ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 18 / 1อ่านอรรถกถา 18 / 203อรรถกถา เล่มที่ 18 ข้อ 205อ่านอรรถกถา 18 / 210อ่านอรรถกถา 18 / 803
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สฬายตนสังยุตต์ คหปติวรรคที่ ๓
๙. โลหิจจสูตร

               อรรถกถาโลหิจจสูตรที่ ๙               
               ในโลหิจจสูตรที่ ๙ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า มกฺกรกเฏ ได้แก่ ในนคร มีชื่ออย่างนั้น.
               บทว่า อรญฺญกุฏิกายํ ได้แก่ ในกุฎีโดดเดี่ยว ที่เขาสร้างไว้ในป่า ไม่ใช่กระท่อม ที่อยู่ท้ายวิหาร.
               บทว่า อนฺเตวาสิกมาณวกา ความว่า แม้ชนเหล่าใดเป็นคนแก่ในที่นั้น ชนเหล่านั้น ท่านเรียกว่ามาณพ เหมือนกัน เพราะเป็นอันเตวาสิก.
               บทว่า เตนุปสงฺกมึสุ ความว่า มาณพเหล่านั้นเรียนศิลปะแต่เช้า ครั้นเย็นคิดว่า เราจักนำฟืนมาให้อาจารย์ ดังนี้ เข้าป่าแล้วเข้าไปทางกุฎีนั้น.
               บทว่า ปริโต ปริโต กุฏิกาย ความว่า โดยรอบๆ กุฎีนั้น.
               บทว่า เสโลกสฺสกานิ ความว่า จับหลังกันและกันโดดเล่นให้กายร้อนเหงื่อไหลข้างโน้นข้างนี้.
               ในบทว่า มุณฺฑกา เป็นต้นมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้. จะเรียกคนหัวโล้นว่ามุณฑะ และเรียกสมณะว่าสมณะ ก็ควร. ก็มาณพเหล่านี้ เมื่อจะเล่น กล่าวว่า คนหัวโล้นว่าสมณะ.
               บทว่า อิพฺภา ได้แก่ คฤหบดี. บทว่า กณฺหา แปลว่า ดำ. ท่านหมายถึงพรหมว่าพันธ ในคำว่า พนฺธุปฺปาทปจฺจา. จริงอยู่ พราหมณ์ทั้งหลายเรียกพรหมนั้น ว่า ปิตามหะ ปู่ทวด. เหล่ากอแห่งเท้าทั้งหลาย ชื่อว่า ปาทปจฺจา. อธิบายว่า เกิดแต่หลังเท้าแห่งพรหม.
               ได้ยินว่า มาณพเหล่านั้นมีลัทธิดังนี้ว่า พวกพราหมณ์ออกจากปากแห่งพรหม พวกกษัตริย์ออกจากอก พวกแพศย์ออกจากสะดือ พวกศูทรออกจากเข่า พวกสมณะออกจากหลังเท้า.
               บทว่า ภรตกานํ ได้แก่ กุฏุมพีทั้งหลาย.
               จริงอยู่ เพราะเหตุที่กุฏุมพีทั้งหลายเลี้ยงแว้นแคว้น. ฉะนั้นท่านเรียกว่าภรตะ ก็มาณพเหล่านี้ เมื่อกล่าวดูแคลน จึงกล่าวว่า ภรตกานํ.
               บทว่า วิหารา นิกฺขมิตฺวา ความว่า พระเถระคิดว่า พวกมาณพเหล่านี้มัดไม้เป็นกำ แล้วเหวี่ยงไว้ที่บริเวณอันน่ารื่นรมย์ อันมีทรายที่เกลี่ยไว้สม่ำเสมอส่องแสงระยิบระยับคล้ายแผ่นเงิน คุ้ยทรายเอามือจับมือกันแล่นไปรอบๆ บรรณกุฎีโห่ร้องแล้วร้องเล่นว่า สมณะโล้นเหล่านี้ พวกกุฏุมพีสักการะแล้วๆ จึงกระทำเล่นๆ กันเกินไป ทั้งไม่รู้ว่ามีภิกษุทั้งหลายอยู่ในที่อยู่ จำเราจักแสดงภิกษุเหล่านั้นอยู่ ดังนี้แล้ว จึงออกจากบรรณกุฏี.
               บทว่า สีลุตฺตมา ปุพฺพตรา อเหสุํ ความว่า พระเถระคิดว่า เมื่อกล่าวถึงคุณของผู้มีคุณ ความไม่มีคุณของผู้ไม่มีคุณก็จักปรากฏชัด เมื่อสรรเสริญคุณของพราหมณ์เก่าๆ จึงได้กล่าวอย่างนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สีลุตฺตมา แปลว่า ผู้มีศีลประเสริฐสุด.
               จริงอยู่ ศีลของพราหมณ์เหล่านั้นสูงสุด ไม่ใช่ชาติและโคตร.
               บทว่า เย ปุราณํ สรนฺติ ความว่า ชนเหล่าใดระลึกถึงธรรมของพราหมณ์เก่าๆ.
               บทว่า อภิภุยฺย โกธํ ความว่า บุคคลเหล่านั้นเป็นอันชื่อว่า ครอบงำความโกรธ ก็ชื่อว่ายังไม่รักษา ยังไม่คุ้มครองทวาร.
               บทว่า ธมฺเม จ ฌาเน จ รตา ความว่า ประพฤติในธรรมคือกุศลกรรมบถ ๑๐ ในฌานคือสมาบัติ ๘.
               พระเถระครั้นแสดงคุณของพราหมณ์เก่าๆ ทั้งหลายอย่างนี้แล้ว ครั้นบัดนี้ เมื่อจะย่ำยีความเมาของพราหมณ์ในยุคปัจจุบัน จึงกล่าวคำอาทิว่า อิเมว โวกฺกมฺม ชหามฺเส ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โวกฺกมฺม ความว่า หลีกออกไปจากคุณเหล่านั้น.
               บทว่า ชหามฺหเส ความว่า พวกพราหมณ์สำคัญว่า พวกเราเป็นพราหมณ์ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นคนหลงโคตรอย่างนี้ว่า พวกเราเป็นพราหมณ์แล้วประพฤติไม่เรียบร้อย. อธิบายว่า ทำกายกรรมเป็นต้นไม่เรียบร้อย.
               บทว่า ปุถุตฺตทณฺฑา ความว่า โทษตนเป็นอันมากอันคนเหล่านั้นถือเอาแล้วเหตุนั้นคนเหล่านั้น ชื่อว่า ปุถุตฺทณฺฑา. อธิบายว่า ผู้มีโทษมีอย่างต่างๆ อันถือมั่นแล้ว.
               บทว่า ตสถาวเรสุ ได้แก่ ผู้มีตัณหาและผู้หมดตัณหา.
               ด้วยคำว่า อคุตฺตทฺวารสฺส ภวนฺติ โมฆา พระเถระแสดงว่า การสมาทานวัตรทั้งหมดย่อมเป็นโมฆะสำหรับผู้ไม่สำรวมทวาร.
               ถามว่า เหมือนอะไร.
               แก้ว่า เหมือนทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่บุรุษได้ในความฝัน. อธิบายว่า เหมือนทรัพย์เครื่องปลื้มใจมีอย่างต่างๆ เช่นแก้วมณี แก้วมุกดาที่บุรุษได้แล้วในความฝัน ย่อมว่างเปล่า ครั้นตื่นขึ้นมาแล้วก็ไม่เห็นอะไร เป็นโมฆะเปล่าๆ ปลี้ๆ ฉันใด.
               บทว่า อนาสกา ความว่า ไม่กินอาหาร ๑-๒ วันเป็นต้น.
               บทว่า ตณฺฑิลสายิกาจ ได้แก่ นอนบนพื้นดินอันลาดด้วยกลุ่มหญ้าเขียว
               บทว่า ปาโต สินานญฺจ ตโย จ เวทา ความว่า เข้าไปอาบน้ำแต่เช้าตรู่ และเวท ๓.
               บทว่า ขราชินํ ชฏา ปงฺโก ได้แก่ หนังเสือเหลืองที่มีสัมผัสหยาบ ศีรษะมุ่นมวยผม และเหงือกที่ชื่อว่า ปังกะ.
               บทว่า มนฺตา สีลพฺพตํ ตโป ได้แก่ มนต์และวัตร กล่าวคืออาการของแพะ และอาการของโค ท่านกล่าวว่านี้เป็นตปะของพราหมณ์ในบัดนี้.
               บทว่า กุหนา วงฺกทณฺฑา จ ความว่า ความหลอกลวง คือโทษที่ปกปิด เหมือนคูถที่ถูกปิดบังไว้และไม้เท้าคดคือไม้มีกิ่งคด ที่ถือเอาจากต้นมะเดื่อต้นทองกวาวและต้นมะตูมอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า อุทกา จ มนานิ จ ได้แก่ ลูบหน้าด้วยน้ำ.
               ด้วยบทว่า วณฺณา เอเต พฺราหฺมณานํ พระเถระแสดงภัณฑะเหล่านั้นว่า วรรณะอันเป็นเครื่องปริกขารของพวกพราหมณ์.
               บทว่า กตกิญฺจิกฺขภาวนา แปลว่า ภาวนาที่เห็นแก่อามิสที่กระทำแล้ว.
               อนึ่ง บาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน. อธิบายว่า กระทำเพื่อประโยชน์แก่อันกล่าวถึงอามิสเล็กๆ น้อยๆ.
               บัดนี้ พระเถระครั้นทำลายความหลงผิดของพวกพราหมณ์อย่างนี้แล้ว เมื่อจะแสดงคุณของพราหมณ์เก่าๆ อีก จึงกล่าวคำอาทิว่า จิตฺตญฺจ สุสมาหิตํ.
               บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า สุสมาหิตํ พระเถระแสดงว่า จิตของพราหมณ์เหล่านั้นได้ตั้งมั่นด้วยดีด้วยอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ.
               บทว่า อขิลํ ได้แก่ อ่อน คือไม่แข็ง.
               ด้วยบทว่า โส มคฺโค พฺรหฺมปตฺติยา พระเถระเมื่อแสดงว่า นั้นเป็นทางบรรลุถึงพรหมผู้ประเสริฐ ก็พวกท่านเล่า ชื่อว่าเป็นพราหมณ์หรือ ดังนี้ จึงได้กล่าวอย่างนั้น.
               บทว่า อคมํสุ นุ ขฺวิธ ตัดว่า อคมํสุ นุ โข อิธ.
               บทว่า อธิมุจฺจติ ความว่า เป็นผู้น้อมไป คือติดอยู่ด้วยอำนาจกิเลส.
               บทว่า พฺยาปชฺชติ ได้แก่ เป็นผู้มีจิตเสียด้วยอำนาจพยาบาท.
               บทว่า ปริตฺตเจตโส ได้แก่ เป็นผู้มีจิตมีอารมณ์ประมาณน้อย โดยเป็นผู้มีจิตเศร้าหมอง เหตุมีสติไม่ตั้งมั่น.
               บทว่า เจโตวิมุตฺติ ได้แก่ ผลสมาธิ. บทว่า ปญฺญาวิมุตฺติ ได้แก่ ผลปัญญา.
               บทว่า อปฺปมาณเจตโส ได้แก่ ผู้มีจิตมีอารมณ์หาประมาณมิได้ โดยเป็นผู้มีจิตปราศจากกิเลส เพราะเป็นผู้มีสติตั้งมั่น.

               จบอรรถกถาโลหิจจสูตรที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สฬายตนสังยุตต์ คหปติวรรคที่ ๓ ๙. โลหิจจสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 18 / 1อ่านอรรถกถา 18 / 203อรรถกถา เล่มที่ 18 ข้อ 205อ่านอรรถกถา 18 / 210อ่านอรรถกถา 18 / 803
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=3051&Z=3150
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=1037
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=1037
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :