ในความไม่มีรูป.
               คำทั้งปวงมี จิตฺตํ เป็นอาทิ เป็นชื่อของมนายตนะนั่นเอง.
               ก็มนายตนะนั้น เรียกว่าจิต เพราะเป็นที่ตั้งแห่งจิต เพราะเป็นโคจรแห่งจิต เพราะมีจิตเป็นสัมปยุตธรรม เรียกว่ามนะ เพราะอรรถว่าน้อมไป และเรียกว่าวิญญาณ เพราะอรรถว่ารู้แจ้ง.
               บทว่า นาลํ แปลว่า ไม่สามารถ.
               บทว่า อชฺโฌสิตํ แปลว่า ถูกตัณหากลืน คือร้อยรัดยึดไว้.
               บทว่า มมายิตํ ได้แก่ ถือเอาว่า นี้ของเราด้วยการยึดว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา.
               บทว่า ปรามฏฺฐํ ได้แก่เป็นอันถูกทิฏฐิยึดถือเอาโดยประการอื่น (นอกพระพุทธศาสนา).
               คำว่า เอตํ มม นั่นของเรา เป็นการยึดถือด้วยอำนาจตัณหา. ความวิปริตแห่งตัณหา ๑๐๘ เป็นอันถือเอาด้วยคำนั้น.
               บทว่า เอโสหมสฺมิ เป็นการยึดถือด้วยอำนาจมานะ. มานะ ๙ เป็นอันถือเอาด้วยคำนั้น.
               บทว่า เอโส เม อตฺตา นั่นคืออัตตาของเรา เป็นการยึดถือด้วยอำนาจทิฏฐิ. ทิฏฐิ ๖๒ เป็นอันถือเอาด้วยคำนั้น.
               บทว่า ตสฺมา ได้แก่ เพราะยึดถือรูปนี้ไว้ตลอดกาลนาน ฉะนั้น จึงไม่สามารถจะหน่ายได้.
               ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า ปรํ ภิกฺขเว นี้. แก้ว่า เพราะรูปที่ ๑ เป็นอันภิกษุนั้นกระทำให้เป็นรูปที่ไม่สมควรจะกำหนด ทำอรูปให้เป็นรูปที่สมควร เมื่อเป็นเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ภิกษุเหล่านั้นออกจากการยึดถือรูป ถืออรูป ดังนี้ จึงทรงปรารภพระเทศนานี้ เพื่อทรงคร่าออกซึ่งการยึดถือนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺตโต อุปคจฺเฉยฺย ความว่า พึงถือเอาว่าเป็นอัตตา.
               บทว่า ภิยฺโยปิ ความว่า แม้จะเกินกว่า ๑๐๐ ปีขึ้นไป.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนั้น ขึ้นชื่อว่า รูปที่ตั้งอยู่เกิน ๑๐๐ ปีมีอยู่หรือ. รูปที่เป็นไปในปฐมวัยอยู่ไม่ถึงมัชฌิมวัย, รูปที่เป็นไปในมัชฌิมวัยอยู่ไม่ถึงปัจฉิมวัย, รูปที่เป็นไปก่อนอาหารอยู่ไม่ถึงหลังอาหาร, รูปที่เป็นไปหลังอาหารอยู่ไม่ถึงปฐมยาม, รูปที่เป็นไปในปฐมยามอยู่ไม่ถึงมัชฌิมยาม, รูปที่เป็นไปในมัชฌิมยามอยู่ไม่ถึงปัจฉิมยาม, มีอยู่ มิใช่หรือ.
               อนึ่ง รูปที่เป็นไปในเวลาเดินอยู่ไม่ถึงเวลายืน, รูปที่เป็นไปในเวลายืนอยู่ไม่ถึงเวลานั่ง, รูปที่เป็นไปในเวลานั่งอยู่ไม่ถึงเวลานอน. แม้ในอิริยาบถหนึ่ง รูปที่เป็นไปในเวลายกเท้าอยู่ไม่ถึงย้ายเท้า, รูปที่เป็นไปในเวลาย้ายเท้าอยู่ไม่ถึงเวลาย่างเท้า, รูปที่เป็นไปในเวลาย่างเท้าอยู่ไม่ถึงเวลาหย่อนเท้า, รูปที่เป็นไปในเวลาหย่อนเท้าอยู่ไม่ถึงเวลาเหยียบพื้น, รูปเป็นไปในเวลาเหยียบพื้นอยู่ไม่ทันถึงเวลายันพื้น. สังขารทั้งหลายทำเสียงว่า ตฏะ ตฏะ ลั่นเป็นข้อๆ ในที่นั้นๆ เหมือนงาที่เขาใส่ไว้ในภาชนะร้อนฉะนั้นหรือ.
               แก้ว่า ข้อนั้นย่อมเป็นจริงอย่างนั้น. เหมือนอย่างว่า เมื่อประทีปกำลังลุกโพลง เปลวไฟไม่โพลงล่วงส่วนแห่งไส้นั้นๆ ย่อมแตก [เทียะๆ] ในที่นั้นๆ.
               อนึ่งเล่า เมื่อประทีปกำลังลุกโพลงตลอดคืนยันรุ่ง ด้วยอำนาจที่เนื่องด้วยความสืบต่อ ท่านก็เรียกว่าประทีปฉันใด แม้ในที่นี้ กายแม้นี้ ท่านแสดงให้เป็นเหมือนตั้งอยู่ตลอดกาลนานอย่างนั้น ด้วยอำนาจความสืบต่อก็ฉันนั้น.
               ก็บทว่า รตฺติยา จ ทิวสสฺส จ นี้ เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ.
               บทว่า อญฺญเทว อุปฺปชฺชติ อญฺญํ นิรุชฺฌติ ความว่า จิตใจเกิดขึ้นและดับไปในเวลากลางคืน จิตดวงอื่นนอกจากจิตดวงนั้นนั่นแลย่อมเกิดขึ้นและดับไปในกลางวัน. แต่ไม่ควรถือเอาอรรถอย่างนี้ว่า จิตดวงอื่นเกิดขึ้น จิตดวงอื่นที่ยังไม่เกิดขึ้นนั่นแลย่อมดับไป.
               บทว่า รตฺติยา จ ทิวสสฺส จ นี้ ท่านถือเอาความสืบต่ออันน้อยกว่าความสืบต่อเดิมแล้วกล่าวด้วยอำนาจความสืบต่อนั่นเอง. ก็จิตดวงเดียวเท่านั้นชื่อว่าสามารถเพื่อตั้งอยู่สิ้นคืนหนึ่งหรือวันหนึ่ง ย่อมไม่มี.
               จริงอยู่ ในขณะดีดนิ้วครั้งเดียว จิตเกิดขึ้นหลายโกฏิแสนดวง.
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ในมิลินทปัญหาว่า มหาบพิตร ข้าวเปลือก ๑๐๐ เล่มเกวียน ๑ บั้น ๗ สัดกับ ๒ ทะนาน ไม่ถึงการนับ คือไม่ถึงเสี้ยว ไม่ถึงส่วนของเสี้ยวแห่งจิตที่เป็นไปในขณะดีดนิ้วครั้งเดียว.
               บทว่า พฺรหาวเน แปลว่า ป่าใหญ่.
               ด้วยคำว่า ตํ มุญฺจิตฺวา อญฺญํ คณฺหาติ ตํ มุญฺจิตฺวา คณฺหาติ ทรงแสดงความไว้ดังนี้ว่า ลิงนั้นไม่ได้กิ่งไม้ที่จะพึงจับ ก็ไม่ลงสู่พื้นดิน โดยที่แท้เที่ยวอยู่ในป่าใหญ่นั้นจับเอาแต่กิ่งไม้นั้นๆ เที่ยวไปเท่านั้น.
               ในบทว่า เอวเมว โข นี้ มีอุปมาเป็นเครื่องเทียบเคียงดังต่อไปนี้
               จริงอยู่ ป่าอันถือเอาเป็นอารมณ์ พึงทราบเหมือนป่าใหญ่ในป่า จิตอันเกิดขึ้นในป่าคืออารมณ์ พึงทราบเหมือนลิงที่เที่ยวไปในป่านั้น การได้อารมณ์เหมือนการจับกิ่งไม้. ลิงนั้นเที่ยวไปในป่าปล่อยกิ่งไม้นั้นๆ แล้วจับกิ่งไม้นั้นๆ ฉันใด แม้จิตนี้ก็ฉันนั้น เที่ยวไปในป่าคืออารมณ์ บางคราวยึดเอารูปารมณ์เกิดขึ้น บางคราวยึดเอาอารมณ์มีสัททารมณ์เป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง บางคราวยึดเอาอตีตารมณ์หรืออนาคตารมณ์ บางคราวยึดเอาอารมณ์ปัจจุบัน บางคราวยึดเอาอารมณ์ภายในหรืออารมณ์ภายนอก. เหมือนอย่างว่า ลิงนั้นเที่ยวไปในป่าไม่ได้กิ่งไม้ ไม่พึงกล่าวว่าลงแล้วบนภาคพื้นดิน. แต่จับเอากิ่งไม้กิ่งหนึ่งแล้วนั่งอยู่ฉันใด แม้จิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน เที่ยวไปในป่าคืออารมณ์ ไม่พึงกล่าวว่า ไม่ได้อารมณ์ที่ยึดเหนี่ยวอย่างหนึ่งเกิดขึ้น แต่พึงทราบว่า ในการเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง จิตยึดเอาอารมณ์แล้วจึงเกิดขึ้น.
               ก็ด้วยอันดับคำเพียงเท่านี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำออกจากรูปแล้วให้ตั้งการยึดในอรูป นำออกจากอรูปให้ตั้งในรูป.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระประสงค์จะแยกรูปนั้นออกเป็น ๒ ส่วน จึงเริ่มแสดงว่า ตตฺร ภิกฺขเว สุตวา อริยสาวโก พึงทราบความอุปมาครั้งบุรุษผู้ถูกงูพิษกัดดังต่อไปนี้.
               ได้ยินว่า บุรุษคนหนึ่งถูกงูพิษกัด. ลำดับนั้น หมอผู้ฉลาดคนหนึ่งมาด้วยหมายใจว่าจะถอนพิษงูนั้นออก แล้วทำให้คายพิษร่ายมนต์ว่า ข้างล่างเป็นครุฑ ข้างบนเป็นนาค แล้วไล่พิษไว้ข้างบน.
               หมอนั้นรู้ว่า พิษถูกยกขึ้นจนถึงส่วนขอบตาแล้ว คิดว่า แต่นี้ไปเราไม่ยอมให้ขึ้นไป เราจะตั้งไว้ในที่ๆ ถูกกัดนั่นเอง จึงร่ายมนต์ว่า ข้างบนเป็นครุฑ ข้างล่างเป็นนาค จึงรมควันที่แผล เอาไม้เคาะ ปลงพิษลงตั้งไว้ในที่ๆ ถูกกัดนั่นเอง. เขารู้ว่าพิษตั้งอยู่ในที่นั้น จึงทำลายพิษโดยการทายาขนานเยี่ยม แล้วให้อาบน้ำกล่าวว่า ขอท่านจงมีความสบายเถิด แล้วหลีกไปตามประสงค์.
               ในข้อนั้น กาลที่ภิกษุเหล่านี้ถือเอาประมาณยิ่งในรูป พึงทราบเหมือนการตั้งอยู่ของพิษในกายของบุรุษผู้ถูกอสรพิษกัด. พระตถาคตเหมือนหมอผู้ฉลาด. กาลที่ภิกษุเหล่านั้นอันพระตถาคตให้ทำการยึดถือจากรูป แล้วให้ตั้งอยู่ในอรูป เหมือนเวลาที่หมอร่ายมนต์แล้วไล่ยาพิษไว้ข้างบน กาลที่ภิกษุเหล่านั้นอันพระตถาคตให้นำการยึดถือจากอรูป แล้วให้ตั้งอยู่ในรูป เปรียบเหมือนเวลาที่หมอไม่ให้พิษที่แล่นขึ้นข้างบนจนถึงขอบตา แล้วไล่ลงด้วยกำลังมนต์อีก แล้วตั้งไว้ในที่ๆ ถูกอสรพิษกัด พึงทราบกาลที่พระศาสดาทรงเริ่มเทศนานี้เพื่อนำการยึดถือออกจากอารมณ์ทั้ง ๒ ฝ่าย เปรียบทำลายยาพิษที่หยุดไว้ในที่ถูกอสรพิษกัดด้วยการทายาขนานเยี่ยม.
               บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ พระองค์ตรัสเหมือนการมรรค.
               ด้วยบทว่า วิราคา วิมุจฺจติ ตรัสผล.
               ด้วยบทว่า วิมุตฺตสฺมึ เป็นต้น ตรัสปัจจเวกขณญาณ.

               จบอรรถกถาอัสสุตวตาสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมัยสังยุตต์ มหาวรรคที่ ๗ อัสสุตวตาสูตรที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 224อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 230อ่านอรรถกถา 16 / 235อ่านอรรถกถา 16 / 725
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=16&A=2519&Z=2566
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=2470
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=2470
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :