ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 17 / 1อ่านอรรถกถา 17 / 6อรรถกถา เล่มที่ 17 ข้อ 11อ่านอรรถกถา 17 / 25อ่านอรรถกถา 17 / 594
อรรถกถา สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มูลปัณณาสก์ นกุลปิตวรรคที่ ๑
หลิททิกานิสูตรที่ ๑

               อรรถกถาหลิททิกาสูตรที่ ๓               
               ในหลิททิกานิสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อวนฺตีสุ ได้แก่ ในแคว้นอวันตี กล่าวคือ อวันตีทักขิณาปถ.
               บทว่า กุรรฆเร ได้แก่ ในนครมีชื่ออย่างนั้น.
               บทว่า ปปาเต ได้แก่ ในเหวข้างหนึ่ง ได้ยินว่า ภูเขาลูกนั้นมีข้างแถบหนึ่งเป็นเสมือนขาดตกไป. บาลีว่า ปวตฺเต ดังนี้ก็มี. อธิบายว่า เป็นสถานที่ประกาศลัทธิของพวกเดียรถีย์ต่างๆ. ดังนั้นพระเถระจึงอาศัยนครนั้นในรัฐนั้นแล้ว อยู่บนภูเขานั้น.
               บทว่า หลิทฺทิกานิ ได้แก่ คฤหบดีนั้นผู้มีชื่ออย่างนั้น.
               บทว่า อฏฺฐกวคฺคิเย มาคณฺฑิยปญฺเห ได้แก่ ในปัญหาที่มีชื่อว่า มาคัณฑิยปัญหาในวรรคที่ ๘.
               ด้วยบทว่า รูปธาตุ ท่านประสงค์เอารูปขันธ์.
               บทว่า รูปธาตุราควินิพนฺธํ ความว่า อันความกำหนัดในรูปธาตุรึงรัดแล้ว.
               บทว่า วิญฺญาณํ ได้แก่ กรรมวิญญาณ.
               บทว่า โอกสารี ได้แก่ ผู้อาศัยเรือนอยู่ประจำ คือผู้อาศัยอาลัยอยู่ประจำ.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ในที่นี้ ท่านจึงไม่กล่าวว่า วิญฺญาณธาตุ โข คหปติ.
               แก้ว่า เพื่อกำจัดความงมงาย.
               จริงอยู่ ว่าโดยอรรถ ปัจจัย ท่านเรียกว่า โอกะ กรรมวิญญาณที่เกิดก่อนย่อมเป็นปัจจัยทั้งแก่กรรมวิญญาณ ทั้งแก่วิบากวิญญาณที่เกิดภายหลัง ส่วนวิบากวิญญาณย่อมเป็นปัจจัยทั้งแก่วิบากวิญญาณ ทั้งแก่กรรมวิญญาณ ฉะนั้น เพื่อจะกำจัดความงมงายที่จะพึงมีว่า อะไรหนอแลชื่อว่าวิญญาณ ในที่นี้ จึงไม่ทรงกำหนดเอาข้อนั้นทำเทศนาโดยไม่ปนเปกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่อว่าโดยอำนาจอารมณ์ เพื่อจะแสดงวิญญาณฐิติที่ปัจจัยปรุงแต่ง ๔ อย่างที่ตรัสไว้นั้น จึงไม่จัดวิญญาณเข้าในที่นี้.
               อุบายในคำว่า อุปายุปาทานา มี ๒ อย่าง คือ ตัณหาอุบาย ๑ ทิฏฐิอุบาย ๑ และอุปาทาน ในคำว่า อุปายุปาทานา มี ๔ อย่างมีกามุปาทานเป็นต้น.
               บทว่า เจตโส อธิฏฺฐานาภินิเวสานุสยา ได้แก่ เป็นที่ตั้งอาศัย เป็นที่ยึดมั่น และเป็นที่นอนเนื่องแห่งอกุศลจิต.
               บทว่า ตถาคตสฺส ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               จริงอยู่ ตัณหาและอุปาทานเหล่านั้น พระขีณาสพทุกจำพวกละได้แล้ว. แต่เมื่อว่าโดยส่วนสูง ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ความที่พระศาสดาเป็นพระขีณาสพ ปรากฏชัดแล้วในโลก.
               ถามว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงจัดวิญญาณไว้ในที่นี้ว่า วิญฺญาณธาตุยา ดังนี้.
               แก้ว่า เพื่อแสดงการละกิเลส. ด้วยว่า กิเลสที่ท่านละในขันธ์ ๔ เท่านั้น ยังไม่เป็นอันละได้ ต้องละได้ในขันธ์ทั้ง ๕ จึงเป็นอันละได้ ฉะนั้น ท่านจึงจัดไว้ เพื่อแสดงการละกิเลส.
               บทว่า เอวํ โข คหปติ อโนกสารี โหติ ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยประจำอย่างนี้ คือด้วยกรรมวิญญาณที่ไม่อาศัยที่อยู่.
               บทว่า รูปนิมิตฺตนิเกตวิสารวินิพนฺธา ความว่า รูปนั่นแหละชื่อว่านิมิต เพราะอรรถว่าเป็นปัจจัยของกิเลสทั้งหลาย ชื่อว่านิเกต เพราะอรรถว่าเป็นที่อยู่อาศัยกล่าวคือเป็นอารมณ์ ดังนั้นจึงชื่อว่ามีรูปเป็นนิมิตและเป็นที่อยู่อาศัย. ความซ่านไปและความพัวพัน ชื่อว่าวิสารวินิพันธะ. ด้วยสองบทว่า วิสาระและวินิพันธะ ท่านกล่าวถึงความที่กิเลสแผ่ไปและความที่กิเลสพัวพัน.
               บทว่า รูปนิมิตฺตนิเกตวิสารวินิพนฺธา แปลว่า เพราะซ่านไปและพัวพันในรูปอันเป็นนิมิตและเป็นที่พัก ฉะนั้นจึงมีอธิบายว่า ด้วยความซ่านไปแห่งกิเลส และด้วยความพัวพันแห่งกิเลสที่เกิดขึ้นในรูปที่เป็นนิมิตและเป็นที่อยู่อาศัย.
               บทว่า นิเกตสารีติ วุจฺจติ ความว่า สถานที่เป็นที่อยู่อาศัย ท่านเรียกว่าสารี โดยกระทำให้เป็นอารมณ์.
               บทว่า ปหีนา ความว่า พระตถาคตทรงละความซ่านไปและความพัวพันแห่งกิเลสในรูปที่เป็นนิมิตและเป็นที่อยู่อาศัย.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ในที่นี้ เบญจขันธ์ ท่านจึงเรียกว่าโอกะ อารมณ์ ๖ ท่านจึงเรียกว่านิเกตะ
               แก้ว่า เพราะฉันทราคะมีกำลังแรงและมีกำลังอ่อน.
               จริงอยู่ แม้เมื่อฉันทราคะมีกำลังเสมอกัน อารมณ์เหล่านั้นก็มีความแตกต่างกัน ด้วยอรรถว่าเป็นที่อยู่อาศัย คือเรือนเป็นที่อยู่อาศัยประจำนั่นแล ท่านเรียกว่าโอกะ. สวนเป็นต้นเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ที่นัดหมายกันทำงานว่า วันนี้พวกเราจักทำในที่โน้น ชื่อว่านิเกตะ ในสองอย่างนั้น ในขันธ์ที่เป็นไปภายใน เหมือนฉันทราคะในเรือนที่เต็มด้วยบุตรภรรยาทรัพย์และธัญญาหาร ย่อมมีกำลังแรง. ในอารมณ์ภายนอก ๖ เหมือนฉันทราคะในที่สวนเป็นต้น มีกำลังอ่อนกว่านั้น ฉะนั้น พึงทราบว่า ตรัสเทศนาอย่างนี้เพราะฉันทราคะมีกำลังแรงและมีกำลังอ่อน.
               บทว่า สุขิเตสุ สุขิโต ความว่า เมื่อพวกอุปัฏฐากได้รับความสุข โดยได้ทรัพย์ธัญญาหารเป็นต้น ก็มีความสุขด้วยความสุขอาศัยเรือนว่า บัดนี้เราจักได้โภชนะที่น่าพอใจ เป็นเหมือนเสวยสมบัติที่พวกอุปัฏฐากเหล่านั้นได้รับ เที่ยวไป.
               บทว่า ทุกฺขิเตสุ ทุกฺขิโต ความว่า เมื่อพวกอุปัฏฐากเหล่านั้นเกิดความทุกข์ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ตนเองมีความทุกข์สองเท่า.
               บทว่า กิจฺจกรณีเยสุ ได้แก่ ในเรื่องที่ควรทำ คือกิจ.
               บทว่า โยคํ อาปชฺชติ ความว่า ช่วยขวนขวาย คือทำกิจเหล่านั้นด้วยตนเอง.
               บทว่า กาเมสุ ได้แก่ ในวัตถุกามทั้งหลาย.
               บทว่า เอวํ โข คหปติ กาเมหิ น ริตฺโต โหติ ความว่า เป็นผู้ไม่ว่างจากกิเลสกามทั้งหลาย คือเป็นผู้ไม่เปล่า เพราะยังมีกามภายใน อย่างนี้. ฝ่ายตรงข้าม พึงทราบว่าว่าง คือเปล่า เพราะไม่มีกามเหล่านั้น.
               บทว่า ปุรกฺขราโน ได้แก่ มุ่งเพ่งแต่โทษ.
               ในบทว่า เอวํรูโป สิยํ เป็นต้น ได้แก่ ปรารถนาว่า เราพึงเป็นผู้มีรูปอย่างนี้ในบรรดารูปที่สูงและต่ำ ดำและขาวเป็นต้น ปรารถนาว่า ในเวทนามีสุขเวทนาเป็นต้น เราพึงเป็นผู้ชื่อว่ามีเวทนาอย่างนั้น ในสัญญามีสัญญาที่กำหนดด้วยนีลกสิณเป็นต้น เราพึงเป็นผู้ชื่อว่ามีสัญญาอย่างนั้น ในสังขารมีปุญญาภิสังขารเป็นต้น เราพึงเป็นผู้ชื่อว่ามีสังขารอย่างนั้น ในวิญญาณมีจักขุวิญญาณเป็นต้น เราพึงเป็นผู้ชื่อว่ามีวิญญาณอย่างนั้น.
               บทว่า อปุรกฺขราโน ได้แก่ไม่มุ่งแต่โทษ.
               บทว่า สหิตมฺเม อสหิตนฺเต ได้แก่ คำของท่านไม่มีประโยชน์ ไม่สละสลวย คำของเรามีประโยชน์ สละสลวย หวาน.
               บทว่า อธิจิณฺณนฺเต วิปราวตฺตํ ได้แก่ คำพูดของท่านที่สะสมคล่องแคล่วดีมานานทั้งหมดนั้นพอมาถึงวาทะของเราก็เปลี่ยนแปรกลับกันโดยทันที.
               บทว่า อาโรปิโต เต วาโท ได้แก่ โทษของท่านเรายกขึ้นแล้ว.
               บทว่า จร วาทปฺปโมกฺขาย ความว่า ท่านจงท่องเที่ยวไปเข้าหาอาจารย์นั้นๆ เสาะหาให้ดียิ่งขึ้นไปเพื่อจะปลดเปลื้องวาทะนี้.
               บทว่า นิพฺเพเธหิ วา สเจ ปโหสิ ได้แก่ ถ้าตนเองสามารถ ท่านก็จงกล่าวแก้เสียในที่นี้เลยทีเดียว.

               จบอรรถกถาหลิททิกานิสูตรที่ ๓               
               --------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มูลปัณณาสก์ นกุลปิตวรรคที่ ๑ หลิททิกานิสูตรที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 17 / 1อ่านอรรถกถา 17 / 6อรรถกถา เล่มที่ 17 ข้อ 11อ่านอรรถกถา 17 / 25อ่านอรรถกถา 17 / 594
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=17&A=181&Z=267
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=6265
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=6265
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :