ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 18 / 1อ่านอรรถกถา 18 / 167อรรถกถา เล่มที่ 18 ข้อ 169อ่านอรรถกถา 18 / 173อ่านอรรถกถา 18 / 803
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สฬายตนสังยุตต์ โลกกามคุณวรรคที่ ๒
๓. โลกกามคุณสูตรที่ ๑

               อรรถกถาปฐมโลกกามคุณสูตรที่ ๓               
               ในปฐมโลกกามคุณสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า โลกสฺส ได้แก่ โลกจักรวาล.
               บทว่า โลกสฺส อนฺตํ ได้แก่ ที่สุดแห่งสังขารโลก.
               บทว่า วิหารํ ปาวิสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า เมื่อเราเข้าไปสู่วิหาร ภิกษุเหล่านี้จักถามอุทเทสนี้กะพระอานนท์ พระอานนท์จักกล่าวเทียบเคียงกับพระสัพพัญญุญาณของเรา แก่ภิกษุเหล่านั้น แต่นั้นเราจักชมเชยเธอ ภิกษุทั้งหลายฟังการชมเชยของเรา จักสำคัญพระอานนท์ว่าควรเข้าไปหา จักสำคัญคำของเธอว่า ควรฟัง ควรเชื่อถือ ข้อนั้นจักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ภิกษุเหล่านั้นตลอดกาลนาน จึงมิได้ทรงจำแนกอรรถแห่งคำที่ตรัสโดยย่อให้พิสดาร แล้วหายไป ณ อาสนะที่ประทับนั่ง ไปปรากฏในพระคันธกุฎี. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อุฏฺฐายาสนา วิหารํ ปาวิสิ.
               บทว่า สตฺถุ เจว สํวณฺณิโต แปลว่า อันพระศาสดาสรรเสริญแล้ว.
               แม้บทว่า วิญฺญูนํ นี้เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ใช้ในอรรถแห่งตติยาวิภัตติ. ความว่า อันเพื่อนสพรหมจารีผู้เป็นบัณฑิตทั้งหลายยกย่องแล้ว.
               บทว่า ปโหติ แปลว่า อาจ.
               บทว่า อติกฺกมฺเมว มูลํ อติกฺกมฺม ขนฺธํ ความว่า ชื่อว่าแก่น พึงมีที่รากหรือลำต้น, ก็เลยแก่นนั้นไปเสีย.
               บทว่า เอวํ สมฺปทมิทํ ได้แก่ ข้ออุปมัย เช่นนี้ก็ฉันนั้น.
               บทว่า อติสิตฺวา แปลว่า ก้าวล่วง.
               บทว่า ชานํ ชานาติ ได้แก่ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้เท่านั้น.
               บทว่า ปสฺสํ ปสฺสติ ได้แก่ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็นเท่านั้น.
               อนึ่ง บุคคลบางคนแม้เมื่อยึดถือสิ่งที่ผิดๆ ก็ยังไม่รู้ แม้เมื่อเห็น ก็ชื่อว่าไม่เห็น ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้า หาเป็นฉันนั้นไม่. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงทราบชื่อว่าทรงทราบ เมื่อทรงเห็นก็ชื่อว่าทรงเห็นเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคเจ้านี้นั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีจักษุ เพราะอรรถว่ามีทัสสนะเป็นตัวนำ ชื่อว่าเป็นผู้มีญาณ เพราะอรรถว่ากระทำความเป็นผู้รู้แจ้ง ชื่อว่าเป็นผู้มีธรรม เพราะสำเร็จมาแต่ธรรม เหมือนคิดด้วยพระหทัย เปล่งด้วยพระวาจา เพราะอรรถว่ามีความไม่แปรปรวนเป็นสภาวะ หรือเพราะประกาศโดยปริยัติธรรม ชื่อว่าเป็นพรหม เพราะอรรถว่าเป็นผู้ประเสริฐ.
               อีกนัยหนึ่ง ทรงเป็นราวกะว่ามีจักษุ ชื่อ จักขุภูโต.
               พึงทราบอรรถในบทเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้านี้นั้น ชื่อว่าเป็นผู้กล่าว เพราะอรรถว่ากล่าวธรรม. ชื่อว่าเป็นผู้ประกาศ เพราะยังธรรมให้เป็นไป. ชื่อว่าเป็นผู้แนะนำข้อความ เพราะทรงสามารถนำพระหัตถ์ออกชี้แจงได้. ชื่อว่าประทานอมตะ เพราะทรงแสดงข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุอมตะได้.
               บทว่า อครุํ กริตฺวา ความว่า แม้เมื่อไม่ให้เขาอ้อนวอนบ่อยๆ ชื่อว่าทรงกระทำให้หนัก. แม้เมื่อทรงยืนหยัดอยู่ในเสขปฏิสัมภิทาญาณของพระองค์แล้วแสดงให้รู้ได้ยาก เหมือนขุดทรายขึ้นจากเชิงเขาสิเนรุ ชื่อว่าทำให้หนักเหมือนกัน. ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า เมื่อไม่ทำอย่างนั้น ไม่ยอมให้พวกเราขอบ่อยๆ กล่าวให้พวกเรารู้ได้ง่าย.
               บทว่า ยํ โข โว ได้แก่ ยญฺจโข ตุมฺหากํ.
               บทว่า จกฺขุนา โข อาวุโส โลกสฺมึ โลกสญฺญี โหติ โลกมานี ความว่า ปุถุชนผู้ยังละทิฏฐิไม่ได้ในโลก ย่อมจำหมายและย่อมสำคัญด้วยจักษุทั้งหลายว่า โลกคือสัตว์โลก ย่อมจำหมายและสำคัญด้วยอำนาจจักรวาลโลก ก็อย่างนั้น. จริงอยู่ เว้นอายตนะ ๑๒ มีจักขวายตนะเป็นต้น สัญญาหรือมนะนั้นย่อมไม่เกิดขึ้นแก่เขา.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า จกฺขุนา โข อาวุโส โลกสฺมึ โลกสญฺญี โหติ โลกมานี ดังนี้. ก็ขึ้นชื่อว่าที่สุดแห่งโลกนี้ ใครๆ ไม่อาจจะรู้จะเห็น จะถึงด้วยการไปได้ แต่ผู้ที่ยังไม่ถึงที่สุด กล่าวคือการดับโลกอันต่างด้วยจักขุเป็นต้นนั้นนั่นแล เพราะอรรถว่าเป็นของชำรุด พึงทราบว่า ชื่อว่าไม่มีการกระทำที่สุดแห่งวัฏฏทุกข์.
               ครั้นวิสัชนาปัญหาอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะส่งภิกษุเหล่านั้นไปด้วยคำว่า พวกท่านอย่าสงสัยไปเลยว่า พระสาวกถามปัญหา พระผู้มีพระภาคเจ้านี้ประทับนั่งจับตาชั่ง คือพระสัพพัญญุตญาณ พวกท่านเมื่อปรารถนา เข้าไปเฝ้าพระองค์นั้นนั่นแล ก็คงหายสงสัย จึงกล่าวว่า อากงฺขมานา เป็นต้น.
               บทว่า อิเมหิ อากาเรหิ ความว่า ด้วยเหตุเหล่านี้ คือด้วยเหตุแห่งความมีที่สุดแห่งจักราลโลก และด้วยเหตุยังไม่ถึงที่สุดแห่งสังขารโลก.
               บทว่า อิเมหิ ปเทหิ ได้แก่ ด้วยการประมวลอักษรเหล่านี้.
               บทว่า พฺยญฺชเนหิ ได้แก่ ด้วยอักษรแผนกหนึ่ง.
               บทว่า ปณฺฑิโต ได้แก่ ประกอบด้วยความเป็นบัณฑิต.
               อีกอย่างหนึ่ง เป็นผู้ฉลาดด้วยเหตุ ๔ ประการ คือเป็นผู้ฉลาดในธาตุ เป็นผู้ฉลาดในอายตนะ เป็นผู้ฉลาดในปัจจยาการ เป็นผู้ฉลาดในเหตุและมิใช่เหตุ.
               บทว่า มหาปญฺโญ คือ เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญามาก เพราะเป็นผู้ฉลาดในการกำหนดถือเอาอรรถเป็นอันมาก ธรรมเป็นอันมาก นิรุตติเป็นอันมาก ปฏิภาณเป็นอันมาก.
               บทว่า ยถา ตํ อานนฺเทน ความว่า ท่านกล่าวหมายเอาคำที่ท่านพระอานนท์พยากรณ์ไว้. อธิบายว่า คำนั้น ท่านพระอานนท์พยากรณ์ไว้อย่างใด แม้เราก็พึงพยากรณ์คำนั้นอย่างนั้นเหมือนกัน.

               จบอรรถกถาปฐมโลกกามคุณสูตรที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สฬายตนสังยุตต์ โลกกามคุณวรรคที่ ๒ ๓. โลกกามคุณสูตรที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 18 / 1อ่านอรรถกถา 18 / 167อรรถกถา เล่มที่ 18 ข้อ 169อ่านอรรถกถา 18 / 173อ่านอรรถกถา 18 / 803
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=2411&Z=2502
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=821
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=821
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :