ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 18 / 1อ่านอรรถกถา 18 / 427อรรถกถา เล่มที่ 18 ข้อ 430อ่านอรรถกถา 18 / 438อ่านอรรถกถา 18 / 803
อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เวทนาสังยุตต์ อัฏฐสตปริยายวรรคที่ ๓
๒. อัฏฐสตปริยายสูตร

               อรรถกถาอัฏฐสตปริยายสูตรที่ ๒               
               พึงทราบวินิจฉัยในอัฏฐสตปริยายสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า อฏฺฐสตปริยายํ คือ เป็นเหตุ ๑๐๘.
               บทว่า ธมฺมปริยายํ คือ เหตุแห่งธรรม.
               ในบทว่า กายิกา จ เจตสิกา จ นี้ เวทนาทางกายย่อมได้ในกามาวจรเท่านั้น.
               เวทนาทางใจก็เป็นไปในภูมิ ๔. สุขเวทนาในบทเป็นอาทิว่า สุขา ย่อมไม่มีในอรูปาวจร แต่ย่อมได้ในภูมิ ๓ ที่เหลือ. ทุกขเวทนาจัดเป็นกามาวจร. เวทนานอกนี้ก็เป็นไปในภูมิ ๔.
               ในหมวด ๕ สุขินทรีย์ ทุกขินทรีย์ โทมนัสสินทรีย์ จัดเป็นกามาวจร. โสมนัสสินทรีย์เป็นไปในภูมิ ๓. อุเบกขินทรีย์เป็นไปในภูมิ ๔.
               ในหมวด ๖ เวทนาในทวาร ๕ จัดเป็นกามาวจร. เวทนาในมโนทวารเป็นไปในภูมิ ๔.
               ในหมวด ๑๘ ในอารมณ์อันน่าปรารถนา ๖ ชื่อว่า โสมนัสสุปวิจาร เพราะอรรถว่าย่อมเข้าไปไตร่ตรองกับด้วยโสมนัส.
               แม้ในสองบทที่เหลือ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               เทศนานี้มาแล้วด้วยสามารถแห่งวิจารด้วยประการดังนี้. แต่พึงทราบเวทนา ๑๘ ในที่นี้ ด้วยสามารถแห่งโสมนัสเป็นต้น อันสัมปยุตด้วยวิจารนั้น.
               พึงทราบในบทเป็นอาทิว่า ฉ เคหสิตานิ โสมนสฺสานิ ความว่า โสมนัสอาศัยกามคุณอันท่านกล่าวแล้วในทวาร ๖ อย่างนี้ว่า เมื่อระลึกถึงการได้ โดยการได้แห่งรูปอันพึงรู้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารื่นรมย์แห่งใจ อันประกอบด้วยโลกามิส หรือเมื่อระลึกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ซึ่งตนเคยได้แล้วในอดีต โสมนัสก็ย่อมเกิดขึ้น. โสมนัสเห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า เคหสิตโสมนัส โสมนัสอาศัยเรือน ชื่อว่าโสมนัสอาศัยเรือน ๖.
               เมื่อสามารถเพื่อให้ขวนขวายเริ่มวิปัสสนาด้วยสามารถความไม่เที่ยงเป็นต้น เกิดโสมนัสว่า วิปัสสนาอันเราขวนขวายแล้วดังนี้ โสมนัสเกิดขึ้นแล้ว เมื่ออารมณ์ อันน่าปรารถนาไปปรากฏในทวาร ๖ อย่างนี้ว่า ก็แล เมื่อรู้แจ้งว่ารูปทั้งหลายไม่เที่ยง ก็พิจารณาเห็นอยู่ซึ่งความแปรปรวน คลายกำหนัดและดับเสียได้ ด้วยปัญญาอันเห็นชอบตามเป็นจริงนั้นอย่างนี้ว่า รูปทั้งหลายในอดีตก็ดี ในปัจจุบันก็ดี รูปเหล่านั้นทั้งปวงก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาดังนี้ โสมนัสก็ย่อมเกิดขึ้น. โสมนัสเห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า เนกขัมมสิตโสมนัส โสมนัสอาศัยการออกจากกาม ชื่อว่าโสมนัสอาศัยการออกจากกาม ๖.
               โทมนัสอาศัยกามคุณ อันเกิดขึ้นแล้วแก่ผู้ตรึกอยู่ว่า เราจักไม่เสวย จะไม่เสวยอารมณ์อันน่าปรารถนาดังนี้ ในทวาร ๖ อย่างนี้ว่า เมื่อพิจารณาเห็นอยู่ซึ่งการไม่ได้ โดยการไม่ได้แห่งรูปทั้งหลายพึงรู้ด้วยจักษุอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารื่นรมย์แห่งใจ อันประกอบด้วยโลกามิส หรือเมื่อพิจารณาเห็นอยู่ซึ่งสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ซึ่งอันตนยังไม่เคยได้แล้วในอดีต โทมนัสก็ย่อมเกิดขึ้น. โทมนัสเห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า เคหสิตโทมนัส โทมนัสอาศัยการอยู่ครองเรือนดังนี้ ชื่อว่าโทมนัสอาศัยการอยู่ครองเรือน ๖.
               ส่วนภิกษุผู้รู้แจ้งว่ารูปทั้งหลายไม่เที่ยง เห็นซึ่งความแปรปรวน คลายกำหนัดและดับเสียได้ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงนั้นอย่างนี้ว่า รูปทั้งหลายในอดีตก็ดี ในปัจจุบันก็ดี รูปเหล่านั้นทั้งปวงก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดาดังนี้ ย่อมยังความพยายามให้เข้าไปตั้งอยู่ ในวิโมกข์อันยอดเยี่ยมว่า เมื่อไรเราจักเข้าตทายตนะ (เหตุให้จิตหลุดพ้นอยู่). พระอริยะทั้งหลายย่อมเข้าอายตนะอยู่ดังนี้. ด้วยอาการอย่างนี้ เมื่อเธอยังความพยายามให้เข้าไปตั้งอยู่ในวิโมกข์อันยอดเยี่ยม โทมนัสก็ย่อมเกิดขึ้น เพราะความพยายามเป็นปัจจัย. โทมนัสเห็นปานนี้ ท่านเรียกว่า เนกขัมมโทมนัส โทมนัสอาศัยการออกจากกาม ๖.
               เมื่ออารมณ์อันน่าปรารถนาไปปรากฏในทวาร ๖ อย่างนี้ โทมนัสอันเกิดขึ้นแล้วแก่เธอผู้ยังความพยายามให้เข้าไปตั้งไว้ในธรรมคืออริยผล กล่าวคืออนุตตรวิโมกข์ แต่ไม่สามารถเพื่อให้ขวนขวายเริ่มวิปัสสนาด้วยอำนาจแห่งความไม่เที่ยงเป็นต้น เพื่อบรรลุอริยผลธรรมนั้นได้ จึงเสียดายอยู่ว่า เราไม่สามารถเพื่อจะขวนขวายถึงวิปัสสนาแล้ว บรรลุอริยภูมิได้ทั้งปักษ์นี้ ทั้งเดือนนี้ ทั้งปีนี้ ชื่อว่า เนกขัมมสิตโทมนัส โทมนัสอาศัยการออกจากกาม ๖.
               เมื่ออารมณ์อันน่าปรารถนาไปปรากฏในทวาร ๖ อย่างนี้ว่า พาลปุถุชนคนลุ่มหลงคือคนหนา อันยังไม่เกิดวิบาก ไม่เห็นโทษ ไม่ได้สดับ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว อุเบกขาก็ย่อมเกิดขึ้น อุเบกขาเห็นปานนี้อันใด อุเบกขานั้นย่อมล่วงรูปไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น อุเบกขานั้น ท่านเรียกว่า เคหสิตอุเบกขา อุเบกขาอาศัยเรือนดังนี้.
               อุเบกขาอาศัยกามคุณเกิดขึ้นแล้ว เมื่อล่วงรูปเป็นต้นไปไม่ได้ เหมือนแมลงวันหัวเขียวล่วงเลยน้ำอ้อยไปไม่ได้ฉะนั้น ก็ต้องข้องอยู่ในรูปนั้นนั่นเอง. ชื่อว่า เคหสิตอุเบกขา อุเบกขาอาศัยเรือน.
               อุเบกขาสัมปยุตด้วยญาณ อันเป็นวิปัสสนาเกิดขึ้นแล้วแก่ผู้ไม่กำหนัดในอารมณ์อันน่าปรารถนา ไม่ขัดเคืองในอารมณ์อันไม่น่าปรารถนา ไม่หลงในการเพ่งดูอารมณ์อันไม่สม่ำเสมอ. เมื่ออารมณ์อันน่าปรารถนาไปปรากฏในทวาร ๖ อย่างนี้ว่า ก็แล เมื่อรู้แจ้งว่า รูปทั้งหลายไม่เที่ยง พิจารณาเห็นอยู่ซึ่งความแปรปรวน คลายกำหนัดและดับเสียได้ด้วยปัญญาอันชอบตามความจริงนั้นอย่างนี้ว่า รูปทั้งหลายในอดีตก็ดี ในปัจจุบันก็ดี รูปเหล่านั้นทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดาดังนี้ อุเบกขาก็ย่อมเกิดขึ้น. อุเบกขาเห็นปานนี้ใด อุเบกขานั้น ย่อมล่วงรูปไปได้ เพราะฉะนั้น อุเบกขานั้น ท่านเรียกว่า เนกขัมมสิตอุเบกขา อุเบกขาอาศัยการออกจากกาม ๖ ดังนี้ ชื่อว่าอุเบกขาอาศัยการออกจากกาม ๖.
               ในพระสูตรนี้ พระองค์ตรัสการกำหนดธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๔ อันรวบรวมธรรมไว้ทั้งหมด.
               สูตรที่ ๓ เป็นต้นไปมีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.

               จบอรรถกถาอัฏฐสตปริยายสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เวทนาสังยุตต์ อัฏฐสตปริยายวรรคที่ ๓ ๒. อัฏฐสตปริยายสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 18 / 1อ่านอรรถกถา 18 / 427อรรถกถา เล่มที่ 18 ข้อ 430อ่านอรรถกถา 18 / 438อ่านอรรถกถา 18 / 803
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=6132&Z=6158
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=3150
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=3150
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :