ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 464อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 470อ่านอรรถกถา 16 / 474อ่านอรรถกถา 16 / 725
อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค กัสสปสังยุตต์
จันทูปมสูตร

               อรรถกถาจันทูปมสูตรที่ ๓               
               พึงทราบวินิจฉัยในจันทูปมสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า จนฺทูปมา ความว่า เธอทั้งหลายจงเป็นเช่นดวงจันทร์ โดยความเป็นปริมณฑลอย่างไร.
               อีกอย่างหนึ่ง ดวงจันทร์โคจรอยู่บนท้องฟ้า ไม่ทำความคุ้นเคย ความเยื่อใย ความรักใคร่ ความปรารถนาหรือความพยายามกับใคร. แต่จะไม่เป็นที่รัก ที่ชอบใจของมหาชนก็หามิได้ฉันใด. แม้พวกเธอก็เป็นที่รักที่ชอบใจของชนเป็นอันมาก เพราะไม่ทำความคุ้นเคยเป็นต้นกับใคร เป็นดุจดวงจันทร์ เข้าไปสู่ตระกูล ๔ มีตระกูลกษัตริย์เป็นต้นฉันนั้น.
               อนึ่ง ดวงจันทร์กำจัดความมืดส่องแสงสว่างฉันใด. พึงเห็นเนื้อความในข้อนี้ โดยนัยมีเป็นต้นอย่างนี้ว่า พวกเธอเป็นดุจดวงจันทร์ด้วยการกำจัดความมืดคือกิเลส และด้วยการส่องแสงสว่าง คือปัญญาฉันนั้น.
               บทว่า อปกสฺเสว กายํ อปกสฺส จิตฺตํ ความว่า พราก คือคร่ามา นำออกไปทั้งกายและทั้งจิตด้วยการไม่ทำความคุ้นเคยเป็นต้นนั้นแล.
               ด้วยว่า ภิกษุใดไม่อยู่แม้ในป่า แต่ตรึกกามวิตกเป็นต้น ภิกษุนี้ชื่อว่าไม่พรากทั้งกายทั้งจิต. ส่วนภิกษุใด แม้อยู่ในป่า ตรึกกามวิตกเป็นต้น ภิกษุนี้ชื่อว่าพรากกายอย่างเดียว แต่ไม่พรากจิต. ภิกษุใดอยู่ในละแวกบ้าน แต่ก็ไม่ตรึกกามวิตกเป็นต้น ภิกษุนี้ชื่อว่าพรากจิตอย่างเดียว แต่ไม่พรากกาย. ส่วนภิกษุใดอยู่ป่าและไม่ตรึกกามวิตกเป็นต้น ภิกษุนี้ชื่อว่าพรากแม้ทั้งสอง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงว่า พวกเธอเห็นปานนี้จงเข้าไปสู่ตระกูล จึงตรัสว่า อปกสฺเสว กายํ อปกสฺส จิตฺตํ ดังนี้.
               บทว่า นิจฺจนวกา ความว่า พวกเธอเป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์ คือเป็นเช่นอาคันตุกะ ดังนี้.
               ด้วยว่า อาคันตุกะเข้าไปสู่เรือนที่ถึงเข้าตามลำดับ ถ้าเจ้าของเรือนเห็นเขาเข้าก็คิดว่า บุตรพี่น้องของพวกเราไปพักแรม เที่ยวไปอย่างนี้ ดังนี้ เมื่ออนุเคราะห์เชิญให้นั่งให้บริโภค พอเขาบริโภคเสร็จคิดว่า ท่านจงถือเอาโภชนะของท่านเถิด ดังนี้ ลุกขึ้นหลีกไป ย่อมไม่ทำความคุ้นเคยกับเจ้าของเรือนเหล่านั้น หรือจัดทำกรณียกิจ.
               ท่านแสดงว่า แม้พวกเธอเข้าไปสู่เรือนที่ถึงเข้าตามลำดับอย่างนี้แล้ว พวกมนุษย์ผู้เลื่อมใสในอิริยาบถจะถวายสิ่งใด รับเอาสิ่งนั้น ตัดความคุ้นเคยเป็นผู้ไม่ขวนขวายในกรณียกิจของมนุษย์เหล่านั้นออกไปดังนี้.
               ท่านกล่าวเรื่องของสองพี่น้องไว้ เพื่อความแจ่งแจ้งของความเป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์ดังต่อไปนี้.
               ได้ยินว่า พี่น้องสองคนออกบวชจากบ้านวโสฬนคร. พี่น้องสองคนเหล่านั้นปรากฏว่าเป็นพระจูฬนาคเถระและพระมหานาคเถระ. พระเถระเหล่านั้นอยู่บนภูเขาจิตตลบรรพตตลอด ๓๐ ปี บรรลุพระอรหัตแล้วคิดว่า เราจักเยี่ยมมารดา มาแล้วพักอยู่ในวิหารในวโสฬนคร เข้าไปสู่บ้านมารดาเพื่อบิณฑบาต ในวันรุ่งขึ้น.
               แม้มารดานำข้าวต้มออกไปด้วยกระบวยเพื่อพระเถระเหล่านั้น เกลี่ยลงในบาตรของพระเถระรูปหนึ่ง. เมื่อนางมองดูพระเถระนั้น ก็เกิดความรักในบุตร. ครั้งนั้น นางจึงกล่าวกะท่านว่า ลูก ท่านชื่อมหานาคเป็นลูกของเราหรือ. พระเถระกล่าวว่า อุบาสิกา ท่านจงถามพระเถระรูปหลังเถิด แล้วก็หลีกไป. นางถวายข้าวยาคูแม้แก่พระเถระรูปหลัง แล้วจึงถามว่า ลูก ท่านชื่อจูฬนาคเป็นลูกของเราหรือ. พระเถระกล่าวว่า อุบาสิกา ท่านไม่ถามพระรูปก่อนหรือ ดังนี้ แล้วก็หลีกไป.
               ภิกษุผู้ตัดความคุ้นเคยกับมารดาอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์.
               บทว่า อปฺปคพฺภา คือ ไม่คะนอง.
               อธิบายว่า เว้นด้วยความคะนองกายมีฐานะ ๘ ด้วยความคะนองวาจามีฐานะ ๔ และด้วยความคะนองใจมีฐานะมิใช่น้อย การกระทำอันไม่สมควรด้วยกายในสงฆ์ คณะ บุคคล โรงฉัน เรือนไฟ ท่าอาบน้ำ ทางภิกขาจาร การเข้าไปในละแวกบ้าน ชื่อว่าความคะนองกายมีฐานะ ๘ เช่นกรรมเป็นต้นอย่างนี้ว่า ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ นั่งรัดเข่าในท่ามกลางสงฆ์ หรือไขว่ห้าง. ในท่ามกลางคณะก็อย่างนั้น.
               บทว่า คณมชฺเฌ ความว่า ในการประชุมบริษัท ๔ หรือประชุมคณะพระสูตรเป็นต้น. ในภิกษุผู้แก่กว่าก็อย่างนั้น. ส่วนในโรงฉันไม่ถวายอาสนะแก่ภิกษุผู้แก่ ห้ามอาสนะแก่ภิกษุผู้ใหม่.
               ในเรือนไฟก็อย่างนั้น. ก็ในเรือนไฟนี้ เธอไม่บอกภิกษุผู้แก่ทำการก่อไฟเป็นต้น.
               ส่วนในท่าอาบน้ำมีอธิบายนี้ว่า ท่านไม่กำหนดว่า ภิกษุหนุ่ม ภิกษุแก่ พึงอาบน้ำตามลำดับที่มา. เธอเมื่อไม่เอื้อเฟื้อการกำหนดนั้น มาภายหลังลงน้ำ ย่อมเบียดเบียนภิกษุแก่และภิกษุใหม่.
               ส่วนในทางภิกขาจารมีกรรมเป็นต้นอย่างนี้ว่า เดินออกหน้าเพื่อประโยชน์แก่อาสนะที่เลิศ น้ำที่เลิศ ก้อนข้าวที่เลิศ กระทบแขนเข้าไปภายในละแวกบ้านก่อนพวกภิกษุผู้แก่ ทำการเล่นทางกายกับภิกษุหนุ่ม ดังนี้.
               การเปล่งวาจาอันไม่สมควรในท่ามกลางสงฆ์ คณะ บุคคล และในละแวกบ้าน ชื่อว่าความคะนองวาจามีฐานะ ๔ เช่นภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ไม่บอกก่อน กล่าวธรรมในท่ามกลางสงฆ์ ในท่ามกลางคณะและในสำนักบุคคลมีประการตามที่กล่าวแล้วในก่อนอย่างนั้น ถูกพวกมนุษย์ถามอย่างนั้นเหมือนกัน ไม่บอกภิกษุผู้แก่กว่าแก้ปัญหา.
               ส่วนในละแวกบ้าน ย่อมกล่าวคำเป็นต้นว่า ชื่อแม้ไฉน ข้าวยาคูหรือของควรเคี้ยวควรบริโภคมีอยู่หรือ ท่านจะให้อะไรแก่เรา. วันนี้เราจักเคี้ยวอะไร จักกินอะไร จักดื่มอะไร.
               การไม่ถึงอัชฌาจารด้วยกายวาจาในฐานะเหล่านั้นๆ แต่ใจตรึกถึงกามวิตกเป็นต้น ชื่อว่าความคะนองใจ ซึ่งมีฐานะมิใช่น้อย.
               อนึ่ง ความที่ภิกษุผู้ทุศีล แม้มีความปรารถนาลามกอันเป็นไปอย่างนี้ว่า ขอชนจงรู้เราว่า เป็นผู้มีศีลดังนี้ ชื่อว่าความคะนองใจ. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พวกเธอเป็นผู้คะนองเข้าไปหา เพราะไม่มีความคะนองเหล่านี้ทั้งหมดด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ชรุทปานํ ได้แก่ บ่อน้ำเก่า.
               บทว่า ปพฺพตวิสมํ ได้แก่ ที่เป็นหลุม คือเป็นเหวบนภูเขา.
               บทว่า นทีวิทุคฺคํ ได้แก่ แม่น้ำที่ขาดเป็นห้วงๆ.
               บทว่า อปกสฺเสว กายํ ได้แก่ ผู้ใดขวนขวายในการเล่นเป็นต้น ไม่พรากกาย ไม่ร่วมกัน ทำกรรมหนักตลอดสถานที่เช่นนั้น ไม่ยึดถือผู้ช่วย ไม่พรากจิต คำนึงโดยลำดับ เพราะเห็นโทษว่าบุคคลผู้ตกไปในที่นี้ ย่อมถึงมือและเท้าหักเป็นต้น จึงมีความรักมองดู. บุคคลนั้นตกไปแล้ว ย่อมประสบสิ่งมิใช่ประโยชน์มีมือและเท้าหักเป็นต้น.
               ส่วนผู้ใดต้องการน้ำ เป็นผู้ใคร่จะตรวจดูด้วยกิจอื่นหรือกิจบางอย่าง พรากกาย ร่วมกันทำกรรมหนัก ยึดถือผู้ช่วยเหลือ พรากแม้จิต มองดูเกิดสังเวชเพราะเห็นโทษ. ผู้นั้นแลดูตามความชอบใจ แล้วมีความสุข ย่อมหลีกไปตามความปรารถนา.
               บทนี้ในบทว่า เอวเมว โข นี้ เป็นเครื่องเปรียบอุปมา.
               ด้วยว่าตระกูล ๔ เหมือนบ่อน้ำเก่าเป็นต้น. ภิกษุเหมือนบุรุษผู้แลดู. บุรุษมีกายและจิตยังพรากไม่ได้ เมื่อแลดูบ่อน้ำเก่าเป็นต้นเหล่านั้น ย่อมตกไปในบ่อนั้นฉันใด ภิกษุมีกายเป็นต้นไม่รักษาแล้ว เมื่อเข้าไปสู่ตระกูล ย่อมติดอยู่ในตระกูล ต่อจากนั้น ย่อมประสบสิ่งมิใช่ประโยชน์ มีการทำลายพื้นศีลเป็นต้นมีประการต่างๆ เป็นต้นฉันนั้น. เหมือนอย่างบุรุษมีกายและจิตพรากได้แล้ว ย่อมไม่ตกไปในบ่อนั้นฉันใด. ภิกษุเป็นผู้มีกายและจิตพรากได้แล้ว ย่อมไม่ตกไปในบ่อนั้นฉันใด. ภิกษุเป็นผู้มีกายและจิตพรากได้ด้วยกายอันตนรักษาแล้ว ด้วยจิตอันตนรักษาแล้ว ด้วยวาจาอันตนรักษาแล้ว ด้วยสติอันมั่นคง เมื่อเข้าไปสู่ตระกูล ย่อมไม่ติดในตระกูล.
               ครั้งนั้น ศีลของเธอไม่ทำลาย เหมือนเท้าของบุรุษผู้ไม่ตกไปในบ่อนั้น ไม่หักฉะนั้น. มือที่ประกอบด้วยศรัทธา ย่อมไม่ทำลาย เหมือนมือไม่หักฉะนั้น. ท้องคือสมาธิ ย่อมไม่แตก เหมือนท้องไม่แตกฉะนั้น. ศีรษะคือญาณ ย่อมไม่แตก เหมือนศีรษะไม่แตกฉะนั้น.
               อนึ่ง ตอและหนามเป็นต้นย่อมไม่ตำบุรุษนั้นฉันใด. หนามคือราคะเป็นต้นย่อมไม่ทิ่มแทงภิกษุนี้ฉันนั้น. บุรุษนั้นไม่มีอุปัทวะแลดูได้ตามความชอบใจ มีความสุขหลีกไปได้ตามต้องการฉันใด ภิกษุอาศัยตระกูลแล้ว เสพปัจจัยมีจีวรเป็นต้น เจริญกัมมัฏฐาน พิจารณาในสังขารทั้งหลาย บรรลุพระอรหัตเป็นสุขด้วยโลกุตรสุข ย่อมไปสู่คือนิพพานที่ยังไม่เคยไปได้ตามต้องการฉันนั้น.
               บัดนี้ ภิกษุใดน้อมใจไปในทางเลว ปฏิบัติผิด พึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อตรัสว่า พวกเธอจงละความคะนอง ๓ อย่างเป็นดุจดวงจันทร์ เข้าไปสู่ตระกูลด้วยความเป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์ ตั้งไว้ในมิใช่ฐานะ ให้ยกภาระที่ทนไม่ได้ ให้กระทำสิ่งซึ่งใครๆ ไม่อาจจะทำได้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงตัดทางถ้อยคำของภิกษุนั้นแสดงว่า ใครๆ อาจทำได้อย่างนี้ ภิกษุเห็นปานนี้ก็มีอยู่ดังนี้ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า กสฺสโป ภิกฺขเว ดังนี้.
               บทว่า อากาเส ปาณึ จาเลสิ ความว่า ทรงโบกฝ่าพระหัตถ์ไปมาทั้งสองข้าง ทั้งส่วนล่าง ทั้งส่วนบน เหมือนนำไปซึ่งสายฟ้าเป็นคู่ๆ ในระหว่างท้องฟ้าสีครามฉะนั้น.
               แต่ข้อนี้ ชื่อว่าเป็นบทไม่เจือปนในพระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎก.
               บทว่า อตฺตมโน ความว่า เป็นผู้มีจิตยินดี มีใจเป็นของตน คือไม่ถูกโทมนัสถือได้.
               แม้บทว่า กสฺสปสฺส ภิกฺขเว นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตัดถ้อยคำของผู้อื่น โดยนัยก่อนเหมือนกัน จึงตรัสเพื่อแสดงว่า ภิกษุเห็นปานนี้ก็มีอยู่.
               บทว่า ปสนฺนาการํ กเรยฺยุํ ความว่า ชนผู้เลื่อมใสพึงถวายปัจจัยมีจีวรเป็นต้น.
               บทว่า ตถตฺตาย ปฏิปชฺเชยฺยุํ ความว่า พวกภิกษุบำเพ็ญศีลให้เต็มในที่มาแล้ว ให้ศีลเหล่านั้นๆ ถึงพร้อมในที่แห่งสมาธิวิปัสสนามรรคและผลมาแล้ว ชื่อว่าพึงปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น.
               บทว่า อนุทยํ คือ ความรักษา.
               บทว่า อนุกมฺปํ คือ มีจิตอ่อนโยน. ก็ทั้งสองบทนั้นเป็นไวพจน์ของความกรุณา.
               แม้บทว่า กสฺสโป ภิกฺขเว นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตัดถ้อยคำของผู้อื่น โดยนัยก่อนเหมือนกัน จึงตรัสเพื่อแสดงว่า ภิกษุเห็นปานนี้ก็มีอยู่.
               ในบทว่า กสฺสเปน วา นี้ ท่านแต่งประกอบด้วยอำนาจอุปมากับดวงจันทร์เป็นต้น พึงทราบเนื้อความโดยนัยก่อนเหมือนกัน.

               จบอรรถกถาจันทูปมสูตรที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค กัสสปสังยุตต์ จันทูปมสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 16 / 1อ่านอรรถกถา 16 / 464อรรถกถา เล่มที่ 16 ข้อ 470อ่านอรรถกถา 16 / 474อ่านอรรถกถา 16 / 725
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=16&A=5212&Z=5274
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=4149
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=4149
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :