ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 17 / 1อ่านอรรถกถา 17 / 158อรรถกถา เล่มที่ 17 ข้อ 165อ่านอรรถกถา 17 / 170อ่านอรรถกถา 17 / 594
อรรถกถา สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มัชฌิมปัณณาสก์ ขัชชนิยวรรคที่ ๓
ปิณโฑลยสูตร ว่าด้วยเหตุที่ต้องดำรงชีพด้วยบิณฑบาต

               อรรถกถาปิณโฑลยสูตรที่ ๘               
               พึงทราบวินิจฉัยในปิณโฑลยสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า กิสฺมิญฺจิเทว ปกรเณ ได้แก่ ในเพราะเหตุบางอย่างนั่นเอง.
               บทว่า ปณาเมตฺวา แปลว่า ไล่ออกไป.
               ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงขับไล่ภิกษุเหล่านี้ไปในเพราะเหตุไร?
               ตอบว่า ความจริงมีอยู่ว่า ภายในพรรษาหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับจำพรรษาอยู่ในเมืองสาวัตถี ออกพรรษาปวารณาแล้วแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จออกจากเมืองสาวัตถีเที่ยวจาริกไปในชนบท เสด็จถึงเมืองกบิลพัสดุ์ แล้วเสด็จเข้าไปยังนิโครธาราม. เจ้าศากยะทั้งหลายได้สดับ (ข่าว) ว่า พระศาสดาเสด็จมาถึงแล้ว หลังเสวยพระกระยาหารเสร็จทรงรับสั่งให้ราชบุรุษทั้งหลายหาบเนยใส น้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้น และน้ำปานะที่เป็นกัปปิยะหลายร้อยหาบ เสด็จไปสู่วิหารมอบถวายพระสงฆ์ ถวายบังคมพระศาสดาแล้วประทับนั่งทำปฏิสันถาร (กับพระศาสดา) ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง. (ฝ่าย) พระศาสดาประทับนั่งตรัสธรรมกถาอันไพเราะ ถวายเจ้าศากยะเหล่านั้น.
               ขณะนั้น ภิกษุบางพวกกำลังเช็ดถูเสนาสนะ บางพวกกำลังจัดตั้งเตียงและตั่งเป็นต้น (ส่วน) สามเณรทั้งหลายกำลังถากหญ้า.
               ในสถานที่แจกสิ่งของ ภิกษุที่มาถึงแล้วก็มี ภิกษุที่ยังมาไม่ถึงก็มี ภิกษุที่มาถึงแล้วจะรับลาภแทนภิกษุที่ยังมาไม่ถึง ก็พูดเสียงดังขึ้นว่า จงให้แก่พวกข้าพเจ้า จงให้แก่อาจารย์ของพวกข้าพเจ้า จงให้แก่อุปัชฌาย์ของพวกข้าพเจ้า.
               พระศาสดาทรงสดับแล้วได้ตรัสถามพระอานนท์เถระว่า อานนท์ ก็พวกที่ส่งเสียงดังเอ็ดอึงนั้นเป็นใคร คล้ายจะเป็นชาวประมงแย่งปลากัน. พระเถระกราบทูล (ให้ทรงทราบ) เนื้อความนั้น. พระศาสดาทรงสดับแล้วตรัสว่า อานนท์ ภิกษุทั้งหลายส่งเสียงดัง เพราะอามิสเป็นเหตุ. พระเถระกราบทูลว่า ใช่ พระเจ้าข้า.
               พระศาสดาตรัสว่า อานนท์ ไม่สมควรเลย ไม่เหมาะสมเลย เพราะเราตถาคตบำเพ็ญบารมีมาตั้ง ๔ อสงไขยกำไรแสนกัลป์ เพราะจีวรเป็นต้น เป็นเหตุก็หามิได้ ทั้งภิกษุเหล่านี้ออกจากเรือนบวชเป็นอนาคาริก เพราะจีวรเป็นต้น เป็นเหตุก็หามิได้. พวกเธอบวชเพราะความเป็นพระอรหันต์เป็นเหตุ (แต่) กลับมาทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ให้เป็นเหมือนกับสิ่งที่มีประโยชน์ ทำสิ่งที่ไม่มีสาระให้เป็นเหมือนสิ่งมีสาระไปเถิดอานนท์ จง (ไป) ขับไล่ภิกษุเหล่านั้น (ให้ออกไป).
               บทว่า ปุพฺพณฺหสมยํ คือในเวลาเช้า ในวันรุ่งขึ้น.
               บทว่า เวลุวลฏฺฐิกาย มูเล คือ ที่โคนต้นมะตูมอ่อน.
               บทว่า ปพาฬฺโห แปลว่า (ภิกษุสงฆ์อันเรา) ขับไล่แล้ว.
               ปาฐะว่า ปพาโฬ ก็มีความหมาย (ก็เท่ากับ) ปพาหิโต (ขับไล่แล้ว).
               ทั้งสองบท ย่อมแสดงถึงภาวะที่ถูกนำ (ขับไล่) ออกแล้วนั่นแล.
               บทว่า สิยา อญฺญถตฺตํ ความว่า พึงมีความเลื่อมใสเป็นอย่างอื่น หรือพึงมีภาระเป็นอย่างอื่น.
               ถามว่า พึงมีอย่างไร?
               ตอบว่า ก็เมื่อภิกษุลดความเลื่อมใส (ในพระผู้มีพระภาคเจ้า) ลงด้วยคิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงขับไล่พวกเรา ในเพราะเหตุเล็กน้อย ชื่อว่ามีความเลื่อมใสเป็นอย่างอื่น. เมื่อพวกเธอหลีกไปเข้ารีตเดียรถีย์พร้อมทั้งเพศทีเดียว ชื่อว่ามีเพศเป็นอย่างอื่น.
               ส่วนการที่กุลบุตรผู้บวชแล้วทั้งหลายมั่นใจว่า พวกเราจักสามารถกำหนด (ทราบ) พระอัธยาศัยของพระศาสดาให้ได้ แล้วไม่สามารถกำหนด (ทราบ) ได้ จึงคิดว่าเราจะบวชไปทำไม แล้วบอกลาสิกขาหวนกลับมาเป็นคนเลว (สึก) พึงทราบว่า ความเปลี่ยนแปลงในคำว่า สิยา วิปริณาโม นี้.
               บทว่า วจฺฉสฺส ได้แก่ ลูกวัวที่ยังดื่มนม.
               บทว่า อญฺญถตฺตํ ได้แก่ ความเป็นอย่างอื่นคือความซบเซา. อธิบายว่า ลูกวัวที่ยังดื่มนม เมื่อไม่ได้ (ดื่ม) น้ำนม หาแม่ไม่เจอ ย่อมซบเซา สะทกสะท้าน หวั่นไหว.
               บทว่า วิปริณาโม ได้แก่ ความตาย. อธิบายว่า ลูกวัวนั้น เมื่อไม่ได้น้ำนมก็จะซูบผอมลงเพราะความระหาย (ไม่ช้า) ก็จะล้มลงขาดใจตาย.
               บทว่า พีชานํ ตรุณานํ ได้แก่ พืชที่งอกแล้วต้องได้น้ำช่วย.
               บทว่า อญฺญถตฺตํ ได้แก่ ความเป็นอย่างอื่นคือความเหี่ยวแห้งนั่นเอง. อธิบายว่า พืชเหล่านั้นเมื่อไม่ได้น้ำก็จะเหี่ยวแห้ง.
               บทว่า วิปริณาโม ได้แก่ ความเสียหาย. อธิบายว่า พืชเหล่านั้นไม่ได้น้ำก็จะเหี่ยวแห้งเสียหายไป จะมีเหลืออยู่ก็แต่ซากเท่านั้น.
               บทว่า อนุคฺคหิโต ความว่า ได้รับอนุเคราะห์แล้วด้วยการอนุเคราะห์ด้วยอามิส และการอนุเคราะห์ด้วยธรรม.
               บทว่า อนุคฺคณฺเหยฺยํ ความว่า เราตถาคตพึงอนุเคราะห์ด้วยการอนุเคราะห์ด้วยอามิส และการอนุเคราะห์ด้วยธรรมทั้งสองอย่างนั้น.
               เพราะว่า สามเณรและภิกษุหนุ่มผู้บวชใหม่ เมื่อมีความขาดแคลนด้วยปัจจัยมีจีวรเป็นต้น หรือเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้น พระศาสดาหรืออุปัชฌาย์อาจารย์ยังมิได้อนุเคราะห์ด้วยการอนุเคราะห์ด้วยอามิส ก็จะลำบาก ไม่สามารถทำการสาธยายหรือใส่ใจ (ถึงธรรมได้) (เธอเหล่านั้น) อันพระศาสดาหรืออุปัชฌาย์อาจารย์ยังมิได้อนุเคราะห์ด้วยการอนุเคราะห์ด้วยธรรม ก็จะเสื่อมจากอุเทศและจากโอวาทานุสาสนี (การแนะนำพร่ำสอน) ไม่สามารถจะหลีกเว้นอกุศลมาเจริญกุศลได้. แต่ (เธอเหล่านั้น) ได้รับอนุเคราะห์ด้วยการอนุเคราะห์ทั้งสองนี้แล้ว ก็จะไม่ลำบากกาย ประพฤติในการสาธยายและใส่ใจ (ถึงธรรม) ปฏิบัติตามที่พระศาสดาหรืออุปัชฌาย์อาจารย์พร่ำสอนอยู่ ต่อมาแม้ไม่ได้รับการอนุเคราะห์นั้น (แต่) ก็ยังได้กำลัง เพราะการอนุเคราะห์ครั้งแรกนั้นนั่นแล (จึงทำให้) มั่นคงอยู่ในศาสนาได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเกิดปริวิตกอย่างนี้ขึ้น.

               พรหมมาเฝ้าพระพุทธเจ้า               
               บทว่า ภควโต ปุรโต ปาตุรโหสิ ความว่า ท้าวมหาพรหมได้ทราบพระดำริของพระศาสดาแล้วได้ (มา) ปรากฏเฉพาะพระพักตร์ (พระผู้มีพระภาคเจ้า) ด้วยคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงขับไล่ภิกษุเหล่านี้ออกไป บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์จะทำการอนุเคราะห์ภิกษุเหล่านั้นจึงทรงคิดถึงเหตุอย่างนี้ และเราก็จักทำให้ (พระผู้มีพระภาคเจ้า) เกิดพระอุตสาหะนั้น (ต่อไป).
               พ่อครัวผู้ฉลาด (ทราบว่า) บรรดาอาหารมีรสเปรี้ยวเป็นต้น รสอย่างใดถูกพระทัยพระราชาก็จะปรุงรสอย่างนั้นให้อร่อยขึ้นด้วยเครื่องปรุง แล้ววันรุ่งขึ้นก็น้อมนำเข้าไปถวายพระราชา (อีก) ฉันใด ท้าวมหาพรหมนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะความที่ตนเองเป็นผู้ฉลาด จึงได้ทูลสำทับอุปมาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำมาแล้วนั่นแล ด้วยคำมีอาทิว่า เอวเมตํ ภควา แล้วกล่าวคำนี้ว่า สนฺเตตฺถ ภิกฺขู เพื่อทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทำการอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภินนฺทตุ ความว่า (ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า) จงทรงยินดีให้ภิกษุสงฆ์นั้นมาอย่างนี้ว่า ขอภิกษุสงฆ์จงมาสู่สำนักของเราตถาคตเถิด.
               บทว่า อภิวทตุ ความว่า (ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า) จงตรัสสอนประทานโอวาทานุสาสนีแก่ภิกษุสงฆ์ผู้มาถึงแล้วเถิด.

               พระพุทธเจ้าทรงแสดงฤทธิ์               
               บทว่า ปฏิสลฺลานา ได้แก่ จากความเป็นผู้เดียว.
               บทว่า อิทฺธาภิสงฺขารํ อภิสงฺขาเรสิ ได้แก่ (พระผู้มีพระภาคเจ้า) ได้ทรงทำฤทธิ์.
               บทว่า เอกทฺวีหิกาย ได้แก่ (ภิกษุ) มาทีละรูปบ้าง ทีละ ๒ รูปบ้าง.
               บทว่า สารชฺชมานรูปา ได้แก่ กลัวเพราะมีความเกรงเป็นประมาณ.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงแสดงฤทธิ์ให้ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าโดยวิธีนั้น?
               ตอบว่า เพราะทรงปรารถนาประโยชน์เกื้อกูล.
               อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ถ้าภิกษุเหล่านั้นจะพึงมา (เฝ้า) เป็นกลุ่มๆ ไซร้ พวกเธอก็จะพากันเยาะเย้ยถากถางว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงขับไล่ภิกษุแล้วเสด็จเข้าสู่ป่า (แต่) ก็ไม่สามารถจะประทับอยู่ในป่านั้นให้ครบวันได้ จึงเสด็จกลับมาหาภิกษุอีกเหมือนเดิม. ครานั้นพวกเธอจะไม่พึงตั้งความเคารพในพระพุทธเจ้า (และ) จะไม่พึงสามารถรับพระธรรมเทศนาได้. แต่เมื่อภิกษุเหล่านั้นมีความกลัวหวาดหวั่นมาเฝ้าทีละรูปสองรูป ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้าก็จักปรากฏชัด และพวกเธอก็จักสามารถรับพระธรรมเทศนาได้ ดังนี้แล้วจึงได้ทรงแสดงฤทธิ์แบบนั้น เพราะทรงปรารถนาประโยชน์เกื้อกูลแก่ภิกษุเหล่านั้น.
               บทว่า นิสีทึสุ ความว่า เพราะเมื่อภิกษุเหล่านั้นกลัวมา (เฝ้าพระพุทธเจ้า) ภิกษุแต่ละรูปก็จะคิดว่า พระศาสดาทรงจ้องมองดูเราเท่านั้น เห็นจะทรงมีพระประสงค์ลงโทษเราเป็นแน่แท้ ดังนี้แล้ว ค่อยๆ มาถวายบังคมนั่งลง ครานั้น ภิกษุรูปอื่นๆ ก็จะ (เป็นทำนองเดียวกัน) ภิกษุ ๕๐๐ รูป พากันมานั่งด้วยอาการอย่างนี้แล.
               ฝ่ายพระศาสดาทอดพระเนตรเห็นภิกษุสงฆ์นั่งอยู่อย่างนั้น ไม่ไหวกาย คล้ายกระแสน้ำในมหาสมุทร (ไหลไปสงบนิ่งอยู่) ในทะเลสีทันดร และเหมือน (เปลว) ประทีปสงบนิ่งอยู่ในที่สงัดลมฉะนั้น จึงทรงดำริว่า ธรรมเทศนาแบบไหนจึงจะเหมาะแก่ภิกษุเหล่านี้.
               ลำดับนั้น พระองค์จึงทรงมีพระดำริดังนี้ว่า ภิกษุเหล่านี้ เราขับไล่เพราะอาหารเป็นเหตุ ธรรมเทศนาเรื่องคำข้าวที่ทำเป็นก้อนเท่านั้นเป็นสัปปายะแก่ภิกษุเหล่านั้น เราแสดงธรรมเทศนาแล้วจักแสดงเทศนามีปริวัฏ ๓ (๓ รอบ) ในตอนท้ายเวลาจบเทศนา ภิกษุทั้งหมดก็จักบรรลุอรหัตตผล.
               ครั้นแล้ว เมื่อจะทรงแสดงธรรมเทศนานั้นแก่ภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสคำว่า อนฺตมิทํ ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนฺตํ ได้แก่ ต่ำช้า คือเลวทราม.
               บทว่า ยทิทํ ปิณฺโฑลฺยํ ความว่า ความเป็นอยู่ของบุคคลผู้เลี้ยงชีวิตด้วยการแสวงหาก้อนข้าวนั้นใด.

               ความหมายของคำว่า ปิณโฑลยะ               
               ก็ในบทว่า ปิณฺโฑลฺยํ นี้มีความหมายเฉพาะบท ดังนี้ :-
               ภิกษุชื่อว่าปิณโฑละ เพราะหมายความว่า เที่ยวแสวงหาก้อนข้าว การทำงานของภิกษุผู้เที่ยวแสวงหาก้อนข้าว ชื่อว่าปิณโฑลยะ. อธิบายว่า ความเป็นอยู่ที่ให้สำเร็จด้วยการแสวงหาก้อนข้าว.
               บทว่า อภิสาโป แปลว่า การด่า.
               อธิบายว่า ผู้คนทั้งหลายโกรธแล้วย่อมด่าว่า ท่านห่มจีวรที่ไม่เข้ากับตัวแล้วถือกระเบื้องเที่ยวแสวงหาก้อนข้าว. ก็หรือว่า ย่อมด่าแม้อย่างนี้ทีเดียวว่า ท่านไม่มีอะไรจะทำหรือ? ท่านขนาดมีกำลังวังชาสมบูรณ์ด้วยวิริยะเห็นปานนี้ ยังละทิ้งหิริโอตตัปปะถือบาตรเที่ยวแสวงหาคำข้าวไม่ต่างอะไรกับคนกำพร้า
               บทว่า ตญฺจ โข เอตํ ความว่า การเที่ยวแสวงหาก้อนข้าว ทั้งๆ ที่ถูกแช่งด่านั้น.
               บทว่า กุลปุตฺตา อุเปนฺติ อตฺถวสิกา อตฺถวสํ ปฏิจฺจ ความว่า กุลบุตรโดยชาติ และกุลบุตรโดยอาจาระในศาสนาของเราเป็นผู้อยู่ในอำนาจแห่งผล อยู่ในอำนาจแห่งเหตุ คืออาศัยอำนาจแห่งผล อำนาจแห่งเหตุจึงประกอบ (การเที่ยวแสวงหาคำข้าว).

               อธิบายศัพท์ ราชาภินีตะ เป็นต้น               
               ในบทว่า ราชาภินีตา เป็นต้น พึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้ :-
               กุลบุตรเหล่าใดกินของพระราชาแล้วถูกจองจำในเรือนจำหลวง (ต่อมา) หนีได้จึง (ไป) บวช กุลบุตรเหล่านั้นชื่อว่า ราชาภินีตะ. ก็กุลบุตรเหล่านั้นชื่อว่าราชาภินีตะ เพราะถูกนำไปสู่เครื่องจองจำของพระราชา.
               ส่วนกุลบุตรเหล่าใดถูกโจรจับได้ในป่าทึบ เมื่อบางพวกถูกโจรนำไป บางพวกก็พูดว่า นาย เราทั้งหลายอันพวกท่านปล่อยแล้วก็จักไม่อยู่ครองเรือนหรอก (แต่) จักบวช ในการบวชนั้น เราจักให้ส่วนบุญแก่พวกท่านจากบุญมีการบูชาพระพุทธเจ้าเป็นต้นที่พวกเราจักทำ กุลบุตรเหล่านั้นอันโจรเหล่านั้นปล่อยแล้วจึง (ไป) บวช กุลบุตรเหล่านั้นชื่อว่า โจราภินีตะ.
               ก็กุลบุตรเหล่านั้นชื่อว่าโจราภินีตะ เพราะหมายความว่า ถูกพวกโจรนำไปให้ถูกฆ่าตาย.
               ส่วนกุลบุตรเหล่าใดติดหนี้แล้วไม่สามารถใช้คืนให้ได้ จึงหนีไปบวช กุลบุตรเหล่านั้นชื่อว่า อิณัฏฏะ (ติดหนี้) หมายความว่า ถูกหนี้บีบคั้น บาลีเป็น อิณฏฺฐา ก็มี หมายความว่า ตั้งอยู่ในหนี้ (ติดหนี้)
               กุลบุตรเหล่าใดถูกราชภัย โจรภัย ฉาตกภัยและโรคภัยอย่างใดอย่างหนึ่งครอบงำประทุษร้ายแล้วบวช กุลบุตรเหล่านั้นชื่อว่า ภยัฏฏะ (ลี้ภัย). อธิบายว่า ถูกภัยเบียดเบียน บาลีเป็น ภยฏฺฐา ก็มีหมายความว่า ตั้งอยู่ในภัย.
               บทว่า อาชีวิกาปกตา ได้แก่ กุลบุตรผู้ถูกการเลี้ยงชีพประทุษร้าย คือครอบงำ. อธิบายว่า ไม่สามารถเลี้ยงบุตรและภรรยาได้.
               บทว่า โอติณฺณา ได้แก่ แทรกซ้อนอยู่ภายใน.
               กุลบุตรนั้นเกิดความคิดขึ้นโดยนัยเป็นต้นว่า จักทำที่สุดทุกข์ให้ได้จึงบวช ต่อมาไม่สามารถทำการบวชนั้นให้ (ได้ผล) อย่างนั้นได้ เพื่อทรงชี้กุลบุตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำนี้ว่า โส จ โหติ อภิชฺฌาลุ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิชฺฌาลุ ได้แก่ เป็นผู้มีปกติเพ่งเฉพาะ (อยากได้) สิ่งของของผู้อื่น (มาเป็นของตน).
               บทว่า ติพฺพสาราโค ได้แก่ มีราคะหนาแน่น.
               บทว่า พฺยาปนฺนจิตฺโต ได้แก่ มีจิตวิบัติเพราะเป็นจิตเสีย.
               บทว่า ปทุฏฺฐมนสงฺกปฺโป ได้แก่ มีจิตดุร้ายเหมือนโคเขาคม.
               บทว่า มุฏฺฐสฺสติ ได้แก่ หลงลืมสติ คือระลึกไม่ได้ว่า สิ่งที่ตนทำแล้วในที่นี้ย่อมหายไปในที่นี้ เหมือนกาวาง (ก้อน) ข้าวไว้แล้ว (ก็ลืม) ฉะนั้น.
               บทว่า อสมฺปชาโน ได้แก่ ไม่มีปัญญา คือเว้นจากการกำหนดขันธ์เป็นต้น.
               บทว่า อสมาหิโต ได้แก่ ไม่มั่นคง เพราะไม่มีอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ เหมือนเรือที่ผูกไว้แล้ว (ก็ยังโคลง) เพราะกระแสน้ำเชี่ยวฉะนั้น.
               บทว่า วิพฺภนฺตจิตฺโต ได้แก่ มีใจหมุนไป (ฟุ้งซ่าน) - เหมือนข้าศึกถูกล้อมกลางทางฉะนั้น.
               บทว่า ปกฺกตินฺทฺริยา ได้แก่ ไม่สำรวมอินทรีย์ เหมือนคฤหัสถ์มองดูลูกชายลูกสาว ชื่อว่าเป็นผู้ไม่สำรวมอินทรีย์ฉะนั้น.
               บทว่า ฉวาลาตํ ได้แก่ ดุ้นฟืนในที่ที่เผาศพ.
               บทว่า อุภโต ปทิตฺตํ มชฺเฌ คูถคตํ ได้แก่ ดุ้นฟืนเผาศพยาวประมาณ ๘ นิ้วถูกไฟไหม้ในที่ทั้งสอง (ปลายทั้งสองข้าง) (ส่วน) ตรงกลางเปื้อนคูถ.
               บทว่า เนว คาเม ความว่า ก็ถ้าว่า ดุ้นฟืนเผาศพนั้นจะพึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นแอก คันไถ กลอนเรือน เพลารถและห่วงดุมเป็นต้นได้ไซร้ ก็พึงใช้ประโยชน์เป็นฟืนในบ้านได้ ถ้าจะพึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นฟืน เครื่องลาดและเตียงน้อยเป็นต้นในกระท่อมนาได้ไซร้ ก็พึงใช้ประโยชน์เป็นฟืนในป่าได้ แต่เพราะเหตุที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งสองทาง ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้อย่างนี้.
               บทว่า คิหิโภคา ปริหีโน ความว่า เมื่อเหล่าคฤหัสถ์ผู้อยู่ใน (บ้าน) เรือน แบ่งไทยธรรม (ถวาย) โภคะส่วนใดเป็นส่วนที่เธอจะพึงได้ ก็เสื่อมแล้วจากโภคะส่วนนั้นนั่นแล.
               บทว่า สามญฺญตฺถญฺจ ความว่า และ (ไม่ทำ) ประโยชน์คือคุณเครื่องความเป็นสมณะที่กุลบุตรดำรงอยู่ในโอวาทของอุปัชฌาย์ และอาจารย์แล้วพึงบรรลุได้ด้วยอำนาจปริยัติและปฏิเวธ (ให้บริบูรณ์).
               ก็แลอุปมา (ว่าด้วยดุ้นฟืนเผาศพ) นี้ พระศาสดาทรงนำมามิใช่ด้วยอำนาจของภิกษุผู้ทุศีล แต่ทรงนำมาด้วยอำนาจบุคคลผู้มีศีลบริสุทธิ์ (แต่) เกียจคร้านถูกโทษทั้งหลายมีอภิชฌาเป็นต้นครอบงำแล้ว.

               อกุศลวิตกทำให้คนเป็นเหมือนดุ้นฟืนเผาศพ               
               ถามว่า เพราะเหตุไร? พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มว่า ตโยเม ภิกฺขเว ไว้?
               ตอบว่า ทรงเริ่มไว้เพื่อแสดงว่า สภาพของบุคคลนี้ที่เปรียบเหมือนดุ้นฟืนเผาศพ มารดาบิดามิได้ทำให้ อุปัชฌาย์อาจารย์มิได้ทำให้ แต่อกุศลวิตกเหล่านี้ (ต่างหาก) ทำให้.
               บทว่า อนิมิตฺตํ วา สมาธึ ได้แก่ สมาธิในวิปัสสนา.
               อธิบายว่า สมาธิในวิปัสสนานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่าอนิมิตตะ (ไม่มีนิมิต) เพราะถอนนิมิตทั้งหลายมีนิมิตว่าเที่ยงเป็นต้นได้.
               อนึ่ง ในพระบาลีตอนนี้พึงทราบความว่า สติปัฏฐาน ๔ ระคนกัน (ส่วน) อนิมิตตสมาธิ (สมาธิที่ไม่มีนิมิต) เป็นบุรพภาค (ส่วนเบื้องต้น) อีกอย่างหนึ่ง อนิมิตตสมาธิ ระคนกัน (ส่วน) สติปัฏฐานเป็นบุรพภาค.

               อนิมิตตสมาธิถอนทิฏฐิ ๒ อย่าง               
               คำนี้ว่า เทฺวมา ภิกฺขเว ทิฏฺฐิโย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เพื่อแสดงว่า อนิมิตตสมาธิภาวนาย่อมเป็นไปเพื่อละมหาวิตกทั้ง ๓ เหล่านี้อย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ แต่ยังถอนสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิได้อีกด้วย.
               บทว่า น วชฺชวา อสฺสํ ได้แก่ เราพึงเป็นผู้ไม่มีโทษ.
               บทที่เหลือในพระบาลีนี้ง่ายทั้งนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงเทศนาในสูตรแม้นี้ให้วนเวียนอยู่กับภพ ๓ แล้วจดยอด (ให้จบลง) ด้วยอรหัตตผลด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้.
               เวลาจบเทศนา ภิกษุ ๕๐๐ รูปได้บรรลุอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย.

               จบอรรถกถาปิณโฑลยสูตรที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุตต์ มัชฌิมปัณณาสก์ ขัชชนิยวรรคที่ ๓ ปิณโฑลยสูตร ว่าด้วยเหตุที่ต้องดำรงชีพด้วยบิณฑบาต จบ.
อ่านอรรถกถา 17 / 1อ่านอรรถกถา 17 / 158อรรถกถา เล่มที่ 17 ข้อ 165อ่านอรรถกถา 17 / 170อ่านอรรถกถา 17 / 594
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=17&A=2042&Z=2110
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=7204
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=7204
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :