ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 26อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 28อ่านอรรถกถา 16 / 31อ่านอรรถกถา 16 / 725
อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมัยสังยุตต์ อาหารวรรคที่ ๒
อาหารสูตร

               อาหารวรรคที่ ๒               
               อรรถกถาอาหารสูตรที่ ๑               
               อาหารวรรค อาหารสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อาหารา ได้แก่ปัจจัย.
               จริงอยู่ ปัจจัย ท่านเรียกว่าอาหาร เพราะนำผลให้แก่ตน.
               ในบทว่า ภูตานํ วา สตฺตานํ เป็นอาทิ พึงทราบเนื้อความดังต่อไปนี้.
               บทว่า ภูตา ได้แก่ เกิดแล้ว คือบังเกิดแล้ว.
               บทว่า สมฺภเวสิโน ได้แก่ เหล่าสัตว์ผู้แสวงหา ค้นหาสมภพที่เกิด ที่บังเกิด.
               บรรดากำเนิด ๔ เหล่านั้น อัณฑชะสัตว์ ชลาพุชะสัตว์ยังทำลายกะเปาะไข่และฟองไข่ไม่ได้อยู่ตราบใด ชื่อว่าสัมภเวสี (ผู้แสวงหาภพที่เกิด) อยู่ตราบนั้น. เหล่าสัตว์ที่ทำลายกะเปาะไข่และฟองไข่ออกมาภายนอก ชื่อว่าภูต. เหล่าสังเสทชะสัตว์ และโอปปาติกะสัตว์ (สัตว์ที่เกิดในเถ้าไคล และที่ผุดเกิดเอง) ชื่อว่าสัมภเวสี ในขณะแห่งจิตดวงแรก. ตั้งแต่ขณะจิตดวงที่ ๒ ไป ชื่อว่าภูต.
               อีกอย่างหนึ่ง เหล่าสัตว์ที่ยังไม่ถึงอิริยาบถอื่นจากอิริยาบถที่ตนเกิดตราบใด ก็จัดว่าเป็นสัมภเวสีตราบนั้น. นอกจากนั้น ชื่อว่าภูต.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ภูตา ได้แก่เกิดแล้ว คือบังเกิดแล้ว ภูตเหล่าใด คือภูตที่ถึงการนับ (ที่จัดเข้าในประเภทที่) ว่าจักไม่มี (การเกิด) อีก คำนั้นเป็นชื่อของพระขีณาสพเหล่านั้น. ชื่อว่าสัมภเวสี เพราะแสวงหาภพที่เกิด. คำนั้นเป็นชื่อของพระเสขะและปุถุชนผู้แสวงหาภพต่อไป เพราะยังละภวสังโยชน์ไม่ได้ ด้วยอาการอย่างนี้ กิเลสภวสังโยชน์นั้น จึงยึดสรรพสัตว์ไว้ด้วยบททั้ง ๒ นี้โดยประการทั้งปวง.
               อนึ่ง วา ศัพท์ในคำว่า ภูตานํ วา สตฺตานํ นี้ มีอรรถว่าประมวลกันเข้า เพราะเหตุนั้น พึงทราบเนื้อความดังนี้ว่า ภูตานํ จ สมฺภเวสีนํ จ สัตว์ผู้เกิดแล้ว และสัตว์ผู้แสวงหาภพ.
               บทว่า ฐิติยา ได้แก่ เพื่อความตั้งอยู่.
               บทว่า อนุคฺคหาย ได้แก่ เพื่อความอนุเคราะห์. นี้เป็นเพียงความแตกต่างแห่งถ้อยคำเท่านั้น ส่วนเนื้อความ (ความหมาย) ของบทแม้ทั้ง ๒ นั้นก็เป็นอย่างเดียวกันนั่นเอง.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ฐิติยา ได้แก่ไม่ขาดสายเพราะธรรมที่เกิดขึ้นแก่สัตว์นั้นๆ ยังตามผูกพันอยู่.
               บทว่า อนุคฺคหาย ได้แก่ เพื่อการเกิดขึ้นแห่งธรรมที่ยังไม่เกิด.
               บททั้ง ๒ นี้ พึงเห็นในที่ทั้ง ๒ อย่างนี้ว่า ภูตานํ วา ฐิติยา เจว อนุคฺคหาย จ สมฺภเวสีนํ ฐิติยา เจว อนุคฺคหาย จ (เพื่อความดำรงและเพื่ออนุเคราะห์ภูตทั้งหลาย หรือเพื่อความดำรงและเพื่ออนุเคราะห์สัมภเวสีทั้งหลาย).
               อาหารที่ทำเป็นคำกลืนกิน ชื่อว่า กพฬีการาหาร. คำว่า กพฬีการาหาร นั้น เป็นชื่อของโอชามีข้าวสุกและขนมกุมมาสเป็นต้น เป็นที่ตั้ง.
               บทว่า โอฬาริโก วา สุขุโม วา ได้แก่ ชื่อว่าหยาบ เพราะมีวัตถุหยาบ. ชื่อว่าละเอียด เพราะมีวัตถุละเอียด. กพฬีการาหาร ชื่อว่าละเอียด เพราะนับเนื่องในสุขุมรูป รูปละเอียดตามสภาพ. พึงทราบว่า อาหารนั้นหยาบและละเอียดโดยวัตถุ เพราะเทียบเคียงกับอาหารของจระเข้. เขาว่า จระเข้กินก้อนหิน. ก็ก้อนหินเหล่านั้นพอเข้าไปในท้องของมัน ก็ย่อยละเอียด. นกยูงกินสัตว์ต่างๆ มีงู และแมงป่องเป็นต้น. แต่เมื่อเทียบกับอาหารของนกยูง อาหารของหมาในละเอียดกว่า. เขาว่า หมาในเหล่านั้นกินเขาและกระดูกที่เขาทิ้งไว้ถึง ๓ ปี. ก็กระดูกเหล่านั้นพอเปียก เพราะน้ำลายของพวกมัน ก็อ่อนเหมือนเหง้ามัน. เมื่อเทียบกับอาหารของหมาในอาหารของช้างละเอียดกว่า. เพราะช้างเหล่านั้นกินกิ่งไม้ต่างๆ เป็นต้น. อาหารของโคลาน กวาง และเนื้อเป็นต้น ละเอียดกว่าอาหารของช้าง. เขาว่า โคลาน กวาง และเนื้อเป็นต้นกินใบไม้ต่างๆ เป็นต้นซึ่งไม่มีแก่น. อาหารของโคละเอียดแม้กว่าอาหารของโคลาน กวางและเนื้อเหล่านั้น. โคเหล่านั้นกินหญ้าสดและหญ้าแห้ง. อาหารของกระต่ายละเอียดกว่าอาหารของโคเหล่านั้น. อาหารของนกละเอียดกว่าอาหารของกระต่าย. อาหารของพวกที่อยู่ชายแดนละเอียดกว่าอาหารของพวกนก. อาหารของนายบ้านละเอียดกว่าอาหารของพวกที่อยู่ชายแดน. อาหารของมหาอำมาตย์ของพระราชาละเอียดกว่าอาหารของนายบ้าน. พระกระยาหารของพระเจ้าจักรพรรดิละเอียดกว่าอาหารของมหาอำมาตย์แม้เหล่านั้น. อาหารของเหล่าภุมมเทพละเอียดกว่าพระกระยาหารของพระเจ้าจักรพรรดิ. อาหารของเทพชั้นจาตุมหาราชิกาละเอียดกว่าอาหารของภุมมเทพ. พึงให้อาหารของเทพยดาทั้งหลายจนถึงเทพยดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี พิสดารดังพรรณนามาฉะนี้. ตกลงว่าอาหารของเทพยดาเหล่านั้นละเอียดทั้งนั้น.
               ก็ในคำว่า โอฬาริโก วา สุขุโม วา นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               เมื่อวัตถุหยาบโอชาก็น้อยและมีกำลังอ่อน. เมื่อวัตถุละเอียด โอชาก็มีกำลังดี. จริงอย่างนั้น ผู้ที่ดื่มข้าวยาคูแม้เต็มบาตรหนึ่ง ครู่เดียวเท่านั้นก็หิว อยากกินอะไรๆ อยู่นั่นแหละ. ส่วนผู้ที่ดื่มเนยใสเพียงฟายมือหนึ่ง ก็ไม่อยากกินตลอดวัน (อยู่ได้ทั้งวัน). วัตถุในบรรดาข้าวยาคูและเนยใสนั้นย่อมบรรเทาอันตราย กล่าวคือไฟอันเกิดแต่กรรมได้ แต่ไม่สามารถจะหล่อเลี้ยงได้. แม้ข้าวโอชาจะหล่อเลี้ยงได้แต่ไม่สามารถจะบรรเทาอันตรายได้. แต่ข้าวยาคูและเนยใสทั้ง ๒ อย่างรวมกันเข้าแล้วย่อมบรรเทาอันตรายและหล่อเลี้ยงได้ ดังพรรณนามาฉะนี้.
               บทว่า ผสฺโส ทุติโย ความว่า ผัสสะทั้ง ๖ อย่างมีจักษุสัมผัสเป็นต้น พึงทราบว่า ชื่อว่าอาหารที่ ๒ ในอาหาร ๔ อย่างเหล่านั้น. นี้ก็เป็นเทศนานัยเท่านั้น. เพราะเหตุนั้น ด้วยเหตุชื่อนี้จึงไม่จำต้องค้นหา ในคำว่า ทุติโย ตติโย จ นี้ในที่นี้. เจตนานั่นเองท่านเรียกว่า มโนสัญเจตนา.
               บทว่า วิญฺญาณํ ได้แก่ จิต. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอาหาร ๔ ให้เป็นหมวดเดียวกัน ไว้ในที่นี้ด้วยอำนาจอาหาร ที่เป็นอุปาทินนกะและอนุปาทินนกะด้วยประการฉะนี้. จริงอยู่ กพฬีการาหารที่เป็นอุปาทินนกะก็มี ที่เป็นอนุปาทินนกะก็มี ถึงผัสสะเป็นต้นก็เหมือนกัน.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำนั้น (คำว่า อุปาทินฺนโกปิ อตฺถิ อนุปาทินฺนโกปิ) ดังต่อไปนี้ :-
               พึงทราบกพฬีการาหารที่เป็นอุปาทินนกะด้วยอำนาจกบเป็นต้น ที่ถูกงูกลืนกิน. อันกบเป็นต้นถูกงูกลืนกิน แม้จะอยู่ในท้องก็ยังมีชีวิตอยู่ ชั่วเวลาเล็กน้อยเท่านั้น. กบเหล่านั้น ตราบใดที่ยังอยู่ในฝ่ายอุปาทินนกะก็ไม่สำเร็จประโยชน์เป็นอาหารตราบนั้น แต่เมื่อทำลายไปอยู่ในฝ่ายอนุปาทินนกะจึงให้สำเร็จเป็นอาหารได้. ท่านกล่าวว่า อุปาทินนกาหาร ก็จริง แต่คำที่ว่านี้ ท่านเพิ่มเข้าในอรรถกถาว่า อาจารย์ทั้งหลายมิได้กล่าวไว้ แล้วกล่าวไว้ดังนี้ว่า อาหารที่เกิดร่วมกับปฏิสนธิจิตของสัตว์เหล่านี้ ซึ่งกินก็ดี ไม่กินก็ดี ปริโภคก็ดี ไม่บริโภคก็ดี ชื่อว่า กัมมชรูป (รูปเกิดแต่กรรม) มีอยู่ อาหารนั้นย่อมหล่อเลี้ยงชีวิตไปได้จนถึงวันที่ ๗. อาหารนี้แหละพึงทราบว่า กพฬีการาหารที่เป็นอุปาทินนกะ. ผัสสะเป็นต้นที่เป็นอุปาทินนกะพึงทราบด้วยอำนาจวิบากอันเป็นไปในภูมิ ๓. ที่เป็นอนุปาทินนกะพึงทราบด้วยอำนาจกุศลจิต อกุศลจิต และกิริยาจิตที่เป็นไปในภูมิ ๓. ส่วนที่เป็นโลกุตระ ท่านกล่าวไว้โดยที่กินความถึงด้วย.
               ในข้อนี้ท่านผู้ท้วงได้ท้วงว่า ผิว่า อาหารมีอรรถว่าปัจจัย ปัจจัยมีอรรถว่าอาหารไซร้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร เมื่อปัจจัย แม้เหล่าอื่นของสัตว์ทั้งหลายมีอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอาหาร ๔ เหล่านี้ไว้แล้ว.
               จะเฉลยต่อไป :-
               ที่พระองค์ตรัสไว้ว่า เพราะอาหารเป็นปัจจัยพิเศษของความสืบต่อ (สันตติ) ในภายใน. จริงอยู่ กพฬีการาหารนั้นเป็นปัจจัยพิเศษแห่งรูปกายของสัตว์ทั้งหลายที่มีกพฬีการาหารเป็นภักษา. ผัสสาหารเป็นปัจจัยพิเศษแห่งเวทนาในนามกาย. มโนสัญเจตนาหารเป็นปัจจัยพิเศษแห่งวิญญาณ. วิญญาณาหารเป็นปัจจัยพิเศษแห่งนามรูป.
               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายนี้ดำรงอยู่ได้เพราะอาหาร อาศัยอาหารจึงดำรงอยู่ได้ ไม่มีอาหารหาดำรงอยู่ได้ไม่แม้ฉันใด เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป ก็ฉันนั้น."
               ถามว่า ก็ในข้อนี้ อาหารอะไร นำอะไรมาให้.
               ตอบว่า กพฬีการาหารนำรูปอันมีโอชะเป็นที่ ๘ มา ผัสสาหารนำเวทนา ๓ มา มโนสัญเจตนาหารนำภพทั้ง ๓ มา วิญญาณาหารนำปฏิสนธิและนามรูปมาให้.
               ถามว่า นำมาอย่างไร.
               ตอบว่า อันดับแรก กพฬีการาหาร พอวางไว้ที่ปากเท่านั้น ก็ให้รูป ๘ รูปตั้งขึ้น. แต่เมล็ดข้าวแต่ละเมล็ดที่ฟันเคี้ยวละเอียดกลืนลงไป ก็ให้รูปอย่างละ ๘ รูปตั้งขึ้นทันที. กพฬีการาหาร นำรูปอันมีโอชะเป็นที่ ๘ มาด้วยอาการอย่างนี้.
               อนึ่ง ในผัสสาหาร ผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา เมื่อเกิดขึ้นนั่นแล ย่อมนำสุขเวทนามาให้. ที่เป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ย่อมนำทุกข์มาให้. ที่เป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ย่อมนำอทุกขมสุขเวทนามาให้. รวมความว่า ผัสสาหารย่อมนำเวทนาทั้ง ๓ มาให้ แม้โดยประการทั้งปวง ด้วยอาการอย่างนี้.
               มโนสัญเจตนาหารย่อมนำกามภพมาให้แก่ผู้เข้าถึงกามภพ. ย่อมนำภพนั้นๆ มาให้แก่ผู้เข้าถึงรูปภพและอรูปภพ. มโนสัญเจตนาหารย่อมนำภพทั้ง ๓ มาให้ แม้โดยประการทั้งปวง ด้วยอาการอย่างนี้. ส่วนวิญญาณาหาร ท่านกล่าวว่า ย่อมนำมาซึ่งขันธ์ทั้ง ๓ ที่สัมปยุตด้วยปฏิสนธิวิญญาณนั้นให้ขณะปฏิสนธิและรูป ๓๐ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจคติสันตติโดยนัยแห่งปัจจัยมีสหชาตปัจจัยเป็นต้น. เพราะเหตุนั้น วิญญาณาหารย่อมนำนามรูปในปฏิสนธิมาอย่างนี้. ก็ในข้อนี้ ท่านกล่าวกุศลเจตนาที่เป็นกุศลที่มีอาสวะเท่านั้นว่า มโนสัญเจตนานำภพทั้ง ๓ มาให้. กล่าวปฏิสนธิวิญญาณเท่านั้นว่า วิญญาณนำนามรูปในปฏิสนธิมาให้. แต่เมื่อว่าโดยไม่แปลกกัน ปัจจัยเหล่านั้น พึงทราบว่า อาหาร เพราะนำธรรมซึ่งสัมปยุตด้วยปัจจัยนั้นๆ มีปัจจัยนั้นๆ เป็นสมุฏฐานมาให้.
               บรรดาอาหาร ๔ อย่างนั้น กพฬีการาหาร เมื่อจะค้ำจุนย่อมให้อาหารกินสำเร็จได้. ผัสสะเมื่อถูกต้องก็ให้อาหารกิจสำเร็จได้. มโนสัญเจตนา เมื่อประมวลมาก็ให้อาหารกิจสำเร็จได้. วิญญาณเมื่อรู้แจ้งก็ให้อาหารกิจสำเร็จเช่นกัน.
               ถามว่า ให้สำเร็จอย่างไร.
               ตอบว่า จริงอยู่ อันกพฬีการาหาร เมื่อค้ำจุนย่อมมีเพื่อความดำรงอยู่แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพราะการดำรงกายไว้. ก็กายนี้แม้กรรมให้เกิดอันกพฬีการาหารค้ำจุน ย่อมดำรงอยู่ ตลอดปริมาณอายุ ๑๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง.
               ถามว่า เปรียบเหมือนอะไร.
               ตอบว่า เปรียบเหมือนเด็กแม้มารดาให้เกิดมาถูกแม่นมให้ดื่มนมเป็นต้น เลี้ยงดูย่อมดำรงอยู่ได้นาน และเปรียบเหมือนเรือนอนเสาเรือนค้ำไว้.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               "มหาบพิตร เรือนเมื่อจะล้ม ถูกไม้เครื่องเรือนอย่างอื่นค้ำไว้ เรือนนั้นก็ไม่ล้มฉันใด มหาบพิตรอันกายของเรานี้ก็เหมือนกัน ดำรงอยู่ได้เพราะอาหาร อาศัยอาหารจึงดำรงอยู่ได้." กพฬีการาหาร เมื่อค้ำจุนย่อมให้อาหารกิจสำเร็จด้วยอาการอย่างนี้.
               อนึ่ง กพฬีการาหาร แม้จะให้อาหารกิจสำเร็จด้วยอาการอย่างนี้ ย่อมเป็นปัจจัยแก่รูปสันตติทั้งสอง คือทั้งที่มีอาหารเป็นสมุฏฐาน และทั้งที่เป็นอุปาทินนกะ. กพฬีการาหารเป็นอนุปาลกปัจจัย (ปัจจัยที่ตามรักษา) แก่รูปที่เกิดแต่กรรม เป็นชนกปัจจัย (ปัจจัยที่ให้เกิด) แก่รูปที่มีอาหารเป็นสมุฏฐานด้วยประการฉะนี้.
               ส่วนผัสสะ เมื่อถูกต้องอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเป็นต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงอยู่แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพราะความเป็นไปแห่งสุขเวทนาเป็นต้น.
               มโนสัญเจตนาเมื่อจะประมวลมาด้วยอำนาจกุศลกรรมและอกุศลกรรมย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงอยู่แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพราะให้มูลแห่งภพสำเร็จ.
               วิญญาณเมื่อรู้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงอยู่แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพราะให้นามรูปเป็นไปด้วยอาการอย่างนี้.
               ในอาหารเหล่านี้ ที่ให้อาหารกินสำเร็จด้วยอำนาจการค้ำจุนอย่างนี้ ก็พึงเห็นภัย ๔ อย่าง คือ ภัยอันเกิดแต่ความติดใจในกพฬีการาหาร ภัยคือการเข้าไปหาผัสสะ ภัยคือการประมวลมโนสัญเจตนามา ภัยคือการตกไปในวิญญาณ.
               เพราะเหตุไร.
               เพราะสัตว์ทั้งหลายติตใจในกพฬีการาหารแล้ว มุ่งความเย็นเป็นต้น เบื้องหน้าเมื่อจะทำการงานมีมุทธาคณนา (วิชาคำนวณ) เป็นต้น เพื่อต้องการอาหารย่อมประสบทุกข์มิใช่น้อย. ก็บางพวกแม้จะบวชในศาสนานี้แล้ว ก็แสวงหาอาหารด้วยอเนสกรรมมีเวชกรรมเป็นต้น ย่อมถูกเขาติเตียนในปัจจุบัน แม้ในภพหน้า ก็ย่อมเป็นสมณเปรต ตามนัยที่กล่าวไว้ในลักขณสังยุตมีอาทิว่า แม้สังฆาฏิของเธอก็ถูกไฟไหม้ลุกโชนแล้ว. เพราะเหตุนี้อันดับแรก ความติดใจในกพฬีการาหาร พึงทราบว่าเป็นภัย.
               ผู้ที่ยินดีในผัสสะแม้เข้าไปใกล้ผัสสะ ก็ย่อมผิดในภัณฑะมีเมียเขาเป็นต้น ที่คนอื่นเขารักษาคุ้มครองไว้. เจ้าของภัณฑะ (สามีเขา) จับเอาคนเหล่านั้นมาพร้อมทั้งภัณฑะ (เมีย) แล้วตัดเป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ แล้วทิ้งไปในกองขยะ หรือมอบถวายแด่พระราชา. แต่นั้นพระราชาทรงมีรับสั่งให้ลงอาชญากรรมต่างๆ. คนเหล่านั้นเมื่อกายแตกทุคติก็เป็นอันหวังได้. ภัยในปัจจุบันก็ดี ในภพหน้าก็ดี ซึ่งมีความยินดีในผัสสะเป็นมูลเหตุ ย่อมมาพร้อมกันได้ทั้งหมดด้วยประการฉะนี้. เพราะเหตุนี้ การเข้าไปหาผัสสาหารนั่นแล พึงทราบว่าเป็นภัย.
               ก็เพราะประมวลกุศลกรรมและอกุศลกรรม ภัยในภพทั้ง ๓ ซึ่งมีกุศลกรรมและอกุศลกรรมเป็นต้นมูล จึงมาพร้อมกันทั้งหมด. ด้วยเหตุนี้ การประมวลมาในมโนสัญเจตนาหารนั่นแล พึงทราบว่าเป็นภัย.
               ส่วนปฏิสนธิวิญญาณ ตกไปในที่ใดๆ ก็ย่อมถือเอาปฏิสนธินามรูป ไปเกิดในที่นั้นๆ. เมื่อปฏิสนธินามรูปเกิดแล้ว ภัยทุกอย่างก็ย่อมเกิด ตามมาด้วย เพราะมีปฏิสนธินามรูปนั้นเป็นมูล ด้วยประการฉะนี้. เพราะเหตุนี้ ความตกไปในวิญญาณาหารนั่นแล พึงทราบว่าเป็นภัยดังพรรณนามาฉะนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า กึนิทานา ดังต่อไปนี้ :-
               นิทานะ (เหตุเกิด) ทั้งปวงเป็นไวพจน์ของการณะ (เหตุ) ย่อมมอบผลให้ คล้ายจะมอบให้ว่า เชิญรับสิ่งนั้นเถิด เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่านิทานะ. เพราะเหตุที่ผลผุดคือเกิด ได้แก่เกิดก่อนแต่เหตุนั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า สมุทโย ชาติปภโว ดังนี้.
               ก็ในข้อนี้มีเนื้อความเฉพาะบทดังต่อไปนี้ :-
               อะไรเป็นแดนมอบให้แห่งเหตุเหล่านั้น เหตุนั้นจึงชื่อว่า กึนิทานา.
               อะไรเป็นแดนก่อให้เกิดแห่งเหตุเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กึสมุทยา.
               อะไรเป็นแดนเกิดแห่งเหตุเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กึชาติยา.
               อะไรเป็นแดนเกิดก่อนแห่งเหตุเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กึปภวา.
               ก็เพราะตัณหาของคนเหล่านั้น เป็นแดนมอบให้ เป็นเหตุก่อให้เกิด เป็นความเกิดและเป็นแดนเกิดก่อน โดยนัยคือโดยอรรถตามที่กล่าวมา เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำว่า ตณฺหานิทานา.
               ความทุกๆ บทพึงทราบด้วยอาการอย่างนี้.
               ก็ในคำว่า อิเม จตฺตาโร อาหารา ตณฺหานิทานา นี้พึงทราบเหตุแห่งอาหารกล่าวคืออัตภาพ ตั้งต้นแต่ปฏิสนธิด้วยอำนาจตัณหาในก่อน.
               ถามว่า พึงทราบอย่างไร.
               ตอบว่า อันดับแรก ในขณะปฏิสนธิ สัตว์ที่มีอายตนะครบบริบูรณ์ มีโอชาที่เกิดในภายในรูปที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจสันตติ ๗ สัตว์ที่เหลือมีโอชาที่เกิดในภายในรูปที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจสันตติที่หย่อนกว่านั้น นี้ชื่อว่ากพฬีการาหารที่เป็นอุปาทินนกะมีตัณหาเป็นเหตุ.
               ส่วนอาหารเหล่านี้ คือผัสสะและเจตนาที่สัมปยุตด้วยปฏิสนธิจิต และจิตคือวิญญาณเอง ชื่อว่าผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหารและวิญญาณาหารที่เป็นอุปาทินนกะ มีตัณหาเป็นเหตุ เหตุนั้น อาหารที่ประกอบด้วยปฏิสนธิจิต มีตัณหาในก่อนเป็นเหตุ จึงมีด้วยอาการอย่างนี้.
               พึงทราบอาหารที่สัมปยุตด้วยปฏิสนธิจิตฉันใด ต่อจากนั้นก็พึงทราบอาหารแม้ที่เกิดในขณะแห่งภวังคจิตดวงแรกเป็นต้นฉันนั้น.
               ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงทราบเฉพาะเหตุแห่งอาหารอย่างเดียว ทรงทราบทั้งเหตุแห่งตัณหาซึ่งเป็นเหตุแห่งอาหาร ทั้งเหตุแห่งเวทนาแม้ที่เป็นเหตุตัณหาด้วย เพราะเหตุนั้น พระองค์ทรงแสดงวัฏฏะแล้วแสดงวิวัฏฏะ โดยนัยมีอาทิว่า ตณฺหา จายํ ภิกฺขเว กึนิทานา ดังนี้.
               แต่ในที่นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำเทศนาให้มุ่งเฉพาะอดีต แล้วแสดงวัฏฏะ โดยนัยที่เป็นอดีต.
               ถามว่า ทรงแสดงอย่างไร.
               ตอบว่า ทรงยึดถืออัตภาพนี้ด้วยอำนาจอาหาร.
               ตัณหานั้น ได้แก่กรรมที่ยังอัตภาพนี้ให้เกิด. พระองค์ตรัสเวทนา ผัสสะ สฬายตนะ นามรูป และวิญญาณไว้เพื่อจะแสดงถึงอัตภาพที่กรรมดำรงอยู่ประมวลไว้. เพราะมีอวิชชาและสังขาร กรรมจึงให้อัตภาพนั้นเกิด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงธรรมแม้ทั้ง ๒ ประการ คือกรรมและวิบากของกรรมโดยสังเขปว่า อัตภาพในฐานะทั้ง ๒ กรรมที่ยังอัตภาพนั้นให้เกิดในฐานะทั้ง ๒ ทรงทำเทศนาให้มุ่งเฉพาะอดีต แสดงวัฏฏะโดยนัยที่เป็นอดีต ด้วยประการฉะนี้. ในข้อนั้น ไม่พึงเห็นว่าเทศนาไม่บริบูรณ์ เพราะไม่ทรงแสดงอนาคตไว้ แต่พึงเห็นว่าบริบูรณ์โดยนัย.
               เปรียบเสมือนบุรุษผู้มีจักษุ เห็นจระเข้นอนอยู่เหนือน้ำ เมื่อมองเฉพาะส่วนหน้าของมัน ก็จะเห็นแต่คอ ในเข้าไปก็แผ่นหลัง สุดท้ายก็โคนหาง แต่เมื่อมองดูใต้ท้อง ก็จะไม่เห็นปลายหางที่อยู่ในน้ำ และเท้าทั้ง ๔ เพียงเท่านี้ บุรุษนั้นจะถือว่า จระเข้ไม่บริบูรณ์ (มีอวัยวะไม่ครบ) หาได้ไม่ แต่เมื่อว่าโดยนัยก็ถือได้ว่า จระเข้มีอวัยวะครบบริบูรณ์ฉันใด ข้ออุปไมยนี้ ก็พึงทราบฉันนั้น.
               ก็วัฏฏะอันเป็นไปในไตรภูมิ เปรียบเหมือนจระเข้าที่นอนอยู่เหนือน้ำ.
               พระโยคาวจรเปรียบเหมือนบุรุษผู้มีจักษุที่ยืนอยู่ริมฝั่งน้ำ.
               เวลาที่พระโยคีเห็นอัตภาพนี้ ด้วยอำนาจอาหาร ก็เหมือนเวลาที่บุรุษนั่นเห็นจระเข้ที่เหนือผิวน้ำ.
               เวลาที่ตัณหาที่ให้อัตภาพนี้เกิด เหมือนเวลาที่บุรุษนั้นเห็นคอข้างหน้า.
               เวลาที่เห็นอัตภาพที่คนทำกรรมที่ประกอบด้วยตัณหา ด้วยอำนาจเวทนาเป็นต้น เหมือนเวลาที่บุรุษนั้นเห็นหลัง.
               เวลาที่อวิชชาและสังขารที่ให้อัตภาพนั้นเกิด ก็เหมือนเวลาที่เห็นโคนหาง.
               ก็ปัจจัยวัฏไม่มาในบาลีในที่ใดๆ ในที่นั้นๆ อย่าถือว่า เทศนาไม่บริบูรณ์ พึงถือเอาโดยนัยว่าบริบูรณ์ทีเดียว
               เปรียบเหมือนบุรุษนั้น เมื่อมองดูใต้ท้อง แม้จะไม่เห็นปลายทาง และเท้าทั้ง ๔ ก็ไม่ถือว่า จระเข้มีอวัยวะไม่บริบูรณ์ แต่ถือโดยนัยว่า บริบูรณ์ฉะนั้น. ก็ในข้อนั้น ทรงแสดงวัฏฏะมีสนธิสังเขป ๓ ประการ คือ ระหว่างอาหารและตัณหาจัดเป็นสนธิหนึ่ง ระหว่างตัณหาและเจตนาจัดเป็นสนธิหนึ่ง ระหว่างวิญญาณและสังขารจัดเป็นสนธิหนึ่ง ดังพรรณนาฉะนี้.

               จบอรรถกถาอาหารสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อภิสมัยสังยุตต์ อาหารวรรคที่ ๒ อาหารสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 26อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 28อ่านอรรถกถา 16 / 31อ่านอรรถกถา 16 / 725
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=16&A=241&Z=276
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=578
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=578
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :